โรคระบาดในศตวรรษที่ 20
ไข้กาฬในยุโรปสมัยศตวรรษที่ 14 ไม่ได้นำไปสู่อวสานของโลกดังที่หลายคนทำนายไว้. แต่จะว่าอย่างไรในสมัยของเรานี้? โรคระบาดและโรคภัยอื่น ๆ ในสมัยของเราชี้ให้เห็นว่าเรากำลังอยู่ในสมัยที่คัมภีร์ไบเบิลเรียกว่า “สมัยสุดท้าย” ไหม?—2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.
คุณอาจจะคิดว่า ‘ไม่ใช่อย่างแน่นอน.’ ความก้าวหน้าทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ได้ช่วยให้เราเข้าใจและต่อสู้กับโรคภัยในปัจจุบันมากกว่าสมัยใด ๆ ในประวัติศาสตร์มนุษย์. นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนายาปฏิชีวนะและวัคซีนหลายหลากชนิด ซึ่งเป็นอาวุธทรงพลังในการต่อสู้กับโรคภัยและจุลินทรีย์อันเป็นสาเหตุของโรค. การปรับปรุงด้านการดูแลเอาใจใส่ของโรงพยาบาล รวมทั้งเรื่องน้ำสะอาด, ระบบสุขาภิบาล, และการเตรียมอาหารก็ได้ช่วยเช่นกันในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อต่าง ๆ.
ไม่กี่ทศวรรษมานี้ หลายคนคิดว่าการต่อสู้นั้นใกล้จะสำเร็จแล้ว. ไข้ทรพิษถูกขจัดไปแล้ว และโรคภัยอื่น ๆ ก็อยู่ในเป้าหมายที่จะขจัดออกไป. ยาต่าง ๆ ปราบโรคนับไม่ถ้วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ. ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพต่างก็มองอนาคตในแง่ดี. โรคติดเชื้อจะต้องแพ้ราบคาบ; โรคแล้วโรคเล่าจะถูกขจัดออกไป. วิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้ชนะ.
แต่ไม่ชนะ. ปัจจุบัน โรคติดเชื้อยังคงเป็นสาเหตุต้น ๆ ที่ทำให้ผู้คนในโลกเสียชีวิต คร่าชีวิตมากกว่า 50 ล้านคนในปี 1996 ปีเดียว. การมองในแง่ดีในอดีตถูกแทนที่ด้วยความห่วงใยเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอนาคต. รายงานอนามัยโลกปี 1996 (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า “ความก้าวหน้ามากมายด้านการปรับปรุงสุขภาพของมนุษย์ซึ่งประสบผลสำเร็จในหลายทศวรรษมานี้ ปัจจุบันอยู่ในภาวะเสี่ยง. ในเรื่องโรคติดเชื้อ เรายืนอยู่ ณ ธรณีประตูแห่งวิกฤตการณ์ทั่วโลก. ไม่มีประเทศใดปลอดภัย.”
โรคเก่า ๆ กลายเป็นโรคที่อันตรายถึงตายยิ่งขึ้น
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เป็นห่วงก็คือ โรคที่รู้จักกันดีซึ่งครั้งหนึ่งเคยคิดว่าเอาชนะได้แล้ว กำลังคืนชีพในรูปแบบที่อันตรายถึงตายมากขึ้นและรักษายากขึ้น. ตัวอย่างหนึ่งก็คือ วัณโรค ซึ่งครั้งหนึ่งถือว่าแทบจะควบคุมอยู่หมัดในประเทศที่พัฒนาแล้ว. แต่วัณโรคไม่ได้อันตรธานไป; ปัจจุบันมันคร่าชีวิตไปราว ๆ สามล้านคนทุกปี. หากมาตรการควบคุมไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข คาดกันว่าประมาณ 90 ล้านคนจะเป็นโรคดังกล่าวระหว่างทศวรรษปี 1990. วัณโรคที่ดื้อยากำลังแพร่ระบาดในหลายประเทศ.
อีกตัวอย่างหนึ่งของโรคที่กลับมาโผล่อีกครั้งก็คือ มาลาเรีย. สี่สิบปีที่แล้วพวกแพทย์มีความหวังว่าจะขจัดมาลาเรียได้อย่างรวดเร็ว. ปัจจุบันโรคนี้คร่าชีวิตประมาณสองล้านคนทุกปี. มาลาเรียเป็นโรคเฉพาะถิ่น หรืออีกนัยหนึ่งคือ มีอยู่เสมอในมากกว่า 90 ประเทศและคุกคามประชากรโลกถึง 40 เปอร์เซ็นต์. ยุงที่เป็นพาหะนำปรสิตมาลาเรียก็ดื้อยาฆ่าแมลงแล้ว และตัวปรสิตเองก็ดื้อยาจนพวกแพทย์กลัวว่าบางสายพันธุ์ของมาลาเรียอีกไม่นานอาจจะพิชิตไม่ได้.
โรคภัยและความยากจน
โรคอื่น ๆ ก็คร่าชีวิตผู้คนอย่างไม่ปรานี ทั้ง ๆ ที่มีอาวุธทรงประสิทธิภาพในการต่อกรกับมัน. เพื่อเป็นตัวอย่าง ลองพิจารณาโรคเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบ. มีวัคซีนหลายตัวป้องกันโรคนี้และมียาหลายชนิดที่ใช้รักษา. การปะทุครั้งหนึ่งกระหน่ำแอฟริกาแถบใต้ทะเลทรายสะฮาราอย่างหนักเมื่อต้นปี 1996 แต่คุณอาจจะไม่ค่อยได้ยินเรื่องนี้เท่าไรนัก. กระนั้น มันได้คร่าชีวิตมากกว่า 15,000 คน—ส่วนใหญ่เป็นคนจน, เป็นเด็ก.
การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง รวมทั้งโรคปอดบวม คร่าชีวิตสี่ล้านคนในแต่ละปี ส่วนใหญ่เป็นเด็ก. โรคหัดคร่าชีวิตเด็กหนึ่งล้านคนทุกปี, และไอกรนอีก 355,000 คน. หลายรายของการเสียชีวิตเหล่านี้ก็เช่นกันสามารถป้องกันได้โดยวัคซีนซึ่งมีราคาไม่แพง.
เด็กราว ๆ แปดพันคนเสียชีวิตแต่ละวันเนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำเพราะอาการท้องร่วง. การเสียชีวิตแทบทุกรายเหล่านี้สามารถป้องกันได้โดยการสุขาภิบาลที่ดี หรือโดยน้ำดื่มที่สะอาด หรือไม่ก็โดยการให้สารละลายทดแทนทางปากเพื่อคืนน้ำสู่ร่างกาย.
ส่วนใหญ่การเสียชีวิตเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ที่ซึ่งความยากจนมีดาษดื่น. ประมาณ 800 ล้านคน—ส่วนค่อนข้างใหญ่ของประชากรโลก—ไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพ. รายงานอนามัยโลกปี 1995 (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “เพชฌฆาตตัวร้ายที่สุดของโลกและสาเหตุใหญ่ที่สุดของความทุกข์และการมีสุขภาพไม่ดีทั่วโลก ถูกจัดอยู่ในลำดับเกือบจะสุดท้ายของการจัดประเภทโรคภัยระหว่างประเทศ. มีการให้รหัสสาเหตุนี้ว่า Z59.5—ความยากจนสุดขีด.”
โรคที่เพิ่งจะรู้จัก
ยังมีโรคอื่น ๆ อีกที่เกิดใหม่ซึ่งเพิ่งจะเป็นที่รู้จัก. องค์การอนามัยโลกกล่าวไม่นานมานี้ว่า “ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อย่างน้อยมีโรคใหม่ ๆ 30 ชนิดได้อุบัติขึ้นคุกคามสุขภาพของผู้คนนับร้อย ๆ ล้าน. สำหรับโรคเหล่านี้หลายโรค ไม่มีทางเยียวยารักษา หรือไม่มีวัคซีน และความเป็นไปได้ที่จะป้องกันหรือควบคุมก็มีขอบเขตจำกัด.”
เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอพิจารณาเรื่องเอชไอวีและเอดส์. ประมาณ 15 ปีที่แล้วไม่เป็นที่รู้จัก แต่เดี๋ยวนี้มันคุกคามผู้คนทุกทวีป. ปัจจุบัน ผู้ใหญ่ประมาณ 20 ล้านคนติดเชื้อเอชไอวี และมากกว่า 4.5 ล้านคนเป็นเอดส์. ตามรายงานการพัฒนาของมนุษย์ปี 1996 (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า ปัจจุบันนี้ เอดส์เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้ใหญ่ที่อายุต่ำกว่า 45 ปีในยุโรปและอเมริกาเหนือ. ทั่วโลกราว ๆ 6,000 คนติดเชื้อ แต่ละวัน—หนึ่งคนต่อทุก ๆ 15 วินาที. การคาดคะเนจากแหล่งต่าง ๆ ชี้ว่า จำนวนผู้เป็นเอดส์ยังจะพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ. พอถึงปี 2010 ช่วงชีวิตที่คาดหวังได้ในประเทศต่าง ๆ แถบแอฟริกาและเอเชียที่เอดส์กระหน่ำรุนแรงที่สุด คาดกันว่าจะลดลงเป็น 25 ปี ตามคำกล่าวของหน่วยงานหนึ่งในสหรัฐ.
เอดส์เป็นโรคที่ไม่เหมือนใคร และจะไม่มีใครเหมือนแล้วไหม หรืออาจมีโรคระบาดอื่น ๆ อีกที่จะอุบัติขึ้นมาก่อความหายนะคล้าย ๆ กันหรือกระทั่งเลวร้ายกว่า? องค์การอนามัยโลกตอบว่า “ไม่ต้องสงสัย โรคที่ขณะนี้ยังไม่มีใครรู้จักแต่มีอานุภาพร้ายแรงพอ ๆ กับเอดส์นั้นกำลังซุ่มคอยจะจู่โจมในอนาคต.”
ปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อจุลินทรีย์
ทำไมพวกผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกังวลเรื่องโรคระบาดในอนาคต? เหตุผลหนึ่งก็คือ ประชากรในเมืองใหญ่เพิ่มขึ้น. หนึ่งร้อยปีที่แล้ว มีประชากรโลกแค่ราว ๆ 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่. อย่างไรก็ดี การทำนายต่าง ๆ คาดว่า พอถึงปี 2010 มากกว่าครึ่งของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในบริเวณตัวเมือง โดยเฉพาะในอภิมหานครของประเทศด้อยพัฒนา.
เชื้อโรคเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ดีในบริเวณที่มีประชากรหนาแน่น. ถ้าเมืองใหญ่มีที่อยู่อาศัยถูกสุขอนามัย อีกทั้งมีระบบกำจัดน้ำเสียและระบบน้ำสะอาดอย่างพอเพียง และการดูแลด้านสุขภาพที่ดี อัตราเสี่ยงต่อโรคระบาดจะลดลง. แต่เมืองใหญ่ ๆ ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดนั้นอยู่ในประเทศยากจน. บางเมืองมีห้องส้วมเพียงหนึ่งห้องต่อประชากรทุก ๆ 750 คนหรือกว่านั้น. บริเวณตัวเมืองหลายแห่งยังขาดที่อยู่อาศัยแบบถูกสุขอนามัยและน้ำดื่มที่สะอาด อีกทั้งขาดสถานพยาบาลอีกด้วย. บริเวณซึ่งผู้คนหลายแสนอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างแออัดยัดเยียดในสภาพที่เสื่อมโทรม ความเป็นไปได้ที่โรคจะติดต่อก็เพิ่มมากขึ้น.
ทั้งนี้หมายความว่า โรคระบาดในอนาคตจะมีเฉพาะในอภิมหานครที่ยากจนข้นแค้นและแออัดยัดเยียดกระนั้นไหม? วารสารเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับอายุรศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ) ตอบว่า “เราต้องเข้าใจอย่างแท้จริงว่า แหล่งที่ยากจนข้นแค้น, ความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจ, และผลพวงต่าง ๆ ของสิ่งเหล่านี้ ก่อให้เกิดพื้นที่อันอุดมที่สุดที่โรคติดต่อจะแพร่ระบาด และทำให้เทคโนโลยีของมนุษยชาตินอกนั้นรับมือไม่ไหว.”
ไม่ง่ายที่จะจำกัดเชื้อโรคให้อยู่ในบริเวณเดียว. ผู้คนจำนวนมหาศาลไม่อยู่นิ่ง. แต่ละวัน ประมาณหนึ่งล้านคนข้ามชายแดนระหว่างประเทศ. แต่ละสัปดาห์ หนึ่งล้านคนเดินทางไปมาระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจน. ขณะที่ผู้คนเดินทาง จุลินทรีย์อันทำให้ถึงตายได้ก็จะติดตัวพวกเขาไป. วารสารแพทยสมาคมแห่งอเมริกา (ภาษาอังกฤษ) ให้ข้อสังเกตว่า “การปะทุของโรคไม่ว่าที่ใดก็ตาม บัดนี้ต้องมองว่าเป็นการคุกคามประเทศส่วนใหญ่ และโดยเฉพาะที่ที่เป็นศูนย์กลางสำคัญของการเดินทางระหว่างประเทศ.”
ด้วยเหตุนี้ ทั้ง ๆ ที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 20 นี้ โรคระบาดต่าง ๆ ก็ยังคร่าชีวิตมนุษย์เป็นว่าเล่น และหลายคนกลัวว่าอนาคตจะเลวร้ายกว่านี้อีก. แต่คัมภีร์ไบเบิลพูดอะไรบ้างเกี่ยวกับอนาคต?
[จุดเด่นหน้า 4]
โรคติดเชื้อ ยังคงเป็นสาเหตุต้น ๆ ที่ทำให้ผู้คนในโลก เสียชีวิต คร่าชีวิต กว่า 50 ล้านคน ในปี 1996 ปีเดียว
[กรอบหน้า 6]
การดื้อยาปฏิชีวนะ
โรคติดเชื้อหลายชนิดกำลังยากยิ่งขึ้นต่อการเยียวยารักษา เพราะมันดื้อยาปฏิชีวนะ. สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้: เมื่อคนหนึ่งได้รับเชื้อแบคทีเรีย เชื้อนี้จะแบ่งตัวทวีคูณไม่หยุด ถ่ายทอดลักษณาการทางพันธุกรรมต่อไปยังลูกหลานของมัน. ในการสร้างแบคทีเรียตัวใหม่แต่ละตัว มีโอกาสที่จะเกิดการผ่าเหล่า—การผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ ขณะทำการแบ่งตัว ซึ่งจะให้ลักษณาการใหม่แก่แบคทีเรียตัวใหม่. ความเป็นไปได้ที่แบคทีเรียตัวหนึ่งจะผ่าเหล่าแบบที่ทำให้มันสามารถต้านทานยาปฏิชีวนะนั้นมีน้อยมาก. แต่แบคทีเรียผลิตลูกหลานเป็นพัน ๆ ล้านตัว บางครั้ง ผลิตลูกหลานได้ถึงสามรุ่นในเวลาหนึ่งชั่วโมง. ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ไม่น่าจะเกิดก็อาจเกิดขึ้น นั่นคือ บางครั้งบางคราวเกิดมีแบคทีเรียตัวหนึ่งซึ่งยากแก่การฆ่าด้วยยาปฏิชีวนะ.
ดังนั้น เมื่อคนที่ได้รับเชื้อกินยาปฏิชีวนะ แบคทีเรียที่ไม่ดื้อยาจะถูกกำจัดออกไป และคนนั้นอาจรู้สึกดีขึ้น. อย่างไรก็ตาม แบคทีเรียที่ดื้อยายังรอดชีวิตอยู่. แต่ในตอนนี้พวกมันไม่ต้องแย่งสารอาหารและอาณาเขตกับเพื่อนจุลินทรีย์ด้วยกันอีกต่อไป. พวกมันมีอิสระในการแบ่งตัวโดยไม่มีอะไรมายับยั้ง. เนื่องจากแบคทีเรียตัวหนึ่งสามารถแบ่งตัวทวีคูณมากกว่า 16 ล้านตัวภายในวันเดียว จึงทำให้คนนั้นกลับมาป่วยอีกภายในเวลาไม่นานนัก. แต่บัดนี้ เขาได้รับเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ที่ดื้อยาซึ่งคาดว่าจะฆ่ามันได้. แบคทีเรียเหล่านี้อาจติดต่อถึงคนอื่นได้ด้วย และในเวลาต่อมาก็ผ่าเหล่าอีกจนดื้อยาปฏิชีวนะตัวอื่น ๆ.
บทบรรณาธิการหนึ่งในวารสารเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับอายุรศาสตร์ กล่าวดังนี้: “พัฒนาการอันรวดเร็วของแบคทีเรีย, ไวรัส, เชื้อรา, และปรสิตในเรื่องการดื้อต่อยุทธภัณฑ์ที่เรามีในด้านการรักษาโรคเวลานี้ ทำให้เราไม่สงสัยเลยว่ามนุษย์จะแพ้สงครามต่อสู้กับโลกจุลินทรีย์หรือไม่ แต่เมื่อไรต่างหาก.”—เราทำให้เป็นตัวเอน.
[กรอบหน้า 7]
โรคติดเชื้อใหม่ ๆ บางชนิดตั้งแต่ปี 1976
แหล่งที่พบ
ปีที่มี โรคครั้งแรก
การระบุโรค ชื่อโรค หรือได้รับการระบุ
1976 โรคลีจันแนร์ (ปอดบวมร้ายแรงชนิดหนึ่ง) สหรัฐ
1976 โรคคริปโตสโปริดิโอซิส (ท้องร่วงอย่างแรงเกิดจากปรสิต) สหรัฐ
1976 ไข้เลือดออกอีโบลา ซาอีร์
1977 โรคจากไวรัสฮันตา เกาหลี
1980 ตับอักเสบ ดี (เดลตา) อิตาลี
1980 โรคจากไวรัสเอชทีแอลวี-1 ญี่ปุ่น
1981 เอดส์ สหรัฐ
1982 อี.โคลิ 0157: เอช 7 (โรคติดเชื้ออย่างรุนแรง) สหรัฐ
1986 โรควัวบ้า* สหราชอาณาจักร
1988 โรคท้องร่วงแซลโมเนลลา เอ็นเตอริติดิส พีที 4 สหราชอาณาจักร
1989 ตับอักเสบ ซี สหรัฐ
1991 ไข้เลือดออกเวเนซุเอลา เวเนซุเอลา
1992 อหิวาตกโรคจากเชื้อวิบริโอ โคเลอรา 0139 อินเดีย
1994 ไข้เลือดออกบราซิล บราซิล
1994 โรคจากไวรัสมอร์บิลลีที่เกิดกับคนและม้า ออสเตรเลีย
*เกิดกับสัตว์เท่านั้น.
[ที่มาของภาพ]
Source: WHO
[กรอบหน้า 8]
โรคเก่า ๆ คืนชีพ
วัณโรค: คาดกันว่ามากกว่า 30 ล้านคนจะเสียชีวิตเพราะวัณโรคระหว่างทศวรรษนี้. เนื่องจากการรักษาโรคแบบที่ไม่มีประสิทธิภาพในอดีต วัณโรคที่ดื้อยาจึงคุกคามทั่วโลกในขณะนี้. บางสายพันธุ์ในปัจจุบันมีภูมิต้านทานยาซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำลายแบคทีเรียนั้นอย่างได้ผล.
มาลาเรีย: โรคนี้ทำให้ผู้คนถึง 500 ล้านคนล้มป่วยในแต่ละปี คร่าชีวิต 2 ล้านคน. การควบคุมโรคประสบอุปสรรคเนื่องจากขาดยาหรือไม่ก็ใช้ยาอย่างผิด ๆ. ผลก็คือ ปรสิตมาลาเรียเกิดดื้อยาซึ่งครั้งหนึ่งเคยพิชิตมันได้. สิ่งที่ทำให้ปัญหายุ่งยากเข้าไปอีกก็คือ ยุงก็ดื้อยาฆ่าแมลงด้วย.
อหิวาตกโรค: อหิวาต์คร่าชีวิต 120,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่ในแอฟริกาที่ซึ่งโรคระบาดได้กลายเป็นสิ่งที่เกิดแพร่หลายยิ่งขึ้นและถี่ยิ่งขึ้น. หลังจากไม่เป็นที่รู้จักมาหลายทศวรรษในอเมริกาใต้ อหิวาต์ก็ได้กระหน่ำเปรูในปี 1991 และระบาดไปทั่วทวีปนับตั้งแต่นั้นมา.
ไข้เด็งกี้: ไวรัสที่มากับยุงนี้ทำให้ผู้คนประมาณ 20 ล้านคนล้มป่วยในแต่ละปี. ระหว่างปี 1995 การระบาดของไข้เด็งกี้ในลาตินอเมริกาและแถบแคริบเบียนซึ่งหนักหน่วงที่สุดในรอบ 15 ปี กระหน่ำอย่างน้อย 14 ประเทศที่นั่น. การระบาดของไข้เด็งกี้เพิ่มมากขึ้นเพราะเมืองใหญ่ ๆ กำลังขยายตัวขึ้น, ยุงที่เป็นพาหะของไข้เด็งกี้แพร่พันธุ์มากขึ้น, และคนที่ได้รับเชื้อก็สัญจรไปมามากขึ้น.
โรคคอตีบ: โครงการสร้างภูมิคุ้มกันขนานใหญ่ซึ่งเริ่มเมื่อ 50 ปีที่แล้วทำให้โรคนี้แทบไม่มีในประเทศอุตสาหกรรม. อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 1990 การระบาดของโรคคอตีบได้กระหน่ำ 15 ประเทศในยุโรปตะวันออก และอดีตสหภาพโซเวียต. ผู้ที่เป็นโรคนี้ 1 ใน 4 เสียชีวิต. ในช่วงครึ่งแรกของปี 1995 มีการรายงานโรคนี้ว่ามีประมาณ 25,000 ราย.
กาฬโรค: ระหว่างปี 1995 มีกาฬโรคที่เกิดกับคนอย่างน้อย 1,400 รายที่องค์การอนามัยโลกได้รับรายงาน. ในสหรัฐและที่อื่น ๆ โรคนี้ได้แพร่ระบาดไปยังบริเวณซึ่งเคยปลอดกาฬโรคมาหลายทศวรรษ.
[ที่มาของภาพ]
Source: WHO
[รูปภาพหน้า 5]
ทั้ง ๆ ที่มีการปรับปรุงด้านการดูแลสุขภาพ แต่วิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ไม่สามารถหยุด การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อได้
[ที่มาของภาพหน้า]
WHO photo by J. Abcede
[รูปภาพหน้า 7]
โรคต่าง ๆ แพร่ระบาดอย่างง่ายดายเมื่อผู้คนอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างแออัดยัดเยียดในสภาพที่เสื่อมโทรม
[รูปภาพหน้า 8]
ประมาณ 800 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพ