ส่วนอธิบายศัพท์ในคัมภีร์ไบเบิล
ก ข ค ฆ ง จ ฉ ช ซ ด ต ถ ท น บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ศ ส ห อ ฮ
ก
กฎหมายของโมเสส
กรีก
กลับใจ
กองเรือทาร์ชิช
การทรยศ
การประทับ
ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำนี้หมายถึงการประทับของพระเยซูคริสต์ในฐานะกษัตริย์เมสสิยาห์ ซึ่งเริ่มต้นตอนที่ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์บนสวรรค์ในช่วงสมัยสุดท้ายของโลกนี้ การประทับของพระคริสต์ไม่ได้หมายถึงการมาถึงแล้วก็จากไปอย่างรวดเร็ว แต่ครอบคลุมช่วงเวลาหนึ่ง—มธ 24:3
การรับภรรยาม่ายของพี่ชายหรือน้องชายมาเป็นภรรยา
การอัศจรรย์
กำยาน
ยางไม้แห้งที่ได้จากต้นไม้หรือพืชบางชนิดในสกุล Boswellia เมื่อเผาแล้วจะมีกลิ่นหอม เป็นส่วนผสมในเครื่องหอมที่ใช้ในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์และวิหาร มักถวายพร้อมกับเครื่องบูชาที่ทำจากเมล็ดข้าวและวางบนขนมปังแต่ละตั้งซึ่งอยู่ในห้องบริสุทธิ์—อพย 30:34-36; ลนต 2:1; 24:7; มธ 2:11
กิเลอาด
จริง ๆ แล้วหมายถึงพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนทั้งทางเหนือและทางใต้ของหุบเขายับบอก แต่บางครั้งมีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงเขตแดนทั้งหมดของอิสราเอลทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน ซึ่งเป็นที่อยู่ของตระกูลรูเบน กาด และครึ่งตระกูลมนัสเสห์ (กดว 32:1; ยชว 12:2; 2พก 10:33)—ดูภาคผนวก ข4
กิททีธ
ศัพท์ทางดนตรีที่ไม่รู้ความหมายแน่ชัด แต่ดูเหมือนมีรากศัพท์มาจากคำว่า กัท ในภาษาฮีบรู บางคนเชื่อว่าอาจเป็นทำนองของเพลงที่ร้องกันตอนทำเหล้าองุ่น เพราะคำว่า กัท หมายถึงบ่อย่ำองุ่น—สด 81:0
เกราห์
หน่วยน้ำหนัก เท่ากับ 0.57 กรัม เทียบเท่ากับ 1 ใน 20 เชเขล (ลนต 27:25)—ดูภาคผนวก ข14
เกเฮนนา
ชื่อภาษากรีกของหุบเขาฮินโนม ซึ่งอยู่ทางใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเยรูซาเล็มโบราณ (ยรม 7:31) มีการพยากรณ์ไว้ว่าที่นั่นจะกลายเป็นที่ทิ้งศพ (ยรม 7:32; 19:6) ไม่มีหลักฐานเลยว่าสัตว์หรือมนุษย์ที่ถูกทิ้งในเกเฮนนาถูกเผาทั้งเป็นหรือถูกทรมาน จึงไม่ถูกต้องที่จะใช้สถานที่นี้เป็นสัญลักษณ์ของแดนทรมานที่วิญญาณมนุษย์จะถูกทรมานด้วยไฟตลอดไป แต่พระเยซูและสาวกของท่านใช้คำว่าเกเฮนนาเป็นสัญลักษณ์ของการลงโทษตลอดไปด้วย “ความตายชนิดที่สอง” ซึ่งหมายถึงการทำลายให้สาบสูญ—วว 20:14; มธ 5:22; 10:28
เก็บข้าวตก
การเก็บรวงข้าวที่คนเกี่ยวทำตกโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจในทุ่งนา กฎหมายของโมเสสห้ามไม่ให้เกี่ยวข้าวริมคันนาจนหมด หรือเก็บผลมะกอกหรือองุ่นจนหมดต้น พระเจ้าให้คนยากจน คนตกทุกข์ได้ยาก คนต่างชาติ ลูกกำพร้าพ่อ และแม่ม่ายมีสิทธิ์เก็บข้าวตกหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยวแล้ว—นรธ 2:7
แกลบ
ข
ขนมปังถวาย
ขนมปัง 12 อันที่วางซ้อนกัน 2 ตั้ง ตั้งละ 6 อันบนโต๊ะในห้องบริสุทธิ์ของเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์และวิหาร บางครั้งเรียกว่า “ขนมปังที่วางซ้อนกัน” หรือ “ขนมปังที่ตั้งถวาย” มีการเปลี่ยนขนมปังใหม่ทุกวันสะบาโต ปกติแล้ว ปุโรหิตเท่านั้นที่มีสิทธิ์กินขนมปังซึ่งถูกเปลี่ยนออกไป (2พศ 2:4; มธ 12:4; อพย 25:30; ลนต 24:5-9; ฮบ 9:2)—ดูภาคผนวก ข5
ขนมปังที่ตั้งถวาย—
ดูคำว่า “ขนมปังถวาย”
ของบรรณาการ
สิ่งที่รัฐหนึ่งหรือกษัตริย์องค์หนึ่งจ่ายให้กับอีกรัฐหนึ่งหรือกษัตริย์อีกองค์หนึ่งเพื่อแสดงว่ายอมอยู่ใต้อำนาจ เพื่อรักษาไมตรีต่อกัน หรือเพื่อขอการคุ้มครอง (2พก 3:4; 18:14-16; 2พศ 17:11) ในภาษาฮีบรู คำนี้อาจหมายถึงภาษีหรือค่าอากรที่เรียกเก็บจากประชาชนด้วย—นหม 5:4; รม 13:7
ของประกัน, ของค้ำประกัน
ของส่วนตัวที่ลูกหนี้เอามาให้เจ้าหนี้เพื่อรับประกันว่าจะจ่ายเงินที่กู้มา กฎหมายของโมเสสมีข้อกำหนดหลายข้อเกี่ยวกับของประกัน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่ยากจนและไม่สามารถปกป้องตัวเองได้—อพย 22:26; อสค 18:7
ขันที
ความหมายตรงตัวคือผู้ชายที่ถูกตอน ซึ่งมักจะได้รับมอบหมายให้ทำงานในราชสำนัก เช่น เป็นคนรับใช้หรือคนดูแลราชินีและนางสนม คำนี้ยังหมายถึงผู้ชายที่ไม่ได้ถูกตอนแต่ทำงานเป็นข้าราชการในราชสำนักของกษัตริย์ด้วย สำนวนที่ว่า ‘เป็นขันทีเพื่อรัฐบาลสวรรค์’ หมายถึงคนที่ควบคุมตัวเองเพื่อจะทำงานรับใช้พระเจ้าได้อย่างเต็มที่—มธ 19:12; อสธ 2:15; กจ 8:27
ขาบ
มาตราตวงของแห้ง เท่ากับ 1.22 ลิตร โดยคำนวณจากปริมาตรโดยประมาณของมาตราบัท (2พก 6:25)—ดูภาคผนวก ข14
ข่าวดี
ขื่อ
ขุมลึก
เขา, เขาสัตว์
ค
คทา
ไม้ที่ผู้มีอำนาจปกครองถือ เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจกษัตริย์—ปฐก 49:10; ฮบ 1:8
คนกลาง
คนทรง
คนที่อ้างว่าพูดคุยกับคนตายได้—ลนต 20:27; ฉธบ 18:10-12; 2พก 21:6
คนที่มีอิสระ, คนที่ได้รับอิสระ
ในช่วงการปกครองของจักรวรรดิโรมัน “คนที่มีอิสระ” หมายถึงคนที่มีอิสระมาตั้งแต่เกิดและมีสิทธิพลเมืองอย่างครบถ้วน ส่วน “คนที่ได้รับอิสระ” หมายถึงได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาส คนที่ได้รับอิสระอย่างเป็นทางการจะได้รับสิทธิเป็นพลเมืองโรมัน แต่ไม่สามารถมีตำแหน่งทางการเมืองได้ ส่วนคนที่ได้รับอิสระอย่างไม่เป็นทางการจะได้พ้นจากการเป็นทาส แต่ไม่ได้รับสิทธิพลเมืองอย่างครบถ้วน—1คร 7:22
คนเฝ้ายาม, คนยาม
คนที่คอยระวังรักษาความปลอดภัยให้กับคนหรือสถานที่โดยเฉพาะในตอนกลางคืน และคอยส่งสัญญาณเตือนเมื่อเห็นว่ากำลังมีภัย คนเฝ้ายามมักจะอยู่บนกำแพงเมืองและหอคอยเพื่อสังเกตดูคนที่กำลังเข้ามาใกล้เมือง คนเฝ้ายามในกองทัพเรียกว่าทหารยาม พวกผู้พยากรณ์ทำหน้าที่เหมือนคนเฝ้ายามให้กับชาติอิสราเอลเพื่อเตือนว่าพวกเขากำลังจะถูกทำลาย—2พก 9:20; อสค 3:17
คริสเตียน
ครูสอนศาสนา
ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเรียกว่า ผู้คัดลอก ในสมัยที่พระเยซูมาบนโลก ครูสอนศาสนาคือกลุ่มคนที่เชี่ยวชาญกฎหมายของโมเสส และเป็นพวกที่ต่อต้านพระเยซู—มก 12:38, 39; 14:1
ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่
มาจากคำภาษากรีกที่สื่อแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งที่น่าพึงพอใจและดึงดูดใจ มักมีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงของขวัญที่ให้ด้วยความกรุณาและเอ็นดู ดังนั้น ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจึงหมายถึงของขวัญที่พระเจ้าให้อย่างใจกว้างโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ซึ่งแสดงว่าพระองค์มีน้ำใจเอื้อเฟื้อและมีความรักความกรุณาต่อมนุษย์อย่างล้นเหลือ บางครั้งมีการแปลคำภาษากรีกคำนี้ด้วยว่า “ความชื่นชอบ” และ “ของขวัญ” ซึ่งแสดงถึงการให้ที่เกิดจากความเอื้อเฟื้อของผู้ให้ล้วน ๆ ไม่ใช่การให้เพื่อตอบแทนบุญคุณหรือตอบแทนความดีของผู้รับ—2คร 6:1; อฟ 1:7
ความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่
คำภาษากรีกที่แปลว่า “ความทุกข์ยากลำบาก” ถ่ายทอดแนวคิดของความทุกข์หรือความเจ็บปวดที่เกิดจากการถูกกดดันในสภาพการณ์ต่าง ๆ พระเยซูพูดถึง “ความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่” ที่ไม่เคยมีมาก่อนซึ่งจะเกิดขึ้นกับกรุงเยรูซาเล็ม และที่สำคัญจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ทั่วโลกในอนาคตเมื่อท่าน ‘มาด้วยรัศมีแรงกล้า’ (มธ 24:21, 29-31) เปาโลบอกว่าความทุกข์ยากลำบากนี้เป็นการกระทำที่ยุติธรรมของพระเจ้าเพื่อลงโทษ “คนที่ไม่รู้จักพระเจ้าและคนที่ไม่เชื่อฟังข่าวดี” เรื่องพระเยซูคริสต์ ในหนังสือวิวรณ์บท 19 บอกว่าพระเยซูจะนำกองกำลังสวรรค์มาต่อสู้กับ “สัตว์ร้ายนั้นกับพวกกษัตริย์บนโลก และกองทัพของพวกเขา” (2ธส 1:6-8; วว 19:11-21) แต่จะมี “ชนฝูงใหญ่” รอดผ่านความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่นั้น (วว 7:9, 14)—ดูคำว่า “อาร์มาเกดโดน”
ความรักที่มั่นคง
ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
ความรู้สึกในตัวมนุษย์ที่บอกว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำ ในคัมภีร์ไบเบิล คำภาษากรีกที่แปลว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนั้นแปลตรงตัวว่า “ความรู้ร่วมกัน” หรือ “ความรู้ร่วมกับตัวเอง” นั่นแสดงว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีสามารถตัดสินการกระทำของเรา ฟ้องเราเมื่อทำผิด หรือทำให้เรารู้สึกสบายใจเมื่อทำถูก ความรู้สึกผิดชอบชั่วดียังเตือนเราก่อนที่จะทำผิดด้วย—รม 2:14, 15; 9:1
ความลับศักดิ์สิทธิ์
ความเลื่อมใสพระเจ้า
คานาอัน
หลานชายของโนอาห์และลูกชายคนที่ 4 ของฮาม ต่อมา ลูกหลานของคานาอัน 11 ตระกูลมาอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนระหว่างอียิปต์กับซีเรีย บริเวณนี้จึงเรียกว่า “แผ่นดินคานาอัน” (ลนต 18:3; ปฐก 9:18; กจ 13:19)—ดูภาคผนวก ข4
ค่าไถ่
ราคาที่จ่ายเพื่อให้ปลดปล่อยจากการถูกกักขังหรือกักตัว จากการลงโทษ การทนทุกข์ บาป หรือข้อผูกมัดบางอย่าง ค่าไถ่ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินเสมอไป (อสย 43:3) มีหลายสถานการณ์ที่กำหนดไว้ว่าต้องจ่ายค่าไถ่ เช่น พระยะโฮวาถือว่าลูกชายคนโตทุกคนและลูกสัตว์ตัวผู้ตัวแรกทุกตัวเป็นของพระองค์ พวกอิสราเอลจึงต้องจ่ายค่าไถ่สำหรับลูกชายคนโตเพื่อไถ่เขาจากหน้าที่ในงานรับใช้พระยะโฮวา และต้องจ่ายค่าไถ่สำหรับสัตว์ตัวผู้ตัวแรกแทนที่จะถวายกับพระองค์ (กดว 3:45, 46; 18:15, 16) ถ้าคนหนึ่งมีวัวที่เขารู้ว่าดุร้ายแต่ไม่ได้ขังมันไว้ แล้วมันไปขวิดคนอื่นตาย เจ้าของวัวจะต้องจ่ายค่าไถ่สำหรับตัวเอง เขาถึงจะพ้นโทษประหารชีวิต (อพย 21:29, 30) แต่จะจ่ายค่าไถ่สำหรับคนที่เจตนาฆ่าคนไม่ได้ (กดว 35:31) และที่สำคัญที่สุด คัมภีร์ไบเบิลเน้นค่าไถ่ของพระคริสต์ที่สละชีวิตของท่านเพื่อปลดปล่อยมนุษย์ที่เชื่อฟังให้พ้นจากบาปและความตาย—สด 49:7, 8; มธ 20:28; อฟ 1:7
คำพยากรณ์
ข่าวสารที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า อาจเป็นการเปิดเผยหรือประกาศให้รู้ความประสงค์ของพระองค์ คำพยากรณ์อาจเป็นคำสอน คำสั่ง หรือคำพิพากษาของพระเจ้า หรือเป็นการประกาศให้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต—อสค 37:9, 10; ดนล 9:24; มธ 13:14; 2ปต 1:20, 21
คิสเลฟ
หลังจากชาวยิวกลับจากบาบิโลน คิสเลฟเป็นชื่อเดือนที่ 9 ตามปฏิทินทางศาสนาของยิวและเดือนที่ 3 ตามปฏิทินการเกษตร เริ่มจากกลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคม (นหม 1:1; ศคย 7:1)—ดูภาคผนวก ข15
คืบ
มาตราวัดความยาว มีความยาวโดยประมาณเท่ากับระยะจากปลายนิ้วหัวแม่มือถึงปลายนิ้วก้อยเมื่อกางมือเต็มที่ เมื่อคำนวณจากมาตราศอกซึ่งยาว 44.5 ซม. 1 คืบจะยาว 22.2 ซม. (อพย 28:16; 1ซม 17:4)—ดูภาคผนวก ข14
เคโมช
เทพเจ้าสูงสุดของชาวโมอับ—1พก 11:33
เครูบ
ทูตสวรรค์ที่มีตำแหน่งสูงและมีหน้าที่พิเศษ เป็นคนละกลุ่มกับเสราฟ—ปฐก 3:24; อพย 25:20; อสย 37:16; ฮบ 9:5
เคลเดีย, ชาวเคลเดีย
เดิมหมายถึงแผ่นดินและผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส ต่อมา คำนี้หมายถึงแผ่นดินบาบิโลเนียทั้งหมดและหมายถึงคนที่อยู่ที่นั่นด้วย คำว่า “ชาวเคลเดีย” ยังหมายถึงกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงซึ่งศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษา และดาราศาสตร์ แต่ก็ใช้เวทมนตร์คาถาและโหราศาสตร์ด้วย—อสร 5:12; ดนล 4:7; กจ 7:4
เครื่องบูชา
สิ่งที่นำมาถวายพระเจ้าเพื่อแสดงความขอบคุณ หรือแสดงการยอมรับผิด และเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพระเจ้า ตั้งแต่อาเบลเป็นต้นมา มนุษย์ถวายหลายสิ่งเป็นเครื่องบูชาด้วยความสมัครใจ เช่น สัตว์ต่าง ๆ แต่เมื่อมีกฎหมายของโมเสส การถวายเครื่องบูชาก็กลายเป็นข้อเรียกร้อง หลังจากพระเยซูสละชีวิตของท่านเป็นเครื่องบูชาที่สมบูรณ์แล้ว เครื่องบูชาที่เป็นสัตว์ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป ทุกวันนี้ คริสเตียนก็ยังถวายเครื่องบูชาให้พระเจ้าอยู่ แต่เป็นในรูปแบบอื่น เช่น คำพูดและการกระทำที่ทำให้พระเจ้าพอใจ—ปฐก 4:4; ฮบ 13:15, 16; 1ยน 4:10
เครื่องบูชาขอบคุณ
เครื่องบูชาผูกมิตรแบบหนึ่งที่ถวายเพื่อยกย่องสรรเสริญพระเจ้าเพราะพระองค์ให้สิ่งดี ๆ และมีความรักที่มั่นคง จะมีการกินเนื้อสัตว์ที่ถวายเป็นเครื่องบูชากับขนมปังที่ใส่เชื้อและไม่ใส่เชื้อ และจะต้องกินเนื้อสัตว์นั้นในวันเดียวกับที่ถวายเครื่องบูชา—2พศ 29:31
เครื่องบูชาดื่ม
เครื่องบูชาไถ่ความผิด
เครื่องบูชาสำหรับบาปที่แต่ละคนทำไป แตกต่างจากเครื่องบูชาไถ่บาปอื่น ๆ เล็กน้อยในแง่ที่ว่า เครื่องบูชาไถ่ความผิดนี้ช่วยให้คนที่ถวายได้สิทธิ์บางอย่างกลับคืนมา ซึ่งเป็นสิทธิ์ตามกฎหมายของโมเสสที่เขาสูญเสียไปเพราะทำบาป และเพื่อให้เขาพ้นโทษ—ลนต 7:37; 19:22; อสย 53:10
เครื่องบูชาไถ่บาป
เครื่องบูชาผูกมิตร
เครื่องบูชาที่ถวายพระยะโฮวาเพื่อจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระองค์ คนที่เอาเครื่องบูชามาถวายและคนในบ้านของเขา รวมทั้งปุโรหิตที่เป็นคนถวายกับพวกปุโรหิตที่เข้าเวรจะกินส่วนหนึ่งของเครื่องบูชานั้น ส่วนเลือดซึ่งหมายถึงชีวิตและกลิ่นหอมจากการเผามันสัตว์ที่เป็นเครื่องบูชาจะถวายให้กับพระยะโฮวา จึงเหมือนกับว่าปุโรหิตและคนที่เอาเครื่องบูชามาถวายได้นั่งกินอาหารกับพระยะโฮวา ซึ่งแสดงถึงมิตรภาพที่ดีต่อกัน—ลนต 7:29, 32; ฉธบ 27:7
เครื่องบูชาเผา
เครื่องบูชาที่เป็นสัตว์ซึ่งถูกเผาบนแท่นบูชาเพื่อถวายให้พระเจ้าทั้งหมด ไม่มีส่วนไหนของสัตว์ (วัว แกะตัวผู้ แพะตัวผู้ นกเขา หรือลูกนกพิราบ) ที่ผู้ถวายเก็บไว้เอง—อพย 29:18; ลนต 6:9
เครื่องบูชายื่นถวาย
เครื่องบูชาแบบหนึ่งซึ่งดูเหมือนว่าปุโรหิตจะเอามือรองใต้มือของคนที่กำลังถวายเครื่องบูชาและแกว่งเครื่องบูชาไปด้วยกัน หรือปุโรหิตอาจจะแกว่งเครื่องบูชานั้นด้วยตัวเอง การทำอย่างนี้แสดงว่ากำลังยื่นถวายเครื่องบูชาให้พระยะโฮวา—ลนต 7:30
เครื่องบูชาสำหรับคำปฏิญาณ
เครื่องบูชาที่ถวายด้วยความสมัครใจและถวายเมื่อปฏิญาณ—ลนต 23:38; 1ซม 1:21
เครื่องหมาย, สัญญาณ, สัญลักษณ์
ในพระคัมภีร์ คำเหล่านี้หมายถึงการกระทำ เหตุการณ์ หรือสัญลักษณ์ที่ชี้ถึงหรือเป็นหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับอะไรบางอย่างในปัจจุบันหรืออนาคต—ปฐก 9:12, 13; 2พก 20:9; มธ 24:3; วว 1:1
เครื่องหมายอันบริสุทธิ์ที่แสดงถึงการอุทิศตัว
แถบทองคำบริสุทธิ์ที่เงาวาว มีข้อความสลักเป็นภาษาฮีบรูซึ่งแปลว่า “พระยะโฮวาบริสุทธิ์” คาดอยู่ที่ด้านหน้าผ้าโพกหัวของมหาปุโรหิต (อพย 39:30)—ดูภาคผนวก ข5
เครื่องหอม
ส่วนผสมของยางไม้หอมกับน้ำมันยา ซึ่งจะไหม้ช้า ๆ และให้กลิ่นหอม มีเครื่องหอมชนิดหนึ่งซึ่งปรุงพิเศษด้วยส่วนผสม 4 อย่างสำหรับใช้ที่เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์และที่วิหาร มีการเผาเครื่องหอมในตอนเช้าและตอนกลางคืนบนแท่นเผาเครื่องหอมในห้องบริสุทธิ์ แต่ในวันไถ่บาปจะมีการเผาเครื่องหอมในห้องบริสุทธิ์ที่สุด เครื่องหอมเป็นภาพแสดงถึงคำอธิษฐานของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ซึ่งเป็นคำอธิษฐานที่พระเจ้ายอมรับ การใช้เครื่องหอมไม่ใช่ข้อเรียกร้องสำหรับคริสเตียน—อพย 30:34, 35; ลนต 16:13; วว 5:8
เครื่องอาวุธ
เป็นชุดที่ทหารใส่เพื่อปกป้องตัวเอง มีทั้งหมวกเกราะ เสื้อเกราะ เข็มขัด เกราะหุ้มแข้ง และโล่—1ซม 31:9; อฟ 6:13-17
แคสเซีย
เปลือกไม้ของต้นแคสเซีย (Cinnamomum cassia) อยู่ในตระกูลเดียวกับอบเชย ใช้ปรุงน้ำหอมและเป็นส่วนผสมของน้ำมันเจิมบริสุทธิ์—อพย 30:24; สด 45:8; อสค 27:19
โคระ
มาตราตวงของแห้งและของเหลว เท่ากับ 220 ลิตร โดยคำนวณจากปริมาตรโดยประมาณของมาตราบัท (1พก 5:11)—ดูภาคผนวก ข14
ฆ
เฆี่ยน
ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกหมายถึงการตีด้วยแส้ที่มีปุ่มหรือปม หรือมีปลายเป็นเงี่ยงที่แหลมคม—ยน 19:1
ง
งานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์
จ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
ในจักรวรรดิบาบิโลน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองคือพวกข้าราชการในเขตปกครองต่าง ๆ ที่รู้กฎหมายและมีอำนาจในการตัดสินใจระดับหนึ่ง แต่ในดินแดนที่เป็นอาณานิคมของโรมัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองคือพวกผู้บริหารในรัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย บริหารจัดการเรื่องเงิน ตัดสินคนที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และสั่งลงโทษคนที่ทำผิด—ดนล 3:2; กจ 16:20
เจิม
คำนี้ในภาษาฮีบรูหมายความว่า “ทาด้วยของเหลว” เป็นการใช้น้ำมันเจิมคนหรือวัตถุสิ่งของเพื่อแยกไว้สำหรับงานอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกยังใช้คำนี้เพื่อหมายถึงการเทพลังบริสุทธิ์ลงบนคนที่ถูกเลือกให้มีความหวังที่จะไปสวรรค์ด้วย—อพย 28:41; 1ซม 16:13; 2คร 1:21
ฉ
ฉลาก
อาจเป็นก้อนกรวด เศษไม้ หรือก้อนหินที่เอามาใช้ในการตัดสิน มีการใส่ฉลากเข้าไปในอกเสื้อหรือภาชนะอย่างหนึ่งแล้วเขย่า ฉลากที่หล่นออกมาหรือถูกจับออกมาจะเป็นฉลากที่ถูกเลือก และมักจะจับฉลากพร้อมกับการอธิษฐาน—ยชว 14:2; สภษ 16:33; มธ 27:35
ช
ช่วยเหลือคนจน, ให้ทาน
การให้ความช่วยเหลือคนที่ขัดสน ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ตรง ๆ แต่กฎหมายของโมเสสกำหนดไว้ว่าชาวอิสราเอลมีหน้าที่ต้องช่วยเหลือคนจน—มธ 6:2
ช่างปั้นหม้อ
คนที่ปั้นหม้อ จาน และภาชนะอื่น ๆ จากดินเหนียวแล้วเอาไปเผา คำนี้ในภาษาฮีบรูแปลตรงตัวว่า “ผู้ทำให้เป็นรูปเป็นร่าง” การที่ช่างปั้นหม้อจะทำอะไรกับดินเหนียวก็ได้มักเป็นภาพเปรียบเทียบถึงอำนาจยิ่งใหญ่สูงสุดของพระยะโฮวาที่อยู่เหนือมนุษย์หรือชาติต่าง ๆ—อสย 64:8; รม 9:21
ชาวนาซาเร็ธ
ชื่อเรียกพระเยซูซึ่งมาจากเมืองนาซาเร็ธ คำนี้อาจเกี่ยวข้องกับคำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “หน่อ” ในอิสยาห์ 11:1 ต่อมา มีการใช้คำนี้กับสาวกของพระเยซูด้วย—มธ 2:23; กจ 24:5
ชาวสะมาเรีย
เดิมทีหมายถึงชาวอิสราเอลที่อยู่ในอาณาจักร 10 ตระกูลทางเหนือ แต่หลังจากชาวอัสซีเรียยึดครองสะมาเรียในปี 740 ก่อน ค.ศ. คำว่า “ชาวสะมาเรีย” ก็รวมเอาคนต่างชาติที่ชาวอัสซีเรียพามาอยู่ที่สะมาเรียด้วย ในสมัยของพระเยซู คำนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติหรือเขตการปกครอง แต่มักจะหมายถึงสมาชิกของนิกายหนึ่งซึ่งอยู่ในแถบเมืองเชเคมโบราณและสะมาเรีย คนที่นับถือนิกายนี้มีความเชื่อต่างกันมากกับคนในศาสนายิว—ยน 8:48
เชเขล
หน่วยน้ำหนักและหน่วยเงินตราของชาวฮีบรู เท่ากับ 11.4 กรัม คำว่า ‘เชเขลของสถานบริสุทธิ์’ อาจเป็นคำที่ใช้เน้นว่าน้ำหนักต้องเที่ยงตรง หรือต้องเท่ากับตุ้มน้ำหนักมาตรฐานซึ่งเก็บไว้ที่เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ อาจมีเชเขลหลวง (ต่างจากเชเขลทั่วไป) หรือตุ้มน้ำหนักมาตรฐานที่เก็บไว้ในวัง—อพย 30:13
เชบัท
หลังจากชาวยิวเป็นเชลยในบาบิโลน เชบัทเป็นชื่อเดือนที่ 11 ตามปฏิทินทางศาสนาของชาวยิวและเดือนที่ 5 ตามปฏิทินการเกษตร เริ่มจากกลางเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ (ศคย 1:7)—ดูภาคผนวก ข15
เชมินิท
ศัพท์ทางดนตรีที่มีความหมายตรงตัวว่า “คู่แปด” ซึ่งอาจหมายถึงช่วงเสียงต่ำของดนตรี คำนี้อาจหมายถึงเครื่องดนตรีที่ให้เสียงเบสในบันไดเสียง หรืออาจหมายถึงเสียงดนตรีประกอบและเสียงร้องในช่วงเสียงต่ำ—1พศ 15:21; สด 6:0; 12:0
เชือกเหวี่ยงก้อนหิน
เชือกที่ทำจากหนังหรือถักจากเอ็นสัตว์ ใยพืช หรือขนสัตว์ ตอนกลางของเชือกจะกว้างขึ้นเพื่อเอาไว้ใส่ก้อนหิน ปลายข้างหนึ่งของเชือกจะพันไว้กับมือหรือข้อมือ ปลายอีกข้างหนึ่งถือไว้ในมือและจะปล่อยออกไปเมื่อเหวี่ยงก้อนหิน ชาติต่าง ๆ สมัยโบราณมีทหารที่ใช้เชือกเหวี่ยงก้อนหินอยู่ในกองทัพ—วนฉ 20:16; 1ซม 17:50
เชื้อ
สิ่งที่ใส่ลงในแป้งหรือของเหลวเพื่อให้เกิดการหมัก ส่วนใหญ่แล้วเป็นแป้งเชื้อที่แบ่งเก็บไว้จากการหมักครั้งก่อน ในคัมภีร์ไบเบิลมักใช้คำนี้เป็นภาพแสดงถึงบาปและความเสื่อมเสีย และยังหมายถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีใครสังเกต (อพย 12:20; มธ 13:33; กท 5:9) ในคัมภีร์ไบเบิลยังพูดถึงขนมปังไม่ใส่เชื้อด้วย—ฉธบ 16:3; มก 14:12; 1คร 5:8
เชื้อรา
โรคจากปรสิตที่เกิดกับพืช มีหลายชนิด เชื้อราที่คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงอาจเป็นโรคราสนิม (Puccinia graminis)—1พก 8:37
แช่ง, สาปแช่ง
พูดมุ่งร้ายให้เป็นอันตรายร้ายแรงทั้งต่อบางคนหรือบางสิ่ง การสาปแช่งไม่ใช่การหมิ่นประมาทหรือความโกรธที่รุนแรง ส่วนใหญ่แล้วการสาปแช่งเป็นการประกาศคำพิพากษาหรือการบอกล่วงหน้าว่าจะมีเรื่องร้าย ๆ เกิดขึ้น ในกรณีที่พระเจ้าหรือคนที่ได้รับมอบอำนาจจากพระเจ้าเป็นผู้สาปแช่ง การสาปแช่งนั้นจะเป็นเหมือนคำพยากรณ์ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน—ปฐก 12:3; กดว 22:12; กท 3:10
ซ
ซาตาน
ซีห์
มาตราตวงของแห้ง เมื่อคำนวณโดยอาศัยความจุของบัทซึ่งเป็นมาตราตวงของเหลว 1 ซีห์จะเท่ากับ 7.33 ลิตร (2พก 7:1)—ดูภาคผนวก ข14
ซีซาร์
นามสกุลหนึ่งของชาวโรมันซึ่งต่อมากลายเป็นชื่อตำแหน่งของจักรพรรดิโรมัน คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงชื่อซีซาร์บางองค์ เช่น ออกัสตัส ทิเบริอัส และคลาวดิอัส และยังพูดถึงเนโรด้วยถึงแม้ไม่ได้เอ่ยชื่อเขาโดยตรง ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำว่า “ซีซาร์” ยังหมายถึงเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรืออำนาจรัฐด้วย—มก 12:17; กจ 25:12
ซีเรีย, ชาวซีเรีย—
ดูคำว่า “อารัม, ชาวอารัม”
ซุส
เทพเจ้าองค์สูงสุดในบรรดาเทพเจ้าหลายองค์ของชาวกรีก ฝูงชนในเมืองลิสตราเคยเข้าใจผิดว่าบาร์นาบัสเป็นเทพซุส คำจารึกโบราณที่พบใกล้เมืองลิสตราก็พูดถึง “ปุโรหิตของซุส” และ “สุริยเทพซุส” เรือที่เปาโลใช้เดินทางจากเกาะมอลตามีสัญลักษณ์ที่หัวเรือเป็น “ลูกแฝดของซุส” คือ แคสเตอร์กับพอลลักซ์—กจ 14:12; 28:11
แซนเฮดริน
ด
ดรัคมา
คำนี้ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกหมายถึงเหรียญเงินของกรีก ในสมัยนั้นหนัก 3.4 กรัม ส่วนในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู มีการพูดถึงเหรียญดรัคมาทองคำในสมัยของเปอร์เซียซึ่งมีค่าเท่ากับเหรียญดาริค (นหม 7:70; มธ 17:24)—ดูภาคผนวก ข14
ดาโกน
พระของชาวฟีลิสเตีย ที่มาของคำนี้ไม่ทราบแน่ชัด แต่นักวิชาการบางคนบอกว่ามาจากคำว่า ดากห์ (ปลา) ในภาษาฮีบรู—วนฉ 16:23; 1ซม 5:4
ดาริค
เหรียญทองคำของเปอร์เซีย มีน้ำหนัก 8.4 กรัม (1พศ 29:7)—ดูภาคผนวก ข14
ดาวประกายพรึก
ดาวรุ่ง—
ดูคำว่า “ดาวประกายพรึก”
เดคาโปลิส
ชื่อเรียกเมืองของชาวกรีกที่นับรวมกันเป็นกลุ่ม ตอนแรกมี 10 เมือง (มาจากคำภาษากรีก เดคา แปลว่า “สิบ” กับ โปลิส แปลว่า “เมือง”) นอกจากนี้ยังเป็นชื่อเขตที่อยู่ฝั่งตะวันออกของทะเลสาบกาลิลีและแม่น้ำจอร์แดนซึ่งเป็นบริเวณที่เมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ เมืองเหล่านี้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและการค้าของกรีก พระเยซูเคยเดินทางผ่านเขตนี้ แต่ไม่มีบันทึกว่าท่านแวะที่เมืองใดเมืองหนึ่งของเขตนี้ (มธ 4:25; มก 5:20)—ดูภาคผนวก ก7 และ ข10
เดนาริอัน
เหรียญเงินของโรมัน หนักประมาณ 3.85 กรัม และมีรูปของซีซาร์อยู่ด้านหนึ่ง เดนาริอันเป็นค่าแรงสำหรับ 1 วันและเป็นเหรียญที่ใช้เสีย “ภาษี” (ภาษีรายหัว) ที่ชาวโรมันเรียกเก็บจากชาวยิว (มธ 22:17; ลก 20:24)—ดูภาคผนวก ข14
ต
ต้นไม้ที่ให้ชีวิต
ต้นไม้ที่ให้รู้ดีรู้ชั่ว
ตรา, ตราประทับ, ดวงตรา
เครื่องหมายที่ใช้ประทับ (บนดินเหนียวหรือขี้ผึ้ง) เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ยืนยันว่าเป็นของจริง หรือทำข้อตกลง ตราประทับในสมัยโบราณอาจเป็นหิน งาช้าง หรือไม้ซึ่งมีตัวอักษรหรือลวดลายที่สลักกลับด้าน คำว่า “ตรา” หรือ “ดวงตรา” ยังใช้เป็นภาพเปรียบเทียบว่าสิ่งที่ถูกประทับตราเป็นของจริง หรือมีเจ้าของแล้ว หรือเป็นสิ่งที่ถูกปิดซ่อนไว้หรือเป็นความลับ—อพย 28:11; นหม 9:38; วว 5:1; 9:4
ตะลันต์
หน่วยน้ำหนักที่หนักที่สุดและหน่วยเงินตราที่มีมูลค่าสูงสุดของชาวฮีบรู หนัก 34.2 กก. ตะลันต์ของกรีกจะมีน้ำหนักน้อยกว่า หนักประมาณ 20.4 กก. (1พศ 22:14; มธ 18:24)—ดูภาคผนวก ข14
ตั๊กแตน
แมลงที่อพยพย้ายถิ่นเป็นฝูงใหญ่ ตามกฎหมายของโมเสส ตั๊กแตนเป็นสัตว์สะอาดที่กินเป็นอาหารได้ ตั๊กแตนฝูงใหญ่กัดกินทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในเส้นทางอพยพของมันและทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติอย่างหนึ่ง—อพย 10:14; มธ 3:4
ตัวชั่วร้าย
เต็นท์เข้าเฝ้า
เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์
เต็นท์ที่ชาวอิสราเอลใช้นมัสการพระเจ้าหลังจากอพยพออกจากอียิปต์ เป็นเต็นท์ที่เคลื่อนย้ายได้ เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เก็บหีบสัญญาของพระยะโฮวาซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าพระเจ้าอยู่กับพวกเขา และใช้เป็นสถานที่สำหรับถวายเครื่องบูชาและนมัสการพระเจ้า บางครั้งเรียกว่า “เต็นท์เข้าเฝ้า” โครงสร้างของเต็นท์มีลักษณะเป็นแผ่นไม้หลายแผ่นประกอบเข้าด้วยกันมีโครงเป็นกรอบผนังที่ทำด้วยไม้ คลุมด้วยผ้าลินินที่ปักภาพเครูบ แบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องแรกเรียกว่าห้องบริสุทธิ์ ห้องที่สองเรียกว่าห้องบริสุทธิ์ที่สุด (ยชว 18:1; อพย 25:9)—ดูภาคผนวก ข5
เตาไฟ
เตาสำหรับถลุงแร่หรือหลอมโลหะ และใช้เผาเครื่องปั้นดินเผารวมทั้งเครื่องเคลือบอื่น ๆ ด้วย เตาไฟในสมัยพระคัมภีร์ก่อด้วยอิฐหรือหิน บางครั้งเตาไฟที่ใช้เผาเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบหรือปูนขาวถูกเรียกว่าเตาเผาด้วย—ปฐก 15:17; ดนล 3:17; วว 9:2
แตร
เครื่องเป่าทำด้วยโลหะ ใช้เป่าให้สัญญาณและเป่าเป็นเสียงดนตรี ในกันดารวิถี 10:2 บอกว่า พระยะโฮวาสั่งให้ทำแตรเงิน 2 ตัวสำหรับเป่าเพื่อเรียกประชุม เพื่อให้สัญญาณออกเดินทาง หรือเพื่อประกาศสงคราม แตรแบบนี้คงมีรูปทรงตรง ไม่โค้งงอเหมือนแตรเขาสัตว์ แตรเป็นเครื่องดนตรีอย่างหนึ่งที่ใช้ในวิหารด้วย แต่พระคัมภีร์ไม่ได้บอกลักษณะของแตรเหล่านี้ มักมีเสียงแตรควบคู่กับการประกาศคำพิพากษาของพระยะโฮวาหรือเหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ที่มาจากพระเจ้า—2พศ 29:26; อสร 3:10; 1คร 15:52; วว 8:7-11:15
ถ
ถุงหนัง
ถุงที่ทำจากหนังสัตว์ทั้งตัว เช่น แพะหรือแกะ เอาไว้ใส่เหล้าองุ่น ซึ่งมักจะใส่ในถุงหนังใหม่ เพราะขณะที่หมักอยู่ เหล้าองุ่นจะผลิตแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งทำให้เกิดความดัน ถุงหนังใหม่ก็จะขยาย ส่วนถุงหนังเก่าซึ่งไม่ยืดหยุ่นแล้วก็จะแตกเมื่อมีความดัน—ยชว 9:4; มธ 9:17
ถูกต้องชอบธรรม
ในพระคัมภีร์ หมายถึงสิ่งที่ถูกต้องตามมาตรฐานของพระเจ้า คำนี้ในภาษาฮีบรูและกรีกยังถูกแปลด้วยว่า ถูกต้อง ยุติธรรม เที่ยงธรรม ดี ซื่อสัตย์ นอกจากนั้น พระคัมภีร์ยังพูดถึงคนที่พระเจ้าถือว่าเป็นที่ยอมรับของพระองค์หรือมีความถูกต้องชอบธรรมด้วย ในกรณีนี้ พระองค์ถือว่าเขาไม่มีความผิด (กจ 13:38, 39) จึงรับเขาเป็นเพื่อนของพระองค์ได้ หรือถึงกับตัดสินว่าเขาคู่ควรกับสิทธิที่จะได้ชีวิตตลอดไป ที่พระเจ้าทำอย่างนี้ ไม่ใช่เพราะความดีความชอบของคนนั้น แต่เพราะเขามีความเชื่อในพระเยซูคริสต์—ปฐก 15:6; ฉธบ 6:25; สภษ 11:4; อสย 32:1; ศฟย 2:3; มธ 6:33; รม 3:24, 28; 5:18; ฮบ 7:2
ไถ่บาป
ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู การไถ่บาปเกี่ยวข้องกับการถวายเครื่องบูชาเพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาใกล้ชิดพระเจ้าและนมัสการพระองค์ กฎหมายของโมเสสกำหนดให้มีการถวายเครื่องบูชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันไถ่บาป เพื่อจะคืนดีกับพระเจ้าได้ ถึงแม้ประชาชนแต่ละคนและทั้งชาติจะยังมีบาปอยู่ เครื่องบูชาเหล่านี้เป็นภาพแสดงถึงเครื่องบูชาของพระเยซูซึ่งไถ่บาปให้มนุษย์ได้อย่างครบถ้วนในครั้งเดียว และทำให้ผู้คนมีโอกาสคืนดีกับพระยะโฮวา—ลนต 5:10; 23:28; คส 1:20; ฮบ 9:12
ท
ทับทรวง
กระเป๋าฝังอัญมณีที่มหาปุโรหิตของอิสราเอลสวมไว้ตรงหน้าอกทุกครั้งที่เข้าไปในห้องบริสุทธิ์ บางครั้งมีการเรียกว่า “ทับทรวงตัดสิน” เพราะมีอูริมกับทูมมิมใส่อยู่ข้างใน อูริมกับทูมมิมช่วยให้รู้คำตัดสินของพระยะโฮวา (อพย 28:15-30)—ดูภาคผนวก ข5
ทับทิม
ผลไม้ชนิดหนึ่งรูปร่างคล้ายแอปเปิล มีการทำรูปผลทับทิมตกแต่งที่ชายเสื้อยาวสีฟ้าไม่มีแขนของมหาปุโรหิต บนหัวเสาที่ชื่อยาคีนกับโบอาสซึ่งอยู่หน้าวิหารก็ตกแต่งด้วยรูปผลทับทิมเช่นกัน—อพย 28:34; กดว 13:23; 1พก 7:18
ทัมมุส
(1) ชื่อเทพเจ้าองค์หนึ่ง พวกผู้หญิงชาวฮีบรูในกรุงเยรูซาเล็มที่ทิ้งพระเจ้าเคยร้องไห้อาลัยถึงเทพเจ้าองค์นี้ เชื่อกันว่าพระทัมมุสเป็นกษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งถูกยกขึ้นเป็นเทพเจ้าหลังจากตายไปแล้ว ในข้อความจารึกของชาวสุเมเรียน พระทัมมุสมีอีกชื่อหนึ่งว่า ดูมูซี และเป็นสามีหรือคนรักของเทพธิดาอินันนาซึ่งเป็นเทพธิดาแห่งการเจริญพันธุ์ (อสค 8:14) (2) ชื่อเดือนที่ 4 ตามปฏิทินทางศาสนาของยิวหลังการเป็นเชลยในบาบิโลน และเป็นเดือนที่ 10 ตามปฏิทินการเกษตร เริ่มจากกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม—ดูภาคผนวก ข15
ทางนั้น, ทาง, แนวทาง
เป็นสำนวนที่ใช้ในพระคัมภีร์หมายถึงแนวทางการกระทำหรือความประพฤติที่พระยะโฮวาอาจจะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ได้ มีการพูดถึงสาวกของพระเยซูคริสต์ว่าอยู่ใน “ทางนั้น” ซึ่งหมายความว่าพวกเขาใช้ชีวิตตามความเชื่อที่มีในพระเยซูคริสต์ และเลียนแบบท่าน—กจ 19:9
ทาร์ทารัส
ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก หมายถึงสภาพตกต่ำของพวกทูตสวรรค์ที่ไม่เชื่อฟังในสมัยโนอาห์เหมือนถูกขังคุก ที่ 2 เปโตร 2:4 มีการใช้คำกริยา ตาร์ตาโร (“โยนลงไปในทาร์ทารัส”) แต่คำนี้ไม่ได้หมายความว่า “พวกทูตสวรรค์ที่ทำบาป” ถูกโยนลงไปในทาร์ทารัสแบบในเทพนิยายของคนทั่วไป (คือ คุกใต้ดินและที่มืดสำหรับเทพเจ้าชั้นต่ำ) แต่หมายความว่าพระเจ้าให้พวกเขาอยู่ในสภาพที่ตกต่ำ ไม่มีตำแหน่งหรือสิทธิพิเศษที่พวกเขาเคยมีในสวรรค์อีกต่อไป พระองค์ทำให้พวกเขาตกอยู่ในสภาพจิตใจที่มืดมิดที่สุดเพราะไม่รู้ความประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับอนาคต ทูตสวรรค์พวกนี้มีอนาคตที่มืดมนเพราะพระคัมภีร์บอกว่าพวกเขาจะถูกทำลายตลอดไปพร้อมกับมารซาตานที่ปกครองพวกเขา ดังนั้น ทาร์ทารัสจึงหมายถึงสภาพตกต่ำของทูตสวรรค์ที่กบฏ และไม่ใช่ “ขุมลึก” ที่พูดถึงในวิวรณ์ 20:1-3
ทิชรี—
ดูคำว่า “เอธานิม” และภาคผนวก ข15
ที่ประชุมของชาวยิว
มาจากคำที่แปลว่า “การรวมตัวกัน” หรือ “การชุมนุมกัน” แต่ในข้อคัมภีร์ส่วนใหญ่หมายถึงอาคารหรือสถานที่ที่ชาวยิวมารวมตัวกันเพื่ออ่านพระคัมภีร์ เพื่อสอน ประกาศ และอธิษฐาน ในสมัยพระเยซู เมืองใหญ่ ๆ ทุกเมืองในอิสราเอลมีที่ประชุมแบบนี้หนึ่งแห่ง แต่ถ้าเมืองไหนใหญ่มากก็จะมีมากกว่าหนึ่งแห่ง—ลก 4:16; กจ 13:14, 15
ที่ศักดิ์สิทธิ์
สถานที่บริสุทธิ์ซึ่งกำหนดไว้ให้เป็นที่สำหรับการนมัสการ แต่ส่วนใหญ่แล้วหมายถึงเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์หรือวิหารในกรุงเยรูซาเล็ม คำนี้ยังหมายถึงที่อยู่ของพระเจ้าในสวรรค์ด้วย—อพย 25:8, 9; 2พก 10:25; 1พศ 28:10; วว 11:19
ทูตสวรรค์
คำนี้มาจากคำภาษาฮีบรู มาลาค และคำภาษากรีก อังเกโลส ทั้งสองคำนี้แปลตรงตัวว่า “ผู้ส่งข่าว” แต่บางครั้งก็แปลว่า “ทูตสวรรค์” เพราะพวกเขาเป็นผู้ส่งข่าวของพระเจ้าที่มาจากสวรรค์ (ปฐก 16:7; 32:3; ยก 2:25; วว 22:8) ทูตสวรรค์มีฤทธิ์อำนาจและเป็นผู้ที่พระเจ้าสร้างขึ้น พระเจ้าสร้างพวกเขาก่อนที่จะสร้างมนุษย์เป็นเวลานาน บางครั้งในคัมภีร์ไบเบิลก็เรียกพวกเขาว่า “ผู้บริสุทธิ์นับหมื่นนับแสน” หรือ ‘ลูก ๆ ของพระเจ้า’ หรือ “ดาวรุ่งทั้งหลาย” (ฉธบ 33:2; โยบ 1:6; 38:7) ทูตสวรรค์ไม่ได้ถูกสร้างให้มีความสามารถที่จะมีลูกในหมู่พวกเขาเอง แต่พระเจ้าสร้างพวกเขาทีละองค์ และทูตสวรรค์มีจำนวนมากกว่าหนึ่งร้อยล้านองค์ (ดนล 7:10) คัมภีร์ไบเบิลช่วยให้รู้ว่าทูตสวรรค์แต่ละองค์มีชื่อและบุคลิกลักษณะเฉพาะตัว แต่พวกเขาก็ถ่อมตัวและไม่ยอมให้มนุษย์มากราบไหว้นมัสการ ทูตสวรรค์ส่วนใหญ่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อให้รู้ด้วยซ้ำ (ปฐก 32:29; ลก 1:26; วว 22:8, 9) ทูตสวรรค์มีตำแหน่งและหน้าที่แตกต่างกัน เช่น รับใช้อยู่หน้าบัลลังก์ของพระยะโฮวา เป็นผู้ส่งข่าวของพระองค์ ช่วยเหลือผู้รับใช้ของพระยะโฮวาบนโลก ทำหน้าที่ลงโทษตามคำพิพากษาของพระเจ้า หรือสนับสนุนงานประกาศข่าวดี (2พก 19:35; สด 34:7; ลก 1:30, 31; วว 5:11; 14:6) ในอนาคต ทูตสวรรค์จะช่วยพระเยซูต่อสู้ในสงครามอาร์มาเกดโดน—วว 19:14, 15
เทเบท
หลังจากชาวยิวเป็นเชลยในบาบิโลน เทเบทเป็นชื่อเดือนที่ 10 ตามปฏิทินทางศาสนาของยิวและเดือนที่ 4 ตามปฏิทินการเกษตร เริ่มจากกลางเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนมกราคม มักเรียกเดือนนี้ว่า “เดือน 10” (อสธ 2:16)—ดูภาคผนวก ข15
เทราฟิม
เทพเจ้าหรือรูปเคารพประจำครอบครัว บางครั้งมีการใช้เทราฟิมเพื่อหาลางบอกเหตุ (อสค 21:21) เทราฟิมอาจมีรูปร่างเหมือนคนและขนาดเท่ากับคนจริง ๆ แต่บางครั้งก็เป็นรูปปั้นเล็ก ๆ (ปฐก 31:34; 1ซม 19:13, 16) การค้นพบทางโบราณคดีในเมโสโปเตเมียบ่งบอกว่า คนที่มีรูปปั้นเทราฟิมจะเป็นคนที่ได้รับมรดกของครอบครัว (นี่อาจเป็นเหตุผลที่ราเชลเอาเทราฟิมของพ่อไป) ดูเหมือนว่าไม่ได้มีธรรมเนียมอย่างนี้ในอิสราเอล แต่ในสมัยผู้วินิจฉัยและกษัตริย์ก็ยังมีการใช้รูปเคารพเทราฟิม และเทราฟิมเป็นสิ่งหนึ่งที่กษัตริย์โยสิยาห์ผู้ซื่อสัตย์พยายามกำจัดให้หมด—วนฉ 17:5; 2พก 23:24; ฮชย 3:4
เทศกาลเก็บเกี่ยว—
ดูคำว่า “เพ็นเทคอสต์”
เทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อ
เป็นเทศกาลแรกในสามเทศกาลหลักประจำปีของชาวอิสราเอล เริ่มในวันที่ 15 เดือนนิสานถัดจากวันปัสกาและฉลองกันนาน 7 วัน ในช่วงเทศกาลจะกินแต่ขนมปังไม่ใส่เชื้อเพื่อระลึกถึงตอนอพยพออกจากอียิปต์—อพย 23:15; มก 14:1
เทศกาลฉลองการอุทิศวิหาร
เป็นวันระลึกถึงการชำระวิหารหลังจากที่กษัตริย์อันทิโอกุส เอพิฟาเนสทำให้วิหารไม่บริสุทธิ์ การฉลองนี้ทำกันทุกปีโดยเริ่มในวันที่ 25 เดือนคิสเลฟ และฉลองกันนาน 8 วัน—ยน 10:22
เทศกาลอยู่เพิง
บางครั้งเรียกว่าเทศกาลเก็บพืชผล จัดขึ้นในวันที่ 15-21 เดือนเอธานิม เพื่อฉลองการเก็บเกี่ยวตอนสิ้นปีการเพาะปลูกของชาวอิสราเอล เป็นเวลาที่จะรื่นเริงยินดีและขอบคุณพระยะโฮวาที่อวยพรให้พืชผลงอกงาม ในช่วงเทศกาลนี้ ประชาชนจะอยู่ในเพิงเพื่อระลึกถึงตอนที่พวกเขาอพยพออกจากอียิปต์ เป็นเทศกาลหนึ่งในสามเทศกาลที่พวกผู้ชายต้องไปฉลองที่กรุงเยรูซาเล็ม—ลนต 23:34; อสร 3:4
แท่งหินศักดิ์สิทธิ์
เสาที่มักทำจากหินและคงจะเป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชายที่ใช้แทนพระบาอัลหรือพระเท็จอื่น ๆ—อพย 23:24
แท่นบูชา
แท่นสำหรับถวายเครื่องบูชา แต่ถ้าใช้สำหรับถวายเครื่องหอมจะเรียกว่า แท่นเผาเครื่องหอม แท่นแบบนี้ทำขึ้นโดยเอาดินหรือหินมาก่อให้สูง หรือทำจากหินทั้งก้อน หรือทำจากไม้แล้วหุ้มด้วยโลหะก็ได้ ในห้องแรกของเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์และของวิหารจะมี “แท่นบูชาทองคำ” ขนาดเล็กสำหรับถวายเครื่องหอมซึ่งทำด้วยไม้หุ้มด้วยทองคำ นอกจากนั้น ยังมี “แท่นบูชาทองแดง” ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าสำหรับเครื่องบูชาเผาตั้งอยู่ในลานด้านนอกเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ (อพย 27:1; 39:38, 39; ปฐก 8:20; 1พก 6:20; 2พศ 4:1; ลก 1:11)—ดูภาคผนวก ข5 และ ข8
น
นะธีนิม
คนที่ทำงานรับใช้ในวิหารซึ่งไม่ใช่ชาวอิสราเอล คำนี้ในภาษาฮีบรูแปลตรงตัวว่า “คนที่ถูกมอบไว้” ซึ่งหมายความว่าพวกเขาถูกมอบไว้ให้ทำงานรับใช้ที่วิหาร ดูเหมือนว่านะธีนิมหลายคนเป็นลูกหลานชาวเมืองกิเบโอน ซึ่งโยชูวาเคยให้ทำงานเป็น “คนเก็บฟืนและตักน้ำให้ชาวอิสราเอล และตักน้ำเพื่อใช้สำหรับแท่นบูชาของพระยะโฮวา”—ยชว 9:23, 27; 1พศ 9:2; อสร 8:17
นารดา
น้ำมันหอมราคาแพง มีสีแดงอ่อน ได้จากต้นโกฐชฎามังสี (Nardostachys jatamansi) เนื่องจากราคาแพง จึงมักมีการเอาน้ำมันที่ด้อยกว่ามาผสม บางครั้งก็มีการปลอมแปลง แต่น่าสังเกต ทั้งมาระโกกับยอห์นบอกว่า น้ำมันหอมที่ใช้กับพระเยซูเป็น “น้ำมันหอมนารดาบริสุทธิ์”—มก 14:3; ยน 12:3
นาศีร์
มาจากคำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “คนที่ถูกเลือกออกมา” หรือ “คนที่อุทิศตัวไว้” หรือ “คนที่แยกตัวอยู่ต่างหาก” นาศีร์มีอยู่ 2 ประเภท คือ คนที่สมัครใจเป็นนาศีร์และคนที่พระเจ้าแต่งตั้งให้เป็นนาศีร์ ผู้ชายหรือผู้หญิงก็สามารถปฏิญาณตัวเป็นพิเศษว่าจะอยู่อย่างนาศีร์ช่วงหนึ่งเพื่อพระยะโฮวาได้ มีข้อห้ามหลัก ๆ 3 อย่างสำหรับคนที่สมัครใจปฏิญาณตัวเป็นนาศีร์ คือ ห้ามดื่มเครื่องดื่มมึนเมาหรือกินอะไรก็ตามที่มาจากต้นองุ่น ห้ามตัดผม และห้ามแตะต้องศพ คนที่พระเจ้าแต่งตั้งให้เป็นนาศีร์จะเป็นนาศีร์ไปตลอดชีวิต และพระยะโฮวาจะกำหนดว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง—กดว 6:2-7; วนฉ 13:5
นิกาย
กลุ่มคนที่ยึดถือหลักคำสอนบางอย่าง หรือติดตามผู้นำคนหนึ่ง และทำตามความเชื่อของกลุ่มนั้น ในพระคัมภีร์ใช้คำนี้กับสองนิกายใหญ่ ๆ ของศาสนายิว คือ ฟาริสีกับสะดูสี คนที่ไม่ใช่คริสเตียนก็เรียกศาสนาคริสต์ว่า “นิกาย” หรือ “นิกายของชาวนาซาเร็ธ” พวกเขาอาจมองว่าศาสนาคริสต์แตกออกมาจากศาสนายิว ต่อมา มีนิกายต่าง ๆ เกิดขึ้นในประชาคมคริสเตียน มีการพูดเจาะจงถึง “นิกายนิโคเลาส์” ในหนังสือวิวรณ์ด้วย—กจ 5:17; 15:5; 24:5; 28:22; วว 2:6; 2ปต 2:1
นิสาน
ชื่อใหม่ของเดือนอาบีบหลังจากชาวยิวเป็นเชลยในบาบิโลน เป็นเดือนแรกตามปฏิทินทางศาสนาของยิวและเดือนที่ 7 ตามปฏิทินการเกษตร เริ่มจากกลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน (นหม 2:1)—ดูภาคผนวก ข15
เนฟิล
พวกผู้ชายที่เป็นลูกครึ่งทูตสวรรค์กับมนุษย์ (แม่เป็นมนุษย์ แต่พ่อเป็นทูตสวรรค์ที่แปลงร่างเป็นมนุษย์) พวกเขาชอบความรุนแรง และมีชีวิตในช่วงก่อนน้ำท่วมโลก—ปฐก 6:4
เนรเทศ, ไปเป็นเชลย
การบังคับให้ออกจากแผ่นดินเกิดหรือบ้านเกิด ส่วนมากจะเป็นการขับไล่ตามคำสั่งของคนที่มายึดครองแผ่นดิน คำนี้ในภาษาฮีบรูแปลว่า “การออกไป” ชาวอิสราเอลถูกเนรเทศไปเป็นเชลย 2 ครั้ง คือ อาณาจักร 10 ตระกูลทางเหนือถูกชาวอัสซีเรียเนรเทศ และต่อมา อาณาจักร 2 ตระกูลทางใต้ถูกชาวบาบิโลนเนรเทศ คนที่ยังมีชีวิตอยู่หลังการเป็นเชลยทั้งสองครั้งได้กลับมาแผ่นดินของตัวเองตามคำสั่งของไซรัสผู้ปกครองชาวเปอร์เซีย—2พก 17:6; 24:16; อสร 6:21
เนฮีโลท
คำที่ไม่รู้ความหมายแน่ชัดซึ่งอยู่ในหัวบทของสดุดีบท 5 บางคนเชื่อว่าหมายถึงเครื่องเป่าชนิดหนึ่งโดยเชื่อมโยงกับรากศัพท์ภาษาฮีบรูที่เกี่ยวข้องกับคำว่า ชาลิล (ขลุ่ย) แต่คำนี้อาจใช้เพื่อบอกให้รู้ทำนองเพลงก็ได้
เนินดิน
บ
บริสุทธิ์, ความบริสุทธิ์
คุณลักษณะประจำตัวของพระยะโฮวา เป็นสภาพที่บริสุทธิ์ทางศีลธรรมและมีความศักดิ์สิทธิ์ในทุกด้าน (อพย 28:36; 1ซม 2:2; สภษ 9:10; อสย 6:3) เมื่อใช้กับมนุษย์ (อพย 19:6) สัตว์ (กดว 18:17) สิ่งของ (อพย 28:38; 30:25; ลนต 27:14) สถานที่ (อพย 3:5; อสย 27:13) ช่วงเวลา (อพย 16:23; ลนต 25:12) และกิจกรรมต่าง ๆ (อพย 36:4) คำนี้ในภาษาฮีบรูดั้งเดิมถ่ายทอดแนวคิดเกี่ยวกับการแยกหรือกันไว้ต่างหาก หรือการชำระให้บริสุทธิ์สำหรับพระเจ้า และเป็นสิ่งที่แยกไว้สำหรับการรับใช้พระเจ้า ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำที่แปลว่า “บริสุทธิ์” และ “ความบริสุทธิ์” หมายถึงการแยกไว้สำหรับพระเจ้า และยังหมายถึงการกระทำที่บริสุทธิ์ด้วย—2คร 7:1; 1ปต 1:15, 16
บอระเพ็ด
พืชที่มีรสขมมากและมีกลิ่นฉุน ในคัมภีร์ไบเบิลใช้บอระเพ็ดเป็นภาพเปรียบเทียบเพื่ออธิบายถึงผลที่ขมขื่นซึ่งเกิดจากการทำผิดศีลธรรม การเป็นทาส ความไม่ยุติธรรม และการออกหาก คำว่า “บอระเพ็ด” ที่วิวรณ์ 8:11 หมายถึงสารที่มีพิษและขม—ฉธบ 29:18; สภษ 5:4; ยรม 9:15
บ่อย่ำองุ่น
บัญญัติ, กฎหมาย
หมายถึงกฎหมายของโมเสสทั้งหมด หรือหนังสือ 5 เล่มแรกของคัมภีร์ไบเบิล และยังหมายถึงข้อกฎหมายแต่ละข้อในกฎหมายของโมเสสหรือหลักการของกฎหมายด้วย—กดว 15:16; ฉธบ 4:8; มธ 7:12; กท 3:24
บัท
มาตราตวงของเหลว ความจุประมาณ 22 ลิตรคำนวณจากเศษชิ้นส่วนของไหที่นักโบราณคดีได้ค้นพบซึ่งมีคำนี้ปรากฏอยู่ ปริมาตรโดยประมาณของมาตราบัทใช้เป็นตัวคำนวณมาตราตวงของแห้งและของเหลวอื่น ๆ เกือบทั้งหมดในคัมภีร์ไบเบิล (1พก 7:38; อสค 45:14)—ดูภาคผนวก ข14
บัพติศมา
บัลลังก์พิพากษา
มักจะหมายถึงเวทีกลางแจ้งที่ยกระดับจากพื้นและมีบันไดขึ้นลง เจ้าหน้าที่จะนั่งบนบัลลังก์นี้เมื่อพูดกับประชาชนและประกาศคำตัดสิน คำว่า “บัลลังก์พิพากษาของพระเจ้า” และ “บัลลังก์พิพากษาของพระคริสต์” หมายถึงการพิพากษาของพระยะโฮวาที่จะเกิดกับมนุษย์ทั้งโลก—รม 14:10; 2คร 5:10; ยน 19:13
บาอัล
เทพเจ้าของชาวคานาอัน ซึ่งถือกันว่าเป็นเจ้าของท้องฟ้าและเป็นผู้ให้ฝนกับความอุดมสมบูรณ์ คำว่า “บาอัล” ยังใช้เรียกเทพเจ้าของแต่ละท้องถิ่นด้วย คำนี้เป็นภาษาฮีบรูแปลว่า “เจ้าของ” หรือ “นาย”—1พก 18:21; รม 11:4
บึงไฟ
ไม่ใช่สถานที่จริงแต่เป็นภาพเปรียบเทียบ “บึงไฟที่ลุกไหม้ด้วยกำมะถัน” มีความหมายเหมือนกับคำว่า “ความตายชนิดที่สอง” คนที่ทำบาปแล้วไม่กลับใจ มาร และแม้แต่ความตายกับหลุมศพ (หรือฮาเดส) ก็จะถูกโยนลงไปในบึงไฟ บึงไฟเป็นแค่ภาพเปรียบเทียบที่หมายถึงการทำลายให้สาบสูญตลอดไป ไม่ใช่การทรมานตลอดไป เพราะทั้งมาร ความตาย และหลุมศพถูกไฟเผาไหม้ไม่ได้—วว 19:20; 20:14, 15; 21:8
บูล
ชื่อเดือนที่ 8 ตามปฏิทินทางศาสนาของยิวและเดือนที่ 2 ตามปฏิทินการเกษตร มาจากรากศัพท์ที่แปลว่า “ผลผลิต” เริ่มจากกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน (1พก 6:38)—ดูภาคผนวก ข15
เบเอลเซบูบ
ป
ปฏิญาณ
ประชาคม
กลุ่มคนที่มารวมตัวกันเพื่อจุดประสงค์เฉพาะหรือเพื่อทำกิจกรรมบางอย่าง ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูใช้คำอื่นแทนคำว่า “ประชาคม” เช่น “ที่ประชุม” “ประชาชนของพระเจ้า” ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหมายถึงชาติอิสราเอล ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก บางครั้งคำนี้หมายถึงประชาคมคริสเตียนแต่ละแห่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วหมายถึงประชาคมคริสเตียนโดยรวม—สด 22:22; กจ 9:31; รม 16:5
ประตัก
ไม้ยาวที่มีปลายเป็นเหล็กแหลมไว้ใช้กระทุ้งสัตว์ มีการเปรียบเทียบประตักว่าเป็นเหมือนคำสอนของคนที่มีสติปัญญาที่ช่วยกระตุ้นให้คนฟังทำตาม สำนวน “เตะประตัก” ในพระคัมภีร์ได้มาจากท่าทางของวัวดื้อที่ต่อต้านเมื่อมีประตักมากระทุ้งตัวมัน ซึ่งการเตะประตักอย่างนั้นมีแต่จะทำให้มันเจ็บตัว—กจ 26:14; วนฉ 3:31
ประพฤติไร้ยางอาย
แปลจากคำภาษากรีก อะเซลเยีย หมายถึงการทำผิดกฎหมายของพระเจ้าอย่างร้ายแรงและมีทัศนะที่หน้าด้านไร้ยางอายหรือดูหมิ่นอย่างมาก คือ ทัศนะที่ไม่นับถือหรือถึงกับดูหมิ่นผู้มีอำนาจ กฎหมาย และมาตรฐานของพระเจ้า คำนี้ไม่ได้หมายถึงการทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ—กท 5:19; 2ปต 2:7
ปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตาย, ฟื้นขึ้นจากตาย
คำภาษากรีก อะนาสตาซิส แปลตรงตัวว่า “ทำให้ลุกขึ้น” หรือ “ยืนขึ้น” ในคัมภีร์ไบเบิลพูดถึงการฟื้นขึ้นจากตาย 9 ราย ซึ่งรวมถึงตอนที่พระยะโฮวาพระเจ้าปลุกพระเยซูให้ฟื้นขึ้นจากตายด้วย การปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายรายอื่น ๆ ทำโดยเอลียาห์ เอลีชา พระเยซู เปโตร และเปาโล แต่ทุกรายก็เห็นได้ชัดว่าเกิดจากอำนาจของพระเจ้า การปลุก “ทั้งคนดีและคนชั่ว” ให้ฟื้นขึ้นจากตายเพื่อจะอยู่บนโลกเป็นส่วนสำคัญในความประสงค์ของพระเจ้า (กจ 24:15) คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงการปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายเพื่อไปสวรรค์ด้วย มีการใช้สำนวนว่า “พวกแรกที่ได้รับการปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตาย” หรือ “คนที่ฟื้นขึ้นจากตายอันดับแรก” ซึ่งหมายถึงสาวกของพระเยซูที่ได้รับการเจิมด้วยพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า—ฟป 3:11; วว 20:5, 6; ยน 5:28, 29; 11:25
ปะการัง
สิ่งที่สัตว์ทะเลตัวเล็ก ๆ สร้างขึ้นมา มีลักษณะเหมือนหินแข็ง พบได้ในมหาสมุทร มีหลายสี เช่น แดง ขาว และดำ ปะการังพบมากเป็นพิเศษในทะเลแดง ในสมัยพระคัมภีร์ปะการังสีแดงเป็นของมีค่ามาก นิยมนำไปทำเป็นลูกปัดและเครื่องประดับอื่น ๆ—สภษ 8:11
ปัสกา
เทศกาลประจำปีที่ฉลองในวันที่ 14 เดือนอาบีบ (ต่อมาเรียกว่าเดือนนิสาน) เพื่อระลึกถึงการที่พระเจ้าช่วยชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์ มีการฉลองเทศกาลนี้โดยฆ่าลูกแกะ (หรือแพะ) แล้วย่างกินกับผักที่มีรสขมและขนมปังไม่ใส่เชื้อ—อพย 12:27; ยน 6:4; 1คร 5:7
ปีที่น่ายินดี
ทุก ๆ ปีที่ 50 นับจากที่ชาวอิสราเอลเข้าไปในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา เมื่อถึงปีที่น่ายินดี แผ่นดินจะต้องไม่มีการหว่านไถและทาสชาวฮีบรูจะถูกปล่อยตัวเป็นอิสระ ที่ดินมรดกที่ถูกขายไปจะได้กลับคืนมา ในแง่หนึ่ง ปีที่น่ายินดีก็เป็นเหมือนปีที่มีเทศกาลตลอดทั้งปี เป็นปีแห่งอิสรภาพที่ทำให้ทั้งชาติกลับคืนสู่สภาพที่เคยเป็นเมื่อพระเจ้าก่อตั้งชาตินี้ขึ้นเป็นครั้งแรก—ลนต 25:10
ปีศาจ
พวกตัวชั่วร้ายซึ่งมองไม่เห็นและมีอำนาจเหนือมนุษย์ ในปฐมกาล 6:2 เรียกปีศาจพวกนี้ว่า “ลูก ๆ ของพระเจ้าเที่ยงแท้” และในยูดา 6 เรียกว่า “ทูตสวรรค์” แสดงว่าปีศาจพวกนี้ไม่ได้ถูกสร้างให้ชั่วร้าย แต่พวกมันเป็นทูตสวรรค์ที่ตั้งตัวเป็นศัตรูของพระเจ้า โดยไม่เชื่อฟังพระองค์ในสมัยโนอาห์และร่วมมือกับซาตานกบฏต่อพระยะโฮวา—ฉธบ 32:17; ลก 8:30; กจ 16:16; ยก 2:19
ปุโรหิต
คนที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพระเจ้า พวกเขาจะสั่งสอนประชาชนให้รู้เรื่องของพระเจ้าและกฎหมายของพระองค์ และปุโรหิตยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนเมื่ออยู่ต่อหน้าพระเจ้าด้วย เขาจะถวายเครื่องบูชาและอธิษฐานอ้อนวอนเพื่อประชาชน ในสมัยที่ยังไม่มีกฎหมายของโมเสส หัวหน้าครอบครัวจะทำหน้าที่เป็นปุโรหิตให้ครอบครัวของเขา แต่พอมีกฎหมายของโมเสสแล้ว ผู้ชายในครอบครัวของอาโรนซึ่งอยู่ในตระกูลเลวีก็ทำหน้าที่เป็นปุโรหิต ส่วนผู้ชายคนอื่น ๆ ที่เหลือในตระกูลเลวีเป็นผู้ช่วยของปุโรหิต และเมื่อมีสัญญาใหม่ อิสราเอลของพระเจ้ากลายเป็นชาติที่มีปุโรหิตปกครองโดยมีพระเยซูคริสต์เป็นมหาปุโรหิต—อพย 28:41; ฮบ 9:24; วว 5:10
ปุโรหิตใหญ่
ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูคำนี้เป็นอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียก “มหาปุโรหิต” แต่ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำว่า “ปุโรหิตใหญ่” น่าจะหมายถึงคนสำคัญ ๆ ในคณะปุโรหิต ซึ่งอาจรวมถึงมหาปุโรหิตที่ออกจากตำแหน่งไปแล้วและหัวหน้าของกลุ่มปุโรหิต 24 กลุ่มด้วย—2พศ 26:20; อสร 7:5; มธ 2:4; มก 8:31
ปูริม
เทศกาลประจำปีซึ่งฉลองในวันที่ 14 และ 15 เดือนอาดาร์เพื่อระลึกถึงการที่ชาวยิวได้รับการช่วยให้รอดพ้นจากการถูกทำลายล้างในสมัยของราชินีเอสเธอร์ คำว่า “ปูริม” ไม่ใช่คำภาษาฮีบรู คำนี้แปลว่า “ฉลาก” เทศกาลนี้มีชื่อว่าเทศกาลปูริมหรือเทศกาลฉลากก็เพราะฮามานโยนเปอร์ (ฉลาก) เพื่อกำหนดวันที่จะกวาดล้างชาวยิว—อสธ 3:7; 9:26
เปอร์เซีย, ชาวเปอร์เซีย
ประเทศหรือชนชาติที่มักมีการพูดถึงคู่กันกับมีเดีย ในช่วงแรก ชาวเปอร์เซียครอบครองดินแดนเฉพาะทางตะวันตกเฉียงใต้ของที่ราบสูงอิหร่านเท่านั้น แต่พอถึงสมัยที่กษัตริย์ไซรัสมหาราชปกครอง (นักประวัติศาสตร์สมัยก่อนบางคนบอกว่าไซรัสมีพ่อเป็นคนเปอร์เซียและแม่เป็นคนมีเดีย) ชาวเปอร์เซียก็เริ่มมีอำนาจเหนือชาวมีเดีย แต่สองอาณาจักรนี้ก็ยังเป็นอำนาจคู่กันต่อไป ไซรัสเอาชนะจักรวรรดิบาบิโลนในปี 539 ก่อน ค.ศ. และอนุญาตให้ชาวยิวที่เป็นเชลยกลับบ้านเกิด จักรวรรดิเปอร์เซียแผ่ขยายดินแดนตั้งแต่แม่น้ำสินธุทางตะวันออกไปจนถึงทะเลอีเจียนทางตะวันตก ชาวยิวอยู่ใต้การปกครองของเปอร์เซียจนกระทั่งอเล็กซานเดอร์มหาราชเอาชนะเปอร์เซียได้ในปี 331 ก่อน ค.ศ. ดาเนียลเห็นจักรวรรดิเปอร์เซียในนิมิต และในหนังสือเอสรา เนหะมีย์ และเอสเธอร์ก็พูดถึงจักรวรรดินี้ (อสร 1:1; ดนล 5:28; 8:20)—ดูภาคผนวก ข9
ผ
ผลแรก
ผลที่เก็บเกี่ยวได้รอบแรกของฤดูเก็บเกี่ยว หรือผลแรกของอะไรก็ตาม พระยะโฮวากำหนดว่าชาติอิสราเอลต้องถวายผลแรกของพวกเขาให้พระองค์ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือพืชผล ชาวอิสราเอลทั้งชาติถวายผลแรกให้พระเจ้าในเทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อและเทศกาลเพ็นเทคอสต์ คำว่า “ผลแรก” ยังใช้เป็นภาพเปรียบเทียบถึงพระคริสต์และสาวกผู้ถูกเจิมของท่านด้วย—1คร 15:23; กดว 15:21; สภษ 3:9; วว 14:4
ผ้ากระสอบ
ผ้าเนื้อหยาบที่ใช้ทำกระสอบหรือถุง เช่น กระสอบใส่ข้าว มักทอจากขนแพะสีเข้ม และเป็นเสื้อผ้าที่ใส่เมื่อเป็นทุกข์โศกเศร้า—ปฐก 37:34; ลก 10:13
ผ้าโพกหัว
ผ้าที่พันรอบหัวและเป็นเครื่องประดับศีรษะอย่างหนึ่ง มหาปุโรหิตสวมผ้าโพกหัวทำจากผ้าลินินเนื้อดี และมีแผ่นทองคำคาดอยู่ด้านหน้าผูกด้วยเชือกสีฟ้า กษัตริย์ก็สวมผ้าโพกหัวไว้ใต้มงกุฎด้วย โยบเคยเปรียบความยุติธรรมของเขาเป็นเหมือนผ้าโพกหัว—อพย 28:36, 37; โยบ 29:14; อสค 21:26
ผิดศีลธรรมทางเพศ
มาจากคำภาษากรีก พอร์เน่อา เมื่อใช้ในพระคัมภีร์หมายถึงกิจกรรมทางเพศบางอย่างที่พระเจ้าห้าม เช่น การเล่นชู้ การเป็นโสเภณี เพศสัมพันธ์ระหว่างคนที่ยังไม่แต่งงาน การรักร่วมเพศ และเพศสัมพันธ์กับสัตว์ ในหนังสือวิวรณ์ มีการใช้คำนี้ในความหมายแฝงเมื่อพูดถึงศาสนาต่าง ๆ ที่เรียกว่า “บาบิโลนใหญ่” โดยให้ภาพว่าศาสนาเหล่านี้เป็นโสเภณีที่ทำผิดศีลธรรมทางเพศกับผู้ปกครองในโลกเพื่อหวังจะได้อำนาจและทรัพย์สมบัติ (วว 14:8; 17:2; 18:3; มธ 5:32; กจ 15:29; กท 5:19)—ดูคำว่า “โสเภณี”
ผู้ควบคุมดนตรี
คำนี้ในภาษาฮีบรูตามที่ใช้ในหนังสือสดุดีดูเหมือนหมายถึงคนที่เรียบเรียงและควบคุมการร้องเพลง ฝึกซ้อมและฝึกสอนนักร้องชาวเลวี รวมทั้งเป็นผู้นำการแสดงในพิธีต่าง ๆ ฉบับแปลอื่น ๆ แปลคำนี้ว่า “หัวหน้านักร้อง” “หัวหน้านักดนตรี” หรือ “ผู้กำกับดนตรี”—สด 4:0; 5:0
ผู้คัดลอก
คนที่คัดลอกพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู—อสร 7:6
ผู้ช่วยงานรับใช้
มาจากคำภาษากรีก ดิอาโคโนส ซึ่งมักแปลว่า “ผู้รับใช้” หรือ “คนรับใช้” คำว่า “ผู้ช่วยงานรับใช้” หมายถึงคนที่เป็นผู้ช่วยของคณะผู้ดูแลในประชาคม และต้องมีคุณสมบัติตามที่คัมภีร์ไบเบิลกำหนดไว้—1ทธ 3:8-10, 12
ผู้ดูแล
ผู้ชายที่มีหน้าที่คอยดูแลประชาคมอย่างที่คนเลี้ยงแกะดูแลแกะ คำนี้แปลจากคำภาษากรีก เอพิสโคโพส ซึ่งแสดงว่าหน้าที่พื้นฐานของผู้ดูแลคือการดูแลและปกป้อง ส่วนคำภาษากรีกอีกคำหนึ่งที่บางครั้งแปลว่าผู้ดูแลด้วยคือ เพรสวีเทโรส ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “ผู้ชายสูงอายุ” คำนี้แสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่ของคนที่ทำหน้าที่นี้ ในหนังสือวิวรณ์แปลคำ เพรสวีเทโรส ว่า “ผู้ปกครอง” เมื่อใช้กับบุคคลกลุ่มหนึ่งในสวรรค์—กจ 20:28; 1ทธ 3:2-7; ทต 1:5; 1ปต 5:1, 2; วว 4:4
ผู้ต่อต้านพระคริสต์
คำนี้ในภาษากรีกมีความหมาย 2 แง่ แง่หนึ่งหมายถึงใครหรืออะไรก็ตามที่ต่อต้านพระคริสต์ และอีกแง่หนึ่งหมายถึงพระคริสต์ปลอมหรือผู้ที่แอบอ้างว่ามีฐานะตำแหน่งแบบพระคริสต์ คำนี้ใช้ได้กับทั้งคนคนเดียว กลุ่มคน หรือองค์การ ที่แอบอ้างว่าเป็นตัวแทนของพระคริสต์ หรือเป็นเมสสิยาห์ หรือต่อต้านพระคริสต์กับสาวกของท่าน—1ยน 2:22
ผู้นำ
ผู้ชายที่มีอำนาจและตำแหน่งในชุมชนหรือในชาติ คำนี้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมักจะมีความหมายเดียวกับคำภาษากรีก เพรสวีเทโรส ในพระคัมภีร์ฉบับแปลนี้ใช้คำว่า “ผู้นำ” กับพวกผู้นำของชาวยิวในสมัยพระเยซูและอัครสาวกด้วย (อพย 3:16; ยชว 8:33; นรธ 4:2; มธ 16:21)—ดูคำว่า “ผู้ดูแล”
ผู้นำคนสำคัญ
ผู้ปกครอง—
ดูคำว่า “ผู้ดูแล”
ผู้ปกครองรัฐ
ผู้พยากรณ์
ผู้วินิจฉัย
คนที่พระยะโฮวาแต่งตั้งเพื่อช่วยเหลือประชาชนของพระองค์ให้รอดพ้นจากศัตรูในช่วงที่ชาวอิสราเอลยังไม่มีกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ปกครอง—วนฉ 2:16
ผู้สำเร็จราชการ
ผู้หยั่งรู้
คนที่พระเจ้าให้มีความสามารถที่จะเข้าใจความประสงค์ของพระองค์ เป็นคนที่สามารถเห็นหรือเข้าใจสิ่งที่คนทั่วไปมองไม่ออก คำนี้ในภาษาฮีบรูมีรากศัพท์มาจากคำที่แปลว่า “เห็น” ทั้งตามตัวอักษรหรือความหมายแฝง คนที่มีปัญหาหรือต้องการคำแนะนำมักจะมาหาผู้หยั่งรู้—1ซม 9:9
แผ่นหนัง
หนังแกะ หนังแพะ หรือหนังลูกวัวซึ่งทำเป็นวัสดุที่ใช้สำหรับจดบันทึก ทนกว่าพาไพรัส มีการใช้แผ่นหนังทำเป็นม้วนหนังสือคัมภีร์ไบเบิล เปาโลเคยขอให้ทิโมธีเอาม้วนหนังสือที่ทำจากแผ่นหนังมาให้ซึ่งอาจเป็นบางส่วนของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ม้วนหนังสือทะเลตายบางม้วนก็เป็นแผ่นหนังด้วย—2ทธ 4:13
แผ่นหินที่เป็นพยานหลักฐาน
คำนี้มักหมายถึงแผ่นหิน 2 แผ่นที่พระเจ้าให้กับโมเสส บนแผ่นหินนั้นมีบัญญัติ 10 ประการจารึกไว้ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พยานหลักฐาน”—อพย 31:18
ฝ
ฝาปิดคลุมบาป
ฝาของหีบสัญญา ซึ่งมหาปุโรหิตจะเอาเลือดของเครื่องบูชาไถ่บาปไปประพรมหน้าหีบในวันไถ่บาป คำนี้ในภาษาฮีบรูมาจากคำกริยาที่หมายถึง “ปิดคลุม (บาป)” หรือ “ลบล้าง (บาป)” ฝาทั้งชิ้นทำจากทองคำและมีเครูบสององค์อยู่ที่ปลายฝาด้านละองค์ บางครั้งมีการเรียกง่าย ๆ ว่า “ฝาหีบ” (อพย 25:17-22; 1พศ 28:11; ฮบ 9:5)—ดูภาคผนวก ข5
พ
พรรคพวกของเฮโรด
หรือที่เรียกว่าพวกเฮโรเดียน พวกนี้เป็นกลุ่มชาตินิยมที่สนับสนุนเป้าหมายทางการเมืองของราชวงศ์เฮโรดที่ปกครองอยู่ใต้อำนาจของจักรวรรดิโรมัน พวกสะดูสีบางคนก็อาจเป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ พวกเฮโรเดียนร่วมมือกับพวกฟาริสีในการต่อต้านพระเยซู—มก 3:6
พระคริสต์
พระคัมภีร์, คัมภีร์
พระเจ้าเที่ยงแท้
มาจากคำภาษาฮีบรูที่แปลตรงตัวว่า “พระเจ้าองค์นั้น” คำนี้ทำให้เห็นว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวและแยกพระองค์ออกจากพระเท็จอย่างชัดเจน การใช้คำว่า “พระเจ้าเที่ยงแท้” จึงช่วยรักษาความหมายที่ครบถ้วนของคำภาษาฮีบรูนั้นไว้—ปฐก 5:22, 24; 46:3; ฉธบ 4:39
พลังบริสุทธิ์
พอร์เน่อา—
ดูคำว่า “ผิดศีลธรรมทางเพศ”
พาไพรัส
พืชน้ำชนิดหนึ่งคล้ายต้นกก ใช้ทำสิ่งของต่าง ๆ เช่น ตะกร้า ภาชนะ และเรือ มีการใช้พาไพรัสทำกระดาษและทำม้วนหนังสือมากมาย—อพย 2:3
พิม
หน่วยน้ำหนักและค่าลับเครื่องมือโลหะที่ชาวฟีลิสเตียเรียกเก็บจากชาวอิสราเอล นักโบราณคดีขุดพบตุ้มน้ำหนักทำจากหินหลายอันในอิสราเอลที่มีคำว่า “พิม” ในภาษาฮีบรูโบราณ ตุ้มน้ำหนักเหล่านี้มีน้ำหนักโดยเฉลี่ย 7.8 กรัมหรือประมาณ 2 ใน 3 เชเขล—1ซม 13:20, 21
เพ็นเทคอสต์
เทศกาลที่สองในสามเทศกาลสำคัญที่ผู้ชายชาวยิวทุกคนต้องไปร่วมฉลองในกรุงเยรูซาเล็ม คำว่า “เพ็นเทคอสต์” แปลว่า “(วัน) ที่ห้าสิบ” เป็นชื่อที่ใช้ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก เพื่อเรียกเทศกาลเก็บเกี่ยวหรือเทศกาลฉลองหลังครบ 7 สัปดาห์ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู เทศกาลนี้ฉลองในวันที่ 50 โดยเริ่มนับจากวันที่ 16 เดือนนิสาน—อพย 23:16; 34:22; กจ 2:1
เพลงไว้อาลัย
เพลงสดุดี, สดุดี
เพลงสำหรับเดินขึ้น
หัวบทของสดุดีบท 120-134 แม้จะมีความคิดหลากหลายว่าวลีนี้หมายความว่าอย่างไร แต่หลายคนเชื่อว่าเพลงสดุดี 15 บทนี้จะร้องเมื่อผู้นมัสการชาวอิสราเอลที่มีความสุข ‘เดินขึ้น’ ไปที่กรุงเยรูซาเล็มซึ่งอยู่บนภูเขาของยูดาห์ เพื่อเข้าร่วมงานเทศกาลใหญ่ประจำปีที่มีสามครั้ง
ฟ
ฟาทอม
หน่วยวัดความลึกของน้ำ ซึ่งเท่ากับ 1.8 เมตร (6 ฟุต) (กจ 27:28)—ดูภาคผนวก ข14
ฟาริสี
นิกายใหญ่นิกายหนึ่งของศาสนายิวในช่วงคริสต์ศตวรรษแรก ฟาริสีไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากปุโรหิต แต่เป็นพวกที่ทำตามกฎหมายของโมเสสอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะในเรื่องหยุมหยิม และยกย่องคำสอนสืบปากเทียบเท่ากับกฎหมายของโมเสส (มธ 23:23) พวกเขาต่อต้านอิทธิพลของวัฒนธรรมกรีกและเชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายของโมเสสกับธรรมเนียมต่าง ๆ ของชาวยิว พวกเขาจึงมีอำนาจมากในสังคม (มธ 23:2-6) ฟาริสีบางคนเป็นสมาชิกของศาลแซนเฮดรินด้วย พวกเขาชอบจับผิดพระเยซูเกี่ยวกับกฎวันสะบาโต เกี่ยวกับธรรมเนียมต่าง ๆ และตำหนิพระเยซูที่คบหากับคนบาปและคนเก็บภาษี มีฟาริสีบางคนเข้ามาเป็นคริสเตียนด้วย เช่น เซาโลจากเมืองทาร์ซัส—มธ 9:11; 12:14; มก 7:5; ลก 6:2; กจ 26:5
ฟาโรห์
ฟีลิสเตีย, ชาวฟีลิสเตีย
แผ่นดินที่อยู่บนชายฝั่งทางใต้ของอิสราเอล และคนที่อพยพจากเกาะครีตมาตั้งถิ่นฐานที่นั่นเรียกว่าชาวฟีลิสเตีย ดาวิดเคยปราบชนชาตินี้ได้ แต่พวกฟีลิสเตียก็ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครและเป็นศัตรูกับอิสราเอลเสมอ (อพย 13:17; 1ซม 17:4; อมส 9:7)—ดูภาคผนวก ข4
ภ
ภาชนะใส่ถ่านไฟ, ภาชนะใส่ไส้ตะเกียง
ภาชนะที่ทำจากทองคำ เงิน หรือทองแดงซึ่งใช้ในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์และวิหาร สำหรับเผาเครื่องหอมและเอาถ่านไฟออกจากแท่นบูชา หรือเอาไส้ตะเกียงที่ไหม้แล้วออกจากเชิงตะเกียงทองคำ บางครั้งเรียกว่าภาชนะสำหรับเผาเครื่องหอม—อพย 37:23; 2พศ 26:19; ฮบ 9:4
ม
มดยอบ
ยางไม้ชนิดหนึ่ง มีกลิ่นหอม ได้จากไม้พุ่มบางชนิดที่มีหนามหรือต้นไม้ขนาดเล็กในสกุล Commiphora มดยอบเป็นส่วนผสมอย่างหนึ่งในน้ำมันเจิมบริสุทธิ์ มีการใช้มดยอบเพื่อทำให้เสื้อผ้าหรือเตียงนอนมีกลิ่นหอม ใช้ผสมในน้ำมันสำหรับนวดและในครีมบำรุงผิว และใช้ในการเตรียมศพก่อนนำไปฝังด้วย—อพย 30:23; สภษ 7:17; ยน 19:39
ม้วนหนังสือ
แผ่นหนังหรือพาไพรัสแผ่นยาว ๆ ที่มีข้อความเขียนไว้ด้านหนึ่งและมักจะม้วนอยู่รอบแท่งไม้ มีการเขียนและคัดลอกพระคัมภีร์ไว้ในม้วนหนังสือแบบนี้ซึ่งใช้กันมากในสมัยที่เขียนคัมภีร์ไบเบิล—ยรม 36:4, 18, 23; ลก 4:17-20; 2ทธ 4:13
มหาปุโรหิต
เป็นตำแหน่งปุโรหิตสูงสุดตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายของโมเสส เขาเป็นตัวแทนของประชาชนเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าและเป็นผู้ดูแลปุโรหิตคนอื่น ๆ บางครั้งเรียกว่า “ปุโรหิตใหญ่” (2พศ 26:20; อสร 7:5) เขาเป็นคนเดียวที่มีสิทธิ์เข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุด ซึ่งเป็นห้องในสุดของเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์และวิหาร เขาจะเข้าไปในห้องนี้เฉพาะในวันไถ่บาปประจำปี คำว่า “มหาปุโรหิต” ยังใช้กับพระเยซูคริสต์ด้วย—ลนต 16:2, 17; 21:10; มธ 26:3; ฮบ 4:14
มัลคาม
มัสคิล
คำฮีบรูที่ไม่รู้ความหมายแน่ชัด อยู่ในหัวบทของสดุดี 13 บท คำนี้อาจหมายถึง “บทกวีใคร่ครวญ” บางคนคิดว่าคำนี้น่าจะมีความหมายเกี่ยวข้องกับอีกคำหนึ่งที่เขียนคล้าย ๆ กัน ซึ่งแปลว่า ‘รับใช้อย่างดี’—2พศ 30:22; สด 32:0
มาซิโดเนีย
ดินแดนทางเหนือของกรีซ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในช่วงที่อเล็กซานเดอร์มหาราชปกครอง เป็นดินแดนเอกราชที่ไม่ขึ้นกับใครจนถึงตอนที่จักรวรรดิโรมันมาพิชิตได้ ตอนที่อัครสาวกเปาโลไปยุโรปครั้งแรก มาซิโดเนียเป็นแคว้นหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน เปาโลเคยไปที่นั่น 3 ครั้ง (กจ 16:9)—ดูภาคผนวก ข13
มานา
อาหารหลักของชาวอิสราเอลในช่วง 40 ปีในที่กันดารซึ่งพระยะโฮวาจัดเตรียมให้โดยการอัศจรรย์ ทุกเช้าหลังจากน้ำค้างระเหยไปแล้วจะเห็นมานาอยู่บนพื้นดินยกเว้นในวันสะบาโต ตอนที่ชาวอิสราเอลเห็นมานาครั้งแรก พวกเขาพูดว่า “นี่คืออะไร?” หรือในภาษาฮีบรูคือ “มานฮู?” (อพย 16:13-15, 35) ในข้อคัมภีร์อื่น ๆ เรียกมานาว่า “อาหารจากท้องฟ้า” (สด 78:24) “ขนมปังจากสวรรค์” (สด 105:40) และ “อาหารของผู้มีฤทธิ์” (สด 78:25) พระเยซูก็พูดถึงมานาในเชิงเปรียบเทียบด้วย—ยน 6:49, 50
มาหะลัท
ดูเหมือนเป็นศัพท์ทางดนตรีที่อยู่ในหัวบทของสดุดีบท 53 และ 88 อาจเกี่ยวข้องกับคำกริยาภาษาฮีบรูที่แปลว่า “อ่อนแรง” หรือ “ป่วย” คำนี้จึงแสดงถึงอารมณ์เศร้า ซึ่งตรงกับเนื้อหาที่หดหู่ของเพลงสดุดีทั้งสองบท
ม่าน
ผ้าที่ทออย่างสวยงามและมีลายปักเป็นภาพเครูบ ใช้สำหรับกั้นระหว่างห้องบริสุทธิ์กับห้องบริสุทธิ์ที่สุดทั้งในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์และในวิหาร (อพย 26:31; 2พศ 3:14; มธ 27:51; ฮบ 9:3)—ดูภาคผนวก ข5
มาร
ชื่อเรียกซาตานในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก เป็นชื่อที่บ่งบอกนิสัยของซาตานเพราะ “มาร” แปลว่า “ผู้หมิ่นประมาท” ซาตานได้ชื่อว่ามารเพราะมันเป็นผู้นำตัวสำคัญในการหมิ่นประมาทและใส่ร้ายพระยะโฮวา และทำให้ชื่อที่บริสุทธิ์ของพระองค์เสื่อมเสีย—มธ 4:1; ยน 8:44; วว 12:9
มินา
ในหนังสือเอเสเคียลใช้คำว่า “มาเน” เป็นทั้งหน่วยน้ำหนักและหน่วยเงินตรา เมื่อดูจากหลักฐานทางโบราณคดี 1 มินาเท่ากับ 50 เชเขล และ 1 เชเขลหนัก 11.4 กรัม มินาในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูหนัก 570 กรัม อาจมีทั้งมินาธรรมดาและมินาหลวงเหมือนในกรณีของศอก ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก 1 มินาเท่ากับ 100 ดรัคมา ซึ่งหนักเท่ากับ 340 กรัม และ 60 มินาเท่ากับ 1 ตะลันต์ (อสร 2:69; ลก 19:13)—ดูภาคผนวก ข14
มิคทาม
มิลโคม
มีเดีย, ชาวมีเดีย
ชนชาติที่สืบเชื้อสายมาจากมาดัยลูกของยาเฟท พวกเขาอาศัยอยู่ในเขตเทือกเขาของที่ราบสูงอิหร่านซึ่งกลายมาเป็นประเทศมีเดีย ชาวมีเดียร่วมมือกับบาบิโลนเพื่อพิชิตอัสซีเรีย ตอนนั้น เปอร์เซียเป็นแคว้นหนึ่งที่อยู่ใต้อำนาจของมีเดีย แต่ไซรัสกษัตริย์เปอร์เซียกบฏ มีเดียจึงถูกรวมเข้ากับเปอร์เซียและกลายเป็นจักรวรรดิมีเดีย-เปอร์เซียซึ่งเอาชนะจักรวรรดิบาบิโลนใหม่ได้ในปี 539 ก่อน ค.ศ. มีชาวมีเดียบางคนอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มในวันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 (ดนล 5:28, 31; กจ 2:9)—ดูภาคผนวก ข9
มุธลับเบน
คำที่อยู่ในหัวบทของสดุดีบท 9 ตามที่พูดต่อ ๆ กันมาคำนี้แปลว่า “เกี่ยวกับความตายของลูกชาย” บางคนคิดว่าคำนี้อาจเป็นชื่อเพลงหรือเป็นคำขึ้นต้นของเพลงหนึ่งที่มีทำนองคุ้นหู ซึ่งจะใช้ทำนองของเพลงนั้นในการร้องเพลงสดุดีบทนี้
เมโรดัค
เทพเจ้าสูงสุดของกรุงบาบิโลน หลังจากฮัมมูราบีซึ่งเป็นกษัตริย์และผู้บัญญัติกฎหมายของบาบิโลนตั้งกรุงบาบิโลนเป็นเมืองหลวงของบาบิโลเนีย เมโรดัค (หรือมาร์ดุก) ก็มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็มาแทนที่เทพเจ้าองค์ก่อน ๆ และกลายเป็นเทพเจ้าสูงสุดที่ชาวบาบิโลนนับถือ ในสมัยต่อมา ชื่อเมโรดัค (หรือมาร์ดุก) ถูกแทนที่ด้วยตำแหน่ง “เบลู” (“เจ้าของ”) และคนทั่วไปเรียกเมโรดัคว่าเบล—ยรม 50:2
เมสสิยาห์
เมืองของดาวิด
ชื่อเรียกเมืองเยบุสหลังจากดาวิดยึดเมืองนี้ได้และสร้างวังของเขาที่นั่น เมืองนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่าศิโยน เป็นส่วนที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเยรูซาเล็มและเป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงนี้—2ซม 5:7; 1พศ 11:4, 5
เมืองลี้ภัย
เมืองของคนในตระกูลเลวี ซึ่งคนที่ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาจะหนีไปหลบภัยในเมืองเหล่านี้เพื่อจะไม่ถูกคนที่มีสิทธิ์แก้แค้นฆ่าเอาได้ มีเมืองลี้ภัยอยู่ 6 เมืองกระจายอยู่ในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา โมเสสเป็นคนเลือกเมืองเหล่านี้โดยการชี้นำของพระยะโฮวาและต่อมาโยชูวาก็ทำหน้าที่นี้ เมื่อมาถึงเมืองลี้ภัย คนที่หนีมาต้องอธิบายเรื่องของเขาต่อหน้าพวกผู้นำที่ประตูเมือง เขาถึงจะเข้าไปอยู่ในเมืองนั้นได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้คนที่เจตนาฆ่าคนฉวยประโยชน์จากการจัดเตรียมนี้ คนที่หนีมาจะต้องถูกพิจารณาคดีในเมืองที่เกิดการฆาตกรรมขึ้นเพื่อพิสูจน์ว่าเขาบริสุทธิ์จริง และถ้าเขาบริสุทธิ์จริง เขาจะกลับไปเมืองลี้ภัยได้และต้องอยู่แต่ในเขตเมืองนั้นไปตลอดชีวิต หรือจนกว่ามหาปุโรหิตจะตาย—กดว 35:6, 11-15, 22-29; ยชว 20:2-8
โมล็อค—
ดูคำว่า “โมเลค”
โมเลค
พระของชาวอัมโมน อาจเป็นองค์เดียวกับพระมัลคาม พระมิลโคม และพระโมล็อค คำนี้อาจเป็นตำแหน่ง ไม่ใช่ชื่อของพระองค์ไหนโดยเฉพาะ กฎหมายของโมเสสสั่งให้ประหารชีวิตคนที่ถวายลูกเป็นเครื่องบูชาให้พระโมเลค—ลนต 20:2; ยรม 32:35; กจ 7:43
ไม่สะอาด
ไม้วัด
ไม้สำหรับวัดยาว 6 ศอก ถ้าเป็นศอกธรรมดา 1 ไม้วัดจะยาวเท่ากับ 2.67 เมตร แต่ถ้าเป็นศอกยาว 1 ไม้วัดจะยาวเท่ากับ 3.11 เมตร (อสค 40:3, 5; วว 11:1)—ดูภาคผนวก ข14
ย
ยะโฮวา
เป็นชื่อของพระเจ้า มาจากอักษรฮีบรู 4 ตัวที่เรียกว่าเททรากรัมมาทอน การออกเสียงชื่อพระเจ้าแบบนี้ใช้ในพระคัมภีร์ไทยฉบับแรก ๆ และชื่อนี้มีในพระคัมภีร์ฉบับแปลนี้มากกว่า 7,000 ครั้ง—ดูภาคผนวก ก4 และ ก5
ยาโคบ
ลูกชายของอิสอัคกับเรเบคาห์ ต่อมาพระเจ้าเรียกเขาว่าอิสราเอล ยาโคบเป็นต้นตระกูลของชาวอิสราเอล (ต่อมาเรียกว่าชาวยิว) เขามีลูกชาย 12 คนซึ่งเกิดลูกหลานกลายเป็น 12 ตระกูลของชาติอิสราเอล ชื่อยาโคบยังใช้เรียกชาติอิสราเอลหรือประชาชนชาวอิสราเอลด้วย—ปฐก 32:28; มธ 22:32
ยิว
ชื่อที่ใช้เรียกคนในตระกูลยูดาห์หลังจากอาณาจักรอิสราเอล 10 ตระกูลล่มสลาย (2พก 16:6) หลังการเนรเทศไปบาบิโลน คำนี้หมายถึงชาวอิสราเอลตระกูลต่าง ๆ ที่กลับมาแผ่นดินอิสราเอล (อสร 4:12) ต่อมา ทั่วโลกมีการใช้คำนี้เพื่อแยกชาวอิสราเอลออกจากคนชาติอื่น (อสธ 3:6) อัครสาวกเปาโลใช้คำนี้ในความหมายแฝงเมื่ออธิบายว่าเชื้อชาติไม่ใช่สิ่งสำคัญในประชาคมคริสเตียน—รม 2:28, 29; กท 3:28
ยุค, โลกนี้
ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำนี้มาจากคำภาษาเดิมว่า เอโอน หมายถึงสภาพการณ์หรือลักษณะเด่นของโลกหรือบางส่วนของโลกในช่วงเวลาหนึ่งหรือสมัยหนึ่ง เช่น พระคัมภีร์พูดถึง “โลกนี้ [หรือ “ยุคนี้” เชิงอรรถ]” ซึ่งหมายถึงสภาพการณ์โดยรวมในโลกนี้และรูปแบบชีวิตของคนในโลก (2ทธ 4:10) เมื่อพระเจ้าทำสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายของโมเสส นั่นเป็นการเริ่มต้นยุคหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นยุคของอิสราเอลหรือยิว ต่อมา หลังจากพระเยซูคริสต์สละชีวิตเป็นเครื่องบูชาไถ่แล้ว พระเจ้าใช้พระเยซูให้เริ่มต้นยุคใหม่ซึ่งมีจุดศูนย์รวมอยู่ที่ประชาคมคริสเตียนผู้ถูกเจิม สัญญาเกี่ยวกับกฎหมายของโมเสสเป็นภาพตัวอย่างของหลายสิ่งที่มีในยุคใหม่นี้—มธ 24:3; มก 4:19; รม 12:2; 1คร 10:11
ยูดาห์
ลูกชายคนที่ 4 ของยาโคบกับเลอาห์ ตอนที่ยาโคบใกล้จะตาย เขาบอกล่วงหน้าว่าผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่งซึ่งจะปกครองตลอดไปจะมาจากเชื้อสายของยูดาห์ ตอนที่พระเยซูมาเกิดเป็นมนุษย์ ท่านก็เป็นลูกหลานคนหนึ่งที่สืบเชื้อสายมาจากยูดาห์ คำว่ายูดาห์ยังเป็นชื่อของตระกูลและต่อมาก็เป็นชื่อของอาณาจักรด้วย อาณาจักรยูดาห์เป็นอาณาจักรทางใต้ซึ่งประกอบด้วยตระกูลยูดาห์ ตระกูลเบนยามิน รวมทั้งพวกปุโรหิตกับคนเลวี อาณาจักรนี้ครอบครองดินแดนทางใต้ของประเทศ และกรุงเยรูซาเล็มกับวิหารก็อยู่ในเขตอาณาจักรยูดาห์—ปฐก 29:35; 49:10; 1พก 4:20; ฮบ 7:14
ยูเฟรติส
แม่น้ำที่ยาวที่สุดและสำคัญที่สุดในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เป็นแม่น้ำสายหลักหนึ่งในสองสายในเมโสโปเตเมีย มีการพูดถึงแม่น้ำนี้ครั้งแรกที่ปฐมกาล 2:14 ว่าเป็นแม่น้ำสายหนึ่งในสี่สายที่ไหลผ่านสวนเอเดน ในพระคัมภีร์มักเรียกแม่น้ำยูเฟรติสว่า “แม่น้ำ” (ปฐก 31:21) แม่น้ำยูเฟรติสยังเป็นพรมแดนทางเหนือของอิสราเอลด้วย (ปฐก 15:18; วว 16:12)—ดูภาคผนวก ข2
เยดูธูน
คำที่ไม่รู้ความหมายแน่ชัด อยู่ในหัวบทของสดุดีบท 39, 62, และ 77 หัวบทเหล่านี้ดูเหมือนเป็นคำสั่งสำหรับการแสดง อาจเป็นการกำหนดรูปแบบการร้องหรือเครื่องดนตรีที่จะใช้สำหรับเพลงสดุดีบทนั้น เนื่องจากมีนักดนตรีชาวเลวีคนหนึ่งชื่อเยดูธูน ดังนั้น การแสดงหรือเครื่องดนตรีแบบเยดูธูนอาจเกี่ยวข้องกับนักดนตรีคนนี้หรือลูกหลานของเขาก็ได้
ร
รถม้า, รถศึก
รถสองล้อที่ใช้ม้าลาก ส่วนใหญ่ใช้ในการรบ—อพย 14:23; วนฉ 4:13; กจ 8:28
ระเบียงทางเดินของโซโลมอน
ทางเดินที่มีหลังคาในวิหารสมัยพระเยซู อยู่ทางตะวันออกของลานชั้นนอก เชื่อกันว่าเป็นส่วนที่หลงเหลือจากวิหารของโซโลมอน พระเยซูเดินที่นั่น ‘ตอนฤดูหนาว’ และคริสเตียนรุ่นแรกมาพบกันที่นั่นเพื่อนมัสการพระเจ้า (ยน 10:22, 23; กจ 5:12)—ดูภาคผนวก ข11
รัฐบาลของพระเจ้า
ราชินีแห่งท้องฟ้า
ชื่อเรียกเทพธิดาซึ่งชาวอิสราเอลที่ทิ้งพระเจ้าในสมัยเยเรมีย์นมัสการ บางคนคิดว่าราชินีแห่งท้องฟ้าหมายถึงเทพธิดาอิชทาร์ (แอสตาร์เต) ของชาวบาบิโลนหรือเทพธิดาอินันนาของชาวสุเมเรียน เทพธิดาองค์นี้ยังเป็นเทพธิดาแห่งการเจริญพันธุ์ด้วย ในข้อความจารึกของชาวอียิปต์ เทพธิดาแอสตาร์เตถูกเรียกว่า “ธิดาแห่งท้องฟ้า”—ยรม 44:19
ราหับ
รูปเขาสัตว์บนแท่นบูชา
ส่วนที่เป็นเหมือนเขาสัตว์ซึ่งยื่นออกมาจากมุมทั้งสี่ของแท่นบูชา (ลนต 8:15; 1พก 2:28)—ดูภาคผนวก ข5 และ ข8
รูปเคารพ, การไหว้รูปเคารพ
โรคเรื้อน
โรคผิวหนังร้ายแรงชนิดหนึ่ง คำว่าโรคเรื้อนในพระคัมภีร์มีความหมายกว้างกว่าโรคเรื้อนที่รู้จักกันในปัจจุบัน เพราะอาจเกิดกับคน เสื้อผ้า หรือตัวบ้านก็ได้—ลนต 14:54, 55; ลก 5:12
ล
ลก
มาตราตวงของเหลวที่เล็กที่สุดในคัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์ทัลมุดของชาวยิวพูดถึงมาตรานี้ว่าเท่ากับ 1 ใน 12 ฮิน ดังนั้น ถ้าคำนวณโดยอาศัยข้อมูลนี้ 1 ลกจะมีความจุ 0.31 ลิตร (ลนต 14:10)—ดูภาคผนวก ข14
ลาน
ที่โล่งรอบเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีผ้ากั้นไว้ ในสมัยต่อมาหมายถึงลานรอบวิหารซึ่งมีกำแพงล้อมรอบ แท่นบูชาสำหรับเครื่องบูชาเผาตั้งอยู่ในลานเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์และสมัยต่อมาตั้งอยู่ในลานชั้นในของวิหาร (ดูภาคผนวก ข5, ข8, ข11) คัมภีร์ไบเบิลยังพูดถึงลานบ้านหรือลานในวังกษัตริย์ด้วย—อพย 8:13; 27:9; 1พก 7:12; อสธ 4:11; มธ 26:3
ลานนวดข้าว
สถานที่สำหรับนวดข้าวเพื่อให้เมล็ดหลุดจากรวงและเปลือก การนวดข้าวอาจทำโดยใช้ไม้ฟาด ถ้ามีข้าวจำนวนมากก็จะใช้เครื่องมือพิเศษ เช่น ลูกกลิ้งหรือเลื่อนนวดข้าวโดยให้สัตว์ลาก เครื่องมือนี้จะบดเมล็ดข้าวที่อยู่บนลานนวด ซึ่งเป็นลานวงกลมมีพื้นเรียบและมักจะอยู่บนที่สูงที่มีลมพัดผ่าน—ลนต 26:5; อสย 41:15; มธ 3:12
ลำน้ำ
อาจหมายถึงธารน้ำหรือลำธารโดยทั่วไป และยังหมายถึงหุบเขาที่ปกติจะแห้งแต่จะกลายเป็นลำธารเฉพาะในฤดูที่มีฝนตกหนักเท่านั้น ลำธารแบบนี้เรียกว่า ธารวาดี ซึ่งในบางท้องเรื่องก็ใช้คำว่า “หุบเขา”—ปฐก 26:19; กดว 34:5; 1พก 18:5; โยบ 6:15
ลูกชายคนโต
ลูกชายคนแรกของครอบครัว ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ลูกชายคนโตมีตำแหน่งที่มีเกียรติในครอบครัว และจะเป็นผู้นำครอบครัวหลังจากพ่อของเขาตาย—อพย 11:5; 13:12; ปฐก 25:33; คส 1:15
ลูกมนุษย์
คำนี้มีประมาณ 80 ครั้งในหนังสือข่าวดี เป็นคำที่ใช้หมายถึงพระเยซูคริสต์และแสดงว่าท่านมาเกิดเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อจริง ๆ ไม่ใช่แค่ทูตสวรรค์ที่แปลงร่างเป็นมนุษย์ คำนี้ยังแสดงว่าพระเยซูเป็นผู้ที่จะทำให้คำพยากรณ์ในดาเนียล 7:13, 14 เป็นจริง ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู มีการใช้คำนี้กับเอเสเคียลและดาเนียลเพื่อเน้นว่าสองคนนี้เป็นแค่มนุษย์ที่พระเจ้าใช้ให้พยากรณ์ ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับพระเจ้าที่เป็นผู้ให้ข่าวสารกับพวกเขา—อสค 3:17; ดนล 8:17; มธ 19:28; 20:28
ลูกหลานของอาโรน
คนที่สืบเชื้อสายมาจากอาโรนหลานชายของเลวี อาโรนเป็นคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นมหาปุโรหิตตามกฎหมายของโมเสส ลูกหลานของอาโรนจึงทำหน้าที่ปุโรหิตที่เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์และที่วิหาร—1พศ 23:28
ลูกหลานดาวิด
เลบานอน
ชื่อเทือกเขาซึ่งอยู่ทางตะวันตกของประเทศเลบานอน ส่วนเทือกเขาซึ่งอยู่ทางตะวันออกคือเทือกเขาแอนติเลบานอน มีหุบเขาที่อุดมสมบูรณ์เป็นแนวยาวอยู่ระหว่างเทือกเขาทั้งสองนี้ เทือกเขาเลบานอนอยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ยอดเขาสูงโดยเฉลี่ย 1,800 เมตรถึง 2,100 เมตร (6,000 ฟุตถึง 7,000 ฟุต) ในสมัยโบราณ เทือกเขาเลบานอนเต็มไปด้วยต้นสนซีดาร์ที่สูงใหญ่ซึ่งเป็นที่ต้องการของชาติโดยรอบ (ฉธบ 1:7; สด 29:6; 92:12)—ดูภาคผนวก ข7
เลวี
ลูกชายคนที่ 3 ของยาโคบกับเลอาห์ และเป็นชื่อตระกูล ลูกชาย 3 คนของเลวีเป็นต้นกำเนิดของคนเลวี 3 กลุ่มที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน คำว่า “คนเลวี” หมายถึงคนในตระกูลเลวีที่รับใช้ที่เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์หรือวิหาร แต่คำว่า “คนเลวี” จะไม่รวมตระกูลของอาโรนซึ่งเป็นปุโรหิต ส่วนคำว่า “คนในตระกูลเลวี” หมายถึงคนในตระกูลนี้ทั้งหมด ตระกูลเลวีไม่ได้รับส่วนแบ่งในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา แต่ได้ 48 เมืองซึ่งอยู่ในเขตแดนของตระกูลอื่น—ฉธบ 10:8; 1พศ 6:1; ฮบ 7:11
เลวีอาธาน
สัตว์ชนิดหนึ่งที่มักมีการพูดถึงว่าอยู่ในน้ำ ในโยบ 3:8 และ 41:1 คำนี้อาจหมายถึงจระเข้หรือสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่แข็งแรง แต่ในสดุดี 104:26 อาจหมายถึงวาฬชนิดหนึ่ง ในที่อื่น ๆ คำนี้มีความหมายเป็นนัยและไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสัตว์ชนิดใด—สด 74:14; อสย 27:1
เล่นชู้, มีชู้
การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนที่แต่งงานแล้วกับคนที่ไม่ใช่คู่สมรสของตัวเอง ซึ่งเกิดจากการยินยอมพร้อมใจของทั้งคู่—อพย 20:14; มธ 5:27; 19:9
เลฟตัน
ในสมัยที่มีการเขียนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก เลฟตันเป็นเหรียญทองแดงหรือทองสัมฤทธิ์ที่เล็กที่สุดของคนยิว (มก 12:42; ลก 21:2; เชิงอรรถ)—ดูภาคผนวก ข14
ว
วันขึ้นเดือนใหม่
วันแรกของแต่ละเดือนตามปฏิทินของชาวยิว ซึ่งเป็นวันที่มีการชุมนุมกัน เลี้ยงฉลองกัน และถวายเครื่องบูชาเป็นพิเศษ ต่อมา วันนี้กลายเป็นเทศกาลสำคัญของชาติ และประชาชนจะไม่ทำงานในวันนั้น—กดว 10:10; 2พศ 8:13; คส 2:16
วันเตรียม
วันไถ่บาป
วันศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดของชาวอิสราเอล บางครั้งมีการเรียกวันนี้ว่ายมคิปปูร์ (มาจากคำภาษาฮีบรู ยมฮัคคิปปูริม “วันของการปิดคลุม”) ตรงกับวันที่ 10 เดือนเอธานิม วันนี้เป็นวันเดียวที่มหาปุโรหิตจะเข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุดในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งต่อมาก็คือวิหาร เพื่อถวายเลือดจากเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปให้ตัวเอง ไถ่บาปให้คนเลวีคนอื่น ๆ และไถ่บาปให้ประชาชน เป็นวันที่ต้องประชุมกันเพื่อนมัสการพระเจ้าและอดอาหาร และถือว่าเป็นวันสะบาโตซึ่งทุกคนต้องหยุดทำงานด้วย—ลนต 23:27, 28
วันพิพากษา
วันหรือช่วงเวลาหนึ่งที่พระเจ้าพิพากษากลุ่มคน ชนชาติ หรือมนุษย์ทั้งโลก อาจเป็นช่วงเวลาที่มีการตัดสินลงโทษคนที่สมควรตาย หรือให้โอกาสบางคนรอดและมีชีวิตตลอดไป พระเยซูคริสต์และอัครสาวกบอกให้รู้ว่า “วันพิพากษา” ที่จะมีมาในอนาคตจะเกี่ยวข้องกับทั้งคนที่มีชีวิตอยู่และคนตายที่จะถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมา—มธ 12:36
วางมือ
การวางมือบนใครคนหนึ่งเป็นการแต่งตั้งคนนั้นให้ทำงานพิเศษหรืออวยพรเขา หรือรักษาโรค หรือให้พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า บางครั้งมีการวางมือบนสัตว์ก่อนจะฆ่าเป็นเครื่องบูชา—อพย 29:15; กดว 27:18; กจ 19:6; 1ทธ 5:22
วิชาอาคม
คำนี้ในพระคัมภีร์หมายถึงการใช้พลังอำนาจที่มาจากพวกปีศาจ—2พศ 33:6
วิหาร
อาคารถาวรในกรุงเยรูซาเล็มซึ่งใช้เป็นศูนย์กลางการนมัสการของชาวอิสราเอลแทนเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ที่เคลื่อนย้ายได้ วิหารหลังแรกสร้างโดยโซโลมอนและถูกชาวบาบิโลนทำลาย วิหารหลังที่สองสร้างโดยเศรุบบาเบลหลังกลับมาจากการเป็นเชลยที่บาบิโลนและสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งโดยเฮโรดมหาราช ในสมัยที่ยังไม่มีวิหาร คำว่าวิหารยังหมายถึงเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ด้วย (อสร 1:3; 6:14, 15; 1พศ 29:1; 2พศ 2:4; มธ 24:1)—ดูภาคผนวก ข8 และ ข11
ไว้ทุกข์
การแสดงความโศกเศร้าเมื่อมีคนตายหรือเมื่อเกิดเรื่องเลวร้ายในสมัยคัมภีร์ไบเบิล เป็นธรรมเนียมที่จะไว้ทุกข์ช่วงหนึ่ง นอกจากร้องไห้เสียงดังแล้ว คนที่ไว้ทุกข์ยังสวมชุดไว้ทุกข์ โปรยขี้เถ้าใส่หัว ฉีกเสื้อที่ใส่อยู่ และตีอกชกหัวตัวเอง บางครั้งมีการจ้างคนมาแสดงความโศกเศร้าในงานศพด้วย—ปฐก 23:2; อสธ 4:3; วว 21:4
ศ
ศอก
มาตราวัดความยาวที่ยาวประมาณข้อศอกถึงปลายนิ้วกลาง โดยทั่วไประยะ 1 ศอกของชาวอิสราเอลยาวประมาณ 44.5 ซม. แต่บางครั้งก็ยาวกว่านั้น 1 ฝ่ามือ คือยาวประมาณ 51.8 ซม. (ปฐก 6:15; ลก 12:25)—ดูภาคผนวก ข14
ศิโยน, ภูเขาศิโยน
ชื่อเรียกเมืองที่มีป้อมปราการของชาวเยบุสซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเยรูซาเล็ม เมืองนี้เคยมีชื่อว่าเยบุส หลังจากดาวิดยึดเมืองนี้ได้ เขาสร้างวังของตัวเองขึ้นที่นั่น ต่อมาจึงเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองของดาวิด” (2ซม 5:7, 9) ศิโยนเป็นชื่อภูเขาด้วย และเป็นภูเขาที่บริสุทธิ์เป็นพิเศษสำหรับพระยะโฮวาตั้งแต่ดาวิดสั่งให้ย้ายหีบสัญญาไปที่นั่น ต่อมาชื่อศิโยนยังรวมไปถึงบริเวณที่ตั้งวิหารบนภูเขาโมริยาห์ด้วย และบางครั้งก็หมายถึงกรุงเยรูซาเล็มทั้งหมด คำว่าศิโยนส่วนใหญ่ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร—สด 2:6; 1ปต 2:6; วว 14:1
ศิฟ
ชื่อเดิมของเดือนที่ 2 ตามปฏิทินทางศาสนาของยิวและเดือนที่ 8 ตามปฏิทินการเกษตร เริ่มจากกลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม เรียกว่าเดือนอียาร์ในคัมภีร์ทัลมุดของยิวและในงานเขียนต่าง ๆ หลังจากชาวยิวเป็นเชลยในบาบิโลน (1พก 6:37)—ดูภาคผนวก ข15
ส
สโตอิก
กลุ่มนักปรัชญาชาวกรีกที่เชื่อว่าความสุขเกิดจากการใช้ชีวิตสอดคล้องกับเหตุผลและธรรมชาติ และเชื่อว่าคนที่มีปัญญาอย่างแท้จริงจะวางเฉยกับความรู้สึกเจ็บปวดหรือความสนุกเพลิดเพลิน—กจ 17:18
สถานบูชาบนที่สูง, ที่สูง
สถานที่สำหรับการนมัสการ มักอยู่บนยอดเขา บนภูเขา หรือบนแท่นที่มนุษย์ทำขึ้น แม้บางครั้งสถานบูชาบนที่สูงอาจใช้สำหรับนมัสการพระเจ้า แต่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการนมัสการพระเท็จ—กดว 33:52; 1พก 3:2; ยรม 19:5
สเปลต์
ข้าวสาลีชนิดหนึ่ง (Triticum spelta) ไม่ใช่ข้าวคุณภาพดี และเป็นข้าวที่เอาเปลือกออกยาก—อพย 9:32
สมัยสุดท้าย
คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลใช้คำนี้เมื่อพูดถึงช่วงเวลาที่จะเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ซึ่งนำไปถึงจุดจบ (อสค 38:16; ดนล 10:14; กจ 2:17) ช่วงเวลานี้อาจยาวนานแค่ไม่กี่ปีหรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นคำพยากรณ์เรื่องอะไร ส่วนใหญ่แล้วคัมภีร์ไบเบิลใช้คำนี้เมื่อพูดถึง “สมัยสุดท้าย” ของโลกปัจจุบันในช่วงการประทับของพระเยซูที่มนุษย์มองไม่เห็น—2ทธ 3:1; ยก 5:3; 2ปต 3:3
ส่วน 1 ใน 10
ของที่ถวายเพื่อวัตถุประสงค์ทางศาสนา โดยถวายส่วน 1 ใน 10 หรือ 10 เปอร์เซ็นต์จากของที่มีอยู่ (มลค 3:10; ฉธบ 26:12; มธ 23:23) กฎหมายของโมเสสกำหนดว่า ชาวอิสราเอลจะต้องยกส่วน 1 ใน 10 ของผลผลิตที่ได้จากแผ่นดินและฝูงสัตว์ที่มีเพิ่มขึ้นให้กับคนเลวีทุกปีเพื่อสนับสนุนคนเลวี และคนเลวีก็จะเอาส่วน 1 ใน 10 ของสิ่งที่เขาได้รับไปให้กับปุโรหิตเพื่อสนับสนุนพวกปุโรหิตอีกต่อหนึ่ง นอกจากนี้ มีการให้ส่วน 1 ใน 10 ในแบบอื่น ๆ ด้วย การถวายส่วน 1 ใน 10 ไม่ใช่ข้อเรียกร้องสำหรับคริสเตียน
สะดูสี
นิกายใหญ่นิกายหนึ่งของศาสนายิว ประกอบด้วยพวกชนชั้นสูงที่ร่ำรวยและพวกปุโรหิตที่มีอำนาจควบคุมกิจกรรมในวิหาร พวกสะดูสีไม่ทำตามธรรมเนียมสืบปากเหมือนที่พวกฟาริสีทำกันและปฏิเสธความเชื่อหลายอย่างของพวกฟาริสี พวกนี้ไม่เชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย ไม่เชื่อว่ามีทูตสวรรค์ และต่อต้านพระเยซู—มธ 16:1; กจ 23:8
สะบาโต
มาจากคำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “พักผ่อน” หรือ “หยุดพัก” เป็นวันที่เจ็ดของสัปดาห์ของชาวยิว (ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกของวันศุกร์ถึงดวงอาทิตย์ตกของวันเสาร์) วันเทศกาลบางวัน รวมทั้งปีที่ 7 และปีที่ 50 ก็เรียกว่าสะบาโตด้วย ในวันสะบาโตจะต้องไม่มีใครทำงาน ยกเว้นปุโรหิตซึ่งทำงานในที่ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนในปีสะบาโต ที่ดินจะต้องไม่มีการไถหว่านและเจ้าหนี้ชาวฮีบรูจะทวงหนี้จากเพื่อนร่วมชาติไม่ได้ กฎหมายของโมเสสกำหนดข้อห้ามในวันสะบาโตไว้อย่างสมเหตุสมผล แต่พวกผู้นำศาสนาค่อย ๆ เพิ่มกฎอื่นเข้าไป จนพอถึงสมัยของพระเยซู ประชาชนจึงรู้สึกว่ากฎเรื่องวันสะบาโตทำตามได้ยาก—อพย 20:8; ลนต 25:4; ลก 13:14-16; คส 2:16
สะมาเรีย
เมืองหลวงของอาณาจักรอิสราเอล 10 ตระกูลทางเหนือในช่วงประมาณ 200 ปีและเป็นชื่อเรียกเขตแดนทั้งหมดของอาณาจักรนี้ เมืองนี้สร้างขึ้นบนภูเขาสะมาเรีย ในสมัยพระเยซู สะมาเรียเป็นชื่อแคว้นหนึ่งซึ่งทางเหนือติดกับแคว้นกาลิลีและทางใต้ติดกับแคว้นยูเดีย พระเยซูมักจะไม่ประกาศเรื่องพระเจ้าเมื่อเดินทางในแถบนี้ แต่บางครั้งท่านก็ผ่านเข้าไปในเขตสะมาเรียและพูดกับคนสะมาเรีย เปโตรใช้ลูกกุญแจของรัฐบาลสวรรค์ดอกที่ 2 ตอนที่ชาวสะมาเรียได้รับพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า (1พก 16:24; ยน 4:7; กจ 8:14)—ดูภาคผนวก ข10
สะอาด
ในคัมภีร์ไบเบิล คำนี้ไม่ได้หมายถึงความสะอาดภายนอกเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสภาพที่ไม่มีตำหนิหรือการกลับคืนสู่สภาพที่ไม่มีตำหนิ ไม่มีอะไรแปดเปื้อน มีศีลธรรมที่ดีและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้า นอกจากนั้น ภายใต้กฎหมายของโมเสส คำนี้ยังหมายถึงการอยู่ในสภาพที่สะอาดตามพิธีกรรมด้วย—ลนต 10:10; สด 51:7; มธ 8:2; 1คร 6:11
สัญญา
ข้อตกลงอย่างเป็นทางการระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ หรือระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่าง บางครั้งอาจมีเพียงฝ่ายเดียวที่ต้องทำตามข้อตกลง (ในกรณีที่เป็นคำสัญญาหรือเป็นการรับปาก) แต่บางครั้งทั้งสองฝ่ายต้องทำตามข้อตกลง นอกเหนือจากสัญญาที่พระเจ้าทำกับมนุษย์แล้ว คัมภีร์ไบเบิลยังพูดถึงสัญญาระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ระหว่างตระกูล ระหว่างชาติ หรือกลุ่มคน สัญญาที่มีผลกว้างไกลก็คือสัญญาที่พระเจ้าทำกับอับราฮัม ดาวิด ชนชาติอิสราเอล (สัญญาเกี่ยวกับกฎหมาย) และอิสราเอลของพระเจ้า (สัญญาใหม่)—ปฐก 9:11; 15:18; 21:27; อพย 24:7; 2พศ 21:7
สาบาน
การพูดยืนยันว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นความจริง หรือสัญญาอย่างหนักแน่นว่าจะทำหรือไม่ทำบางอย่าง ส่วนใหญ่จะสาบานโดยอ้างผู้ที่เหนือกว่าเช่น พระเจ้า ให้เป็นพยาน แม้แต่พระยะโฮวาก็สาบานด้วยเพื่อยืนยันสัญญาที่พระองค์ทำกับอับราฮัม—ปฐก 14:22; ฮบ 6:16, 17
สิวัน
หลังจากชาวยิวเป็นเชลยในบาบิโลน สิวันเป็นชื่อเดือนที่ 3 ตามปฏิทินทางศาสนาของยิวและเดือนที่ 9 ตามปฏิทินการเกษตร เริ่มจากกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน (อสธ 8:9)—ดูภาคผนวก ข15
สุภาษิต
คำพูดหรือเรื่องเล่าสั้น ๆ ที่ให้ข้อคิดหรือสอนความจริงที่ลึกซึ้งด้วยคำเพียงไม่กี่คำ สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลอาจเป็นคำพูดชวนคิดหรือเป็นปริศนา สุภาษิตอธิบายความจริงด้วยภาษาที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนและมักใช้คำเปรียบเทียบ บางสำนวนกลายเป็นคำพูดที่คนชอบใช้เพื่อเยาะเย้ยหรือดูถูกคนอื่น—ปญจ 12:9; 2ปต 2:22
สุหนัต
การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย เป็นคำสั่งที่อับราฮัมกับลูกหลานต้องทำ แต่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องสำหรับคริสเตียน ในบางท้องเรื่องก็ใช้เป็นเชิงเปรียบเทียบ—ปฐก 17:10; 1คร 7:19; ฟป 3:3
เสราฟ
เสลาห์
คำที่ใช้ในบทเพลงหรือบทท่องจำซึ่งอยู่ในหนังสือสดุดีและฮาบากุก คำนี้อาจเป็นการบอกให้หยุดร้องเพลงหรือหยุดเล่นดนตรีสักครู่หนึ่ง หรือให้หยุดคิดเงียบ ๆ หรือเป็นคำที่ใส่ไว้เพื่อเน้นอารมณ์ของเพลง ฉบับเซปตัวจินต์ภาษากรีกแปลคำนี้ว่า ดิอัปซัลมา ซึ่งหมายความว่า “ดนตรีคั่นรายการ”—สด 3:4; ฮบก 3:3
เสอร์ทิส
อ่าวน้ำตื้นขนาดใหญ่ 2 อ่าวบนชายฝั่งของประเทศตูนิเซียและประเทศลิเบียในปัจจุบัน ทางเหนือของทวีปแอฟริกา นักเดินเรือในสมัยโบราณกลัวอ่าวนี้มากเพราะเต็มไปด้วยสันดอนทรายที่อันตรายซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามกระแสน้ำขึ้นน้ำลง (กจ 27:17)—ดูภาคผนวก ข13
เสา
(1) อาจเป็นเสารองรับโครงสร้างหรือเสาค้ำ บางครั้งมีการตั้งเสาไว้เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ มีการใช้เสาเพื่อรองรับโครงสร้างของวิหารและวังที่โซโลมอนสร้างขึ้น คนที่ไม่นมัสการพระยะโฮวาตั้งเสาศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ในการนมัสการเท็จ และบางครั้งชาวอิสราเอลก็ทำอย่างนั้นด้วย (วนฉ 16:29; 1พก 7:21; 14:23)—ดูคำว่า “หัวเสา”
(2) อาจหมายถึงไม้ที่ตั้งตรงท่อนหนึ่งซึ่งเอาไว้ตรึงนักโทษ บางชนชาติเคยใช้เสาเพื่อประหารชีวิตและใช้แขวนศพเพื่อประจานหรือเตือนคนอื่นไม่ให้เอาเยี่ยงอย่าง ชาวอัสซีเรียซึ่งได้ชื่อว่าเป็นชาติที่ทำสงครามอย่างโหดเหี้ยมจะใช้เสาปลายแหลมแทงที่หน้าท้องเชลยให้ทะลุลำตัวขึ้นไปถึงอก แล้วปล่อยให้ร่างเสียบคาอยู่บนเสาอย่างนั้น แต่ตามกฎหมายของชาวยิว คนที่ทำผิดร้ายแรง เช่น หมิ่นประมาทพระเจ้าหรือไหว้รูปเคารพจะถูกประหารโดยใช้หินขว้างหรือทำให้ตายด้วยวิธีอื่นก่อน แล้วจึงแขวนศพไว้บนเสาหรือต้นไม้ เพื่อเตือนคนอื่นไม่ให้เอาเยี่ยงอย่าง (ฉธบ 21:22, 23; 2ซม 21:6, 9) บางครั้งชาวโรมันก็มัดนักโทษไว้กับเสา ซึ่งนักโทษอาจมีชีวิตอยู่หลายวัน แต่ก็ต้องตากแดด อดข้าวอดน้ำ และเจ็บปวดทรมานจนตาย บางครั้งพวกเขาก็ใช้ตะปูตอกมือและเท้านักโทษติดกับเสา เช่น ตอนที่ประหารพระเยซู (ลก 24:20; ยน 19:14-16; 20:25; กจ 2:23, 36)—ดูคำว่า “เสาทรมาน”
เสาทรมาน
แปลจากคำภาษากรีก สเตาโรส ซึ่งหมายถึงไม้หรือเสาที่ตั้งตรงท่อนหนึ่ง เช่น เสาที่ใช้ประหารพระเยซู ไม่มีหลักฐานเลยว่าคำภาษากรีกคำนี้หมายถึงไม้กางเขนแบบพวกที่ไม่นมัสการพระยะโฮวาใช้เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาอยู่หลายศตวรรษก่อนพระคริสต์ คำว่า “ทรมาน” ช่วยถ่ายทอดความหมายที่ครบถ้วนของคำนี้ในภาษาเดิม เรารู้เรื่องนี้ได้เพราะมีการใช้คำ สเตาโรส เพื่อบอกให้รู้ว่าสาวกของพระเยซูจะต้องเจอการทรมาน ความทุกข์ และความอับอาย (มธ 16:24; ฮบ 12:2)—ดูคำว่า “เสา”
เสาศักดิ์สิทธิ์
คำภาษาฮีบรู (อะเชราห์) หมายถึง (1) เสาศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้แทนอัชเชราห์เทพธิดาแห่งการเจริญพันธุ์ของชาวคานาอัน หรือ (2) รูปปั้นของเทพธิดาอัชเชราห์ ดูเหมือนเป็นเสาที่ตั้งตรงและอย่างน้อยบางส่วนของเสาทำจากไม้ อาจเป็นเสาที่ไม่ได้แกะสลักหรือเป็นต้นไม้ก็ได้—ฉธบ 16:21; วนฉ 6:26; 1พก 15:13
โสเภณี
คนที่สำส่อนทางเพศ มักจะทำเพื่อเงิน (คำนี้ในภาษากรีกคือ พอร์เน มาจากรากศัพท์ที่แปลว่า “ขาย”) คำนี้มักใช้กับผู้หญิงแต่คัมภีร์ไบเบิลก็พูดถึงโสเภณีชายด้วย การเป็นโสเภณีเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายของโมเสส และเงินค่าตัวของโสเภณีจะเอามาบริจาคที่วิหารของพระยะโฮวาไม่ได้ ซึ่งตรงข้ามกับพวกที่ไม่นมัสการพระยะโฮวาที่ใช้โสเภณีประจำวิหารเป็นช่องทางหารายได้ (ฉธบ 23:17, 18; 1พก 14:24) คัมภีร์ไบเบิลยังใช้คำนี้เป็นภาพเปรียบเทียบหมายถึงคน ชนชาติ หรือองค์การที่เกี่ยวข้องกับการไหว้รูปเคารพบางรูปแบบทั้ง ๆ ที่อ้างว่านมัสการพระเจ้า ตัวอย่างเช่น ในหนังสือวิวรณ์ ศาสนาที่เรียกว่า “บาบิโลนใหญ่” ได้ฉายาว่าโสเภณีเพราะเธอมีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจปกครองของโลกนี้ โดยหวังจะได้อำนาจและความร่ำรวย—วว 17:1-5; 18:3; 1พศ 5:25
ไสยศาสตร์
คำนี้ในพระคัมภีร์หมายถึงวิชาเกี่ยวกับเวทมนตร์คาถาซึ่งอาศัยความเชื่อที่ว่าวิญญาณของคนที่ตายแล้วออกจากร่างและสามารถติดต่อกับคนเป็นโดยผ่านทางคนทรง คำภาษากรีกที่แปลว่า “การเล่นไสยศาสตร์” มาจากคำว่า ฟาร์มาเกีย ซึ่งหมายถึง “การใช้ยาหรือยาเสพติด” ต่อมา คำนี้ถูกโยงกับไสยศาสตร์เพราะในสมัยโบราณตอนที่ทำการปลุกอำนาจของปีศาจเพื่อจะใช้วิชาอาคม มักมีการใช้ยาหรือยาเสพติดด้วย—กท 5:20; วว 21:8
ห
หมอดู
คนที่อ้างว่าสามารถทำนายอนาคตได้ ในคัมภีร์ไบเบิลพวกนักบวชที่ใช้เวทมนตร์คาถา ผู้ทำนาย หรือโหรก็อยู่ในกลุ่มเดียวกับหมอดู—ลนต 19:31; ฉธบ 18:11; กจ 16:16
หลุมศพ
หมายถึงที่ฝังศพจริง ๆ ของมนุษย์ แต่ส่วนใหญ่แล้วพระคัมภีร์ใช้คำนี้เป็นภาพเปรียบเทียบหมายถึงสภาพที่มนุษย์ส่วนใหญ่หลับไปในความตาย ในความหมายนี้ “หลุมศพ” แปลมาจากคำภาษาฮีบรู “เชโอล” และคำภาษากรีก “ฮาเดส”—ปฐก 35:20; สด 16:10; ปญจ 9:10; กจ 2:31
ห้องบริสุทธิ์
ห้องแรกของเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์หรือของวิหาร เป็นห้องที่ใหญ่กว่าห้องในสุดซึ่งเรียกว่าห้องบริสุทธิ์ที่สุด สมัยที่มีเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ ห้องบริสุทธิ์จะมีเชิงตะเกียงทองคำ แท่นบูชาทองคำสำหรับเผาเครื่องหอม โต๊ะตั้งขนมปังถวาย และเครื่องใช้ที่ทำด้วยทองคำ ส่วนสมัยที่มีวิหาร ห้องบริสุทธิ์จะมีแท่นบูชาทองคำ เชิงตะเกียงทองคำ 10 อัน และโต๊ะตั้งขนมปังถวาย 10 ตัว (อพย 26:33; ฮบ 9:2)—ดูภาคผนวก ข5 และ ข8
ห้องบริสุทธิ์ที่สุด
ห้องที่อยู่ด้านในสุดของเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์และวิหาร ซึ่งเป็นที่เก็บหีบสัญญา ตามกฎหมายของโมเสส คนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุดได้คือมหาปุโรหิต ซึ่งเขาจะเข้าได้เฉพาะในวันไถ่บาปประจำปีเท่านั้น—อพย 26:33; ลนต 16:2, 17; 1พก 6:16; ฮบ 9:3
หัวบท
ข้อความที่อยู่ตอนต้นของหนังสือสดุดีบางบท ซึ่งบอกให้รู้ว่าใครเป็นคนแต่ง บอกข้อมูลภูมิหลัง เป็นคำสั่งในการร้องหรือเล่นดนตรี หรือบอกจุดประสงค์ของเพลงบทนั้น—ดูหัวบทของสดุดี 3, 4, 5, 6, 7, 30, 38, 60, 92, 102
หัวเสา
ส่วนบนสุดที่ใช้ประดับตกแต่งเสา หน้าวิหารของโซโลมอนมีเสาคู่หนึ่งชื่อยาคีนกับโบอาส บนยอดของเสาสองต้นนี้มีหัวเสาที่ใหญ่มาก (1พก 7:16)—ดูภาคผนวก ข8
หินโม่
เครื่องบดชนิดหนึ่งทำจากแผ่นหินกลม 2 แผ่นวางซ้อนกัน ใช้บดเมล็ดข้าวให้เป็นแป้ง ในช่องตรงกลางของหินแผ่นล่างมีหมุดยึดซึ่งทำหน้าที่เป็นแกนให้หินแผ่นบนหมุนได้ ตามบ้านเรือนส่วนใหญ่ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล พวกผู้หญิงจะใช้หินโม่ที่หมุนด้วยมือ กฎหมายของโมเสสห้ามไม่ให้ชาวอิสราเอลยึดโม่หรือหินโม่แผ่นบนไว้เป็นของประกันเพราะทุกครอบครัวต้องใช้หินโม่เพื่อทำอาหารทุกวัน ถ้าเป็นหินโม่ขนาดใหญ่ก็จะใช้สัตว์หมุน—ฉธบ 24:6; มก 9:42
หินหัวมุม
หินที่อยู่หัวมุมของอาคารตรงจุดที่กำแพงสองด้านมาบรรจบกัน เป็นหินก้อนสำคัญที่เชื่อมกำแพงสองด้านเข้าด้วยกัน หินหัวมุมหลักคือหินหัวมุมที่อยู่ตรงฐานราก ส่วนใหญ่จะมีการเลือกหินที่แข็งแรงเป็นพิเศษเมื่อทำหินหัวมุมของอาคารสาธารณะและกำแพงเมือง มีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงการสร้างโลก และพระเยซูก็ถูกเรียกว่า “หินหัวมุมของฐานราก” สำหรับประชาคมคริสเตียนซึ่งเทียบได้กับวิหารของพระเจ้า—อฟ 2:20; โยบ 38:6
หีบสัญญา
หีบซึ่งทำจากไม้อะคาเซียหุ้มด้วยทองคำ เก็บไว้ในห้องบริสุทธิ์ที่สุดของเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ และต่อมาเก็บไว้ในห้องบริสุทธิ์ที่สุดของวิหารที่โซโลมอนสร้าง ฝาหีบทำด้วยทองคำ มีเครูบ 2 องค์หันหน้าเข้าหากันอยู่บนฝาหีบ มีแผ่นหิน 2 แผ่นที่จารึกบัญญัติ 10 ประการเก็บอยู่ข้างใน (ฉธบ 31:26; 1พก 6:19; ฮบ 9:4)—ดูภาคผนวก ข5 และ ข8
หุสบ
พืชที่มีก้านและใบขนาดเล็ก ใช้ประพรมเลือดหรือน้ำในพิธีชำระ หุสบอาจเป็นพืชชนิดเดียวกับมาร์จอรัมซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับมินต์ (Origanum maru; Origanum syriacum) หุสบที่ยอห์น 19:29 พูดถึง อาจเป็นต้นมาร์จอรัมที่ผูกติดกับก้านข้าวฟ่าง (Sorghum vulgare) เพราะพืชชนิดนี้มีก้านยาวพอจะเสียบฟองน้ำชุบเหล้าองุ่นเปรี้ยวเพื่อชูให้ถึงปากของพระเยซูได้—อพย 12:22; สด 51:7
แหวนตรา
ตราชนิดหนึ่งซึ่งสวมไว้ที่นิ้วหรืออาจห้อยไว้ที่คอ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอำนาจของผู้ปกครองบ้านเมืองหรือของเจ้าหน้าที่ (ปฐก 41:42)—ดูคำว่า “ตรา, ตราประทับ, ดวงตรา”
โหร
อ
องครักษ์ของจักรพรรดิ
กองทหารโรมันที่ตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองจักรพรรดิโรมัน พวกเขามีอิทธิพลทางการเมืองมากถึงขนาดที่จะหนุนหรือโค่นล้มจักรพรรดิได้—ฟป 1:13
อดอาหาร, ถือศีลอดอาหาร
งดเว้นจากการกินอาหารทุกอย่างช่วงหนึ่ง ชาวอิสราเอลจะถือศีลอดอาหารในวันไถ่บาป ในช่วงที่เป็นทุกข์ และในช่วงที่อ้อนวอนขอการชี้นำจากพระเจ้า ชาวยิวมีธรรมเนียมถือศีลอดอาหารปีละ 4 ครั้งเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่เลวร้ายในประวัติศาสตร์ของพวกเขา การถือศีลอดอาหารไม่ใช่ข้อเรียกร้องสำหรับคริสเตียน—อสร 8:21; อสย 58:6; ลก 18:12
อะลาบาสเตอร์
ชื่อเรียกขวดน้ำหอมขนาดเล็กซึ่งในยุคแรกทำมาจากหินที่พบแถว ๆ อะลาบาสตรอนในอียิปต์ มักมีคอขวดคอดและปิดแน่นได้เพื่อกันไม่ให้น้ำหอมที่มีราคาแพงรั่วซึมออกมา ในสมัยต่อมา อะลาบาสเตอร์ยังเป็นชื่อเรียกหินชนิดที่ใช้ทำขวดประเภทนี้ด้วย—มก 14:3
อัครทูตสวรรค์
อัครสาวก
อัชโทเรท
เทพธิดาแห่งสงครามและการเจริญพันธุ์ของชาวคานาอัน เป็นภรรยาของพระบาอัล—1ซม 7:3
อับ
หลังชาวยิวเป็นเชลยในบาบิโลน อับเป็นชื่อเดือนที่ 5 ตามปฏิทินทางศาสนาของยิวและเดือนที่ 11 ตามปฏิทินการเกษตร เริ่มจากกลางเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนสิงหาคม ไม่มีการพูดถึงชื่อเดือนนี้ในคัมภีร์ไบเบิล แต่ใช้ว่า “เดือน 5” (กดว 33:38; อสร 7:9)—ดูภาคผนวก ข15
อัลฟาและโอเมกา
อาคายา
ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก เป็นแคว้นหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน อยู่ทางตอนใต้ของกรีซ รวมพื้นที่คาบสมุทรทางใต้ (เพโลพอนนีส) กับบางส่วนของกรีซที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ เมืองหลวงคือโครินธ์ (กจ 18:12)—ดูภาคผนวก ข13
อาซาเซล
อาดาร์
หลังชาวยิวเป็นเชลยในบาบิโลน อาดาร์เป็นชื่อเดือนที่ 12 ตามปฏิทินทางศาสนาของยิวและเดือนที่ 6 ตามปฏิทินการเกษตร เริ่มจากกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคม (อสธ 3:7)—ดูภาคผนวก ข15
อาบีบ
ชื่อเดิมของเดือนแรกตามปฏิทินทางศาสนาของยิวและเดือนที่ 7 ตามปฏิทินการเกษตร แปลว่า “รวงข้าวใหม่” เริ่มจากกลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน และหลังจากชาวยิวกลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลน ก็เรียกเดือนนี้ว่าเดือนนิสาน (ฉธบ 16:1)—ดูภาคผนวก ข15
อาเมน
“ขอให้เป็นอย่างนั้น” หรือ “แน่นอน” คำนี้มาจากรากศัพท์ภาษาฮีบรู อามัน ซึ่งแปลว่า “ซื่อสัตย์” “วางใจได้” คำว่า “อาเมน” ใช้พูดกันเมื่อเห็นด้วยกับคำสาบาน คำอธิษฐาน หรือคำพูดของใครคนหนึ่ง ในหนังสือวิวรณ์ คำนี้เป็นตำแหน่งที่ใช้เรียกพระเยซู—ฉธบ 27:26; 1พศ 16:36; วว 3:14
อารัม, ชาวอารัม
อารัมเป็นลูกชายของเชม ลูกหลานของอารัมส่วนใหญ่อาศัยอยู่แถบเทือกเขาเลบานอนไปจนถึงเมโสโปเตเมีย และจากแถบเทือกเขาทอรัสทางเหนือลงไปจนถึงดามัสกัส และเลยไปถึงทางใต้ ดินแดนบริเวณนี้เรียกว่าอารัมในภาษาฮีบรู แต่ต่อมาเรียกว่าซีเรีย และคนที่อาศัยในบริเวณนี้ก็เรียกว่าชาวซีเรีย—ปฐก 25:20; ฉธบ 26:5; ฮชย 12:12
อาราเมอิก
ภาษานี้มีต้นตอมาจากภาษาเซมิติก อยู่ในกลุ่มเดียวกับภาษาฮีบรูและใช้พยัญชนะแบบเดียวกับภาษาฮีบรู ในตอนแรกเฉพาะชาวอารัมพูดภาษานี้ แต่ต่อมากลายเป็นภาษาสากลที่ใช้พูดกันในการติดต่อสื่อสารและค้าขายทั่วจักรวรรดิอัสซีเรียและบาบิโลน ภาษานี้ยังเป็นภาษาราชการของจักรวรรดิเปอร์เซียด้วย (อสร 4:7) บางส่วนของหนังสือเอสรา เยเรมีย์ และดาเนียลก็เขียนเป็นภาษาอาราเมอิก—อสร 4:8-6:18; 7:12-26; ยรม 10:11; ดนล 2:4ข-7:28
อาเรโอปากัส
เนินเขาสูงในกรุงเอเธนส์ อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอะโครโปลิส คำนี้ยังเป็นชื่อสภาหรือศาลซึ่งจัดการประชุมบนเนินเขานี้ด้วย นักปรัชญาที่เป็นพวกเอปิคิวเรียนและพวกสโตอิกพาตัวเปาโลไปที่นั่นเพื่อให้อธิบายความเชื่อของเขา—กจ 17:19
อาลาโมท
ศัพท์ทางดนตรีที่มีความหมายว่า “หญิงสาว” ซึ่งอาจทำให้นึกถึงเสียงโซปราโนของหญิงสาว คำนี้อาจใช้เพื่อกำหนดให้เล่นดนตรีหรือร้องเพลงในช่วงเสียงสูง—1พศ 15:20; สด 46:0
อาหารมื้อเย็นของพระคริสต์
เป็นมื้ออาหารจริง ๆ มีการกินขนมปังไม่ใส่เชื้อและเหล้าองุ่นซึ่งเป็นภาพเปรียบเทียบถึงร่างกายและเลือดของพระคริสต์ เป็นการระลึกถึงการตายของพระเยซู พระคัมภีร์สั่งให้คริสเตียนทำอย่างนี้เป็นประจำ—1คร 11:20, 23-26
อาร์มาเกดโดน
คำนี้มาจากคำภาษาฮีบรู ฮาร์เมกิดโดน ซึ่งแปลว่า “ภูเขาเมกิดโด” คำนี้เกี่ยวข้องกับ “สงครามในวันใหญ่ของพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด” เมื่อ “กษัตริย์ทั่วโลก” มารวมตัวกันเพื่อทำสงครามกับพระยะโฮวา (วว 16:14, 16; 19:11-21)—ดูคำว่า “ความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่”
อิลลีริคุม
แคว้นหนึ่งของจักรวรรดิโรมันที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรีซ เปาโลเคยเดินทางไปไกลถึงแคว้นนี้ตอนที่ทำงานประกาศ แต่พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าเขาเข้าไปประกาศในแคว้นอิลลีริคุมหรือแค่ไปถึงชายแดนก่อนเข้าแคว้นนั้น (รม 15:19)—ดูภาคผนวก ข13
อิสราเอล
ชื่อที่พระเจ้าตั้งให้ยาโคบ ต่อมากลายเป็นชื่อเรียกลูกหลานของเขาไม่ว่าสมัยไหน บ่อยครั้งจะเรียกลูกหลานที่เกิดจากลูกชาย 12 คนของยาโคบว่า ลูกหลานของอิสราเอล ประชาชนชาวอิสราเอล หรือชาวอิสราเอล คำว่าอิสราเอลยังเป็นชื่อเรียกอาณาจักรทางเหนือ 10 ตระกูลซึ่งแยกตัวออกจากอาณาจักรทางใต้ และต่อมาเป็นคำที่ใช้เรียกคริสเตียนผู้ถูกเจิมคือ “อิสราเอลของพระเจ้า”—กท 6:16; ปฐก 32:28; 2ซม 7:23; รม 9:6
อุทยาน
สวนที่สวยงาม อุทยานแห่งแรกคือสวนเอเดนที่พระยะโฮวาสร้างให้มนุษย์คู่แรกอยู่ ตอนที่พระเยซูพูดกับผู้ร้ายคนหนึ่งที่ถูกตรึงอยู่ข้าง ๆ คำพูดของท่านแสดงว่าโลกจะเป็นอุทยาน คำว่า “อุทยาน” ที่ 2 โครินธ์ 12:4 หมายถึงอุทยานในอนาคต ส่วนที่วิวรณ์ 2:7 คำนี้หมายถึงอุทยานในสวรรค์—ลก 23:43
อุโมงค์รำลึก
สถานที่สำหรับเก็บศพคนตาย คำนี้แปลจากคำภาษากรีก มนีมีโอน ซึ่งมาจากคำกริยา “ระลึกถึง” แสดงว่าคนตายยังเป็นที่ระลึกถึงอยู่—ยน 5:28, 29
อูริมกับทูมมิม
เป็นสิ่งที่มหาปุโรหิตใช้เมื่อมีคำถามสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งชาติ เขาจะใช้อูริมกับทูมมิมในการทำสิ่งที่คล้ายกับการจับฉลาก เพื่อจะได้คำตอบว่าพระยะโฮวาต้องการให้ทำอะไร มหาปุโรหิตจะใส่อูริมกับทูมมิมไว้ในทับทรวงเมื่อเขาเข้าไปในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ ดูเหมือนว่าไม่มีการใช้อูริมกับทูมมิมอีกต่อไปหลังจากที่ชาวบาบิโลนมาทำลายกรุงเยรูซาเล็ม—อพย 28:30; นหม 7:65
เอเชีย
แคว้นหนึ่งของจักรวรรดิโรมันในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ทางตะวันตกของตุรกีในปัจจุบัน รวมทั้งเกาะบางเกาะตามชายฝั่ง เช่น เกาะสามอส และเกาะปัทมอส เมืองหลวงของแคว้นนี้คือเอเฟซัส (กจ 20:16; วว 1:4)—ดูภาคผนวก ข13
เอโดม
อีกชื่อหนึ่งของเอซาวลูกชายของอิสอัค ลูกหลานของเอซาว (เอโดม) มาตั้งรกรากในแถบเทือกเขาเสอีร์ซึ่งอยู่ระหว่างทะเลเดดซีกับอ่าวอะกาบา ในภายหลังก็เรียกที่นั่นว่าเอโดม (ปฐก 25:30; 36:8)—ดูภาคผนวก ข3 และ ข4
เอธานิม
ชื่อเดือนที่ 7 ตามปฏิทินทางศาสนาของชาวยิวและเดือนแรกตามปฏิทินการเกษตร เริ่มจากกลางเดือนกันยายนถึงกลางเดือนตุลาคม และหลังจากชาวยิวกลับจากบาบิโลนก็เรียกเดือนนี้ว่าเดือนทิชรี (1พก 8:2)—ดูภาคผนวก ข15
เอธิโอเปีย
ชาติโบราณที่อยู่ทางใต้ของอียิปต์ ในสมัยก่อนมีอาณาเขตครอบคลุมส่วนใต้สุดของประเทศอียิปต์ไปจนถึงประเทศซูดานในปัจจุบัน บางครั้งก็ใช้คำนี้แทนคำว่า “คูช” ในภาษาฮีบรู—อสธ 1:1
เอปิคิวเรียน
กลุ่มนักปรัชญาซึ่งติดตามนักปรัชญาชาวกรีกที่ชื่อเอพิคิวรัส (341-270 ก่อน ค.ศ.) ปรัชญาของพวกเขามีแนวคิดหลักว่า เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของมนุษย์คือการมีความสุข—กจ 17:18
เอฟาห์
มาตราตวงของแห้งและถังตวงของแห้งที่ใช้ตวงข้าว มาตรานี้เท่ากับมาตราบัทที่ใช้ตวงของเหลว คือ 22 ลิตร (อพย 16:36; อสค 45:10)—ดูภาคผนวก ข14
เอโฟด
เสื้อที่เหมือนผ้ากันเปื้อนซึ่งพวกปุโรหิตใส่ มหาปุโรหิตจะใส่เอโฟดที่ทำเป็นพิเศษและสวมทับทรวงไว้ด้านหน้า บนทับทรวงมีอัญมณี 12 เม็ดฝังอยู่ (อพย 28:4, 6)—ดูภาคผนวก ข5
เอลูล
หลังชาวยิวเป็นเชลยในบาบิโลน เอลูลเป็นชื่อเดือนที่ 6 ตามปฏิทินทางศาสนาของยิวและเดือนที่ 12 ตามปฏิทินการเกษตร เริ่มจากกลางเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนกันยายน (นหม 6:15)—ดูภาคผนวก ข15
เอฟราอิม
ชื่อลูกชายคนที่สองของโยเซฟ ต่อมาเป็นตระกูลหนึ่งของอิสราเอล และหลังจากที่มีการแบ่งอิสราเอลเป็น 2 อาณาจักร มักใช้ชื่อเอฟราอิมซึ่งเป็นตระกูลที่โดดเด่นที่สุดเมื่อพูดถึงอาณาจักร 10 ตระกูล—ปฐก 41:52; ยรม 7:15
แอก
ไม้ที่วางพาดบนไหล่คนและมีของห้อยที่ปลายไม้ทั้งสองด้าน หรือไม้ที่วางขวางบนคอสัตว์ 2 ตัว (ส่วนใหญ่เป็นวัว) เพื่อให้มันลากเครื่องมือการเกษตรหรือเกวียน เนื่องจากทาสมักจะใช้แอกแบกของหนัก แอกจึงเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการเป็นทาสหรือการอยู่ใต้อำนาจ รวมทั้งการกดขี่และความทุกข์ การปลดหรือหักแอกหมายถึงการปลดปล่อยให้พ้นจากการถูกกักขัง ถูกกดขี่ และถูกเอารัดเอาเปรียบ—ลนต 26:13; มธ 11:29, 30
โอนิกซ์
โอเมอร์
มาตราตวงของแห้ง เท่ากับ 2.2 ลิตรหรือ 1 ใน 10 เอฟาห์ (อพย 16:16, 18)—ดูภาคผนวก ข14
ฮ
ฮิกกาโยน
ศัพท์เกี่ยวกับการควบคุมดนตรี ตามที่ใช้ในสดุดี 9:16 คำนี้อาจหมายถึงการบรรเลงพิณเสียงต่ำด้วยอารมณ์จริงจัง หรือการหยุดเพื่อให้ใคร่ครวญเงียบ ๆ
ฮิน
มาตราตวงของเหลวและภาชนะสำหรับตวง เท่ากับ 3.67 ลิตร (อพย 29:40)—ดูภาคผนวก ข14
ฮีบรู
มีการใช้คำนี้ครั้งแรกกับอับราม (อับราฮัม) เพื่อแยกเขาออกจากเพื่อนบ้านชาวอาโมไรต์ จากนั้นก็ใช้เมื่อพูดถึงลูกหลานของอับราฮัมซึ่งมาทางเชื้อสายของยาโคบหลานของเขา และยังหมายถึงภาษาที่พวกเขาพูดด้วย พอมาถึงสมัยของพระเยซู ภาษาฮีบรูมีคำภาษาอาราเมอิกหลายคำรวมอยู่ด้วย และเป็นภาษาที่พระคริสต์กับสาวกพูด—ปฐก 14:13; อพย 5:3; กจ 26:14
เฮโรด
นามสกุลของราชวงศ์ที่โรมแต่งตั้งให้ปกครองชาวยิว เฮโรดมหาราชเป็นที่รู้จักเพราะเขาสร้างวิหารในกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่และเป็นคนสั่งให้ฆ่าเด็กเพื่อจะกำจัดพระเยซู (มธ 2:16; ลก 1:5) ลูกชาย 2 คนของเฮโรดมหาราช คือเฮโรดอาร์เคลาอัสและเฮโรดอันทีพาส ได้รับการแต่งตั้งให้ปกครองแคว้นต่าง ๆ ที่พ่อของพวกเขาเคยปกครอง (มธ 2:22) เฮโรดอันทีพาสเป็นผู้ปกครองแคว้นและคนมักเรียกเขาว่า “กษัตริย์” เขาเป็นผู้ปกครองในช่วง 3 ปีครึ่งที่พระคริสต์ทำงานประกาศและต่อเนื่องจนถึงช่วงเหตุการณ์ก่อนกิจการบท 12 (มก 6:14-17; ลก 3:1, 19, 20; 13:31, 32; 23:6-15; กจ 4:27; 13:1) หลังจากนั้น เฮโรดอากริปปาที่หนึ่ง หลานชายของเฮโรดมหาราช ถูกทูตสวรรค์ของพระเจ้าประหารหลังจากขึ้นปกครองได้ไม่นาน (กจ 12:1-6, 18-23) ลูกชายของเขา คือเฮโรดอากริปปาที่สอง ได้ขึ้นปกครองเรื่อยมาจนถึงตอนที่ชาวยิวกบฏต่ออำนาจโรมัน (กจ 23:35; 25:13, 22-27; 26:1, 2, 19-32)—ดูคำว่า “พรรคพวกของเฮโรด”
เฮอร์เมส
เทพของกรีก ลูกชายของเทพซุส ผู้คนในเมืองลิสตราเข้าใจผิดและเรียกเปาโลว่าเฮอร์เมส เพราะเฮอร์เมสเป็นเทพที่มีหน้าที่ส่งข่าวจากพวกเทพและมีฝีปากดี—กจ 14:12
โฮเมอร์
มาตราตวงของแห้งซึ่งเทียบเท่ากับโคระ คือเท่ากับ 220 ลิตรโดยคำนวณจากปริมาตรโดยประมาณของมาตราบัท (ลนต 27:16)—ดูภาคผนวก ข14
โฮเรบ, ภูเขาโฮเรบ
แถบเทือกเขาที่อยู่รอบ ๆ ภูเขาซีนาย และเป็นอีกชื่อหนึ่งของภูเขาซีนาย (อพย 3:1; ฉธบ 5:2)—ดูภาคผนวก ข3