เรื่องราวชีวิตจริง
สิทธิพิเศษที่ได้ร่วมการแผ่ขยายหลังสงครามโลก
เล่าโดยฟิลิป เอส. ฮอฟฟ์มันน์
เดือนพฤษภาคม 1945 สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งยุติ. เดือนธันวาคมปีเดียวกัน นาทาน เอช. นอรร์ ผู้ดูแลกิจการเผยแพร่ของพยานพระยะโฮวาที่ทำกันทั่วโลกได้ไปเยือนเดนมาร์กพร้อมกับมิลตัน จี. เฮนเชล เลขานุการส่วนตัว อายุ 25 ปี. มีการเช่าหอประชุมใหญ่เพื่อรับรองการเยือนซึ่งตั้งตารอคอยกันอย่างใจจดจ่อ. คำบรรยายของบราเดอร์เฮนเชลน่าตื่นเต้นเป็นพิเศษสำหรับพวกเราวัยหนุ่มสาว เนื่องจากผู้บรรยายอยู่ในวัยเดียวกันกับพวกเราและได้เลือกบทบรรยายที่มีชื่อเรื่องว่า “ในปฐมวัยของเจ้าจงระลึกถึงพระองค์ผู้ได้ทรงสร้างตัวเจ้านั้น.”—ท่านผู้ประกาศ 12:1.
ในช่วงการเยี่ยมครั้งนั้น เราได้มารู้ว่าหลายอย่างที่น่าตื่นเต้นกำลังเริ่มขึ้นแล้วเพื่อการขยายงานประกาศไปทั่วโลก และเราอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานนั้นได้ด้วย. (มัดธาย 24:14) อย่างเช่น โรงเรียนใหม่ที่ให้การอบรมชายหนุ่มหญิงสาวสำหรับงานมิชชันนารีต่างแดนได้เปิดสอนแล้วในสหรัฐ. บราเดอร์นอรร์กล่าวย้ำว่าถ้าเราได้รับเชิญไปเรียนที่นั่น เราจะได้ “ตั๋วเดินทางเที่ยวเดียวเท่านั้น” แถมไม่รู้ว่าเราจะถูกมอบหมายให้ไปที่ไหน. ถึงกระนั้น มีบางคนได้ยื่นใบสมัคร.
ก่อนเล่าประสบการณ์ของผมหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นเรื่องเป็นราว ผมขอเล่าย้อนไปปีที่ผมเกิด นั่นคือปี 1919. มีเหตุการณ์หลายอย่างอุบัติขึ้นก่อนสงครามและในระหว่างสงครามซึ่งมีผลกระทบชีวิตผมอย่างใหญ่หลวง.
ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลจากคนที่ถูกเรียกเป็นแกะดำ
ตอนที่แม่ตั้งครรภ์ผม ซึ่งเป็นลูกคนแรก แม่อธิษฐานว่าถ้าลูกเป็นผู้ชาย ลูกคงจะได้เป็นมิชชันนารี. พี่ชายของแม่เป็นนักศึกษาพระคัมภีร์ ชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้น แต่ญาติข้างแม่ถือว่าลุงเป็นแกะดำในครอบครัว. บ้านของเราอยู่ใกล้กรุงโคเปนเฮเกน และเมื่อนักศึกษาพระคัมภีร์จัดการประชุมใหญ่ประจำปีขึ้นคราวใด แม่ก็จะเชิญลุงโทมัสซึ่งอยู่ห่างไกลมาพักที่บ้านของเรา. เมื่อมาถึงปี 1930 ความรู้ที่น่าทึ่งของลุงด้านคัมภีร์ไบเบิลและการหาเหตุผลที่สมเหตุสมผลนั้นทำให้แม่เชื่อมั่นจนกลายมาเป็นนักศึกษาพระคัมภีร์.
แม่เป็นคนรักคัมภีร์ไบเบิล. ท่านปฏิบัติตามคำสั่งที่พระบัญญัติ 6:7 และได้สอนผมและน้องสาว ‘เมื่อนั่งอยู่ในเรือน, เดินในหนทาง, นอนลง, หรือเมื่อลุกขึ้น.’ ต่อมา ผมเข้าร่วมงานประกาศตามบ้านเรือน. ผมชอบถกเรื่องจิตวิญญาณอมตะและเรื่องไฟนรก ซึ่งคริสตจักรต่าง ๆ สอนกันอยู่. ผมสามารถชี้ให้เห็นได้กระจ่างจากพระคัมภีร์ว่าคำสอนเหล่านั้นผิด.—บทเพลงสรรเสริญ 146:3, 4; ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10; ยะเอศเคล 18:4.
ครอบครัวของเรามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
หลังการประชุมใหญ่ปี 1937 ที่กรุงโคเปนเฮเกน สำนักงานสาขาแห่งพยานพระยะโฮวาในเดนมาร์กมีความจำเป็นต้องการคนช่วยทำงานชั่วคราวที่คลังสรรพหนังสือ. ผมเพิ่งเรียนจบวิทยาลัยพาณิชยการและไม่มีภาระผูกมัด ฉะนั้น ผมจึงเสนอตัวช่วยงานที่นั่น. เมื่อเสร็จงานที่คลังแห่งนั้น ผมถูกขอให้ช่วยงานที่สำนักงานสาขา. จากนั้นไม่นาน ผมจากบ้านไปอยู่ที่สาขาโคเปนเฮเกน แม้ตอนนั้นยังไม่ได้รับบัพติสมา. การคบหาสมาคมกับคริสเตียนอาวุโสทุก ๆ วันได้ช่วยผมให้ก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ. ปีถัดมา วันที่ 1 มกราคม 1938 ผมแสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาพระเจ้าด้วยการรับบัพติสมาในน้ำ.
เดือนกันยายน 1939 สงครามโลกครั้งที่สองได้ก่อตัวขึ้น. ต่อจากนั้น วันที่ 9 เมษายน 1940 กองทัพเยอรมันเข้ายึดครองเดนมาร์ก. เนื่องจากชาวเดนมาร์กได้รับอิสระเสรีภาพส่วนบุคคลมากพอสมควร พวกเราจึงสามารถทำกิจกรรมการประกาศของเราได้ต่อไป.
ครั้นแล้วมีเรื่องน่าประหลาดใจเกิดขึ้น. พ่อได้เปลี่ยนมาเป็นพยานฯ ที่ภักดี, เอาการเอางาน, ทำให้ครอบครัวของเรามีความสุขอย่างเต็มเปี่ยม. ด้วยเหตุนี้ เมื่อผมพร้อมกับชายชาวเดนมาร์กอีกสี่คนได้รับเชิญเข้าเรียนที่กิเลียดรุ่นที่แปด ทุกคนในครอบครัวให้การสนับสนุนผมเต็มที่. หลักสูตรห้าเดือนเริ่มเดือนกันยายน 1946 ณ อาณาบริเวณอันสวยงามนอกเมืองเซาท์แลนซิง รัฐนิวยอร์ก.
การฝึกอบรมที่กิเลียด และหลังจากนั้น
กิเลียดเปิดโอกาสให้พบเพื่อนใหม่ที่แสนวิเศษ. เย็นวันหนึ่ง ขณะเดินเล่นรอบ ๆ บริเวณโรงเรียนกับฮาโรลด์ คิง จากประเทศอังกฤษ เราพูดคุยกันเรื่องที่จะถูกส่งไปประเทศไหนภายหลังจบหลักสูตรการอบรม. ฮาโรลด์เอ่ยขึ้นว่า “ผมคิดว่าคงจะไม่เห็นหน้าผาขาวแห่งช่องแคบโดเวอร์เป็นครั้งสุดท้ายหรอกนะ.” เขาพูดถูก แต่นั่นก็นานถึง 17 ปีทีเดียวกว่าเขาจะได้กลับไปเห็นประเทศอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง มิหนำซ้ำช่วงเวลานั้นเขาถูกขังเดี่ยวในคุกเมืองจีนสี่ปีครึ่ง!a
หลังจบหลักสูตรการศึกษาแล้ว ผมถูกส่งไปปฏิบัติงานที่รัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา ฐานะผู้ดูแลเดินทาง เป็นการออกไปเยี่ยมประชาคมพยานพระยะโฮวาในที่ต่าง ๆ ช่วยสนับสนุนพวกเขาฝ่ายวิญญาณ. ผมได้รับการต้อนรับอย่างเต็มอกเต็มใจ. สำหรับพวกพี่น้องในเทกซัส การได้ต้อนรับชายหนุ่มจากยุโรปซึ่งเพิ่งจบจากโรงเรียนกิเลียดนั้นน่าสนใจไม่น้อย. แต่ผมอยู่ที่เทกซัสเพียงเจ็ดเดือนเท่านั้น แล้วถูกเรียกตัวไปยังสำนักงานใหญ่แห่งพยานพระยะโฮวาในบรุกลิน นิวยอร์ก. ที่นั่น บราเดอร์นอรร์ได้มอบหมายให้ผมทำงานในสำนักงาน พร้อมแนะนำให้เรียนรู้วิธีทำงานแต่ละแผนกว่าลุล่วงไปได้อย่างไร. ครั้นแล้ว เมื่อผมกลับประเทศเดนมาร์ก ผมจะต้องนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ให้ได้ เพื่อทุกอย่างจะดำเนินเป็นระบบเดียวกันกับที่บรุกลิน. แนวคิดเช่นนี้ก็เพื่อให้การปฏิบัติงานในสาขาต่าง ๆ ทั่วโลกสอดประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น. ต่อมา บราเดอร์นอรร์ให้ผมย้ายไปประเทศเยอรมนี.
การนำเอาคำแนะนำไปใช้ในสาขาประเทศต่าง ๆ
เมื่อผมไปถึงเมืองวีสบาเดิน ประเทศเยอรมนีในเดือนกรกฎาคม 1949 เมืองใหญ่หลายเมืองในประเทศยังอยู่ในสภาพเสียหายยับเยิน. ผู้นำหน้าในงานประกาศได้แก่พวกผู้ชายซึ่งเคยถูกข่มเหงตั้งแต่สมัยฮิตเลอร์ยึดอำนาจในปี 1933. บางคนเคยติดคุกและอยู่ในค่ายกักกันนานแปดปี, สิบปี, หรือมากกว่านั้น! ผมทำงานร่วมกับผู้รับใช้เหล่านี้ของพระยะโฮวานานถึงสามปีครึ่ง. ตัวอย่างอันโดดเด่นของพวกเขาสะกิดใจผมให้นึกถึงข้อคิดเห็นของนักประวัติศาสตร์หญิงชาวเยอรมันชื่อกาบรีเอลา โยนาน เธอเขียนไว้ว่า “หากปราศจากตัวอย่างของคริสเตียนกลุ่มนี้ที่ได้ยืนหยัดมั่นคงภายใต้อำนาจเผด็จการสังคมนิยมแห่งชาติ หลังจากเหตุการณ์ที่ค่ายเอาชวิทซ์และการสังหารหมู่พลเรือนโดยพวกนาซี เราคงสงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปฏิบัติตามหลักคำสอนคริสเตียนของพระเยซู.”
งานที่ผมดูแลในสาขาเป็นลักษณะเดียวกันกับที่ผมเคยทำในเดนมาร์ก คือแนะนำวิธีดำเนินการขององค์การแบบใหม่และเป็นแบบเดียวกัน. ทันทีที่พี่น้องชาวเยอรมันเข้าใจว่าการปรับเปลี่ยนใด ๆ นั้น ไม่ใช่การตำหนิวิธีทำงานของพวกเขา ทว่าถึงเวลาที่จะร่วมมือกันใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างสาขาในประเทศต่าง ๆ กับสำนักงานใหญ่ พี่น้องเหล่านั้นรู้สึกกระตือรือร้นและได้ตอบสนองด้วยเจตนารมณ์อันดีโดยให้ความร่วมมือ.
ปี 1952 มีจดหมายจากสำนักงานของบราเดอร์นอรร์ให้ผมย้ายไปยังสาขากรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์. ผมได้รับมอบหน้าที่ในฐานะผู้ดูแลสาขาประเทศนั้นตั้งแต่ 1 มกราคม 1953.
ประสบความชื่นชมยินดีใหม่ ๆ ในสวิตเซอร์แลนด์
ไม่นานหลังจากมาถึงสวิตเซอร์แลนด์ ผมได้รู้จักเอสเทอร์ในช่วงการประชุมใหญ่ ต่อมาเราตกลงหมั้นกัน. เดือนสิงหาคม ปี 1954 บราเดอร์นอรร์สั่งผมไปที่บรุกลิน ซึ่งผมได้ไปเห็นลักษณะงานแบบใหม่และน่าตื่นเต้นจริง ๆ. เนื่องจากสำนักงานสาขาทั่วโลกขยายตัวมากขึ้นทั้งปริมาณและขนาด จึงมีการนำเอาวิธีการใหม่ ๆ มาใช้. โลกถูกแบ่งออกเป็นโซน แต่ละโซนมีผู้ดูแลโซนหนึ่งคน. ผมรับมอบหน้าที่ดูแลงานสองโซน: แถบยุโรปและแถบเมดิเตอร์เรเนียน.
ไม่นานหลังการไปเยือนบรุกลินในช่วงสั้น ๆ ผมกลับสวิตเซอร์แลนด์ และเตรียมตัวสำหรับงานโซน. แล้วผมก็แต่งงานกับเอสเทอร์ และเธอได้ร่วมงานรับใช้กับผมในสำนักงานสาขาสวิตเซอร์แลนด์. การเดินทางรอบแรกของผมเป็นการเยี่ยมบ้านมิชชันนารีและสำนักงานสาขาที่อิตาลี, กรีซ, ไซปรัส, และอีกหลายประเทศในตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศชายฝั่งแอฟริกาเหนือ, สเปน, และโปรตุเกส รวมทั้งสิ้น 13 ประเทศ. หลังจากกลับมาแวะที่กรุงเบิร์น ผมเดินทางต่อและเยี่ยมกลุ่มประเทศแถบยุโรปซึ่งอยู่ทางตะวันตกของม่านเหล็ก. ชีวิตคู่ในช่วงปีแรกนั้น ผมต้องจากบ้านไปรับใช้พี่น้องคริสเตียนนานถึงหกเดือน.
สภาพการณ์เปลี่ยนไป
ปี 1957 เอสเทอร์รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ และเนื่องจากสำนักงานสาขารับเฉพาะครอบครัวที่ไม่มีบุตร เราจึงตกลงใจย้ายไปเดนมาร์ก ซึ่งคุณพ่อผมยินดีให้เราไปพักอยู่กับท่าน. เอสเทอร์ดูแลเอาใจใส่ทั้งราเคล ลูกสาวของเราและคุณพ่อด้วย ขณะที่ผมช่วยงานในสำนักงานสาขาที่เพิ่งสร้างเสร็จ. ผมได้ทำหน้าที่เป็นผู้สอนในโรงเรียนพระราชกิจซึ่งบรรดาผู้ดูแลประชาคมเข้ารับการอบรม และยังคงปฏิบัติงานฐานะผู้ดูแลโซนต่อไป.
งานดูแลโซนหมายถึงการเดินทางเป็นช่วงเวลานาน ด้วยเหตุนี้จึงไม่ค่อยได้เจอหน้าลูกสาว. และนี่มีผลสืบเนื่อง. คราวหนึ่งผมอยู่ทำงานนานพอสมควรในนครปารีส เนื่องจากได้จัดตั้งแผนกการพิมพ์ขนาดย่อมขึ้นที่นั่น. เอสเทอร์กับราเคลเดินทางโดยรถไฟมาเยี่ยมผม และเมื่อถึงสถานีรถไฟการ์ ดือ นอร์. เลโอโปล ชองแตจากสาขากับผมได้ไปรับเขา. ราเคลยืนที่บันไดตู้รถไฟ มองหน้าเลโอโปลที มองหน้าผมที และก็มองเลโอโปลอีก แต่แล้วลูกก็อ้าแขนโผเข้ากอดเลโอโปล!
มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โตอีกครั้งหนึ่งตอนผมอายุ 45 ผมเลิกงานรับใช้เต็มเวลาหันมาประกอบอาชีพเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัวของผม. เนื่องจากผมผ่านประสบการณ์ฐานะผู้เผยแพร่ของพยานพระยะโฮวา ผมจึงได้งานเป็นผู้จัดการฝ่ายส่งออก. หลังจากผมทำงานที่บริษัทแห่งเดียวนี้ประมาณเก้าปี และราเคลก็สำเร็จการศึกษาแล้ว เราจึงตัดสินใจตอบรับการสนับสนุนให้ย้ายไปยังเขตงานที่มีความต้องการผู้ประกาศราชอาณาจักรมากกว่า.
เมื่อมองหาโอกาสที่จะหางานได้ในนอร์เวย์ ผมได้ติดต่อตัวแทนจัดหางาน. คำตอบไม่ช่วยให้เกิดกำลังใจมากเท่าใด. ความหวังนั้นริบหรี่เหลือเกินสำหรับชายวัย 55. แม้กระนั้น ผมได้ติดต่อไปยังสำนักงานสาขาในกรุงออสโล ครั้นแล้วจัดการเช่าบ้านใกล้เมืองเดรอบัค ตั้งความหวังไว้ว่าโอกาสได้งานทำคงจะมีมาเอง. ผมได้งานจริง และถัดจากนั้นเวลาสำหรับงานรับใช้ราชอาณาจักรในนอร์เวย์อันเปี่ยมล้นด้วยความชื่นชมยินดีก็ตามมา.
ช่วงเวลาที่นับว่าดีที่สุดคือตอนที่พวกเราส่วนใหญ่ในประชาคมเดินทางขึ้นเหนือไปทำงานในเขตงานที่ยังไม่ถูกมอบหมาย. พวกเราเช่าบ้านพักหลังเล็ก ๆ ในบริเวณที่จัดเป็นค่ายพักแรม และทุกวันเรามักออกไปเยี่ยมตามไร่ที่กระจายกันอยู่ตามเทือกเขาที่สวยงาม. เราถือว่าเป็นความเพลิดเพลินอย่างยิ่งที่ได้บอกเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่ผู้คนแถวนั้นที่มีไมตรีจิต. มีการจ่ายแจกสรรพหนังสือออกไปไม่น้อย แต่การกลับเยี่ยมคงต้องรอปีถัดไป. กระนั้น ผู้คนไม่ลืมพวกเรา! เอสเทอร์กับราเคลยังจดจำสมัยที่เราได้กลับไปที่นั่นและได้รับการสวมกอดเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวที่พรากจากกันไปนาน ๆ. หลังจากอยู่ในนอร์เวย์สามปี เราหวนกลับสู่เดนมาร์กอีก.
ความปีติยินดีจากชีวิตครอบครัว
ต่อมาไม่นานราเคลหมั้นกับนีลส์ ฮอย์ออ ผู้เผยแพร่เต็มเวลาประเภทไพโอเนียร์ที่มีใจแรงกล้า. ครั้นทั้งสองแต่งงานแล้ว นีลส์กับราเคลยังคงเป็นไพโอเนียร์อย่างต่อเนื่องกระทั่งเขามีลูก. นีลส์เป็นทั้งสามีที่ดีและเป็นพ่อที่รักลูกเสมอมา เขาเอาใจใส่ครอบครัวอย่างแท้จริง. เช้าวันหนึ่ง เขาพาลูกชายนั่งจักรยานไปที่ชายหาดเพื่อเฝ้าดูตะวันขึ้น. ชายคนหนึ่งถามลูกชายว่าเขาไปทำอะไรที่นั่น. เด็กตอบว่า “เราอธิษฐานทูลต่อพระยะโฮวาครับ.”
สองสามปีต่อมา ผมกับเอสเทอร์ได้เป็นพยานรู้เห็นการรับบัพติสมาของหลานคนโตสองคนของเรา คือเบนยามินและเน็ดยา. หนึ่งในจำนวนผู้เฝ้าสังเกตการณ์ได้แก่นีลส์ เขาปราดเข้ามายืนอยู่ตรงหน้าผมพอดี. เขามองหน้าผมพร้อมกับพูดว่า “ลูกผู้ชายไม่ร้องไห้.” แต่ชั่วอึดใจเดียวเราต่างก็กลั้นน้ำตาไม่อยู่ขณะที่สวมกอดกัน. น่าปลาบปลื้มยินดีเสียนี่กระไรที่ได้ลูกเขยซึ่งคุณจะหัวเราะและร้องไห้ด้วยกันได้!
ยังคงปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์
เราได้รับพระพรอีกประการหนึ่งในคราวที่ผมกับเอสเทอร์ถูกทาบทามให้กลับเข้าไปรับใช้ในสำนักงานสาขาประเทศเดนมาร์ก. แต่ช่วงเวลานั้นอยู่ในระหว่างดำเนินการตระเตรียมสร้างสำนักงานสาขาใหญ่กว่าเดิมที่เมืองฮอลเบค. ผมมีสิทธิพิเศษได้ทำงานคุมการก่อสร้าง ซึ่งงานทุกอย่างทำโดยอาสาสมัครที่ไม่ได้รับค่าจ้าง. ทั้งที่เป็นช่วงฤดูหนาวที่รุนแรง พอถึงปลายปี 1982 งานก่อสร้างในส่วนสำคัญ ๆ เป็นอันว่าเสร็จเรียบร้อย และพวกเราต่างก็รู้สึกดีใจที่ได้ย้ายเข้าไปอยู่ในอาคารกว้างใหญ่ และดีกว่าเดิม!
หลังจากนั้นไม่นาน ผมเข้าทำงานประจำสำนักงานซึ่งผมรู้สึกพอใจมาก ส่วนเอสเทอร์เป็นพนักงานสลับสายโทรศัพท์. อย่างไรก็ตาม ต่อมาเธอต้องเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสะโพก และหนึ่งปีครึ่งจากนั้น เธอต้องรับการผ่าตัดถุงน้ำดี. ถึงแม้บุคลากรในสาขาพากันแสดงน้ำใจกรุณาต่อเรามากมาย แต่เราตัดสินใจว่าคงดีกว่าสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้องถ้าเราออกไปอยู่ข้างนอก. แล้วเราก็ได้ย้ายเข้าประชาคมที่ลูกสาวและครอบครัวสมทบอยู่.
เวลานี้สุขภาพของเอสเทอร์ไม่สู้จะดีนัก. กระนั้น ผมพูดได้จริง ๆ ว่าตลอดหลายปีที่เราทำงานรับใช้มาด้วยกัน สภาพการณ์หลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เธอเป็นผู้ช่วยที่เยี่ยมยอดและเป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยาก. แม้ว่าเสื่อมกำลัง แต่เราทั้งสองยังคงมีส่วนร่วมงานเผยแพร่แม้ไม่มากก็ตาม. เมื่อผมไตร่ตรองวิถีชีวิตของผม ผมยังจำถ้อยคำในบทเพลงสรรเสริญด้วยความรู้สึกขอบคุณที่ว่า “ข้าแต่พระเจ้า, พระองค์ได้ทรงฝึกสอนข้าพเจ้าตั้งแต่เด็ก ๆ มา.”—บทเพลงสรรเสริญ 71:17.
[เชิงอรรถ]
a ดูหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 15 กรกฎาคม 1963 หน้า 437-442.
[ภาพหน้า 24]
การขนถ่ายสรรพหนังสือที่สาขาประเทศเยอรมนีขณะดำเนินการก่อสร้างในปี 1949
[ภาพหน้า 25]
เพื่อนร่วมงานของผม รวมทั้งบรรดาพยานฯ เหล่านี้ที่ได้กลับมาหลังจากถูกขังในค่ายกักกัน
[ภาพหน้า 26]
กับเอสเทอร์ในปัจจุบันและภาพวันแต่งงานของเราที่เบเธล กรุงเบิร์น ตุลาคม 1955