คุณเข้าใจความหมายของภาพพจน์ในคัมภีร์ไบเบิลไหม?
ภาพหนึ่งภาพอาจมีค่ามากกว่าพันคำ แต่บางครั้งคำเพียงหนึ่งหรือสองคำก็อาจทำให้เห็นเป็นภาพได้. ภาพพจน์หรือสำนวนโวหารที่ทำให้ผู้อ่านนึกเห็นเป็นภาพมีอยู่มากมายในคัมภีร์ไบเบิล.a ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเคยมีการนับและพบว่าพระเยซูทรงใช้สำนวนภาษาที่เป็นภาพพจน์มากกว่า 50 สำนวนในการเทศน์สั่งสอนเพียงครั้งเดียว คือในคำเทศน์บนภูเขา.
ทำไมเราควรสนใจภาพพจน์เหล่านี้? เหตุผลประการหนึ่งคือ การเข้าใจภาพพจน์เหล่านี้จะช่วยให้การอ่านคัมภีร์ไบเบิลของเรามีอรรถรสและน่าสนใจยิ่งขึ้น และทำให้พระคำของพระเจ้ามีคุณค่ามากขึ้นสำหรับเรา. นอกจากนั้น ถ้าเรารู้ว่าข้อความใดในคัมภีร์ไบเบิลคือภาพพจน์และเข้าใจความหมายของภาพพจน์นั้น เราก็จะเข้าใจข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลได้ดียิ่งขึ้นด้วย. ที่จริง การที่เราไม่รู้ว่าข้อความใดเป็นภาพพจน์ไม่เพียงทำให้เราสับสนได้เท่านั้น แต่ยังทำให้เข้าใจผิดได้ด้วย.
ทำความเข้าใจภาพพจน์
ภาพพจน์เป็นการเปรียบเทียบแนวคิดหนึ่งกับอีกแนวคิดหนึ่ง. ในการเปรียบเทียบเช่นนั้นจะต้องมีองค์ประกอบสามอย่าง คือ เรื่องที่กล่าวถึง, สิ่งที่นำมาเปรียบและจุดที่เหมือนกันของสองสิ่งนั้น. ฉะนั้น กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของภาพพจน์ก็คือการแยกแยะและเข้าใจองค์ประกอบสามอย่างนี้.
บางครั้งอาจสังเกตได้ไม่ยากว่าอะไรคือเรื่องที่กล่าวถึงและอะไรคือสิ่งที่นำมาเปรียบ. แต่จุดที่เหมือนกันของสองสิ่งนั้นอาจมีอยู่หลายจุด. อะไรจะช่วยคุณให้รู้ว่าผู้ที่พูดกำลังหมายถึงจุดไหน? บ่อยครั้ง บริบทหรือข้อความแวดล้อมจะช่วยคุณได้.b
ตัวอย่างเช่น พระเยซูตรัสกับประชาคมในเมืองซาร์ดิสว่า “แน่นอน ถ้าเจ้าไม่ตื่นขึ้น เราจะมาเหมือนขโมย.” ในข้อนี้พระเยซูกำลังเปรียบการเสด็จมาของพระองค์ (เรื่องที่กล่าวถึง) กับการมาของขโมย (สิ่งที่นำมาเปรียบ). แต่อะไรคือจุดที่เหมือนกัน? บริบทช่วยเราได้. พระเยซูตรัสต่อไปว่า “เจ้าจะไม่รู้เลยว่าเราจะมาหาเจ้าในเวลาใด.” (วิวรณ์ 3:3) ดังนั้น พระเยซูไม่ได้เปรียบเทียบในเรื่องจุดประสงค์ของการมา. พระองค์ไม่ได้หมายความว่าพระองค์จะเสด็จมาเพื่อขโมย. แต่พระองค์กำลังเปรียบเทียบให้เห็นว่าการมาของพระองค์จะเกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิดและไม่มีการแจ้งล่วงหน้า.
อย่างไรก็ตาม บางครั้งภาพพจน์ในที่หนึ่งของคัมภีร์ไบเบิลอาจช่วยคุณให้เข้าใจภาพพจน์คล้าย ๆ กันในอีกที่หนึ่ง. ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปาโลใช้ภาพพจน์เดียวกันกับที่พระเยซูทรงใช้เมื่อท่านเขียนว่า “พวกท่านรู้ดีว่าวันของพระยะโฮวาจะมาเหมือนขโมยที่มาตอนกลางคืน.” (1 เทสซาโลนิเก 5:2) เปาโลไม่ได้บอกตรง ๆ ในบริบทว่าอะไรคือจุดที่เหมือนกัน. อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบภาพพจน์นี้กับภาพพจน์ที่พระเยซูทรงใช้ที่วิวรณ์ 3:3 สามารถช่วยคุณให้เข้าใจว่าวันของพระยะโฮวาเหมือนกับการมาของขโมยอย่างไร. ภาพพจน์ดังกล่าวเป็นข้อเตือนใจที่มีพลังสักเพียงไรซึ่งเตือนใจคริสเตียนทุกคนว่าต้องตื่นตัวอยู่เสมอ!
ภาพพจน์ที่สอนเราเกี่ยวกับพระเจ้า
ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถเข้าใจบุคลิกภาพและพลังอำนาจของพระเจ้าองค์ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งได้ครบถ้วนทุกแง่มุม. ในกาลโบราณ กษัตริย์ดาวิดได้เขียนเกี่ยวกับ ‘ความใหญ่ยิ่งซึ่งเหลือที่มนุษย์จะรู้ได้’ ของพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 145:3) เมื่อพิจารณาดูผลงานการสร้างของพระเจ้า โยบถึงกับกล่าวว่า “ดูเถิดกิจการเหล่านี้เป็นแต่เพียงผิวนอกแห่งราชกิจของพระองค์. เรารู้ถึงเรื่องของพระองค์จากเสียงกระซิบที่แผ่วเบาเท่านั้น. ส่วนเดชานุภาพอันกึกก้องของพระองค์นั้นใครจะเข้าใจได้?”—โยบ 26:14
กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลใช้ภาพพจน์เพื่อช่วยคุณให้เข้าใจในระดับหนึ่งว่าพระเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงมีคุณลักษณะที่ยอดเยี่ยมอย่างไรบ้าง. คัมภีร์ไบเบิลให้ภาพพระยะโฮวาเป็นกษัตริย์, ผู้บัญญัติกฎหมาย, ผู้พิพากษา และนักรบ ซึ่งทำให้เห็นชัดว่าพระองค์สมควรได้รับความนับถือจากเรา. นอกจากนี้ ยังมีการให้ภาพพระองค์เป็นผู้บำรุงเลี้ยง, ที่ปรึกษา, ครู, บิดา, ผู้เยียวยารักษา, และผู้ช่วยให้รอด ซึ่งล้วนแสดงว่าพระองค์เป็นผู้ที่เราจะรักได้. (บทเพลงสรรเสริญ 16:7; 23:1; 32:8; 71:17; 89:26; 103:3; 106:21; ยะซายา 33:22; 42:13; โยฮัน 6:45) การอธิบายด้วยคำที่เข้าใจง่ายเหล่านี้ทำให้เห็นภาพที่น่าประทับใจมากมายและแต่ละภาพก็มีจุดที่เหมือนกันหลายจุด. ภาพพจน์เหล่านี้ถ่ายทอดความหมายและความรู้สึกได้มากกว่าที่ถ้อยคำมากมายสามารถทำได้.
นอกจากนี้ คัมภีร์ไบเบิลยังเปรียบพระยะโฮวากับสิ่งที่ไม่มีชีวิตด้วย. มีการกล่าวถึงพระองค์ว่าเป็น “ศิลาของพวกยิศราเอล” และเป็น “ป้อม.” (2 ซามูเอล 23:3; บทเพลงสรรเสริญ 18:2; พระบัญญัติ 32:4) จุดที่เหมือนกันคืออะไร? เช่นเดียวกับศิลาแข็งแกร่งที่ตั้งมั่นคง พระยะโฮวาพระเจ้าก็สามารถเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองที่แข็งแกร่งสำหรับคุณได้.
ในหนังสือบทเพลงสรรเสริญมีการใช้ภาพพจน์มากมายเพื่ออธิบายบุคลิกภาพของพระยะโฮวาในด้านต่าง ๆ. ตัวอย่างเช่น บทเพลงสรรเสริญ 84:11 กล่าวถึงพระยะโฮวาว่าทรงเป็น “ดวงอาทิตย์และเป็นโล่” เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ประทานความสว่าง, ชีวิต, พลังงานและการปกป้องคุ้มครอง. ในอีกด้านหนึ่ง บทเพลงสรรเสริญ 121:5 กล่าวว่า “พระยะโฮวาเป็นร่มเงาอยู่ที่มือขวาของท่าน.” เช่นเดียวกับร่มเงาที่สามารถปกป้องคุณจากแสงแดดที่แผดเผา พระยะโฮวาก็สามารถปกป้องผู้ที่รับใช้พระองค์ให้พ้นจากความหายนะ โดยป้องกันรักษาพวกเขาไว้ “ใต้ร่มมือ” หรือ “ใต้ร่มปีก” ของพระองค์.—ยะซายา 51:16; บทเพลงสรรเสริญ 17:8; 36:7
ภาพพจน์ที่พรรณนาพระเยซู
คัมภีร์ไบเบิลเรียกพระเยซูหลายครั้งว่า “พระบุตรของพระเจ้า.” (โยฮัน 1:34; 3:16-18) บางคนที่ไม่ใช่คริสเตียนรู้สึกว่าการเรียกพระเยซูเช่นนี้เข้าใจยาก เพราะพระเจ้าไม่มีภรรยาและพระองค์ไม่ได้มีลักษณะอย่างมนุษย์. เห็นได้ชัดว่า พระเจ้าไม่ได้ทรงให้กำเนิดบุตรในลักษณะเดียวกับมนุษย์. ดังนั้น คำเรียกนี้จึงเป็นภาษาภาพพจน์. การเรียกพระเยซูเช่นนี้ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจว่าสายสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูกับพระเจ้าเป็นเหมือนสายสัมพันธ์ระหว่างบุตรกับบิดา. นอกจากนั้น ภาพพจน์นี้ยังเน้นให้เห็นด้วยว่าพระเยซูทรงได้รับชีวิตจากพระยะโฮวา คือเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น. อาดาม มนุษย์คนแรกก็ถูกเรียกว่า “บุตรของพระเจ้า” ในความหมายทำนองนี้เช่นกัน.—ลูกา 3:38
พระเยซูทรงใช้ภาพพจน์เพื่ออธิบายบทบาทต่าง ๆ ของพระองค์ในการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าบรรลุผลสำเร็จ. ตัวอย่างเช่น พระองค์ตรัสว่า “เราเป็นต้นองุ่นแท้และพระบิดาของเราเป็นผู้ดูแลรักษา.” แล้วพระเยซูก็เปรียบสาวกของพระองค์เป็นกิ่งองุ่น. (โยฮัน 15:1, 4) ภาพพจน์นี้สอนจุดสำคัญอะไร? เพื่อจะไม่ตายและเกิดผล กิ่งองุ่นจะต้องติดอยู่กับต้น. ในทำนองเดียวกัน สาวกของพระเยซูก็ต้องติดสนิทอยู่กับพระองค์. พระเยซูตรัสว่า “ถ้าพวกเจ้าอยู่ต่างหากจากเรา พวกเจ้าจะทำอะไรไม่ได้เลย.” (โยฮัน 15:5) และเช่นเดียวกับผู้ดูแลสวนองุ่นที่คาดหมายจะเห็นต้นองุ่นเกิดผล พระยะโฮวาก็ทรงคาดหมายให้ผู้ที่ติดสนิทกับพระเยซูเกิดผลในความหมายเป็นนัยเช่นกัน.—โยฮัน 15:8
ศึกษาให้แน่ใจว่าอะไรคือจุดที่เหมือนกัน
เราอาจสรุปเรื่องอย่างผิด ๆ ได้ถ้าเราเพียงแต่อ่านภาพพจน์โดยไม่ทำความเข้าใจว่าสองสิ่งที่มีการเปรียบเทียบในภาพพจน์นั้นเหมือนกันอย่างไร. ตัวอย่างเช่น คำกล่าวในโรม 12:20 ที่ว่า “ถ้าศัตรูของท่านหิว จงให้อาหารเขากิน ถ้าเขากระหาย จงให้อะไรเขาดื่ม เพราะที่ท่านทำอย่างนี้จะเป็นเหมือนการกองถ่านเพลิงไว้บนศีรษะของเขา.” การกองถ่านเพลิงไว้บนศีรษะของใครคนหนึ่งหมายถึงการแก้แค้นไหม? เราจะไม่คิดเช่นนั้นแน่ถ้าเราเข้าใจจุดที่กำลังมีการเปรียบเทียบ. ภาพพจน์นี้มาจากวิธีถลุงแร่ในสมัยโบราณ. สินแร่จะถูกวางบนถ่านหินเพื่อทำให้ร้อน และมีการกองถ่านหินบางส่วนไว้บนสินแร่ด้วย. โดยวิธีนี้สินแร่ก็จะหลอมละลายและโลหะบริสุทธิ์จะแยกตัวออกจากขี้แร่. ในทำนองเดียวกัน โดยการแสดงความกรุณาต่อบุคคลหนึ่ง บ่อยครั้งเราก็สามารถทำให้ทัศนคติของเขาอ่อนลงและดึงคุณลักษณะที่ดีในตัวเขาออกมาได้.
การเข้าใจภาพพจน์ต่าง ๆ อย่างถูกต้องไม่เพียงช่วยให้เรามีความคิดที่แจ่มชัดเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบไปถึงความรู้สึกลึก ๆ ของเราด้วย. เมื่อมีการเปรียบเทียบบาปกับหนี้ เราก็รู้สึกได้ถึงความหนักใจเนื่องจากบาป. (ลูกา 11:4) แต่เมื่อพระยะโฮวาทรงให้อภัยเราและโปรดยกหนี้ซึ่งแท้จริงแล้วต้องเรียกเอาจากเรานั้น เราก็รู้สึกโล่งใจสักเพียงไร! เมื่อเราได้รู้ว่าพระองค์ทรง “กลบเกลื่อน” และ “ลบล้าง” บาปของเรา ราวกับลบกระดานที่ใช้เขียนจนสะอาด เราก็มั่นใจได้ว่าพระองค์จะไม่ทรงลงโทษเราเพราะบาปนั้นอีก. (บทเพลงสรรเสริญ 32:1, 2; กิจการ 3:19) นอกจากนี้ เรายังได้กำลังใจมากจริง ๆ เมื่อรู้ว่าพระยะโฮวาทรงสามารถทำให้บาปที่เห็นเด่นชัดดุจสีแดงก่ำหรือสีแดงเข้มกลายเป็นสีขาวเหมือนอย่างหิมะได้!—ยะซายา 1:18
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงภาพพจน์ไม่กี่สำนวนในจำนวนนับร้อย ๆ ที่มีในคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า. ดังนั้น เมื่อคุณอ่านคัมภีร์ไบเบิลของคุณ ขอให้สนใจภาพพจน์เหล่านั้นเป็นพิเศษ. จงศึกษาให้แน่ใจว่าอะไรคือจุดที่เหมือนกันซึ่งมีการเปรียบเทียบและใคร่ครวญจุดเหล่านั้น. การทำเช่นนี้จะช่วยคุณให้เข้าใจและสำนึกถึงคุณค่าของพระคัมภีร์มากยิ่งขึ้น.
[เชิงอรรถ]
a คำว่า “ภาพพจน์” ที่ใช้ในบทความนี้หมายถึงสำนวนโวหารแบบต่าง ๆ เช่น อุปลักษณ์ อุปมา หรือวิธีการเขียนแบบอื่น ๆ ซึ่งทำให้เห็นเป็นภาพ.
b สารานุกรมคัมภีร์ไบเบิลชุดสองเล่มที่ชื่อการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา มีข้อมูลภูมิหลังมากมายซึ่งหลายครั้งช่วยให้เข้าใจจุดที่เหมือนกันในภาพพจน์ต่าง ๆ.
[กรอบหน้า 13]
ภาพพจน์ช่วยเราอย่างไร?
ภาพพจน์ช่วยเราได้ในหลายทาง. แนวคิดที่เข้าใจยากอาจถูกนำไปเปรียบกับสิ่งที่เข้าใจง่าย. อาจใช้ภาพพจน์หลายแบบเพื่ออธิบายเรื่องที่มีหลายแง่มุม. เราสามารถใช้ภาพพจน์เพื่อเน้นแนวคิดที่สำคัญหรือทำให้แนวคิดนั้นน่าสนใจยิ่งขึ้น.
[กรอบหน้า 14]
รู้จักองค์ประกอบของภาพพจน์
ภาพพจน์: “เจ้าทั้งหลายเป็นเกลือแห่งแผ่นดินโลก.” (มัดธาย 5:13)
เรื่องที่กล่าวถึง: เจ้าทั้งหลาย (สาวกของพระเยซู)
สิ่งที่นำมาเปรียบ: เกลือ
จุดที่เหมือนกันในบริบทนี้: มีคุณสมบัติในการถนอมหรือรักษา
บทเรียน: พวกสาวกมีข่าวสารที่สามารถรักษาชีวิตผู้คน.
[คำโปรยหน้า 15]
“พระเจ้าทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจเลี้ยงแกะ ข้าพเจ้าจะไม่ขัดสน”—บทเพลงสรรเสริญ 23:1, ฉบับ R73