บทสิบ
คุณถามทุกวันไหมว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?”
1, 2. (ก) สภาพฝ่ายวิญญาณของชาวยิวสมัยยิระมะยาห์เป็นเช่นไร? (ข) ชาวยูดาห์น่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสภาพของพวกเขา?
ยิระมะยาห์ร้องไห้. ท่านได้รับผลกระทบจากทั้งสภาพของเพื่อนร่วมชาติและสิ่งที่พระเจ้าได้ให้ท่านบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขา. ท่านอยากให้ศีรษะของท่านเป็นเหมือนบ่อน้ำและให้ตาท่านเป็นเหมือนน้ำพุเพื่อจะร้องไห้โดยไม่หยุด. ยิระมะยาห์มีเหตุที่จะโศกเศร้าเนื่องจากสภาพของชาตินั้น. (ยิระ. 9:1-3; อ่านยิระมะยา 8:20, 21 ) ชาวยิวปฏิเสธกฎหมายของพระเจ้าอยู่เรื่อย ๆ และไม่เชื่อฟังพระสุรเสียงของพระยะโฮวา ดังนั้น ความหายนะจะเกิดขึ้น.—ยิระ. 6:19; 9:13
2 อย่างไรก็ดี ผู้คนในยูดาห์ซึ่งอยากได้ยินผู้นำศาสนาของเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทุกอย่างเป็นปกติดีนั้น ไม่ได้สนใจจริง ๆ ว่าพระยะโฮวาทรงคิดอย่างไรเกี่ยวกับความประพฤติของพวกเขา. (ยิระ. 5:31; 6:14) พวกเขาเป็นเหมือนคนไข้ที่อยากจะไปหาหมอที่พูดให้เขาสบายใจ ทว่ามองข้ามอาการของโรคที่ร้ายแรง. หากคุณป่วยหนัก คุณคงต้องการการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องเพื่อจะได้รับการรักษาทันเวลามิใช่หรือ? กล่าวในแง่ฝ่ายวิญญาณแล้ว ชาวยิวในสมัยยิระมะยาห์น่าจะอยากรู้ว่าสภาพฝ่ายวิญญาณของพวกเขาเป็นเช่นไรอย่างแท้จริง. พวกเขาควรถามว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?”—ยิระ. 2:6, 8
3. (ก) ชาวยิวอาจตอบคำถามที่ว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?” โดยวิธีใด? (ข) วิธีหนึ่งที่ชาวยิวจะแสวงหาพระยะโฮวาคืออย่างไร?
3 การที่ชาวยิวจะถามว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?” หมายความว่าพวกเขาจะแสวงหาการชี้นำจากพระเจ้าเมื่อต้องตัดสินใจ ไม่ว่าเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก. ชาวยิวในสมัยนั้นไม่ได้ทำดังกล่าว. แต่ภายหลังการทำลายล้างเยรูซาเลมและพวกเขากลับจากบาบิโลนแล้ว พวกเขาต้อง ‘เสาะหาพระยะโฮวา’ และ ‘แสวงหาพระองค์.’ โดยทำเช่นนั้น พวกเขาจะสามารถพบพระองค์และรู้จักแนวทางของพระองค์. (อ่านยิระมะยา 29:13, 14) พวกเขาจะทำเช่นนั้นได้โดยวิธีใด? วิธีหนึ่งคือ โดยเข้าเฝ้าพระเจ้าในคำอธิษฐานอย่างจริงใจ ขอการชี้นำจากพระองค์. กษัตริย์ดาวิดมีเจตคติเช่นนั้น. ท่านทูลขอพระเจ้าว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงโปรดให้ข้าพเจ้ารู้ทางของพระองค์, ขอทรงฝึกสอนข้าพเจ้าให้ดำเนินในพระมรคาของพระองค์.” (เพลง. 25:4) ขอสังเกตคำเชิญที่พระองค์ผู้สดับคำอธิษฐานได้ให้ผ่านทางยิระมะยาห์ในปีที่สิบของกษัตริย์ซิดคียาที่ว่า “จงร้องเรียกเรา แล้วเราจะขานรับ และเรายินดีจะบอกเรื่องสำคัญ ๆ ที่เจ้าไม่เข้าใจและยังไม่รู้แก่เจ้า.” (ยิระ. 33:3, ล.ม.) หากกษัตริย์และชาติที่ทรยศนั้นร้องเรียกพระเจ้า พระองค์จะทรงเปิดเผยสิ่งที่พวกเขา “ไม่เข้าใจ” นั่นคือเรื่องการทำลายล้างเยรูซาเลมและการฟื้นฟูหลังจาก 70 ปี.
4, 5. ประชาชนของพระเจ้าอาจแสวงหาพระยะโฮวาได้ในวิธีอื่นอะไรบ้าง?
4 อีกวิธีหนึ่งที่ชาวยิวจะแสวงหาพระยะโฮวาได้คือ โดยการค้นดูประวัติศาสตร์และพิจารณาว่าพระองค์ทรงปฏิบัติกับประชาชนของพระองค์อย่างไร. โดยวิธีนี้พวกเขาสามารถระลึกได้ว่าอะไรที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัยและอะไรที่ทำให้พระองค์พิโรธ. พวกเขามีหนังสือที่โมเซเขียนและบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ อีกทั้งบันทึกต่าง ๆ ของกษัตริย์อิสราเอลและยูดาห์. โดยใคร่ครวญดูบันทึกเหล่านั้นและโดยฟังผู้พยากรณ์แท้ของพระเจ้า ชาวยิวในสมัยยิระมะยาห์สามารถเข้าใจคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?”
5 วิธีที่สามที่ชาวยิวเหล่านั้นสามารถแสวงหาพระยะโฮวาได้คือ โดยเรียนจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาและของคนอื่น. ใช่ว่าเขาต้องเรียนทุกอย่างโดยการลองผิดลองถูก แต่เขาสามารถได้รับประโยชน์จากการพิจารณาสิ่งที่เขาเองได้ทำในอดีตและทัศนะที่พระยะโฮวามีต่อการกระทำของเขา. หากเขาเป็นคนช่างสังเกต เขาคงเข้าใจได้ว่าพระเจ้าทรงมองความประพฤติของเขาอย่างไร.—สุภา. 17:10
6. ตัวอย่างของโยบอาจหนุนกำลังใจคุณอย่างไร?
6 แต่ขอเรานำเรื่องนี้มาใช้กับสมัยของเรา. คุณถามเสมอไหมว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?” เมื่อตัดสินใจและเลือกแนวทางปฏิบัติ? บางคนอาจรู้สึกว่า เมื่อตัดสินใจเขาไม่ได้ทำสิ่งดังกล่าวบ่อยเท่าที่ควร? หากในบางแง่คุณเป็นเช่นนั้น ก็อย่าท้อใจ. แม้แต่โยบปฐมบรรพบุรุษที่ซื่อสัตย์ก็มีปัญหาในเรื่องนี้. เมื่อได้รับความกดดัน ท่านกลายเป็นคนคิดถึงแต่ตัวเอง. เอลีฮูต้องเตือนท่านให้นึกถึงแนวโน้มทั่วไปของมนุษย์ที่ว่า “ไม่มีใครร้องหาว่า, ‘พระเจ้า, พระผู้สร้างของข้าฯ, อยู่ที่ไหน?’ ” (โยบ 35:10) เอลีฮูสนับสนุนโยบว่า “จง . . . เอาใจใส่ราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระเจ้า.” (โยบ 37:14) โยบต้องสังเกตราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาในสิ่งทรงสร้างรอบตัวท่านและในวิธีที่พระเจ้าปฏิบัติกับมนุษย์. โดยทางประสบการณ์ของตนเอง โยบได้มาเข้าใจแนวทางของพระยะโฮวา. หลังจากท่านได้อดทนความลำบากแสนสาหัสและได้เห็นวิธีที่พระยะโฮวาทรงจัดการเรื่องต่าง ๆ โยบได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้านี่เองแหละซึ่งได้พูดสิ่งซึ่งข้าฯไม่เข้าใจเลย, สิ่งอันน่ามหัศจรรย์เกินไปซึ่งข้าฯเองก็ไม่รู้ได้. แต่ก่อนข้าฯได้ยินถึงเรื่องพระองค์ด้วยหูฟังเรื่องราวมา, แต่บัดนี้ข้าฯเห็นพระองค์ด้วยตาของข้าฯแล้ว.”—โยบ 42:3, 5
7. ดังภาพหน้า 116 เราจะพิจารณาเรื่องอะไรต่อไป?
7 สำหรับผู้พยากรณ์ยิระมะยาห์เองแล้ว ท่านแสวงหาพระยะโฮวาเสมอและสามารถพบพระองค์. ต่างจากเพื่อนร่วมชาติของท่าน ตลอดหลายสิบปีที่ยิระมะยาห์รับใช้อย่างซื่อสัตย์ ท่านถามอยู่เสมอว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?” ในส่วนต่อไปของบทนี้ เราจะเห็นจากตัวอย่างของยิระมะยาห์ถึงวิธีที่เราจะแสวงหาพระยะโฮวาและพบพระองค์โดยการอธิษฐาน, การศึกษา, และประสบการณ์ส่วนตัว.—1 โคร. 28:9
การถามว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?” หมายความเช่นไร? ชาวยิวในสมัยยิระมะยาห์อาจถามเช่นนั้นได้โดยวิธีใดบ้าง?
ยิระมะยาห์หมายพึ่งพระเจ้าในคำอธิษฐาน
8. ยิระมะยาห์เข้าเฝ้าพระเจ้าในคำอธิษฐานภายใต้สภาพการณ์เช่นไร?
8 ตลอดหลายปีที่รับใช้ฐานะโฆษกของพระเจ้าสำหรับชาติยูดาห์ ยิระมะยาห์แสวงหาพระยะโฮวาโดยการอธิษฐานอย่างจริงใจ. ท่านหมายพึ่งพระเจ้าเมื่อต้องประกาศข่าวสารที่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบฟัง, เมื่อท่านรู้สึกว่าไม่สามารถประกาศต่อไปได้, และเมื่อมีคำถามที่ว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์บางอย่าง. พระเจ้าทรงตอบและประทานการชี้นำแก่ท่านว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร. ขอพิจารณาบางตัวอย่าง.
9. (ก) ยิระมะยาห์แสดงความรู้สึกอย่างไรที่ยิระมะยา 15:15, 16 และพระยะโฮวาทรงช่วยเหลืออย่างไร? (ข) เหตุใดคุณคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะแสดงความรู้สึกในคำอธิษฐาน?
9 ครั้งหนึ่งที่ยิระมะยาห์ได้รับมอบหมายให้ประกาศการลงโทษ ท่านรู้สึกว่าทุกคนแช่งด่าท่าน. ดังนั้น ผู้พยากรณ์จึงได้ทูลขอพระเจ้าให้ระลึกถึงท่าน. ขอพิจารณาคำอธิษฐานของท่านดังบันทึกที่ยิระมะยา 15:15, 16 ซึ่งบอกว่าท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการช่วยเหลือของพระเจ้า. (อ่าน) ในคำอธิษฐานนั้น ยิระมะยาห์แสดงความรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวออกมา. แต่เมื่อท่านได้พบพระคำของพระเจ้าและประหนึ่งว่าได้เอาพระคำนั้นใส่ไว้ในปาก ท่านก็กลับมีความยินดีอีก! พระยะโฮวาได้ทรงช่วยท่านให้เห็นคุณค่าสิทธิพิเศษที่ถูกเรียกตามพระนามของพระเจ้าและประกาศข่าวสารของพระองค์. ยิระมะยาห์จึงเข้าใจว่าพระยะโฮวาเกี่ยวข้องอย่างไรในเรื่องนี้. เราล่ะได้บทเรียนอะไรจากเรื่องนี้?
10. พระเจ้าทรงตอบโดยวิธีใด เมื่อผู้พยากรณ์บอกว่าจะไม่พูดในนามพระยะโฮวาอีกต่อไป?
10 ในอีกคราวหนึ่ง หลังจากที่ยิระมะยาห์ถูกปุโรหิตปัศฮูรบุตรชายของอิเมรเฆี่ยนแล้ว ท่านบอกว่าจะไม่พูดในพระนามของพระยะโฮวาอีกต่อไป. พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานของยิระมะยาห์โดยวิธีใด? (อ่านยิระมะยา 20:8, 9 ) คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกเราว่าพระเจ้าทรงตอบยิระมะยาห์โดยตรัสจากสวรรค์. แต่พระคำของพระเจ้าเป็นเหมือนไฟอยู่ในกระดูกของท่าน ยิระมะยาห์จึงอดไม่ได้ที่จะประกาศพระคำนั้น. โดยที่ยิระมะยาห์ระบายความรู้สึกต่อพระเจ้า และพร้อมจะทำตามพระประสงค์ของพระองค์แม้จะยังไม่รู้อย่างครบถ้วน ท่านจึงถูกกระตุ้นให้ทำตามที่พระเจ้าประสงค์นั้นต่อไป.
11, 12. ยิระมะยาห์ได้รับคำตอบอย่างไรเมื่อถามถึงเหตุผลที่คนชั่วดูเหมือนว่าประสบความสำเร็จ?
11 ยิระมะยาห์มีคำถามที่กวนใจเมื่อสังเกตเห็นคนชั่วประสบความสำเร็จ. (อ่านยิระมะยา 12:1, 3 ) แม้ไม่ได้สงสัยเลยในเรื่องความชอบธรรมของพระยะโฮวา ผู้พยากรณ์ก็ได้แสวงหาคำตอบสำหรับเรื่องที่ท่าน “อ้อนวอน [“ร้องทุกข์,” ล.ม.].” การที่ท่านถามอย่างตรงไปตรงมาทำให้เห็นชัดว่าท่านมีความผูกพันแน่นแฟ้นกับพระเจ้า เช่นเดียวกับที่บุตรมีต่อบิดาที่รักของเขา. เพียงแต่ว่ายิระมะยาห์ไม่เข้าใจเหตุผลที่ชาวยิวหลายคนเจริญรุ่งเรืองทั้ง ๆ ที่เป็นคนชั่ว. ยิระมะยาห์ได้คำตอบที่จุใจไหม? พระยะโฮวาทรงรับรองกับท่านว่าพระองค์จะถอนรากถอนโคนคนชั่ว. (ยิระ. 12:14) ขณะที่ยิระมะยาห์ได้เห็นว่าเรื่องที่ท่านอธิษฐานต่อพระเจ้านั้นลงเอยอย่างไร ท่านคงต้องมีความมั่นใจยิ่งขึ้นในความยุติธรรมของพระเจ้า. ผลก็คือ ยิระมะยาห์คงต้องหมายพึ่งพระเจ้าในคำอธิษฐานมากขึ้น และเผยความรู้สึกของท่านเองต่อพระบิดา.
12 ตอนที่การปกครองของซิดคียาใกล้จะสิ้นสุดและพวกบาบิโลนล้อมกรุงเยรูซาเลม ยิระมะยาห์กล่าวถึงพระยะโฮวาว่า “พระเนตรพระองค์ได้ลืมเหนือบรรดาทางของบุตรมนุษย์, เพื่อจะให้แก่ทุกคนตามทางที่ประพฤติของเขา, แลตามผลกิจการทั้งปวงของเขา.” (ยิระ. 32:19) ยิระมะยาห์เข้าใจได้ว่าพระยะโฮวามีทัศนะเช่นไรในเรื่องความยุติธรรม ที่จริงแล้วพระเจ้าทรงเฝ้าดูสิ่งที่แต่ละคนทำและสดับคำอธิษฐานอย่างจริงจังของผู้รับใช้พระองค์. แล้วพวกเขาก็เห็นหลักฐานมากขึ้นทุกทีว่าพระองค์ทรงประทานแก่ “ทุกคนตามทางที่ประพฤติของเขา, แลตามผลกิจการทั้งปวงของเขา.”
13. เหตุใดคุณจึงมั่นใจในความสำเร็จแห่งพระประสงค์ของพระเจ้า?
13 เราอาจไม่ได้สงสัยในเรื่องความยุติธรรมของพระเจ้าและสติปัญญาเกี่ยวกับวิธีที่พระองค์ทรงทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ ทั้งยังจะทำให้สำเร็จอีก. ถึงกระนั้น เราสามารถได้รับประโยชน์จากการไตร่ตรองประสบการณ์ของยิระมะยาห์และพูดในคำอธิษฐานว่าเรารู้สึกอย่างไรจริง ๆ. การแสดงความรู้สึกของเราในลักษณะนั้นจะทำให้เรามั่นใจในพระยะโฮวามากขึ้นว่าพระประสงค์ของพระองค์จะสำเร็จอย่างแน่นอน. ถึงแม้ในปัจจุบันเราไม่เข้าใจเต็มที่ว่าทำไมสภาพการณ์จึงเกิดขึ้นอย่างที่เป็นอยู่นั้น หรือเหตุใดพระประสงค์ของพระเจ้าไม่สำเร็จเร็วกว่านี้ ในคำอธิษฐานถึงพระองค์เราสามารถแสดงความมั่นใจว่าพระองค์ทรงมีอำนาจควบคุมอย่างครบถ้วน. พระประสงค์ของพระองค์จะสำเร็จในวิธีและตามเวลาที่พระองค์ทรงทราบว่าดีที่สุด. มีการให้หลักฐานยืนยันเรื่องนี้ เราจึงไม่มีเหตุผลที่จะสงสัยเรื่องดังกล่าว. เราจะถามต่อ ๆ ไปว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?” ในความหมายที่ว่า เราจะแสวงหาความเข้าใจพระประสงค์ของพระองค์ด้วยการอธิษฐานและพยายามเข้าใจหลักฐานเกี่ยวกับความสำเร็จของพระประสงค์นั้น.—โยบ 36:5-7, 26
ประสบการณ์ของยิระมะยาห์ในการแสวงหาพระยะโฮวาโดยการอธิษฐานทำให้คุณมั่นใจในเรื่องใด?
ยิระมะยาห์หล่อเลี้ยงหัวใจด้วยความรู้
14. เราทราบอย่างไรว่ายิระมะยาห์ค้นคว้าประวัติเกี่ยวกับประชาชนของพระเจ้า?
14 เกี่ยวกับคำถามที่ว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?” ยิระมะยาห์ทราบดีว่าจำเป็นต้องมี ‘ความรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวา.’ (ยิระ. 9:24, ล.ม.) ท่านคงต้องได้ศึกษาประวัติเกี่ยวกับประชาชนของพระเจ้าขณะที่รวบรวมหนังสือซึ่งตอนนี้เป็นที่รู้จักว่าพงศาวดารกษัตริย์ฉบับต้นและฉบับสอง. ท่านได้กล่าวถึงโดยเฉพาะ “กิจการของซะโลโม” “หนังสือพงศาวดารแห่งกษัตริย์ยิศราเอล” และ “หนังสือพงศาวดารแห่งกษัตริย์ยูดา.” (1 กษัต. 11:41; 14:19; 15:7) ดังนั้น ท่านจึงเข้าใจวิธีที่พระยะโฮวาทรงจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ. ยิระมะยาห์สามารถเข้าใจว่าอะไรทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยและพระองค์มีทัศนะอย่างไรต่อการตัดสินใจของผู้คน. ท่านคงจะค้นดูหนังสือที่มีขึ้นโดยการดลใจซึ่งหาได้ในตอนนั้นด้วย เช่น หนังสือที่เขียนโดยโมเซ, ยะโฮซูอะ, ซามูเอล, ดาวิด, และโซโลมอน. ไม่มีข้อสงสัย ท่านมีความรู้อย่างดีเกี่ยวกับผู้พยากรณ์ที่อยู่ก่อนหน้านั้น และที่อยู่ในสมัยเดียวกับท่านด้วย. การศึกษาส่วนตัวของยิระมะยาห์เป็นประโยชน์ต่อท่านอย่างไร?
15. ยิระมะยาห์อาจได้รับประโยชน์อะไรจากการค้นคว้าคำพยากรณ์ของเอลียาห์?
15 ยิระมะยาห์ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับอีซาเบล มเหสีผู้ชั่วร้ายของกษัตริย์อาฮาบแห่งซะมาเรีย. เรื่องที่ท่านบันทึกรวมถึงคำแถลงของเอลียาห์ที่ว่าสุนัขจะกินอีซาเบลบนที่ดินผืนหนึ่งในเมืองยิศเรล. (1 กษัต. 21:23) และสอดคล้องกับสิ่งที่ยิระมะยาห์ได้บันทึก คุณทราบว่าประมาณ 14 ปีต่อมา อีซาเบลได้ถูกโยนออกจากหน้าต่าง ถูกม้าของเยฮูเหยียบและถูกสุนัขกิน. (2 กษัต. 9:31-37) การค้นคว้าคำพยากรณ์ของเอลียาห์และความสำเร็จเป็นจริงกระทั่งในรายละเอียด คงต้องเสริมความเชื่อที่ยิระมะยาห์มีในพระคำของพระเจ้า. ที่จริง สิ่งที่ทำให้ท่านบากบั่นฐานะผู้พยากรณ์ก็คือความเชื่อซึ่งเพิ่มพูนขึ้นโดยการศึกษาพระราชกิจของพระยะโฮวาในอดีต.
16, 17. เหตุใดคุณคิดว่ายิระมะยาห์สามารถบากบั่นในการเตือนกษัตริย์ที่ชั่วในสมัยของท่านได้?
16 ให้เรายกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง. คุณคิดว่าอะไรทำให้ยิระมะยาห์สามารถเตือนกษัตริย์ที่ชั่วร้าย เช่น ยะโฮยาคิมกับซิดคียาอยู่เรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ถูกข่มเหง? เหตุผลสำคัญคือ พระยะโฮวาทรงทำให้ยิระมะยาห์เป็น “เมืองมีค่ายพร้อม, แลให้เป็นเสาเหล็ก, แลให้เป็นกำแพงทองเหลือง” ต้านทานกษัตริย์แห่งยูดาห์. (ยิระ. 1:18, 19) แต่ขอเราอย่ามองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า ยิระมะยาห์ได้ค้นคว้าอย่างถี่ถ้วนในเรื่องการปกครองของกษัตริย์แห่งยูดาห์และอิสราเอลหลายองค์ก่อนหน้านั้น. ท่านได้ทำบันทึกข้อเท็จจริงที่ว่ามานาเซห์ได้ “สร้างแท่นไว้บูชาดวงสว่างทั้งหลายไว้ในท้องฟ้าในบริเวณทั้งสองแห่งโบสถ์พระยะโฮวา” ได้เผาโอรสเป็นเครื่องบูชา และทำให้โลหิตของผู้ไม่มีความผิดตกเป็นอันมาก. (2 กษัต. 21:1-7, 16; อ่านยิระมะยา 15:4 ) แต่ยิระมะยาห์คงต้องรู้ว่าเมื่อมานาเซห์ได้ถ่อมตัวลงและอธิษฐานถึงพระยะโฮวาอยู่เรื่อย ๆ “พระองค์ได้ทรงโปรดสดับฟังคำอ้อนวอน” และทรงนำกษัตริย์กลับคืนสู่ที่พำนักของท่าน.—อ่าน 2 โครนิกา 33:12, 13
17 ในหนังสือที่ยิระมะยาห์เขียน ท่านไม่ได้กล่าวถึงความเมตตาที่พระยะโฮวามีต่อมานาเซห์. แต่เนื่องจากมานาเซห์สิ้นพระชนม์ก่อนยิระมะยาห์เริ่มงานพยากรณ์เพียง 15 ปีหรือราวนั้น ผู้พยากรณ์จึงต้องได้ยินเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนที่กษัตริย์ได้กลับใจจากการกระทำที่ชั่วร้ายในอดีต. การศึกษาค้นคว้าเรื่องความประพฤติที่เลวร้ายของมานาเซห์และผลในที่สุด คงต้องช่วยยิระมะยาห์ให้เห็นประโยชน์ของการกระตุ้นเตือนกษัตริย์อย่างซิดคียาให้แสวงหาความเมตตาและความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวา. แม้แต่กษัตริย์ที่ฉาวโฉ่เรื่องการไหว้รูปเคารพและทำให้เกิดการนองเลือดก็ยังสามารถกลับใจและได้รับการให้อภัย. หากคุณเป็นยิระมะยาห์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับมานาเซห์จะหนุนกำลังใจคุณไหม ทำให้คุณมีเหตุผลที่จะบากบั่นทำงานระหว่างการครองราชย์ของกษัตริย์ที่ไม่ดีองค์อื่น ๆ?
เรียนรู้จากประสบการณ์
18. ยิระมะยาห์อาจได้บทเรียนอะไรจากตัวอย่างของอุรียา และเพราะเหตุใดคุณจึงตอบเช่นนั้น?
18 ระหว่างทำงานฐานะผู้พยากรณ์ ยิระมะยาห์ได้บทเรียนอย่างแน่นอนเมื่อเห็นว่าเพื่อนร่วมสมัยของท่านทำอย่างไรในสถานการณ์ต่าง ๆ. คนหนึ่งคือผู้พยากรณ์อุรียา ซึ่งได้พยากรณ์ต่อต้านเยรูซาเลมกับยูดาห์ระหว่างการปกครองของยะโฮยาคิม. อย่างไรก็ดี เนื่องจากกลัวกษัตริย์ยะโฮยาคิม อุรียาจึงหนีไปอียิปต์. หลังจากนั้น กษัตริย์ได้ส่งคนไปพาตัวเขากลับมาจากอียิปต์ แล้วสั่งให้ประหารเขาเสีย. (ยิระ. 26:20-23) คุณคิดว่ายิระมะยาห์ได้บทเรียนจากประสบการณ์ของอุรียาไหม? การที่ยิระมะยาห์ยังคงเตือนชาวยิวต่อไปถึงความพินาศที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งท่านถึงกับทำเช่นนั้นในบริเวณพระวิหารด้วยซ้ำ แสดงว่าท่านต้องได้บทเรียน. ยิระมะยาห์ยังคงกล้าหาญ และพระยะโฮวาไม่ทรงละทิ้งท่าน. พระเจ้าคงต้องกระตุ้นอะฮีคาม บุตรชายของซาฟานให้ปกป้องชีวิตของยิระมะยาห์ผู้กล้าหาญ.—ยิระ. 26:24
19. ยิระมะยาห์เห็นอะไรได้จากการที่พระยะโฮวาทรงใช้ผู้พยากรณ์ไปหาประชาชนของพระองค์อย่างไม่ละลด?
19 ยิระมะยาห์ยังได้เรียนจากประสบการณ์ของตนเองเมื่อพระยะโฮวาทรงใช้ท่านให้เตือนประชาชนของพระองค์. ในปีที่สี่ของกษัตริย์ยะโฮยาคิม พระยะโฮวาทรงบัญชาให้ยิระมะยาห์เขียนถ้อยคำทั้งสิ้นที่พระองค์ได้ตรัสตั้งแต่สมัยของโยซียาห์จนถึงตอนนั้น. อะไรคือเหตุผลที่พระเจ้ามีพระบัญชาเช่นนี้? เหตุผลคือเพื่อสนับสนุนผู้คนให้หันกลับจากการทำชั่วและจึงได้รับการให้อภัย. (อ่านยิระมะยา 36:1-3 ) ยิระมะยาห์ซึ่งลุกขึ้นแต่เช้าเพื่อบอกข่าวสารเตือนสติจากพระเจ้า ถึงกับอ้อนวอนผู้คนให้เลิกประพฤติการที่น่าเกลียด. (ยิระ. 44:4) เห็นได้ชัดมิใช่หรือว่ายิระมะยาห์คงต้องตระหนักจากประสบการณ์ของตนเองว่าพระเจ้าได้ใช้ผู้พยากรณ์ไปเนื่องจากความเมตตาสงสารที่มีต่อประชาชนของพระองค์? และนั่นจะไม่ทำให้ยิระมะยาห์เองเกิดความเมตตาสงสารหรอกหรือ? (2 โคร. 36:15) ดังนั้น คุณเข้าใจได้ว่าเมื่อยิระมะยาห์รอดชีวิตจากการทำลายเยรูซาเลม ท่านจึงพูดได้ว่า “เป็นเพราะพระกรุณาคุณของพระยะโฮวา, พวกข้าพเจ้าจึงยังไม่ได้ถูกเผาผลาญเสียให้สูญไปทีเดียว; เป็นเพราะความเมตตาแห่งพระยะโฮวาว่ามีไม่ขาดตอน. ความเมตตากรุณานั้นมีมาใหม่ทุก ๆ เช้า.”—ทุกข์. 3:22, 23
การที่ยิระมะยาห์ศึกษาค้นคว้าอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับการปฏิบัติของพระเจ้าในอดีตรวมทั้งใคร่ครวญสิ่งที่ท่านและคนอื่นได้ประสบ คงต้องส่งผลเช่นไรต่อท่าน? เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?
คุณ ถามทุกวันไหมว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?”
20. คุณจะเลียนแบบยิระมะยาห์ในการแสวงหาพระยะโฮวาได้อย่างไร?
20 เมื่อเผชิญการตัดสินใจทุกวัน คุณพยายามสืบค้นว่าพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นเช่นไรไหม ประหนึ่งถามว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?” (ยิระ. 2:6-8) ต่างจากชาวยิวในสมัยของท่าน ยิระมะยาห์หมายพึ่งพระผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งอยู่เสมอเพื่อช่วยท่านให้มองออกว่าควรจะไปทางไหน. ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเลียนแบบยิระมะยาห์โดยการแสวงหาพระยะโฮวาทุกวันเพื่อรู้ทัศนะของพระองค์ เป็นแนวทางที่ฉลาดสุขุมสำหรับเราแต่ละคนเมื่อต้องตัดสินใจ.
21. คำอธิษฐานแบบใดอาจช่วยคุณในงานรับใช้ เช่นเมื่อบางคนแสดงท่าทีเกรี้ยวกราด?
21 การตัดสินใจนั้นใช่ว่าต้องเป็นเรื่องใหญ่หรือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต. ตัวอย่างเช่น คุณควรแสวงหาพระยะโฮวาไหมเมื่อตัดสินใจจะออกประกาศในวันที่คุณวางแผนไว้? บางทีคุณตื่นขึ้นมาและสังเกตเห็นท้องฟ้ามืดครึ้มซึ่งอาจดูเหมือนว่าไม่น่าออกไปประกาศ. เขตที่กำหนดไว้สำหรับการประกาศในวันนั้นอาจเป็นเขตที่ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก. คุณอาจจำได้ว่าบางคนได้ปฏิเสธคุณด้วยท่าทีสุภาพแบบเสแสร้งหรือไม่ก็หยาบคาย. ช่วงเช้าวันนั้น คุณจะถามในคำอธิษฐานไหมว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?” การทำเช่นนั้นอาจช่วยคุณให้คิดถึงความล้ำเลิศของข่าวที่คุณประกาศและช่วยให้ตระหนักยิ่งขึ้นว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ให้คุณบอกข่าวนั้น. แล้วคุณจะรู้สึกว่าพระคำของพระยะโฮวาเป็นแหล่งของความปีติยินดีสำหรับคุณ เช่นเดียวกับที่ยิระมะยาห์เคยรู้สึก. (ยิระ. 15:16, 20) หากงานรับใช้ในช่วงต่อมา คุณพบบางคนที่เกรี้ยวกราดหรือถึงกับข่มขู่ คุณอาจบอกความรู้สึกของคุณอีกในคำอธิษฐานถึงพระเจ้า. คุณจะทำอย่างนั้นไหม? อย่าลืมว่าพระองค์สามารถประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้คุณเพื่อจะแสดงท่าทีอย่างเหมาะสม และความปรารถนาของคุณที่จะบอกข่าวสารของพระเจ้าจะเอาชนะความรู้สึกที่ไม่ดี.—ลูกา 12:11, 12
22. ทำไมคำอธิษฐานบางอย่างจึงถูกขัดขวาง?
22 เป็นประโยชน์ที่ทราบว่าคำอธิษฐานบางอย่างอาจถูกขัดขวาง คือไปไม่ถึงพระเจ้า. (อ่านบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:44 ) พระยะโฮวาไม่ทรงสดับคำอธิษฐานของชาวยิวที่ขืนอำนาจ เพราะพวกเขา ‘บ่ายหูไม่ฟังพระองค์’ และยังคงทำการชั่วไม่ละลด. (สุภา. 28:9) ยิระมะยาห์คงต้องเห็นบทเรียนชัดเจนเช่นเดียวกับที่เราน่าจะเห็นชัดด้วยคือ หากคนเราไม่ปฏิบัติสอดคล้องกับคำอธิษฐานของเขา พระเจ้าก็จะรู้สึกผิดหวังและอาจทำให้พระองค์เลิกฟังคำอธิษฐานของเขา. แน่นอน เราจะพยายามสุดความสามารถเพื่อไม่ให้เป็นเช่นนั้น.
23, 24. (ก) อะไรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเราจะทราบพระประสงค์ของพระยะโฮวา? (ข) คุณจะทำให้การศึกษาส่วนตัวเป็นประโยชน์มากขึ้นได้โดยวิธีใด?
23 นอกจากการอธิษฐานอย่างจริงใจขอการชี้นำจากพระยะโฮวาแล้ว เราต้องศึกษาส่วนตัวต่อไป ซึ่งเป็นวิธีสำคัญที่จะทราบพระประสงค์ของพระยะโฮวา. เราได้เปรียบยิระมะยาห์ในเรื่องนี้. เรามีคัมภีร์ไบเบิลครบชุด. เช่นเดียวกับยิระมะยาห์ซึ่งได้ค้นคว้าอย่างถี่ถ้วนและรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ก่อนที่ท่านจะเขียนหนังสือที่มีขึ้นโดยการดลใจ คุณอาจค้นดูพระคำของพระเจ้าและมองหาการชี้นำจากพระองค์โดยถามว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?” โดยพยายามจะเรียนรู้พระประสงค์ของพระองค์ คุณไว้วางใจพระองค์ และคุณ “จะเป็นเหมือนอย่างต้นไม้อันปลูกริมน้ำทั้งหลาย, แลที่ได้แผ่รากของตัวออกตามแม่น้ำ.”—อ่านยิระมะยา 17:5-8
24 ขณะที่คุณอ่านและไตร่ตรองดูพระคัมภีร์บริสุทธิ์ จงพยายามมองให้ออกว่าพระยะโฮวาประสงค์ให้คุณทำอะไรในสภาพการณ์ต่าง ๆ. คุณอาจมองหาหลักการต่าง ๆ ที่คุณต้องการจำไว้และนำไปใช้ในชีวิต. ขณะที่อ่านเรื่องประวัติศาสตร์, พระบัญชาของพระเจ้า, หลักการของพระเจ้า, และถ้อยคำแห่งสติปัญญาในพระคำของพระเจ้า ขอพิจารณาว่าข้อความเหล่านั้นควรจะมีผลอย่างไรต่อการตัดสินใจของคุณแต่ละวัน. เพื่อตอบคำถามของคุณที่ว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?” พระองค์จะเปิดเผยให้คุณทราบโดยทางพระคำของพระองค์ที่บันทึกไว้เรื่องวิธีรับมือกระทั่งสถานการณ์เลวร้ายที่คุณอาจเผชิญอยู่นั้น. ในคัมภีร์ไบเบิลคุณอาจพบ ‘เรื่องที่คุณไม่เข้าใจและยังไม่รู้’ หรือไม่เข้าใจความหมายในบางแง่มุมด้วยซ้ำ!—ยิระ. 33:3, ล.ม.
25, 26. ทำไมประสบการณ์ต่าง ๆ อาจเป็นประโยชน์ต่อเรา?
25 นอกจากนี้ คุณอาจพิจารณาประสบการณ์ของคุณเองและของคนอื่น. ตัวอย่างเช่น คุณอาจเห็นว่าบางคนได้เลิกไว้วางใจพระยะโฮวา เช่นในกรณีของอุรียา. (2 ติโม. 4:10) คุณอาจเรียนจากแนวทางปฏิบัติของพวกเขาและหลีกเลี่ยงผลเสียหายอย่างเดียวกัน. ขอให้นึกถึงเสมอที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติกับคุณด้วยความกรุณารักใคร่ โดยจำไว้ว่ายิระมะยาห์รู้สึกขอบคุณสำหรับความเมตตาสงสารของพระเจ้าเช่นกัน. ไม่ว่าคุณอยู่ในสถานการณ์ที่สิ้นหวังเพียงไรก็ตาม ขออย่าคิดว่าพระผู้สูงสุดไม่ใฝ่พระทัยในตัวคุณ. จริง ๆ แล้วพระองค์ทรงใฝ่พระทัยในตัวคุณ เช่นเดียวกับที่ใฝ่พระทัยยิระมะยาห์.
26 ขณะที่คุณไตร่ตรองดูวิธีที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติกับบางคนในทุกวันนี้ คุณจะตระหนักว่าพระองค์ทรงจัดเตรียมการชี้นำไว้ทุกวันในวิธีต่าง ๆ. อากิ พี่น้องหญิงวัยสาวคนหนึ่งในญี่ปุ่น รู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควรกับการเป็นคริสเตียน. วันหนึ่งขณะไปประกาศกับภรรยาของผู้ดูแลหมวด อากิพูดถึงตัวเองว่า “ดิฉันรู้สึกว่าพระยะโฮวากำลังจะคายดิฉันออกมา แต่ดิฉันก็เกาะอยู่ที่พระโอษฐ์ของพระองค์ ทูลขอพระองค์ให้เวลาดิฉันอีกสักหน่อย.” ภรรยาของผู้ดูแลหมวดสบตาเธอแล้วบอกว่า “ดิฉันไม่เคยคิดว่าคุณเป็นคริสเตียนที่เพียงแต่อุ่น ๆ!” ต่อมา อากิใคร่ครวญคำพูดนี้ที่ทำให้เธอมั่นใจขึ้น. ที่แท้แล้ว ไม่มีอะไรบ่งชี้จริง ๆ ว่าพระยะโฮวาเคย มองเธอว่าเป็นแต่อุ่น ๆ. หลังจากนั้น อากิได้อธิษฐานขอพระยะโฮวาว่า “ขอทรงใช้ข้าพเจ้าไปที่ไหนก็ได้ที่พระองค์ประสงค์. ข้าพเจ้าจะทำไม่ว่าอะไรก็ตามที่พระองค์ต้องการให้ข้าพเจ้าทำ.” ประมาณช่วงนั้น เธอได้เดินทางไปต่างประเทศ ในประเทศที่ไปนั้นมีชาวญี่ปุ่นกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งต้องการคนที่พูดภาษานั้นที่สามารถอยู่กับพวกเขาและรับใช้ด้วยกันได้. พอดีอากิเกิดในประเทศนั้น ซึ่งทำให้ง่ายที่เธอจะย้ายไปช่วยที่นั่น. แต่เธอจะพักอยู่ที่ไหน? พี่น้องหญิงคนหนึ่งซึ่งมีลูกสาวที่เพิ่งย้ายออกไปได้เสนอห้องให้เธอ. อากิสรุปว่า “เป็นเหมือนกับชิ้นส่วนภาพจิกซอว์ที่ต่อกันพอดี พระยะโฮวาทรงเปิดทางให้ดิฉัน.”
27. เหตุใดคำถามที่ว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?” น่าจะกระตุ้นใจคุณ?
27 พี่น้องชายหญิงหลายคนสามารถเล่าตัวอย่างที่เขาได้รับการชี้นำจากพระเจ้าเป็นส่วนตัว บางทีขณะที่อ่านคัมภีร์ไบเบิลหรือระหว่างการศึกษาส่วนตัว. คุณก็อาจมีประสบการณ์อย่างเดียวกันด้วย. ประสบการณ์ดังกล่าวน่าจะเสริมความผูกพันที่คุณมีกับพระยะโฮวาให้แน่นแฟ้นขึ้นและกระตุ้นคุณให้เข้าเฝ้าพระองค์ในการอธิษฐานบ่อย ๆ ด้วยใจแรงกล้ายิ่งขึ้น. จงมั่นใจว่าขณะที่เราถามทุกวันว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?” พระองค์จะแสดงให้เราเห็นทางของพระองค์.—ยซา. 30:21
คุณจะพบคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า “พระยะโฮวาอยู่ที่ไหน?” ได้อย่างไร? คุณจะแสวงหาการชี้นำของพระองค์ได้ในทางใดบ้าง?