การบรรเทาความตึงเครียด—วิธีเยียวยาที่ใช้ได้จริง
“บรรดาผู้ที่ทำงานหนักและมีภาระมาก จงมาหาเราและเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น.”—มัดธาย 11:28, ล.ม.
1, 2. (ก) คัมภีร์ไบเบิลมีความรู้อะไรซึ่งช่วยบรรเทาความตึงเครียดเกินไปได้? (ข) คำสอนของพระเยซูได้ผลอย่างไร?
คุณคงเห็นด้วยว่าความตึงเครียดมาก ๆ ก่อผลเสีย; ความตึงเครียดมาก ๆ ทำให้เป็นทุกข์. คัมภีร์ไบเบิลชี้ว่ามนุษย์เราทุกคนเป็นทุกข์หนักใจเนื่องด้วยภาระต่าง ๆ จนหลายคนเฝ้าคอยอย่างกังวลใจเพื่อจะได้รับการปลดปล่อยจากสภาพชีวิตในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเครียด. (โรม 8:20-22) แต่พระคัมภีร์ยังชี้ถึงวิธีที่ช่วยบรรเทาความตึงเครียดของเราได้มากแม้แต่ในขณะนี้ด้วย. การบรรเทาดังกล่าวมาจากการปฏิบัติตามคำแนะนำและตัวอย่างของบุรุษหนุ่มผู้หนึ่งซึ่งมีชีวิตเมื่อสองพันปีที่แล้ว. บุรุษผู้นี้เป็นช่างไม้ แต่มีความรักต่อผู้คนยิ่งกว่าการเป็นช่างไม้. บุรุษผู้นี้พูดได้ประทับใจผู้คน, เอาใจใส่ความจำเป็นของพวกเขา, ช่วยเหลือคนที่อ่อนแอ, และปลอบโยนผู้ที่ซึมเศร้า. ยิ่งกว่านั้น บุรุษผู้นี้ช่วยหลายคนให้สามารถบรรลุผลตามศักยภาพฝ่ายวิญญาณของตน. โดยวิธีนี้ คนเหล่านั้นจึงสามารถได้รับการบรรเทาจากความตึงเครียดเกินไป เช่นเดียวกับที่คุณเองก็สามารถได้รับ.—ลูกา 4:16-21; 19:47, 48; โยฮัน 7:46.
2 บุรุษผู้นี้ เยซูแห่งเมืองนาซาเร็ธ มิได้มุ่งร่ำเรียนทางโลกอย่างที่บางคนขวนขวายหาจากเมืองใหญ่ในสมัยนั้นอย่างโรม, เอเธนส์, หรืออะเล็กซานเดรีย. แต่กระนั้น คำสอนของพระองค์มีชื่อเสียงมาก. สาระสำคัญแห่งคำสอนของพระองค์คือ รัฐบาลที่พระเจ้าจะใช้ปกครองแผ่นดินโลกของเราอย่างประสบผลสำเร็จ. พระเยซูยังอธิบายหลักการพื้นฐานในการดำเนินชีวิตด้วย ซึ่งนับเป็นหลักการที่มีค่าอย่างแท้จริงในปัจจุบัน. ผู้ที่เรียนรู้และปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูได้รับประโยชน์ในทันที ซึ่งก็รวมถึงการที่เขาได้รับการบรรเทาจากความตึงเครียดเกินไป. คุณคงอยากได้รับประโยชน์แบบนี้ด้วยมิใช่หรือ?
3. พระเยซูทรงเชื้อเชิญเราอย่างยอดเยี่ยมเช่นไร?
3 คุณอาจสงสัยว่า ‘คนที่มีชีวิตอยู่ในสมัยนานมาแล้วขนาดนั้นจะมีอิทธิพลต่อชีวิตฉันในปัจจุบันได้จริง ๆ หรือ?’ ขอให้ฟังคำเชื้อเชิญของพระเยซู: “บรรดาผู้ที่ทำงานหนักและมีภาระมาก จงมาหาเรา และเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น. จงรับแอกของเราไว้บนเจ้าทั้งหลายและเรียนจากเรา เพราะเรามีจิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม และเจ้าจะได้ความสดชื่นสำหรับจิตวิญญาณของเจ้า. เพราะแอกของเราก็พอเหมาะและภาระของเราก็เบา.” (มัดธาย 11:28-30, ล.ม.) พระองค์ทรงหมายความอย่างไร? ให้เรามาพิจารณารายละเอียดบางอย่างในคำตรัสนี้และดูว่าคำตรัสของพระองค์จะช่วยบรรเทาความตึงเครียดที่ทำให้เราหดหู่ได้อย่างไร.
4. พระเยซูตรัสกับใคร และเหตุใดผู้ที่ฟังพระองค์อาจรู้สึกว่ายากจะทำในเรื่องที่ถูกเรียกร้อง?
4 พระเยซูตรัสกับหลายคนที่พยายามอย่างจริงจังเพื่อทำตามพระบัญญัติ แต่ว่า “มีภาระมาก” เนื่องจากพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวได้ทำให้ศาสนากลายเป็นภาระหนัก. (มัดธาย 23:4) พวกหัวหน้าศาสนาเหล่านี้เน้นกฎข้อบังคับมากมายไม่รู้จบสิ้นในแทบทุกแง่มุมของชีวิต. คุณคงรู้สึกเครียดมิใช่หรือหากจะต้องได้ยินคำสั่งว่าห้ามทำโน่นห้ามทำนี่อยู่ตลอด? ตรงกันข้าม คำเชิญของพระเยซูนำผู้คนที่ฟังพระองค์มาสู่ความจริง, ความชอบธรรม, และชีวิตที่ดีขึ้น. ถูกแล้ว วิธีที่จะรู้จักพระเจ้าองค์เที่ยงแท้หมายรวมถึงการเอาใจใส่ฟังพระเยซูคริสต์ เพราะมนุษย์เราสามารถเห็นได้ว่าพระยะโฮวาทรงมีคุณลักษณะเช่นไรโดยดูได้จากพระองค์. พระเยซูตรัสว่า “ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา.”—โยฮัน 14:9.
ชีวิตของคุณตึงเครียดเกินไปไหม?
5, 6. สภาพการทำงานและค่าจ้างในสมัยพระเยซูเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับสมัยของเราในปัจจุบัน?
5 เรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องกับคุณ เพราะงานของคุณหรือสภาพการณ์ในครอบครัวอาจทำให้คุณรู้สึกเครียดมาก. หรือหน้าที่รับผิดชอบอื่น ๆ อาจดูเหมือนว่าเป็นภาระหนักที่ทับถม. หากเป็นอย่างนั้น คุณก็เป็นเหมือนกับสุจริตชนที่พระเยซูทรงพบและช่วยเหลือ. ยกตัวอย่าง ขอให้พิจารณาปัญหาในเรื่องการหาเลี้ยงชีพ. หลายคนในปัจจุบันต้องดิ้นรนในการหาเลี้ยงชีพ ผู้คนจำนวนมากในสมัยพระเยซูก็เช่นกัน.
6 ย้อนไปในสมัยโน้น กรรมกรทำงานหนักวันละ 12 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน และตามปกติจะได้รับค่าจ้างเพียงหนึ่งเดนาริอนสำหรับการทำงานทั้งวัน. (มัดธาย 20:2-10) ค่าจ้างดังกล่าวเท่ากับเท่าไรเมื่อเทียบกับค่าจ้างที่คุณหรือเพื่อนของคุณได้รับ? อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะเทียบค่าจ้างในสมัยโบราณกับค่าจ้างในสมัยปัจจุบัน. วิธีหนึ่งที่จะเทียบคือโดยพิจารณากำลังซื้อ หรือสิ่งที่เงินสามารถซื้อได้. ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งกล่าวว่า ในสมัยของพระเยซูขนมปังแถวหนึ่งซึ่งใช้แป้งสาลีสี่ถ้วยมีราคาประมาณค่าจ้างหนึ่งชั่วโมง. ผู้คงแก่เรียนอีกคนหนึ่งกล่าวว่า เหล้าองุ่นชั้นดีแก้วหนึ่งมีราคาประมาณค่าจ้างสองชั่วโมง. จากรายละเอียดแบบนี้ เราเห็นได้ว่าผู้คนในสมัยนั้นทำงานหนักและยาวนานเพื่อยังชีพ. พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการผ่อนคลายและความสดชื่นเช่นเดียวกับเรา. หากคุณเป็นลูกจ้าง คุณอาจรู้สึกถูกกดดันให้ทำผลงานเพิ่มขึ้น. บ่อยครั้ง เราไม่มีเวลาพอจะไตร่ตรองเรื่องต่าง ๆ ให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ. คุณอาจยอมรับว่าคุณปรารถนาที่จะได้รับการบรรเทาอย่างยิ่ง.
7. ปฏิกิริยาต่อข่าวสารของพระเยซูเป็นเช่นไร?
7 เห็นได้ชัด คำเชิญของพระเยซูซึ่งมีไปถึงทุกคนที่ “ทำงานหนักและมีภาระมาก” คงเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจที่สุดสำหรับผู้ฟังหลายคนในเวลานั้น. (มัดธาย 4:25; มาระโก 3:7, 8) และขอให้ระลึกว่าพระเยซูตรัสเสริมอีกด้วยคำสัญญาที่ว่า “เราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น.” คำสัญญาเดียวกันนั้นมีผลใช้ได้ในทุกวันนี้. คำสัญญานี้ใช้ได้กับเราหากเรา “ทำงานหนักและมีภาระมาก.” และคำสัญญานี้ใช้ได้กับคนที่เรารัก ซึ่งมักตกอยู่ในสภาพคล้าย ๆ กัน.
8. การเลี้ยงดูบุตรและความชราเพิ่มความตึงเครียดให้มากขึ้นอย่างไร?
8 มีสิ่งอื่นด้วยที่เป็นภาระหนักสำหรับประชาชน. การเลี้ยงดูบุตรเป็นเรื่องใหญ่ที่ท้าทายความสามารถ. แม้แต่การเป็นเด็กก็อาจเป็นเรื่องยาก. ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและสุขภาพกายมีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ. และแม้ว่าประชาชนอาจมีอายุยืนกว่าสมัยก่อนเพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์ แต่ผู้สูงอายุประสบปัญหาหลายอย่างเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ.—ท่านผู้ประกาศ 12:1.
อยู่ใต้แอก
9, 10. ในสมัยโบราณ แอกเป็นสัญลักษณ์ของอะไร และเหตุใดพระเยซูเชิญผู้คนให้รับเอาแอกของพระองค์?
9 คุณสังเกตไหมว่าในคำตรัสที่มัดธาย 11:28, 29 (ล.ม.) พระเยซูตรัสว่า “จงรับแอกของเราไว้บนเจ้าทั้งหลายและเรียนจากเรา.” ในเวลานั้น สามัญชนอาจรู้สึกราวกับว่าเขากำลังทำงานอยู่ใต้แอก. ตั้งแต่โบราณมา แอกถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นทาส. (เยเนซิศ 27:40; เลวีติโก 26:13; พระบัญญัติ 28:48) กรรมกรเป็นจำนวนมากในสมัยนั้นที่พระเยซูทรงพบเห็นทำงานโดยมีแอก [คานไม้สำหรับหาบ] อยู่บนบ่าจริง ๆ เพื่อใช้หาบของหนัก. แอกที่วางบนคอและบ่าอาจทำให้รู้สึกสบายพอสมควรหรืออาจเสียดสีให้เจ็บ ขึ้นอยู่กับการออกแบบการทำ. เนื่องจากทรงเป็นช่างไม้ พระเยซูอาจเคยทำแอกและคงทราบวิธีที่จะทำแอกแบบที่ “พอเหมาะ.” พระองค์อาจบุส่วนที่สัมผัสกับเนื้อด้วยหนังหรือผ้าเพื่อให้ผู้แบกแอกนั้นสบายเท่าที่จะเป็นไปได้.
10 เมื่อพระเยซูตรัสว่า “จงรับแอกของเราไว้บนเจ้าทั้งหลาย” พระองค์อาจเปรียบพระองค์เองเป็นผู้จัดเตรียมแอก [คานไม้สำหรับหาบ] ที่ทำขึ้นอย่างประณีตซึ่งจะ “พอเหมาะ” กับคอและบ่าของคนงาน. ด้วยเหตุนั้น พระเยซูตรัสเพิ่มเติมอีกว่า “ภาระของเราก็เบา.” คำตรัสนี้แสดงนัยว่าแอกนั้นไม่ทำให้รู้สึกไม่สบายเมื่อใช้ และงานก็ไม่หนักอย่างที่ทาสทำด้วย. จริงอยู่ โดยการเชิญผู้ฟังให้รับเอาแอกของพระองค์ พระเยซูมิได้เสนอว่าจะปลดเปลื้องสภาพอันกดขี่ทุกอย่าง ที่มีอยู่ในเวลานั้นทันที. แต่กระนั้น การที่พระองค์ทรงเสนอมุมมองที่แตกต่างออกไปย่อมนำมาซึ่งความสดชื่นมากมาย. การปรับเปลี่ยนแบบชีวิตและวิธีในการทำสิ่งต่าง ๆ คงจะช่วยพวกเขาให้ผ่อนคลายด้วย. ที่สำคัญกว่านั้น ความหวังที่ชัดเจนและมั่นคงจะช่วยพวกเขาให้รู้สึกว่าชีวิตตึงเครียดน้อยลง.
คุณสามารถได้ความสดชื่น
11. เหตุใดพระเยซูไม่ได้เสนอว่าจะให้แอกอันใหม่มาแทนที่แอกอันเดิม?
11 โปรดสังเกตว่า พระเยซูไม่ได้ตรัสว่าผู้คนจะได้รับแอกอันใหม่แทนที่แอกอันเดิม. โรมจะยังคงปกครองประเทศของพวกเขาต่อไป แบบเดียวกับที่รัฐบาลในปัจจุบันก็จะปกครองประเทศต่าง ๆ ที่คริสเตียนเป็นพลเมืองต่อไป. ในศตวรรษแรก การเรียกเก็บภาษีจากชาวโรมันจะยังมีอยู่ต่อไป. ปัญหาสุขภาพและปัญหาเศรษฐกิจจะยังคงมีอยู่. ความไม่สมบูรณ์และบาปจะส่งผลกระทบผู้คนต่อไป. แต่กระนั้น พวกเขาสามารถได้ความสดชื่นด้วยการรับเอาคำสอนของพระเยซู และเราในปัจจุบันก็สามารถได้ความสดชื่นเช่นนั้นด้วยเช่นกัน.
12, 13. พระเยซูทรงเน้นว่าอะไรที่จะทำให้สดชื่น และบางคนตอบสนองอย่างไร?
12 ความหมายหลักของตัวอย่างเปรียบเทียบที่พระเยซูยกขึ้นมาเกี่ยวกับแอกนั้นเห็นได้ชัดว่าเกี่ยวข้องกับงานทำให้คนเป็นสาวก. ไม่มีข้อสงสัยที่ว่างานหลักของพระเยซูคือการสอนผู้อื่น โดยเน้นเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. (มัดธาย 4:23) ดังนั้น เมื่อพระองค์ตรัสว่า “จงรับแอกของเราไว้บนเจ้าทั้งหลาย” นั่นย่อมหมายรวมถึงการปฏิบัติตามแบบอย่างของพระองค์ในงานเดียวกันนี้ด้วยแน่นอน. บันทึกพระธรรมกิตติคุณแสดงว่าพระเยซูทรงกระตุ้นผู้มีน้ำใสใจจริงให้เปลี่ยนงานประจำชีพของตน ซึ่งเป็นแง่หนึ่งที่สำคัญในชีวิตของหลายคน. ขอให้นึกถึงตอนที่พระองค์ตรัสเรียกเปโตร, อันดะเรอา, ยาโกโบ, และโยฮันว่า “จงตามเรามาเถิด, และเราจะตั้งท่านให้เป็นผู้จับคน.” (มาระโก 1:16-20) พระองค์ทรงแสดงให้ชาวประมงเหล่านี้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ให้ความอิ่มใจสักเพียงไรหากพวกเขาทำงานที่พระองค์เองทรงจัดไว้เป็นอันดับแรกในชีวิตของพระองค์ ทำงานนั้นโดยอาศัยการชี้นำและความช่วยเหลือจากพระองค์.
13 ผู้ฟังของพระเยซูซึ่งเป็นชาวยิวบางคนเข้าใจและปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์. ขอให้นึกภาพฉากที่เป็นชายทะเลซึ่งเราอ่านในลูกา 5:1-11. ชาวประมงสี่คนทำงานหนักกันมาทั้งคืน แต่จับอะไรไม่ได้เลย. แต่ในทันใดนั้นเอง ก็มีปลาติดอวนของพวกเขาเต็มไปหมด! นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ; เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะพระเยซู. เมื่อพวกเขามองไปบนฝั่ง พวกเขาเห็นฝูงชนเป็นอันมากแสดงความสนใจอย่างยิ่งในคำสอนของพระเยซู. นั่นช่วยให้ความกระจ่างเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูตรัสแก่พวกเขาทั้งสี่ที่ว่า “ตั้งแต่นี้ไปท่านจะเป็นผู้จับคน.” พวกเขาตอบสนองอย่างไร? “เมื่อเขานำเรือมาถึงฝั่งแล้ว, เขาก็สละทิ้งสิ่งสารพัตรตามพระองค์ไป.”
14. (ก) เราจะรู้สึกสดชื่นได้อย่างไรในทุกวันนี้? (ข) ข่าวดีอะไรที่ทำให้สดชื่นซึ่งพระเยซูทรงประกาศ?
14 โดยพื้นฐานแล้ว คุณสามารถตอบรับคล้าย ๆ กันนั้น. งานสอนผู้คนเกี่ยวกับความจริงในคัมภีร์ไบเบิลยังคงดำเนินอยู่. พยานพระยะโฮวาประมาณหกล้านคนทั่วโลกได้ตอบรับคำเชิญของพระเยซูที่ให้ “รับแอก [ของพระองค์]”; พวกเขาได้กลายมาเป็น “ผู้จับคน.” (มัดธาย 4:19) บางคนได้ทำให้งานนี้เป็นงานประจำชีพของตนโดยการรับใช้เต็มเวลา; คนอื่น ๆ ทำมากเท่าที่จะทำได้. ทุกคนพบว่างานนี้ให้ความสดชื่น ทำให้ชีวิตของพวกเขาตึงเครียดน้อยลง. งานนี้เกี่ยวข้องกับการทำสิ่งที่ให้ความยินดีแก่พวกเขา คือการบอกข่าวดีแก่ผู้อื่น อันได้แก่ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร.” (มัดธาย 4:23, ล.ม.) ตามปกติ การบอกข่าวดีเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความยินดีอยู่แล้ว แต่การบอกข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรยิ่งทำให้ยินดีเป็นพิเศษ. คัมภีร์ไบเบิลมีเนื้อความพื้นฐานที่เราจำเป็นต้องช่วยให้หลายคนเชื่อมั่น เพื่อเขาจะสามารถใช้ชีวิตอย่างที่ตึงเครียดน้อยลง.—2 ติโมเธียว 3:16, 17.
15. คุณจะได้รับประโยชน์จากคำสอนของพระเยซูเกี่ยวกับชีวิตได้อย่างไร?
15 แม้แต่คนที่เพิ่งเริ่มเรียนเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าก็ได้รับประโยชน์ในระดับหนึ่งจากคำสอนของพระเยซูเกี่ยวกับวิธีดำเนินชีวิต. หลายคนสามารถกล่าวด้วยความสัตย์จริงว่าคำสอนของพระเยซูให้ความสดชื่นและช่วยให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง. คุณจะพิสูจน์เรื่องนั้นได้ด้วยตัวเอง โดยตรวจสอบหลักการบางอย่างเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตซึ่งบอกไว้ในบันทึกเกี่ยวกับชีวิตและการรับใช้ของพระเยซู โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระธรรมกิตติคุณซึ่งเขียนโดยมัดธาย, มาระโก, และลูกา.
วิธีได้ความสดชื่น
16, 17. (ก) คุณจะพบคำสอนหลัก ๆ ของพระเยซูได้ที่ไหน? (ข) จำเป็นต้องมีอะไรเพื่อจะได้รับความสดชื่นด้วยการใช้คำสอนของพระเยซู?
16 ในฤดูใบไม้ผลิปีสากลศักราช 31 พระเยซูทรงเทศนาสั่งสอนอันเป็นคำเทศน์ที่มีชื่อเสียงระบือไปทั่วโลกจนกระทั่งทุกวันนี้. คำเทศน์ดังกล่าวมักเรียกกันว่าคำเทศน์บนภูเขา. คำเทศน์นี้มีบันทึกไว้ในมัดธายบท 5 ถึงบท 7 และลูกาบท 6 และคำเทศน์นี้สรุปคำสอนของพระองค์ซึ่งมีอยู่มากมาย. คุณสามารถพบคำสอนอื่นของพระเยซูในที่อื่น ๆ ของพระธรรมกิตติคุณด้วย. คำสอนส่วนมากที่พระองค์ตรัสเป็นคำอธิบายในตัวอยู่แล้ว แม้ว่าการนำมาใช้เป็นส่วนตัวอาจไม่ง่ายนัก. จงอ่านบทเหล่านี้อย่างละเอียดและอย่างใคร่ครวญ. จงให้พลังแห่งแนวคิดของพระองค์ส่งผลต่อวิธีที่คุณคิดและเจตคติของคุณ.
17 เห็นได้ชัด คำสอนของพระเยซูอาจจัดเรียบเรียงได้หลายวิธี. ให้เรารวบรวมคำสอนหลัก ๆ เหล่านี้ไว้ด้วยกันเป็นเรื่อง ๆ พร้อมกับตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะใช้คำสอนเหล่านี้ในชีวิตของคุณวันละเรื่องในรอบหนึ่งเดือน. โดยทำอย่างไร? อย่าเพียงแต่กวาดสายตาผ่านคำสอนเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว. ขอให้นึกถึงขุนนางที่ร่ำรวยซึ่งถามพระเยซูคริสต์ว่า “ข้าพเจ้าจะทำประการใดจึงจะได้ชีวิตนิรันดร์?” เมื่อพระเยซูทรงทบทวนข้อเรียกร้องสำคัญ ๆ ในพระบัญญัติของพระเจ้า ชายผู้นี้ตอบว่าเขาได้บรรลุข้อเรียกร้องเหล่านั้นแล้ว. ถึงกระนั้น เขาตระหนักว่าเขายังจำเป็นต้องทำมากกว่านั้น. พระเยซูทรงบอกเขาให้พยายามมากขึ้นในการใช้หลักการของพระเจ้าในภาคปฏิบัติ เพื่อจะเป็นสาวกที่ขันแข็ง. เห็นได้ชัดว่า ชายผู้นี้ไม่พร้อมจะทุ่มเทอย่างนั้นจริง ๆ. (ลูกา 18:18-23) ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเรียนคำสอนของพระเยซูในทุกวันนี้ต้องจำไว้ว่า การเห็นด้วยกับคำสอนนั้นแตกต่างกับการรับเอาคำสอนนั้นมาใช้จริง ๆ ซึ่งช่วยให้ความตึงเครียดบรรเทาเบาบางลง.
18. จงแสดงวิธีที่คุณอาจใช้กรอบในบทความนี้ให้เป็นประโยชน์.
18 เพื่อเป็นการเริ่มต้นสำหรับการพิจารณาและการนำคำสอนของพระเยซูไปใช้ ขอให้ดูจุดที่ 1 ของกรอบในบทความนี้. จุดนี้กล่าวถึงมัดธาย 5:3-9. ที่จริง ไม่ว่าใครในพวกเราก็สามารถจะใช้เวลาพอสมควรในการคิดรำพึงคำแนะนำอันยอดเยี่ยมที่เสนอไว้ในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้. อย่างไรก็ตาม เมื่อมองโดยรวม คุณลงความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเจตคติ? หากคุณปรารถนาอย่างแท้จริงจะรับมือผลกระทบจากความตึงเครียดเกินไปในชีวิต อะไรจะช่วยได้? สภาพการณ์ในชีวิตของคุณจะดีขึ้นได้อย่างไร หากคุณเพิ่มความเอาใจใส่ต่อสิ่งฝ่ายวิญญาณ ยอมให้สิ่งฝ่ายวิญญาณเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในความคิดของคุณ? มีบางเรื่องในชีวิตที่คุณต้องให้ความสำคัญน้อยลงและให้ความเอาใจใส่มากกว่าแก่สิ่งฝ่ายวิญญาณไหม? หากคุณทำอย่างนั้น คุณจะมีความสุขมากขึ้นในเวลานี้.
19. คุณอาจทำอะไรได้เพื่อจะมีความหยั่งเห็นเข้าใจมากขึ้น?
19 มีอีกสิ่งหนึ่งที่คุณจะทำได้. ทำไมไม่พิจารณาข้อพระคัมภีร์เหล่านี้กับเพื่อนผู้รับใช้พระเจ้าด้วยกันล่ะ อาจเป็นคู่สมรส, ญาติใกล้ชิด, หรือเพื่อนคนไหนก็ได้? (สุภาษิต 18:24; 20:5) ขอให้ระลึกถึงขุนนางผู้ร่ำรวยคนนั้นที่ได้ถามคนอื่น คือถามพระเยซู เกี่ยวกับเรื่องที่เกี่ยวข้อง. คำตอบที่ได้รับอาจเพิ่มโอกาสที่จะมีชีวิตอันเปี่ยมด้วยความสุขและยั่งยืนนาน. แน่นอน เพื่อนผู้นมัสการที่คุณพิจารณาข้อเหล่านี้กับเขาไม่ได้มีความสามารถเท่ากับพระเยซู; แต่กระนั้น การสนทนากันเกี่ยวกับคำสอนของพระเยซูจะให้ประโยชน์แก่คุณทั้งสอง. ขอให้พยายามทำอย่างนี้โดยเร็ว.
20, 21. คุณอาจทำตามแผนการอะไรเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับคำสอนของพระเยซู และคุณจะประเมินความก้าวหน้าของคุณได้อย่างไร?
20 ขอให้ดูกรอบในบทความนี้ที่ชื่อ “คำสอนที่ช่วยคุณ” อีกครั้ง. ได้มีการรวบรวมคำสอนเหล่านี้ไว้ด้วยกันเป็นเรื่อง ๆ เพื่อให้คุณมีคำสอนอย่างน้อยหนึ่งเรื่องสำหรับพิจารณาในแต่ละวัน. ก่อนอื่น คุณอาจอ่านสิ่งที่พระเยซูตรัสไว้ในข้อพระคัมภีร์ที่อ้างถึง. จากนั้น ขอให้คิดเกี่ยวกับคำตรัสของพระองค์. ใคร่ครวญเกี่ยวกับวิธีที่คุณอาจใช้คำสอนนั้นในชีวิตของคุณ. หากคุณคิดว่าคุณกำลังทำอย่างนั้นอยู่แล้ว ขอให้พิจารณาดูว่าคุณอาจทำอะไรได้มากกว่านั้นเพื่อดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเจ้า. จงพยายามใช้ประโยชน์จากคำสอนดังกล่าวในระหว่างวันนั้น. หากคุณรู้สึกว่ายากจะเข้าใจหรือยังมองไม่ค่อยออกว่าจะใช้คำสอนนั้นอย่างไร ก็ให้พิจารณาจุดนั้นซ้ำอีกวันหนึ่ง. อย่างไรก็ตาม ขอให้จำไว้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องทำได้ดีเยี่ยมในจุดนั้นก่อนจะข้ามไปพิจารณาจุดต่อไป. วันถัดมา คุณอาจพิจารณาอีกคำสอนหนึ่ง. เมื่อถึงปลายสัปดาห์ คุณสามารถทบทวนดูว่าคุณได้ประสบความสำเร็จอย่างไรบ้างในการใช้คำสอนของพระเยซูสี่หรือห้าจุด. ในสัปดาห์ที่สอง คุณก็จะได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นวันละจุด. หากคุณพบว่าคุณได้พลาดไปไม่ได้ใช้คำสอนบางอย่างก็อย่าได้ท้อใจ. คริสเตียนทุกคนย่อมจะมีประสบการณ์อย่างนั้นเหมือนกัน. (2 โครนิกา 6:36; บทเพลงสรรเสริญ 130:3; ท่านผู้ประกาศ 7:20; ยาโกโบ 3:8) พยายามทำต่อไปในสัปดาห์ที่สามและสี่.
21 หลังจากเวลาประมาณหนึ่งเดือนผ่านไป คุณอาจได้พิจารณาแล้วทั้ง 31 จุด. ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร คุณจะรู้สึกอย่างไรกับผลที่ได้รับ? คุณคงจะมีความสุขมากขึ้นและอาจรู้สึกผ่อนคลายกว่าเดิมมิใช่หรือ? แม้แต่เมื่อคุณไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไรนัก คุณคงจะรู้สึกตึงเครียดน้อยลง หรืออย่างน้อยคุณก็น่าจะรับมือความเครียดได้ดีขึ้น และคุณจะมีวิธีที่จะดำเนินต่อไป. อย่าลืมว่ามีจุดอื่น ๆ ที่ดีหลายจุดในคำสอนของพระเยซูที่ไม่ได้ลงไว้ในกรอบนี้. ทำไมไม่ค้นคว้าคำสอนเหล่านั้นและพยายามปฏิบัติตามล่ะ?—ฟิลิปปอย 3:16.
22. การปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูอาจก่อผลอย่างไร แต่มีแง่มุมใดอีกที่น่าศึกษา?
22 คุณได้เห็นแล้วว่าแม้แอกของพระเยซูไม่ใช่ไร้น้ำหนัก แต่ก็พอเหมาะอย่างแท้จริง. ภาระแห่งคำสอนและการเป็นสาวกของพระองค์นั้นเบา. หลังจากมีประสบการณ์ด้วยตัวท่านเองมากกว่า 60 ปี อัครสาวกโยฮันซึ่งเป็นสหายที่รักของพระเยซูเห็นพ้องด้วยว่า “นี่แหละหมายถึงความรักต่อพระเจ้า คือที่เราปฏิบัติตามบัญญัติของพระองค์; และกระนั้นบัญญัติของพระองค์ไม่เป็นภาระหนัก.” (1 โยฮัน 5:3, ล.ม.) คุณสามารถมีความเชื่อมั่นแบบเดียวกัน. ยิ่งคุณใช้คำสอนของพระเยซูมากเท่าใด คุณก็จะยิ่งพบว่าสิ่งที่ทำให้ชีวิตของหลายคนในทุกวันนี้ตึงเครียดมากจะไม่สร้างความลำบากใจแก่คุณ. คุณจะเห็นว่าคุณได้รับความบรรเทามากมาย. (บทเพลงสรรเสริญ 34:8) กระนั้น มีอีกแง่หนึ่งในเรื่องแอกที่พอเหมาะของพระเยซูซึ่งคุณจำเป็นต้องพิจารณา. พระเยซูตรัสเกี่ยวกับคุณลักษณะของพระองค์ด้วยว่าทรง “มีจิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม.” เรื่องนี้เข้ากันอย่างไรกับการที่เราเรียนรู้จากพระเยซูและเลียนแบบพระองค์? ในบทความถัดไป เราจะพิจารณาเรื่องนี้.—มัดธาย 11:29.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เหตุใดเราควรหมายพึ่งพระเยซูเมื่อเราแสวงหาการบรรเทาจากความตึงเครียดเกินไป?
• แอกเป็นสัญลักษณ์ของอะไร และเพราะเหตุใด?
• เหตุใดพระเยซูทรงเชิญผู้คนให้รับเอาแอกของพระองค์?
• คุณจะมีความสดชื่นฝ่ายวิญญาณได้โดยวิธีใด?
[คำโปรยหน้า 14]
ข้อพระคัมภีร์ประจำปีของพยานพระยะโฮวาสำหรับปี 2002: “จงมาหาเรา และเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น.”—มัดธาย 11:28, ล.ม.
[กรอบ/ภาพหน้า 12, 13]
คำสอนที่ช่วยคุณ
มีสิ่งดี ๆ อะไรบ้างที่คุณจะพบได้ในมัดธายบท 5 ถึงบท 7? ทั้งสามบทนี้บันทึกคำสอนที่พระเยซูครูผู้ยิ่งใหญ่ทรงสอน ณ เชิงเขาในมณฑลแกลิลี (ฆาลิลาย). โปรดอ่านข้อพระคัมภีร์ที่อ้างถึงข้างล่างนี้ โดยใช้พระคัมภีร์ของคุณเอง แล้วถามตัวเองด้วยคำถามที่เกี่ยวข้องกับข้อพระคัมภีร์เหล่านั้น.
1. 5:3-9 ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับเจตคติโดยทั่วไปของฉัน? ฉันอาจพยายามทำอย่างไรเพื่อจะมีความสุขมากขึ้น? ฉันจะเอาใจใส่มากขึ้นต่อความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของฉันได้อย่างไร?
2. 5:25, 26 แทนที่จะเลียนแบบน้ำใจชอบทะเลาะกันเหมือนกับหลาย ๆ คน ควรแสดงน้ำใจแบบใดมากกว่า?—ลูกา 12:58, 59.
3. 5:27-30 คำตรัสของพระเยซูเน้นเช่นไรเกี่ยวกับการคิดเพ้อฝันในเรื่องเพศ? การที่ฉันหลีกเลี่ยงความคิดแบบนั้นจะทำให้มีความสุขและความสงบใจมากขึ้นอย่างไร?
4. 5:38-42 เหตุใดฉันควรพยายามหลีกเลี่ยงการเป็นคนเชื่อมั่นตัวเองเกินไปอย่างที่สังคมสมัยใหม่เน้นกันมาก?
5. 5:43-48 ฉันจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากการทำความรู้จักคุ้นเคยมากขึ้นกับคนที่ฉันสมาคมคบหาซึ่งฉันอาจเคยถือว่าเขาเป็นศัตรู? การทำอย่างนี้น่าจะช่วยได้อย่างไรในการลดหรือขจัดความตึงเครียด?
6. 6:14, 15 หากในบางครั้งฉันมีแนวโน้มจะไม่ยอมให้อภัย ความอิจฉาหรือความขุ่นเคืองอาจเป็นสาเหตุพื้นฐานไหม? ฉันจะเปลี่ยนแนวโน้มแบบนี้ได้อย่างไร?
7. 6:16-18 ฉันมีแนวโน้มจะเป็นห่วงรูปร่างหน้าตามากกว่าบุคคลที่ฉันเป็นอยู่ภายในไหม? ฉันควรตระหนักเรื่องใดให้มากกว่านี้?
8. 6:19-32 หากฉันเป็นห่วงเกินไปเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทอง อาจเกิดผลเช่นไร? การคิดพิจารณาในเรื่องใดจะช่วยฉันให้รักษาความสมดุลในเรื่องนี้?
9. 7:1-5 ฉันรู้สึกอย่างไรเมื่อฉันอยู่ในหมู่คนที่ชอบตัดสินชอบวิพากษ์วิจารณ์ และคอยจับผิดอยู่เสมอ? เหตุใดจึงสำคัญที่ฉันต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมแบบนั้น?
10. 7:7-11 หากความเพียรเป็นสิ่งที่ควรมีเมื่อฉันทูลขอต่อพระเจ้า จะว่าอย่างไรสำหรับแง่มุมอื่น ๆ ของชีวิต?—ลูกา 11:5-13.
11. 7:12 แม้ว่าฉันรู้จักกฎทอง แต่ฉันใช้คำแนะนำนี้ในการปฏิบัติต่อผู้อื่นบ่อยเพียงไร?
12. 7:24-27 เนื่องจากฉันต้องรับผิดชอบการดำเนินชีวิตของตัวเอง ฉันจะเตรียมตัวให้ดีขึ้นได้อย่างไรเพื่อพร้อมรับพายุแห่งความยุ่งยากลำบากที่โหมกระหน่ำ? เหตุใดฉันควรคิดเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนนี้เลย?—ลูกา 6:46-49.
คำสอนเพิ่มเติมที่ฉันจะพิจารณาได้:
13. 8:2, 3 ฉันจะแสดงความเมตตาสงสารต่อผู้ด้อยโอกาสได้อย่างไร ดังที่พระเยซูทรงแสดงให้เห็นบ่อยครั้ง?
14. 9:9-38 การแสดงความเมตตามีบทบาทอย่างไรในชีวิตฉัน และฉันจะแสดงความเมตตามากขึ้นได้อย่างไร?
15. 12:19 เมื่อได้เรียนรู้จากคำพยากรณ์เกี่ยวกับพระเยซู ฉันพยายามหลีกเลี่ยงการโต้เถียงไหม?
16. 12:20, 21 ฉันอาจก่อให้เกิดผลดีเช่นไรด้วยการไม่เหยียบย่ำผู้อื่นไม่ว่าจะโดยคำพูดหรือการกระทำ?
17. 12:34-37 ฉันใช้เวลาพูดคุยเรื่องอะไรเป็นส่วนใหญ่? ฉันทราบว่าเมื่อฉันคั้นส้ม น้ำส้มจะไหลออกมา ดังนั้น เหตุใดฉันควรเอาใจใส่เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ภายใน หรือสิ่งที่อยู่ในหัวใจฉัน?—มาระโก 7:20-23.
18. 15:4-6 จากความเห็นที่พระเยซูทรงให้ไว้ ฉันมองเห็นอะไรเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุด้วยความรัก?
19. 19:13-15 ฉันจำเป็นต้องใช้เวลาในการทำอะไร?
20. 20:25-28 เหตุใดจึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะใช้อำนาจเพื่อตัวเอง? ฉันจะเลียนแบบอย่างของพระเยซูได้อย่างไรในเรื่องนี้?
ข้อคิดเพิ่มเติมซึ่งมาระโกบันทึกไว้:
21. 4:24, 25 วิธีที่ฉันปฏิบัติต่อผู้อื่นมีความสำคัญเช่นไร?
22. 9:50 หากคำพูดและการกระทำของฉันอยู่ในมาตรฐานที่ดี น่าจะก่อให้เกิดผลดีเช่นไร?
สุดท้าย คำสอนบางข้อ ที่ลูกาบันทึกไว้:
23. 8:11, 14 หากฉันปล่อยให้ความกังวล, ความมั่งคั่ง, และความสนุกสนานครอบงำชีวิตฉัน อาจเกิดผลเช่นไร?
24. 9:1-6 แม้ว่าพระเยซูทรงมีอำนาจรักษาคนป่วย แต่พระองค์ทรงจัดให้อะไรมีความสำคัญเป็นอันดับแรก?
25. 9:52-56 ฉันเป็นคนโกรธง่ายไหม? ฉันหลีกเลี่ยงน้ำใจชอบแก้เผ็ดไหม?
26. 9:62 ฉันควรมีทัศนะอย่างไรในเรื่องความรับผิดชอบของฉันที่จะพูดถึงราชอาณาจักรของพระเจ้า?
27. 10:29-37 ฉันจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าฉันเป็นเพื่อนบ้าน ไม่ใช่คนแปลกหน้า?
28. 11:33-36 ฉันอาจทำการเปลี่ยนแปลงเช่นไรเพื่อให้ชีวิตฉันเรียบง่ายขึ้น?
29. 12:15 ชีวิตกับทรัพย์สินมีความสัมพันธ์กันเช่นไร?
30. 14:28-30 หากฉันใช้เวลาประเมินสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ ฉันอาจหลีกเลี่ยงอะไร และนั่นจะก่อให้เกิดประโยชน์เช่นไร?
31. 16:10-12 ฉันอาจได้รับประโยชน์เช่นไรจากการรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง?
[ภาพหน้า 10]
งานช่วยชีวิตที่ทำภายใต้แอกของพระเยซูให้ความสดชื่น