สิ่งที่ประทับอยู่ในความทรงจำของยะโฮซูอะ
“โมเซผู้รับใช้ของเราสิ้นชีพแล้ว” พระยะโฮวาตรัส “เหตุฉะนั้นเจ้าจงยกข้ามแม่น้ำยาระเดนนี้, กับพลไพร่ทั้งปวงเหล่านี้, ไปยังแผ่นดินซึ่งเรายกให้แก่เขา, คือแก่พวกยิศราเอล.” (ยะโฮซูอะ 1:2) งานที่รออยู่เบื้องหน้ายะโฮซูอะนับว่าเป็นงานที่ยากจริง ๆ! ท่านเป็นผู้รับใช้โมเซมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปีแล้ว. บัดนี้ มีพระบัญชาให้ท่านรับตำแหน่งแทนนายของท่าน และนำชาติอิสราเอลที่มักดื้อดึงนี้เข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญา.
ขณะที่ยะโฮซูอะพินิจพิเคราะห์ถึงสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้านั้น อาจเป็นไปได้ที่เหตุการณ์ที่เป็นการทดลองหลายอย่างซึ่งท่านเคยประสบมาและรับมือได้อย่างสำเร็จผลนั้นประดังเข้ามาในความคิดของท่าน. สิ่งที่ประทับอยู่ในความทรงจำของยะโฮซูอะคงเป็นประโยชน์แก่ท่านอย่างมากในเวลานั้น และสิ่งนั้นคงเป็นประโยชน์แก่คริสเตียนในปัจจุบันเช่นกัน.
จากทาสกลายมาเป็นผู้บัญชาการ
สิ่งหนึ่งที่ประทับอยู่ในความทรงจำของยะโฮซูอะคือเหตุการณ์ในช่วงเวลาหลายปีที่ตกเป็นทาส. (เอ็กโซโด 1:13, 14; 2:23) เราไม่ทราบว่าจริง ๆ แล้ว ยะโฮซูอะได้รับประสบการณ์อะไรบ้างในช่วงเวลานั้น เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ให้รายละเอียดไว้ คงได้แต่คิดนึกเอา. อาจเป็นไปได้ที่ยะโฮซูอะได้เรียนรู้ทักษะในการเป็นคนจัดระเบียบที่ชำนาญการระหว่างช่วงที่ท่านทำงานอยู่ในอียิปต์ และท่านคงจะได้ช่วยจัดระเบียบในการอพยพชาวฮีบรูและ “ฝูงชนชาติอื่นเป็นอันมาก” ออกจากดินแดนนั้น.—เอ็กโซโด 12:38.
ยะโฮซูอะอยู่ในเชื้อวงศ์ของตระกูลเอฟรายิม. อะลีซามา ปู่ของท่านเป็นนายกองตระกูลเอฟรายิม และเป็นไปได้ที่อะลีซามาเป็นผู้นำของค่ายค่ายหนึ่งที่ประกอบด้วยสามตระกูลของอิสราเอลที่นับชายออกรบได้ 108,100 คน. (อาฤธโม 1:4, 10, 16; 2:18-24; 1 โครนิกา 7:20, 26, 27) กระนั้น เมื่อชาวอะมาเลคโจมตีอิสราเอลหลังจากที่ออกจากอียิปต์ได้ไม่นาน โมเซขอให้ยะโฮซูอะเป็นผู้จัดกองทัพออกไปสู้รบ. (เอ็กโซโด 17:8, 9ก) ทำไมถึงเลือกยะโฮซูอะไม่เลือกคนอื่น อย่างเช่น ปู่หรือบิดาของท่าน? มีความเห็นหนึ่งกล่าวว่า “ในฐานะที่ [ยะโฮซูอะ] เป็นหัวหน้าคนหนึ่งในตระกูลที่มีความสำคัญคือเอฟรายิม และเป็นคนที่ขึ้นชื่อในเรื่องความชำนาญด้านการจัดการอยู่แล้ว และเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจเต็มที่จากประชาชน ท่านจึงเป็นผู้นำที่เหมาะที่สุดที่โมเซจะขอให้ช่วยคัดเลือกและจัดเตรียมพลรบ.”
ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร เมื่อยะโฮซูอะถูกเลือก ท่านก็ทำตามคำสั่งของโมเซทุกประการ. ถึงแม้ชาติอิสราเอลไม่เคยมีประสบการณ์ในการสงครามเลย แต่ยะโฮซูอะเชื่อมั่นในการช่วยเหลือจากพระเจ้า. ดังนั้น เมื่อโมเซบอกยะโฮซูอะว่า “เวลาพรุ่งนี้เราจะยืนถือไม้เท้าแห่งพระเจ้าอยู่บนยอดภูเขา” นั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับท่าน. ยะโฮซูอะต้องจำได้แน่ที่พระยะโฮวาเพิ่งได้ทำลายกองทัพที่เกรียงไกรที่สุดในยุคนั้น. ในวันรุ่งขึ้น เมื่อโมเซชูมือของท่านไว้จนตะวันตกดิน ไม่มีศัตรูผู้ใดจะยืนหยัดต่อสู้ชาติอิสราเอลได้ และชาวอะมาเลคก็แตกพ่ายไป. จากนั้น พระยะโฮวาทรงบัญชาให้โมเซจารึกไว้เป็นหนังสือ ทั้ง ‘เล่าให้ยะโฮซูอะฟัง’ ถึงคำพิพากษาของพระเจ้าที่ว่า “เราจะลบล้างชนชาติอะมาเลคไม่ให้ปรากฏชื่ออยู่ในความจำของประชาชนภายใต้ฟ้าเลย.” (เอ็กโซโด 17:9ข-14) ถูกแล้ว พระยะโฮวามีพระทัยแน่วแน่ที่จะสำเร็จโทษพวกเขาตามคำพิพากษานั้น.
เป็น “ผู้รับใช้” ของโมเซ
การสู้รบกับอะมาเลคครั้งนั้นคงทำให้สัมพันธภาพระหว่างยะโฮซูอะกับโมเซแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น. ยะโฮซูอะได้รับเกียรติเป็น “ผู้รับใช้” ของโมเซ “ตั้งแต่หนุ่ม ๆ” จนกระทั่งโมเซสิ้นชีวิต รวมระยะเวลาประมาณ 40 ปี.—อาฤธโม 11:28, ฉบับแปลใหม่.
ตำแหน่งดังกล่าวนำมาซึ่งสิทธิพิเศษและหน้าที่รับผิดชอบหลายประการ. ตัวอย่างเช่น ในคราวที่โมเซ, อาโรน, บุตรชายของอาโรน, และผู้เฒ่าผู้แก่ของอิสราเอล 70 คน ขึ้นไปบนภูเขาไซนายและเห็นภาพนิมิตที่แสดงถึงสง่าราศีของพระยะโฮวา ยะโฮซูอะคงได้อยู่ที่นั่นกับพวกเขาด้วย. ในฐานะผู้รับใช้ของโมเซ ท่านติดตามไปด้วยเมื่อโมเซขึ้นภูเขาสูงขึ้นไปอีก และดูเหมือนว่าจะรออยู่ห่าง ๆ ขณะที่โมเซเข้าไปในหมู่เมฆซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงการประทับของพระยะโฮวา. ที่น่าสังเกตคือ ดูเหมือนว่ายะโฮซูอะอยู่บนภูเขานั้นตลอด 40 วัน 40 คืน. ท่านรอการกลับมาของนายด้วยความซื่อสัตย์ เพราะเมื่อโมเซเริ่มลงมาพร้อมกับแผ่นศิลาที่จารึกบัญญัติสิบประการ ก็เห็นว่ายะโฮซูอะยังอยู่ที่นั่น.—เอ็กโซโด 24:1, 2, 9-18; 32:15-17.
หลังจากเหตุการณ์ที่พวกอิสราเอลนมัสการรูปโคทองคำ ยะโฮซูอะยังคงรับใช้โมเซต่อไปที่พลับพลาประชุมซึ่งตั้งอยู่นอกบริเวณค่าย. ที่พลับพลาประชุม พระยะโฮวาตรัสกับโมเซหน้าต่อหน้า. แต่เมื่อโมเซกลับไปที่ค่าย ยะโฮซูอะ “มิได้ออกจากพลับพลานั้น.” อาจเป็นได้ที่ท่านจำเป็นต้องอยู่ที่นั่นเพื่อป้องกันไม่ให้ชนอิสราเอลเข้าไปในพลับพลานั้นในสภาพที่ไม่สะอาด. ยะโฮซูอะเอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบนั้นอย่างเอาจริงเอาจังสักเพียงไร!—เอ็กโซโด 33:7, 11, ล.ม.
การมีมิตรภาพกับโมเซ ผู้ซึ่งมีอายุแก่กว่ายะโฮซูอะ 35 ปี ตามที่นักประวัติศาสตร์โยเซฟุสกล่าวนั้น คงต้องเสริมสร้างความเชื่อของยะโฮซูอะเป็นอย่างมาก. สัมพันธภาพระหว่างคนทั้งสองถูกเรียกว่าเป็น “การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างคนสูงอายุกับคนหนุ่ม ระหว่างครูกับศิษย์” ซึ่งทำให้ยะโฮซูอะกลายเป็น “คนที่หนักแน่นมั่นคง คู่ควรแก่การไว้วางใจ.” ปัจจุบัน เราไม่มีผู้พยากรณ์เหมือนอย่างโมเซอยู่ท่ามกลางพวกเรา แต่ประชาคมต่าง ๆ แห่งไพร่พลของพระยะโฮวาก็มีผู้สูงอายุ ผู้ซึ่งมีประสบการณ์และคุณลักษณะฝ่ายวิญญาณที่ทำให้พวกเขาเป็นแหล่งแห่งการเสริมกำลังและการหนุนใจแก่พวกเราอย่างแท้จริง. คุณหยั่งรู้ค่าพวกเขาไหม? คุณกำลังได้รับประโยชน์จากการคบหากับพวกเขาไหม?
เป็นผู้สอดแนมคนหนึ่งในคะนาอัน
เหตุการณ์ที่สำคัญในชีวิตของยะโฮซูอะเกิดขึ้นหลังจากที่ชาติอิสราเอลได้รับพระบัญญัติไม่นาน. ท่านถูกเลือกเป็นตัวแทนของตระกูลไปสอดแนมในแผ่นดินตามคำสัญญา. เรื่องราวนี้เป็นที่รู้จักกันดี. คนสอดแนมทั้ง 12 คนเห็นพ้องกันว่าแผ่นดินนั้น “มีน้ำนมแลน้ำผึ้งไหลเป็นบริบูรณ์” จริงอย่างที่พระยะโฮวาสัญญาไว้. อย่างไรก็ตาม คนสอดแนมสิบคนหวั่นกลัว ไม่เชื่อว่าชาติอิสราเอลจะสามารถขับไล่ผู้อาศัยในแผ่นดินนั้นออกไปได้. มีเพียงยะโฮซูอะกับคาเลบเท่านั้นที่กระตุ้นไพร่พลไม่ให้แข็งขืนเพราะความกลัว เนื่องจากพระยะโฮวาจะสถิตอยู่กับพวกเขาอย่างแน่นอน. ผลก็คือ ชุมนุมชนทั้งสิ้นพากันต่อต้านคัดค้านยะโฮซูอะกับคาเลบ และพูดกันว่าให้เอาหินขว้างสองคนนี้เสีย. พวกเขาคงจะได้ทำอย่างนั้นไปแล้วถ้าหากพระยะโฮวาไม่เข้าไปแทรกแซงโดยการสำแดงสง่าราศีของพระองค์. เนื่องจากพวกเขาขาดความเชื่อ พระเจ้าจึงทรงประกาศคำพิพากษาว่าในบรรดาชาวอิสราเอลที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปนั้น จะไม่มีใครสักคนมีชีวิตเหลือรอดได้เข้าไปในแผ่นดินคะนาอัน. ในคนเหล่านี้ มีเพียงยะโฮซูอะ, คาเลบ, และชาวเลวีเท่านั้นที่จะมีชีวิตอยู่จนได้เข้าในแผ่นดินนั้น.—อาฤธโม 13:1-16, 25-29; 14:6-10, 26-30.
ไพร่พลทั้งสิ้นก็ได้เห็นราชกิจอันทรงฤทธิ์ของพระยะโฮวาในอียิปต์มิใช่หรือ? ถ้าอย่างนั้น อะไรทำให้ยะโฮซูอะมีความเชื่อในเรื่องการช่วยเหลือจากพระเจ้าในขณะที่คนส่วนใหญ่สงสัย? ยะโฮซูอะคงจดจำทุกสิ่งที่พระยะโฮวาสัญญาและทำตามสัญญานั้นได้อย่างแจ่มชัด และท่านคงได้ใคร่ครวญถึงสิ่งเหล่านั้น. หลายปีต่อมา ท่านสามารถกล่าวได้ว่า ‘ทุกถ้อยคำที่พระยะโฮวาได้ตรัสแก่อิสราเอลนั้น ไม่มีสักคำเดียวที่ไม่สำเร็จ. ทุกคำสำเร็จเป็นจริง.’ (ยะโฮซูอะ 23:14, ล.ม.) ด้วยเหตุนี้ ยะโฮซูอะจึงมีความเชื่อว่าคำสัญญาทุกอย่างของพระยะโฮวาเกี่ยวกับอนาคตจะสำเร็จเป็นจริงอย่างแน่นอนเช่นกัน. (เฮ็บราย 11:6) สิ่งนี้น่าจะกระตุ้นให้เราถามตัวเองว่า ‘แล้วฉันล่ะ? ความพยายามที่ฉันได้ทุ่มเทให้กับการศึกษาและการใคร่ครวญถึงคำสัญญาต่าง ๆ ของพระยะโฮวาทำให้ฉันมั่นใจไหมว่าคำสัญญาเหล่านั้นคู่ควรแก่การไว้วางใจ? ฉันเชื่อไหมว่าพระเจ้าสามารถปกป้องฉันพร้อมกับไพร่พลของพระองค์ระหว่างความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง?’
ยะโฮซูอะไม่เพียงแต่แสดงความเชื่อ แต่ท่านยังแสดงความกล้าในการทำสิ่งที่ถูกต้องด้วย. มีเพียงท่านกับคาเลบที่ยืนหยัดอยู่ฝ่ายพระยะโฮวา ในขณะที่ชุมนุมชนทั้งสิ้น พากันพูดว่าให้เอาหินขว้างท่านทั้งสองเสีย. ถ้าคุณเป็นยะโฮซูอะ คุณจะรู้สึกเช่นไร? คุณจะกลัวไหม? ยะโฮซูอะไม่กลัว. ท่านกับคาเลบกล่าวยืนยันถึงสิ่งที่ตนเชื่อ. สักวันหนึ่ง ความภักดีต่อพระยะโฮวาอาจทำให้เราต้องทำอย่างเดียวกันนั้น.
เรื่องราวของการสอดแนมครั้งนี้ยังบอกให้เราทราบถึงการเปลี่ยนชื่อของยะโฮซูอะ. ชื่อเดิมของท่าน คือโฮเซอานั้น มีความหมายว่า “ความรอด” ซึ่งโมเซได้เติมพยางค์ที่แสดงถึงพระนามของพระเจ้าเข้าไปในชื่อนั้น และเรียกท่านใหม่ว่ายะโฮซูอะ ซึ่งมีความหมายว่า “พระยะโฮวาทรงเป็นความรอด.” ฉบับเซปตัวจินต์ แปลชื่อของท่านว่า “เยซู.” (อาฤธโม 13:8, 16) สมกับชื่ออันยิ่งใหญ่นั้น ยะโฮซูอะประกาศอย่างไม่หวาดหวั่นว่าพระยะโฮวาทรงเป็นความรอด. การเปลี่ยนชื่อให้ยะโฮซูอะนั้นใช่ว่าทำโดยไม่มีการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ. ชื่อใหม่นั้นสะท้อนให้เห็นว่าโมเซมีความชื่นชมในบุคลิกลักษณะของยะโฮซูอะ และชื่อนั้นเหมาะกับบทบาทอันเป็นสิทธิพิเศษที่ยะโฮซูอะจะทำให้สำเร็จในการนำคนชั่วอายุถัดมาเข้าสู่แผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาไว้.
ขณะที่ชาวอิสราเอลเดินทางวนเวียนอยู่ในถิ่นทุรกันดารเป็นระยะเวลา 40 ปีอันน่าเหนื่อยหน่าย คนในรุ่นบิดาของพวกเขาค่อย ๆ ล้มหายตายจากไปจนหมด. เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชีวิตของยะโฮซูอะในช่วงนั้น. แต่ท่านคงต้องได้เรียนรู้อะไรมากมายระหว่างช่วง 40 ปีนั้นแน่ ๆ. ท่านคงได้เป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงพิพากษาพวกกบฏ คือ โครา, ดาธาน, และอะบีราม อีกทั้งผู้ที่ร่วมสมทบในการกบฏกับพวกเขา และได้เป็นประจักษ์พยานในการพิพากษาของพระเจ้าต่อคนเหล่านั้นที่เข้าร่วมในการนมัสการอันต่ำทรามซึ่งถวายแก่พระบาละแห่งเปโอร์. ยะโฮซูอะคงต้องเศร้าเสียใจอย่างมากเมื่อได้รู้ว่าเพราะเหตุที่โมเซไม่ได้ยอพระเกียรติพระยะโฮวาเรื่องน้ำที่มะรีบานั้น โมเซจึงเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้เข้าในแผ่นดินที่พระเจ้าทรงสัญญาเช่นกัน.—อาฤธโม 16:1-50; 20:9-13; 25:1-9.
ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สืบตำแหน่งแทนโมเซ
เมื่อโมเซใกล้จะสิ้นชีวิต ท่านได้ขอให้พระเจ้าตั้งผู้สืบตำแหน่งแทนท่านเพื่อชาติอิสราเอลจะไม่เป็น “ดุจดังฝูงแกะอันไม่มีผู้เลี้ยง.” พระยะโฮวาทรงตอบอย่างไร? ยะโฮซูอะ “ชายผู้มีน้ำใจ” ได้รับการแต่งตั้งต่อหน้าชุมนุมชนทั้งสิ้น. พวกเขาต้องฟังท่าน. ช่างเป็นการเสนอแนะบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งเสียจริง ๆ! พระยะโฮวาได้เห็นถึงความเชื่อและความสามารถของยะโฮซูอะมาแล้ว. ตำแหน่งผู้นำชาติอิสราเอลคงไม่สามารถจะมอบให้ใครอื่นอีกแล้วที่มีคุณวุฒิมากไปกว่านี้. (อาฤธโม 27:15-20, ล.ม.) กระนั้น โมเซทราบว่ามีข้อท้าทายมากมายที่ยะโฮซูอะจะต้องเผชิญ. ดังนั้น โมเซจึงหนุนใจผู้สืบทอดตำแหน่งท่านให้ “เข้มแข็งและกล้าหาญ” เนื่องจากพระยะโฮวาจะสถิตอยู่กับท่านเรื่อยไป.—พระบัญญัติ 31:7, 8, ฉบับแปลใหม่.
พระเจ้าเองทรงหนุนใจยะโฮซูอะอย่างเดียวกัน และตรัสเพิ่มเติมว่า “[จง] เอาใจใส่ทำตามกฎหมายทั้งสิ้นที่โมเซผู้รับใช้ของเราได้บัญชาแก่เจ้า. อย่าได้เลี่ยงไปข้างขวาหรือข้างซ้ายจากกฎหมายนั้นเลย เพื่อเจ้าจะปฏิบัติอย่างสุขุมรอบคอบทุกแห่งที่เจ้าจะไป. หนังสือกฎหมายนี้ไม่ควรให้ขาดจากปากของเจ้า และเจ้าต้องอ่านออกเสียงแผ่วเบาทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อเจ้าจะได้ตั้งใจทำตามทุกสิ่งที่เขียนไว้ในหนังสือนั้น; เพราะถ้าเจ้าทำอย่างนั้นเจ้าจะบรรลุผลสำเร็จและเจ้าจะปฏิบัติอย่างสุขุม. เราสั่งเจ้าไว้แล้วมิใช่หรือ? จงกล้าหาญและเข้มแข็งเถิด. อย่าตื่นตระหนกหรือหวาดกลัวเลย ด้วยยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าอยู่กับเจ้าไม่ว่าเจ้าจะไปไหน.”—ยะโฮซูอะ 1:7-9, ล.ม.
เนื่องจากคำตรัสของพระยะโฮวาประทับอยู่ในความทรงจำของยะโฮซูอะ และเนื่องจากประสบการณ์ที่ท่านเองได้สะสมมา ยะโฮซูอะจะสงสัยในคำตรัสของพระยะโฮวาได้อย่างไร? การพิชิตแผ่นดินนั้นเป็นเรื่องแน่นอน. จริงอยู่ จะมีอุปสรรคหลายอย่าง ซึ่งข้อท้าทายอย่างแรกสุดคือการลุยข้ามแม่น้ำจอร์แดน (ยาระเดน) ขณะที่มีน้ำเอ่อล้นฝั่งนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาเองทรงบัญชาว่า “จงยกข้ามแม่น้ำยาระเดนนี้.” ถ้าอย่างนั้นแล้ว จะมีอะไรหรือที่เป็นอุปสรรค?—ยะโฮซูอะ 1:2.
เหตุการณ์ต่อ ๆ มาในชีวิตของยะโฮซูอะ ไม่ว่าการพิชิตเมืองเยริโค (ยะริโฮ), การมีชัยเหนือเหล่าศัตรูครั้งแล้วครั้งเล่า, และการแบ่งส่วนในแผ่นดินนั้น เป็นหลักฐานที่แสดงว่าท่านไม่เคยลืมคำสัญญาของพระเจ้า. ในบั้นปลายชีวิตของท่าน ในคราวที่พระยะโฮวาทรงโปรดให้ชาติอิสราเอลสงบศึกจากเหล่าศัตรู ยะโฮซูอะได้รวบรวมไพร่พลมาชุมนุมกันเพื่อทบทวนวิธีต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงปฏิบัติกับพวกเขา และกระตุ้นพวกเขาให้รับใช้พระองค์สิ้นสุดหัวใจ. ผลคือ ชาติอิสราเอลกระทำสัญญาไมตรีอย่างจริงจังกับพระยะโฮวาอีกครั้ง และคงเนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นจากตัวอย่างของผู้นำของพวกเขา “พวกยิศราเอลได้ปฏิบัติพระยะโฮวาจนสิ้นเวลาอายุแห่งยะโฮซูอะ.”—ยะโฮซูอะ 24:16, 31.
ยะโฮซูอะวางตัวอย่างอันยอดเยี่ยมไว้สำหรับเรา. คริสเตียนในทุกวันนี้เผชิญการทดสอบความเชื่อหลายอย่าง. การรับมือกับสิ่งเหล่านั้นอย่างเป็นผลสำเร็จเป็นเรื่องสำคัญยิ่งเพื่อจะรักษาไว้ซึ่งความโปรดปรานจากพระยะโฮวาและได้รับผลตามคำสัญญาในที่สุด. ที่ยะโฮซูอะรับมือได้อย่างเป็นผลสำเร็จนั้นเป็นเพราะท่านมีความเชื่อที่เข้มแข็ง. จริงอยู่ เราไม่ได้เห็นราชกิจอันทรงฤทธิ์ของพระเจ้าเหมือนอย่างยะโฮซูอะได้เห็น แต่ถ้าจะมีใครสงสัยคำสัญญาของพระองค์ พระธรรมในคัมภีร์ไบเบิลที่ใช้ชื่อยะโฮซูอะก็ให้หลักฐานที่เป็นประจักษ์พยานว่าคำตรัสของพระยะโฮวาคู่ควรแก่การไว้วางใจ. เช่นเดียวกับยะโฮซูอะ หากเราอ่านพระคำของพระเจ้าทุกวันและเอาใจใส่ทำตามพระคำนั้น เราก็มั่นใจได้ว่าเราจะปฏิบัติอย่างสุขุมและประสบความสำเร็จ.
บางครั้งบางคราว ความประพฤติของเพื่อนคริสเตียนบางคนทำให้คุณปวดร้าวใจไหม? ขอให้คิดถึงความอดทนของยะโฮซูอะที่ต้องเดินทางวนเวียนอยู่ในถิ่นทุรกันดารตลอดระยะเวลา 40 ปี กับเพื่อนร่วมชาติที่ขาดความเชื่อ แม้ว่าท่านเองไม่ได้ทำผิดอะไร. คุณรู้สึกยากที่จะกล่าวปกป้องสิ่งที่คุณเชื่อไหม? ขอให้ระลึกถึงสิ่งที่ยะโฮซูอะและคาเลบได้ทำ. เนื่องด้วยความเชื่อและการเชื่อฟัง ท่านทั้งสองจึงได้รับบำเหน็จอันล้ำเลิศ. ถูกแล้ว ยะโฮซูอะมีความเชื่ออย่างแท้จริงว่าพระยะโฮวาจะทำให้คำสัญญาทั้งสิ้นของพระองค์สำเร็จเป็นจริง. ขอให้เรามีความเชื่อแบบเดียวกันนั้น.—ยะโฮซูอะ 23:14.
[ภาพหน้า 10]
มิตรภาพที่ใกล้ชิดกับโมเซเสริมสร้างความเชื่อของยะโฮซูอะ
[ภาพหน้า 10]
ยะโฮซูอะกับคาเลบเชื่อมั่นในฤทธิ์อำนาจของพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 10]
การเป็นผู้นำของยะโฮซูอะกระตุ้นไพร่พลให้ติดสนิทกับพระยะโฮวา