“พระยะโฮวาพระราชทานปัญญา”
การแสวงหาสิ่งใดเป็นการสิ้นเปลืองเวลาและกำลังของคุณ? การสร้างชื่อเสียงดีสำหรับตัวเองเป็นเรื่องที่คุณเป็นห่วงหรือเปล่า? คุณทุ่มเทตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งความร่ำรวยไหม? จะว่าอย่างไรในเรื่องการขวนขวายประกอบอาชีพอย่างหนึ่งหรือการพัฒนาทักษะโดยการเรียนรู้อีกสาขาวิชาหนึ่งหรือมากกว่านั้น? การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนอื่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณไหม? การมีสุขภาพแข็งแรงเป็นความกังวลประการสำคัญของคุณหรือเปล่า?
ทุกอย่างดังกล่าวข้างต้นดูเหมือนว่ามีคุณค่าอยู่บ้าง. แต่อะไรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก? คัมภีร์ไบเบิลตอบดังนี้: “สติปัญญาเป็นหลักเอก. จงได้มาซึ่งสติปัญญา.” (สุภาษิต 4:7 ล.ม.) ดังนั้น เราจะได้สติปัญญาโดยวิธีใด และคุณประโยชน์ของสติปัญญาคืออะไร? เราพบคำตอบได้ที่พระธรรมสุภาษิตบทสองแห่งคัมภีร์ไบเบิล.
“ตะแคงหูลงฟังพระปัญญา”
กษัตริย์ซะโลโมผู้ทรงปัญญาแห่งชาติยิศราเอลโบราณได้ตรัสถ้อยคำเยี่ยงบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรักดังนี้: “ศิษย์ของเราเอ๋ย, ถ้าเจ้าจะรับคำของเรา, และจะรักษาบัญญัติของเราไว้กับเจ้า; ยอมที่จะตะแคงหูลงฟังพระปัญญา, และน้อมใจของเจ้าลงเพื่อความเข้าใจ; เออ, ถ้าเจ้าจะร้องหาความรู้, และส่งเสียงของเจ้าวอนหาความเข้าใจ; ถ้าเจ้าจะเสาะหาพระปัญญาเหมือนหาเงิน, และขุดค้นหาพระปัญญาเหมือนหนึ่งทรัพย์ที่ซ่อนอยู่นั้น; เมื่อนั้นเจ้าจะเข้าใจความยำเกรงพระยะโฮวา, และจะพบความรู้ของพระเจ้า.”—สุภาษิต 2:1-5.
คุณเห็นไหมว่าการจะได้มาซึ่งสติปัญญานั้นขึ้นอยู่กับอะไร? วลีที่ว่า “ถ้าเจ้า” ปรากฏอยู่สามครั้งในข้อคัมภีร์เหล่านี้. เห็นได้ชัดว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบของเราแต่ละคนที่จะแสวงหาสติปัญญาและผู้ช่วยแห่งสติปัญญา ซึ่งได้แก่การสังเกตเข้าใจและความเข้าใจ. แต่ก่อนอื่น เราพึง “รับ” ถ้อยคำแห่งสติปัญญา ดังมีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ และต้องจดจำ “รักษา . . . ไว้.” เพื่อทำเช่นนี้ เราจำต้องศึกษาคัมภีร์ไบเบิล.
สติปัญญาคือความสามารถในการใช้ความรู้ที่พระเจ้าประทานให้นั้นอย่างถูกต้อง. และคัมภีร์ไบเบิลทำให้สติปัญญาเป็นสิ่งพึงมีพึงได้ด้วยวิธีที่แสนวิเศษเพียงใด! ใช่แล้ว คัมภีร์ไบเบิลบรรจุถ้อยคำแห่งสติปัญญา เป็นต้นว่า ถ้อยคำที่บันทึกในพระธรรมสุภาษิตและท่านผู้ประกาศ และเราจึงต้องจดจ่อตั้งใจฟังถ้อยคำเหล่านี้. อนึ่ง เราอ่านพบตัวอย่างมากมายจากหน้าต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลซึ่งชี้ให้เห็นคุณประโยชน์ของการปฏิบัติตามหลักการที่มาจากพระเจ้าและอันตรายหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นำพาต่อหลักการเหล่านั้น. (โรม 15:4; 1 โกรินโธ 10:11, ล.ม.) เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้นึกถึงเฆฮะซี คนใช้มักโลภของผู้พยากรณ์อะลีซา. (2 กษัตริย์ 5:20-27) เรื่องนี้สอนเราให้มีปัญญาละเว้นความโลภมิใช่หรือ? และจะว่าอย่างไรในเรื่องดีนาลูกสาวยาโคบที่ประสบผลอันร้ายกาจเนื่องจากการไปเที่ยวหา “หญิงสาวชาวเมือง” คะนาอัน ซึ่งดูเหมือนเป็นการไปเที่ยวที่ไม่น่าจะมีอะไรเสียหายแต่อย่างใด? (เยเนซิศ 34:1-31) เราเข้าใจได้ทันทีมิใช่หรือว่า การสมาคมคบหาที่ไม่ดีนั้นเป็นความโฉดเขลา?—สุภาษิต 13:20; 1 โกรินโธ 15:33.
การจดจ่อตั้งใจฟังสติปัญญานั้นเกี่ยวพันกับการที่จะได้มาซึ่งการสังเกตเข้าใจและความเข้าใจ. ตามที่พจนานุกรม เว็บสเตอรส์ รีไวสด์ อันอะบริดจ์ ชี้แจง การสังเกตเข้าใจหมายถึง “อำนาจหรือความสามารถของจิตใจซึ่งแยกแยะความแตกต่างของสิ่งหนึ่งจากอีกสิ่งหนึ่ง.” การสังเกตเข้าใจหลักศีลธรรมคือความสามารถแยกสิ่งถูกออกจากสิ่งผิด ครั้นแล้วก็จะเลือกแนวทางที่ถูกต้อง. ถ้าเราไม่ ‘น้อมใจของเรา’ เพื่อการสังเกตเข้าใจหรือไม่กระตือรือร้นเพื่อให้ได้มาซึ่งการสังเกตเข้าใจนั้น แล้วเราจะอยู่บน “ทาง . . . ซึ่งนำไปถึงชีวิต” ได้อย่างไร? (มัดธาย 7:14; เทียบกับพระบัญญัติ 30:19, 20.) การศึกษาและการใช้พระคำของพระเจ้าช่วยเราให้มีการสังเกตเข้าใจ.
เราจะ “ร้องหาความรู้ [“ความเข้าใจ,” ล.ม.]” ได้โดยวิธีใด ซึ่งหมายถึงความสามารถในการมองเห็นว่าแง่มุมต่าง ๆ ของเรื่องเกี่ยวข้องกับแง่มุมอื่น และเกี่ยวข้องกับเรื่องทั้งหมดอย่างไร? จริงอยู่ วัยและประสบการณ์เป็นปัจจัยที่ช่วยเราพัฒนาความเข้าใจได้กว้างยิ่งขึ้น––แต่ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป. (โยบ 12:12; 32:6-12) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความเข้าใจมากกว่าคนชรา, เพราะข้าพเจ้าได้ถือรักษาพระโอวาทของพระองค์ [พระยะโฮวา].” ท่านยังได้ร้องเพลงอีกด้วยว่า “การอธิบายพระวจนะของพระองค์เป็นที่ให้ใจสว่าง; และกระทำคนที่มีปัญญาน้อย [“ขาดประสบการณ์,” ล.ม.] ให้มีความเข้าใจ.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:100, 130) พระยะโฮวาทรงเป็น “ผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์” และพระองค์ทรงมีความเข้าใจยอดเยี่ยมยิ่งกว่ามวลมนุษย์ทั้งสิ้น. (ดานิเอล 7:13) พระเจ้าสามารถประทานความเข้าใจแก่คนขาดประสบการณ์ ช่วยเขาให้มีคุณสมบัติดังกล่าวมากขึ้นกระทั่งเกินกว่าเหล่าคนที่สูงวัย. ด้วยเหตุนี้ เราควรขยันหมั่นเพียรศึกษาคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้าและปฏิบัติตาม.
วลี “ถ้าเจ้า” ที่กล่าวซ้ำ ๆ กันในข้อต้น ๆ ของพระธรรมสุภาษิตบทสองนั้น ตามด้วยวลีต่าง ๆ เช่น “รับ,” “รักษา,” “ร้องหา,” “เสาะหา,” “ขุดค้นหา.” ทำไมผู้เขียนใช้ถ้อยคำที่เพิ่มความหนักแน่นเหล่านี้? หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งบอกว่า “ผู้คงแก่เรียนเน้น [ที่นี่] ถึงความจำเป็นของการแสวงหาสติปัญญาอย่างจริงจัง.” ใช่แล้ว เราต้องเอาจริงเอาจังในการแสวงหาสติปัญญาและคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย นั่นคือการสังเกตเข้าใจและความเข้าใจ.
คุณจะบากบั่นพยายามไหม?
ปัจจัยสำคัญในการแสวงหาสติปัญญาได้แก่ความขยันหมั่นเพียรศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. กระนั้น การศึกษาอย่างนี้ไม่เพียงแต่อ่านเพื่อจะได้ข้อมูล. การรำพึงอย่างมีจุดมุ่งหมายในสิ่งที่เราได้อ่านไปเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาพระคัมภีร์. การได้มาซึ่งสติปัญญาและการสังเกตเข้าใจหมายรวมถึงการตรึกตรองว่าเราจะใช้สิ่งที่เรากำลังเรียนอยู่นั้นอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาและตัดสินใจ. การจะได้มาซึ่งความเข้าใจต้องพิจารณาดูว่า เนื้อหาใหม่ ๆ เข้ากันอย่างไรกับสิ่งที่เรารู้มาก่อน. ใครหรือจะปฏิเสธว่าการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลพร้อมด้วยการไตร่ตรองเช่นนั้นไม่ต้องใช้เวลาและไม่ต้องบากบั่นพยายาม? การลงทุนด้วยเวลาและกำลังเช่นนั้นก็คล้ายกันกับการใช้เวลาและกำลังเมื่อ ‘เสาะหาเงินและขุดค้นหาสมบัติที่ซ่อนอยู่.’ คุณจะบากบั่นพยายามไหม ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น? คุณจะ “ใช้ประโยชน์เต็มที่จากเวลาอันเหมาะ” ทำอย่างนั้นไหม?—เอเฟโซ 5:15, 16, ล.ม.
ขอให้นึกถึงว่ายังมีสมบัติมูลค่ามหาศาลมากเพียงไรรอเราอยู่ ถ้าเราขุดค้นลึกลงไปในคัมภีร์ไบเบิลด้วยหัวใจสุจริต. เราก็จะค้นพบ “ความรู้ของพระเจ้า”—ความรู้เกี่ยวกับพระผู้สร้างของเรา ซึ่งเป็นความรู้ที่หนักแน่นมั่นคงและให้ชีวิต! (โยฮัน 17:3) “ความยำเกรงพระยะโฮวา” ก็เป็นทรัพย์ที่เราจะได้มาเช่นกัน. ความเคารพยำเกรงพระองค์เช่นนี้มีคุณค่าเพียงใด! ความเกรงกลัวอย่างที่เป็นประโยชน์คือกลัวจะทำให้พระองค์เคืองพระทัยนั้น ต้องควบคุมการดำเนินชีวิตของเราทุกแง่มุม เพิ่มการให้ความสำคัญฝ่ายวิญญาณต่อทุกอย่างที่เราทำ.—ท่านผู้ประกาศ 12:13.
ความปรารถนาด้วยจริงใจที่จะเสาะหาและขุดค้นสมบัติฝ่ายวิญญาณเช่นนั้นน่าจะลุกโชติช่วงอยู่ในตัวเรา. เพื่องานเสาะหาของเราจะง่ายขึ้น พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมให้มีเครื่องมือใช้ขุดค้นที่ดีเลิศ นั่นคือ หอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! วารสารที่เสนอความจริงเหมาะกับเวลา อีกทั้งหนังสืออื่น ๆ ที่ยึดคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. (มัดธาย 24:45-47) นอกจากนี้ พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมการประชุมคริสเตียนขึ้นเพื่อให้เราได้ศึกษาพระคำและแนวทางของพระองค์. เราจึงต้องเข้าร่วมการประชุมเหล่านั้นเป็นประจำ เอาใจใส่ฟังเรื่องที่บรรยาย พยายามจดจ่ออย่างจริงจังและรวบรวมความคิดหลัก และคิดใคร่ครวญให้ลึกซึ้งถึงความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวา.—เฮ็บราย 10:24, 25.
คุณจะไม่เสียแรงเปล่า
การขุดค้นหาเพชรพลอย, ทองคำ, หรือเงินที่ฝังอยู่ บ่อยครั้งไม่ประสบผล. แต่ไม่เป็นเช่นนั้นในกรณีแสวงทรัพย์สมบัติฝ่ายวิญญาณ. ทำไมหรือ? ซะโลโมรับรองกับเราว่า “พระยะโฮวาพระราชทานปัญญาความรู้และความเข้าใจออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์.”—สุภาษิต 2:6.
ชื่อเสียงกษัตริย์ซะโลโมโด่งดังก็เพราะพระองค์ประกอบด้วยสติปัญญา. (1 กษัตริย์ 4:30-32) คัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยว่าพระองค์มีความรู้สารพัดเรื่อง ทั้งด้านพืชพรรณ, สัตว์ต่าง ๆ, ธรรมชาติของมนุษย์, และพระคำของพระเจ้า. การสังเกตเข้าใจที่พระองค์ทรงแสดงให้เห็นทั้ง ๆ ที่ยังหนุ่มเมื่อทรงจัดการกับข้อโต้เถียงระหว่างหญิงสองคน แต่ละคนก็อ้างตนเป็นแม่ของทารกคนเดียวกัน ทำให้ชื่อเสียงพระองค์ระบือไปถึงนานาประเทศ. (1 กษัตริย์ 3:16-28) อะไรคือที่มาของความรอบรู้เหลือล้นของพระองค์? ซะโลโมเคยทูลอธิษฐานขอพระยะโฮวาพระราชทาน “สติปัญญาและความรู้” และความสามารถเพื่อ “จะสังเกตได้ซึ่งการดีและชั่ว.” พระยะโฮวาทรงประทานสิ่งเหล่านี้แก่ซะโลโม.—2 โครนิกา 1:10-12, ฉบับแปลใหม่; 1 กษัตริย์ 3:9.
พวกเราก็เช่นกันควรอธิษฐานขอการช่วยเหลือจากพระยะโฮวาขณะที่เราขยันหมั่นเพียรศึกษาพระคำของพระองค์. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้ทูลขอดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงสั่งสอนข้าพเจ้าถึงวิถีทางของพระองค์. ข้าพเจ้าจะดำเนินในความจริงของพระองค์. ขอทำให้หัวใจของข้าพเจ้าเป็นหนึ่งเดียว ให้ยำเกรงพระนามของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 86:11, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงเห็นชอบกับการอธิษฐานนั้น เพราะพระองค์โปรดให้มีการบันทึกลงไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. เราย่อมมั่นใจได้ว่าความตั้งใจจริงของเราและการอธิษฐานบ่อย ๆ ขอพระองค์โปรดช่วยให้ได้พบทรัพย์สมบัติฝ่ายวิญญาณในคัมภีร์ไบเบิลย่อมได้รับคำตอบแน่นอน.—ลูกา 18:1-8.
ซะโลโมชี้แจงว่า “พระองค์ทรงสะสมสติปัญญาอันประเสริฐไว้สำหรับคนตรง; พระองค์เป็นเกราะสำหรับคนทั้งหลายที่ดำเนินอยู่ในความสุจริต; เพื่อว่าพระองค์จะทรงระวังทางทั้งหลายของความยุติธรรม, และระวังรักษามรคาแห่งสิทธชนทั้งหลายของพระองค์. ขณะนั้นแหละเจ้าจะเข้าใจความชอบธรรมความยุติธรรม, และสิทธิธรรม, เออ, ทุก ๆ วิถีทาง [“วิถีทางที่ดี,” ล.ม.].” (สุภาษิต 2:7-9) ถ้อยคำเหล่านี้ให้ความมั่นใจเสียนี่กระไร! พระยะโฮวาไม่เพียงแต่ประทานสติปัญญาแท้แก่คนเหล่านั้นซึ่งแสวงหาด้วยจริงใจ แต่ยังทรงปรากฏให้เห็นด้วยว่าเป็นโล่ปกป้องผู้ชอบธรรมอีกด้วย เพราะพวกเขาแสดงสติปัญญาแท้และปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐานที่ชอบธรรมของพระองค์อย่างภักดี. ขอให้พวกเราอยู่ในจำพวกคนเหล่านั้นซึ่งพระยะโฮวาทรงช่วยให้เข้าใจ “ทุก ๆ วิถีทางที่ดี.”
เมื่อ “ความรู้เป็นที่น่าชื่นใจ”
การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัว—ข้อเรียกร้องสำคัญเพื่อการแสวงหาสติปัญญา—ก็ใช่ว่าเป็นสิ่งน่าอภิรมย์เสมอไปสำหรับหลายคน. ยกตัวอย่าง ลอว์เรนซ์วัย 58 ปีพูดว่า “ผมทำงานที่ใช้แรงกายตลอดมา. การศึกษาจึงเป็นเรื่องยากสำหรับผม.” และไมเคิล หนุ่มวัย 24 ปีซึ่งก็ไม่ชอบเรียนในโรงเรียน พูดว่า “ผมต้องบังคับตัวเองให้นั่งศึกษา.” อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาจะศึกษาก็สามารถปลูกฝังได้.
ขอพิจารณาสิ่งที่ไมเคิลได้ทำไป. เขาเล่าว่า “ผมใช้วินัยกับตัวเองเพื่อศึกษาครึ่งชั่วโมงทุกวัน. จากนั้นไม่นาน ผมสามารถเห็นผลกระทบต่อทัศนคติของตัวเอง การออกความคิดเห็น ณ การประชุมคริสเตียน และการสนทนาของผมกับผู้อื่น. ตอนนี้ ผมตั้งหน้าคอยว่าเมื่อไรจะถึงเวลาศึกษา และผมไม่ชอบถ้ามีสิ่งใดเข้ามาขัดจังหวะช่วงนั้น.” ใช่แล้ว การศึกษาส่วนตัวกลายเป็นสิ่งที่เราชื่นชอบเมื่อเรามองเห็นความก้าวหน้า. ลอว์เรนซ์ก็เช่นกัน ได้เอาใจใส่ในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล และในที่สุด เขาได้รับใช้ฐานะเป็นผู้ปกครองในประชาคมพยานพระยะโฮวา.
ที่จะทำให้การศึกษาส่วนตัวเป็นประสบการณ์ที่น่าเพลิดเพลินจำต้องใช้ความพยายามอย่างไม่ละลด. ทว่า ประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีมาก. ซะโลโมตรัสว่า “เมื่อสติปัญญาเข้าสู่หัวใจของเจ้า และความรู้เป็นที่น่าชื่นใจแก่จิตวิญญาณของเจ้า ความสามารถในการคิดนั่นเองจะป้องกันเจ้าไว้ ความสังเกตเข้าใจก็จะปกป้องเจ้า.”—สุภาษิต 2:10, 11, ล.ม.
“เพื่อจะช่วยเจ้าให้พ้นจากทางของคนชั่ว”
ในทางใดบ้างที่สติปัญญา, ความรู้, ความสามารถในการคิด, และความสังเกตเข้าใจจะเป็นเครื่องป้องกันได้? “ [สิ่งเหล่านั้น] จะช่วยเจ้าให้พ้นจากทางของคนชั่ว, เพื่อให้พ้นจากคนที่พูดดึงดันไปในทางหลงผิด; คนที่ละทิ้งทางของความตรง, เพื่อเดินในทางของความมืดมน; คนที่ยินดีทำความชั่ว, และชื่นบานอยู่ในการหลงผิดของคนชั่ว; คนที่คดในทางของเขา, และดื้อดึงอยู่ในทางทั้งหลายของเขา.”—สุภาษิต 2:12-15.
ใช่แล้ว บรรดาผู้ที่รักสติปัญญาแท้ย่อมหลีกเว้นการคบหากับคนที่ “พูดดึงดันไปในทางหลงผิด” นั่นคือพูดสิ่งที่ขัดต่อความจริงและความถูกต้อง. ความสามารถในการคิดและการสังเกตเข้าใจย่อมปกป้องให้พ้นจากคนที่ปฏิเสธความจริงแล้วเดินในทางมืด อีกทั้งปกป้องให้พ้นคนชั่วร้ายและคนที่พอใจในการกระทำชั่ว.—สุภาษิต 3:32.
พวกเรารู้สึกขอบคุณเพียงใดเมื่อสติปัญญาแท้พร้อมด้วยคุณลักษณะประการต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กันป้องกันเราพ้นทางชั่วของชายหญิงที่ประพฤติผิดศีลธรรมด้วย! ซะโลโมตรัสเสริมอีกว่าคุณลักษณะเหล่านี้ช่วยให้ “รอดพ้นจากหญิงชั่ว [“แปลกหน้า,” ล.ม.] จากหญิงสัญจร [“ต่างด้าว,” ล.ม.] ที่พูดจาพะเน้าพะนอ ผู้ทอดทิ้งคู่เคียงที่นางได้มาเมื่อยังสาว ๆ นั้นเสียและลืมพันธสัญญาแห่งพระเจ้าของตน เพราะเรือนของนางจมลงไปสู่ความมรณาและวิถีของนางไปสู่ชาวเมืองผี ผู้ที่ไปหานางไม่มีกลับมาสักคนเดียวหรือหามีผู้ใดหันเข้าทางแห่งชีวิตอีกได้ไม่.”—สุภาษิต 2:16-19, ฉบับแปลใหม่.
“หญิงแปลกหน้า” อันได้แก่หญิงโสเภณี ได้รับการพรรณนาว่าเป็นคนที่ได้ทอดทิ้ง “คู่เคียงของนางที่ได้มาเมื่อยังสาว ๆ”—ซึ่งก็คงหมายถึงสามีของนางเมื่อครั้งอยู่ในวัยสาว.a (เทียบกับมาลาคี 2:14.) นางได้ลืมข้อห้ามว่าด้วยการเล่นชู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ. (เอ็กโซโด 20:14) วิถีทางของนางจะไปสู่ความมรณา. บรรดาคนที่คบหากับนางหา “มีผู้ใดหันเข้าทางแห่งชีวิตอีก” ไม่ เนื่องจากไม่ช้าก็เร็ว คนเหล่านั้นอาจไปถึงจุดที่ไม่มีวันย้อนกลับมาอีก คือความตาย. บุคคลผู้มีความสังเกตเข้าใจและมีความสามารถในการคิดย่อมรู้ทันการล่อใจให้ทำผิดศีลธรรม และด้วยความสุขุม เขาหลีกเว้นการนำตัวเองเข้าไปติดบ่วงแร้วการผิดศีลธรรม.
“คนซื่อตรงเป็นผู้ที่จะได้อาศัยบนแผ่นดินโลก”
เมื่อซะโลโมสรุปวัตถุประสงค์แห่งคำแนะนำเกี่ยวกับสติปัญญา พระองค์ตรัสดังนี้: “จุดประสงค์คือเพื่อเจ้าจะดำเนินในวิถีทางของคนดีและเพื่อเจ้าจะรักษาทางของคนชอบธรรม.” (สุภาษิต 2:20, ล.ม.) นับว่าสติปัญญาถูกนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์อันเยี่ยมยอดจริง ๆ! สติปัญญาช่วยเราดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและน่าพอใจ ซึ่งยังผลให้เราเป็นที่ชอบพระทัยของพระเจ้า.
อนึ่ง จงพิจารณาพระพรล้ำเลิศซึ่งมีไว้สำหรับคนที่ “ดำเนินในวิถีทางของคนดี.” ซะโลโมตรัสต่ออีกว่า “คนซื่อตรงเป็นผู้ที่จะได้อาศัยบนแผ่นดินโลก และคนที่ไร้ข้อตำหนิเป็นผู้ที่จะเหลืออยู่บนแผ่นดิน. ส่วนคนชั่ว พวกเขาจะถูกตัดขาดจากแผ่นดินโลก; และสำหรับคนทรยศ พวกเขาจะถูกกระชากไปจากแผ่นดิน.” (สุภาษิต 2:21-22, ล.ม.) ขอคุณจงเป็นคนหนึ่งในท่ามกลางคนที่ไร้ข้อตำหนิซึ่งจะได้อยู่ตลอดไปในโลกใหม่อันชอบธรรมของพระเจ้า.—2 เปโตร 3:13.
[เชิงอรรถ]
a คำว่า “คนแปลกหน้า” ถูกนำไปใช้กับคนเหล่านั้นที่หันหนีจากสิ่งซึ่งประสานลงรอยกับพระบัญญัติ และด้วยเหตุนี้ เขาจึงออกห่างจากพระยะโฮวา. ดังนั้น โสเภณี—ไม่จำเป็นต้องเป็นคนต่างด้าว—ได้รับการพาดพิงถึงว่า “หญิงแปลกหน้า.”
[รูปภาพหน้า 26]
ซะโลโมอธิษฐานขอสติปัญญา. พวกเราควรทำเช่นกัน