โรคติดเชื้อ—อันตรายร้ายแรง ทว่าป้องกันได้
ขณะที่แผ่นดินไหวซึ่งก่อความเสียหายร้ายแรงและน้ำท่วมที่ยังความหายนะได้ลงข่าวหน้าหนึ่ง แต่การระบาดเงียบ ๆ ของโรคติดเชื้อแทบไม่ได้เป็นข่าวพาดหัวเลย. ถึงกระนั้น ข่าวแจกของสภากาชาด/สภาเสี้ยววงเดือนแดงที่ออกในเดือนมิถุนายน 2000 กล่าวว่า “จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อ (เช่น เอดส์, มาลาเรีย, โรคระบบทางเดินหายใจและท้องร่วง) มีมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยภัยธรรมชาติเมื่อปีที่แล้วถึง 160 เท่า. และสถานการณ์กำลังเลวร้ายลง.”
กล่าวกันว่ามีปัจจัยหลักสองอย่างเป็นสาเหตุของตัวเลขที่น่าตกใจนี้. ปัจจัยแรกคือการระบาดอย่างหนักของโรคเอดส์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 300 คนทุกชั่วโมง. ปีเตอร์ วอล์กเกอร์ ผู้อำนวยการนโยบายภัยพิบัติสำหรับสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ กล่าวว่า เอดส์ “ไม่ใช่โรคอีกแล้ว มันเป็นภัยพิบัติ. การแพร่ระบาดเช่นนี้ทำลายแรงงานและทำให้เศรษฐกิจพังพินาศ.” ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งคือการเสื่อมถอยของระบบรักษาพยาบาล ซึ่งยังผลให้โรคเก่า ๆ กลับมาอีก เช่น วัณโรค, ซิฟิลิส, และมาลาเรีย. ตัวอย่างเช่น ประเทศหนึ่งทางเอเชียรายงานว่าเวลานี้มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 40,000 รายทุกปี. ในประเทศหนึ่งทางยุโรปตะวันออก การติดเชื้อซิฟิลิสเพิ่มขึ้น 40 เท่าในทศวรรษที่ผ่านไป.
แต่ที่แปลกก็คือ แม้ว่าโรคติดเชื้อได้กลายเป็นภัยพิบัติ แต่จริง ๆ แล้วโรคเหล่านั้นล้วนเป็นภัยพิบัติที่ป้องกันได้. ที่จริง รายงานนั้นกล่าวว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 13 ล้านรายเนื่องจากโรคติดเชื้อซึ่งเกิดในปี 1999 นั้น ส่วนใหญ่แล้ว “ป้องกันได้ด้วยเงินเพียง 5 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 200 บาท) ต่อคน.” ถ้ารัฐบาลต่าง ๆ ในโลกเต็มใจใช้เงิน 5 ดอลลาร์ต่อประชาชนหนึ่งคนเพื่อการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพ—รวมทั้งหมดเป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์—ลองนึกดูสิว่า จะป้องกันการเสียชีวิตที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้สักกี่ราย!
แม้ว่าเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างมาก แต่ก็ถือว่าน้อยมากทีเดียวเมื่อเทียบกับสิ่งที่ประเทศต่าง ๆ ใช้ไปในเรื่องอื่น ๆ. ตัวอย่างเช่น ในปีหนึ่งเมื่อไม่นานนี้ การใช้จ่ายด้านการทหารของโลกเพิ่มสูงถึง 864,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 144 ดอลลาร์ต่อคน. ลองคิดดูสิว่ามีการใช้จ่ายเงินมากขนาดไหนเพื่อเตรียมทำสงครามแทนที่จะป้องกันการแพร่ระบาดของโรค! บางทีการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อนั้นเป็นสิ่งที่เกินความสามารถของมนุษยชาติทีเดียว—ไม่ใช่เนื่องจากขาดเงินทุน แต่เนื่องจากเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่านั้น. รัฐบาลของมนุษย์ยังไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญได้อย่างถูกต้องเสียด้วยซ้ำ.
[ที่มาของภาพหน้า 31]
X ray: New Jersey Medical School—National Tuberculosis Center
Photo of man coughing: WHO/Thierry Falise