พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมนะเฮมยา
เวลาผ่านไปสิบสองปีนับตั้งแต่เหตุการณ์สุดท้ายที่บันทึกในพระธรรมเอษราได้เกิดขึ้น. ตอนนี้ใกล้จะถึงเวลาที่ “มีถ้อยคำออกไปให้กู้กรุงเยรูซาเลมและสร้างขึ้นใหม่” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชี้ถึงการเริ่มต้นของเวลา 70 สัปดาห์แห่งปีซึ่งนำไปถึงพระมาซีฮา. (ดานิเอล 9:24-27, ล.ม.) พระธรรมนะเฮมยาเป็นประวัติเกี่ยวกับประชาชนของพระเจ้าซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเลมขึ้นใหม่. พระธรรมนี้ครอบคลุมช่วงเวลาสำคัญมากกว่า 12 ปี ตั้งแต่ปี 456 ก่อนสากลศักราชจนถึงช่วงระยะหนึ่งหลังจากปี 443 ก่อน ส.ศ.
พระธรรมเล่มนี้ซึ่งเขียนโดยผู้สำเร็จราชการนะเฮมยา เป็นเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับวิธีที่การนมัสการแท้ได้รับการยกชูเมื่อมีการกระทำอย่างเด็ดเดี่ยวควบคู่ไปกับความไว้วางใจอย่างเต็มที่ในพระยะโฮวาพระเจ้า. พระธรรมนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงชี้นำเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้พระทัยประสงค์ของพระองค์บรรลุผลสำเร็จ. พระธรรมนี้ยังเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้นำคนหนึ่งที่เข้มแข็งและกล้าหาญ. ข่าวสารในพระธรรมนะเฮมยาให้บทเรียนอันทรงคุณค่าสำหรับบรรดาผู้นมัสการแท้ในทุกวันนี้ “เพราะพระคำของพระเจ้ามีชีวิตและทรงพลัง.”—เฮ็บราย 4:12, ล.ม.
‘ในที่สุดกำแพงก็สำเร็จ’
นะเฮมยาอยู่ในพระราชวัง ณ กรุงชูชาน (ซูซัร) ปรนนิบัติกษัตริย์อะระธาสัศธา (อาร์ทาเซอร์เซส ลอนกีมานุส) ในตำแหน่งที่ได้รับความวางใจ. เมื่อได้ยินข่าวว่าชนชาติของท่าน “มีความทุกข์ยากได้รับความอับอายเป็นที่ถูกดูหมิ่นนัก: กำแพงที่กรุงยะรูซาเลมก็หักพัง, และประตูทั้งปวงไฟก็ไหม้เสียหมดแล้ว” นะเฮมยารู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก. ท่านอธิษฐานด้วยใจแรงกล้าถึงพระเจ้าเพื่อขอการชี้นำ. (นะเฮมยา 1:3, 4) ต่อมา กษัตริย์ทรงสังเกตเห็นความโศกเศร้าของนะเฮมยา จึงทรงอนุญาตให้ท่านไปกรุงเยรูซาเลม.
หลังจากมาถึงกรุงเยรูซาเลมแล้ว นะเฮมยาได้ตรวจตราดูกำแพงเมืองในยามราตรี และท่านได้เปิดเผยให้ชาวยิวทราบแผนการของท่านที่จะสร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่. การก่อสร้างเริ่มต้น. การต่อต้านงานนี้ได้เริ่มขึ้นด้วย. อย่างไรก็ดี ภายใต้การนำอย่างกล้าหาญของนะเฮมยา “เช่นนั้นแหละ [“ในที่สุด,” ล.ม.] กำแพงก็สำเร็จลง.”—นะเฮมยา 6:15.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
1:1; 2:1—“ปีที่ยี่สิบ” ที่กล่าวถึงในสองข้อนี้นับจากการอ้างอิงจุดเดียวกันไหม? ใช่แล้ว ปีที่ 20 เป็นปีแห่งการปกครองของกษัตริย์อะระธาสัศธา. อย่างไรก็ดี วิธีการนับที่ใช้ในสองข้อนี้ต่างกัน. หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ถึงปี 475 ก่อน ส.ศ. ว่าเป็นปีที่อะระธาสัศธาขึ้นครองบัลลังก์. เนื่องจากตามธรรมเนียมแล้วพวกอาลักษณ์ชาวบาบิโลนนับปีแห่งการปกครองของกษัตริย์ชาวเปอร์เซียตั้งแต่เดือนไนซาน (มีนาคม/เมษายน) ถึงเดือนไนซาน ฉะนั้น ปีแรกแห่งการปกครองของอะระธาสัศธาได้เริ่มในเดือนไนซานของปี 474 ก่อน ส.ศ. ดังนั้น ปีที่ 20 ของการปกครองที่กล่าวถึงในนะเฮมยา 2:1 จึงเริ่มในเดือนไนซานปี 455 ก่อน ส.ศ. เดือนซิศลิว (“ชิสเลฟ,” ล.ม. ตรงกับเดือนพฤศจิกายน/ธันวาคม) ที่กล่าวถึงในนะเฮมยา 1:1 ตามเหตุผลแล้วเป็นเดือนชิสเลฟของปีก่อนหน้านั้น คือปี 456 ก่อน ส.ศ. นะเฮมยาอ้างถึงเดือนนั้นว่าตกอยู่ในปีที่ 20 แห่งรัชกาลของอะระธาสัศธาด้วย. บางทีในกรณีนี้ ท่านนับปีตั้งแต่วันที่กษัตริย์ขึ้นครองราชย์. นอกจากนี้อาจเป็นได้ที่นะเฮมยานับเวลาโดยอาศัยสิ่งที่ชาวยิวในทุกวันนี้เรียกว่าปีตามปฏิทินที่คนธรรมดาใช้กัน ซึ่งเริ่มต้นในเดือนทิชรี ตรงกับเดือนกันยายน/ตุลาคม. ไม่ว่าจะอย่างไร ปีที่มีคำสั่งออกไปให้กู้กรุงเยรูซาเลมคือ ปี 455 ก่อน ส.ศ.
4:17, 18—ผู้คนจะทำงานในการสร้างกำแพงขึ้นใหม่ด้วยมือข้างเดียวได้อย่างไร? สำหรับคนแบกหาม การทำเช่นนี้คงจะไม่เป็นปัญหา. เมื่อเทินของไว้บนศีรษะหรือแบกของไว้บนบ่าแล้ว เขาก็สามารถทำให้สมดุลกันด้วยมือข้างหนึ่งอย่างง่ายดายขณะที่มือ “อีกข้างหนึ่งถืออาวุธ.” พวกช่างก่อซึ่งจำเป็นต้องใช้มือทั้งสองข้างทำงาน “ทุกคนได้เอาดาบเหน็บเอวกระทำการไปอย่างนั้น.” พวกเขาเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ป้องกันตัวหากศัตรูจู่โจม.
5:7—ในความหมายเช่นไรที่นะเฮมยาเริ่มต้น “ต่อว่าตักเตือนเจ้านาย, และขุนนางทั้งปวง”? คนเหล่านี้ขูดรีดดอกเบี้ยจากเพื่อนชาวยิวของพวกเขาซึ่งเป็นการละเมิดพระบัญญัติของโมเซ. (เลวีติโก 25:36; พระบัญญัติ 23:19) นอกจากนี้ ผู้ให้ยืมก็เรียกร้องเอาดอกเบี้ยสูงเกินไป. ถ้ามีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นรายเดือน “ส่วนร้อย” คงจะเท่ากับ 12 เปอร์เซ็นต์ต่อปี. (นะเฮมยา 5:11) เป็นการโหดร้ายที่จะเรียกเอาดอกเบี้ยเช่นนี้กับประชาชนที่มีภาระหนักอยู่แล้วในการเสียภาษีและการขาดแคลนอาหาร. นะเฮมยาต่อว่าตักเตือนคนรวยโดยใช้พระบัญญัติของพระเจ้าว่ากล่าวและตำหนิพวกเขา และโดยวิธีนี้จึงเปิดโปงการทำผิดของพวกเขา.
6:5—เนื่องจากจดหมายที่เป็นความลับมักจะใส่ไว้ในซองที่ปิดผนึก ทำไมซันบาลาตจึงส่ง “จดหมายอย่างเปิดเผย” มาให้นะเฮมยา? ซันบาลาตอาจตั้งใจที่จะเปิดเผยข้อกล่าวหาเท็จที่ยกขึ้นมาโดยส่งเรื่องดังกล่าวมาในจดหมายอย่างเปิดเผย. บางทีเขาอาจหวังว่าจดหมายนี้จะทำให้นะเฮมยาโกรธมากจนถึงกับทิ้งงานก่อสร้างแล้วมาปกป้องตัวเอง. หรือซันบาลาตอาจคิดว่าเนื้อความในจดหมายนั้นจะทำให้เกิดความตื่นตระหนกในท่ามกลางชาวยิวจนพวกเขาจะหยุดงานของตนอย่างสิ้นเชิง. นะเฮมยาไม่หวั่นกลัวและทำงานที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้ท่านต่อไปอย่างสงบ.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:4; 2:4; 4:4, 5. เมื่อเผชิญกับสภาพการณ์ที่ยากลำบาก หรือเมื่อตัดสินใจเรื่องที่สำคัญ เราควร “หมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ” และปฏิบัติสอดคล้องกับการชี้นำตามระบอบของพระเจ้า.—โรม 12:12.
1:11–2:8; 4:4, 5, 15, 16; 6:16. พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานอย่างจริงใจของผู้รับใช้พระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 86:6, 7.
1:4; 4:19, 20; 6:3, 15. ถึงแม้นะเฮมยาเป็นคนที่มีความรู้สึกอันอ่อนละมุนก็ตาม ท่านได้วางตัวอย่างที่ดีฐานะเป็นคนที่เอาจริงเอาจัง มั่นคงเพื่อความชอบธรรม.
1:11–2:3. แหล่งสำคัญแห่งความยินดีของนะเฮมยาไม่ใช่ตำแหน่งอันทรงเกียรติในฐานะพนักงานเชิญจอกเสวย. แหล่งที่มาแห่งความยินดีของท่านคือการส่งเสริมการนมัสการแท้. การนมัสการพระยะโฮวาและทุกสิ่งที่ส่งเสริมการนมัสการนั้นควรเป็นเรื่องสำคัญที่เราห่วงใยและเป็นแหล่งสำคัญแห่งความยินดีของเรามิใช่หรือ?
2:4-8. พระยะโฮวาทรงบันดาลให้อะระธาสัศธาอนุญาตให้นะเฮมยาไปและสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเลมขึ้นใหม่. สุภาษิต 21:1 (ล.ม.) กล่าวว่า “ดวงหทัยของกษัตริย์เปรียบเสมือนร่องน้ำทั้งหลายในพระหัตถ์ของพระยะโฮวา. พระองค์ทรงดัดดวงหทัยนั้นให้ไปในทางที่พระองค์พอพระทัย.”
3:5, 27. เราไม่ควรถือว่างานที่ใช้แรงกายซึ่งทำเพื่อผลประโยชน์ของการนมัสการแท้ไม่สมกับฐานะของเรา เหมือนกับ “เจ้านาย” ของชาวเมืองธะโคอา. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราสามารถเลียนแบบชาวธะโคอาโดยทั่วไปซึ่งเต็มใจทุ่มเทตัวเอง.
3:10, 23, 28-30. ขณะที่บางคนสามารถย้ายไปยังที่ที่มีความต้องการผู้ประกาศราชอาณาจักรมากกว่า หลายคนในพวกเราสนับสนุนการนมัสการแท้ใกล้บ้านของตัวเอง. เราสามารถทำเช่นนั้นได้โดยมีส่วนร่วมในงานก่อสร้างหอประชุมและงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ แต่มีส่วนร่วมในงานประกาศราชอาณาจักรเป็นประการสำคัญ.
4:14 (ล.ม.). เมื่อเผชิญกับการต่อต้าน เราสามารถเอาชนะความกลัวได้เช่นกันโดยระลึกถึง “องค์ยิ่งใหญ่และน่าเกรงขาม.”
5:14-19. สำหรับคริสเตียนผู้ดูแล ผู้สำเร็จราชการนะเฮมยาเป็นตัวอย่างที่ดีเลิศในเรื่องความถ่อมใจ, ความไม่เห็นแก่ตัว, และความสุขุมรอบคอบ. ถึงแม้มีใจแรงกล้าในการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายของพระเจ้า ท่านก็มิได้ใช้อำนาจบาตรใหญ่เหนือคนอื่นเพื่อได้ผลกำไรที่เห็นแก่ตัว. ตรงกันข้าม ท่านได้แสดงความห่วงใยต่อผู้ที่ถูกกดขี่และคนยากจน. ในการแสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นะเฮมยาวางตัวอย่างที่โดดเด่นสำหรับผู้รับใช้ทุกคนของพระเจ้า.
“โอ้พระเจ้าของข้าพเจ้าขอทรงระลึกถึงข้าพเจ้าด้วยความโปรดปราน”
ทันทีที่กำแพงกรุงเยรูซาเลมสร้างเสร็จ นะเฮมยาตั้งประตูและจัดเตรียมการเพื่อดูแลความปลอดภัยของเมือง. ท่านทำบันทึกลำดับวงศ์ตระกูลของประชาชน. ขณะที่คนทั้งปวงมาชุมนุมกัน “ที่ลานเมืองหน้าประตูน้ำ” เอษราปุโรหิตอ่านพระบัญญัติของโมเซ และนะเฮมยากับพวกเลวีอธิบายพระบัญญัติให้แก่ประชาชน. (นะเฮมยา 8:1, ฉบับแปลใหม่) การเรียนรู้เกี่ยวกับเทศกาลตั้งทับอาศัยทำให้พวกเขาฉลองเทศกาลนี้ด้วยความยินดี.
การชุมนุมอีกครั้งหนึ่งติดตามมา ซึ่งระหว่างช่วงนี้ “บรรดาพงศ์พันธุ์ยิศราเอล” สารภาพบาปของคนทั้งชาติ พวกเลวีทบทวนวิธีที่พระเจ้าทรงปฏิบัติกับชาติอิสราเอล และประชาชนให้คำปฏิญาณว่า “จะดำเนินตามธรรมบัญญัติของพระเจ้า.” (นะเฮมยา 9:1, 2; 10:29, ฉบับแปลใหม่) เนื่องจากกรุงเยรูซาเลมยังคงมีประชากรอาศัยอยู่น้อย จึงมีการจับฉลากเพื่อให้ผู้ชายหนึ่งคนจากทุก ๆ 10 คนซึ่งอาศัยอยู่นอกเมืองย้ายเข้าไปในเมือง. ต่อจากนั้น ได้มีการสมโภชฉลองกำแพงด้วยความยินดีจน “เสียงความยินดีแห่งชาวยะรูซาเลมนั้นมีคนได้ยินได้แต่ไกล.” (นะเฮมยา 12:43) สิบสองปีหลังจากเดินทางมาถึงกรุงเยรูซาเลม นะเฮมยาออกจากกรุงนี้เพื่อกลับไปทำหน้าที่ปรนนิบัติกษัตริย์อะระธาสัศธา. ความไม่สะอาดค่อย ๆ ปรากฏท่ามกลางชาวยิว. เมื่อกลับมากรุงเยรูซาเลมอีกครั้ง นะเฮมยาลงมือจัดการอย่างเด็ดขาดเพื่อแก้ไขสถานการณ์. ท่านได้ทูลขออย่างถ่อมใจเพื่อตัวท่านเองว่า “โอ้พระเจ้าของข้าพเจ้า ขอทรงระลึกถึงข้าพเจ้าด้วยความโปรดปราน.”—นะเฮมยา 13:31, ล.ม.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
7:6-67—ทำไมตัวเลขของนะเฮมยาที่บอกจำนวนชนที่เหลือในแต่ละพงศ์พันธุ์ซึ่งกลับไปเยรูซาเลมพร้อมกับซะรูบาเบลจึงต่างจากของเอษรา? (เอษรา 2:1-65) เหตุผลสำหรับความแตกต่างดังกล่าวนี้อาจเป็นเพราะเอษรากับนะเฮมยาใช้แหล่งข้อมูลที่ต่างกัน. ตัวอย่างเช่น จำนวนคนที่ลงทะเบียนว่าจะกลับอาจต่างจากจำนวนคนที่ได้กลับไปจริง ๆ. นอกจากนี้ บันทึกทั้งสองอาจต่างกันเนื่องจากชาวยิวบางคนที่ไม่สามารถพิสูจน์ลำดับวงศ์ตระกูลของตนในตอนต้นสามารถพิสูจน์ได้ในตอนหลัง. อย่างไรก็ดี บัญชีตัวเลขทั้งสองตรงกันในจุดหนึ่งคือ จำนวนผู้ที่กลับไปในตอนแรกคือ 42,360 คน นอกเหนือจากพวกทาสและนักร้อง.
10:34—ทำไมจึงมีการเรียกร้องให้ผู้คนจัดหาฟืนมา? ไม่ได้มีการสั่งให้ถวายฟืนในพระบัญญัติของโมเซ. ข้อเรียกร้องนี้มีขึ้นเนื่องจากมีความจำเป็นอย่างแท้จริง. จำเป็นต้องมีฟืนจำนวนมากมายเพื่อเผาเครื่องบูชาบนแท่น. ดูเหมือนว่า พวกนะธีนิมซึ่งรับใช้ฐานะทาสที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอลในพระวิหารมีจำนวนไม่พอ. ดังนั้น จึงมีการจับฉลากเพื่อทำให้แน่ใจว่าจะมีฟืนใช้เรื่อยไป.
13:6—นะเฮมยาไม่อยู่ในกรุงเยรูซาเลมนานเท่าไร? คัมภีร์ไบเบิลบอกเพียงแต่ว่า “เป็นเวลาหลายวัน” หรือ “ต่อมา” (ฉบับแปลใหม่) นะเฮมยาได้ทูลกษัตริย์เพื่อขอลากลับไปเยรูซาเลม. เพราะฉะนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกำหนดว่าท่านไม่อยู่นานเท่าไร. แต่เมื่อกลับมาถึงเยรูซาเลม นะเฮมยาได้พบว่าไม่มีการสนับสนุนพวกปุโรหิต ทั้งไม่มีการปฏิบัติตามกฎวันซะบาโต. หลายคนได้รับคนต่างชาติมาเป็นภรรยา และลูก ๆ ของพวกเขาพูดภาษาของชาวยิวไม่ได้ด้วยซ้ำ. การที่สภาพการณ์ต่าง ๆ เสื่อมลงขนาดนั้น แสดงว่านะเฮมยาคงต้องจากกรุงเยรูซาเลมไปเป็นเวลานาน.
13:25, 28—นอกจาก ‘ว่ากล่าวห้ามปราม’ ชาวยิวที่เสื่อมถอยแล้ว นะเฮมยาได้ใช้มาตรการอื่นอะไรบ้างเพื่อแก้ไขสภาพการณ์? นะเฮมยา ‘ได้แช่งสาปพวกเขา’ โดยที่ท่านประกาศคำพิพากษาลงโทษพวกเขาตามที่ปรากฏในพระบัญญัติของพระเจ้า. ท่าน “โบยตีเขาบางคน” อาจจะโดยสั่งให้ดำเนินการพิพากษาพวกเขา. เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความขุ่นเคืองของท่านทางด้านศีลธรรม ท่าน ‘ได้ถอนผมบางคนในพวกเขา.’ นอกจากนี้ ท่านได้ไล่หลานชายของมหาปุโรหิตเอ็ลยาซิพ ซึ่งได้แต่งงานกับบุตรสาวของซันบาลาตชาวเมืองโฮโรนนั้นไปเสีย.
บทเรียนสำหรับเรา:
8:8. ในฐานะผู้สอนพระคำของพระเจ้า เรา ‘อธิบายให้รู้เนื้อความ’ โดยการออกเสียงชัดเจนและการพูดเน้น และโดยอธิบายพระคัมภีร์อย่างถูกต้องและนำมาใช้อย่างชัดเจน.
8:10 (ล.ม.). “ความยินดีในพระยะโฮวา” เกิดจากการที่คนเราสำนึกถึงความจำเป็นทางฝ่ายวิญญาณและสนองความจำเป็นนั้น และเกิดจากการปฏิบัติตามการชี้นำตามระบอบของพระเจ้า. นับว่าสำคัญสักเพียงไรที่เราขยันศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, เข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ, และมีส่วนร่วมด้วยใจแรงกล้าในงานประกาศราชอาณาจักรและการทำให้คนเป็นสาวก!
11:2. การทิ้งทรัพย์สินที่เป็นมรดกตกทอดไว้แล้วย้ายไปอยู่ในกรุงเยรูซาเลมต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนตัวและมีข้อเสียเปรียบบางอย่าง. คนเหล่านั้นที่อาสาสมัครไป แสดงให้เห็นน้ำใจเสียสละ. เราสามารถแสดงน้ำใจดังกล่าวได้เช่นกันเมื่อมีโอกาสที่จะอาสาสมัครทำงานเพื่อประโยชน์ของคนอื่น ณ การประชุมใหญ่และในโอกาสอื่น ๆ.
12:31, 38, 40-42. การร้องเพลงเป็นวิธีที่เหมาะสมในการสรรเสริญพระยะโฮวาและแสดงความขอบพระคุณพระองค์. เราควรร้องเพลงอย่างสุดหัวใจ ณ การประชุมคริสเตียน.
13:4-31. เราต้องระวังไม่ยอมให้วัตถุนิยม, ความเสื่อมทราม, การออกหากแทรกซึมเข้ามาในชีวิตของเรา.
13:22. นะเฮมยาตระหนักดีว่าท่านต้องให้การต่อพระเจ้า. เราก็ต้องตระหนักว่าเราต้องให้การต่อพระยะโฮวาเช่นกัน.
การได้รับพระพรจากพระยะโฮวาสำคัญยิ่ง!
ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้ร้องเพลงว่า “ถ้าพระยะโฮวาไม่ทรงสร้างตึกขึ้น, ช่างก่อก็จะเสียแรงเปล่า ๆ ในการก่อสร้างนั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 127:1) พระธรรมนะเฮมยาแสดงให้เห็นความจริงของถ้อยคำดังกล่าวนี้อย่างน่าจับใจสักเพียงไร!
มีบทเรียนที่ชัดเจนสำหรับเรา. หากเราต้องการประสบผลสำเร็จในความพยายามของเราไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม เราต้องได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวา. เราสามารถคาดหมายอย่างแท้จริงได้ไหมว่าพระยะโฮวาจะประทานบำเหน็จให้เรา นอกจากว่าเราจัดให้การนมัสการแท้อยู่ในอันดับแรกในชีวิตของเรา? ดังนั้น เช่นเดียวกับนะเฮมยา ขอให้ความห่วงใยอันดับแรกของเราคือการนมัสการพระยะโฮวาและการส่งเสริมการนมัสการนั้น.
[ภาพหน้า 8]
“ดวงหทัยของกษัตริย์เปรียบเสมือนร่องน้ำทั้งหลายในพระหัตถ์ของพระยะโฮวา”
[ภาพหน้า 9]
นะเฮมยาซึ่งเป็นคนที่เอาจริงเอาจังและมีความรู้สึกอันอ่อนละมุนมายังกรุงเยรูซาเลม
[ภาพหน้า 10, 11]
คุณรู้วิธี ‘อธิบายเนื้อความ’ ในพระคำของพระเจ้าไหม?