บทหนึ่ง
“เราได้ใส่ถ้อยคำของเราไว้ในปากของเจ้า”
1, 2. เหตุใดคุณจึงมั่นใจในสิ่งที่ได้อ่านจากคัมภีร์ไบเบิล?
“มีมิตรที่สนิทแน่นยิ่งกว่าพี่น้อง.” (สุภา. 18:24, ล.ม.) คุณเคยประสบด้วยตัวเองไหมว่าถ้อยคำที่มีขึ้นโดยการดลใจข้อนี้เป็นจริง? คุณจะวางใจได้ในสิ่งที่เพื่อนแท้พูด. เมื่อเขาบอกคุณถึงสิ่งที่ดีหรืออธิบายว่าเขาจะทำอะไร คุณจะเชื่อเขา. หากเขาชี้ถึงอะไรบางอย่างที่จำเป็นต้องปรับปรุง คุณคงจะยอมรับและปฏิบัติตามนั้น. เขาได้พิสูจน์มานานพอแล้วว่าหวังดีต่อคุณ แม้แต่เมื่อให้คำแนะนำ. เขาอยากให้คุณประสบผลสำเร็จ และคุณก็ต้องการให้เขาประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกันด้วยเพื่อที่มิตรภาพของคุณกับเขาจะยั่งยืน.
2 ในหลายแง่ คุณจะพบเพื่อนดังกล่าวได้จากบรรดาผู้ที่พระเจ้าทรงใช้ให้เขียนหนังสือต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล. สิ่งที่คุณได้ยินจากพวกเขา คุณเชื่อได้. คุณแน่ใจว่าสิ่งที่พวกเขาพูดเป็นประโยชน์ต่อคุณ. ชาวอิสราเอลโบราณน่าจะรู้สึกเช่นนั้นกับ “มนุษย์ . . . [ซึ่ง] พูดตามที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้พูดโดยได้รับการทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (2 เป. 1:20, 21) คนที่พระเจ้าทรงใช้ให้เขียนหนังสือคำพยากรณ์ที่ยาวที่สุดคือยิระมะยาห์ ผู้ซึ่งได้เขียนบทเพลงร้องทุกข์และหนังสืออีกสองเล่มในคัมภีร์ไบเบิลด้วย.
3, 4. บางคนมีทัศนะเช่นไรต่อหนังสือยิระมะยาและบทเพลงร้องทุกข์ แต่เหตุใดนั่นเป็นความคิดที่ผิด? จงยกตัวอย่าง.
3 แต่คุณอาจสังเกตว่า ผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิลบางคนมักจะคิดว่าหนังสือที่ยิระมะยาห์เขียน ‘ไม่เหมาะกับเขา.’ เขาอาจคิดเอาเองว่าหนังสือยิระมะยาและบทเพลงร้องทุกข์มีแต่คำเตือนที่น่ากลัวและคำทำนายที่เป็นเรื่องร้าย ๆ. แต่การมีทัศนะเช่นนั้นต่อหนังสือยิระมะยาและบทเพลงร้องทุกข์ตรงกับความเป็นจริงไหม?
4 จริงอยู่ เรื่องที่ยิระมะยาห์เขียนให้คำเตือนและคำแนะนำที่ตรงไปตรงมา แต่คุณก็รู้ว่าบางครั้งเพื่อนได้ทำเช่นนั้นกับคุณด้วย. แม้แต่พระเยซูก็ตรัสโดยไม่อ้อมค้อมเมื่อเพื่อนของพระองค์คือเหล่าอัครสาวกแสดงทัศนะที่ไม่ถูกต้อง พระองค์ทรงแก้ไขพวกเขาอย่างตรงไปตรงมา. (มโก. 9:33-37) ถึงอย่างไรก็ตาม ข่าวสารหลักของพระเยซูเป็นแง่บวก แสดงให้เห็นวิธีที่จะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าและความสุขในอนาคต. (มัด. 5:3-10, 43-45) เป็นเช่นเดียวกันกับหนังสือที่ยิระมะยาห์เขียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “พระคัมภีร์ทุกตอน” ที่มีประโยชน์เพื่อ “จัดการเรื่องราวให้ถูกต้อง.” (2 ติโม. 3:16) ยิระมะยาห์ได้บอกอย่างชัดเจนถึงทัศนะของพระเจ้าที่มีต่อคนเหล่านั้นซึ่งอ้างว่ารับใช้พระยะโฮวาแต่เป็นผู้ที่ควรได้รับผลจากแนวทางที่เลวร้ายของตน. ถึงกระนั้น หนังสือยิระมะยาและบทเพลงร้องทุกข์ก็มีข่าวสารที่ให้ความหวังและแสดงให้เห็นว่าเราจะได้รับพระพรในอนาคตอย่างไร. หนังสือยิระมะยายังมีคำพยากรณ์เกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าจะปฏิบัติกับมนุษย์เป็นขั้น ๆ ซึ่งพวกเราในทุกวันนี้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในความสำเร็จเป็นจริง. ยิ่งกว่านั้น คุณจะพบข้อความที่เสริมสร้างและให้กำลังใจในหนังสือสองเล่มนี้.—อ่านยิระมะยา 31:13, 33; 33:10, 11; บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:22, 23
5. เราจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากหนังสือที่ยิระมะยาห์เขียน?
5 ความสุขของเราในปัจจุบันที่มีอยู่ท่ามกลางประชาชนของพระเจ้าอีกทั้งความหวังของเราในเรื่องอนาคตเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ยิระมะยาห์เขียน. ภราดรภาพที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเราเป็นตัวอย่าง. สิ่งที่ท่านเขียนจะช่วยเราทำให้ภราดรภาพดังกล่าวแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและช่วยเราเอาคำแนะนำของอัครสาวกเปาโลไปใช้ที่ว่า “พี่น้องทั้งหลาย ขอให้พวกท่านปีติยินดีเรื่อยไป ได้รับการปรับให้มีสภาพดีดังเดิม ได้รับการชูใจจากพี่น้อง ขอให้คิดสอดคล้องกัน และดำเนินชีวิตอย่างมีสันติสุขต่อ ๆ ไป แล้วพระเจ้าแห่งความรักและสันติสุขจะสถิตกับท่านทั้งหลาย.” (2 โค. 13:11) เรื่องที่ยิระมะยาห์เขียนยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับข่าวสารที่เราประกาศด้วย. ขณะที่เราบอกคนอื่นเรื่องสมัยสุดท้ายและเตือนเกี่ยวกับอวสานของยุคนี้ที่กำลังใกล้เข้ามา ข่าวสารของเราก็ยังคงเป็นแง่บวก ทำให้มีเหตุผลสำหรับความหวัง. ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่ยิระมะยาห์เขียนเป็นประโยชน์ต่อเราในชีวิตประจำวัน. สถานการณ์ของเราในหลายแง่คล้ายกับชีวิตของยิระมะยาห์และข่าวสารที่ท่านประกาศ. เพื่อจะเข้าใจเรื่องนั้น ขอพิจารณาภูมิหลังและงานมอบหมายของผู้พยากรณ์ที่เป็นแบบอย่างที่ดีคนนี้ ผู้ซึ่งพระเจ้าได้ตรัสกับท่านว่า “เราได้ใส่ถ้อยคำของเราไว้ในปากของเจ้า.”—ยิระ. 1:9
6, 7. ทำไมเราแน่ใจได้ว่าพระเจ้าทรงสนพระทัยยิระมะยาห์ และสถานการณ์เป็นเช่นไรตอนท่านเกิดมา?
6 สามีภรรยาซึ่งตั้งตาคอยการกำเนิดบุตรมักจะคิดถึงลูกที่กำลังจะเกิดมานั้น. ลูกจะเป็นอย่างไร เขาจะทำอะไรในชีวิต แล้วความสนใจ, อาชีพ, และความสำเร็จของเขาล่ะ? บิดามารดาของคุณคงได้คิดถึงเรื่องเหล่านี้. บิดามารดาของยิระมะยาห์คงต้องคิดเช่นเดียวกัน. อย่างไรก็ดี ยิระมะยาห์นับว่าเป็นกรณีพิเศษ. เพราะเหตุใด? พระผู้สร้างเอกภพทรงสนพระทัยเป็นพิเศษในชีวิตและกิจการงานของยิระมะยาห์.—อ่านยิระมะยา 1:5
7 ใช่แล้ว ก่อนยิระมะยาห์จะเกิด พระเจ้าทรงใช้ความสามารถในการรู้ล่วงหน้า. พระองค์ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษในตัวเด็กชายคนหนึ่งซึ่งจะเกิดมาในตระกูลปุโรหิตที่อยู่ทางเหนือของกรุงเยรูซาเลม. ตอนนั้นอยู่ในช่วงกลางศตวรรษที่เจ็ดก่อนสากลศักราช ซึ่งไม่ใช่เวลาที่น่ายินดีในอาณาจักรยูดาห์ เนื่องจากการปกครองที่เลวร้ายของกษัตริย์มานาเซห์. (ดูหน้า 19) ส่วนใหญ่ของช่วงการปกครอง 55 ปี มานาเซห์ได้ทำสิ่งเลวร้ายในสายพระเนตรของพระยะโฮวา. หลังจากนั้น อาโมน (เอโมน) ราชบุตรก็ได้ติดตามแนวทางคล้ายกัน. (2 กษัต. 21:1-9, 19-26) ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่กับกษัตริย์องค์ถัดไปของยูดาห์. โยซียาห์ได้แสวงหาพระยะโฮวา. พอถึงปีที่ 18 แห่งรัชกาลของท่าน โยซียาห์ได้ชำระแผ่นดินให้ปราศจากการไหว้รูปเคารพ. นั่นคงต้องทำให้บิดามารดาของยิระมะยาห์ดีใจ ระหว่างการปกครองของโยซียาห์นั่นเองที่พระเจ้าทรงมอบหมายงานให้บุตรชายของเขา.—2 โคร. 34:3-8
ทำไมจึงมีเหตุผลที่คุณควรสนใจหนังสือยิระมะยาและบทเพลงร้องทุกข์?
พระเจ้าทรงเลือกโฆษก
8. ยิระมะยาห์ได้รับมอบหมายงานอะไร และท่านมีปฏิกิริยาอย่างไร?
8 เราไม่ทราบว่ายิระมะยาห์อายุเท่าไรตอนที่พระเจ้าตรัสแก่ท่านว่า “เราได้ตั้งให้เจ้าเป็นผู้ทำนายแก่เมืองทั้งปวง.” ท่านอาจมีอายุเกือบ 25 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ปุโรหิตเริ่มต้นช่วงแรกของการรับใช้. (อาฤ. 8:24) ไม่ว่าอายุเท่าไรก็ตาม ยิระมะยาห์ได้ตอบว่า “โอ้ยะโฮวาพระเจ้า, ดูเถิด, ข้าพเจ้าพูดไม่ได้, เพราะข้าพเจ้าเป็นเด็กอยู่.” (ยิระ. 1:6) ท่านรู้สึกลังเล บางทีคิดว่าตัวเองอายุน้อยเกินไปหรือไม่มีคุณสมบัติสำหรับหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญและการพูดในที่ชุมชนซึ่งผู้พยากรณ์ต้องทำ.
9, 10. ยิระมะยาห์เริ่มงานมอบหมายภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นไร แต่เหตุใดงานนั้นจึงปรากฏว่าเป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นในที่สุด?
9 ยิระมะยาห์ได้รับงานมอบหมายระหว่างช่วงเวลาที่กษัตริย์โยซียาห์กำจัดการนมัสการเท็จที่น่ารังเกียจและส่งเสริมการนมัสการแท้. ไม่ว่ายิระมะยาห์กับโยซียาห์ติดต่อกันมากน้อยแค่ไหน แต่ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่เอื้ออำนวยสำหรับผู้พยากรณ์แท้. ซะฟันยากับนาฮูมได้รับใช้ในยูดาห์ช่วงต้น ๆ การปกครองของโยซียาห์ด้วย.a ฮินดา (ฮุลดา) ผู้พยากรณ์หญิงได้รับใช้ในช่วงนั้นด้วยเช่นกัน แต่นางได้พยากรณ์ถึงช่วงเวลายากลำบากที่อยู่ข้างหน้า. และยิระมะยาห์ก็ได้มีชีวิตอยู่จนถึงช่วงนั้น. (2 กษัต. 22:14) ที่จริง บางครั้ง เพื่อน ๆ เช่น เอเบ็ดเมเล็กและบารุคต้องช่วยยิระมะยาห์ให้รอดมิฉะนั้นท่านจะตายแน่ ๆ และได้ปกป้องท่านไว้จากศัตรูที่อาฆาตแค้น.
10 คุณจะรู้สึกอย่างไรหากพระเจ้าตรัสว่าคุณได้รับหน้าที่มอบหมายพิเศษเป็นผู้พยากรณ์ให้บอกข่าวสารที่รุนแรง? (อ่านยิระมะยา 1:10 ) ขอพิจารณาเพียงตัวอย่างเดียวเกี่ยวกับสิ่งที่ยิระมะยาห์ต้องประกาศ. ในปี 609 ก่อน ส.ศ. กองทัพบาบิโลนรุกคืบไปยังกรุงเยรูซาเลม. กษัตริย์ซิดคียาแสวงหาข่าวดีจากพระเจ้าโดยทางยิระมะยาห์. แต่ข่าวจากพระเจ้าสำหรับกษัตริย์ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี.—อ่านยิระมะยา 21:4-7, 10
มนุษย์เหมือนเรา
11. เหตุใดยิระมะยาห์อาจรู้สึกว่างานที่ได้รับมอบหมายทำได้ยาก แต่ก็ยังมีความมั่นใจที่จะทำงานนั้นให้สำเร็จ?
11 ขอให้นึกภาพว่าเราต้องประกาศคำติเตียนและคำพิพากษาที่รุนแรงต่อกษัตริย์ที่ชั่วร้าย, ปุโรหิตที่ทุจริต, และผู้พยากรณ์เท็จ. ยิระมะยาห์ต้องทำเช่นนั้น. แต่เราได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าเช่นเดียวกับยิระมะยาห์. (ยิระ. 1:7-9) พระเจ้าแสดงความมั่นใจในตัวหนุ่มยิระมะยาห์ ทรงทำให้ท่านกล้าหาญขึ้นด้วยคำตรัสที่ว่า “เราได้กระทำให้ตัวเจ้าเป็นเมืองมีค่ายพร้อม, แลให้เป็นเสาเหล็ก, แลให้เป็นกำแพงทองเหลือง, ที่จะต่อสู้ประเทศทั้งหมด, แลต่อสู้กษัตริย์แห่งตระกูลยะฮูดา, ต่อสู้เจ้านายเมืองเหล่านั้น, ต่อสู้พวกปุโรหิตเหล่านั้น, แลต่อสู้พลไพร่ของประเทศนั้น. แลเขาเหล่านั้นจะรบต่อสู้เจ้า, แต่เขาจะไม่ชนะแก่เจ้า, เพราะเราอยู่ด้วยเจ้าเพื่อจะให้เจ้ารอด, พระยะโฮวาได้ตรัส.”—ยิระ. 1:18, 19
12. มีเหตุผลอะไรบ้างที่เราจะร่วมความรู้สึกกับยิระมะยาห์ได้?
12 ไม่มีใครเลยควรรู้สึกว่ายิระมะยาห์เป็นคนวิเศษ. ท่านเป็นมนุษย์เหมือนเรา. นอกจากนั้น น่าสังเกตว่าแม้ยิระมะยาห์มีชีวิตอยู่ในอีกยุคหนึ่ง ท่านก็เผชิญสถานการณ์คล้ายกับพวกเรา. เราต้องติดต่อกับผู้คนประเภทต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันและเมื่อทำกิจกรรมของประชาคม เช่นเดียวกับยิระมะยาห์ต้องติดต่อกับผู้คนที่อยู่รอบข้าง. ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราอาจเรียนได้จากยิระมะยาห์ ซึ่งเป็น “มนุษย์เหมือนเรา” เช่นเดียวกับผู้พยากรณ์เอลียาห์. (ยโก. 5:17) ขอพิจารณาบางตัวอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะเรียนได้จากยิระมะยาห์.
13, 14. เหตุใดคริสเตียนบางคนอาจร่วมความรู้สึกกับยิระมะยาห์ในเหตุการณ์ที่ปัศฮูรทำร้ายท่าน ดังที่มีภาพในหน้า 10?
13 คุณคงได้ประสบทั้งทุกข์และสุขในช่วงชีวิตที่ผ่านมา. ยิระมะยาห์ก็เช่นเดียวกัน. ครั้งหนึ่ง ปัศฮูรปุโรหิตคนสำคัญได้ทำร้ายยิระมะยาห์และจับท่านใส่ขื่อ. เป็นเวลาหลายชั่วโมง ท่านติดอยู่ในโครงไม้ซึ่งอาจยึดเท้า, มือ, และคอของท่านไว้ ทำให้ท่านต้องอยู่ในท่าที่ผิดปกติ. นอกจากความเจ็บปวดแล้ว ท่านยังต้องทนกับการเยาะเย้ยเป็นอันมากจากผู้ต่อต้าน. คุณคิดว่าจะทนได้ไหมหากถูกเยาะเย้ยอย่างมุ่งร้าย ถึงกับถูกทำร้ายร่างกายด้วยซ้ำ?—ยิระ. 20:1-4
14 เมื่อคำนึงถึงสภาพการณ์ดังกล่าวที่ยิระมะยาห์ต้องประสบ จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่านได้รับการกระตุ้นให้พูดว่า “ให้วันที่ข้าพเจ้าเกิดนั้น, เป็นที่แช่ง . . . เหตุผลประการใดตัวข้าพเจ้าได้ออกมาจากครรภ์เห็นการลำบากแลความทุกข์, เมื่อวันคืนทั้งหลายของข้าพเจ้าจะศูนย์ไปด้วยความละอายเล่า.” (ยิระ. 20:14-18) เห็นได้ชัด ยิระมะยาห์เคยประสบความสิ้นหวังจริง ๆ. คุณเคยหมดกำลังใจจนถึงกับรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่แน่ใจในสิ่งที่คุณจะทำได้สำเร็จ หรือรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ที่จะรับใช้พระเจ้าต่อไปไหม? ทุกคนที่เคยมีความรู้สึกดังกล่าวจะได้รับประโยชน์เมื่อเข้าใจประสบการณ์ของยิระมะยาห์ดีขึ้น รวมทั้งทราบว่าเรื่องราวของท่านลงเอยอย่างไร.
คุณรู้สึกประทับใจอะไรที่พระยะโฮวาทรงมอบหมายงานให้ยิระมะยาห์? เหตุใดคุณอาจร่วมความรู้สึกกับยิระมะยาห์ได้?
15. เหตุใดเราจะได้รับประโยชน์จากการสังเกตการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ของยิระมะยาห์?
15 ทันทีหลังจากที่ยิระมะยาห์กล่าวถึงการร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา ท่านได้แสดงความสิ้นหวังดังที่เราอ่านในยิระมะยา 20:14-18. (อ่านยิระมะยา 20:12, 13 ) ในกรณีของคุณ บางครั้งคุณเคยสังเกตไหมว่าอารมณ์ความรู้สึกของคุณเปลี่ยนค่อนข้างเร็ว? คุณร่าเริง ครั้นแล้วอารมณ์คุณก็เปลี่ยนเป็นความรู้สึกท้อใจ. เราทุกคนคงจะได้รับประโยชน์จากการพิจารณาประสบการณ์ของยิระมะยาห์. เห็นได้ชัดว่าท่านมีความรู้สึกเช่นคนธรรมดาเหมือนกับเรา. ดังนั้น เราจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการพิจารณาการกระทำและปฏิกิริยาของชายผู้นี้ซึ่งพระผู้สร้างทรงใช้ให้มีบทบาทสำคัญในฐานะโฆษกของพระองค์.—2 โคร. 36:12, 21, 22; เอษรา 1:1
16. ใครที่ควรไตร่ตรองเรื่องสถานภาพของยิระมะยาห์?
16 อีกเหตุผลหนึ่งที่บางคนเข้าใจความรู้สึกของยิระมะยาห์นั้นเกี่ยวข้องกับสถานภาพของท่าน. สถานภาพแบบใดหรือ? พระเจ้ามีพระบัญชาที่ไม่ธรรมดาและอาจเป็นเรื่องยากสำหรับยิระมะยาห์ คือห้ามแต่งงาน. (อ่านยิระมะยา 16:2 ) ทำไมพระยะโฮวาทรงสั่งยิระมะยาห์ไม่ให้แต่งงาน และเรื่องนี้มีผลกระทบต่อท่านอย่างไร? พี่น้องชายหญิงบางคนซึ่งไม่มีคู่ครอง ไม่ว่าโดยสมัครใจหรือเนื่องจากสภาพแวดล้อม จะได้รับประโยชน์อะไรในเรื่องนี้? ที่จริง มีอะไรบางอย่างในพระบัญชาที่พระเจ้าตรัสแก่ยิระมะยาห์ซึ่งพยานฯที่ตอนนี้สมรสแล้วน่าจะไตร่ตรองไหม? และจะว่าอย่างไรกับคู่สมรสที่ไม่มี “ลูกชายลูกหญิง”? เรื่องราวของยิระมะยาห์จะช่วยคุณได้อย่างไร?
17. ถ้อยคำของผู้พยากรณ์ในยิระมะยา 38:20 อาจทำให้เราคิดถึงอะไร?
17 เป็นเรื่องน่าสนใจที่ครั้งหนึ่งยิระมะยาห์ได้กระตุ้นเตือนกษัตริย์ยูดาห์ที่ปกครองอยู่นั้นว่า “ข้าพเจ้าจะขอท่านได้ทรงสดับฟังสำเนียงตรัสแห่งพระยะโฮวา, ที่ข้าพเจ้าได้ทูลแก่ท่าน, จึงจะได้บังเกิดความสุขแก่ท่าน, แลชีวิตของท่านจะได้ดำรงอยู่ต่อไป.” (ยิระ. 38:20) เรื่องราวนี้ให้การชี้นำที่ดีเยี่ยมเกี่ยวกับวิธีที่เราติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่น. นั่นรวมถึงการติดต่อเกี่ยวข้องกับผู้คนที่ยังไม่ได้รับใช้พระยะโฮวา แต่อาจเป็นผู้ที่เราสามารถช่วยได้. นอกจากนั้น การปฏิบัติของยิระมะยาห์ต่อคนเหล่านั้นที่เชื่อฟังพระเจ้าเป็นการวางแบบอย่างที่ดีไว้สำหรับพวกเราในทุกวันนี้. ใช่แล้ว เราสามารถเรียนรู้มากมายจากยิระมะยาห์.
เราจะเรียนอะไรบ้าง?
18, 19. อาจพิจารณาหนังสือยิระมะยากับบทเพลงร้องทุกข์ได้โดยวิธีใดบ้าง?
18 คู่มือการศึกษาเล่มนี้จะช่วยคุณพิจารณาหนังสือยิระมะยากับบทเพลงร้องทุกข์ และเรียนจากหนังสือทั้งสอง. โดยวิธีใด? อัครสาวกเปาโลได้เขียนภายใต้การดลใจว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและมีประโยชน์เพื่อการสอน การว่ากล่าว การจัดการเรื่องราวให้ถูกต้อง การตีสอนด้วยความชอบธรรม.” (2 ติโม. 3:16) นั่นรวมถึงหนังสือสองเล่มที่เพิ่งกล่าวไปนี้ด้วย.
19 แน่นอน เราอาจได้รับประโยชน์จากการพิจารณาหนังสือยิระมะยากับบทเพลงร้องทุกข์ได้ในหลายวิธี. ตัวอย่างเช่น เราอาจศึกษาหนังสือสองเล่มนี้ข้อต่อข้อ พยายามที่จะเข้าใจเหตุการณ์เบื้องหลังหรือความหมายของแต่ละข้อ. หรืออาจเปรียบเทียบสิ่งที่คล้ายคลึงกันหรือแตกต่างกันทั้งของบุคคลและเหตุการณ์ที่พรรณนาไว้ในหนังสือยิระมะยาและบทเพลงร้องทุกข์กับสมัยปัจจุบัน. (เทียบกับยิระมะยา 24:6, 7; 1 โครินท์ 3:6) นอกจากนี้ เราอาจศึกษาหนังสือทั้งสองเพื่อรู้ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยยิระมะยาห์. (ยิระ. 39:1-9) ที่จริง ข้อมูลดังกล่าวจำเป็นในระดับหนึ่งเพื่อจะได้ประโยชน์จริง ๆ จากการพิจารณาหนังสือยิระมะยากับบทเพลงร้องทุกข์. ดังนั้น บท 2 ที่มีชื่อว่า “การรับใช้ใน ‘ช่วงปลายยุค’ ” จะช่วยเราให้เข้าใจคร่าว ๆ เกี่ยวกับสภาพการณ์ในช่วงเวลาที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งยิระมะยาห์มีชีวิตอยู่และวิธีที่พระเจ้าทรงชี้นำเรื่องต่าง ๆ.
20. ในคู่มือการศึกษาเล่มนี้เราจะมองหนังสือยิระมะยาและบทเพลงร้องทุกข์เช่นไร?
20 แต่เป้าหมายหลักของคู่มือการศึกษาเล่มนี้ต่างออกไปจากที่กล่าวมาแล้ว. เราจะมองว่าหนังสือยิระมะยาและบทเพลงร้องทุกข์เป็นของประทานจากพระเจ้าเพื่อช่วยเราดำเนินชีวิตฐานะคริสเตียนในทุกวันนี้. (ทิทุส 2:12) เราจะเข้าใจยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาว่าหนังสือทั้งสองเล่มนี้มีความรู้มากมายที่ “มีประโยชน์เพื่อการสอน.” หนังสือสองเล่มนี้มีคำแนะนำและตัวอย่างที่ใช้ได้จริงซึ่งสามารถทำให้เรามีประสิทธิภาพและถูกเตรียมไว้พร้อมขณะที่เราเผชิญข้อท้าทายต่าง ๆ ในชีวิต. เป็นเช่นนั้นไม่ว่าเราเป็นโสด, สมรสแล้ว, เป็นผู้ปกครอง, ไพโอเนียร์, ผู้หาเลี้ยงครอบครัว, แม่บ้าน, หรือนักเรียน. เราแต่ละคนจะพบว่าในหนังสือที่มีขึ้นโดยการดลใจสองเล่มนี้ เราจะได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อจะ“ถูกเตรียมไว้พร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง.”—2 ติโม. 3:17
21. เหตุใดคุณจึงคอยท่าที่จะศึกษาหนังสือเล่มนี้?
21 ขณะที่พิจารณาแต่ละบทในคู่มือการศึกษานี้ จงมองหาจุดต่าง ๆ ที่คุณจะใช้ได้. เรามั่นใจได้ว่าหนังสือยิระมะยาและบทเพลงร้องทุกข์จะเน้นความจริงที่เปาโลเขียนไว้ว่า “ทุกสิ่งที่เขียนไว้ก่อนแล้วก็เขียนไว้เพื่อสั่งสอนเรา เพื่อเราจะมีความหวังโดยความเพียรอดทนของเราและโดยการชูใจจากพระคัมภีร์.”—โรม 15:4
ในเรื่องชีวิตประจำวัน คุณจะเรียนอะไรบ้างจากการศึกษาหนังสือยิระมะยาและบทเพลงร้องทุกข์?
a ต่อมาในช่วงที่ยิระมะยาห์เป็นผู้พยากรณ์ มีผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ ที่อยู่ในสมัยเดียวกับท่านคือ ฮะบาฆูค, โอบัดยา, ดานิเอล, และยะเอศเคล. ยิระมะยาห์ได้รับใช้มาประมาณ 40 ปีแล้วตอนที่เกิดความหายนะกับกรุงเยรูซาเลมในปี 607 ก่อน ส.ศ. และท่านมีชีวิตอยู่หลังจากนั้นอีกกว่า 20 ปี.