การต่อสู้อันยาวนานเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
โจแอนอยู่ที่นิวยอร์กและเธอเป็นวัณโรค. แต่เธอไม่ได้เป็นวัณโรคชนิดธรรมดาที่เป็นกันทั่วไป. เธอมีเชื้อที่กลายพันธุ์ซึ่งดื้อยาเกือบทุกชนิดและทำให้ครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อเสียชีวิต. อย่างไรก็ตาม โจแอนไม่ได้ไปรักษาเป็นประจำ และเธอได้ทำให้คนอื่นติดเชื้อจากเธอแล้วอย่างน้อยครั้งหนึ่ง. แพทย์ของเธอที่รู้สึกไม่พอใจบอกว่า ‘เธอน่าจะถูกกักตัวไว้.’
วัณโรคเป็นฆาตกรที่เก่าแก่มาก. มีคนจำนวนนับล้านจริง ๆ ที่เคยเป็นและเสียชีวิตจากวัณโรค. มีการพบหลักฐานของโรคนี้ในมัมมี่จากอียิปต์และเปรูยุคโบราณ. ในปัจจุบัน วัณโรคสายพันธุ์ที่กลับมาระบาดอีกครั้งทำให้ผู้คนประมาณสองล้านคนเสียชีวิตทุกปี.
คาร์ลีโตสนอนอยู่บนที่นอนเล็ก ๆ ในกระท่อมแบบแอฟริกาหลังหนึ่งและมีเหงื่อออกบนหน้าผากของเขาเป็นเม็ด ๆ. มาลาเรียทำให้เขาไม่มีแม้แต่เรี่ยวแรงที่จะร้องไห้. พ่อแม่เขาที่กระวนกระวายใจไม่มีเงินค่ายา และไม่มีคลินิกใกล้ ๆ ที่พวกเขาจะพาลูกน้อยของตนไปรักษาได้. ไข้ไม่ลดลงเลย และภายใน 48 ชั่วโมงเขาก็เสียชีวิต.
มาลาเรียฆ่าเด็กเกือบหนึ่งล้านคนเหมือนกับคาร์ลีโตสทุกปี. ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในแอฟริกาตะวันออก เด็กทั่วไปจะถูกยุงที่มีเชื้อมาลาเรียกัดประมาณเดือนละ 50 ถึง 80 ครั้ง. ยุงเหล่านี้แพร่พันธุ์ไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ และยาต้านมาลาเรียก็ใช้ได้ผลน้อยลงเรื่อย ๆ. ทุกปี ประมาณ 300 ล้านคนเป็นโรคมาลาเรียชนิดเฉียบพลัน.
เคนเนท ชายวัย 30 ปี ซึ่งอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ไปพบแพทย์ครั้งแรกในปี 1980. เขาบ่นว่าท้องร่วงและอ่อนเพลีย. หนึ่งปีต่อมาเขาเสียชีวิต. ทั้ง ๆ ที่ได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ แต่ร่างกายของเขาก็ซูบผอมลงและในที่สุดเขาก็พ่ายแพ้แก่โรคปอดอักเสบ.
สองปีต่อมาในที่ที่ห่างจากเมืองซานฟรานซิสโก 16,000 กิโลเมตร หญิงสาวคนหนึ่งในแทนซาเนียตอนเหนือเริ่มมีอาการอย่างเดียวกัน. ภายในไม่กี่สัปดาห์ เธอก็เดินไม่ได้อีกเลยและไม่นานหลังจากนั้นเธอก็เสียชีวิต. ชาวบ้านเรียกโรคแปลกประหลาดนี้ว่าโรคจูเลียนา เนื่องจากดูเหมือนว่าผู้ชายคนหนึ่งซึ่งขายผ้าที่มีชื่อจูเลียนาพิมพ์ติดอยู่ได้ทำให้เธอกับผู้หญิงคนอื่น ๆ ในหมู่บ้านติดเชื้อนี้.
ทั้งเคนเนทและหญิงชาวแทนซาเนียเป็นโรคเดียวกัน นั่นคือโรคเอดส์. ในตอนเริ่มต้นทศวรรษ 1980 เมื่อดูเหมือนว่าวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถควบคุมจุลชีพที่เป็นอันตรายส่วนใหญ่ได้แล้ว ตอนนั้นเองก็เกิดโรคติดเชื้อชนิดใหม่นี้ขึ้นคุกคามมนุษยชาติ. ภายในสองทศวรรษ ผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์เริ่มมีจำนวนใกล้เคียงกับผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคระบาดที่แพร่ไปทั่วยูเรเชียในช่วงศตวรรษที่ 14—โรคระบาดที่ยุโรปไม่เคยลืมเลย.
กาฬโรคระบาดครั้งใหญ่
การระบาดของโรคที่เรียกว่ากาฬโรคสามารถย้อนรอยไปได้ถึงปี 1347 เมื่อเรือลำหนึ่งที่แล่นมาจากคาบสมุทรไครเมียได้มาจอดเทียบท่าที่เมืองเมสซีนา ในเกาะซิซิลี. นอกจากสินค้าตามปกติแล้ว เรือลำนี้ยังนำเชื้อกาฬโรคมาด้วย.a ไม่นาน กาฬโรคก็ระบาดไปทั่วอิตาลี.
ในปีถัดมา อันโยโล ดิ ตูรา ชาวเมืองซีเอนา ประเทศอิตาลี พรรณนาถึงความสยดสยองที่เกิดขึ้นในเมืองของเขาดังนี้: ‘การตายในซีเอนาเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม. มันโหดร้ายและน่ากลัวมาก. ผู้ติดโรคตายเกือบจะทันที. พวกเขาเสียชีวิตเป็นร้อย ๆ คน ทั้งวันทั้งคืน.’ เขากล่าวต่อไปว่า ‘ผมฝังศพลูกห้าคนของผมด้วยมือผมเอง และคนอื่น ๆ อีกหลายคนก็ทำอย่างเดียวกัน. ไม่มีใครร้องไห้แม้ว่าเขาจะสูญเสียใครไป เพราะแทบทุกคนคาดว่าตัวเองจะต้องตายเหมือนกัน. มีคนตายมากมายจนทุกคนเชื่อว่านั่นเป็นอวสานของโลก.’
นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่า ภายในสี่ปีกาฬโรคได้ระบาดไปทั่วยุโรปและประมาณหนึ่งในสามของประชากรเสียชีวิต—อาจมีราว ๆ 20 ถึง 30 ล้านคน. แม้แต่ไอซ์แลนด์ที่อยู่ห่างไกลก็มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก. กล่าวกันว่าในตะวันออกไกล ประชากรจีนลดลงอย่างฮวบฮาบจาก 123 ล้านคนในตอนต้นศตวรรษที่ 13 เหลือ 65 ล้านคนระหว่างศตวรรษที่ 14 ซึ่งดูเหมือนเป็นผลจากกาฬโรคและการกันดารอาหารที่ตามมา.
ไม่เคยมีโรคระบาด, สงคราม, หรือการกันดารอาหารครั้งใดที่ก่อความทุกข์ยากได้กว้างไกลขนาดนี้มาก่อน. หนังสือมนุษย์และจุลชีพ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “การระบาดครั้งนั้นเป็นความหายนะที่ไม่มีอะไรเทียบได้ในประวัติศาสตร์มนุษย์. ประมาณหนึ่งในสี่ถึงครึ่งหนึ่งของประชากรในยุโรป, แอฟริกาเหนือ, และบางส่วนของเอเชียได้จบชีวิตลง.”
ทวีปอเมริการอดพ้นมหันตภัยของกาฬโรคไปได้ เนื่องจากทวีปนั้นอยู่ห่างไกลจากส่วนอื่น ๆ ของโลก. แต่หลังจากนั้นไม่นาน เรือเดินสมุทรก็ทำให้ทวีปนั้นไม่ได้อยู่ห่างไกลอีกต่อไป. ในศตวรรษที่ 16 โรคระบาดอีกระลอกหนึ่งที่ปรากฏว่าร้ายแรงยิ่งกว่ากาฬโรคด้วยซ้ำ ได้ก่อความเสียหายแก่ทวีปอเมริกา หรือที่เรียกว่าโลกใหม่.
ไข้ทรพิษพิชิตทวีปอเมริกา
เมื่อโคลัมบัสมาถึงหมู่เกาะอินดิสตะวันตกในปี 1492 เขาพรรณนาลักษณะชาวพื้นเมืองว่าเป็นคนที่มี ‘รูปร่างหน้าตาดีและมีความสูงปานกลางทั้งยังมีร่างกายบึกบึน.’ อย่างไรก็ตาม รูปร่างที่ดูแข็งแรงของพวกเขาได้อำพรางความเสี่ยงที่จะติดโรคที่มาจากยุโรป หรือที่เรียกว่าโลกเก่า.
ในปี 1518 เกิดการระบาดอย่างรุนแรงของไข้ทรพิษในเกาะฮิสแปนิโอลา. ชาวอเมริกันพื้นเมืองไม่เคยประสบกับไข้ทรพิษมาก่อน และผลคือความหายนะ. ประจักษ์พยานชาวสเปนคนหนึ่งกะประมาณว่า มีชาวเกาะที่รอดชีวิตเหลืออยู่เพียงหนึ่งพันคน. ไม่นานการระบาดนั้นก็แพร่ไปถึงเม็กซิโกและเปรู ซึ่งยังผลคล้าย ๆ กัน.
ในศตวรรษต่อมา เมื่อพวกผู้ตั้งถิ่นฐานที่เรียกว่าพิลกริมมาถึงบริเวณรัฐแมสซาชูเซตส์ในอเมริกาเหนือ พวกเขาพบว่าไข้ทรพิษได้ผลาญชีวิตผู้คนจนเกือบหมดไปจากพื้นที่นั้น. จอห์น วินทรอป ผู้นำของพวกพิลกริม เขียนว่า “พวกชนพื้นเมือง พวกเขาตายกันเกือบหมดเพราะไข้ทรพิษ.”
โรคระบาดอื่น ๆ ได้เกิดขึ้นหลังจากไข้ทรพิษ. ตามที่กล่าวในแหล่งอ้างอิงหนึ่ง ประมาณหนึ่งศตวรรษหลังจากโคลัมบัสมาถึง โรคที่ถูกนำเข้ามาได้กวาดล้างประชากรในโลกใหม่ไปถึง 90 เปอร์เซ็นต์. ประชากรของเม็กซิโกลดลงอย่างฮวบฮาบจาก 30 ล้านคนเหลือ 3 ล้านคน ส่วนประชากรของเปรูลดจาก 8 ล้านคนเหลือหนึ่งล้านคน. แน่นอน ไม่ได้มีแต่ชาวพื้นเมืองอเมริกันเท่านั้นที่เป็นไข้ทรพิษ. หนังสือโรคระบาด—การคุกคามของไข้ทรพิษในอดีตและอนาคต (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์ ไข้ทรพิษทำให้หลายร้อยล้านคนเสียชีวิต ซึ่งมากกว่ากาฬโรค . . . และสงครามทั้งหมดในศตวรรษที่ยี่สิบรวมกันมากนัก.”
เรายังไม่ชนะสงคราม
ปัจจุบันนี้ การระบาดของกาฬโรคและไข้ทรพิษที่น่ากลัวอาจดูเหมือนเป็นเพียงความหายนะที่มีอยู่แต่ในหน้าประวัติศาสตร์นานมาแล้ว. ระหว่างศตวรรษที่ 20 มนุษยชาติได้ชัยชนะหลายต่อหลายครั้งในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอุตสาหกรรม. แพทย์ค้นพบสาเหตุของโรคส่วนใหญ่แล้ว และพวกเขายังค้นพบวิธีรักษาโรคเหล่านั้นด้วย. (ดูกรอบข้างล่าง.) วัคซีนและยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ ดูเหมือนเป็นยาวิเศษที่สามารถขจัดได้แม้แต่โรคที่ทนทายาดที่สุด.
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ริชาร์ด เคราเซ อดีตผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐ ชี้ว่า “โรคระบาดเป็นสิ่งที่แน่นอนเช่นเดียวกับความตายและภาษี.” วัณโรคและมาลาเรียยังไม่หมดไป. และการระบาดของโรคเอดส์เมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นการย้ำเตือนอันน่าหดหู่ใจว่าโรคระบาดยังคงคุกคามโลกอยู่. หนังสือมนุษย์กับจุลชีพ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “โรคติดเชื้อยังคงเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโลก และจะเป็นเช่นนั้นต่อไปอีกนาน.”
แพทย์บางคนกลัวว่าแม้มีความก้าวหน้าอย่างน่าทึ่งในการสู้กับโรคต่าง ๆ แต่ความสำเร็จในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้อาจเป็นเพียงชั่วคราว. โรเบิร์ต โชป นักวิทยาการระบาด เตือนว่า “อันตรายที่มาจากโรคติดเชื้อยังไม่หมดไป มันกลับยิ่งแย่ลง.” บทความถัดไปจะอธิบายสาเหตุ.
[เชิงอรรถ]
a กาฬโรคมีหลายชนิด เช่น ชนิดที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมและชนิดที่ทำให้ปอดอักเสบ. ตัวหมัดซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหนูเป็นพาหะของกาฬโรคชนิดที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวม ส่วนละอองที่มาจากการไอหรือจามของผู้ป่วยมักแพร่ชนิดที่ทำให้ปอดอักเสบ.
[คำโปรยหน้า 5]
ภายในสองทศวรรษ ผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์เริ่มมีจำนวนใกล้เคียงกับผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคระบาดที่แพร่ไปทั่วยูเรเชียในช่วงศตวรรษที่ 14
[กรอบ/ภาพหน้า 6]
ความรู้กับการเชื่อโชคลาง
ในศตวรรษที่ 14 เมื่อกาฬโรคคุกคามครอบครัวของโปปซึ่งอยู่ที่เมืองอาวินยอง แพทย์บอกโปปว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดกาฬโรคก็คือการที่ดาวเคราะห์สามดวง ได้แก่ ดาวเสาร์, ดาวพฤหัสบดี, และดาวอังคารปรากฏอยู่ใกล้กันในราศีคนแบกหม้อน้ำ.
ประมาณสี่ศตวรรษต่อมา จอร์จ วอชิงตัน รู้สึกเจ็บคอตอนเข้านอน. แพทย์ที่มีชื่อเสียงสามคนรักษาการติดเชื้อนั้นด้วยการเจาะเลือดของเขาออกมาจากหลอดเลือดดำประมาณสองลิตร. ภายในไม่กี่ชั่วโมง คนไข้ก็เสียชีวิต. การเจาะเลือดออกเป็นวิธีรักษามาตรฐานที่ใช้กันมาเป็นเวลาถึง 2,500 ปี ตั้งแต่สมัยฮิปโปกราติสจนถึงตอนกลางศตวรรษที่ 19.
แม้ว่าการถือโชคลางและธรรมเนียมที่ยึดถือกันมานานจะถ่วงความก้าวหน้าทางการแพทย์ แต่แพทย์ที่อุทิศเวลาและความพยายามก็ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อจะค้นพบสาเหตุของโรคติดเชื้อและวิธีรักษาโรคเหล่านั้น. ต่อไปนี้เป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญบางอย่างของพวกเขา.
◼ ไข้ทรพิษ. ในปี 1798 เอดเวิร์ด เจนเนอร์ คิดค้นวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษได้สำเร็จ. ระหว่างศตวรรษที่ 20 วัคซีนปรากฏว่าใช้ได้ผลดีในการป้องกันโรคอื่น ๆ เช่น โปลิโอ, ไข้เหลือง, หัด, และหัดเยอรมัน.
◼ วัณโรค. ในปี 1882 โรเบิร์ต คอค ได้ระบุตัวแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดวัณโรคและคิดค้นวิธีทดสอบโรค. ประมาณ 60 ปีต่อมา มีการค้นพบสเตรปโตมัยซิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพในการรักษาวัณโรค. ยานี้ปรากฏว่าใช้รักษากาฬโรคชนิดที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมได้ด้วย.
◼ มาลาเรีย. ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ควินิน ซึ่งได้จากเปลือกของต้นสนุ่น ได้ช่วยชีวิตผู้ที่เป็นโรคมาลาเรียหลายล้านคน. ในปี 1897 โรนัลด์ รอสส์ ระบุว่า ยุงก้นปล่องเป็นพาหะของโรคนี้ และต่อมามีการรณรงค์ควบคุมยุงเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตในประเทศเขตร้อน.
[รูปภาพ]
แผนภูมิจักรราศี (บน) และการเจาะเลือดออก
[ที่มาของภาพ]
Both: Biblioteca Histórica “Marqués de Valdecilla”
[ภาพหน้า 3]
ปัจจุบัน วัณโรคสายพันธุ์ที่กลับมาใหม่ทำให้คนประมาณสองล้านคนเสียชีวิตทุกปี
[ที่มาของภาพ]
X ray: New Jersey Medical School–National Tuberculosis Center; man: Photo: WHO/Thierry Falise
[ภาพหน้า 4]
ภาพสลักจากเยอรมนี มีอายุตั้งแต่ราว ๆ ปี 1500 แสดงภาพแพทย์สวมหน้ากากป้องกันกาฬโรค. ส่วนที่เป็นปากแหลมมีการใส่เครื่องหอมไว้
[ที่มาของภาพ]
Godo-Foto
[ภาพหน้า 4]
แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกาฬโรคชนิดที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวม
[ที่มาของภาพ]
© Gary Gaugler/Visuals Unlimited