ความสำเร็จและความล้มเหลวในการต่อสู้กับโรค
วันที่ 5 สิงหาคม 1942 ดร. อะเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ตระหนักว่าคนไข้คนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนของเขากำลังจะเสียชีวิต. ชายวัย 52 ปีคนนี้ติดเชื้อโรคไขสันหลังอักเสบ และแม้ว่าเฟลมมิงจะพยายามทุกวิถีทางแล้ว แต่ตอนนี้เพื่อนของเขาอยู่ในขั้นโคม่า.
สิบห้าปีก่อนหน้านั้น ด้วยความบังเอิญ เฟลมมิงค้นพบสารที่น่าทึ่งซึ่งผลิตโดยเชื้อราสีเขียวอมฟ้าชนิดหนึ่ง. เขาเรียกมันว่าเพนิซิลลิน. เขาสังเกตว่ามันมีฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรีย; แต่เขาไม่สามารถแยกเพนิซิลลินบริสุทธิ์ออกมาได้ และเขาทดลองใช้มันเป็นสารระงับเชื้อเท่านั้น. อย่างไรก็ตาม ในปี 1938 เฮาเวิร์ด ฟลอรีย์ และทีมงานวิจัยของเขาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดพยายามผลิตยาเพนิซิลลินให้ได้ปริมาณมากพอที่จะทดสอบกับมนุษย์. เฟลมมิงจึงโทรศัพท์ไปหาฟลอรีย์ ซึ่งเสนอจะส่งเพนิซิลลินทั้งหมดที่เขามีอยู่มาให้. นั่นเป็นโอกาสสุดท้ายที่เฟลมมิงจะช่วยชีวิตเพื่อนของเขา.
การฉีดเพนิซิลลินเข้ากล้ามเนื้อปรากฏว่าไม่เพียงพอ ดังนั้น เฟลมมิงจึงฉีดยานั้นเข้าไปในไขสันหลังของเพื่อนโดยตรง. เพนิซิลลินทำลายเชื้อโรคนั้น; และเพียงแค่สัปดาห์กว่า ๆ คนไข้ของเฟลมมิงก็หายดีและออกจากโรงพยาบาลได้. ยุคของยาปฏิชีวนะได้เริ่มขึ้นแล้ว และมนุษยชาติได้เข้าสู่พัฒนาการครั้งใหม่ในการต่อสู้กับโรค.
ยุคแห่งยาปฏิชีวนะ
เมื่อยาปฏิชีวนะปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก ยานี้ดูเหมือนเป็นยาวิเศษ. การติดเชื้อซึ่งเกิดจากแบคทีเรีย, เชื้อรา, หรือจุลชีพชนิดอื่น ๆ ที่ก่อนหน้านั้นรักษาไม่หาย มาบัดนี้สามารถรักษาได้แล้ว. เนื่องจากยาชนิดใหม่นี้ การเสียชีวิตจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, โรคปอดบวม, และไข้อีดำอีแดงลดลงอย่างน่าทึ่ง. การติดเชื้อในโรงพยาบาลซึ่งก่อนหน้านั้นหมายความว่าต้องเสียชีวิตแน่ ๆ ก็รักษาหายได้ภายในเวลาไม่กี่วัน.
ตั้งแต่สมัยของเฟลมมิง นักวิจัยได้คิดค้นพัฒนายาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบชนิด และการค้นหาชนิดใหม่ ๆ ก็ยังดำเนินต่อไป. ในระยะ 60 ปีที่ผ่านมา ยาปฏิชีวนะกลายมาเป็นอาวุธที่ขาดไม่ได้ในการต่อสู้โรค. ถ้าจอร์จ วอชิงตันมีชีวิตอยู่ในเวลานี้ ไม่ต้องสงสัยว่าแพทย์คงรักษาอาการเจ็บคอของเขาด้วยยาปฏิชีวนะ และเขาคงจะหายดีภายในหนึ่งสัปดาห์หรือราว ๆ นั้น. ยาปฏิชีวนะได้ช่วยรักษาพวกเราแทบทุกคนให้หายจากการติดเชื้อชนิดต่าง ๆ. อย่างไรก็ตาม ปรากฏชัดว่ายาปฏิชีวนะมีข้อเสียบางประการ.
การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะใช้ไม่ได้ผลกับโรคที่เกิดจากไวรัส เช่น เอดส์หรือไข้หวัดใหญ่. ยิ่งกว่านั้น บางคนมีอาการแพ้ยาปฏิชีวนะบางประเภท. และยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ในวงกว้างอาจทำลายจุลชีพที่มีประโยชน์ในร่างกายของเรา. แต่สิ่งที่อาจเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะก็คือการใช้มากเกินไปหรือน้อยเกินไป.
การใช้น้อยเกินไปคือเมื่อคนไข้ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะให้ครบกำหนดตามที่แพทย์สั่ง ไม่ว่าจะเป็นเพราะพวกเขารู้สึกดีขึ้นแล้วหรือเพราะการรักษานั้นใช้เวลานานมาก. ผลก็คือ ยาปฏิชีวนะอาจไม่ได้ทำลายแบคทีเรียที่บุกรุกนั้นทั้งหมด ทำให้สายพันธุ์ที่ดื้อยารอดไปได้และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น. กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ กับการรักษาวัณโรค.
ทั้งแพทย์และเกษตรกรต่างก็ต้องรับผิดชอบต่อการใช้ยาชนิดใหม่ ๆ เหล่านี้มากเกินไป. หนังสือมนุษย์และจุลชีพ อธิบายว่า “ยาปฏิชีวนะมักถูกสั่งจ่ายเกินความจำเป็นในสหรัฐ และยาเหล่านี้ถูกใช้อย่างขาดวิจารณญาณมากกว่านั้นอีกในประเทศอื่นหลายประเทศ. มีการให้ยาปฏิชีวนะปริมาณมหาศาลแก่ปศุสัตว์ ไม่ใช่เพื่อรักษาโรคแต่เพื่อเร่งการเจริญเติบโต; นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการดื้อยามากขึ้น.” หนังสือเล่มนั้นเตือนว่า ผลก็คือ “เราอาจไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ ใช้อีกต่อไป.”
แต่นอกจากจะมีความกังวลเรื่องการดื้อยาปฏิชีวนะแล้ว ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ก็เป็นช่วงแห่งชัยชนะของวงการแพทย์. นักวิจัยทางการแพทย์ดูเหมือนได้ค้นพบยาที่สามารถต่อสู้กับความเจ็บป่วยแทบทุกชนิด. และวัคซีนต่าง ๆ ก็เสนอความหวังที่จะป้องกันโรคด้วยซ้ำ.
ชัยชนะของวิทยาศาสตร์การแพทย์
รายงานอนามัยโลกปี 1999 (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในด้านการสาธารณสุขตลอดประวัติศาสตร์.” มีการช่วยชีวิตคนหลายล้านคนโดยทางการรณรงค์ฉีดวัคซีนขนานใหญ่ทั่วโลก. โครงการสร้างภูมิคุ้มกันทั่วโลกได้ขจัดไข้ทรพิษ—โรคร้ายซึ่งคร่าชีวิตผู้คนมากกว่าสงครามทั้งหมดในศตวรรษที่ 20 รวมกัน—และการรณรงค์คล้าย ๆ กันนี้ก็เกือบจะขจัดโรคโปลิโอได้แล้ว. (ดูกรอบ “ชัยชนะเหนือไข้ทรพิษและโปลิโอ.”) ในปัจจุบัน เด็กจำนวนมากได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตซึ่งมีทั่วไป.
ส่วนโรคอื่น ๆ ได้รับการควบคุมด้วยวิธีที่ไม่โดดเด่นขนาดนี้. โรคที่มากับน้ำเช่น อหิวาตกโรค แทบไม่เป็นปัญหาเมื่อมีระบบสุขาภิบาลอย่างเพียงพอและมีแหล่งน้ำที่ปลอดภัย. ในหลายดินแดน การมีโอกาสพบแพทย์และได้รับการรักษาในสถานพยาบาลเพิ่มขึ้นย่อมทำให้โรคส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาก่อนที่จะลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิต. อาหารและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการและการเก็บอาหารอย่างถูกวิธี ล้วนช่วยปรับปรุงสุขภาพของประชาชนด้วย.
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ค้นพบสาเหตุของโรคติดเชื้อแล้ว หน่วยงานทางสุขภาพก็สามารถใช้มาตรการที่นำไปปฏิบัติได้เพื่อหยุดยั้งโรคที่กำลังระบาดอยู่. ขอพิจารณาสักตัวอย่างหนึ่ง. การระบาดของกาฬโรคชนิดที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมในเมืองซานฟรานซิสโกเมื่อปี 1907 ทำให้มีเพียงไม่กี่คนที่เสียชีวิตเพราะเมืองนั้นเริ่มรณรงค์ให้มีการกำจัดหนูซึ่งมีหมัดที่เป็นพาหะนำโรคโดยทันที. ในอีกด้านหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ปี 1896 โรคเดียวกันนี้ทำให้สิบล้านคนในอินเดียเสียชีวิตภายใน 12 ปีเนื่องจากสาเหตุหลักของโรคยังไม่เป็นที่ทราบกัน.
ความล้มเหลวในการต่อสู้กับโรค
เห็นได้ชัดว่า เราได้ชัยชนะในการสู้รบครั้งสำคัญบางครั้ง. แต่ชัยชนะด้านสาธารณสุขบางอย่างก็ถูกจำกัดอยู่เฉพาะบางประเทศในโลกที่ร่ำรวยกว่า. โรคที่รักษาได้ยังคงทำให้ผู้คนล้มตายหลายล้านคนเพียงเพราะไม่มีเงินทุนเพียงพอ. ในประเทศกำลังพัฒนา ผู้คนมากมายยังคงไม่มีระบบสุขาภิบาล, การดูแลสุขภาพ, และน้ำที่ปลอดภัยอย่างเพียงพอ. การเอาใจใส่ความจำเป็นพื้นฐานเหล่านี้กลายเป็นเรื่องที่ทำยากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการอพยพขนานใหญ่ของผู้คนจากชนบทสู่เมืองใหญ่ ๆ ในประเทศกำลังพัฒนา. จากปัจจัยเหล่านี้ คนยากจนในโลกจึงประสบกับสิ่งที่องค์การอนามัยโลกเรียกว่า “การแบกภาระเรื่องโรคในสัดส่วนที่สูงกว่าปกติ.”
ความเห็นแก่ตัวอย่างที่ขาดวิสัยทัศน์เป็นสาเหตุสำคัญของความไม่สมดุลนี้ในเรื่องสุขภาพ. หนังสือมนุษย์และจุลชีพ กล่าวว่า “โรคติดเชื้อที่เลวร้ายที่สุดของโลกบางชนิดดูเหมือนเกิดขึ้นในที่ห่างไกล. โรคเหล่านี้บางโรคจะพบได้เฉพาะหรือเป็นส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่ยากจนในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน.” เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งเจริญมั่งคั่งรวมทั้งบริษัทผลิตยาอาจไม่ได้รับผลกำไรโดยตรง พวกเขาจึงไม่ค่อยเต็มใจแบ่งปันเงินทุนเพื่อบำบัดรักษาโรคเหล่านี้.
พฤติกรรมของมนุษย์ที่ไม่สำนึกถึงความรับผิดชอบเป็นปัจจัยหนึ่งด้วยที่ทำให้โรคร้ายแพร่ระบาดออกไป. ไม่มีตัวอย่างใดที่จะแสดงให้เห็นความเป็นจริงอันโหดร้ายนี้ได้ดีไปกว่ากรณีของไวรัสเอดส์ ซึ่งแพร่จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งผ่านทางของเหลวในร่างกาย. ภายในไม่กี่ปี โรคระบาดนี้ได้แพร่ไปทั่วโลก. (ดูกรอบ “เอดส์—โรคร้ายแห่งยุคของเรา.”) นักวิทยาการระบาดชื่อโจ แมกคอร์มิก ยืนยันว่า “มนุษย์นั่นแหละที่ทำตัวเอง. และนั่นไม่ใช่การพูดถึงหลักศีลธรรม แต่เป็นข้อเท็จจริงโดยแท้.”
มนุษย์ช่วยให้ไวรัสเอดส์แพร่ไปอย่างไม่รู้ตัวโดยวิธีใด? หนังสือโรคระบาดที่กำลังคืบใกล้เข้ามา (ภาษาอังกฤษ) กล่าวถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้: การเปลี่ยนแปลงทางสังคม—โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการมีคู่นอนหลายคน—นำไปสู่การระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งทำให้ง่ายขึ้นมากที่จะติดเชื้อไวรัสและง่ายที่ผู้ติดเชื้อคนหนึ่งจะทำให้คนอื่นอีกหลายคนติดด้วย. การแพร่หลายของการใช้เข็มฉีดยาใช้แล้วที่ติดเชื้อในการฉีดยาทางการแพทย์ในประเทศกำลังพัฒนาหรือในการเสพยาเสพติดก็ก่อผลคล้าย ๆ กัน. อุตสาหกรรมเลือดทั่วโลกซึ่งมีมูลค่านับพันล้านดอลลาร์ก็ทำให้ไวรัสเอดส์สามารถผ่านจากผู้บริจาคเลือดคนหนึ่งไปสู่ผู้รับเลือดหลายสิบคนเช่นกัน.
ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปหรือน้อยเกินไปมีส่วนทำให้เกิดจุลชีพที่ดื้อยา. ปัญหานี้เป็นเรื่องร้ายแรงและกำลังเลวร้ายลงเรื่อย ๆ. แบคทีเรียสแตฟีโลคอกคัสซึ่งมักก่อให้เกิดการติดเชื้อที่บาดแผล เคยกำจัดได้ง่าย ๆ โดยยาที่ได้มาจากเพนิซิลลิน. แต่ปัจจุบันยาปฏิชีวนะตัวดั้งเดิมนี้มักใช้ไม่ได้ผล. ดังนั้น แพทย์จึงต้องใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ ที่มีราคาแพง ซึ่งโรงพยาบาลในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ซื้อหาไม่ได้. แม้แต่ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ล่าสุดก็อาจปรากฏว่าไม่สามารถสู้กับจุลชีพบางชนิดได้ ทำให้การติดเชื้อในโรงพยาบาลมีมากขึ้นและเป็นอันตรายถึงตายมากขึ้น. นายแพทย์ริชาร์ด เคราเซ อดีตผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐ พรรณนาสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็น “การระบาดของจุลชีพที่ดื้อยา.”
‘ปัจจุบันนี้เราทำได้ดีกว่าไหม?’
ปัจจุบัน ในตอนต้นศตวรรษที่ 21 เป็นที่ชัดเจนว่าการคุกคามจากโรคภัยยังไม่จบสิ้น. การแพร่ระบาดอย่างไม่หยุดยั้งของโรคเอดส์, การปรากฏของเชื้อโรคที่ดื้อยา, และการกลับมาของฆาตกรที่เก่าแก่อย่างเช่น วัณโรคและมาลาเรีย แสดงว่าเรายังไม่ได้ชัยชนะในสงครามที่ต่อสู้กับโรค.
โจชัว เลเดอร์เบิร์ก ผู้ได้รับรางวัลโนเบลถามว่า “ปัจจุบันนี้เราทำได้ดีกว่าศตวรรษที่แล้วไหม?” เขากล่าวว่า “ส่วนใหญ่แล้ว เราทำได้แย่กว่า. ที่ผ่านมาเราไม่ได้ใส่ใจพวกจุลชีพ และนั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ และกลับมาหลอกหลอนเราอีก.” ความพยายามอันแน่วแน่ของวิทยาศาสตร์การแพทย์และทุกชาติทั่วโลกจะเอาชนะอุปสรรคที่มีในปัจจุบันนี้ได้ไหม? ในที่สุดแล้ว โรคติดเชื้อชนิดหลัก ๆ จะถูกกำจัดไปเหมือนกับไข้ทรพิษไหม? บทความสุดท้ายของเราจะพิจารณาคำถามเหล่านี้.
[กรอบ/ภาพหน้า 8]
ชัยชนะเหนือไข้ทรพิษและโปลิโอ
ช่วงปลายเดือนตุลาคม 1977 องค์การอนามัยโลกพบผู้ป่วยโรคไข้ทรพิษที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติรายสุดท้ายเท่าที่รู้จักกัน. อาลี เมา มาลิน คนครัวประจำโรงพยาบาลซึ่งอาศัยอยู่ที่โซมาเลีย ไม่ได้เป็นโรคนี้ขั้นรุนแรงและเขาก็หายภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์. ทุกคนที่ติดต่อใกล้ชิดกับเขาก็ได้รับวัคซีน.
เป็นเวลาสองปีอันยาวนานที่เหล่าแพทย์รอคอยอย่างกระวนกระวาย. มีการเสนอรางวัล 1,000 ดอลลาร์ให้กับใครก็ตามที่สามารถรายงานเกี่ยวกับ “ผู้ป่วยไข้ทรพิษที่กำลังแสดงอาการ” รายอื่นที่ได้รับการยืนยัน. ไม่มีใครได้รับรางวัลนั้น และในวันที่ 8 พฤษภาคม 1980 องค์การอนามัยโลกก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า “โลกและทุกคนในโลกปลอดจากไข้ทรพิษแล้ว.” เพียงสิบปีก่อนหน้านั้น ไข้ทรพิษทำให้มีผู้เสียชีวิตปีละประมาณสองล้านคน. เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่โรคติดเชื้อชนิดสำคัญถูกขจัดออกไป.a
โปลิโอ โรคที่ทำให้พิการซึ่งเกิดกับเด็ก ก็มีหวังว่าจะถูกขจัดให้หมดไปได้เช่นกัน. ในปี 1955 โจนาส ซอล์ก ผลิตวัคซีนที่ป้องกันโรคโปลิโอ และการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอก็เริ่มขึ้นในสหรัฐและประเทศอื่น. ต่อมามีการพัฒนาวัคซีนที่ให้ทางปาก. ในปี 1988 องค์การอนามัยโลกเริ่มต้นโครงการขจัดโรคโปลิโอให้หมดสิ้นไป.
แพทย์หญิงโกร ฮาร์เลม บรันด์ลันด์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า “เมื่อเราเริ่มความพยายามที่จะขจัดโรคโปลิโอในปี 1988 โรคนี้ทำให้เด็กเป็นอัมพาตมากกว่า 1,000 คนในแต่ละวัน. ในปี 2001 มีน้อยกว่า 1,000 คนมากนักตลอดทั้งปี.” ปัจจุบัน มีน้อยกว่าสิบประเทศที่ยังมีโรคโปลิโออยู่ แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีเงินทุนมากกว่านี้เพื่อช่วยประเทศเหล่านั้นขจัดโรคโปลิโอให้หมดไปในที่สุด.
[เชิงอรรถ]
a ไข้ทรพิษเป็นโรคที่เหมาะที่จะต่อสู้ด้วยการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนในระดับนานาชาติ เพราะโรคนี้ไม่เหมือนโรคอื่น ๆ ซึ่งแพร่ระบาดโดยทางตัวนำโรคที่ก่อปัญหาเช่น หนูและแมลง ไวรัสไข้ทรพิษต้องอาศัยในร่างกายมนุษย์เพื่อจะอยู่รอดได้.
[รูปภาพ]
เด็กชายชาวเอธิโอเปียได้รับวัคซีนโปลิโอทางปาก
[ที่มาของภาพ]
© WHO/P. Virot
[กรอบหน้า 10]
เอดส์—โรคร้ายแห่งยุคของเรา
โรคเอดส์ได้ปรากฏขึ้นเป็นภัยคุกคามโลกตัวใหม่. ประมาณ 20 ปีหลังจากการค้นพบโรคนี้ มีมากกว่า 60 ล้านคนที่ติดเชื้อแล้ว. และหน่วยงานทางด้านสุขภาพเตือนว่าการระบาดของโรคเอดส์ยังคงอยู่ใน “ระยะเริ่มต้น.” อัตราการติดเชื้อ “กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่าที่เมื่อก่อนเคยเชื่อกันว่าจะเป็นไปได้” และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดในโลกคือความหายนะ.
รายงานฉบับหนึ่งขององค์การสหประชาชาติอธิบายว่า “ผู้คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ทั่วโลกคือผู้ที่อยู่ในวัยทำงานที่ยังหนุ่มแน่น. ผลก็คือ เชื่อกันว่าหลายประเทศในแอฟริกาทางใต้จะสูญเสียแรงงานไปประมาณ 10 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์พอถึงปี 2005. รายงานนั้นกล่าวด้วยว่า “อายุขัยเฉลี่ยในแถบใต้ทะเลทรายสะฮาราในปัจจุบันคือ 47 ปี. ถ้าไม่มีโรคเอดส์ อายุขัยเฉลี่ยจะเป็น 62 ปี.”
จนถึงบัดนี้ ความพยายามที่จะค้นพบวัคซีนก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะประสบความสำเร็จ และมีเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เป็นเอดส์จำนวนหกล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับการบำบัดด้วยยา. ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีรักษาโรคเอดส์ให้หาย และแพทย์กลัวว่าผู้คนส่วนใหญ่ที่ได้รับเชื้อจะเป็นโรคนี้ในที่สุด.
[รูปภาพ]
เซลล์ลิมโฟไซต์ ที ซึ่งติดเชื้อไวรัสเอชไอวี
[ที่มาของภาพ]
Godo-Foto
[ภาพหน้า 7]
พนักงานในห้องทดลองตรวจดูเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่จัดการได้ยาก
[ที่มาของภาพ]
CDC/Anthony Sanchez