พระยะโฮวา—ผู้ทรงมีกำลังแข็งขัน
“เนื่องด้วยพลังงานพลวัตอันล้นเหลือ อีกทั้งพระองค์ทรงมีกำลังแข็งขัน จึงไม่มีสักหนึ่งเดียวในสิ่งเหล่านี้ขาดไป.”—ยะซายา 40:26, ล.ม.
1, 2. (ก) เราทุกคนพึ่งอาศัยแหล่งแห่งพลังทางกายภาพอะไร? (ข) จงอธิบายว่าเหตุใดพระยะโฮวาทรงเป็นแหล่งสูงสุดแห่งพลังทั้งสิ้น.
พลังเป็นสิ่งที่หลายคนในพวกเราถือเป็นเรื่องธรรมดา. ตัวอย่างเช่น เราไม่ค่อยจะคิดถึงพลังไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างและความร้อน หรือที่ให้ความสะดวกสบายแก่เราโดยเพียงแต่เสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เรามี. ต่อเมื่อไฟฟ้าดับโดยไม่ได้คาดหมายนั่นแหละเราจึงตระหนักว่า หากขาดพลังไฟฟ้า เมืองทั้งเมืองก็แทบจะเป็นอัมพาต. ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่เราพึ่งอาศัยได้มาโดยทางอ้อมจากแหล่งแห่งพลังที่น่าเชื่อถือที่สุดของโลก คือดวงอาทิตย์.a ทุก ๆ วินาที เตาปฏิกรณ์พลังสุริยะนี้ใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ห้าล้านตัน สาดส่องแผ่นดินโลกด้วยพลังงานที่ค้ำจุนชีวิต.
2 พลังสุริยะทั้งหมดนี้มาจากไหน? ใครเป็นผู้สร้างโรงไฟฟ้าแห่งท้องฟ้า? พระยะโฮวาพระเจ้านั่นเอง. บทเพลงสรรเสริญ (เพลงสดุดี) 74:16 (ฉบับแปลใหม่) กล่าวถึงพระองค์ดังนี้: “พระองค์ทรงสถาปนาดวงสว่างและดวงอาทิตย์.” ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงเป็นแหล่งสูงสุดแห่งพลังทั้งสิ้น เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงเป็นแหล่งกำเนิดแห่งชีวิตทั้งมวล. (บทเพลงสรรเสริญ 36:9) ขอเราอย่าได้ถือว่าพลังของพระองค์เป็นเรื่องธรรมดา. โดยทางผู้พยากรณ์ยะซายา พระยะโฮวาทรงแนะเราให้มองขึ้นไปและดูเทห์ฟากฟ้า เช่น ดวงอาทิตย์และดวงดาวทั้งหลาย แล้วคิดใคร่ครวญว่าเทห์ฟากฟ้าเหล่านี้เกิดขึ้นมาอย่างไร. “จงเงยหน้าขึ้นและมองดู. ใครได้สร้างสิ่งเหล่านี้? พระองค์นั่นแหละที่ทรงนำกองทัพของสิ่งเหล่านี้ออกมาตามจำนวน พระองค์ถึงกับทรงเรียกพวกมันทั้งสิ้นตามชื่อ. เนื่องด้วยพลังงานพลวัตอันล้นเหลือ อีกทั้งพระองค์ทรงมีกำลังแข็งขัน จึงไม่มีสักหนึ่งเดียวในสิ่งเหล่านี้ขาดไป.”—ยะซายา 40:26, ล.ม.; ยิระมะยา 32:17.
3. เราได้รับประโยชน์อย่างไรจากการสำแดงพลังของพระยะโฮวา?
3 เนื่องจากพระยะโฮวาทรงมีกำลังแข็งขัน เรามั่นใจได้ว่าดวงอาทิตย์จะให้แสงสว่างและความร้อนที่ค้ำจุนชีวิตเราต่อ ๆ ไป. อย่างไรก็ตาม เราหมายพึ่งพลังของพระเจ้าไม่เพียงในด้านสิ่งจำเป็นพื้นฐานทางกายเท่านั้น. การไถ่ถอนเราให้พ้นจากบาปและความตาย, ความหวังของเราสำหรับอนาคต, และความไว้วางใจของเราในพระยะโฮวาล้วนแต่เกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ออกกับการสำแดงพลังของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 28:6-9; ยะซายา 50:2) คัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างมากมายที่พิสูจน์ให้เห็นพลังของพระยะโฮวาในการสร้างและไถ่ถอน ในการช่วยไพร่พลและทำลายศัตรูของพระองค์.
พลังของพระเจ้าปรากฏชัดในสิ่งทรงสร้าง
4. (ก) ดาวิดได้รับผลกระทบอย่างไรจากการเฝ้าสังเกตท้องฟ้ายามราตรี? (ข) เทห์ฟากฟ้าเผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับพลังของพระเจ้า?
4 อัครสาวกเปาโลอธิบายว่า ‘ฤทธานุภาพอันถาวรของพระผู้สร้างของเราเป็นที่เข้าใจชัดเจนโดยสิ่งทั้งปวงที่พระองค์ได้สร้างขึ้น.’ (โรม 1:20, ล.ม.) หลายศตวรรษก่อนหน้านั้น ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเมื่อยังเป็นคนเลี้ยงแกะคงได้เงยหน้ามองดูท้องฟ้ายามราตรีอยู่บ่อย ๆ และรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่แห่งเอกภพและฤทธิ์อำนาจของพระผู้สร้างเอกภพ. ท่านเขียนว่า “ขณะที่ข้าพเจ้าแลเห็นฟ้าสวรรค์ของพระองค์ บรรดาราชกิจแห่งนิ้วพระหัตถ์ของพระองค์ ดวงจันทร์และดวงดาวทั้งหลายซึ่งพระองค์ได้ทรงจัดทำขึ้นไว้นั้นแล้ว มนุษย์ที่ต้องตายนั้นเป็นผู้ใดเล่าที่พระองค์ทรงระลึกถึงเขา และบุตรมนุษย์เดินดินที่พระองค์จะทรงดูแลเขา?” (บทเพลงสรรเสริญ 8:3, 4, ล.ม.) แม้ท่านมีความรู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับเทห์ฟากฟ้า ดาวิดเข้าใจว่าตัวท่านนั้นไม่มีความสำคัญแม้แต่นิดเมื่อเทียบกับพระผู้สร้างเอกภพอันไพศาลของเรา. ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ทราบเพิ่มขึ้นอีกมากมายเกี่ยวกับความมหึมาของเอกภพและพลังที่ค้ำจุนเอกภพไว้. ตัวอย่างเช่น พวกเขาแจ้งให้เราทราบว่าทุก ๆ วินาทีดวงอาทิตย์ของเราปล่อยพลังงานออกมาเทียบเท่ากับการระเบิดของทีเอ็นที 100,000 ล้านเมกกะตัน.b เพียงแค่เศษเสี้ยวอันน้อยนิดของพลังงานดังกล่าวมาถึงแผ่นดินโลก แต่แค่นั้นก็พอเพียงแล้วที่จะค้ำจุนชีวิตทั้งหมดบนดาวเคราะห์ดวงนี้. ถึงกระนั้น ดวงอาทิตย์ของเราไม่ใช่ดาวที่ทรงพลังที่สุดในท้องฟ้า. ดาวบางดวงแผ่รังสีพลังงานออกมาเพียงหนึ่งวินาทีเท่ากับที่ดวงอาทิตย์แผ่รังสีทั้งวัน. ดังนั้น ลองนึกถึงพลังของผู้นั้นที่ได้สร้างเทห์ฟากฟ้าเหล่านั้นซิ! อะลีฮูอุทานอย่างเหมาะเจาะว่า “เราจะไปเพ่งพิจารณาท่านผู้ทรงฤทธิ์ไหวหรือ? พระองค์ทรงไว้ซึ่งเดชานุภาพสูงสุด.”—โยบ 37:23.
5. เราพบหลักฐานอะไรถึงพลังของพระยะโฮวาในพระหัตถกิจของพระองค์?
5 หากเรา ‘สืบเสาะหาพระราชกิจของพระเจ้า’ เหมือนที่ดาวิดทำ เราจะเห็นหลักฐานเกี่ยวกับพลังของพระองค์ทุกแห่งหน—ในคลื่นลม, ในฟ้าแลบฟ้าร้อง, ในแม่น้ำอันกว้างใหญ่และขุนเขาที่สูงตระหง่าน. (บทเพลงสรรเสริญ 111:2; โยบ 26:12-14) นอกจากนั้น ดังที่พระยะโฮวาทรงเตือนให้โยบนึกถึง สัตว์ทั้งหลายเป็นหลักฐานถึงพลังของพระองค์. สัตว์อย่างหนึ่งที่ให้หลักฐานเช่นนั้นคือเบเฮโมทหรือฮิปโปโปเตมัส. พระยะโฮวาตรัสแก่โยบว่า “กำลังของมันอยู่ในเอว . . . แข้งขาของมันเหมือนท่อนเหล็ก.” (โยบ 40:15-18, ฉบับแปลใหม่) กำลังอันน่าเกรงขามของโคป่าเป็นที่รู้จักกันดีในสมัยคัมภีร์ไบเบิลด้วย และดาวิดอธิษฐานขอให้ท่านพ้นจาก ‘ปากสิงโตและจากเขาของโคป่า.’—บทเพลงสรรเสริญ 22:21; โยบ 39:9-11.
6. โคตัวผู้เป็นสัญลักษณ์ถึงอะไรในพระคัมภีร์ และเพราะเหตุใด? (ดูเชิงอรรถ.)
6 เนื่องจากโคตัวผู้มีกำลังมาก มันจึงถูกใช้ในคัมภีร์ไบเบิลเป็นสัญลักษณ์ถึงอำนาจของพระยะโฮวา.c นิมิตเกี่ยวกับพระราชบัลลังก์ของพระยะโฮวาที่โยฮันเห็นพรรณนาถึงสิ่งมีชีวิตสี่ตน หนึ่งในนั้นมีหน้าเหมือนโคตัวผู้. (วิวรณ์ 4:6, 7) ตามหลักฐานที่มี คุณลักษณะหนึ่งในคุณลักษณะสำคัญสี่ประการของพระยะโฮวาซึ่งแสดงภาพไว้โดยคะรูบเหล่านี้ได้แก่อำนาจ. คุณลักษณะอื่น ๆ ได้แก่ความรัก, สติปัญญา, และความยุติธรรม. เนื่องจากอำนาจเป็นแง่สำคัญอย่างหนึ่งแห่งบุคลิกภาพของพระเจ้า ความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจของพระองค์และวิธีที่พระองค์ทรงใช้อำนาจนั้นย่อมจะชักนำเราให้เข้ามาใกล้ชิดพระองค์ยิ่งขึ้น และช่วยเราให้เลียนแบบตัวอย่างของพระองค์โดยใช้อำนาจใด ๆ ที่เรามีอยู่อย่างถูกต้อง.—เอเฟโซ 5:1.
“พระยะโฮวาแห่งพลโยธาองค์ทรงฤทธิ์”
7. เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าความดีจะชนะความชั่ว?
7 ในพระคัมภีร์ มีการเรียกพระยะโฮวาว่า “พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ยิ่งที่สุด” คำระบุตำแหน่งซึ่งเตือนใจเราว่าเราไม่ควรประเมินอำนาจของพระองค์ต่ำไปหรือสงสัยความสามารถของพระองค์ในการพิชิตศัตรู. (เยเนซิศ 17:1; เอ็กโซโด 6:3) ระบบชั่วของซาตานอาจดูเหมือนตั้งมั่นคง แต่ในสายพระเนตรของพระยะโฮวา “ประเทศทั้งปวงก็เปรียบเหมือนน้ำหยดเดียวจากถัง, และนับเท่ากับละอองที่ติดอยู่กับตราชู.” (ยะซายา 40:15) ด้วยอำนาจเช่นนั้นของพระเจ้า ไม่มีข้อสงสัยว่าความดีจะชนะความชั่ว. ในสมัยที่ความชั่วมีอยู่ดาษดื่นเช่นนี้ เราได้การปลอบโยนที่ทราบว่า “พระยะโฮวาแห่งพลโยธา องค์ทรงฤทธิ์แห่งยิศราเอล” จะทำลายความชั่วให้สูญสิ้นตลอดไป.—ยะซายา 1:24, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 37:9, 10.
8. กองทัพอะไรทางภาคสวรรค์ที่พระยะโฮวาทรงบังคับบัญชา และเรามีข้อบ่งชี้อะไรเกี่ยวกับพลังของกองทัพเหล่านี้?
8 วลี “พระยะโฮวาแห่งพลโยธา” ซึ่งปรากฏ 285 ครั้งในคัมภีร์ไบเบิล เป็นข้อเตือนใจอีกอย่างหนึ่งถึงอำนาจของพระเจ้า. “พลโยธา” ในที่นี้หมายถึงกองทัพแห่งเหล่ากายวิญญาณที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 103:20, 21; 148:2) ในคืนเดียว ทูตสวรรค์เพียงหนึ่งองค์จากกองทัพนี้สังหารทหารชาวอัสซีเรีย 185,000 คนที่ยกมาคุกคามยะรูซาเลม. (2 กษัตริย์ 19:35) หากเรารู้จักพลังแห่งกองทัพฝ่ายสวรรค์ของพระยะโฮวา เราจะไม่ถูกศัตรูข่มขู่ให้กลัวได้ง่าย ๆ. ผู้พยากรณ์อะลีซาไม่กังวลเมื่อถูกทั้งกองทัพที่ค้นหาตัวท่านล้อมไว้ เนื่องจากท่านสามารถมองเห็นด้วยตาแห่งความเชื่อว่ามีกองทัพขนาดใหญ่ฝ่ายสวรรค์สนับสนุนท่านอยู่ ซึ่งต่างกับคนรับใช้ของท่านที่มองไม่เห็น.—2 กษัตริย์ 6:15-17.
9. เช่นเดียวกับพระเยซู เหตุใดเรามีความเชื่อมั่นในการคุ้มครองจากพระเจ้า?
9 พระเยซูทรงทราบดีเช่นเดียวกันเกี่ยวกับการสนับสนุนจากเหล่าทูตสวรรค์เมื่อพระองค์ทรงเผชิญหน้ากับฝูงชนที่ถือดาบและไม้ตะบองในสวนเฆ็ธเซมาเน. หลังจากที่สั่งให้เปโตรเก็บดาบใส่ฝักแล้ว พระเยซูตรัสแก่เขาว่า หากจำเป็น พระองค์สามารถทูลขอพระบิดาให้ “ทรงประทานทูตสวรรค์ . . . กว่าสิบสองกอง.” (มัดธาย 26:47, 52, 53) หากเรามีความเข้าใจแบบเดียวกันเกี่ยวกับกองทัพฝ่ายสวรรค์ที่พระเจ้าทรงใช้ เราก็จะไว้วางใจโดยปราศจากข้อสงสัยในการหนุนหลังจากพระเจ้า. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ด้วยเหตุเหล่านั้นเราจะว่าอย่างไร? ถ้าพระเจ้าอยู่ฝ่ายเรา, ใครผู้ใดจะต่อสู้เราได้?”—โรม 8:31.
10. พระยะโฮวาทรงใช้อำนาจของพระองค์เพื่อประโยชน์ของผู้ใด?
10 ดังนั้น เรามีเหตุผลทุกประการที่จะไว้วางใจในการคุ้มครองจากพระยะโฮวา. พระองค์ทรงใช้อำนาจของพระองค์ให้เกิดประโยชน์เสมอ และอย่างที่สอดคล้องกับคุณลักษณะอื่น ๆ ของพระองค์—ความยุติธรรม, สติปัญญา, และความรัก. (โยบ 37:23; ยิระมะยา 10:12) ในขณะที่มนุษย์ผู้มีอำนาจมักเหยียบย่ำคนจนและคนต่ำต้อยเพื่อผลประโยชน์อันเห็นแก่ตัว พระยะโฮวา “ทรงโปรดยกคนอนาถาขึ้นจากผงคลีดิน” และทรง “มีอานุภาพที่จะช่วยให้รอดได้.” (บทเพลงสรรเสริญ 113:5-7; ยะซายา 63:1) ดังที่มาเรียมารดาผู้เจียมตัวและไม่วางท่าของพระเยซูเข้าใจ “ผู้ทรงฤทธิ์” ทรงใช้อำนาจอย่างไม่เห็นแก่พระองค์เองเพื่อประโยชน์ของคนที่เกรงกลัวพระองค์ ทำให้คนยโสต้องถ่อมใจลงและทรงยกคนต่ำต้อยให้สูงขึ้น.—ลูกา 1:46-53.
พระยะโฮวาทรงสำแดงอำนาจให้ผู้รับใช้ของพระองค์เห็น
11. ชาวยิศราเอลเป็นประจักษ์พยานถึงการสำแดงอำนาจเช่นไรของพระเจ้าในปี 1513 ก.ส.ศ.?
11 ในหลาย ๆ โอกาส พระยะโฮวาทรงสำแดงฤทธิ์อำนาจให้ผู้รับใช้ของพระองค์ประจักษ์. โอกาสหนึ่งที่ทรงทำเช่นนั้นคือที่ภูเขาซีนายในปี 1513 ก.ส.ศ. ในระหว่างปีนั้น ชาวยิศราเอลได้เห็นหลักฐานอันน่าประทับใจถึงอำนาจของพระเจ้ามาแล้ว. ภัยพิบัติสิบประการได้เผยให้เห็นพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระยะโฮวาและความไร้ซึ่งอำนาจของพวกพระแห่งชาวอียิปต์. หลังจากนั้นไม่นาน การข้ามทะเลแดงอย่างอัศจรรย์และการทำลายกองทัพของฟาโรห์ให้หลักฐานเพิ่มเติมถึงพลังอันเข้มแข็งของพระเจ้า. สามเดือนต่อมา ที่เชิงเขาซีนาย พระยะโฮวาทรงเชิญชาวยิศราเอลให้เป็น ‘สมบัติพิเศษของพระองค์จากชนชาติอื่น ๆ ทั้งปวง.’ ในส่วนของชาวยิศราเอล พวกเขาให้สัญญาว่า “สิ่งทั้งปวงที่พระยะโฮวาได้ตรัส พวกเราเต็มใจจะทำ.” (เอ็กโซโด 19:5, 8, ล.ม.) จากนั้น พระยะโฮวาทรงสำแดงอำนาจของพระองค์ให้ประจักษ์ชัด. ท่ามกลางฟ้าแลบฟ้าร้องและเสียงแตรดังสนั่น ภูเขาซีนายพ่นควันออกมาและสั่นไหว. ประชาชนซึ่งยืนอยู่แต่ไกลต่างตกใจกลัว. แต่โมเซบอกพวกเขาว่า ประสบการณ์นี้น่าจะสอนพวกเขาให้เกรงกลัวพระเจ้า ซึ่งความเกรงกลัวนั้นจะกระตุ้นพวกเขาให้เชื่อฟังพระยะโฮวาพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวผู้ทรงไว้ซึ่งฤทธานุภาพทุกประการ.—เอ็กโซโด 19:16-19; 20:18-20.
12, 13. สถานการณ์เช่นไรทำให้เอลียาละทิ้งงานมอบหมายของท่าน แต่พระยะโฮวาทรงเสริมกำลังท่านอย่างไร?
12 หลายศตวรรษต่อมา ระหว่างสมัยของเอลียา พระเจ้าทรงสำแดงอำนาจของพระองค์ให้ประจักษ์อีกครั้งที่ภูเขาซีนาย. ท่านผู้พยากรณ์ได้เคยเห็นมาแล้วถึงปฏิบัติการแห่งอำนาจของพระเจ้า. เป็นเวลาสามปีครึ่ง พระเจ้าทรง “ปิดท้องฟ้า” เนื่องด้วยการออกหากของชาติยิศราเอล. (2 โครนิกา 7:13) ในช่วงที่เกิดความแห้งแล้งนั้น อีกานำอาหารมาเลี้ยงเอลียาที่หุบเขาคะรีธ และในเวลาต่อมา ท่านมีอาหารรับประทานได้เรื่อย ๆ อย่างอัศจรรย์จากแป้งและน้ำมันที่หญิงม่ายมีอยู่เพียงน้อยนิด. พระยะโฮวาถึงกับทรงประทานอำนาจแก่เอลียาเพื่อปลุกบุตรชายของหญิงม่ายผู้นี้ให้เป็นขึ้นจากตายด้วยซ้ำ. ในที่สุด ในการทดสอบที่น่าตื่นเต้นบนภูเขาคารเม็ลซึ่งพิสูจน์ว่าใครเป็นพระเจ้า ไฟได้ตกลงมาจากฟ้าและเผาเครื่องบูชาของเอลียา. (1 กษัตริย์ 17:4-24; 18:36-40) อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากนั้น เอลียาเริ่มกลัวและท้อใจเมื่ออีซาเบลขู่จะฆ่าท่าน. (1 กษัตริย์ 19:1-4) ท่านหนีออกจากประเทศ โดยคิดว่างานของท่านในฐานะผู้พยากรณ์เสร็จสิ้นลงแล้ว. เพื่อให้คำรับรองและเสริมกำลังท่าน พระยะโฮวาทรงสำแดงอำนาจของพระองค์ด้วยความกรุณาให้ท่านได้เห็นเป็นการส่วนตัว.
13 ขณะเอลียาซ่อนตัวอยู่ในถ้ำ ท่านเห็นการแสดงอันน่าสะพรึงกลัวของกองกำลังสามกองที่พระยะโฮวาทรงควบคุม: พายุกล้า, แผ่นดินไหว, และสุดท้ายคือไฟที่ลุกไหม้. อย่างไรก็ตาม เมื่อพระยะโฮวาตรัสแก่เอลียา พระองค์ตรัสด้วย “เสียงเบา ๆ.” พระองค์ทรงมอบหมายงานให้แก่ท่านอีกและแจ้งให้ท่านทราบว่ายังคงมีผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาอีก 7,000 คนในแผ่นดินนั้น. (1 กษัตริย์ 19:9-18) เช่นเดียวกับเอลียา หากเรารู้สึกท้อใจเพราะงานรับใช้ของเราไม่บังเกิดผล เราสามารถวิงวอนขอพระยะโฮวาให้ทรงประทาน “กำลังที่มากกว่าปกติ”—กำลังที่สามารถเสริมเราให้เข้มแข็งในการประกาศข่าวดีต่อ ๆ ไปอย่างไม่เลื่อยล้า.—2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.
อำนาจของพระยะโฮวารับประกันความสำเร็จแห่งคำสัญญาของพระองค์
14. พระนามเฉพาะของพระยะโฮวาเผยให้เห็นอะไร และอำนาจของพระองค์เกี่ยวพันอย่างไรกับพระนามของพระองค์?
14 อำนาจของพระยะโฮวายังเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับพระนามและการทำให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จด้วย. พระนามยะโฮวาที่ไม่มีนามใดเหมือน ซึ่งหมายความว่า “พระองค์ทรงบันดาลให้เป็น” เปิดเผยว่าพระองค์ทรงบันดาลให้พระองค์เองเป็นผู้ทำให้คำสัญญาสำเร็จ. ไม่มีสิ่งใดหรือผู้ใดสามารถขัดขวางพระเจ้าในการทำให้พระประสงค์ของพระองค์บรรลุผล ไม่ว่าคนที่ช่างสงสัยจนเกินเหตุอาจมีทัศนะต่อพระประสงค์ของพระองค์อย่างไรก็ตาม. ดังที่ครั้งหนึ่งพระเยซูตรัสแก่เหล่าอัครสาวกว่า “พระเจ้าทรงกระทำให้สำเร็จได้ทุกสิ่ง.”—มัดธาย 19:26 ฉบับแปลใหม่.
15. อับราฮามและซาราได้รับการเตือนใจอย่างไรว่าไม่มีสิ่งใดเกินอำนาจพระยะโฮวาจะทำได้?
15 เพื่อเป็นตัวอย่าง ครั้งหนึ่งพระยะโฮวาทรงสัญญากับอับราฮามและซาราว่าพระองค์จะทำให้พงศ์พันธุ์ของทั้งสองเป็นชาติใหญ่. อย่างไรก็ตาม ทั้งสองยังคงไม่มีบุตรอยู่เป็นเวลาหลายปี. ทั้งคู่ชรามากแล้วเมื่อพระยะโฮวาทรงแจ้งให้เขาทราบว่าคำสัญญานั้นจวนจะสำเร็จเป็นจริง ซาราจึงหัวเราะ. ทูตสวรรค์กล่าวตอบว่า “มีสิ่งใดที่อัศจรรย์เกินฤทธิ์พระเจ้าจะทำได้?” (เยเนซิศ 12:1-3; 17:4-8; 18:10-14, ฉบับแปลใหม่) สี่ศตวรรษต่อมา เมื่อในที่สุดโมเซรวบรวมพงศ์พันธุ์ของอับราฮามซึ่งบัดนี้เป็นชาติใหญ่ชาติหนึ่ง ณ ที่ราบโมอาบ ท่านเตือนพวกเขาให้ระลึกว่าพระเจ้าได้ทรงทำตามคำสัญญาของพระองค์. โมเซกล่าวว่า “[พระยะโฮวา] ได้ทรงรักปู่ย่าตายายของเจ้า, เพราะเหตุนี้พระองค์จึงเลือกสรรเผ่าพันธุ์ของเขา, และได้ทรงพาเจ้าออกมาจากประเทศอายฆุบโตต่อพระพักตร์พระองค์ด้วยฤทธิ์อันใหญ่ยิ่งของพระองค์; เพื่อจะได้ขับไล่ชนประเทศซึ่งเป็นใหญ่และมีอำนาจมากกว่าเจ้าจากต่อหน้าเจ้า, เพื่อจะได้พาเจ้าทั้งหลายเข้ามา, เพื่อจะให้แผ่นดินของเขาเป็นที่อยู่เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้า, เหมือนเป็นอยู่ทุกวันนี้.”—พระบัญญัติ 4:37, 38.
16. เหตุใดพวกซาดูกายจึงล้มพลาดโดยปฏิเสธเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย?
16 หลายศตวรรษต่อมา พระเยซูทรงตำหนิพวกซาดูกายซึ่งไม่เชื่อเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย. เหตุใดพวกเขาปฏิเสธที่จะเชื่อคำสัญญาของพระเจ้าที่ว่าพระองค์จะทรงนำคนตายให้กลับมีชีวิตอีก? พระเยซูตรัสแก่พวกเขาว่า “ท่านไม่รู้พระคัมภีร์หรือฤทธิ์เดชของพระเจ้า.” (มัดธาย 22:29, ฉบับแปลใหม่) พระคัมภีร์รับรองกับเราว่า ‘บรรดาผู้ซึ่งอยู่ในอุโมงค์รำลึกจะได้ยินสุรเสียงของบุตรมนุษย์ และจะออกมา.’ (โยฮัน 5:27-29, ล.ม.) หากเราทราบเรื่องที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับการกลับเป็นขึ้นจากตาย ความมั่นใจของเราในอำนาจของพระเจ้าย่อมจะทำให้เราเชื่อมั่นว่าคนตายจะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้น. พระเจ้า “จะทรงทำลายความตายให้สาบสูญ . . . ด้วยพระยะโฮวาได้ตรัสไว้เช่นนั้น.”—ยะซายา 25:8.
17. เมื่อถึงวันอะไรในอนาคตที่จำเป็นต้องไว้วางใจพระยะโฮวาในวิธีพิเศษ?
17 ในอนาคตอันใกล้นี้ จะถึงเวลาหนึ่งเมื่อทุกคนในพวกเราจำเป็นต้องไว้วางใจอำนาจการช่วยให้รอดของพระเจ้าในวิธีพิเศษ. ซาตานพญามารจะโจมตีไพร่พลของพระเจ้าซึ่งจะดูราวกับไม่มีใครปกป้องคุ้มครอง. (ยะเอศเคล 38:14-16) ถึงตอนนั้น พระเจ้าจะทรงสำแดงอำนาจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์เพื่อประโยชน์ของเรา และทุกคนจะต้องรู้ว่าพระองค์คือยะโฮวา. (ยะเอศเคล 38:21-23) บัดนี้เป็นเวลาที่จะเสริมสร้างความเชื่อและความเชื่อมั่นในพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ เพื่อเราจะไม่หวั่นไหวเมื่อถึงเวลาสำคัญนั้น.
18. (ก) เราได้ประโยชน์อะไรจากการใคร่ครวญถึงอำนาจของพระยะโฮวา? (ข) จะมีการพิจารณาคำถามอะไรในบทความถัดไป?
18 ไม่ต้องสงสัย มีเหตุผลมากมายที่จะใคร่ครวญถึงอำนาจของพระยะโฮวา. เมื่อเราใคร่ครวญถึงพระราชกิจของพระองค์ เราได้รับการกระตุ้นใจให้ถ่อมลงและสรรเสริญพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของเรา และขอบพระคุณที่พระองค์ทรงใช้อำนาจของพระองค์ในวิธีที่สุขุมและเปี่ยมด้วยความรักเช่นนั้น. เราจะไม่ถูกข่มขู่ให้กลัวหากเราไว้วางใจในพระยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลาย. ความเชื่อของเราในคำสัญญาของพระองค์จะไม่สั่นคลอน. อย่างไรก็ตาม จำไว้ว่าเราถูกสร้างขึ้นตามแบบพระฉายของพระเจ้า. ดังนั้น เรามีอำนาจด้วย—แม้ว่าจะในวงจำกัด. เราจะเลียนแบบพระผู้สร้างของเราในวิธีที่เราใช้อำนาจของเราได้อย่างไร? จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a เชื่อกันโดยทั่วไปว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเช่นน้ำมันและถ่านหิน—แหล่งหลักของพลังงานสำหรับโรงไฟฟ้า—ได้พลังงานจากดวงอาทิตย์.
b เพื่อเทียบให้เห็นชัด ระเบิดนิวเคลียร์ที่อานุภาพร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยทดสอบกันมามีอำนาจระเบิดเทียบเท่ากับทีเอ็นที 57 เมกกะตัน.
c โคป่าที่อ้างถึงในคัมภีร์ไบเบิลนั้นน่าจะเป็นเอาร์ออกส์ (ลาติน อูรุส). เมื่อสองพันปีที่แล้ว พบโคเหล่านี้ในอาณาจักรกอล (ปัจจุบันคือฝรั่งเศส) และจูเลียส ซีซาร์เขียนพรรณนาโคพวกนี้ไว้ว่า “อูรุส เหล่านี้มีขนาดใหญ่โตเกือบเท่า ๆ ช้าง แต่มีอุปนิสัย สี และรูปลักษณะอย่างโค. มันมีกำลังยิ่งใหญ่ และฝีเท้ารวดเร็วยิ่ง: มันโจมตีไม่เลือกหน้าไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่มันได้พบเห็น.”
คุณตอบคำถามเหล่านี้ได้ไหม?
• สิ่งทรงสร้างพิสูจน์อย่างไรเกี่ยวกับพลังของพระยะโฮวา?
• พระยะโฮวาจะทรงใช้กองกำลังอะไรบ้างเพื่อค้ำจุนไพร่พลของพระองค์?
• มีโอกาสใดบ้างที่พระยะโฮวาทรงสำแดงอำนาจของพระองค์?
• เรามีคำรับรองอะไรว่าพระยะโฮวาจะทรงทำตามคำสัญญาของพระองค์?
[ภาพหน้า 10]
“จงเงยหน้าขึ้นและมองดู. ใครได้สร้างสิ่งเหล่านี้?”
[ที่มาของภาพ]
Photo by Malin, © IAC/RGO 1991
[ภาพหน้า 13]
การใคร่ครวญถึงการสำแดงอำนาจของพระยะโฮวาเสริมสร้างความเชื่อในคำสัญญาของพระองค์