บทเรียนว่าด้วยวิธีจัดการปัญหา
มีเพียงไม่กี่คนต้องรับมือกับปัญหามากมายอย่างที่โยบเคยเผชิญ. ชั่วเวลาสั้น ๆ ท่านถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะท่านสูญเสียทรัพย์สมบัติและฝูงปศุสัตว์ บุตรทุกคนของท่านประสบความตายอย่างอเนจอนาถ ท้ายที่สุด เป็นโรคร้ายที่แสนเจ็บปวด. ท่านถูกญาติมิตรคว่ำบาตร และภรรยาเองได้เร่งเร้าท่านให้ “แช่งด่าพระเจ้า ถึงจะตายก็ตายเถิด!”—โยบ 2:9; 19:13, 14.
อย่างไรก็ดี โยบเป็นแหล่งแห่งการหนุนใจอันดียิ่งสำหรับใครก็ตามที่กำลังประสบความทุกข์ยากคล้าย ๆ กัน. ผลดีจากการทนทุกข์อย่างหนักของท่านแสดงให้เห็นว่า การอดทนขณะเผชิญความยากลำบากย่อมทำให้พระทัยพระยะโฮวาปลาบปลื้มยินดี เมื่อเราถูกกระตุ้นด้วยความเลื่อมใสต่อพระเจ้าอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำไปเพื่อผลประโยชน์อันเห็นแก่ตัว.—โยบบท 1, 2; 42:10-17; สุภาษิต 27:11.
อนึ่ง เรื่องนี้ในคัมภีร์ไบเบิลให้บทเรียนที่ทรงคุณค่าว่าด้วยวิธีจัดการปัญหา. เรื่องนี้ให้ตัวอย่างที่น่าประทับใจว่า ควร—หรือไม่ควร—จะให้คำแนะนำอย่างไรแก่ผู้ที่กำลังเผชิญความทุกข์ยาก. ยิ่งกว่านั้น ประสบการณ์ส่วนตัวของโยบอาจช่วยเราให้แสดงปฏิกิริยาด้วยวิธีที่สมดุล เมื่อเรารู้ว่าตัวเองถูกกระหน่ำภายใต้สภาพแวดล้อมอันเลวร้าย.
บทเรียนจากการแนะนำในทางลบ
คำว่า “ผู้เล้าโลมโยบ” ได้กลายมาเป็นคำที่มีความหมายที่ใช้กับบุคคลซึ่งแทนที่จะแสดงความเห็นใจในยามยาก แต่กลับทำให้สภาพแย่ลงไปอีก. มาตรว่าสหายสามคนของโยบสมควรถูกเรียกเช่นนั้น เราก็ไม่ควรทึกทักว่าพวกเขามีเจตนาร้ายไปเสียทุกอย่าง. เขาคงต้องการช่วยโยบไม่มากก็น้อย คือกระทำไปตามความเข้าใจอย่างผิด ๆ ของเขา. ทำไมเขาไม่ประสบความสำเร็จ? เขาได้กลายเป็นเครื่องมือของซาตานได้อย่างไร ซึ่งมุ่งมาดจะทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของโยบ?
แท้ที่จริง คำแนะนำของพวกเขาอาศัยสมมุติฐานที่ไม่ถูกต้องที่ว่า ความทุกข์ทรมานเกิดขึ้นกับคนทำบาปเท่านั้น. เมื่ออะลีฟาศเริ่มเป็นคนแรก เขาพูดว่า “ใครที่ไม่มีผิดและได้พินาศไปหรือ? และมีที่ไหนที่คนชอบธรรมถูกกำจัดเสีย? ตามที่ข้าฯได้เคยเห็นมาแล้ว, ผู้ที่ไถด้วยความชั่วและหว่านด้วยความร้าย, ก็ย่อมได้เกี่ยวผลอย่างนั้น.” (โยบ 4:7, 8) อะลีฟาศเชื่ออย่างผิด ๆ ว่า คนไม่มีความผิดย่อมไม่ประสบภัยพิบัติ. เขาอ้างเหตุผลว่า เพราะโยบเผชิญปัญหาหลายอย่างและทนทุกข์หนัก ท่านต้องได้ทำบาปต่อพระเจ้าแน่ ๆ.a ทั้งบิลดัดและโซฟาร์ต่างก็ยืนกรานทำนองเดียวกันว่า โยบจำต้องหันกลับจากการบาปทั้งปวง.—โยบ 8:5, 6; 11:13-15.
สหายสามคนของโยบยิ่งได้ทำให้ท่านหมดกำลังใจมากขึ้น โดยการกล่าวตามความคิดเห็นของตัวเองแทนการพึ่งสติปัญญาที่มาจากพระเจ้า. อะลีฟาศถึงกับพูดว่า ‘พระเจ้าไม่ไว้ใจผู้รับใช้ของพระองค์’ และถึงแม้โยบจะเป็นคนชอบธรรมหรืออธรรมก็หาใช่เรื่องสำคัญสำหรับพระยะโฮวา. (โยบ 4:18; 22:2, 3) ยากที่นึกถึงคำพูดอันก่อให้เกิดความท้อแท้—หรือที่ไม่เป็นความจริง—ได้มากไปกว่านี้! ไม่ประหลาดใจเลย ในเวลาต่อมาพระยะโฮวาทรงว่ากล่าวอะลีฟาศและสหายของเขาเพราะการหมิ่นประมาทดังกล่าว. พระองค์ตรัสว่า “เจ้าได้พูดอะไร ๆ ถึงเรานั้นไม่เป็นความจริง.” (โยบ 42:7) กระนั้น ข้อยืนยันที่ก่อความเสียหายมากที่สุดยังจะตามมาอีก.
ในที่สุด อะลีฟาศถึงกับโพนทะนาว่าโยบซึ่ง ๆ หน้า. เพราะเหตุที่เขาไม่สามารถคาดคั้นให้ท่านยอมรับผิด เขาจึงใช้วิธีกุเรื่องบาปต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งเขาทึกทักว่าโยบต้องเคยกระทำมาแล้ว. อะลีฟาศถามดังนี้: “เป็นเพราะความชั่วมากมายของท่านมิใช่หรือ และเพราะความผิดของท่านไม่รู้จักจบ? เพราะท่านได้เอาข้าวของของพี่น้องไปเสียเปล่า ๆ และได้แก้เอาเสื้อผ้าของเขาไป จนเหลือแต่ตัวล่อนจ้อน. ท่านไม่ยอมให้น้ำแก่ผู้อิดโรยดื่ม; และไม่ยอมให้อาหารแก่ผู้อดอยาก.” (โยบ 22:5-7) ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่มีมูลความจริงแม้แต่น้อย. พระยะโฮวาเองได้ทรงพรรณนาว่า โยบเป็นคน “ดีรอบคอบและชอบธรรม.”—โยบ 1:8.
โยบมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการพูดโจมตีความซื่อสัตย์มั่นคงของท่าน? พอเข้าใจได้ว่าการโจมตีนั้นทำให้ท่านรู้สึกขมขื่นและท้อแท้อยู่บ้าง แต่ก็ทำให้ท่านตั้งใจแน่วแน่ยิ่งกว่าแต่ก่อนที่จะพิสูจน์ข้อกล่าวหาเหล่านั้นว่าไม่มีมูลความจริง. ที่แท้แล้ว ท่านหมกมุ่นอยู่กับการพิสูจน์ว่าตัวเองถูกต้องถึงขนาดท่านเริ่มตำหนิพระยะโฮวาสำหรับเหตุร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น. (โยบ 6:4; 9:16-18; 16:11, 12) ประเด็นสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องถูกมองข้าม และการสนทนาก็กลายเป็นเรื่องโต้คารมอันหาสาระไม่ได้ว่าโยบเป็นคนชอบธรรมหรือไม่. คริสเตียนอาจเรียนอะไรได้จากช่วงของการให้คำแนะนำซึ่งยังผลเป็นความเสียหายครั้งนี้?
1. คริสเตียนที่มีความรักย่อมไม่ทึกทักแต่แรกว่าปัญหาของพี่น้องเป็นเพราะเขาเองกระทำผิด. การตำหนิข้อผิดพลาดต่าง ๆ ที่ล่วงเลยมาแล้วอย่างไม่ปรานี—ไม่ว่าผิดจริงหรือคิดนึกเอาเอง—ก็อาจทำให้คนที่พยายามแก้ปัญหาอย่างหนักอยู่แล้วหมดกำลังใจ. คนที่รู้สึกท้อแท้ต้องการรับ ‘การหนุนใจ’ แทนการตำหนิอย่างรุนแรง. (1 เธซะโลนิเก 5:14) พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้ผู้ดูแลทั้งหลายเป็น ‘ที่กำบังให้พ้นพายุฝน’ ไม่ใช่ “ผู้เล้าโลมอันร้ายกาจ” อย่างอะลีฟาศ, บิลดัด, และโซฟาร์.—ยะซายา 32:2; โยบ 16:2.
2. พวกเราไม่ควรกล่าวโทษโดยไม่มีหลักฐานชัดแจ้ง. ข่าวลือหรือการคิดเอาเอง—เช่นที่อะลีฟาศนำขึ้นมาพูดหาใช่หลักฐานแน่นหนาเพื่อให้การว่ากล่าวไม่. ยกตัวอย่าง หากผู้ปกครองตั้งข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ เขาคงจะไม่ได้รับความนับถือไว้วางใจและทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นได้. โยบมีความรู้สึกเช่นไรเมื่อจำทนฟังคำแนะนำที่ผิดเช่นนั้น? ท่านระบายความปวดร้าวใจออกมาด้วยคำพูดประชดที่ว่า “ท่านได้ช่วยผู้ไม่มีกำลังมากจริงหนอ!” (โยบ 26:2, ฉบับแปลใหม่) ผู้ดูแลที่ห่วงใยจะ “ชูมือที่ห้อยอยู่ขึ้น” ไม่ใช่ทำให้ปัญหาเลวร้ายยิ่งขึ้น.—เฮ็บราย 12:12.
3. คำแนะนำควรยึดพระคำของพระเจ้าเป็นหลัก ไม่อาศัยความคิดเห็นส่วนตัว. ข้อโต้แย้งของสหายของโยบไม่ถูกต้องและเป็นไปในเชิงทำลาย. แทนที่จะโน้มนำโยบเข้าใกล้ชิดกับพระยะโฮวา พวกเขากลับชักนำให้ท่านคิดว่ามีสิ่งขวางกั้นท่านไว้จากพระบิดาทางภาคสวรรค์. (โยบ 19:2, 6, 8) แต่อีกแง่หนึ่ง การใช้คัมภีร์ไบเบิลอย่างชำนิชำนาญจะสามารถจัดเรื่องราวต่าง ๆ ได้เรียบร้อย, เสริมกำลังผู้อื่นให้กระปรี้กระเปร่า, และให้การเล้าโลมอย่างแท้จริง.—ลูกา 24:32; โรม 15:4; 2 ติโมเธียว 3:16; 4:2.
ขณะที่พระธรรมโยบช่วยคริสเตียนให้สังเกตและเข้าใจหลุมพรางบางอย่างแล้ว ยังให้บทเรียนอันทรงคุณประโยชน์อีกด้วยเกี่ยวกับวิธีให้คำแนะนำอย่างมีประสิทธิผล.
วิธีให้คำแนะนำ
คำแนะนำของอะลีฮูต่างกันโดยสิ้นเชิงกับคำแนะนำที่สหายสามคนให้แก่โยบ ทั้งในเนื้อหาและวิธีการที่อะลีฮูปฏิบัติกับโยบ. อะลีฮูออกชื่อโยบและพูดกับโยบฉันมิตร ไม่ทำเหมือนกับตนเป็นผู้ตัดสินโยบ. “เพราะเหตุนี้, ท่านโยบเจ้าข้า, ข้าฯขอวิงวอนให้ท่านฟังคำกล่าวของข้าฯ, และสดับฟังคำพูดของข้าฯให้ตลอด. นี่แหละ, เฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า, ข้าฯก็เป็นเช่นเดียวกับท่าน; ข้าฯก็ถูกสร้างมาด้วยดินดุจกัน.” (โยบ 33:1, 6) นอกจากนั้น อะลีฮูไม่รีรอที่จะชมเชยโยบเนื่องด้วยแนวทางอันชอบธรรมของท่าน. เขาพูดรับรองโยบดังนี้: “ข้าฯชื่นชมในความชอบธรรมของท่าน.” (โยบ 33:32, ล.ม.) นอกจากการให้คำแนะนำอย่างนุ่มนวลแล้ว อะลีฮูประสบความสำเร็จเพราะเหตุผลอื่น ๆ อีก.
โดยการอดใจรอกระทั่งคนอื่นพูดจบ อะลีฮูจึงสามารถจับประเด็นต่าง ๆ ได้ดีกว่าก่อนให้คำแนะนำ. ทั้ง ๆ ที่โยบเป็นคนชอบธรรม พระยะโฮวาจะลงโทษท่านเชียวหรือ? อะลีฮูได้ร้องขึ้นว่า “พระเจ้าจะทรงกระทำการชั่วนั้นเป็นไปไม่ได้; และท่านผู้ทรงฤทธิ์จะทรงกระทำผิดก็เป็นไปไม่ได้เลย. พระองค์ไม่ทรงเบือนพระเนตรไปจากผู้ชอบธรรม.”—โยบ 34:10; 36:7.
ความชอบธรรมของโยบเป็นประเด็นสำคัญจริง ๆ ไหม? อะลีฮูได้ดึงความสนใจของโยบไปยังแง่คิดที่ไม่สมดุล. อะลีฮูอธิบายว่า “ท่านพูดหรือว่า ‘ความชอบธรรมของข้าพเจ้ายิ่งกว่าของพระเจ้า.’ จงมองดูท้องฟ้าเถิด ดูเมฆซึ่งอยู่สูงกว่าท่าน.” (โยบ 35:2, 5, ฉบับแปลใหม่) เฉกเช่นกลุ่มเมฆบนท้องฟ้าอยู่สูงกว่าเราฉันใด แนวทางทั้งปวงของพระยะโฮวาย่อมสูงกว่าทางของเราฉันนั้น. เราไม่อยู่ในฐานะจะตัดสินวิธีการที่พระองค์ทรงกระทำสิ่งต่าง ๆ. อะลีฮูกล่าวสรุปดังนี้: “เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงยำเกรงพระองค์ พระองค์ไม่ทรงนับถือผู้ใดที่ถือตัวว่ามีปัญญา.”—โยบ 37:24, ฉบับแปลใหม่; ยะซายา 55:9.
คำแนะนำที่ถูกต้องของอะลีฮูได้เตรียมโยบให้มีใจพร้อมจะรับคำแนะนำเพิ่มเติมจากพระยะโฮวาโดยตรง. ที่จริง มีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าทึ่งระหว่างสิ่งที่อะลีฮูได้ทบทวนดู “ราชกิจอันน่ามหัศจรรย์ของพระเจ้า” ในโยบบท 37 กับคำตรัสที่พระยะโฮวาเองตรัสแก่โยบ ตามบันทึกในบท 38 ถึงบท 41. ปรากฏชัดว่า อะลีฮูมองเรื่องต่าง ๆ จากทัศนะของพระยะโฮวา. (โยบ 37:14) คริสเตียนจะเลียนแบบอย่างอันดีของอะลีฮูได้อย่างไร?
เช่นเดียวกับอะลีฮู ผู้ดูแลทั้งหลายโดยเฉพาะต้องการเป็นคนที่นึกถึงอกเขาอกเราและปฏิบัติอย่างกรุณา ระลึกเสมอว่า ตัวเองเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์เหมือนกัน. คงจะดีหากผู้ดูแลตั้งใจฟังอย่างสุขุม ทั้งนี้ก็เพื่อรู้ข้อเท็จจริงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องและเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ก่อนให้คำแนะนำ. (สุภาษิต 18:13) ยิ่งกว่านั้น โดยการใช้คัมภีร์ไบเบิลและหนังสือที่เกี่ยวกับพระคัมภีร์ เขาสามารถทำให้เป็นที่แน่ใจได้ว่า ทัศนะของพระยะโฮวาขึ้นหน้าทัศนะส่วนตัว.—โรม 3:4.
นอกจากจะให้บทเรียนที่ใช้ได้ผลดีสำหรับผู้ดูแลแล้ว พระธรรมโยบยังสอนเราให้รู้วิธีรับมือกับปัญหาด้วยดุลยพินิจที่ดี.
ปฏิกิริยาที่ไม่สมควรเมื่อประสบสภาพการณ์ที่เลวร้าย
เนื่องจากตรมทุกข์เพราะประสบความทุกข์แสนสาหัส ทั้งยังรู้สึกคับข้องใจเนื่องจากผู้เล้าโลมจอมปลอมเหล่านั้น โยบจึงระทมขมขื่นและหดหู่. ท่านถึงกับคร่ำครวญว่า “ให้วันที่ข้าฯได้เกิดนั้น . . . จงดับศูนย์ไป. ดวงจิตของข้าฯเบื่อหน่ายต่อชีวิตของข้าฯ.” (โยบ 3:3; 10:1) โดยไม่รู้ว่าซาตานเป็นตัวก่อเหตุ โยบนึกเอาเองว่า พระเจ้าได้บันดาลให้เกิดความทุกข์ยากนี้แก่ท่าน. ดูเหมือนว่าไม่ยุติธรรมเสียเลยที่ท่านซึ่งเป็นคนชอบธรรมต้องมาทนทุกข์อย่างนี้. (โยบ 23:10, 11; 27:2; 30:20, 21) ทัศนะเช่นนี้บดบังโยบจนไม่ได้คำนึงถึงเรื่องอื่น มิหนำซ้ำยังจูงใจท่านให้กล่าวติเตียนวิธีที่พระเจ้าดำเนินงานกับมนุษยชาติ. พระยะโฮวาตรัสถามดังนี้: “เจ้าจะลบล้างคำตัดสินของเราหรือ? เจ้าหาว่าเราผิดเพื่อเจ้าจะเป็นฝ่ายถูกหรือ?”—โยบ 40:8.
บางทีปฏิกิริยาเฉียบพลันของเราขณะเผชิญความลำบากยากแค้นนั้นคือจะคิดว่าเรากลายเป็นเหยื่อเสียแล้ว ดูเหมือนโยบรู้สึกอย่างนี้. การตอบสนองโดยทั่วไปคือจะถามว่า ‘ทำไมฉันถึงต้องลำบากอย่างนี้? ทำไมคนอื่น ๆ—ซึ่งแย่กว่าฉันมาก—มีชีวิตที่ไม่ค่อยจะมีปัญหา?’ คำถามเหล่านี้เป็นแนวคิดเชิงลบ ซึ่งเราจะลบล้างได้ด้วยการคิดรำพึงถึงพระคำของพระเจ้า.
ไม่เหมือนโยบ เราอยู่ในฐานะที่จะเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งสำคัญกว่า. เรารู้ว่าซาตาน “เที่ยวไปเสาะแสวงหาคนที่มันจะกัดกินได้.” (1 เปโตร 5:8) ดังที่พระธรรมโยบเปิดเผย พญามารจะยินดีหากมันสามารถทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของเราโดยก่อปัญหาให้เรา. มันแน่วแน่จะพิสูจน์คำอ้างของมันว่าเราเป็นพยานของพระยะโฮวาก็เฉพาะยามที่มีความสะดวกสบายเท่านั้น. (โยบ 1:9-11; 2:3-5) เราจะกล้าเชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาไหม และโดยวิธีนี้จึงพิสูจน์ว่าพญามารเป็นผู้พูดมุสา?
ตัวอย่างของพระเยซู และผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาอีกหลายคนนับไม่ถ้วน แสดงให้เห็นว่า การทนทุกข์ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งนั้นแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระบบสิ่งต่าง ๆ นี้. พระเยซูตรัสว่า สาวกของพระองค์ต้องเต็มใจ ‘แบกเสาทรมานของตัวเอง’ หากเขาต้องการเจริญรอยตามพระองค์. (ลูกา 9:23) “เสาทรมาน” ของเราที่ต้องแบกนั้นอาจเป็นความยากลำบากอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างที่โยบเองเคยทนรับมาแล้ว—การเจ็บป่วย, การเสียชีวิตของคนที่เรารัก, ความหดหู่, ความฝืดเคืองด้านเศรษฐกิจ, หรือการต่อต้านจากคนไม่เชื่อพระเจ้า. ไม่ว่าเราประสบปัญหารูปแบบใดก็ตาม แต่ด้านดีก็ยังมีบ้าง. เราอาจถือว่าสภาพการณ์ของเราเป็นโอกาสที่เราจะแสดงความอดทนและความภักดีอย่างมั่นคงต่อพระยะโฮวา.—ยาโกโบ 1:2, 3.
นี้แหละเป็นปฏิกิริยาที่อัครสาวกของพระเยซูได้แสดง. ไม่นานหลังจากวันเพ็นเตคอสเต พวกเขาถูกเฆี่ยนเพราะการสั่งสอนเรื่องพระเยซู. แทนที่พวกเขาจะท้อถอย เขากลับไปด้วย “ความยินดี.” พวกเขาชื่นชมยินดี ไม่ใช่เพราะการรับทุกข์ แต่เพราะ “ตนสมควรได้รับการหลู่เกียรติเพราะพระนามของพระองค์ [พระคริสต์].”—กิจการ 5:40, 41, ล.ม.
แน่นอน ไม่ใช่ความยุ่งยากลำบากทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราสืบเนื่องมาจากการรับใช้พระยะโฮวา. ปัญหาที่เราประสบอาจมาจากตัวเราเอง—อย่างน้อยก็มีอยู่บ้าง. หรือบางที แม้ไม่ใช่ความผิดที่เราก่อขึ้น แต่ปัญหานั้นอาจกระทบถึงความสมดุลฝ่ายวิญญาณของเราได้. ไม่ว่าสภาพการณ์เป็นอย่างไร ท่าทีที่ถ่อมใจเช่นโยบจะช่วยให้เรามองเห็นข้อผิดพลาดว่าอยู่ตรงไหน. โยบได้สารภาพต่อพระยะโฮวาว่า “ข้าฯได้พูดสิ่งที่ข้าฯไม่เข้าใจเลย.” (โยบ 42:3) ผู้ที่ยอมรับความผิดของตนในวิธีนี้จะเลี่ยงความยุ่งยากได้มากในอนาคต. ดังภาษิตข้อหนึ่งว่า “คนฉลาดมองเห็นภัยแล้วหนีไปซ่อนตัว.”—สุภาษิต 22:3.
ที่สำคัญยิ่ง พระธรรมโยบเตือนเราให้ตระหนักว่า ปัญหาของเราจะมีอยู่เพียงชั่วคราว. คัมภีร์ไบเบิลแจ้งไว้ดังนี้: “เราบอกว่า คนเหล่านั้นที่ได้อดทนก็เป็นสุข. ท่านทั้งหลายเคยได้ยินถึงความอดทนของโยบและได้เห็นผลที่พระยะโฮวาทรงประทานแล้วว่า พระยะโฮวาทรงเปี่ยมไปด้วยความรักใคร่อันอ่อนละมุนและเมตตา.” (ยาโกโบ 5:11, ล.ม.) เราสามารถแน่ใจได้ว่า พระยะโฮวาจะประทานบำเหน็จความซื่อสัตย์มั่นคงให้แก่เหล่าผู้รับใช้ของพระองค์สมัยนี้เช่นเดียวกัน.
อนึ่ง พวกเราคอยท่าเวลานั้นเมื่อปัญหาทุกอย่าง—“สิ่งที่เคยมีอยู่เดิมนั้น”—ได้ผ่านพ้นไปแล้ว. (วิวรณ์ 21:4, ล.ม.) กว่าจะถึงอรุณรุ่งของวันนั้น พระธรรมโยบเป็นประโยชน์ฐานะเครื่องนำทางอันประมาณค่ามิได้ ซึ่งจะช่วยเราจัดการปัญหาด้วยสติปัญญาและความเข้มแข็งอดทน.
[เชิงอรรถ]
a แม้พระคัมภีร์ระบุไว้ว่า “คนใดหว่านพืชอย่างใดลง ก็จะเกี่ยวเก็บผลอย่างนั้น” อย่างไรก็ตาม ข้อนี้ไม่หมายความว่า คนเราได้รับความทุกข์นั้นเนื่องจากพระเจ้าลงโทษ. (ฆะลาเตีย 6:7) ในโลกซึ่งซาตานมีอำนาจครอบครอง คนชอบธรรมมักจะเจอปัญหามากกว่าคนชั่ว. (1 โยฮัน 5:19) พระเยซูตรัสกับสาวกของพระองค์ว่า “คนทั้งปวงจะเกลียดชังท่านเพราะนามของเรา.” (มัดธาย 10:22) ความเจ็บป่วยและเหตุร้ายแบบอื่นอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ที่เป็นผู้รับใช้ซื่อสัตย์ของพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 41:3; 73:3-5; ฟิลิปปอย 2:25-27.
[รูปภาพหน้า 28]
“ดูเมฆที่สูงกว่าท่าน.” ด้วยคำพูดเช่นนั้นอะลีฮูได้ช่วยโยบเข้าใจว่า แนวทางของพระเจ้าสูงกว่าแนวทางของมนุษย์