จงแสวงหาพระยะโฮวาก่อนจะถึงวันแห่งความพิโรธของพระองค์
“จงแสวงหาพระยะโฮวา . . . แสวงหาความชอบธรรม แสวงหาความอ่อนน้อม. ชะรอยเจ้าอาจถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา.”—ซะฟันยา 2:3, ล.ม.
1. สภาพฝ่ายวิญญาณของยูดาเป็นเช่นไรเมื่อซะฟันยาเริ่มงานพยากรณ์ของท่าน?
ซะฟันยาเริ่มงานพยากรณ์ของท่านในช่วงเวลาอันวิกฤติในประวัติศาสตร์ของยูดา. สภาพฝ่ายวิญญาณของชาตินี้กำลังตกต่ำอย่างมาก. แทนที่จะไว้วางใจพระยะโฮวา ประชาชนหมายพึ่งการชี้นำจากปุโรหิตนอกรีตและโหราจารย์. การนมัสการบาละ พร้อมกับพิธีกรรมเพื่อการเจริญพันธุ์ มีอยู่ดาษดื่นในแผ่นดินนี้. พวกผู้นำฝ่ายพลเรือน—เหล่าเจ้าชาย, ขุนนาง, และผู้พิพากษา—กำลังกดขี่ประชาชนผู้ซึ่งจริง ๆ แล้วพวกเขาน่าจะให้การปกป้อง. (ซะฟันยา 1:9; 3:3) จึงไม่แปลกเลยที่พระยะโฮวาทรงตัดสินพระทัยจะ ‘ยื่นพระหัตถ์’ เพื่อทำลายยูดาและกรุงยะรูซาเลม!—ซะฟันยา 1:4.
2. มีความหวังอะไรสำหรับผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าในยูดา?
2 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์เลวร้าย แต่ก็ยังพอมองเห็นความหวัง. บัดนี้ โยซียาราชบุตรของอาโมนขึ้นครองราชย์. แม้ว่าท่านยังเด็ก แต่โยซียามีความรักอันแท้จริงต่อพระยะโฮวา. หากกษัตริย์องค์ใหม่นี้ฟื้นฟูการนมัสการบริสุทธิ์ขึ้นในยูดา นั่นย่อมเป็นเรื่องที่ให้กำลังใจสักเพียงไรสำหรับชนจำนวนเล็กน้อยที่รับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์! คนอื่นอาจถูกกระตุ้นให้ร่วมกับพวกเขาและได้รับการพิทักษ์ไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวาด้วย.
ข้อเรียกร้องสำหรับการพิทักษ์รักษา
3, 4. ผู้ที่จะได้รับการละเว้นใน “วันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา” ต้องบรรลุข้อเรียกร้องสามประการอะไร?
3 มีบางคนที่อาจได้รับการละเว้นในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวาจริง ๆ หรือ? ใช่แล้ว หากเขาบรรลุเงื่อนไขสามประการตามที่ระบุไว้ในซะฟันยา 2:2, 3 (ล.ม.). ขณะที่เราอ่านสองข้อนี้ ขอให้เราเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว. ซะฟันยาเขียนว่า “ก่อนที่พระราชกฤษฎีกาก่อให้เกิดสิ่งใด ก่อนวันนั้นล่วงไปดุจแกลบ ก่อนที่พระพิโรธอันแรงกล้าของพระยะโฮวาตกแก่เจ้า ชนทั้งหลาย ก่อนที่วันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวามาถึงเจ้า จงแสวงหาพระยะโฮวา เจ้าทั้งหลายที่อ่อนน้อมในแผ่นดินโลก ผู้ได้ปฏิบัติตามคำตัดสินของพระองค์เอง. จงแสวงหาความชอบธรรม แสวงหาความอ่อนน้อม. ชะรอยเจ้าอาจถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา.”
4 ดังนั้น เพื่อจะได้รับการพิทักษ์รักษา คนเราต้อง (1) แสวงหาพระยะโฮวา, (2) แสวงหาความชอบธรรม, และ (3) แสวงหาความอ่อนน้อม. ข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นเรื่องที่พวกเราในปัจจุบันควรสนใจอย่างยิ่ง. เพราะเหตุใด? เพราะเช่นเดียวกับที่ยูดาและกรุงยะรูซาเลมได้เผชิญกับวันแห่งการคิดบัญชีในศตวรรษที่เจ็ดก่อนสากลศักราช ชาติต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักร—ที่จริงคนชั่วทั้งสิ้น—กำลังมุ่งไปสู่การเผชิญหน้าเพื่อประลองเป็นครั้งสุดท้ายกับพระยะโฮวาพระเจ้าในคราว “ความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่ง” ที่กำลังจะมาถึง. (มัดธาย 24:21) ใครก็ตามที่ปรารถนาจะถูกกำบังไว้ในเวลานั้นต้องลงมือทำอย่างเด็ดขาดในเวลานี้. โดยวิธีใด? โดยแสวงหาพระยะโฮวา, แสวงหาความชอบธรรม, และแสวงหาความอ่อนน้อม ก่อนจะสายเกินไป!
5. ‘การแสวงหาพระยะโฮวา’ ในทุกวันนี้เกี่ยวข้องกับอะไร?
5 คุณอาจกล่าวว่า ‘ฉันเป็นผู้รับใช้ที่อุทิศตัวและรับบัพติสมาแล้วของพระเจ้า เป็นพยานพระยะโฮวาคนหนึ่ง. ฉันบรรลุข้อเรียกร้องเหล่านั้นแล้วมิใช่หรือ?’ อันที่จริง เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงแค่การอุทิศตัวเราเองแด่พระยะโฮวา. ยิศราเอลเป็นชาติที่อุทิศตัวแด่พระเจ้า แต่ในสมัยของซะฟันยา ประชาชนแห่งยูดาไม่ได้ดำเนินชีวิตสมกับการอุทิศตัวนั้น. ผลคือ ในที่สุดชาตินี้ถูกปฏิเสธ. ‘การแสวงหาพระยะโฮวา’ ในทุกวันนี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและรักษาสัมพันธภาพอันอบอุ่นเป็นส่วนตัวกับพระองค์ร่วมกับองค์การของพระองค์ทางแผ่นดินโลก. การแสวงหาพระยะโฮวาหมายถึงการเรียนรู้จักทัศนะของพระองค์ในเรื่องต่าง ๆ และคำนึงถึงความรู้สึกของพระองค์. เราแสวงหาพระยะโฮวาเมื่อเราศึกษาพระคำของพระองค์อย่างถี่ถ้วน, คิดรำพึงในพระคำ, และใช้คำแนะนำของพระคำนั้นในชีวิต. ขณะที่เราแสวงหาการชี้นำจากพระยะโฮวาโดยอธิษฐานอย่างแรงกล้าและติดตามการชี้นำแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ด้วย สัมพันธภาพของเรากับพระองค์ก็ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และเราถูกกระตุ้นให้รับใช้พระองค์ ‘ด้วยสุดหัวใจ, สุดจิตวิญญาณ, และสุดกำลังของเรา.’—พระบัญญัติ 6:5; ฆะลาเตีย 5:22-25; ฟิลิปปอย 4:6, 7; วิวรณ์ 4:11.
6. เรา “แสวงหาความชอบธรรม” โดยวิธีใด และเหตุใดการทำเช่นนี้เป็นไปได้แม้แต่ในโลกนี้?
6 ข้อเรียกร้องประการที่สองซึ่งกล่าวไว้ในซะฟันยา 2:3 (ล.ม.) คือต้อง “แสวงหาความชอบธรรม.” พวกเราส่วนใหญ่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่สำคัญเพื่อจะมีคุณสมบัติสำหรับการรับบัพติสมาเป็นคริสเตียน แต่เราต้องยึดมั่นในมาตรฐานที่ชอบธรรมของพระเจ้าต่อ ๆ ไปตลอดชีวิตของเรา. บางคนเริ่มต้นอย่างดีในแง่นี้ แต่แล้วก็กลับปล่อยให้ตัวเองแปดเปื้อนมลทินของโลก. ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแสวงหาความชอบธรรม เพราะเราถูกแวดล้อมไปด้วยผู้คนที่ถือว่าการประพฤติผิดศีลธรรมทางเพศ, การโกหก, และบาปอื่น ๆ เป็นเรื่องธรรมดา. ถึงกระนั้น ความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยสามารถมีอำนาจเหนือแนวโน้มใด ๆ ที่จะแสวงหาการยอมรับจากโลกโดยพยายามทำตัวกลมกลืนไปกับโลก. ยูดาสูญเสียความโปรดปรานจากพระยะโฮวาเพราะการเลียนแบบชาติข้างเคียงที่ไม่นับถือพระเจ้า. ดังนั้น แทนที่จะเลียนแบบโลกนี้ ให้เราเป็น “ผู้เลียนแบบพระเจ้า” ปลูกฝัง “บุคลิกภาพใหม่ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าในความชอบธรรมและความภักดีที่แท้จริง.”—เอเฟโซ 4:24; 5:1, ล.ม.
7. เรา “แสวงหาความอ่อนน้อม” โดยวิธีใด?
7 จุดที่สามซึ่งกล่าวไว้ที่ซะฟันยา 2:3 ก็คือ หากเราปรารถนาจะถูกปิดกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา เราต้อง “แสวงหาความอ่อนน้อม.” ในแต่ละวัน เราพบกับชายหญิงและคนหนุ่มสาวที่ไม่มีความอ่อนน้อมแม้แต่น้อย. สำหรับพวกเขาแล้ว การแสดงความอ่อนสุภาพถือเป็นจุดบกพร่อง. การยอมอยู่ใต้อำนาจถือเป็นความอ่อนแอร้ายแรง. พวกเขาชอบเรียกร้อง, เห็นแก่ตัว, และยึดความเห็นของตนเป็นใหญ่ โดยถือว่า “สิทธิ” ส่วนบุคคลและความชอบเป็นส่วนตัวของเขาต้องได้รับการสนองตอบ ไม่ว่าจะสูญเสียอะไรก็ตาม. คงเป็นเรื่องน่าเศร้าสักเพียงไรหากเราติดนิสัยบางอย่างจากคนแบบนี้! บัดนี้เป็นเวลาที่จะ “แสวงหาความอ่อนน้อม.” โดยวิธีใด? โดยยอมอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้า ถ่อมใจยอมรับการตีสอนจากพระองค์และทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์.
ทำไมจึง “ชะรอย” อาจถูกกำบังไว้?
8. การใช้คำ “ชะรอย” ในซะฟันยา 2:3 (ล.ม.) บ่งชี้ถึงอะไร?
8 โปรดสังเกตว่าซะฟันยา 2:3 (ล.ม.) กล่าวว่า “ชะรอยเจ้าอาจถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา.” ทำไมจึงมีการใช้คำว่า “ชะรอย” เมื่อกล่าวถึงคน “ที่อ่อนน้อมในแผ่นดินโลก”? จริงอยู่ คนที่อ่อนน้อมเหล่านี้ได้ทำตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่ดี แต่นั่นไม่ควรทำให้เขามั่นใจในตัวเอง. พวกเขายังไม่ได้รักษาความซื่อสัตย์จนถึงที่สุดในแนวทางชีวิตของตน. เป็นไปได้ที่บางคนอาจพลาดพลั้งทำบาป. เป็นจริงอย่างนั้นด้วยสำหรับเรา. พระเยซูตรัสไว้ว่า “ผู้ใดที่ได้อดทนจนถึงที่สุดผู้นั้นจะได้รับการช่วยให้รอด.” (มัดธาย 24:13, ล.ม.) ใช่แล้ว ความรอดในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวาขึ้นอยู่กับการที่เราดำเนินต่อ ๆ ไปในการทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรของพระองค์. นั่นเป็นความตั้งใจอันแน่วแน่ของคุณไหม?
9. กษัตริย์โยซียาผู้ทรงพระเยาว์ดำเนินการตามขั้นตอนที่ซื่อตรงอะไรบ้าง?
9 ดูเหมือนว่ากษัตริย์โยซียาถูกกระตุ้นจากถ้อยคำของซะฟันยาให้ “แสวงหาพระยะโฮวา.” พระคัมภีร์กล่าวดังนี้: “ในปีที่แปดแห่งรัชกาล, เมื่อ [โยซียา] ยังทรงพระเยาว์อยู่ [ประมาณ 16 พรรษา], ก็ได้ตั้งพระราชหฤทัยแสวงหาพระเจ้าแห่งดาวิดราชบิดาใหญ่ของท่าน.” (2 โครนิกา 34:3) โยซียายังได้ “แสวงหาความชอบธรรม” อยู่เสมอด้วย เพราะเราอ่านดังนี้: “ครั้นในปีที่สิบสอง [เมื่อโยซียามีพระชนมายุประมาณ 20 พรรษา] ได้ตั้งต้นชำระแผ่นดินยูดาและกรุงยะรูซาเลม, กวาดให้ปราศจากที่นมัสการบนเนินสูง, รูปเสา, รูปสลัก, และรูปหล่อ. เขาได้พากันรื้อทำลายแท่นของพระบาละต่อพระพักตร์.” (2 โครนิกา 34:3, 4) โยซียา “แสวงหาความอ่อนน้อม” ด้วย ลงมือทำอย่างถ่อมใจเพื่อทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยด้วยการกวาดล้างการบูชารูปเคารพและกิจปฏิบัติอื่น ๆ ของศาสนาเท็จให้หมดไปจากแผ่นดิน. คนอื่น ๆ ที่อ่อนน้อมคงต้องรู้สึกยินดีสักเพียงไรในเหตุการณ์เหล่านี้!
10. เกิดอะไรขึ้นในยูดาในปี 607 ก.ส.ศ. แต่ใครได้รับการละเว้น?
10 ชาวยิวจำนวนมากหันกลับมาหาพระยะโฮวาในระหว่างรัชสมัยของโยซียา. อย่างไรก็ตาม ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ คนส่วนใหญ่หันกลับไปสู่วิถีชีวิตอย่างเดิม—ประพฤติตัวไม่เป็นที่ยอมรับของพระเจ้าโดยสิ้นเชิง. ดังที่พระยะโฮวาได้ทรงประกาศพิพากษาไว้ พวกบาบูโลนได้มาพิชิตยูดาและทำลายกรุงยะรูซาเลมราชธานีของอาณาจักรนี้ในปี 607 ก.ส.ศ. ถึงกระนั้น สถานการณ์มิได้สิ้นหวังไปเสียทั้งหมด. ผู้พยากรณ์ยิระมะยา, เอเบ็ดเมเล็กชาวเอธิโอเปีย, ลูกหลานตระกูลโยนาดาบ, และคนอื่น ๆ ที่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา.—ยิระมะยา 35:18, 19; 39:11, 12, 15-18.
ศัตรูของพระเจ้า—จงใส่ใจ!
11. เหตุใดจึงเป็นเรื่องท้าทายที่จะรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าในทุกวันนี้ แต่ศัตรูของไพร่พลพระยะโฮวาควรคำนึงถึงอะไร?
11 ขณะที่เราคอยท่าวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวาต่อระบบชั่วนี้ เรา “ประสบการทดลองต่าง ๆ.” (ยาโกโบ 1:2, ล.ม.) ในบางดินแดนที่อ้างว่าให้เสรีภาพในการนมัสการ พวกนักเทศน์นักบวชได้ใช้อิทธิพลของตนต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเพื่อก่อให้เกิดการกดขี่ข่มเหงไพร่พลของพระเจ้าอย่างร้ายกาจ. พวกผู้ไร้คุณธรรมให้ร้ายป้ายสีพยานพระยะโฮวา ตราหน้าพวกเขาว่าเป็น “นิกายอันตราย.” พระเจ้าทรงทราบดีถึงการกระทำของพวกเขา และจะไม่ปล่อยให้คนเหล่านี้ลอยนวล. ศัตรูของพระองค์น่าจะพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับศัตรูของไพร่พลพระองค์ในสมัยโบราณอย่างเช่นชาวฟะลิศตีม. มีคำพยากรณ์กล่าวไว้ว่า “เมืองฆาซาจะเป็นที่ทิ้งสละ, แลเมืองอัศคะโลนจะเป็นที่ร้างเปล่า, เขาทั้งหลายจะขับไล่เมืองอัศโดดออกเสีย ณ วันเวลาเที่ยง, แลเมืองเอคโรนจะต้องถอนขึ้นทั้งราก.” ฆาซา, อัศคะโลน, อัศโดด, และเอคโรนคือเมืองของชาวฟะลิศตีมที่จะถูกทำลายให้ร้างเปล่า.—ซะฟันยา 2:4-7.
12. เกิดอะไรขึ้นกับฟะลิศตีม, โมอาบ, และอำโมน?
12 คำพยากรณ์กล่าวต่อไปว่า “เราได้ยินคำครหานินทาแห่งชาวเมืองโมอาบ, แลคำเยาะเย้ยลูกชายทั้งหลายแห่งอำโมน, ซึ่งเขาทั้งหลายได้ติเตียนนินทาพลไพร่ของเรา, แลพองตัวอวดอ้างต่อเขตแดนทั้งหลายของเขา.” (ซะฟันยา 2:8) จริงอยู่ อียิปต์และเอธิโอเปียทนรับทุกข์ด้วยน้ำมือของผู้รุกรานชาวบาบูโลน. แต่พระเจ้าทรงพิพากษาเช่นไรต่อโมอาบและอำโมน ชาติซึ่งสืบเชื้อสายจากโลตผู้เป็นหลานชายของอับราฮาม? พระยะโฮวาทรงแจ้งล่วงหน้าว่า “เมืองโมอาบจะเป็นเหมือนอย่างเมืองซะโดม, แลลูกชายทั้งหลายแห่งอำโมนจะเป็นเหมือนอย่างเมืองอะโมรา.” ไม่เหมือนกับบรรพสตรีของพวกเขา—คือบุตรสาวทั้งสองของโลต ซึ่งรอดชีวิตผ่านการทำลายเมืองซะโดมและกะโมรา—โมอาบและอำโมนจะไม่ถูกกำบังไว้จากการพิพากษาของพระเจ้า. (ซะฟันยา 2:9-12; เยเนซิศ 19:16, 23-26, 36-38) ปัจจุบัน ชาติฟะลิศตีมและเมืองทั้งหลายของชาตินี้อยู่ที่ไหนล่ะ? จะว่าอย่างไรสำหรับโมอาบและอำโมนซึ่งเคยทะนงตน? ต่อให้หาเท่าไร คุณก็จะไม่พบชาติเหล่านี้.
13. มีการค้นพบอะไรทางโบราณคดีในกรุงนีนะเว?
13 ในสมัยของซะฟันยา อำนาจของจักรวรรดิอัสซีเรียขึ้นถึงจุดสูงสุด. ในการพรรณนาถึงส่วนหนึ่งของพระราชวังที่เขาได้ขุดพบในกรุงนีนะเวราชธานีของอัสซีเรีย นักโบราณคดี ออสเตน เลย์อาร์ด เขียนดังนี้: “เพดาน . . . แบ่งออกเป็นช่อง ๆ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส วาดเป็นรูปดอกไม้หรือรูปสัตว์ต่าง ๆ. บางช่องฝังประดับด้วยงาช้าง แต่ละช่องล้อมโดยรอบด้วยขอบและคิ้วอย่างงดงามตระการตา. คานและผนังภายนอกส่วนด้านข้างของห้องอาจมีการหุ้มปิดหรือแม้แต่ชุบด้วยทองและเงิน; สำหรับส่วนที่เป็นไม้ ก็ใช้ไม้ที่หายากมาก ที่เด่นเป็นพิเศษคือไม้สนซีดาร์.” อย่างไรก็ตาม ดังที่บอกล่วงหน้าในคำพยากรณ์ของซะฟันยา อัสซีเรียจะถูกทำลายและนีนะเวราชธานีจะกลายเป็น “ที่ร้างเปล่า.”—ซะฟันยา 2:13, ล.ม.
14. คำพยากรณ์ของซะฟันยาสำเร็จเป็นจริงอย่างไรกับนีนะเว?
14 เพียง 15 ปีหลังจากที่ซะฟันยากล่าวคำพยากรณ์นั้น กรุงนีนะเวที่เข้มแข็งก็ถูกทำลาย พระราชวังของกรุงนี้ถูกทุบทำลายจนเหลือแต่ซาก. ใช่แล้ว กรุงอันงามสง่านั้นถูกทำลายจนเหลือแต่ธุลี. ขอบเขตของการทำลายล้างนั้นมีบอกล่วงหน้าไว้อย่างชัดเจนว่า “ทั้งนกกะทุงแลเม่นจะอาศัยอยู่ในขอบประตูเบื้องบน [ที่หล่นลงมา], จะมีสำเนียงร้องเป็นอันดังที่หน้าต่าง, จะมีความทำลายร้างที่ธรณี.” (ซะฟันยา 2:14, 15) อาคารบ้านช่องอันโอ่อ่าของนีนะเวจะกลายเป็นที่อาศัยซึ่งเหมาะสำหรับเม่นและนกกะทุงเท่านั้น. เสียงร้องขายของ, เสียงร้องของนักรบ, และเสียงสวดของพวกปุโรหิตจะไม่ได้ยินอีกต่อไปในกรุงนี้. ตามทางสัญจรทั้งหลายที่เคยคับคั่งด้วยผู้คน จะได้ยินแต่เสียงร้องเพลงอันประหลาดพิกลที่หน้าต่าง ซึ่งอาจเป็นเสียงเพลงอันเศร้าสร้อยของนกหรือเสียงหวีดหวิวครวญครางของสายลม. ขอให้ศัตรูทั้งสิ้นของพระเจ้าพบจุดจบคล้าย ๆ กันนี้!
15. มีบทเรียนอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับฟะลิศตีม, โมอาบ, อำโมน, และอัสซีเรีย?
15 เราได้บทเรียนอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับฟะลิศตีม, โมอาบ, อำโมน, และอัสซีเรีย? บทเรียนคือ ในฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวา ไม่มีอะไรที่เราต้องกลัวจากพวกศัตรู. พระเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นสิ่งที่คนเหล่านั้นที่ต่อต้านไพร่พลของพระองค์ทำ. พระยะโฮวาทรงจัดการศัตรูของพระองค์ในอดีต และการพิพากษาของพระองค์จะมีเหนือแผ่นดินโลกทั้งสิ้นที่มีผู้อยู่อาศัยในปัจจุบัน. แต่จะมีผู้รอดชีวิต—คือ ‘ชนฝูงใหญ่จากชาติทั้งปวง.’ (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.) คุณอาจอยู่ในกลุ่มคนเหล่านี้—แต่ทั้งนี้คุณต้องแสวงหาพระยะโฮวา, แสวงหาความชอบธรรม, และแสวงหาความอ่อนน้อมต่อ ๆ ไป.
วิบัติแก่ผู้ทำผิดที่อวดดี!
16. คำพยากรณ์ของซะฟันยากล่าวเช่นไรเกี่ยวกับพวกเจ้าชายและหัวหน้าศาสนาแห่งยูดา และเหตุใดถ้อยคำดังกล่าวจึงเหมาะเจาะกับคริสต์ศาสนจักร?
16 คำพยากรณ์ของซะฟันยาเน้นเกี่ยวกับยูดาและกรุงยะรูซาเลมอีกครั้งหนึ่ง. ซะฟันยา 3:1, 2 อ่านดังนี้: “วิบัติแก่เมืองซึ่งเป็นกบฏ, แลเป็นโสโครกเศร้าหมองแลข่มขี่อยู่นั้น. เขามิได้เชื่อฟังสำเนียง, มิได้รับโอวาทคำสั่งสอน, มิได้ปลงใจลงในพระยะโฮวา, มิได้เข้ามาใกล้พระเจ้าของเขา.” ช่างน่าสลดใจอะไรเช่นนี้ที่พวกเขาไม่ใส่ใจต่อความพยายามของพระยะโฮวาที่จะตีสอนไพร่พลของพระองค์! ความโหดเหี้ยมของพวกเจ้าชาย, ขุนนาง, และผู้พิพากษาเหล่านั้นช่างชั่วช้าจริง ๆ. ซะฟันยาตำหนิความไร้ยางอายของพวกหัวหน้าศาสนาโดยกล่าวว่า “ผู้พยากรณ์ทั้งหลายของเขาเป็นคนใจเบา [“อวดดี,” ล.ม.] คดโกง, พวกปุโรหิตทั้งหลายของเขาได้ยังที่อันบริสุทธิ์ให้เป็นมลทิน, ได้เปลี่ยนแปลงพระบัญญัติให้เสียไป.” (ซะฟันยา 3:3, 4) ถ้อยคำนี้ช่างเหมาะเจาะกับสภาพของผู้พยากรณ์และนักเทศน์แห่งคริสต์ศาสนจักรในทุกวันนี้จริง ๆ! ด้วยความถือดี พวกเขาได้ลบพระนามของพระเจ้าออกจากคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลต่าง ๆ ของพวกเขา และสอนหลักข้อเชื่อที่บิดเบือนเกี่ยวกับพระเจ้าซึ่งเขาอ้างว่านมัสการ.
17. ไม่ว่าผู้คนจะฟังหรือไม่ฟัง เหตุใดจึงประกาศข่าวดีต่อ ๆ ไป?
17 โดยคำนึงถึงพวกเขา พระยะโฮวาทรงให้คำเตือนแก่ไพร่พลของพระองค์ในสมัยโบราณเกี่ยวกับราชกิจที่พระองค์จะทำ. พระองค์ทรงส่งผู้รับใช้ที่เป็นผู้พยากรณ์—ซะฟันยาและยิระมะยา รวมทั้งผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ—ให้กระตุ้นไพร่พลของพระองค์ให้กลับใจ. ถูกแล้ว “พระยะโฮวา . . . หาได้กระทำอสัตย์อธรรมไม่. รุ่งเช้าทุกวัน ๆ พระองค์นำความพิพากษาตัดสินของพระองค์ออกมาให้สว่างมิได้ขาดสักเวลา.” มีปฏิกิริยาตอบกลับเช่นไร? ซะฟันยากล่าวว่า “แต่คนอธรรมมิได้รู้จักความละอายเลย.” (ซะฟันยา 3:5) ในเวลานี้กำลังมีการประกาศคำเตือนคล้าย ๆ กัน. หากคุณเป็นผู้ประกาศข่าวดี คุณกำลังมีส่วนร่วมในงานประกาศคำเตือนดังกล่าว. จงประกาศข่าวดีต่อ ๆ ไปโดยไม่เลื่อยล้า! ไม่ว่าผู้คนจะฟังหรือไม่ฟัง งานรับใช้ของคุณประสบความสำเร็จเสมอในทัศนะของพระเจ้า ตราบเท่าที่คุณทำงานนี้อย่างซื่อสัตย์; ไม่มีอะไรที่คุณต้องอายเมื่อคุณทำงานของพระเจ้าด้วยใจแรงกล้า.
18. ซะฟันยา 3:6 จะสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
18 การพิพากษาสำเร็จโทษของพระเจ้าจะไม่จำกัดอยู่แค่การทำให้คริสต์ศาสนจักรร้างเปล่า. พระยะโฮวาทรงขยายการกล่าวโทษของพระองค์ไปถึงชาติทั้งปวงว่า “เราได้ล้างผลาญประเทศเมืองทั้งปวง, แลหอป้อมทั้งหลายของเขาต้องหักทำลายลง, เราได้กระทำให้ถนนเมืองของเขาเป็นที่ร้างหาผู้ใดจะเดินไปมามิได้. เมืองของเขาทั้งหลายต้องทำลายร้างเสีย.” (ซะฟันยา 3:6) พระดำรัสนี้ของพระยะโฮวาเกี่ยวกับความพินาศเชื่อถือได้ถึงขนาดที่พระองค์ตรัสราวกับได้เกิดขึ้นไปแล้ว. เกิดอะไรขึ้นกับเมืองต่าง ๆ ของฟะลิศตีม, โมอาบ, และอำโมน? และจะว่าอย่างไรสำหรับกรุงนีนะเว ราชธานีของอัสซีเรีย? ความพินาศของเมืองเหล่านี้เป็นตัวอย่างเตือนชาติทั้งหลายในทุกวันนี้. พระเจ้ามิใช่ผู้ที่จะล้อเล่นได้.
จงแสวงหาพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป
19. คำถามน่าคิดอะไรที่เราอาจถาม?
19 ในสมัยของซะฟันยา ความพิโรธของพระเจ้าถูกปล่อยลงบนคนเหล่านั้นที่ “กระทำผิดในบรรดากิจการของเขาทั้งหลาย” อย่างชั่วร้าย. (ซะฟันยา 3:7) จะเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันนั้นในสมัยของเรา. คุณเห็นหลักฐานไหมว่าวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวามาใกล้แล้ว? คุณกำลัง “แสวงหาพระยะโฮวา” ต่อ ๆ ไปไหมโดยอ่านพระคำของพระองค์เป็นประจำ—ทุกวัน? คุณ “แสวงหาความชอบธรรม” โดยดำเนินชีวิตที่สะอาดด้านศีลธรรมประสานกับมาตรฐานของพระเจ้าไหม? และคุณกำลัง “แสวงหาความอ่อนน้อม” โดยแสดงน้ำใจอ่อนน้อมและแสดงเจตคติยอมอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้าและการจัดเตรียมของพระองค์เพื่อความรอดไหม?
20. เราจะพิจารณาคำถามอะไรในบทความสุดท้ายในชุดนี้เกี่ยวกับคำพยากรณ์ของซะฟันยา?
20 หากเราแสวงหาพระยะโฮวา, ความชอบธรรม, และความอ่อนน้อมต่อ ๆ ไปอย่างซื่อสัตย์ เราสามารถคาดหมายว่าจะได้รับพระพรอันอุดมในขณะนี้—ใช่แล้ว แม้แต่ใน “สมัยสุดท้าย” นี้ซึ่งเป็นเวลาแห่งการทดสอบความเชื่อ. (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.; สุภาษิต 10:22) แต่เราคงอยากจะถามว่า ‘เรากำลังได้รับพระพรในทางใดบ้างในฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบัน และพระพรอะไรในอนาคตที่คำพยากรณ์ของซะฟันยาได้ตั้งไว้ต่อหน้าคนเหล่านั้นที่จะถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวาที่กำลังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว?’
คุณจะตอบอย่างไร?
• ผู้คน “แสวงหาพระยะโฮวา” โดยวิธีใด?
• ‘การแสวงหาความชอบธรรม’ เกี่ยวข้องกับอะไร?
• เราจะ “แสวงหาความอ่อนน้อม” ได้อย่างไร?
• เหตุใดเราควรแสวงหาพระยะโฮวา, ความชอบธรรม, และความอ่อนน้อมต่อ ๆ ไป?
[ภาพหน้า 18]
คุณกำลังแสวงหาพระยะโฮวาโดยศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและอธิษฐานอย่างแรงกล้าไหม?
[ภาพหน้า 21]
เนื่องจากชนฝูงใหญ่แสวงหาพระยะโฮวาเรื่อยไป พวกเขาจะรอดชีวิตผ่านวันแห่งความพิโรธของพระองค์