อย่าปล่อยให้ความโกรธทำให้คุณสะดุดล้ม
“ใจเย็นเข้าไว้!” “นับหนึ่งถึงสิบ!” “เฉย ๆ ไว้!” วลีเหล่านี้คุ้นหูคุณไหม? บางทีคุณอาจท่องวลีเหล่านี้กับตัวเองเพื่อระงับอารมณ์ที่คุกรุ่นอยู่ข้างใน. ด้วยความพยายามจะป้องกันมิให้เกิดการบันดาลโทสะ บางคนจึงออกไปเดินเล่น. นี่เป็นวิธีง่าย ๆ ในการจัดการกับความโกรธและรักษาความสัมพันธ์กับคนอื่น.
แต่ไม่กี่ปีมานี้ คำแนะนำที่ขัดแย้งกันจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพในเรื่องที่ว่าควรควบคุมหรือระงับความโกรธไว้หรือไม่นั้นทำให้หลายคนสับสน. ตัวอย่างเช่น นักจิตวิทยาบางคนได้ส่งเสริมทฤษฎีที่ว่า จงระบายความโกรธออกมา “หากนั่นทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น.” คนอื่นเตือนว่า การระเบิดความโกรธเป็นประจำเป็น “ปัจจัยบอกล่วงหน้าถึงการตายก่อนเวลาอันควรมากยิ่งกว่าปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่, ความดันโลหิตสูง, และคอเลสเทอรอลสูง.” พระคำของพระเจ้ากล่าวอย่างชัดแจ้งว่า “จงอดกลั้นความโกรธไว้, และระงับความโทโสเสีย: อย่าให้ใจเดือดร้อน, มีแต่จะเป็นเหตุให้ทำการชั่วเท่านั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:8) ทำไมคัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำที่เจาะจงเช่นนั้น?
อารมณ์ที่ขาดการควบคุมนำไปสู่การกระทำที่ขาดการควบคุม. เรื่องนี้ปรากฏชัดตอนเริ่มต้นในประวัติศาสตร์ของมนุษย์. เราอ่านว่า “คายินก็โกรธแค้นนัก, หน้าตึงก้มอยู่.” ท่าทีเช่นนี้นำเขาไปสู่อะไร? ความโกรธครอบงำและควบคุมเขาอย่างสิ้นเชิงจนถึงกับทำให้หัวใจเขาแข็งกระด้างต่อคำตักเตือนของพระยะโฮวาที่ให้หันมาทำดี. ความโกรธที่ขาดการควบคุมของคายินชักนำเขาไปสู่บาปที่ร้ายแรง คือการฆ่าน้องชายของตน.—เยเนซิศ 4:3-8.
ซาอูลกษัตริย์องค์แรกของยิศราเอลถูกครอบงำด้วยความรู้สึกคล้ายกันเมื่อได้ยินดาวิดได้รับการยกย่องมากมาย. “พวกผู้หญิงที่เล่นเครื่องดนตรีนั้นขับร้องรับกันว่า, ซาอูลได้ฆ่าคนนับตั้งพันแต่ส่วนดาวิดฆ่าคนนับตั้งหมื่น. ฝ่ายซาอูลทรงพระพิโรธยิ่งนัก, ไม่พอพระทัยด้วยคำขับร้องนั้นเลย.” ความโกรธครอบงำความคิดของซาอูลถึงขนาดที่กระตุ้นท่านให้พยายามลอบสังหารดาวิดหลายครั้ง. ถึงแม้ดาวิดพยายามริเริ่มเพื่อมีมิตรภาพก็ตาม ซาอูลไม่เต็มใจติดตามสันติสุขและการคืนดีกัน. ในที่สุด ท่านสูญเสียความพอพระทัยของพระยะโฮวาอย่างสิ้นเชิง.—1 ซามูเอล 18:6-11; 19:9, 10; 24:1-21; สุภาษิต 6:34, 35.
เป็นเรื่องเลี่ยงไม่พ้น เมื่อคนเรายอมจำนนต่อความโกรธที่ขาดการควบคุม เขาก็มักจะพูดและทำอะไรที่จะเป็นผลเสียหายแก่ทุกคนที่เกี่ยวข้องด้วย. (สุภาษิต 29:22) คายินและซาอูลโกรธเนื่องจากแต่ละคนต่างก็อิจฉาริษยาไปคนละแบบ. อย่างไรก็ตาม การสนองตอบด้วยความโกรธอาจเกิดขึ้นเนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ. การวิจารณ์ที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล, การสบประมาท, ความเข้าใจผิด, หรือการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม เป็นประกายไฟที่จุดให้เกิดการระเบิดขึ้นได้.
ตัวอย่างของคายินและซาอูลบ่งชี้ถึงข้อบกพร่องร้ายแรงที่ทั้งสองมีเหมือนกัน. เครื่องบูชาของคายินดูเหมือนว่าขาดแรงกระตุ้นของความเชื่อ. (เฮ็บราย 11:4) การที่ซาอูลไม่เชื่อฟังพระบัญชาของพระยะโฮวาและพยายามพิสูจน์ว่าตัวเองถูกต้องในภายหลังนั้นนำไปสู่การสูญเสียความพอพระทัยและพระวิญญาณของพระเจ้า. ปรากฏชัดว่า คนทั้งสองทำลายสัมพันธภาพของตนกับพระยะโฮวา.
ขอเปรียบเทียบนิสัยดังกล่าวกับนิสัยของดาวิดซึ่งมีเหตุผลที่จะโกรธเนื่องจากการปฏิบัติที่ได้รับจากซาอูล. ดาวิดข่มห้ามอารมณ์ของท่าน. เพราะเหตุใด? ท่านกล่าวว่า “ขอพระยะโฮวาทรงห้ามอย่าให้ข้าพเจ้าทำอย่างนี้ต่อเจ้านายของตนผู้ที่พระยะโฮวาทรงชโลมไว้.” สัมพันธภาพกับพระยะโฮวาแจ่มชัดอยู่ในความคิดของดาวิด และนั่นมีผลกระทบต่อการที่ท่านปฏิบัติกับซาอูล. ท่านฝากเรื่องไว้ในพระหัตถ์ของพระยะโฮวาด้วยความถ่อมใจ.—1 ซามูเอล 24:6, 15.
แท้จริงแล้ว สิ่งที่พัวพันอยู่ในความโกรธที่ขาดการควบคุมนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย. อัครสาวกเปาโลเตือนให้ระวังว่า “โกรธเถิด, แต่อย่าให้เป็นการบาป.” (เอเฟโซ 4:26) ขณะที่ความขุ่นเคืองอย่างชอบธรรมเป็นสิ่งเหมาะสมภายใต้สภาพการณ์บางอย่าง ก็มีอันตรายเสมอที่ความโกรธจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราสะดุด. ดังนั้นแล้ว ไม่น่าแปลกใจที่เราเผชิญข้อท้าทายของการควบคุมความโกรธของเรา. เราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
วิธีแรกก็คือพัฒนาสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นกับพระยะโฮวา. พระองค์สนับสนุนคุณให้เปิดหัวใจและจิตใจต่อพระองค์. จงทูลพระองค์ให้ทราบความเป็นห่วงและความกังวลของคุณ ทูลขอให้มีหัวใจสงบเพื่อข่มความโกรธเอาไว้. (สุภาษิต 14:30) จงมั่นใจว่า “พระเนตรของพระยะโฮวาเพ่งเล็งคนชอบธรรม และพระกรรณของพระองค์สดับฟังคำอ้อนวอนของเขาทั้งหลาย.”—1 เปโตร 3:12, ล.ม.
คำอธิษฐานอาจปั้นแต่งและชี้นำคุณ. ในทางใดบ้าง? คำอธิษฐานอาจมีผลกระทบลึกซึ้งต่อการปฏิบัติของคุณกับคนอื่น. ขอระลึกถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติกับคุณ. ดังที่พระคัมภีร์กล่าวว่า พระยะโฮวา “ไม่ได้ทรงกระทำแก่พวกข้าพเจ้าตามการผิด.” (บทเพลงสรรเสริญ 103:10) น้ำใจให้อภัยเป็นสิ่งสำคัญ “เพื่อซาตานจะมิได้ชัยชนะแก่” คุณ. (2 โกรินโธ 2:10, 11) นอกจากนี้ คำอธิษฐานช่วยเปิดหัวใจของคุณต่อการชี้นำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งอาจล้มล้างรูปแบบที่ฝังแน่นในชีวิต. พระยะโฮวาทรงยินดีประทาน ‘สันติสุขที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่าง’ ซึ่งอาจปลดปล่อยคุณจากพลังของความโกรธที่ครอบงำเหนียวแน่น.—ฟิลิปปอย 4:7, ล.ม.
อย่างไรก็ตาม คำอธิษฐานต้องควบคู่ไปกับการพิจารณาพระคัมภีร์เป็นประจำเพื่อเราจะ “สังเกตเข้าใจต่อไปว่าพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาเป็นเช่นไร.” (เอเฟโซ 5:17, ล.ม.; ยาโกโบ 3:17) หากตัวคุณเองประสบช่วงที่ลำบากในการควบคุมความโกรธ จงพยายามคิดอย่างที่พระยะโฮวาทรงคิดในเรื่องนั้น. จงทบทวนข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับการควบคุมความโกรธ.
อัครสาวกเปาโลเสนอข้อเตือนใจอันสำคัญนี้ที่ว่า “ให้เรากระทำดีต่อคนทั้งปวง แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนเหล่านั้นที่สัมพันธ์กับเราในความเชื่อ.” (ฆะลาเตีย 6:10, ล.ม.) จงให้ความคิดและการกระทำของคุณเพ่งเล็งอยู่ที่การทำดีต่อคนอื่น. กิจกรรมที่ดีมีประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์เช่นนั้นจะส่งเสริมการร่วมความรู้สึกและความไว้วางใจซึ่งจะระงับความเข้าใจผิดที่อาจลงเอยด้วยความโกรธได้อย่างง่ายดาย.
ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญกล่าวว่า “ขอทรงตั้งย่างเท้าของข้าพเจ้าไว้ให้ดำเนินตามพระดำรัสของพระองค์; และขออย่าให้การอสัตย์อธรรมประการใด ๆ ครอบงำข้าพเจ้าไว้เลย. คนทั้งปวงที่รักกฎหมายของพระองค์มีความสุขมาก; และเหตุที่จะสะดุดกะดากแก่เขาไม่มีเลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:133, 165) อาจเป็นจริงเช่นนั้นกับคุณด้วย.
[กรอบหน้า 9]
ขั้นตอนในการควบคุมความโกรธ
◻ จงอธิษฐานถึงพระยะโฮวา.—บทเพลงสรรเสริญ 145:18.
◻ จงพิจารณาพระคัมภีร์ทุกวัน.—บทเพลงสรรเสริญ 119:133, 165.
◻ หมกมุ่นอยู่ในกิจกรรมที่คุ้มค่า.—ฆะลาเตีย 6:9, 10.