พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมประวัตินางรูธ
เรื่องราวที่ทำให้อบอุ่นใจเกี่ยวกับความภักดีระหว่างสตรีสองคน. บันทึกเกี่ยวกับความหยั่งรู้ค่าต่อพระยะโฮวาพระเจ้าและการวางใจในการจัดเตรียมของพระองค์. เรื่องราวที่เน้นถึงความสนพระทัยอย่างยิ่งของพระยะโฮวาต่อเชื้อสายที่สืบทอดมาแห่งพระมาซีฮา. เรื่องเล่าที่ซาบซึ้งใจเกี่ยวกับความยินดีและความโศกเศร้าของครอบครัวหนึ่ง. พระธรรมประวัตินางรูธประกอบด้วยเรื่องเหล่านี้ทั้งหมดรวมทั้งเรื่องอื่น ๆ อีก.
พระธรรมประวัตินางรูธครอบคลุมช่วงเวลาประมาณ 11 ปี “ครั้งเมื่อผู้วินิจฉัยครอบครอง” อิสราเอล. (ประวัตินางรูธ 1:1) เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีบันทึกไว้คงต้องเกิดขึ้นในตอนต้นแห่งช่วงเวลาของผู้วินิจฉัย เนื่องจากโบอัศ เจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งในเรื่องราวชีวิตจริงนี้ เป็นบุตรชายของราฮาบซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยของยะโฮซูอะ. (ยะโฮซูอะ 2:1, 2; ประวัตินางรูธ 2:1; มัดธาย 1:5) ผู้เขียนน่าจะเป็นผู้พยากรณ์ซามูเอล ซึ่งเขียนในปี 1090 ก่อน ส.ศ. นี่เป็นพระธรรมเล่มเดียวเท่านั้นในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งใช้ชื่อของสตรีที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอล. ข่าวสารที่อยู่ในพระธรรมนี้ “มีชีวิตและทรงพลัง.”—เฮ็บราย 4:12, ล.ม.
“แม่จะไปไหน, ฉันจะไปด้วย”
เมื่อนาอะมีกับรูธมาถึงเมืองเบทเลเฮม ทั้งสองกลายเป็นจุดสนใจของทุกคน. โดยชี้ไปยังสตรีที่สูงวัยกว่า พวกหญิงชาวเมืองนั้นเฝ้าถามว่า “นี่เป็นนางนาอะมีหรือ?” นาอะมีตอบว่า “อย่าเรียกฉันว่านาอะมี (สุข), จงเรียกว่ามารา (ขม), ด้วยว่าท่านผู้ทรงฤทธิ์ได้ทรงกระทำต่อฉันอย่างสาหัส. เมื่อฉันออกไปก็เต็มบริบูรณ์, แต่พระยะโฮวาทรงบันดาลให้กลับมาเปล่า ๆ.”—ประวัตินางรูธ 1:19-21.
เมื่อการกันดารอาหารในอิสราเอลทำให้ครอบครัวของนาอะมีต้องย้ายจากเบทเลเฮมไปยังแผ่นดินโมอาบ นาง “เต็มบริบูรณ์” เนื่องจากนางมีสามีและลูกชายสองคน. แต่หลังจากที่พวกเขาตั้งรกรากในโมอาบสักระยะหนึ่ง อะลีเมะเล็ค สามีของนางก็เสียชีวิต. ต่อมา ลูกชายทั้งสองสมรสกับหญิงโมอาบชื่ออะระฟากับรูธ. ประมาณสิบปีผ่านไป ลูกชายทั้งสองก็เสียชีวิตโดยไม่มีบุตร ทิ้งให้สตรีสามคนเป็นม่าย. เมื่อนาอะมี แม่สามี ตัดสินใจกลับไปยูดาห์ ลูกสะใภ้ที่เป็นม่ายทั้งสองคนก็ไปกับนางด้วย. ระหว่างทาง นาอะมีแนะให้ลูกสะใภ้ของนางกลับไปที่โมอาบแล้วสมรสกับคนในชาติของตน. อะระฟายอมทำตาม. แต่รูธอยู่กับนาอะมีและกล่าวว่า “แม่จะไปไหน, ฉันจะไปด้วย; แม่จะอาศัยอยู่ที่ไหน, ฉันจะอาศัยอยู่ที่นั้นด้วย: ญาติพี่น้องของแม่, จะเป็นญาติพี่น้องของฉัน, และพระเจ้าของแม่จะเป็นพระเจ้าของฉันด้วย.”—ประวัตินางรูธ 1:16.
นาอะมีกับรูธ หญิงม่ายสองคน มาถึงเมืองเบทเลเฮมในช่วงต้นฤดูเกี่ยวข้าวบาร์เลย์. โดยใช้ประโยชน์จากการจัดเตรียมตามพระบัญญัติของพระเจ้า รูธเริ่มเก็บรวงข้าวที่ตกในทุ่งนาซึ่งเป็นของญาติฝ่ายชายของอะลีเมะเล็ค นั่นคือโบอัศชาวยิวผู้สูงอายุ. รูธได้รับความเมตตาจากโบอัศและเก็บรวงข้าวที่ตกในทุ่งนาของเขาต่อไป “จนสิ้นฤดูเกี่ยวข้าว [“ข้าวบาร์เลย์,” ล.ม.] และข้าวสาลี.”—ประวัตินางรูธ 2:23.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
1:8—เหตุใดนาอะมีบอกลูกสะใภ้ให้ “ต่างคนต่างจงกลับไปยังเรือนมารดาของตน” แทนที่จะกลับไปยังเรือนบิดาของตน? บิดาของอะระฟายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ในตอนนั้นไม่ได้มีการกล่าวไว้. แต่บิดาของรูธยังมีชีวิตอยู่. (ประวัตินางรูธ 2:11) กระนั้น นาอะมีพูดถึงเรือนมารดา บางทีนางอาจคิดว่าโดยการอ้างถึงมารดาจะทำให้ทั้งสองนึกถึงความอบอุ่นจากความรักใคร่ของมารดา. นี่คงจะเป็นการปลอบโยนโดยเฉพาะแก่ลูกสาวทั้งสองคนที่จมอยู่กับความโศกเศร้าเพราะการจากลาแม่สามีผู้เป็นที่รักของตน. นอกจากนี้ อาจมีการแสดงความคิดเห็นว่า มารดาของรูธกับอะระฟามีบ้านที่มั่นคงไม่เหมือนกับนาอะมี.
1:13, 21—พระยะโฮวาทรงทำให้ชีวิตของนาอะมีขมขื่นและเป็นเหตุให้นางประสบความหายนะไหม? ไม่ และนาอะมีไม่ได้กล่าวโทษพระเจ้าสำหรับความผิดใด ๆ. แต่เมื่อคำนึงถึงทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับนาง นางคิดว่าพระยะโฮวาไม่พอพระทัยนาง. นางรู้สึกขมขื่นและผิดหวัง. นอกจากนี้ ในสมัยนั้น ถือกันว่าการตั้งครรภ์เป็นพระพรจากพระเจ้าและการเป็นหมันเป็นคำสาปแช่ง. เนื่องจากไม่มีหลานและลูกชายสองคนก็เสียชีวิต นาอะมีอาจรู้สึกว่ามีเหตุผลที่จะคิดว่า พระยะโฮวาทรงทำให้นางได้รับความอับอาย.
2:12—อะไรคือ “บำเหน็จอันเต็มบริบูรณ์” ที่รูธได้รับจากพระยะโฮวา? รูธมีบุตรชายและได้รับสิทธิพิเศษในการเข้ามาเกี่ยวโยงกับเชื้อสายที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือเชื้อสายของพระเยซูคริสต์.—ประวัตินางรูธ 4:13-17; มัดธาย 1:5, 16.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:8; 2:20. แม้นาอะมีประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เศร้าสลด แต่นางก็รักษาความมั่นใจในความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวา. เราควรทำเช่นเดียวกันนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประสบการทดลองแสนสาหัส.
1:9. บ้านไม่ควรเป็นแค่สถานที่ซึ่งสมาชิกในครอบครัวใช้รับประทานอาหารและนอนหลับเท่านั้น. บ้านควรเป็นสถานที่พักผ่อนอันสงบสุขและสะดวกสบาย.
1:14-16. อะระฟา “กลับไปหาญาติพี่น้อง, และพระของเขา.” รูธไม่ได้ทำอย่างนั้น. นางละทิ้งความสะดวกสบายและความมั่นคงในบ้านเกิดเมืองนอนของนางและรักษาความภักดีต่อพระยะโฮวา. การปลูกฝังความรักภักดีต่อพระเจ้าและการสำแดงน้ำใจเสียสละตัวเองจะช่วยป้องกันเราจากการยอมแพ้ต่อความปรารถนาอันเห็นแก่ตัวและการ “กลับถอยหลังถึงความพินาศ.”—เฮ็บราย 10:39.
2:2. รูธต้องการใช้ประโยชน์จากการจัดเตรียมเรื่องการเก็บรวงข้าวที่ตกในทุ่งนา ซึ่งจัดเตรียมเพื่อผลประโยชน์ของคนต่างชาติและคนทุกข์ยาก. นางเป็นคนถ่อมใจ. คริสเตียนที่ขัดสนไม่ควรถือตัวเกินไปที่จะยอมรับการช่วยเหลือด้วยความรักจากเพื่อนร่วมความเชื่อหรือความช่วยเหลือใด ๆ จากรัฐบาลที่เขาอาจจะมีสิทธิ์ได้รับ.
2:7. แม้รูธมีสิทธิ์เก็บรวงข้าวที่ตกในทุ่งนา แต่นางได้ขออนุญาตก่อนที่จะทำเช่นนั้น. (เลวีติโก 19:9, 10) นี่เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมใจของนาง. นับว่าฉลาดสุขุมที่เราจะ “แสวงหาความอ่อนน้อม” เพราะ “คนทั้งหลายที่มีใจถ่อมลงจะได้แผ่นดินเป็นมฤดก, และเขาจะชื่นชมยินดีด้วยความสงบสุขอันบริบูรณ์.”—ซะฟันยา 2:3, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 37:11.
2:11. รูธไม่ได้เป็นญาติกับนาอะมีเท่านั้น. นางเป็นมิตรแท้. (สุภาษิต 17:17) มิตรภาพของทั้งสองมั่นคงเพราะอาศัยคุณลักษณะต่าง ๆ เช่น ความรัก, ความภักดี, ความร่วมรู้สึก, ความกรุณา, และน้ำใจเสียสละตัวเอง. ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น มิตรภาพดังกล่าวอาศัยสภาพฝ่ายวิญญาณของทั้งสองคน นั่นคือความปรารถนาที่จะรับใช้พระยะโฮวาและอยู่ท่ามกลางผู้นมัสการพระองค์. เราก็มีโอกาสที่ดีเช่นเดียวกันที่จะพัฒนามิตรภาพแท้กับเหล่าผู้นมัสการแท้.
2:15-17. ถึงแม้โบอัศทำให้งานของรูธเบาลง แต่ “นางเก็บข้าวในนานั้นจนเย็น.” รูธเป็นคนขยันขันแข็ง. คริสเตียนก็ควรมีชื่อเสียงว่าเป็นคนขยันทำงาน.
2:19-22. นาอะมีกับรูธชื่นชมกับการสนทนาที่น่าเพลิดเพลินในช่วงเวลาเย็น หญิงชราแสดงความสนใจในการงานของหญิงสาว ทั้งคู่เผยความคิดและความรู้สึกออกมาอย่างอิสระ. ครอบครัวคริสเตียนก็ควรทำเช่นนั้นมิใช่หรือ?
2:22, 23. ไม่เหมือนกับดีนา ลูกสาวของยาโคบ รูธได้คบหาสมาคมกับเหล่าผู้นมัสการพระยะโฮวา. ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีจริง ๆ สำหรับเรา!—เยเนซิศ 34:1, 2; 1 โกรินโธ 15:33.
นาอะมีกลับมี “เต็มบริบูรณ์”
นาอะมีมีอายุมากเกินกว่าที่จะให้กำเนิดบุตรได้. ดังนั้น นางจึงแนะนำรูธให้มีลูกหลานแทนนางโดยการสมรสด้วยการไถ่ถอน หรือการสมรสกับพี่ชายหรือน้องชายของสามีที่เสียชีวิตไปแล้ว. โดยทำตามคำแนะนำของนาอะมี รูธขอให้โบอัศทำหน้าที่เป็นผู้ไถ่ถอน. โบอัศก็ยินยอมด้วยความเต็มใจ. แต่มีญาติใกล้ชิดกว่าคนหนึ่งที่มีสิทธิ์ไถ่ถอนเป็นคนแรก.
โบอัศรีบจัดการเรื่องนี้ทันที. เช้าวันรุ่งขึ้น ท่านพาผู้เฒ่าผู้แก่สิบคนแห่งเมืองเบทเลเฮมไปพบญาติคนนั้น และถามเขาว่าเต็มใจจะทำการไถ่ถอนหรือไม่. ชายคนนั้นปฏิเสธที่จะทำการไถ่ถอน. ด้วยเหตุนี้ โบอัศจึงทำหน้าที่เป็นผู้ไถ่ถอนและสมรสกับรูธ. ทั้งสองจึงมีบุตรชายคือ โอเบด ซึ่งเป็นปู่ของกษัตริย์ดาวิด. ตอนนี้ พวกหญิงชาวเมืองเบทเลเฮมกล่าวแก่นาอะมีว่า “สาธุแก่พระยะโฮวา . . . ให้เด็กชายคนนี้เป็นผู้ที่ให้ชีวิตของท่านกลับคืน, และเป็นผู้เลี้ยงท่านเมื่อชราแล้ว: ด้วยว่าทารกนี้ได้คลอดมาแต่บุตรสะใภ้ที่รักท่าน, และเป็นผู้ประเสริฐแก่ท่านยิ่งกว่าบุตรชายเจ็ดคน.” (ประวัตินางรูธ 4:14, 15) สตรีผู้กลับมา “เปล่า ๆ” ยังเมืองเบทเลเฮมกลับมี “เต็มบริบูรณ์” อีกครั้ง!—ประวัตินางรูธ 1:21.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
3:11 (ล.ม.)—อะไรทำให้รูธมีชื่อเสียงว่าเป็น “หญิงที่ดีเยี่ยม”? ไม่ใช่ “อย่างภายนอก คือถักผม” หรือ “สวมใส่เครื่องประดับทองคำหรือสวมใส่เสื้อผ้าชั้นนอก” ที่ทำให้คนอื่นชื่นชมรูธ. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เป็นเพราะ “บุคคลที่ซ่อนเร้นไว้แห่งหัวใจ” ซึ่งก็คือความภักดีและความรัก, ความถ่อมใจและความอ่อนน้อม, ความขยันหมั่นเพียรและน้ำใจเสียสละตัวเองของนาง. สตรีผู้ยำเกรงพระเจ้าคนใดที่ปรารถนาจะมีชื่อเสียงเหมือนรูธต้องพยายามปลูกฝังคุณลักษณะเหล่านี้.—1 เปโตร 3:3, 4, ล.ม.; สุภาษิต 31:28-31.
3:14—ทำไมรูธกับโบอัศตื่นแต่เช้ามืด? นี่ไม่ใช่เป็นเพราะมีการทำผิดศีลธรรมในตอนกลางคืนและทั้งสองต้องการปิดเป็นความลับ. ดูเหมือนว่า การกระทำของรูธในคืนนั้นประสานกับสิ่งที่ทำกันตามปกติเมื่อผู้หญิงขอสิทธิ์ในการสมรสกับพี่ชายหรือน้องชายของสามีที่เสียชีวิตไปแล้ว. นางได้ทำตามคำแนะนำของนาอะมี. นอกจากนี้ การตอบสนองของโบอัศแสดงอย่างชัดเจนว่า ท่านไม่เห็นว่ารูธทำสิ่งใดที่ไม่เหมาะสม. (ประวัตินางรูธ 3:2-13) ดูเหมือนว่า รูธกับโบอัศตื่นขึ้นแต่เช้าเพื่อไม่ให้ใครมีเหตุที่จะโจษจันเรื่องที่ไม่มีหลักฐาน.
3:15—การที่โบอัศให้ข้าวบาร์เลย์แก่รูธหกทะนานนั้นมีความหมายเช่นไร? การทำเช่นนี้อาจหมายความว่า เช่นเดียวกับวันหยุดพักที่ตามมาหลังจากการทำงานหกวัน วันหยุดพักของรูธก็ใกล้เข้ามาแล้ว. โบอัศคงทำให้แน่ใจว่า นางจะมี “ที่พึ่งพัก” ในเรือนสามีของนาง. (ประวัตินางรูธ 1:9; 3:1) นอกจากนี้ อาจเป็นไปได้ว่าข้าวบาร์เลย์หกทะนานคือจำนวนที่รูธสามารถเทินบนศีรษะของนางได้.
3:16 (ล.ม.)—ทำไมนาอะมีถามรูธว่า “ลูกเอ๋ย เจ้าเป็นใคร?” นางจำลูกสะใภ้ตัวเองไม่ได้หรือ? เป็นไปได้ว่านาอะมีจำรูธไม่ได้ เพราะตอนที่รูธกลับมาหานาอะมีนั้นอาจยังมืดอยู่. แต่คำถามนี้ยังอาจหมายความว่า นาอะมีสอบถามเกี่ยวกับสถานภาพใหม่ที่เป็นไปได้ของรูธซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่นางได้รับการไถ่ถอน.
4:6—ผู้ไถ่ถอนจะ “เสีย” มรดกของตนอย่างไรเมื่อทำการไถ่ถอน? ประการแรก หากคนหนึ่งที่กำลังตกเข้าสู่ความยากจนได้ขายมรดกที่ดินของเขา ผู้ไถ่ถอนจะต้องไถ่ที่ดินนั้นในราคาที่กำหนดไว้ตามจำนวนปีที่เหลืออยู่จนถึงปีจูบิลีถัดไป. (เลวีติโก 25:25-27) การทำอย่างนั้นคงจะทำให้มูลค่ามรดกของเขาลดลง. นอกจากนี้ บุตรชายที่เกิดจากรูธนั่นเองที่จะได้ที่ดินซึ่งถูกไถ่ถอนนั้นเป็นมรดก ไม่ใช่ญาติใกล้ชิดคนใดในปัจจุบันของผู้ไถ่ถอน.
บทเรียนสำหรับเรา:
3:12; 4:1-6. โบอัศทำตามการจัดเตรียมของพระยะโฮวาอย่างเคร่งครัด. เราซื่อตรงต่อการติดตามการดำเนินงานตามระบอบของพระเจ้าไหม?—1 โกรินโธ 14:40.
3:18. นาอะมีเชื่อมั่นในโบอัศ. เราควรจะมีความเชื่อมั่นคล้ายกันต่อเพื่อนร่วมความเชื่อที่ซื่อสัตย์มิใช่หรือ? รูธเต็มใจทำการสมรสกับพี่ชายหรือน้องชายของสามีที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยสมรสกับชายที่นางแทบไม่รู้จัก ชายซึ่งเป็นที่รู้จักแต่เพียงว่าเป็น “ผู้ไถ่ถอน” ในคัมภีร์ไบเบิล. (ประวัตินางรูธ 4:1) ทำไมนางทำเช่นนั้น? เพราะนางมีความเชื่อมั่นในการจัดเตรียมของพระเจ้า. เรามีความเชื่อมั่นคล้ายกันไหม? ยกตัวอย่าง เมื่อคำนึงถึงการหาคู่สมรส เราเอาใจใส่คำแนะนำที่ให้สมรส “เฉพาะในองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น” ไหม?—1 โกรินโธ 7:39, ล.ม.
4:13-16. แม้นางเป็นชาวโมอาบและเคยเป็นผู้นมัสการพระคิโมศ แต่รูธได้รับสิทธิพิเศษสักเพียงไร! นี่แสดงให้เห็นหลักการที่ว่า “จะเป็นตามใจปรารถนาหรือตามใจผู้วิ่งไปนั้นก็หามิได้, แต่เป็นตามพระทัยพระเจ้าผู้ทรงสำแดงความเมตตา.”—โรม 9:16.
พระเจ้า “จะได้ทรงยกท่านขึ้นในเวลาอันควร”
พระธรรมประวัตินางรูธพรรณนาถึงพระยะโฮวาว่าเป็นพระเจ้าแห่งความกรุณารักใคร่ ซึ่งเห็นแก่เหล่าผู้รับใช้ที่ภักดีของพระองค์. (2 โครนิกา 16:9) เมื่อเราใคร่ครวญถึงวิธีที่รูธได้รับพระพร เราเห็นคุณค่าของการวางใจพระเจ้าด้วยความเชื่ออย่างไม่สงสัย โดยเชื่ออย่างเต็มที่ “ว่าพระองค์เป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่ทุกคนที่ปลงใจแสวงหาพระองค์.”—เฮ็บราย 11:6.
รูธ, นาอะมี, และโบอัศได้วางใจเต็มที่ในการจัดเตรียมของพระยะโฮวา และพวกเขาได้รับผลที่น่าพอใจ. ในทำนองเดียวกัน “พระเจ้าทรงร่วมมือกับคนทั้งหลายที่รักพระองค์, คือคนทั้งปวงที่พระองค์ได้ทรงเลือกไว้ตามพระดำริของพระองค์, ให้บังเกิดผลอันดีในทุกสิ่ง.” (โรม 8:28) ดังนั้น ขอให้เราเอาใจใส่คำแนะนำของอัครสาวกเปโตรที่ว่า “เหตุฉะนั้นท่านทั้งหลายจงถ่อมใจลงใต้พระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า, เพื่อพระองค์จะได้ทรงยกท่านขึ้นในเวลาอันควร. บรรดาความกระวนกระวายของท่านจงฝากไว้กับพระองค์, เพราะว่าพระองค์ย่อมทรงระลึกถึงและรักษาท่านทั้งหลาย.”—1 เปโตร 5:6, 7.
[ภาพหน้า 26]
คุณทราบไหมว่าทำไมรูธไม่ทิ้งนาอะมี?
[ภาพหน้า 27]
อะไรทำให้รูธมีชื่อเสียงว่าเป็น “หญิงที่ดีเยี่ยม”?
[ภาพหน้า 28]
อะไรคือ “บำเหน็จอันเต็มบริบูรณ์” ที่รูธได้รับจากพระยะโฮวา?