“คนจิ๋ว” ได้เพิ่มเป็น “จำนวนพัน”
“คนจิ๋วจะเพิ่มเป็นจำนวนพัน และคนตัวเล็กจะเพิ่มเป็นชนชาติใหญ่.”—ยะซายา 60:22, ล.ม.
1, 2. (ก) เพราะเหตุใดความมืดจึงปกคลุมแผ่นดินโลกในทุกวันนี้? (ข) แสงสว่างของพระยะโฮวาที่ส่องแก่ไพร่พลของพระองค์ค่อย ๆ จ้าขึ้นอย่างไร?
“ความมืดจะแผ่ปิดโลกไว้มิด, และความมืดทึบจะคลุมประชาชนไว้; แต่ส่วนเจ้า, พระยะโฮวาจะส่องแสงให้, และให้สง่าราศีของพระองค์จับปรากฏอยู่บนเจ้า.” (ยะซายา 60:2) ถ้อยคำดังกล่าวพรรณนาสถานการณ์บนแผ่นดินโลกนับตั้งแต่ปี 1919 ได้อย่างเหมาะเจาะ. คริสต์ศาสนจักรได้ปฏิเสธหมายสำคัญแห่งการประทับของพระเยซูคริสต์ในฐานะกษัตริย์ ผู้ทรงเป็น “ความสว่างของโลก.” (โยฮัน 8:12; มัดธาย 24:3) เนื่องด้วย “ความโกรธยิ่งนัก” ของซาตาน นายใหญ่ของพวก “ผู้ครอบครองโลกแห่งความมืดนี้” ศตวรรษที่ 20 จึงได้กลายเป็นช่วงเวลาที่โหดร้ายและเกิดความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์. (วิวรณ์ 12:12; เอเฟโซ 6:12, ล.ม.) ผู้คนส่วนใหญ่อยู่ในความมืดฝ่ายวิญญาณ.
2 ถึงกระนั้น แสงสว่างกำลังส่องฉายอยู่ในเวลานี้. พระยะโฮวาทรง “ส่องแสง” แก่ผู้รับใช้ของพระองค์ ชนที่เหลือผู้ถูกเจิม ซึ่งเป็นตัวแทนทางแผ่นดินโลกของ “ผู้หญิง” ฝ่ายสวรรค์ของพระองค์. (ยะซายา 60:1, ล.ม.) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นเชลยของบาบูโลนในปี 1919 คนเหล่านี้ได้สะท้อนสง่าราศีของพระเจ้าและได้ ‘ให้ความสว่างของตนส่องไปต่อหน้าคนทั้งปวง.’ (มัดธาย 5:16) จากปี 1919 จนถึงปี 1931 แสงแห่งราชอาณาจักรส่องสว่างเจิดจ้ายิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่พวกเขาขจัดแนวคิดแบบบาบูโลนที่ยังตกค้างอยู่ซึ่งเป็นเหมือนโซ่ตรวนที่รั้งพวกเขาไว้. พวกเขาเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นหลายหมื่นคนในขณะที่พระยะโฮวาทรงทำให้คำสัญญาของพระองค์สำเร็จ: “เราจะรวบรวมพวกยิศราเอลที่เหลือ, เราจะต้อนเขาให้มาอยู่ด้วยกันดุจฝูงแกะเข้าอยู่ในคอก, และเหมือนกับฝูงแกะอันอยู่ที่ทุ่งนาต่างก็จะส่งเสียงขรม, เนื่องด้วยมีจำนวนคนที่มากเหลือประมาณ.” (มีคา 2:12) ในปี 1931 สง่าราศีของพระยะโฮวาที่จับอยู่บนไพร่พลของพระองค์ก็ยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นไปอีกเมื่อพวกเขารับเอาชื่อพยานพระยะโฮวา.—ยะซายา 43:10, 12.
3. เริ่มปรากฏชัดอย่างไรว่าแสงสว่างของพระยะโฮวาจะส่องแก่คนอื่น ๆ ด้วยนอกเหนือจากชนผู้ถูกเจิม?
3 พระยะโฮวาจะทรงส่องสว่างเฉพาะแก่ชนที่เหลือแห่ง “ฝูงเล็ก” เท่านั้นไหม? (ลูกา 12:32, ล.ม.) ไม่. หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กันยายน 1931 (ภาษาอังกฤษ) ชี้ถึงอีกกลุ่มหนึ่ง. ด้วยการอธิบายยะเอศเคล 9:1-11 อย่างชัดเจน วารสารฉบับนี้ชี้ว่าชายที่มีกระปุกหมึกซึ่งได้มีกล่าวไว้ในข้อเหล่านี้หมายถึงชนที่เหลือผู้ถูกเจิม. ใครได้รับเครื่องหมายที่หน้าผากจากชายผู้นี้? “แกะอื่น” ซึ่งมีความหวังจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานนั่นเอง. (โยฮัน 10:16; บทเพลงสรรเสริญ 37:29) ในปี 1935 จึงได้เข้าใจกันว่ากลุ่มนี้แห่ง “แกะอื่น” ก็คือ ‘ชนฝูงใหญ่จากชาติทั้งปวง’ ซึ่งปรากฏในนิมิตที่อัครสาวกโยฮันได้รับ. (วิวรณ์ 7:9-14, ล.ม.) ตั้งแต่ปี 1935 มาจนถึงบัดนี้ ได้มีการเน้นหนักที่การรวบรวมชนฝูงใหญ่นี้.
4. ใครคือ “กษัตริย์ทั้งหลาย” และ “ประชาชาติ” ตามที่อ้างถึงที่ยะซายา 60:3?
4 มีการกล่าวพาดพิงถึงงานรวบรวมนี้ในคำพยากรณ์ของยะซายาว่า “ประชาชาติจะดำเนินตามแสงสว่างของเจ้า, และกษัตริย์ทั้งหลายจะดำเนินตามแสงสว่างอันจ้าของเจ้า.” (ยะซายา 60:3) ใครคือ “กษัตริย์ทั้งหลาย” ที่กล่าวถึงในที่นี้? ชนที่เหลือแห่ง 144,000 คน ซึ่งเป็นรัชทายาทแห่งราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ร่วมกับพระเยซูคริสต์ และได้นำหน้าในงานให้คำพยาน. (โรม 8:17; วิวรณ์ 12:17; 14:1) ปัจจุบัน ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมไม่กี่พันคนมีจำนวนน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ “ประชาชาติ” หรือคนเหล่านั้นที่มีความหวังฝ่ายแผ่นดินโลกซึ่งได้เข้ามาหาพระยะโฮวาเพื่อรับการสั่งสอนและเชิญชวนคนอื่น ๆ ให้ทำอย่างเดียวกัน.—ยะซายา 2:3.
ผู้รับใช้ที่มีใจแรงกล้าของพระยะโฮวา
5. (ก) ข้อเท็จจริงอะไรแสดงว่าความมีใจแรงกล้าของไพร่พลพระยะโฮวามิได้ลดน้อยลง? (ข) ประเทศใดบ้างที่มีการเพิ่มทวีอย่างโดดเด่นในปี 1999? (ดูแผนภูมิในหน้า 17-20.)
5 ช่างมีใจแรงกล้าอะไรเช่นนี้ที่เหล่าพยานของพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบันได้แสดงให้เห็นตลอดศตวรรษที่ 20! และแม้ว่ามีความกดดันต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ความมีใจแรงกล้าของพวกเขามิได้ลดน้อยลงไปเลยขณะที่ใกล้ถึงปี 2000. พวกเขายังคงถือพระบัญชาของพระเยซูอย่างจริงจังที่ว่า “จง . . . ทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) จำนวนผู้ประกาศข่าวดีที่เอาการเอางานในปีรับใช้สุดท้ายของศตวรรษที่ 20 บรรลุยอดใหม่ 5,912,492 คน. พวกเขาใช้เวลาทั้งสิ้นถึง 1,144,566,849 ชั่วโมงพูดคุยกับคนอื่นในเรื่องพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์. พวกเขากลับเยี่ยมเยียนผู้สนใจ 420,047,796 ราย และนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้าน 4,433,884 รายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย. ช่างเป็นประวัติบันทึกการรับใช้ด้วยใจแรงกล้าที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ!
6. มีการจัดเตรียมใหม่อะไรสำหรับไพโอเนียร์ และมีการตอบรับเช่นไร?
6 เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว คณะกรรมการปกครองประกาศการปรับเปลี่ยนข้อเรียกร้องในเรื่องจำนวนชั่วโมงสำหรับไพโอเนียร์. หลายคนใช้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนนี้เพื่อเข้าสู่งานไพโอเนียร์ประจำหรือสมทบ. ตัวอย่างเช่น ในระหว่างสี่เดือนแรกของปี 1999 สำนักงานสาขาเนเธอร์แลนด์ได้รับใบสมัครไพโอเนียร์ประจำมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงสี่เท่า. ประเทศกานารายงานว่า “นับตั้งแต่เริ่มใช้เป้าจำนวนชั่วโมงใหม่สำหรับไพโอเนียร์ จำนวนไพโอเนียร์ประจำของเราได้เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ.” ในปีรับใช้ 1999 จำนวนไพโอเนียร์ทั่วโลกบรรลุยอดสูงสุด 738,343 คน—หลักฐานที่ยอดเยี่ยมอย่างหนึ่งของ ‘ความมีใจแรงกล้าเพื่อการกระทำที่ดีงาม.’—ติโต 2:14, ล.ม.
7. พระยะโฮวาได้ทรงอวยพระพรอย่างไรสำหรับการงานที่ผู้รับใช้ของพระองค์ทำด้วยใจแรงกล้า?
7 พระยะโฮวาได้ทรงอวยพระพรกิจการงานที่ทำด้วยใจแรงกล้านี้ไหม? ใช่แล้ว. พระองค์ตรัสโดยทางยะซายาว่า “จงเงยหน้าเหลียวตาดูไปรอบ ๆ!; เขาทั้งหมดรวบรวมกันเข้ามา, เขาทั้งหลายมาหาเจ้า, บุตรชายทั้งหลายของเจ้าจะมาแต่เมืองไกล, และบุตรหญิงทั้งหลายของเจ้าจะถูกใส่เอวอุ้มมา.” (ยะซายา 60:4) “บุตรชายทั้งหลาย” และ “บุตรหญิงทั้งหลาย” ซึ่งได้แก่ผู้ถูกเจิมที่ได้รับการรวบรวมเข้ามายังคงรับใช้พระเจ้าด้วยใจแรงกล้า. และบัดนี้ แกะอื่นของพระเยซูกำลังได้รับการรวบรวมให้ดำเนินไปด้วยกันกับ “บุตรชายทั้งหลาย” และ “บุตรหญิงทั้งหลาย” ซึ่งเป็นผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวาใน 234 ดินแดนและหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทร.
“การดีทุกอย่าง”
8. “การดี” อะไรบ้างที่พยานพระยะโฮวาทำกันอย่างแข็งขัน?
8 คริสเตียนมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรและช่วยคนที่สนใจให้เข้ามาเป็นสาวก. แต่พวกเขา “เตรียมพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง.” (2 ติโมเธียว 3:17, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น พวกเขาเอาใจใส่ครอบครัวด้วยความรัก, เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่, และเยี่ยมคนป่วย. (1 ติโมเธียว 5:8; เฮ็บราย 13:16) และอาสาสมัครหลายคนยังได้ร่วมในโครงการอย่างเช่น การสร้างหอประชุมราชอาณาจักร—งานอย่างหนึ่งซึ่งให้คำพยานที่ดีด้วย. ที่ประเทศโตโก หลังจากสร้างหอประชุมแห่งหนึ่งเสร็จ คณะผู้บริหารของคริสตจักรแห่งหนึ่งในท้องถิ่นซึ่งสอนเรื่องการรักษาโรคด้วยความเชื่ออยากทราบว่าทำไมพยานพระยะโฮวาสามารถสร้างอาคารของตนเองได้ ในขณะที่คริสตจักรของพวกเขาต้องจ้างคนเพื่อจะทำอย่างนั้นได้! มีรายงานจากประเทศโตโกว่า การก่อสร้างหอประชุมราชอาณาจักรซึ่งมีคุณภาพสูงในหลาย ๆ แห่งได้ก่อผลกระทบที่ดีต่อเพื่อนบ้านจนถึงกับมีบางคนพยายามหาบ้านเช่าหรือสร้างบ้านในละแวกใกล้เคียงกับสถานที่ที่กำลังจะมีการสร้างหอประชุม.
9. พยานพระยะโฮวาได้ลงมือทำอะไรเมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้น?
9 บางครั้ง จำเป็นต้องทำการดีอีกอย่างหนึ่ง. ระหว่างปีรับใช้ที่แล้ว มีหลายประเทศถูกถล่มโดยภัยพิบัติต่าง ๆ และบ่อยครั้งกลุ่มแรกที่ไปถึงที่เกิดเหตุเพื่อให้การช่วยเหลือได้แก่พยานพระยะโฮวา. ตัวอย่างเช่น หลายส่วนของประเทศฮอนดูรัสถูกพายุเฮอร์ริเคน มิตช์ กระหน่ำเสียหายอย่างหนัก. สาขาได้ตั้งคณะกรรมการฉุกเฉินขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อจัดให้มีการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์. พยานฯ ในฮอนดูรัสและในอีกหลายประเทศได้บริจาคเสื้อผ้า, อาหาร, ยา, และสิ่งจำเป็นพื้นฐานอื่น ๆ. คณะกรรมการก่อสร้างประจำภูมิภาคได้ใช้ความเชี่ยวชาญของตนเพื่อสร้างและซ่อมแซมบ้านหลายหลัง. ไม่ช้า พี่น้องของเราที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัตินี้ก็ได้รับการช่วยเหลือให้ดำเนินกิจกรรมตามปกติของตนต่อไปได้. ที่เอกวาดอร์ พยานพระยะโฮวาได้ให้การช่วยเหลือแก่พวกพี่น้องของเขาเมื่อน้ำท่วมใหญ่ได้กวาดทำลายบ้านไปจำนวนหนึ่ง. หลังจากที่ได้เฝ้าสังเกตวิธีที่มีประสิทธิภาพของพวกเขาในการรับมือสถานการณ์ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของรัฐบาลกล่าวว่า “หากผมสามารถใช้คนกลุ่มนี้ ผมก็จะทำเรื่องน่าทึ่งได้! ประชาชนอย่างพวกคุณควรมีอยู่ในทุกส่วนของโลก.” การดีเช่นนั้นนำคำสรรเสริญมาสู่พระยะโฮวาพระเจ้าและเป็นหลักฐานถึงการที่เรามี “ความเลื่อมใสในพระเจ้า [ซึ่ง] มีประโยชน์ทุกทาง.”—1 ติโมเธียว 4:8, ล.ม.
พวกเขา “ล่องลอยมาดุจดังเมฆ”
10. แม้ว่าจำนวนผู้ถูกเจิมลดน้อยลงไป เหตุใดพระนามพระยะโฮวากำลังได้รับการประกาศอย่างไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน?
10 ถึงตอนนี้ พระยะโฮวาทรงถามว่า “ใครหนอล่องลอยมาดุจดังเมฆ, ดุจนกพิราบมาจับที่หน้าต่าง? คือเหล่าเรือกำปั่นเข้ามารวมลำกันเพื่อเรา, มีกำปั่นเมืองธาระซิศเป็นเรือนำ, เพื่อจะพาเอาบุตรชายของเจ้ามาจากเมืองไกล . . . คนต่างชาติจะสร้างกำแพงของเจ้า, และกษัตริย์ทั้งหลายของเขาจะปรนนิบัติเจ้า.” (ยะซายา 60:8-10) กลุ่มแรกที่จะตอบสนองต่อการ “ส่องแสง” ของพระยะโฮวาได้แก่เหล่า “บุตรชาย” ของพระองค์ คริสเตียนผู้ถูกเจิม. จากนั้นก็จะเป็น “คนต่างชาติ” ชนฝูงใหญ่ซึ่งรับใช้พี่น้องผู้ถูกเจิมอย่างภักดี และติดตามการนำของพวกเขาในการประกาศข่าวดี. ด้วยเหตุนั้น แม้ว่าจำนวนของผู้ถูกเจิมลดน้อยลงไป พระนามพระยะโฮวายังคงได้รับการประกาศไปทั่วแผ่นดินโลกอย่างไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน.
11. (ก) ยังคงมีอะไรเกิดขึ้นต่อไปและพร้อมด้วยผลเช่นไรในปี 1999? (ข) ประเทศใดบ้างมีจำนวนผู้รับบัพติสมาที่โดดเด่นในปี 1999? (ดูแผนภูมิในหน้า 17-20.)
11 ผลก็คือ หลายล้านคนกำลังหลั่งไหลเข้ามา “ดุจนกพิราบมาจับที่หน้าต่าง” เพื่อได้รับการคุ้มภัยภายในประชาคมคริสเตียน. มีหลายแสนคนเพิ่มขึ้นในแต่ละปี และมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นต่อไปอีก. ยะซายากล่าวว่า “ประตูเมืองของเจ้าจะเปิดอยู่ร่ำไป, ตลอดวันตลอดคืนจะไม่มีเวลาปิดเลย, เพื่อคนทั้งหลายจะได้นำทรัพย์สมบัติจากประเทศต่าง ๆ มาให้เจ้า.” (ยะซายา 60:11) ปีที่แล้ว มี 323,439 คนรับบัพติสมาอันเป็นสัญลักษณ์ของการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา และพระองค์ยังไม่ได้ปิดประตู. “สิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวง” คือคนเหล่านั้นที่เป็นชนฝูงใหญ่ ยังคงหลั่งไหลผ่านประตูดังกล่าวเข้ามา. (ฮาฆี 2:7, ล.ม.) ไม่มีใครที่ต้องการออกจากความมืดจะถูกปฏิเสธ. (โยฮัน 12:46) ขอให้คนที่มีหัวใจเช่นนั้นอย่าได้สูญเสียความหยั่งรู้ค่าต่อความสว่าง!
ปราศจากความกลัวเมื่อเผชิญการต่อต้าน
12. คนเหล่านั้นที่รักความมืดพยายามจะดับความสว่างอย่างไร?
12 คนเหล่านั้นที่รักความมืดเกลียดความสว่างของพระยะโฮวา. (โยฮัน 3:19) บางคนถึงกับพยายามจะดับความสว่างนั้น. นี่ไม่ใช่เรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย. แม้แต่พระเยซูผู้เป็น “ความสว่างแท้ซึ่งให้ความสว่างแก่คนทุกชนิด” ก็ยังถูกเยาะเย้ย, ถูกต่อต้าน, และในที่สุดถูกปลงพระชนม์โดยเพื่อนร่วมชาติของพระองค์. (โยฮัน 1:9, ล.ม.) ตลอดศตวรรษที่ 20 พยานพระยะโฮวาก็เช่นกันถูกเย้ยหยัน, ถูกจำคุก, ถูกห้าม, และแม้แต่ถูกฆ่าเนื่องจากพวกเขาสะท้อนความสว่างของพระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์. ในไม่กี่ปีมานี้ ผู้ขัดขวางได้หันมาใช้การแพร่คำโกหกโดยอาศัยสื่อต่าง ๆ เพื่อใส่ร้ายผู้คนที่สะท้อนความสว่างของพระเจ้า. บางคนต้องการทำให้ประชาชนเชื่อว่าพยานพระยะโฮวาเป็นอันตรายและควรถูกจำกัดหรือถูกห้าม. ผู้ที่ทำการต่อต้านเช่นนั้นประสบความสำเร็จไหม?
13. เกิดผลเช่นไรจากการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างสุขุมให้สื่อต่าง ๆ ทราบเกี่ยวกับงานของเรา?
13 ไม่เลย. เมื่อเห็นว่าเหมาะสม พยานพระยะโฮวาได้เข้าติดต่อสื่อต่าง ๆ เพื่ออธิบายข้อเท็จจริง. ผลก็คือ พระนามของพระยะโฮวาได้รับการเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางในหนังสือพิมพ์และวารสารต่าง ๆ รวมทั้งได้มีการออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์ด้วย. เรื่องนี้ได้ก่อผลดีต่องานประกาศ. ตัวอย่างเช่น ที่เดนมาร์ก รายการหนึ่งในโทรทัศน์ซึ่งออกอากาศไปทั่วประเทศจัดให้มีการอภิปรายกันในหัวข้อเรื่อง “ทำไมความเชื่อของชาวเดนมาร์กกำลังเสื่อมถอย.” นอกจากตัวแทนศาสนาอื่น ๆ แล้ว ได้มีการสัมภาษณ์พยานพระยะโฮวาด้วย. ในภายหลัง สตรีผู้หนึ่งซึ่งได้ชมรายการนั้นให้ความเห็นว่า “เห็นได้ชัดเจนเลยว่าใครมีพระวิญญาณของพระเจ้า.” ได้มีการเริ่มนำการศึกษากับเธอ.
14. ด้วยความโศกเศร้าเสียใจ ในไม่ช้าพวกผู้ต่อต้านจะถูกบังคับให้ยอมรับอะไร?
14 พยานพระยะโฮวาทราบว่าหลายคนในโลกนี้จะต่อต้านพวกเขา. (โยฮัน 17:14) ถึงกระนั้น พวกเขาได้รับการเสริมกำลังโดยคำพยากรณ์ของยะซายาที่ว่า “บรรดาบุตรของคนที่ข่มเหงเจ้า, จะต้องมาโค้งตัวให้เจ้า, และคนทั้งหลายเหล่านั้นที่ดูหมิ่นเจ้า, จะต้องกราบลงที่ฝ่าเท้าของเจ้า; เขาทั้งหลายจะเรียกเจ้าว่า, กรุงของพระยะโฮวา, กรุงซีโอนขององค์บริสุทธิ์แห่งชนชาติยิศราเอล.” (ยะซายา 60:14) ไม่ช้า พวกผู้ต่อต้านจะโศกเศร้าเสียใจที่ต้องยอมรับว่าที่แท้แล้วผู้ที่เขาได้ต่อสู้นั้นคือพระเจ้าเอง. ใครจะสามารถมีชัยในการสู้รบเช่นนั้น?
15. พยานพระยะโฮวา “ดูดน้ำนมของประชาชาติ” อย่างไร และเรื่องนี้เห็นได้อย่างไรในงานสอนและงานเผยแพร่กิตติคุณของพวกเขา?
15 พระยะโฮวาทรงสัญญาต่อไปอีกว่า “เราก็จะทำให้เจ้าหรูหราอยู่เป็นเนืองนิตย์ . . . เจ้าจะดูดน้ำนมของประชาชาติ, ได้ดูดแต่อกของกษัตริย์; แล้วเจ้าจะได้รู้ว่าเรายะโฮวา, คือผู้ช่วยให้รอดของเจ้า.” (ยะซายา 60:15, 16) ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ช่วยไพร่พลของพระองค์ให้รอด. ถ้าพวกเขาไว้วางใจพระองค์ พวกเขาจะยืนยง “เป็นเนืองนิตย์.” และพวกเขาจะ “ดูดน้ำนมของประชาชาติ” โดยใช้ทรัพยากรบางอย่างที่มีอยู่เพื่อความก้าวหน้าของการนมัสการแท้. ตัวอย่างเช่น การใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างสุขุมทำให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นที่จะพิมพ์หอสังเกตการณ์ พร้อมกันใน 121 ภาษา และตื่นเถิด! 62 ภาษา. ได้มีการออกแบบโปรแกรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ขึ้นมาเพื่อช่วยในการแปลพระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ ซึ่งการแปลเช่นนั้นก่อให้เกิดความยินดีมากมาย. เมื่อมีการออกฉบับแปลนี้ในภาษาโครเอเชียสำหรับพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกในปี 1999 หลายพันคนหลั่งน้ำตาด้วยความยินดี. พี่น้องสูงอายุคนหนึ่งกล่าวว่า “ผมคอยคัมภีร์ไบเบิลเล่มนี้มานานมาก. ถึงตอนนี้ ผมก็นอนตายตาหลับได้แล้วล่ะ!” ได้มีการจำหน่ายจ่ายแจกพระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ ทั้งเล่มและบางส่วนใน 34 ภาษา มากกว่า 100 ล้านเล่มแล้ว.
มาตรฐานสูงทางศีลธรรม
16, 17. (ก) แม้ว่าเป็นเรื่องยาก เหตุใดจึงสำคัญที่จะรักษามาตรฐานสูงของพระยะโฮวา? (ข) ประสบการณ์อะไรแสดงว่าคนหนุ่มสาวสามารถหลีกเลี่ยงมลพิษของโลกนี้?
16 พระเยซูตรัสว่า “ทุกคนที่ประพฤติชั่วก็ย่อมชังความสว่าง.” (โยฮัน 3:20) ตรงกันข้าม ผู้ที่อยู่ในความสว่างรักมาตรฐานสูงของพระยะโฮวา. โดยทางยะซายา พระยะโฮวาตรัสว่า “ส่วนพลเมืองของเจ้า ทุกคนจะเป็นคนชอบธรรม.” (ยะซายา 60:21ก, ล.ม.) อาจเป็นเรื่องท้าทายที่จะรักษามาตรฐานอันชอบธรรมในโลกที่การประพฤติผิดศีลธรรมทางเพศ, การโกหก, ความโลภ, และความหยิ่งมีอยู่แพร่หลาย. ตัวอย่างเช่น ในบางประเทศ เศรษฐกิจเฟื่องฟูและเป็นเรื่องง่ายที่จะหลงออกนอกเส้นทางและเข้าสู่การมุ่งแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวย. อย่างไรก็ดี เปาโลเตือนว่า “คนเหล่านั้นที่มุ่งจะร่ำรวยก็ตกเข้าสู่การล่อใจและบ่วงแร้วและความปรารถนาหลายอย่างแบบไร้สติและที่ก่อความเสียหาย ซึ่งทำให้คนตกเข้าสู่ความพินาศและความหายนะ.” (1 ติโมเธียว 6:9, ล.ม.) ช่างน่าเศร้าสักเพียงไรเมื่อมีใครหมกมุ่นกับธุรกิจอย่างมากจนถึงกับยอมสละสิ่งที่สำคัญอย่างแท้จริง อย่างเช่น การคบหาแบบคริสเตียน, การรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์, หลักการด้านศีลธรรม, และความรับผิดชอบต่อครอบครัว!
17 การรักษามาตรฐานอันชอบธรรมอาจยากเป็นพิเศษสำหรับคนหนุ่มสาว ในเมื่อหลายคนที่เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันพัวพันอยู่กับการใช้ยาเสพย์ติดและการประพฤติผิดศีลธรรม. ที่ซูรินาเม เด็กหญิงอายุ 14 ปีคนหนึ่งถูกเด็กหนุ่มหน้าตาดีที่โรงเรียนเข้ามาเกี้ยวและชวนให้มีเพศสัมพันธ์ด้วยกัน. เธอปฏิเสธโดยอธิบายว่าคัมภีร์ไบเบิลห้ามการทำเช่นนั้นนอกสายสมรส. เพื่อนนักเรียนหญิงคนอื่น ๆ เยาะเย้ยเธอและพยายามรุกเร้าเธอให้เปลี่ยนใจ โดยบอกว่าทุกคนอยากนอนกับหนุ่มคนนี้กันทั้งนั้น. ถึงกระนั้น เด็กหญิงคนนี้ยืนหยัดมั่นคง. ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา จากผลการวินิจฉัยโรคพบว่าเด็กหนุ่มคนนั้นติดเชื้อเอดส์และเขาเริ่มป่วยหนัก. เด็กหญิงคนนี้มีความสุขที่เธอได้เชื่อฟังพระบัญชาของพระยะโฮวาที่ให้ ‘ละเว้นจากการผิดประเวณี.’ (กิจการ 15:28, 29, ล.ม.) พยานพระยะโฮวาภูมิใจมากในคนหนุ่มสาวท่ามกลางพวกเขาที่ได้ยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง. ความเชื่อของพวกเขาและของบิดามารดา “เป็นความงดงาม” แก่พระนามพระยะโฮวาพระเจ้า—นำพระเกียรติมาสู่พระนามของพระองค์.—ยะซายา 60:21ข, ล.ม.
พระยะโฮวาได้ทรงประทานการเพิ่มทวี
18. (ก) พระยะโฮวาได้ทรงทำสิ่งยิ่งใหญ่อะไรเพื่อไพร่พลของพระองค์? (ข) มีหลักฐานอะไรที่ชี้ว่าการเพิ่มทวียังคงดำเนินต่อไป และมีความคาดหวังอันรุ่งโรจน์เช่นไรคอยอยู่สำหรับผู้ที่รักษาตัวอยู่ในความสว่าง?
18 ถูกแล้ว พระยะโฮวาทรงส่องสว่างแก่ไพร่พลของพระองค์, อวยพระพร, นำทาง, และเสริมกำลังพวกเขา. ในระหว่างศตวรรษที่ 20 พวกเขาเห็นความสำเร็จเป็นจริงตามถ้อยคำของยะซายาที่ว่า “คนจิ๋วจะเพิ่มเป็นจำนวนพัน และคนตัวเล็กจะเพิ่มเป็นชนชาติใหญ่. เราเอง ยะโฮวา จะเร่งกระทำการนี้ในเวลาอันควร.” (ยะซายา 60:22, ล.ม.) จากจำนวนเพียงหยิบมือในปี 1919 “คนจิ๋ว” ได้กลายมาเป็นมากกว่า “จำนวนพัน” เสียอีก. และการเพิ่มทวีเช่นนั้นยังไม่ถึงที่สิ้นสุด! ปีที่แล้ว มีผู้เข้าร่วมฉลองการระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซู 14,088,751 คน. หลายคนไม่ได้เป็นพยานฯ. เรามีความสุขที่พวกเขาเข้าร่วมการฉลองสำคัญนี้ และเราเชิญชวนเขาให้ก้าวหน้าต่อ ๆ ไปสู่ความสว่าง. พระยะโฮวายังทรงส่องสว่างอย่างเจิดจ้าแก่ไพร่พลของพระองค์. ประตูสู่องค์การของพระองค์ยังคงเปิดอยู่. ดังนั้น ให้เราทุกคนตั้งใจแน่วแน่ที่จะรักษาตัวอยู่ในความสว่างของพระยะโฮวา. การทำเช่นนั้นยังผลเป็นพระพรสักเพียงไรสำหรับเราในขณะนี้! และนั่นจะนำความยินดีมาให้สักเพียงไรในวันข้างหน้าเมื่อสิ่งทรงสร้างทั้งหมดจะสรรเสริญพระยะโฮวาและชื่นบานในความรุ่งโรจน์แห่งสง่าราศีของพระองค์!—วิวรณ์ 5:13, 14.
คุณอธิบายได้ไหม?
• ใครได้สะท้อนสง่าราศีของพระยะโฮวาในสมัยสุดท้ายนี้?
• อะไรแสดงว่าความมีใจแรงกล้าของไพร่พลพระยะโฮวามิได้ลดน้อยลงไป?
• การดีอะไรบ้างที่พยานพระยะโฮวากำลังทำอย่างแข็งขัน?
• แม้เผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรง เรามั่นใจในเรื่องใด?
[แผนภูมิหน้า 17-20]
รายงานเกี่ยวกับปีรับใช้ 1999 ของพยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลก
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
[ภาพหน้า 15]
ผู้คนยังคงหลั่งไหลเข้ามาในองค์การของพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 16]
เราดีใจที่พระยะโฮวาทรงเปิดประตูไว้กว้างสำหรับผู้ที่รักความสว่าง