เรื่องราวชีวิตจริง
เราใช้สภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปเพื่อให้คำพยานในดินแดนที่ห่างไกล
เล่าโดยริคาร์โด มาลิกซี
ตอนที่ผมตกงานเนื่องจากจุดยืนของผมในประเด็นความเป็นกลางของคริสเตียน ผมพร้อมกับครอบครัวได้ทูลขอพระยะโฮวาช่วยเราในการวางแผนสำหรับอนาคต. เมื่อเราอธิษฐาน เราได้เอ่ยถึงความปรารถนาอยากจะขยายงานรับใช้ให้มากยิ่งขึ้น. หลังจากนั้นไม่นาน เราก็เริ่มวิถีชีวิตแบบไม่อยู่เป็นที่ เราจึงย้ายถิ่นไปยังแปดประเทศในสองทวีป. ผลก็คือ เราสามารถดำเนินการรับใช้ในถิ่นที่ห่างไกล.
ผมเกิดในประเทศฟิลิปปินส์ปี 1933 ในครอบครัวซึ่งผูกพันอยู่กับคริสตจักรอิสระแห่งพระเทศฟิลิปปินส์. คนในครอบครัวทั้ง 14 คนเป็นสมาชิกคริสตจักรนี้. เมื่อผมอายุ 12 ขวบ ผมอธิษฐานขอพระเจ้าชี้นำผมให้ได้พบความเชื่อแท้. คุณครูลงชื่อผมในชั้นเรียนวิชาศาสนา และผมกลายเป็นคาทอลิกที่ถือเคร่ง. ผมไม่เคยพลาดการสารภาพบาปวันเสาร์หรือขาดการเข้าร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์. อย่างไรก็ตาม ผมเริ่มกังขาและรู้สึกไม่จุใจ. คำถามต่าง ๆ เช่น เกิดอะไรขึ้นเมื่อคนเราตาย, เรื่องไฟนรก, และเรื่องตรีเอกานุภาพล้วนรบกวนใจผม. คำตอบที่ฟังจากผู้นำศาสนาก็ไม่มีความหมายและไม่จุใจ.
ได้รับคำตอบอย่างจุใจ
ระหว่างศึกษาในวิทยาลัย ผมได้เข้าร่วมกลุ่มที่ชักนำผมไปพัวพันกับการต่อสู้, การพนัน, การสูบบุหรี่, และกิจปฏิบัติอื่น ๆ ที่น่ารังเกียจ. เย็นวันหนึ่ง ผมได้พบกับมารดาของเพื่อนนักเรียนชั้นเดียวกัน. เธอเป็นพยานพระยะโฮวา. ผมถามคำถามเดียวกันกับที่เคยถามบรรดาอาจารย์สอนศาสนา. เธอตอบผมทุกคำถามจากพระคัมภีร์ ทำให้ผมมั่นใจว่าสิ่งที่เธอพูดเป็นความจริง.
ผมซื้อคัมภีร์ไบเบิลและเริ่มต้นศึกษาพระคัมภีร์กับเหล่าพยานฯ. ไม่นาน ผมเข้าร่วมการประชุมของพยานพระยะโฮวาทุกระเบียบวาระ. โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำอันสุขุมของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “การคบค้าสมาคมกับคนชั่วนั้นย่อมทำให้นิสัยดีกลับชั่วไปด้วย” ผมจึงเลิกคบเพื่อนเสเพล. (1 โกรินโธ 15:33) การทำเช่นนี้เป็นประโยชน์สำหรับผมที่จะก้าวหน้าในการศึกษาพระคัมภีร์ และอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาในที่สุด. ภายหลังการรับบัพติสมาในปี 1951 ผมได้รับใช้เป็นผู้ประกาศเต็มเวลา (ไพโอเนียร์) อยู่ระยะหนึ่ง. ครั้นแล้ว เดือนธันวาคม 1953 ผมสมรสกับเอาเรีย เมนโดซา ครูซ ซึ่งกลายมาเป็นคู่ชีวิตของผมและเป็นเพื่อนร่วมงานที่ซื่อสัตย์ในงานรับใช้.
การอธิษฐานของเรามีคำตอบ
เราปรารถนาจริง ๆ ที่จะเป็นไพโอเนียร์. อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาของเราที่จะรับใช้พระยะโฮวาให้เต็มที่ไม่ได้เป็นจริงทันทีทันใด. ถึงกระนั้น เราก็ยังไม่เลิกทูลขอพระยะโฮวาเปิดทางให้โอกาสเราได้รับใช้พระองค์. แต่ชีวิตของเราลำบาก. กระนั้น เรานึกถึงเป้าหมายฝ่ายวิญญาณตลอดเวลา และเมื่ออายุ 25 ปีผมได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รับใช้ประชาคม ผู้ดูแลผู้เป็นประธานในประชาคมของพยานพระยะโฮวา.
ขณะที่ผมก้าวหน้าด้านความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์และเข้าใจหลักการต่าง ๆ ของพระยะโฮวาดีขึ้น ผมจึงรู้ว่าการงานที่ผมทำอยู่ขัดกับสติรู้สึกผิดชอบของผมฐานะคริสเตียนที่รักษาความเป็นกลาง. (ยะซายา 2:2-4) ผมตัดสินใจลาออก. ทั้งนี้นับว่าเป็นการทดสอบความเชื่อของเรา. ผมจะเอาใจใส่ความจำเป็นของครอบครัวอย่างไร? อีกครั้ง เราอธิษฐานทูลพระยะโฮวาพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 65:2) เราทูลพระองค์ถึงความกังวล ความวิตกกลัวของเรา แต่เรายังได้ทูลพระองค์ด้วยว่าเรามีความปรารถนาอยากรับใช้ในถิ่นที่มีความต้องการผู้ประกาศอีกมาก. (ฟิลิปปอย 4:6, 7) เราไม่นึกไม่ฝันว่าจะมีโอกาสหลากหลายเปิดให้เรา!
เริ่มการเดินทางของเรา
เดือนเมษายน 1965 ผมตกลงรับงานเป็นที่ปรึกษาฝ่ายปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัยเครื่องบินตกที่ท่าอากาศยานนานาชาติเวียงจันทน์ ประเทศลาว และเราย้ายไปที่นั่น. ในนครเวียงจันทน์มีพยานฯ 24 คน และเราเพลิดเพลินที่ได้ร่วมงานประกาศกับมิชชันนารีและพยานฯ เพียงไม่กี่คนในท้องถิ่น. ต่อมา ผมถูกย้ายไปประจำสนามบินอุดรธานี ประเทศไทย. ตอนนั้นอุดรธานียังไม่มีพยานพระยะโฮวา. เราได้ประชุมกันทุกระเบียบวาระของการประชุมประจำสัปดาห์ภายในครอบครัวของเราเอง. เราออกทำงานประกาศตามบ้าน, กลับเยี่ยม, และเริ่มนำการศึกษาพระคัมภีร์.
พวกเราจำคำแนะนำของพระเยซูที่ตรัสสั่งเหล่าสาวกว่าเขาควร “เกิดผลมาก.” (โยฮัน 15:8) ดังนั้น เราจึงตั้งใจติดตามตัวอย่างของเขาและประกาศข่าวดีไม่ละลด. ไม่นานหลังจากนั้น เรารู้สึกชื่นชมเมื่อเห็นผล. เด็กสาวไทยคนหนึ่งรับเอาความจริงและกลายมาเป็นพี่น้องฝ่ายวิญญาณของเรา. ชาวอเมริกันสองคนรับความจริงและต่อจากนั้นได้เป็นคริสเตียนผู้ปกครอง. เราประกาศข่าวดีทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องนานกว่าสิบปี. เรามีความสุขมากเพียงใดเมื่อรู้ว่าเวลานี้อุดรธานีมีประชาคมแล้ว! เมล็ดความจริงบางส่วนที่เราได้ปลูกนั้นยังเกิดผลอยู่.
แต่น่าเสียดาย เราต้องย้ายถิ่นอีกและเราทูลอธิษฐานขอ “เจ้าของของการเกี่ยว” สนับสนุนเราให้ได้มีส่วนในงานประกาศเผยแพร่ต่อไป. (มัดธาย 9:38) เราถูกส่งไปยังเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน. ช่วงนั้นเป็นสมัยที่พระเจ้าชาห์ปกครอง.
การประกาศเผยแพร่ในเขตงานที่ท้าทาย
ครั้นมาถึงเตหะราน เราสืบหาที่อยู่ของพี่น้องฝ่ายวิญญาณได้ทันที. เราสมาคมคบหากับพยานฯ กลุ่มเล็ก ๆ ประกอบด้วย 13 เชื้อชาติต่างกัน. เราต้องปรับเปลี่ยนหลายอย่างเพื่อประกาศข่าวดีในประเทศอิหร่าน. แม้เราไม่ประสบการต่อต้านโดยตรง เราก็ต้องระมัดระวัง.
เนื่องจากตารางเวลาทำงานของผู้สนใจ บางครั้งเราต้องนำการศึกษาพระคัมภีร์ตอนเที่ยงคืนหรือหลังเที่ยงคืนกระทั่งถึงรุ่งสาง. แต่ถึงอย่างไร เราก็เป็นสุขเสียนี่กระไรที่มองเห็นผลของการตรากตรำทำงานนั้น! ครอบครัวฟิลิปปินส์และครอบครัวเกาหลีบางครอบครัวได้รับเอาความจริงของคริสเตียน และได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา.
หลังจากนั้น ผมได้รับมอบหมายให้ไปทำงานที่ธากา สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ. เราไปถึงที่นั่นเดือนธันวาคม 1977. นี่เป็นอีกแห่งหนึ่งที่งานประกาศของเราใช่ว่าจะประสบผลสำเร็จง่าย ๆ. อย่างไรก็ตาม เราระลึกอยู่เสมอว่าเราต้องขยันขันแข็งทำการประกาศ. โดยอาศัยพระวิญญาณของพระยะโฮวานำทาง เราสามารถเสาะหาคนที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนหลายครอบครัว. บางคนกระหายน้ำแห่งความจริงที่ยังความสดชื่นซึ่งหาได้จากพระคัมภีร์บริสุทธิ์. (ยะซายา 55:1) ผลสืบเนื่องคือเราได้เริ่มนำการศึกษาพระคัมภีร์หลายราย.
เราระลึกอยู่เสมอว่าพระเจ้ามีพระทัยประสงค์ “ให้คนทุกชนิดได้ความรอด.” (1 ติโมเธียว 2:4, ล.ม.) น่ายินดี ไม่มีใครก่อปัญหาให้เรา. ที่จะเอาชนะอคติใด ๆ เราทำให้แน่ใจว่าเราได้ใช้วิธีการเข้าพบด้วยท่าทีเป็นมิตร. เราพยายามทำเหมือนอัครสาวกเปาโล คือ “ทำตัวเป็นคนทุกอย่างกับผู้คนทุกชนิด.” (1 โกรินโธ 9:22, ล.ม.) เมื่อมีคนถามเหตุผลที่เราแวะไปเยี่ยม เราก็จะชี้แจงด้วยความกรุณา และเราได้พบว่าคนส่วนใหญ่มีอัธยาศัยไมตรีดีพอสมควร.
ในกรุงธากา เราพบพยานฯ ท้องถิ่นคนหนึ่ง และได้สนับสนุนเธอเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนกับพวกเรา และร่วมงานประกาศในเวลาต่อมา. ครั้นแล้ว ภรรยาผมได้นำการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวหนึ่งและได้ชวนพวกเขามายังการประชุมที่เราจัดขึ้น. โดยความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวา ทั้งครอบครัวเข้ามาอยู่ในความจริง. ภายหลัง ลูกสาวสองคนของครอบครัวนี้ได้ช่วยแปลสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาเบงกาลี และหลายคนที่เป็นเครือญาติของเขาได้มารู้จักพระยะโฮวาเช่นเดียวกัน. นักศึกษาพระคัมภีร์อีกหลายคนรับรองเอาความจริง. ส่วนใหญ่เวลานี้พวกเขารับใช้ฐานะผู้ปกครองหรือไพโอเนียร์.
เนื่องจากกรุงธากามีพลเมืองหนาแน่น เราจึงเชิญบางคนจากครอบครัวของเราให้ไปช่วยงานประกาศที่นั่น. บางคนตอบรับและสมทบกับเราในบังกลาเทศ. เราชื่นชมและขอบพระคุณพระยะโฮวามากจริง ๆ ที่มีโอกาสร่วมประกาศข่าวดีในประเทศนั้น! จากการเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยของคนคนหนึ่ง ตอนนี้มีสองประชาคมในบังกลาเทศ.
เดือนกรกฎาคม 1982 เราต้องย้ายไปจากบังกลาเทศ. เราอำลาพวกพี่น้องทั้งน้ำตา. หลังจากนั้นไม่นาน ผมได้งานที่ท่าอากาศยานนานาชาติเอนเทบเบในยูกันดา เราจะอยู่ที่นั่นสี่ปีเจ็ดเดือน. เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อถวายเกียรติแด่พระนามใหญ่ยิ่งของพระยะโฮวาในประเทศนั้น?
รับใช้พระยะโฮวาในแอฟริกาตะวันออก
พอเราไปถึงท่าอากาศยานนานาชาติเอนเทบเบ คนขับรถได้มารับผมกับภรรยาและพาไปยังบ้านพักที่จัดไว้ให้เรา. ขณะออกเดินทางจากท่าอากาศยาน ผมเริ่มประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้ากับคนขับรถ. เขาถามผมว่า “คุณเป็นพยานพระยะโฮวาใช่ไหม?” เมื่อผมตอบอย่างหนักแน่น คนขับรถบอกว่า “คนหนึ่งในพวกพี่น้องของคุณทำงานอยู่ที่หอบังคับการ.” ผมขอให้เขาพาผมไปที่นั่นทันที. เราได้พบบราเดอร์คนนั้น เขาดีใจมาก แล้วเราก็ได้จัดเตรียมการประชุมและงานประกาศ.
เวลานั้น มีผู้ประกาศราชอาณาจักรเพียง 228 คนในประเทศยูกันดา. พร้อมกับบราเดอร์อีกสองคนที่เอนเทบเบ เราได้ใช้ช่วงปีแรกเพาะปลูกเมล็ดแห่งความจริง. ประชาชนในประเทศนั้นชอบอ่านหนังสือ เราจึงสามารถจำหน่ายสรรพหนังสือได้มาก รวมทั้งวารสารหลายร้อยเล่ม. เราได้เชิญพี่น้องจากกรุงกัมปาลา ซึ่งเป็นเมืองหลวง ให้มาช่วยเราประกาศในเขตงานที่เอนเทบเบในช่วงสุดสัปดาห์. การบรรยายสาธารณะครั้งแรกของผม มีห้าคนเข้ามาฟัง—นับรวมตัวผมด้วย.
ในช่วงสามปีต่อมา เราประสบบางช่วงของชีวิตที่มีความสุขที่สุด เมื่อเห็นคนที่เราสอนได้ตอบสนองและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว. (3 โยฮัน 4) ณ การประชุมหมวดครั้งหนึ่ง มีหกคนที่เป็นนักศึกษาพระคัมภีร์ของเราได้รับบัพติสมา. หลายคนที่เรานำการศึกษาพระคัมภีร์พูดว่าเขาได้รับการหนุนใจให้มุ่งติดตามงานรับใช้เต็มเวลา เพราะเห็นเรารับใช้ฐานะไพโอเนียร์ทั้ง ๆ ที่เรามีงานทำเต็มเวลาอยู่แล้ว.
เราสำนึกว่าที่ทำงานของเราอาจเป็นเขตงานที่บังเกิดผลได้เช่นเดียวกัน. ณ โอกาสหนึ่ง ผมเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ฝ่ายดับเพลิงท่าอากาศยานและสนทนากันถึงเรื่องความหวังจากพระคัมภีร์ที่จะมีชีวิตอยู่ในอุทยานบนแผ่นดินโลก. ผมชี้ให้เขาดูจากคัมภีร์ของเขาเองว่ามนุษยชาติที่เชื่อฟังจะดำรงชีวิตอย่างสงบสุขและเป็นเอกภาพ ไม่ทนทุกข์เนื่องด้วยการอัตคัดขัดสน หรือไร้ที่อยู่ ไม่มีสงคราม, ความเจ็บป่วย, หรือความตายอีกต่อไป. (บทเพลงสรรเสริญ 46:9; ยะซายา 33:24; 65:21, 22; วิวรณ์ 21:3, 4) เมื่อเขาอ่านถ้อยคำเหล่านี้ในพระคัมภีร์ของเขาเองก็เหมือนเป็นการจุดประกายความสนใจของเขา. ผมเริ่มนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลทันที. เขาเข้ามาร่วมการประชุมทุกวาระ. ไม่นานเขาก็ได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาแล้วรับบัพติสมา. ต่อมา เขาสมทบกับเราในงานรับใช้เต็มเวลา.
ช่วงที่เราอยู่ในยูกันดาเกิดความไม่สงบในบ้านเมืองสองครั้ง แต่นั่นไม่ได้ทำให้กิจกรรมฝ่ายวิญญาณของเราชะงักไปด้วย. สมาชิกครอบครัวหรือบางคนที่ยังต้องอาศัยการเลี้ยงดูจากคนที่ทำงานกับองค์กรระหว่างชาติถูกย้ายไปที่ไนโรบี ประเทศเคนยาเป็นเวลาหกเดือน. พวกเราที่ตกค้างอยู่ในยูกันดาคงดำเนินการประชุมคริสเตียนและงานประกาศต่อไป กระนั้น เราต้องรอบคอบและระมัดระวัง.
เดือนเมษายน 1988 ภารกิจมอบหมายของผมก็เสร็จสิ้นและเราย้ายอีกครั้งหนึ่ง. เราจากประชาคมเอนเทบเบด้วยความรู้สึกตื้นตันใจเนื่องด้วยการเจริญเติบโตทางฝ่ายวิญญาณที่นั่น. เดือนกรกฎาคม 1997 เรามีโอกาสกลับไปเยี่ยมเอนเทบเบอีก. บางคนที่เคยศึกษาพระคัมภีร์กับพวกเรา มาตอนนี้กำลังรับใช้ฐานะผู้ปกครอง. เราปลาบปลื้มเพียงใดที่ได้เห็น 106 คนเข้ามาฟังคำบรรยายสาธารณะ!
ย้ายไปยังเขตงานที่ยังไม่เคยมีใครประกาศ
เราจะสามารถเข้าไปทางประตูใหม่ที่เปิดโอกาสให้เราได้หรือเปล่า? ใช่แล้ว หน้าที่มอบหมายของผมครั้งต่อไปอยู่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติโมกาดิชู ประเทศโซมาเลีย. เราตั้งใจไว้ว่าจะฉวยประโยชน์จากโอกาสครั้งใหม่นี้ทำงานรับใช้ในเขตที่ยังไม่มีผู้ใดประกาศมาก่อน.
กิจกรรมของเรามีขอบเขตจำกัด ส่วนใหญ่เราให้คำพยานแก่เจ้าหน้าที่และพนักงานในสถานทูต, คนงานชาวฟิลิปปินส์, และคนอื่น ๆ ที่เป็นชาวต่างประเทศ. เราพบคนเหล่านี้เนือง ๆ ที่ตลาด. นอกจากนั้น เราตั้งใจไปเยี่ยมเขาถึงบ้านเป็นการผูกมิตร. โดยอาศัยปฏิภาณไหวพริบรวมเข้ากับความคิดอ่านหาทางแก้ไข, ความรอบคอบ, และไว้วางใจพระยะโฮวาเต็มที่ เราจึงสามารถแบ่งปันความจริงในพระคัมภีร์ให้คนอื่นได้ และการทำเช่นนี้ก่อผลดีท่ามกลางคนเชื้อชาติต่าง ๆ. ภายหลังสองปี เราไปจากโมกาดิชู—ทันท่วงทีก่อนสงครามปะทุขึ้นที่นั่น.
ถัดจากนั้น องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศมอบหน้าที่ให้ผมไปที่นครย่างกุ้ง ประเทศพม่า. อีกครั้งหนึ่ง โอกาสดี ๆ เปิดให้เราเพื่อจะได้ช่วยผู้คนที่มีหัวใจสุจริตให้เรียนรู้พระประสงค์ของพระเจ้า. จากพม่า เราถูกมอบหมายไปยังดาร์เอสซาลาม ประเทศแทนซาเนีย. การประกาศข่าวดีตามบ้านเรือนในดาร์เอสซาลามทำได้ง่ายขึ้นมาก เนื่องจากมีชุมชนหนึ่งที่พูดภาษาอังกฤษ.
ในทุกประเทศที่เราได้ทำงาน เราไม่ค่อยเจอปัญหาระหว่างที่ทำงานเผยแพร่ แม้ในหลายกรณีมีการจำกัดสิทธิ์การทำงานของพยานพระยะโฮวา. เนื่องจากประเภทของงานที่ผมทำ โดยปกติแล้วมักเกี่ยวข้องกับองค์กรของรัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศ ประชาชนจึงไม่ติดใจสงสัยกิจกรรมของเรา.
งานอาชีพของผมทำให้ผมกับภรรยาต้องมีชีวิตแบบท่องเที่ยวไปไม่อยู่เป็นที่ตลอดสามสิบปี. อย่างไรก็ตาม เรามองงานอาชีพเป็นเพียงวิถีทางที่นำเราบรรลุผลตามที่มุ่งหมายไว้. เป้าหมายแรกของเราคือทุกเวลาเราจะส่งเสริมผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักร. เราขอบพระคุณพระยะโฮวาที่ทรงให้การช่วยเหลือเราได้ใช้ประโยชน์จากสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปและได้ชื่นชมกับสิทธิพิเศษที่น่าพิศวงในการเผยแพร่ข่าวดีในดินแดนที่ห่างไกล.
กลับสู่ถิ่นเดิม
เมื่อผมอายุ 58 ผมตัดสินใจเกษียณก่อนกำหนดและกลับมาที่ฟิลิปปินส์. เมื่อเรากลับมาแล้ว เราได้อธิษฐานขอการชี้นำจากพระยะโฮวา. เราเริ่มรับใช้ร่วมกับประชาคมที่เมืองเทรเซมาร์ตีเรส ในจังหวัดคาวิเต. เมื่อแรกมาถึง มีผู้ประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้าเพียง 19 คน. มีการจัดระเบียบออกทำงานประกาศทุกวัน และเราเริ่มนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลหลายราย. ประชาคมเริ่มเติบโตขยายตัว. ช่วงหนึ่งภรรยาผมได้นำการศึกษาพระคัมภีร์มากถึง 19 ราย ส่วนผมมี 14 ราย.
ไม่ช้า หอประชุมคับแคบลง. เราได้ทูลอธิษฐานพระยะโฮวาในเรื่องนี้. สามีภรรยาคริสเตียนคู่หนึ่งได้ตกลงใจบริจาคที่ดินแปลงหนึ่ง และสำนักงานสาขาเห็นชอบอนุมัติเงินกู้ให้ก่อสร้างหอประชุมใหม่. อาคารใหม่หลังนี้ส่งผลกระทบมากทีเดียวต่องานประกาศ และผู้เข้าร่วมประชุมเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์. ณ ปัจจุบัน เราเดินทางทั้งไปและกลับแต่ละเที่ยวประมาณชั่วโมงเศษ ๆ เพื่อช่วยอีกประชาคมหนึ่งซึ่งมีผู้ประกาศ 17 คน.
ผมกับภรรยาถนอมสิทธิพิเศษด้านงานรับใช้ที่เราทำมาตลอดในหลายประเทศ. เมื่อมองย้อนหลังดูชีวิตของเราซึ่งร่อนเร่ไปในที่ต่าง ๆ เรารู้สึกอิ่มใจเหลือเกินที่เราใช้ชีวิตอย่างดีที่สุดเท่าที่ทำได้ คือช่วยผู้อื่นเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวา!
[แผนที่หน้า 24, 25]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
อิหร่าน
ยูกันดา
โซมาเลีย
แทนซาเนีย
บังกลาเทศ
พม่า
ลาว
ไทย
ฟิลิปปินส์
[ภาพหน้า 23]
กับเอาเรีย ภรรยาของผม