ถูกข่มเหงแต่มีความสุข
“ความสุขมีแก่เจ้าทั้งหลายเมื่อผู้คนติเตียนพวกเจ้า ข่มเหงพวกเจ้า และพูดมุสาเรื่องชั่วร้ายทุกอย่างต่อต้านพวกเจ้าเพราะเรา.”—มัดธาย 5:11, ล.ม.
1. พระเยซูให้คำรับรองอะไรแก่เหล่าสาวกในเรื่องความสุขกับการข่มเหง?
ตอนที่พระเยซูส่งพวกอัครสาวกออกไปประกาศราชอาณาจักรครั้งแรก พระองค์เตือนพวกเขาว่าจะประสบการต่อต้าน. พระองค์บอกพวกเขาว่า “คนทั้งปวงจะเกลียดชังท่านเพราะนามของเรา.” (มัดธาย 10:5-18, 22) อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นในคำเทศน์บนภูเขา พระองค์ให้คำรับรองแก่เหล่าอัครสาวกและคนอื่น ๆ ว่าการต่อต้านเช่นนั้นไม่จำเป็นต้องคุกคามความสุขภายในใจของพวกเขา. ที่จริง พระเยซูเชื่อมโยงความสุขเข้ากับการถูกข่มเหงในฐานะคริสเตียนด้วยซ้ำ! การข่มเหงจะนำความสุขมาให้ได้อย่างไร?
ทนทุกข์เพราะเห็นแก่ความชอบธรรม
2. ตามที่พระเยซูและอัครสาวกเปโตรกล่าว การทนทุกข์แบบไหนที่นำความสุขมาให้?
2 พระเยซูกล่าวถึงเหตุผลสำหรับความสุขประการที่แปดดังนี้: “ความสุขมีแก่ผู้ที่ถูกข่มเหงเพราะเห็นแก่ความชอบธรรม เพราะราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์เป็นของเขา.” (มัดธาย 5:10, ล.ม.) การทนทุกข์ในตัวมันเองแล้วไม่มีอะไรน่าสรรเสริญ. อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “จะมีคุณความดีอะไรเล่า เมื่อท่านทั้งหลายกระทำผิดแล้วถูกตี ท่านทนเอาการตีนั้น? แต่ถ้าหากท่านทั้งหลายกระทำดี และท่านรับทุกข์ ท่านทนเอาความทุกข์นั้น นี่แหละเป็นสิ่งที่ชอบพระทัยพระเจ้า.” ท่านกล่าวต่อไปอีกว่า “อย่างไรก็ดี อย่าให้คนใดในพวกท่านทั้งหลายทนทุกข์เพราะเป็นผู้ฆ่าคน หรือเป็นคนขโมย หรือเป็นคนทำชั่ว หรือเป็นคนยุ่งกับธุระของคนอื่น. แต่ถ้าเขาทนทุกข์ในฐานะเป็นคริสเตียน อย่าให้เขารู้สึกอาย แต่ให้เขาถวายเกียรติแด่พระเจ้าโดยชื่อนี้ต่อ ๆ ไป.” (1 เปโตร 2:20; 4:15, 16, ล.ม.) ตามที่พระเยซูตรัส การทนทุกข์นำความสุขมาให้ก็ต่อเมื่อมีการทนรับเอาเพราะเห็นแก่ความชอบธรรม.
3. (ก) การถูกข่มเหงเพราะเห็นแก่ความชอบธรรมหมายความว่าอย่างไร? (ข) การข่มเหงส่งผลเช่นไรต่อคริสเตียนยุคแรก?
3 ความชอบธรรมที่แท้จริงวัดได้จากการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าและพระบัญชาของพระองค์. ฉะนั้น การทนทุกข์เพราะเห็นแก่ความชอบธรรมจึงหมายถึงการทนทุกข์อันเนื่องมาจากการต้านทานความกดดันที่ให้ละเมิดมาตรฐานหรือข้อเรียกร้องของพระเจ้า. เหล่าอัครสาวกถูกพวกผู้นำชาวยิวข่มเหงเนื่องจากไม่ยอมเลิกประกาศในพระนามของพระเยซู. (กิจการ 4:18-20; 5:27-29, 40) การข่มเหงนั้นเซาะกร่อนความยินดีหรือยับยั้งพวกเขาไว้จากการประกาศไหม? ไม่เลย! “[พวกเขา] จึงไปจากสภาซันเฮดริน พวกเขายินดีที่ถูกนับว่าคู่ควรกับการถูกเหยียดหยามเพื่อพระนามของพระองค์. และเขาทั้งหลายจึงทำการสั่งสอนและประกาศข่าวดีเรื่องพระคริสต์เยซูในพระวิหารและตามบ้านเรือนทุกวันเรื่อยไปมิได้ขาด.” (กิจการ 5:41, 42, ล.ม.) การข่มเหงนี้ทำให้พวกเขามีความยินดีและมีความกระตือรือร้นในงานประกาศยิ่งขึ้น. ในเวลาต่อมา คริสเตียนยุคแรกถูกพวกโรมันข่มเหงเนื่องจากไม่ยอมบูชาจักรพรรดิ.
4. อะไรคือเหตุผลบางอย่างที่คริสเตียนถูกข่มเหง?
4 ในสมัยปัจจุบัน พยานพระยะโฮวาถูกข่มเหงเนื่องจากไม่ยอมเลิกประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) เมื่อการประชุมคริสเตียนของพวกเขาถูกสั่งห้าม พวกเขาเต็มใจทนทุกข์แทนที่จะหยุดการประชุมกันตามที่มีบัญชาไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. (เฮ็บราย 10:24, 25) พวกเขาถูกข่มเหงเพราะรักษาความเป็นกลางของคริสเตียนหรือเนื่องจากไม่ยอมให้ใช้เลือดในทางที่ผิด. (โยฮัน 17:14; กิจการ 15:28, 29) ถึงกระนั้น การยืนหยัดเพื่อความชอบธรรมเช่นนี้ทำให้ประชาชนของพระเจ้าในสมัยปัจจุบันมีความสุขและความสงบสุขในใจอย่างมาก.—1 เปโตร 3:14.
ถูกติเตียนเพราะพระคริสต์
5. อะไรคือเหตุผลสำคัญที่ประชาชนของพระยะโฮวาในปัจจุบันถูกข่มเหง?
5 ความสุขประการที่เก้าที่พระเยซูพิจารณาในคำเทศน์บนภูเขาก็เกี่ยวข้องกับการข่มเหงเช่นกัน. พระองค์ตรัสว่า “ความสุขมีแก่เจ้าทั้งหลายเมื่อผู้คนติเตียนพวกเจ้า ข่มเหงพวกเจ้า และพูดมุสาเรื่องชั่วร้ายทุกอย่างต่อต้านพวกเจ้าเพราะเรา.” (มัดธาย 5:11, ล.ม.) เหตุผลสำคัญที่ประชาชนของพระยะโฮวาถูกข่มเหงก็เพราะพวกเขาไม่เป็นส่วนของระบบชั่วปัจจุบัน. พระเยซูบอกเหล่าสาวกว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายเป็นส่วนของโลก โลกก็จะรักซึ่งเป็นของโลกเอง. บัดนี้เพราะเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก แต่เราได้เลือกเจ้าออกจากโลก ด้วยเหตุนี้โลกจึงเกลียดชังเจ้า.” (โยฮัน 15:19, ล.ม.) อัครสาวกเปโตรกล่าวคล้าย ๆ กันว่า “เพราะท่านทั้งหลายไม่ได้วิ่งร่วมกับเขาต่อไปในแอ่งโสโครกที่มีแต่ความเสเพลอย่างเดียวกัน เขาก็ฉงนและกล่าวร้ายท่านทั้งหลายอยู่เรื่อยไป.”—1 เปโตร 4:4, ล.ม.
6. (ก) เหตุใดชนที่เหลือและสหายของพวกเขาจึงถูกติเตียนและข่มเหง? (ข) การติเตียนเช่นนั้นบั่นทอนความสุขของเราไหม?
6 เราได้เห็นแล้วว่าคริสเตียนยุคแรกถูกข่มเหงเนื่องจากไม่ยอมเลิกประกาศในพระนามของพระเยซู. พระคริสต์มอบหมายสาวกของพระองค์ดังนี้: “ท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเรา . . . จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (กิจการ 1:8) ชนที่เหลือผู้ซื่อสัตย์ในจำพวกพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระคริสต์ได้ทำงานมอบหมายดังกล่าวด้วยใจแรงกล้า โดยได้ความช่วยเหลือจาก “ชนฝูงใหญ่” สหายผู้ภักดีของพวกเขา. (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.) ด้วยเหตุนี้ ซาตานจึงทำสงครามกับ “พงศ์พันธุ์ของผู้หญิง [องค์การของพระเจ้าส่วนที่อยู่ในสวรรค์] ที่เหลืออยู่นั้น, ที่ประพฤติตามพระบัญญัติของพระเจ้า, และที่ยึดถือคำพยานของพระเยซู.” (วิวรณ์ 12:9, 17) ฐานะพยานพระยะโฮวา เราเป็นพยานถึงพระเยซู กษัตริย์ผู้กำลังครองราชย์ในราชอาณาจักร ซึ่งจะทำลายการปกครองของมนุษย์ที่ขวางทางโลกใหม่อันชอบธรรมของพระเจ้า. (ดานิเอล 2:44; 2 เปโตร 3:13) เราถูกติเตียนและข่มเหงเนื่องด้วยเหตุนี้ แต่เรามีความสุขที่เราทนทุกข์เพราะพระนามของพระคริสต์.—1 เปโตร 4:14.
7, 8. พวกผู้ต่อต้านพูดมุสาต่อต้านคริสเตียนยุคแรกว่าอย่างไร?
7 พระเยซูตรัสว่าสาวกของพระองค์ควรมีความสุขแม้แต่เมื่อผู้คน “พูดมุสาเรื่องชั่วร้ายทุกอย่าง” ต่อต้านพวกเขาเพราะพระองค์. (มัดธาย 5:11, ล.ม.) คริสเตียนยุคแรกประสบสิ่งนั้นจริง ๆ. เมื่ออัครสาวกเปาโลถูกคุมตัวในกรุงโรมช่วงราวปี ส.ศ. 59-61 พวกผู้นำชาวยิวที่นั่นกล่าวถึงคริสเตียนว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายทราบว่าพวกที่ถือลัทธินี้ก็ถูกติเตียนทุกแห่ง.” (กิจการ 28:22) เปาโลกับซีลาถูกกล่าวหาว่า “เป็นพวกคว่ำแผ่นดิน” และกระทำ “ผิดคำสั่งของกายะซา.”—กิจการ 17:6, 7.
8 นักประวัติศาสตร์ เค. เอส. ลาตูเรตต์ เขียนเกี่ยวกับคริสเตียนในสมัยจักรวรรดิโรมันว่า “ข้อกล่าวหามีหลากหลาย. เนื่องจากปฏิเสธไม่เข้าร่วมพิธีกรรมนอกรีต คริสเตียนจึงถูกกล่าวหาว่าไม่นับถือพระเจ้า. เนื่องจากไม่เข้าร่วมกิจกรรมหลายอย่างที่เป็นวิถีชีวิตของชุมชน เช่น เทศกาลนอกรีต ความบันเทิงที่จัดขึ้นสำหรับประชาชน . . . พวกเขาจึงถูกเย้ยหยันว่าเป็นพวกรังเกียจเผ่าพันธุ์มนุษย์. . . . มีการกล่าวว่าคริสเตียนทั้งชายและหญิงชุมนุมกันในยามวิกาล . . . และตามมาด้วยการร่วมเพศหมู่ . . . ข้อเท็จจริงที่ว่า [การประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์] มีการจัดขึ้นเฉพาะในหมู่ผู้มีความเชื่อด้วยกัน ทำให้เกิดข่าวลือว่าคริสเตียนมักบูชายัญเด็กทารกกับกินเนื้อและเลือดของทารกนั้น.” นอกจากนี้ เนื่องจากคริสเตียนยุคแรกไม่ยอมบูชาจักรพรรดิ จึงมีการกล่าวหาพวกเขาว่าเป็นศัตรูต่อรัฐ.
9. คริสเตียนในศตวรรษแรกมีปฏิกิริยาเช่นไรที่มีการกล่าวหาพวกเขาอย่างผิด ๆ และสถานการณ์ในทุกวันนี้เป็นอย่างไร?
9 ข้อกล่าวหาเหล่านั้นไม่ได้ทำให้คริสเตียนยุคแรกเลิกทำงานมอบหมายที่ให้ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. ในปี ส.ศ. 60-61 เปาโลสามารถกล่าวว่า “กิตติคุณ” กำลัง “แผ่ไปทั่วโลก เกิดผลและทวีขึ้น” และได้ “ประกาศแล้วแก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า.” (โกโลซาย 1:5, 6, 23) สิ่งเดียวกันนั้นเกิดขึ้นในปัจจุบัน. พยานพระยะโฮวาถูกกล่าวหาผิด ๆ อย่างที่คริสเตียนในศตวรรษแรกประสบ. กระนั้น ทุกวันนี้งานประกาศข่าวสารราชอาณาจักรเจริญรุดหน้าและก่อความสุขมากมายแก่ผู้มีส่วนร่วมในงานนั้น.
มีความสุขที่ถูกข่มเหงเช่นเดียวกับผู้พยากรณ์
10, 11. (ก) พระเยซูกล่าวปิดท้ายการพิจารณาความสุขประการที่เก้านั้นว่าอย่างไร? (ข) เหตุใดเหล่าผู้พยากรณ์จึงถูกข่มเหง? จงยกตัวอย่าง.
10 พระเยซูปิดท้ายการพิจารณาความสุขประการที่เก้านั้นโดยตรัสว่า “จงชื่นชมยินดี . . . ด้วยว่าพวกเขาก็ได้ข่มเหงเหล่าผู้พยากรณ์ที่อยู่ก่อนเจ้าเหมือนกัน.” (มัดธาย 5:12, ล.ม.) เหล่าผู้พยากรณ์ที่พระยะโฮวาส่งมาเตือนชาติอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์นั้นได้รับการต้อนรับอย่างไม่น่าพอใจและมักจะถูกข่มเหง. (ยิระมะยา 7:25, 26) อัครสาวกเปาโลยืนยันข้อเท็จจริงโดยเขียนว่า “ข้าพเจ้าจะว่าอะไรอีกต่อไป? เพราะเวลาไม่พอที่จะกล่าวถึง . . . ผู้พยากรณ์ทั้งหลาย. คนเหล่านั้น [ซึ่งโดย] ความเชื่อ . . . ถูกทดลองโดยคำเยาะเย้ยและถูกเฆี่ยน, แล้วก็ถูกจำและขังไว้ในคุกด้วย.”—เฮ็บราย 11:32-38.
11 ในรัชกาลอาฮาบกษัตริย์ชั่วช้ากับอีซาเบ็ลพระมเหสีของพระองค์ ผู้พยากรณ์หลายคนของพระยะโฮวาถูกฆ่าด้วยคมดาบ. (1 กษัตริย์ 18:4, 13; 19:10) ผู้พยากรณ์ยิระมะยาถูกจับใส่ขื่อ และต่อมาก็ถูกโยนลงบ่อน้ำที่มีแต่โคลน. (ยิระมะยา 20:1, 2; 38:6) ผู้พยากรณ์ดานิเอลถูกโยนลงไปในบ่อสิงโต. (ดานิเอล 6:16, 17) ผู้พยากรณ์ก่อนยุคคริสเตียนเหล่านี้ล้วนถูกข่มเหงเพราะพวกเขาปกป้องการนมัสการอันบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา. ผู้พยากรณ์หลายคนถูกผู้นำศาสนาชาวยิวข่มเหง. พระเยซูเรียกพวกอาลักษณ์และฟาริซายว่า “บุตรของผู้ที่ได้ฆ่าศาสดาพยากรณ์เหล่านั้น.”—มัดธาย 23:31.
12. เหตุใดเราในฐานะพยานพระยะโฮวาจึงถือเป็นเกียรติที่จะถูกข่มเหงเช่นเดียวกับผู้พยากรณ์ครั้งโบราณ?
12 ในทุกวันนี้ บ่อยครั้งที่พวกเราฐานะพยานพระยะโฮวาถูกข่มเหงก็เนื่องจากความกระตือรือร้นของเราในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. ศัตรูของเรากล่าวหาว่าเราทำการ “รุกเร้าผู้คนให้เปลี่ยนศาสนา” แต่เรารู้ว่าผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาในสมัยก่อนโน้นก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์คล้าย ๆ กัน. (ยิระมะยา 11:21; 20:8, 11) เราถือเป็นเกียรติที่ได้ทนทุกข์ด้วยเหตุผลเดียวกันกับที่เหล่าผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์ครั้งโบราณได้ทนทุกข์. สาวกยาโกโบเขียนดังนี้: “ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย จงเอาแบบอย่างในการอดทนความทุกข์และเพียรพยายามแห่งผู้พยากรณ์ ผู้ได้กล่าวข้อความในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้น. นี่แน่ะ เราทั้งหลายเคยถือว่าท่านเหล่านั้นที่อดทนก็เป็นสุข.”—ยาโกโบ 5:10, 11.
เหตุผลต่าง ๆ อันสูงส่งสำหรับการมีความสุข
13. (ก) เหตุใดเราจึงไม่ท้อใจเนื่องจากการข่มเหง? (ข) อะไรช่วยให้เรายืนหยัดมั่นคง และนี่เป็นข้อพิสูจน์ในเรื่องใด?
13 แทนที่จะท้อใจเนื่องจากการข่มเหง เราได้รับการชูใจเมื่อคิดถึงว่าเรากำลังดำเนินตามแบบอย่างของเหล่าผู้พยากรณ์, คริสเตียนยุคแรก, และพระคริสต์เยซู. (1 เปโตร 2:21) เราได้รับความอิ่มใจอย่างล้ำลึกจากพระคัมภีร์ อย่างเช่นถ้อยคำต่อไปนี้ของอัครสาวกเปโตรที่ว่า “ดูก่อนพวกที่รัก, อย่าคิดประหลาดใจที่ท่านต้องมีความทุกข์อย่างสาหัสเป็นที่ลองใจของท่าน, เหมือนหนึ่งว่าเหตุการณ์แปลกประหลาดได้บังเกิดแก่ท่าน. ถ้าท่านถูกประมาทหมิ่นเพราะพระนามของพระคริสต์, ท่านทั้งหลายก็เป็นสุข ด้วยว่าพระวิญญาณแห่งสง่าราศีและพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่กับท่านทั้งหลาย.” (1 เปโตร 4:12, 14) เรารู้จากประสบการณ์ว่าเราจะสามารถยืนหยัดมั่นคงเมื่อเผชิญการข่มเหงได้ก็ต่อเมื่อพระวิญญาณของพระยะโฮวาอยู่กับเราและเสริมกำลังเรา. การเกื้อหนุนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นข้อพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาอวยพระพรเรา และนี่เป็นเหตุให้เรามีความสุขอย่างยิ่ง.—บทเพลงสรรเสริญ 5:12; ฟิลิปปอย 1:27-29.
14. เรามีเหตุผลอะไรบ้างที่จะยินดีเมื่อถูกข่มเหงเพราะเห็นแก่ความชอบธรรม?
14 เหตุผลอีกประการหนึ่งที่การถูกต่อต้านหรือถูกข่มเหงเพราะเห็นแก่ความชอบธรรมทำให้เรามีความสุขก็คือ นี่พิสูจน์ว่าเรากำลังดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าฐานะคริสเตียนแท้. อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “ทุกคนที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าร่วมกับพระคริสต์เยซูก็จะถูกข่มเหงด้วย.” (2 ติโมเธียว 3:12, ล.ม.) เรามีความสุขอย่างยิ่งเมื่อคิดถึงว่าการรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงของเราเมื่อประสบการทดลองเป็นคำตอบเพิ่มเติมให้กับคำกล่าวอ้างของซาตานที่ว่า มนุษย์และทูตสวรรค์ทั้งสิ้นของพระยะโฮวารับใช้พระองค์ด้วยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว. (โยบ 1:9-11; 2:3, 4) เรายินดีที่เรามีส่วนร่วมแม้เพียงเล็กน้อยก็ตามในการพิสูจน์ว่าพระยะโฮวามีสิทธิโดยชอบธรรมทุกประการในการเป็นผู้ปกครององค์สูงสุดแห่งเอกภพ.—สุภาษิต 27:11.
โลดเต้นด้วยความปลาบปลื้มกับบำเหน็จที่ได้รับ
15, 16. (ก) พระเยซูให้เหตุผลอะไรเพื่อเราจะ “ชื่นชมยินดีและโลดเต้นด้วยความปลาบปลื้ม”? (ข) มีบำเหน็จอะไรเก็บไว้ในสวรรค์สำหรับคริสเตียนผู้ถูกเจิม และ “แกะอื่น” สหายของพวกเขาจะได้รับบำเหน็จเช่นไรด้วย?
15 พระเยซูให้เหตุผลเพิ่มเติมสำหรับความยินดีเมื่อถูกใส่ร้ายและถูกข่มเหงเช่นเดียวกับผู้พยากรณ์ครั้งโบราณ. ตอนที่จวนจะจบเหตุผลสำหรับความสุขประการที่เก้านั้น พระเยซูกล่าวว่า “จงชื่นชมยินดีและโลดเต้นด้วยความปลาบปลื้ม เพราะบำเหน็จของพวกเจ้าล้ำเลิศในสวรรค์.” (มัดธาย 5:12, ล.ม.) อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ค่าจ้างของความบาปนั้นคือความตาย แต่ของประทานของพระเจ้าก็คือชีวิตนิรันดร์ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” (โรม 6:23) ถูกแล้ว ‘บำเหน็จล้ำเลิศ’ นั้นได้แก่ชีวิต และชีวิตไม่ใช่เป็นค่าจ้างที่เราได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา. ชีวิตเป็นของประทานที่ได้มาเปล่า ๆ. พระเยซูตรัสว่าบำเหน็จนั้นอยู่ “ในสวรรค์” เพราะมาจากพระยะโฮวา.
16 ผู้ถูกเจิมได้รับ “มงกุฎแห่งชีวิต” ซึ่งในกรณีของพวกเขาก็คืออมตชีพในสวรรค์ร่วมกับพระคริสต์. (ยาโกโบ 1:12, 17) ผู้ที่มีความหวังทางแผ่นดินโลก ซึ่งเป็น “แกะอื่น” คอยท่าจะได้รับชีวิตนิรันดร์ในอุทยานบนแผ่นดินโลก. (โยฮัน 10:16; วิวรณ์ 21:3-5) สำหรับทั้งสองกลุ่มนี้ “บำเหน็จ” นี้ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาได้รับเป็นค่าจ้าง. ทั้งผู้ถูกเจิมและ “แกะอื่น” ได้รับบำเหน็จโดย “พระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าซึ่งหาที่เปรียบมิได้” ซึ่งกระตุ้นให้อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “ขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับของประทานอันสุดจะพรรณนาได้ที่ทรงให้เปล่า ๆ.”—2 โกรินโธ 9:14, 15, ล.ม.
17. เหตุใดเราสามารถมีความสุขเมื่อถูกข่มเหง และเปรียบเหมือนกับว่า “โลดเต้นด้วยความปลาบปลื้ม”?
17 เมื่อเขียนไปถึงคริสเตียนซึ่งอีกไม่นานบางคนจะถูกจักรพรรดิเนโรข่มเหงอย่างไร้ความปรานี อัครสาวกเปาโลกล่าวดังนี้: “เราทั้งหลายยังมีความภูมิใจในความยากลำบากด้วย, เพราะรู้อยู่แล้วว่าความยากลำบากนั้นกระทำให้บังเกิดมีความอดทน, และความอดทนนั้นกระทำให้บังเกิดมีอุปนิสัยดี, และอุปนิสัยดีนั้นกระทำให้บังเกิดมีความหวังใจ, และความหวังใจนั้นมิได้กระทำให้เกิดความเสียใจเพราะไม่สมหวัง.” ท่านกล่าวด้วยว่า “จงยินดีในความหวัง จงอดทนในการยากลำบาก.” (โรม 5:3-5; 12:12) ไม่ว่าความหวังของเราจะอยู่ที่สวรรค์หรือแผ่นดินโลก บำเหน็จสำหรับความซื่อสัตย์ของเราเมื่อเผชิญการทดลองนั้นล้ำเลิศกว่าสิ่งใด ๆ ที่เราสมควรจะได้รับ. ความหวังที่จะมีชีวิตตลอดไปเพื่อรับใช้และสรรเสริญพระยะโฮวาพระบิดาองค์เปี่ยมด้วยความรักของเราภายใต้การปกครองของกษัตริย์เยซูคริสต์นั้นทำให้เรามีความยินดีเหลือล้น เปรียบเหมือนกับว่าเรา “โลดเต้นด้วยความปลาบปลื้ม.”
18. เราคาดหมายได้ว่านานาชาติจะทำอะไรขณะที่อวสานใกล้เข้ามา และพระยะโฮวาจะทรงทำอะไร?
18 ในบางดินแดน พยานพระยะโฮวาถูกข่มเหงเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้. ในคำพยากรณ์เกี่ยวกับช่วงอวสานของระบบนี้ พระเยซูเตือนคริสเตียนแท้ไว้ว่า “เจ้าจะตกเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังจากทุกชาติเพราะนามของเรา.” (มัดธาย 24:9, ล.ม.) เมื่อเราเข้าไปใกล้อวสาน ซาตานจะทำให้นานาชาติแสดงความเกลียดชังประชาชนของพระยะโฮวา. (ยะเอศเคล 38:10-12, 14-16) นี่เป็นสัญญาณให้ทราบว่าเวลาที่พระยะโฮวาจะลงมือปฏิบัติการมาถึงแล้ว. “เราจะสำแดงตัวเราให้เป็นใหญ่, ให้เป็นที่นับถือ, และเราจะให้ประเทศทั้งหลายรู้จักเรา, และเขาทั้งหลายจะได้รู้ว่าเราคือยะโฮวา.” (ยะเอศเคล 38:23) โดยวิธีนี้ พระยะโฮวาจะทำให้พระนามเกรียงไกรของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ และปลดเปลื้องประชาชนของพระองค์ให้พ้นจากการข่มเหง. ด้วยเหตุนี้ “ความสุขย่อมมีแก่คนนั้นที่สู้ทน.”—ยาโกโบ 1:12.
19. เราควรทำอะไรขณะที่คอยท่า ‘วันใหญ่ของพระยะโฮวา’?
19 ขณะที่ ‘วันใหญ่ของพระยะโฮวา’ ใกล้เข้ามาทุกขณะ ขอให้เรามีความยินดีที่ “ถูกนับว่าคู่ควรกับการถูกเหยียดหยาม” เพื่อพระนามของพระเยซู. (2 เปโตร 3:10-13, ล.ม.; กิจการ 5:41, ล.ม.) เช่นเดียวกับคริสเตียนยุคแรก ขอให้เรา “สั่งสอนและประกาศข่าวดีเรื่องพระคริสต์เยซู” และเรื่องการปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระองค์ “เรื่อยไปมิได้ขาด” ขณะที่กำลังคอยท่าบำเหน็จของเราในโลกใหม่อันชอบธรรมของพระยะโฮวา.—กิจการ 5:42, ล.ม.; ยาโกโบ 5:11.
เพื่อเป็นการทบทวน
• การทนทุกข์เพราะเห็นแก่ความชอบธรรมหมายความว่าอย่างไร?
• การข่มเหงส่งผลเช่นไรต่อคริสเตียนยุคแรก?
• ทำไมกล่าวได้ว่าพยานพระยะโฮวาถูกข่มเหงเช่นเดียวกับผู้พยากรณ์ครั้งโบราณ?
• เหตุใดเราจึงสามารถ “ชื่นชมยินดีและโลดเต้นด้วยความปลาบปลื้ม” เมื่อถูกข่มเหง?
[ภาพหน้า 16, 17]
“ความสุขมีแก่เจ้าทั้งหลายเมื่อผู้คนติเตียนพวกเจ้า ข่มเหงพวกเจ้า”
[ที่มาของภาพ]
Group in prison: Chicago Herald-American