พระเยซูตามความเป็นจริง
ภายหลังทราบจากพวกอัครสาวกว่าผู้คนคิดอย่างไรเกี่ยวกับพระองค์แล้ว พระเยซูตรัสถามพวกเขาว่า “ฝ่ายพวกท่านนี้ว่าเราเป็นผู้ใดเล่า?” กิตติคุณของมัดธายบันทึกคำตอบของอัครสาวกเปโตรไว้ว่า “พระองค์เป็นพระคริสต์บุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” (มัดธาย 16:15, 16) คนอื่นก็มีความเห็นอย่างเดียวกัน. นะธันเอลซึ่งภายหลังได้มาเป็นอัครสาวกคนหนึ่งทูลพระเยซูว่า “รับบี, พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า, พระองค์เป็นกษัตริย์ของชาติยิศราเอล.” (โยฮัน 1:49) พระเยซูเองตรัสถึงความสำคัญแห่งบทบาทของพระองค์ว่า “เราเป็นทางนั้น, เป็นความจริง, และเป็นชีวิต ไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดาเว้นไว้มาทางเรา.” (โยฮัน 14:6) ในโอกาสต่าง ๆ พระเยซูอ้างถึงพระองค์เองว่าเป็น “พระบุตรของพระเจ้า.” (โยฮัน 5:24, 25; 11:4) และพระองค์ทรงสนับสนุนคำอ้างนี้โดยการอัศจรรย์ต่าง ๆ กระทั่งปลุกคนตายให้มีชีวิตอีกด้วยซ้ำ.
ข้อสงสัยที่มีเหตุผลไหม?
แต่เราจะมั่นใจในเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูในกิตติคุณได้จริง ๆ ไหม? เรื่องราวนั้นพรรณนาพระเยซูตามความเป็นจริงไหม? เฟรเดอริก เอฟ. บรูซ ศาสตราจารย์ด้านการวิจารณ์และอรรถาธิบายเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลแห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ผู้ล่วงลับไปแล้วได้กล่าวว่า “โดยปกติเป็นไปไม่ได้ที่จะแสดงให้เห็นความจริงเกี่ยวกับรายละเอียดทุกอย่างในบันทึกโบราณโดยการอ้างเหตุผลทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นบันทึกจากคัมภีร์ไบเบิลหรือบันทึกที่ไม่เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลก็ตาม. นับว่าเพียงพอที่จะมีความมั่นใจพอสมควรในความน่าเชื่อถือโดยทั่วไปของผู้เขียน; หากความน่าเชื่อถือนั้นได้รับการพิสูจน์แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ด้วยเหตุผลในตัว ว่ารายละเอียดของเขาเป็นเรื่องจริง. . . . การที่คริสเตียนยอมรับว่าพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่เป็นวรรณกรรม ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ไม่ใช่เหตุผลที่จะถือว่าข้อเขียนนั้นไม่น่าเชื่อถือทางประวัติศาสตร์.”
หลังจากตรวจสอบข้อสงสัยเกี่ยวกับพระเยซูดังที่พรรณนาในกิตติคุณแล้ว เจมส์ อาร์. เอดเวิร์ด ศาสตราจารย์ด้านศาสนาแห่งวิทยาลัยเจมส์ทาวน์ รัฐนอร์ทดาโคตา สหรัฐอเมริกา ได้เขียนว่า “เราอาจยืนยันด้วยความมั่นใจว่ากิตติคุณรักษาหลักฐานที่หลากหลายและสำคัญจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับความจริงแท้ ๆ เรื่องพระเยซู. . . . คำตอบที่มีเหตุผลมากที่สุดสำหรับคำถามที่ว่า ทำไมกิตติคุณจึงเสนอเรื่องพระเยซูดังที่ได้เสนอนั้นก็คือ เพราะพระเยซูเป็นอย่างที่มีพรรณนาไว้จริง ๆ. อย่างที่ตรงตามความเป็นจริง กิตติคุณรักษาความประทับใจที่พระองค์ทรงทิ้งไว้ให้เหล่าผู้ติดตามพระองค์ ที่ว่าพระเจ้าทรงส่งพระองค์มาอย่างแท้จริงและทรงมอบอำนาจให้เป็นพระบุตรและผู้รับใช้ของพระเจ้า.”a
สืบหาพระเยซู
จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับข้ออ้างอิงถึงพระเยซูคริสต์ที่ไม่ได้มาจากคัมภีร์ไบเบิล? ข้ออ้างอิงเหล่านั้นได้รับการประเมินค่าอย่างไร? ในบทประพันธ์ของทาซิทุส, ซูโทนิอุส, โยเซฟุส, พลินีผู้อ่อนวัยกว่า, และนักเขียนกรีก-โรมันคนอื่น ๆ บางคน มีการอ้างอิงถึงพระเยซูอย่างมากมายด้วย. สารานุกรมบริแทนนิกาฉบับใหม่ (1995, ภาษาอังกฤษ) กล่าวเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ว่า “เรื่องราวที่มีข้อคิดเห็นเป็นของตนเองเหล่านี้พิสูจน์ว่าในสมัยโบราณ แม้แต่พวกปรปักษ์ของศาสนาคริสเตียนก็ไม่เคยสงสัยลักษณะที่เป็นจริงทางประวัติศาสตร์ของพระเยซู ซึ่งได้รับการโต้แย้งเป็นครั้งแรกและโดยอาศัยหลักฐานที่ไม่เพียงพอในตอนปลายศตวรรษที่ 18, ระหว่างศตวรรษที่ 19, และในตอนต้นของศตวรรษที่ 20.”
น่าเศร้า ในการสืบหาพระเยซู “ตามความเป็นจริง” หรือที่ “เป็นไปตามประวัติศาสตร์” พวกผู้คงแก่เรียนสมัยปัจจุบันดูเหมือนว่าได้ซ่อนเอกลักษณ์ที่แท้จริงของพระองค์ไว้เบื้องหลังการคาดเดาที่ไม่มีพื้นฐาน, ความสงสัยที่ไม่มีความหมาย, และการตั้งทฤษฎีที่ไม่มีเหตุผลขึ้นมาเป็นส่วนใหญ่. ในแง่หนึ่ง พวกเขามีความผิดในการแต่งเทพนิยายซึ่งพวกเขากล่าวหาผู้เขียนกิตติคุณอย่างผิด ๆ. บางคนกระตือรือร้นที่จะส่งเสริมชื่อเสียงของตนเองและเอาชื่อของเขามาเชื่อมโยงกับทฤษฎีใหม่ซึ่งทำให้ตื่นตระหนกจนกระทั่งเขาพลาดไปในการตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับพระเยซูอย่างซื่อตรง. ในระหว่างนั้น พวกเขาก็สร้าง “พระเยซู” ขึ้นมาซึ่งเท่ากับเป็นการแต่งขึ้นจากจินตนาการแบบผู้คงแก่เรียน.
สำหรับคนเหล่านั้นที่ต้องการพบพระเยซู จะพบพระองค์ตามความเป็นจริงได้ในคัมภีร์ไบเบิล. ลุก จอห์นสัน ศาสตราจารย์ด้านพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่และต้นกำเนิดของคริสเตียนที่คณะเทววิทยาแคนด์เลอร์แห่งมหาวิทยาลัยเอมรีโต้แย้งว่า การวิจัยส่วนใหญ่ในเรื่องพระเยซูตามประวัติศาสตร์นั้นมองข้ามเป้าหมายที่มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล. เขากล่าวว่าอาจเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะตรวจสอบดูสภาพแวดล้อมในชีวิตและยุคของพระเยซูในด้านสังคม, การเมือง, มานุษยวิทยา, และด้านวัฒนธรรม. กระนั้น เขากล่าวเสริมว่า การค้นพบสิ่งที่พวกผู้คงแก่เรียนเรียกว่าพระเยซูตามประวัติศาสตร์นั้น “แทบจะไม่เป็นจุดประสงค์ของพระคัมภีร์” ซึ่ง “เกี่ยวข้องกับการพรรณนาบุคลิกลักษณะของพระเยซู,” ข่าวสารของพระองค์, และบทบาทของพระองค์ในฐานะพระผู้ไถ่มากกว่า. ดังนั้น บุคลิกลักษณะและข่าวสารที่แท้จริงของพระเยซูเป็นเช่นไร?
พระเยซูตามความเป็นจริง
กิตติคุณ—เรื่องราวสี่เล่มในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซู—พรรณนาถึงบุรุษซึ่งแสดงความร่วมรู้สึกอย่างยิ่ง. ความสงสารและความเมตตาได้กระตุ้นพระเยซูให้ช่วยเหลือผู้คนซึ่งทนทุกข์จากความเจ็บป่วย, ตาบอด, และความทุกข์อื่น ๆ. (มัดธาย 9:36; 14:14; 20:34) ความตายของลาซะโรสหายของพระองค์และความโศกเศร้าของพี่สาวเขาได้กระตุ้นพระเยซูให้ ‘คร่ำครวญและกันแสง.’ (โยฮัน 11:32-36) ที่จริง กิตติคุณเปิดเผยความรู้สึกที่หลากหลายของพระเยซู—ความสงสารต่อคนที่เป็นโรคเรื้อน, ความเบิกบานยินดีในผลสำเร็จของเหล่าสาวกของพระองค์, ความขุ่นเคืองต่อนักถือตัวบทกฎหมายที่ใจไม้ไส้ระกำ, และความเศร้าพระทัยในการที่กรุงเยรูซาเลมปฏิเสธพระมาซีฮา.
เมื่อพระเยซูทรงทำการอัศจรรย์ พระองค์มักจะเพ่งเล็งในฝ่ายของผู้รับในตอนนั้น: “ความเชื่อของเจ้าได้กระทำให้หายปกติ.” (มัดธาย 9:22) พระองค์ทรงชมเชยนะธันเอลว่าเป็น “คนชาติยิศราเอลแท้ที่ไม่มีอุบาย.” (โยฮัน 1:47) เมื่อบางคนคิดว่าของกำนัลที่ให้ด้วยความสำนึกบุญคุณของหญิงคนหนึ่งเป็นการสิ้นเปลือง พระเยซูทรงปกป้องเธอและตรัสว่าเรื่องเกี่ยวกับความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของเธอจะมีคนระลึกถึงกันไปอีกนาน. (มัดธาย 26:6-13) พระองค์ทรงพิสูจน์ตัวว่าเป็นเพื่อนแท้และเป็นมิตรที่มีความรักใคร่ต่อเหล่าสาวกของพระองค์ “ทรงรักเขาจนถึงที่สุด.”—โยฮัน 13:1; 15:11-15.
กิตติคุณยังแสดงให้เห็นด้วยว่าพระเยซูทรงตระหนักทันทีถึงความจำเป็นของคนส่วนใหญ่ที่พระองค์ได้พบนั้นด้วย. ไม่ว่าจะเป็นการสนทนากับผู้หญิงคนหนึ่งที่บ่อน้ำ, กับครูสอนศาสนาในสวนแห่งหนึ่ง, หรือกับชาวประมงคนหนึ่งริมทะเลสาบ พระองค์ทรงเข้าถึงหัวใจของพวกเขาโดยตรง. หลังจากคำพูดเริ่มต้นของพระเยซู หลายคนในบรรดาคนเหล่านี้ได้เปิดเผยความคิดในส่วนลึกสุดของเขาให้พระองค์ทราบ. พระองค์ทรงกระตุ้นความรู้สึกตอบสนองในตัวพวกเขา. ถึงแม้ผู้คนในสมัยของพระองค์อาจหลีกเลี่ยงการคบหากับคนซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจก็ตาม แต่ในกรณีของพระเยซูฝูงชนเบียดเสียดกันอยู่รอบพระองค์. พวกเขาชอบอยู่กับพระเยซู; พวกเขารู้สึกสบายใจในการคบหากับพระองค์. เด็ก ๆ รู้สึกสบายใจเมื่ออยู่กับพระองค์ และเมื่อทรงใช้เด็กเป็นตัวอย่าง พระองค์ไม่เพียงให้เด็กยืนอยู่ต่อหน้าพวกสาวกเท่านั้น แต่ทรง “อุ้มเด็กนั้นไว้” ด้วย. (มาระโก 9:36; 10:13-16) ที่จริง กิตติคุณบรรยายภาพพระเยซูฐานะบุรุษซึ่งมีพลังโน้มน้าวใจจนกระทั่งผู้คนค้างอยู่เป็นเวลาสามวันเพียงเพื่อฟังคำตรัสที่น่าสนใจของพระองค์.—มัดธาย 15:32.
พระเยซูอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ไม่สมบูรณ์ บาปหนา และทรงประกาศให้พวกเขาฟัง แต่การเป็นมนุษย์สมบูรณ์มิได้ทำให้พระองค์เป็นคนชอบจับผิดหรือยโสและใช้อำนาจบาตรใหญ่ต่อพวกเขา. (มัดธาย 9:10-13; 21:31, 32; ลูกา 7:36-48; 15:1-32; 18:9-14) พระเยซูไม่เคยเรียกร้องเอาจากคนอื่น. พระองค์มิได้เพิ่มภาระให้ประชาชน. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์ตรัสว่า “บรรดาผู้ที่ทำงานหนัก . . . จงมาหาเรา และเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น.” เหล่าสาวกของพระองค์ได้ประสบว่า พระองค์ทรง “มีจิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม”; แอกของพระองค์ก็พอเหมาะและภาระของพระองค์ก็เบา.—มัดธาย 11:28-30, ล.ม.
บุคลิกลักษณะของพระเยซูปรากฏชัดในเรื่องราวกิตติคุณด้วยเสียงกังวานแห่งความจริงที่แจ่มชัด. คงจะไม่ง่ายที่คนสี่คนจะกุเรื่องบุคคลพิเศษคนหนึ่งขึ้นมา แล้วเสนอภาพของพระองค์อย่างที่สอดคล้องกันตลอดเรื่องเล่าสี่เรื่องที่แยกกันบันทึก. คงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ผู้เขียนสี่คนจะพรรณนาถึงบุคคลคนเดียวกันและบรรยายภาพเดียวกันอย่างสอดคล้องกันเกี่ยวกับผู้หนึ่งซึ่งไม่เคยมีตัวตนอยู่จริง.
นักประวัติศาสตร์ไมเคิล แกรนต์ถามคำถามที่กระตุ้นความคิดว่า “เป็นไปได้อย่างไรที่เรื่องราวในกิตติคุณทั้งหมดโดยไม่มียกเว้น มีคำพรรณนาที่ชัดแจ้งอย่างน่าทึ่งเกี่ยวกับชายหนุ่มผู้น่าดึงดูดใจซึ่งคบหาอย่างเปิดเผยกับผู้หญิงทุกชนิด รวมทั้งคนที่เห็นได้ชัดว่ามีชื่อเสียงฉาวโฉ่ โดยไม่มีร่องรอยของอารมณ์ที่อ่อนไหว, การเสแสร้ง, หรือเจ้าระเบียบเกินไป และกระนั้น ในทุกโอกาสก็ยังรักษาไว้ซึ่งบุคลิกลักษณะที่ซื่อสัตย์มั่นคงอย่างไร้ราคี?” คำตอบที่มีเหตุผลคือข้อที่ว่าบุรุษเช่นนั้นมีอยู่จริงและได้ปฏิบัติในแบบที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวนั้น.
พระเยซูตามความเป็นจริงและอนาคตของคุณ
นอกจากให้ภาพชีวิตจริงของพระเยซูขณะที่พระองค์อยู่บนแผ่นดินโลกแล้ว คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นด้วยว่า พระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนมาเป็นมนุษย์ในฐานะพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระเจ้า เป็น “ผู้แรกที่บังเกิดก่อนสรรพสิ่งทรงสร้าง.” (โกโลซาย 1:15, ล.ม.) สองพันปีมาแล้ว พระเจ้าทรงโยกย้ายชีวิตพระบุตรของพระองค์ทางภาคสวรรค์มายังครรภ์ของสาวพรหมจารีชาวยิวเพื่อพระองค์จะประสูติเป็นมนุษย์. (มัดธาย 1:18) ระหว่างงานเผยแพร่ของพระองค์บนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้าฐานะเป็นความหวังอย่างเดียวสำหรับมนุษยชาติที่ทุกข์ระทม และพระองค์ทรงฝึกเหล่าสาวกของพระองค์ให้ทำงานประกาศนี้ต่อไป.—มัดธาย 4:17; 10:5-7; 28:19, 20.
ในวันที่ 14 เดือนไนซาน (ประมาณวันที่ 1 เมษายน) ปี ส.ศ. 33 พระเยซูถูกจับกุม, ถูกสอบสวน, ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตด้วยข้อกล่าวหาเท็จว่าปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ. (มัดธาย 26:18-20, มัด. 26:48–27:50) ความตายของพระเยซูจัดให้มีค่าไถ่ ปลดปล่อยมนุษยชาติที่เชื่อฟังให้พ้นจากสภาพบาปและโดยวิธีนี้เปิดทางสู่ชีวิตถาวรสำหรับทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระองค์. (โรม 3:23, 24; 1 โยฮัน 2:2) ในวันที่ 16 เดือนไนซาน พระเยซูได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์ และหลังจากนั้นไม่นานพระองค์ได้เสด็จกลับสู่สวรรค์. (มาระโก 16:1-8; ลูกา 24:50-53; กิจการ 1:6-9) ในฐานะพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระยะโฮวา พระเยซูผู้คืนพระชนม์แล้วทรงมีอำนาจเต็มที่ที่จะทำให้พระประสงค์เดิมของพระเจ้าสำหรับมนุษย์สำเร็จ. (ยะซายา 9:6, 7; ลูกา 1:32, 33) ถูกแล้ว คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นพระเยซูในฐานะบุคคลสำคัญในการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จเป็นจริง.
ในศตวรรษแรก ผู้คนจำนวนมากยอมรับพระเยซูตามที่พระองค์ทรงเป็น นั่นคือพระมาซีฮาหรือพระคริสต์ที่ทรงสัญญาไว้ ทรงถูกส่งมายังแผ่นดินโลกเพื่อพิสูจน์ความถูกต้องแห่งพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาและเพื่อสิ้นพระชนม์เป็นค่าไถ่สำหรับมนุษยชาติ. (มัดธาย 20:28; ลูกา 2:25-32; โยฮัน 17:25, 26; 18:37) เมื่อเผชิญการข่มเหงที่รุนแรง ผู้คนคงจะไม่ได้รับแรงกระตุ้นให้มาเป็นสาวกของพระเยซูเลยหากเขาไม่รู้แน่ว่าพระองค์เป็นใคร. ด้วยความกล้าหาญและด้วยใจแรงกล้า พวกเขารับเอางานที่พระองค์มอบหมายให้เขา คือ “ทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก.”—มัดธาย 28:19, ล.ม.
ปัจจุบัน คริสเตียนที่จริงใจและมีความรู้นับล้าน ๆ คนทราบว่าพระเยซูมิใช่เป็นบุคคลในตำนาน. พวกเขายอมรับพระองค์ฐานะพระมหากษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าที่ได้รับการสถาปนาแล้วในสวรรค์ ผู้ซึ่งในไม่ช้าจะเข้าควบคุมแผ่นดินโลกและกิจการของโลกอย่างเต็มที่. รัฐบาลของพระเจ้านี้เป็นข่าวที่น่ายินดีเพราะมีการสัญญาเรื่องการปลดเปลื้องจากปัญหาต่าง ๆ ของโลก. คริสเตียนแท้แสดงการสนับสนุนด้วยความภักดีต่อพระมหากษัตริย์ที่พระยะโฮวาทรงเลือกสรรโดยการประกาศ “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักรนี้” แก่คนอื่น.—มัดธาย 24:14, ล.ม.
คนเหล่านั้นที่สนับสนุนการจัดเตรียมเกี่ยวกับราชอาณาจักรโดยทางพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ จะมีชีวิตอยู่เพื่อชื่นชมกับพระพรถาวร. คุณอาจประสบพระพรเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน! ผู้จัดพิมพ์วารสารนี้จะยินดีช่วยคุณให้รู้จักพระเยซูที่แท้จริง.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับการตรวจสอบที่ละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวกิตติคุณ โปรดดูบท 5 ถึง 7 ของหนังสือคัมภีร์ไบเบิล—คำของพระเจ้าหรือของมนุษย์? (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[กรอบ/ภาพหน้า 6]
สิ่งที่คนอื่นได้กล่าว
“ข้าพเจ้าถือว่าพระเยซูชาวนาซาเร็ธเป็นหนึ่งในบรรดาครูผู้ใหญ่ยิ่งเท่าที่เคยมีในโลก. . . . ข้าพเจ้าจะขอกล่าวแก่ชาวฮินดูว่าชีวิตของพวกท่านจะไม่ครบถ้วนนอกเสียจากว่าท่านจะศึกษาคำสอนของพระเยซูด้วยความเคารพ.” มหาตมา คานธี ข่าวสารเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ (ภาษาอังกฤษ).
“บุคคลที่ไม่เหมือนคนอื่นจริง ๆ, ครบถ้วนทีเดียว, เสมอต้นเสมอปลาย, สมบูรณ์แบบจริง ๆ, เป็นแบบมนุษย์ทีเดียวและกระนั้นสูงส่งยิ่งกว่าความเลิศล้ำของมวลมนุษย์มากนัก ไม่อาจเป็นเรื่องหลอกลวงหรือเรื่องที่แต่งขึ้นได้. . . . คงต้องมีใครสักคนที่ใหญ่ยิ่งกว่าพระเยซูจึงจะแต่งเรื่องพระเยซูขึ้นได้.” ฟิลิป แชฟ ประวัติของคริสตจักรคริสเตียน (ภาษาอังกฤษ).
“ที่ว่าบุคคลธรรมดาไม่กี่คนในชั่วอายุหนึ่งได้แต่งเรื่องบุคคลผู้ทรงพลังและมีบุคลิกที่ดึงดูดใจมาก แต่งหลักจรรยาและอุดมการณ์อันสูงส่งในเรื่องภราดรภาพของมนุษยชาติอันเป็นแรงบันดาลใจนั้นขึ้นมา คงจะเป็นเรื่องอัศจรรย์ไม่น่าเชื่อยิ่งกว่าการอัศจรรย์ใด ๆ ซึ่งมีบันทึกในกิตติคุณทั้งสี่เสียอีก.” วิลล์ ดูแรนต์ ซีซาร์และพระคริสต์ (ภาษาอังกฤษ).
“อาจดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจได้ว่า บุคคลที่ไม่มีอยู่จริงซึ่งถูกแต่งขึ้นราวกับเป็นแผนการโฆษณาสมัยเก่าแก่ จะสามารถก่อให้เกิดขบวนการทางศาสนาซึ่งครอบคลุมทั่วโลก เมื่อคำนึงถึงความจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ที่ว่ามีผู้คนมากมายพยายามจะก่อตั้งศาสนาต่าง ๆ แต่ไม่สำเร็จ.” เกรก อีสเทอร์บรุก อยู่ข้างน้ำนิ่ง (ภาษาอังกฤษ).
‘ในฐานะนักประวัติศาสตร์ด้านวรรณคดี ผมมั่นใจอย่างแท้จริงว่า ไม่ว่าจะเป็นเช่นไรก็ตาม กิตติคุณไม่ใช่ตำนาน. กิตติคุณไม่ได้สะท้อนถึงมารยาสาไถยมากพอที่จะเป็นตำนาน. ชีวิตส่วนใหญ่ของพระเยซูเป็นอย่างไรเราไม่รู้ และคนที่แต่งตำนานขึ้นจะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น.’ ซี. เอส. ลูอิส พระเจ้าในคอกจำเลย (ภาษาอังกฤษ).
[ภาพหน้า 7]
กิตติคุณทั้งสี่เปิดเผยความรู้สึกที่หลากหลายของพระเยซู