บทสาม
ถูกทดสอบ—แต่ยังคงซื่อสัตย์ภักดีต่อพระยะโฮวา!
1, 2. เหตุการณ์สำคัญอะไรเป็นการเบิกโรงสำหรับบันทึกของดานิเอล?
ดานิเอลพระธรรมแห่งคำพยากรณ์เปิดฉากด้วยสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในฉากเหตุการณ์ของนานาชาติ. อัสซีเรียพึ่งสูญเสียนีนะเวเมืองหลวงของตนไป. อียิปต์ถูกจำกัดให้อยู่ในฐานะที่ไม่สำคัญทางใต้ของแผ่นดินยูดา. และบาบูโลนก็พุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วเป็นมหาอำนาจที่พยายามจะครองโลก.
2 ในปี 625 ก.ส.ศ. ฟาโรนะโคแห่งอียิปต์ได้พยายามเป็นครั้งสุดท้ายที่จะสกัดกั้นบาบูโลนไม่ให้ขยายลงมาทางใต้. เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นั้น ท่านยกกองทัพไปที่คาร์เคมิช ซึ่งตั้งอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำยูเฟรทิสตอนบน. เหตุการณ์ตามที่เรียกกันว่า ยุทธการแห่งคาร์เคมิช เป็นเหตุการณ์ที่เด็ดขาดครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์. กองทัพบาบูโลนนำโดยมกุฎราชกุมารนะบูคัดเนซัร ทำความเสียหายอย่างหนักแก่กองกำลังของฟาโรนะโค. (ยิระมะยา 46:2) นะบูคัดเนซัรได้รับพลังกระตุ้นจากชัยชนะจึงทำการกวาดล้างซีเรียและปาเลสไตน์ และแท้ที่จริงเป็นการกำจัดอิทธิพลของอียิปต์ที่มีเหนือภูมิภาคแถบนี้ให้สิ้นซาก. เป็นเพราะการเสียชีวิตของนะโบโพลัสซาร์บิดาของท่านเท่านั้นที่ทำให้ต้องพักรบชั่วคราว.
3. การยกทัพมาครั้งแรกของนะบูคัดเนซัรต่อกรุงยะรูซาเลมมีผลอย่างไร?
3 ในปีต่อมา นะบูคัดเนซัร ซึ่งตอนนี้ได้ครองบัลลังก์เป็นกษัตริย์แห่งบาบูโลน ได้หันมาใส่ใจต่อการทำสงครามในซีเรียและปาเลสไตน์อีกครั้งหนึ่ง. ช่วงนี้เองท่านมาที่กรุงยะรูซาเลมเป็นครั้งแรก. คัมภีร์ไบเบิลรายงานว่า “ในรัชกาลของกษัตริย์ยะโฮยาคิม, นะบูคัดเนซัรกษัตริย์บาบูโลนได้ยกทัพมา, ยะโฮยาคิมยอมอ่อนน้อมอยู่ใต้บังคับท่านสามปี: แล้วก็กลับคิดกบฏ.”—2 กษัตริย์ 24:1.
นะบูคัดเนซัรในกรุงยะรูซาเลม
4. จะเข้าใจคำกล่าวที่ว่า “ปีที่สามในรัชกาลของราชายะโฮยาคิม” ที่ดานิเอล 1:1 อย่างไร?
4 เราสนใจคำว่า “สามปี” เป็นพิเศษ เพราะคำขึ้นต้นของพระธรรมดานิเอลบอกว่า “ครั้นปีที่สามในรัชกาลของราชายะโฮยาคิมกษัตริย์ของยะฮูดา, ราชานะบูคัศเนซัรกษัตริย์ของประเทศบาบูโลนได้ยกกองทัพมายังกรุงยะรูซาเลมและตั้งค่ายล้อมเมืองไว้.” (ดานิเอล 1:1) ในปีที่สามแห่งการเป็นกษัตริย์อย่างสมบูรณ์ของยะโฮยาคิม ซึ่งครองราชย์ตั้งแต่ปี 628 ถึงปี 618 ก.ส.ศ. นั้น นะบูคัดเนซัรยังไม่ได้เป็น “กษัตริย์ของประเทศบาบูโลน” แต่ยังเป็นมกุฎราชกุมาร. ในปี 620 ก.ส.ศ. นะบูคัดเนซัรบังคับให้ยะโฮยาคิมส่งเครื่องบรรณาการ. แต่ราว ๆ สามปีผ่านไป ยะโฮยาคิมก็กบฏ. ดังนั้น ในปี 618 ก.ส.ศ. หรือในปีที่สามแห่งการเป็นกษัตริย์ของยะโฮยาคิมภายใต้บาบูโลน กษัตริย์นะบูคัดเนซัรจึงมายังกรุงยะรูซาเลมเป็นครั้งที่สอง เพื่อจะลงโทษยะโฮยาคิมผู้เป็นกบฏ.
5. การยกทัพมาครั้งที่สองของนะบูคัดเนซัรต่อกรุงยะรูซาเลมมีผลอย่างไร?
5 ผลของการล้อมกรุงยะรูซาเลมเป็นดังนี้: “ฝ่ายพระเจ้าได้ทรงมอบราชายะโฮยาคิมกษัตริย์ของประเทศยะฮูดาไว้ในเงื้อมมือของราชานะบูคัศเนซัรพร้อมกับภาชนะบางชิ้นที่ใช้สอยในวิหารของพระเจ้า.” (ดานิเอล 1:2) ยะโฮยาคิมอาจเสียชีวิตในตอนต้น ๆ ของการล้อมกรุงนั้นเพราะถูกลอบสังหารหรือไม่ก็เพราะถูกหักหลัง. (ยิระมะยา 22:18, 19) ในปี 618 ก.ส.ศ. ยะโฮยาคิน โอรสวัย 18 ปีของท่าน ขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อจากท่าน. แต่การครองราชย์ของยะโฮยาคินนานเพียงสามเดือนสิบวัน ท่านยอมแพ้ในปี 617 ก.ส.ศ.—เทียบกับ 2 กษัตริย์ 24:10-15.
6. นะบูคัดเนซัรทำอะไรกับภาชนะศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารในกรุงยะรูซาเลม?
6 นะบูคัดเนซัรยึดภาชนะศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารในกรุงยะรูซาเลมและ “ได้เอาไปยังแผ่นดินซีนารเก็บไว้ในวิหารพระของท่าน, ใส่ไว้ในคลังพระของท่าน” ซึ่งก็คือ มาร์ดุกหรือมะโรดัดในภาษาฮีบรู. (ดานิเอล 1:2; ยิระมะยา 50:2) ได้มีการพบคำจารึกของบาบูโลนซึ่งบรรยายว่านะบูคัดเนซัรกล่าวเกี่ยวกับวิหารของมาร์ดุกว่า “เราได้ใส่เงินและทองและเพชรนิลจินดาไว้ . . . และใส่ไว้ที่นั่นที่คลัง แห่งอาณาจักรของเรา.” พวกเราจะได้อ่านเกี่ยวกับภาชนะศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้อีกในสมัยของเบละซาซัร.—ดานิเอล 5:1-4.
เยาวชนชั้นยอดแห่งกรุงยะรูซาเลม
7, 8. จากดานิเอล 1:3, 4, และ 6 เราสามารถสรุปอะไรได้เกี่ยวกับภูมิหลังของดานิเอลและเพื่อนสามคนของท่าน?
7 ไม่เพียงทรัพย์สมบัติในพระวิหารของพระยะโฮวาเท่านั้นที่ถูกนำไปบาบูโลน. บันทึกกล่าวว่า “กษัตริย์นั้นได้รับสั่งให้อัศฟะนาศเจ้ากรมวังนำเอาเด็กชายชาติยิศราเอลมาบ้าง, ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์และวงศ์วานของขุนนาง. ให้เลือกเอาคนหนุ่ม [“เด็ก,” ล.ม.] ที่ไม่พิการเลยแต่มีรูปงามและมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด, สมจะเรียนรู้และเข้าใจในวิชาต่าง ๆ ได้, เช่นอย่างคนที่สามารถรับราชการในวังหลวงได้.”—ดานิเอล 1:3, 4.
8 ใครถูกเลือก? บันทึกบอกว่า “ในพวกลูกชนชาติยะฮูดา [“เหล่าบุตรของยูดา,” ล.ม.] ที่เลือกได้นั้น, มีดานิเอล, ฮะนันยา, มิซาเอล, และอะซาระยา.” (ดานิเอล 1:6) นี่เปิดเผยบางสิ่งเกี่ยวกับภูมิหลังของดานิเอลและเพื่อน ๆ ของท่าน มิฉะนั้นแล้วเรื่องนี้ก็จะคลุมเครือ. ตัวอย่างเช่น เราสังเกตว่าพวกเขาเป็น “เหล่าบุตรของยูดา” ตระกูลของกษัตริย์. ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากเชื้อสายกษัตริย์หรือไม่ นับว่ามีเหตุผลที่จะคิดว่าอย่างน้อยพวกเขามาจากครอบครัวที่สำคัญและมีอิทธิพลอยู่บ้าง. นอกจากมีจิตใจและร่างกายที่ดีแล้ว พวกเขามีความหยั่งเห็นเข้าใจ, สติปัญญา, ความรู้, และการสังเกตเข้าใจ—มีทุกอย่างอยู่แล้วในตอนที่พวกเขามีอายุน้อยถึงขนาดถูกเรียกได้ว่า “เด็ก” บางทีอาจอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้น. ดานิเอลและเพื่อน ๆ ของท่านต้องเป็นคนเด่น—ชั้นยอด—ในหมู่เยาวชนของยะรูซาเลม.
9. ทำไมดูเหมือนค่อนข้างแน่ว่าดานิเอลและเพื่อนสามคนของท่านมีบิดามารดาซึ่งเกรงกลัวพระเจ้า?
9 บันทึกไม่ได้บอกว่าบิดามารดาของเด็กหนุ่มเหล่านี้เป็นใคร. กระนั้นก็ตาม ค่อนข้างแน่นอนว่าพวกเขาเป็นบุคคลผู้เลื่อมใสพระเจ้าซึ่งได้ทำหน้าที่บิดามารดาของตนอย่างจริงจัง. เมื่อนึกถึงความเสื่อมทางศีลธรรมและฝ่ายวิญญาณที่แพร่หลายในกรุงยะรูซาเลมในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลาง “เชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์และวงศ์วานของขุนนาง” ก็เห็นได้ชัดว่าคุณลักษณะอันยอดเยี่ยมที่พบในดานิเอลและเพื่อนสามคนของท่านไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ. แน่นอนว่า บิดามารดาคงต้องหัวใจสลายที่เห็นบุตรของตนถูกพาไปยังดินแดนอันห่างไกล. แต่ถ้าพวกเขาได้รู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา พวกเขาคงจะภูมิใจสักเพียงไร! เป็นสิ่งสำคัญสักเพียงไรที่บิดามารดาจะเลี้ยงดูบุตรของตน “ด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา”!—เอเฟโซ 6:4, ล.ม.
การต่อสู้เพื่อชนะใจ
10. เด็กหนุ่มชาวฮีบรูเหล่านี้ได้รับการสอนอะไร และเพื่อจุดประสงค์อะไร?
10 ทันทีทันใด การต่อสู้เพื่อชนะใจที่ยังอ่อนเยาว์ของผู้ถูกเนรเทศเหล่านี้ก็เริ่มขึ้น. เพื่อทำให้แน่ใจว่าวัยรุ่นชาวฮีบรูเหล่านี้จะถูกนวดปั้นให้เหมาะสมกับระบบของบาบูโลน นะบูคัดเนซัรมีราชโองการให้เจ้าหน้าที่ของท่าน “สอนเขาให้มีความรู้และให้พูดภาษาชาวเคเซ็ดเป็น.” (ดานิเอล 1:4) นี่ไม่ใช่การศึกษาแบบธรรมดา. สารานุกรมดิ อินเตอร์แนชันแนล สแตนดาร์ด ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) อธิบายว่า การศึกษานี้ “ประกอบด้วยการศึกษาภาษาซูเมอร์, ภาษาอัคคาด, ภาษาอาระเมอิก . . . และภาษาอื่น ๆ รวมทั้งสรรพหนังสือที่เขียนในภาษาเหล่านี้.” “สรรพหนังสือ” นั้นประกอบด้วยเรื่องประวัติศาสตร์, คณิตศาสตร์, ดาราศาสตร์, และอื่น ๆ. อย่างไรก็ดี “ตำราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา ทั้งการดูฤกษ์ยามและโหราศาสตร์ . . . มีบทบาทสำคัญ.”
11. มีการใช้ขั้นตอนอะไรบ้างเพื่อให้เด็กหนุ่มชาวฮีบรูเหล่านี้ถูกดูดกลืนสู่ชีวิตในราชสำนักของบาบูโลน?
11 เพื่อเด็กหนุ่มชาวฮีบรูเหล่านี้จะรับเอาประเพณีและวัฒนธรรมของชีวิตในราชสำนักบาบูโลนอย่างเต็มที่ “กษัตริย์ได้รับสั่งไว้ให้เขาเหล่านั้นได้รับประทานอาหารแบ่งมาจากเครื่องเสวยและดื่มเหล้าองุ่นซึ่งพระองค์ได้เสวย, ให้เอาเขาไปอบรมเลี้ยงดูสักสามปี, พอครบกำหนดสามปีแล้ว, เขาจะได้เฝ้าแหนหน้าพระที่นั่ง.” (ดานิเอล 1:5) ยิ่งกว่านั้น “เจ้ากรมวังได้ขนานนามใหม่ให้คนเหล่านั้น ดานิเอลว่า เบละตะซาซัร, ฮะนันยาว่า ซัดรัค, มิซาเอลว่าเมเซ็ค, และอะซาระยาว่าอะเบ็ดนะโค.” (ดานิเอล 1:7) ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ จะได้รับชื่อใหม่เพื่อเป็นเครื่องบ่งชี้เหตุการณ์สำคัญในชีวิตของเขา. ยกตัวอย่าง พระยะโฮวาทรงเปลี่ยนชื่อของอับรามและซารายเป็นอับราฮามและซารา. (เยเนซิศ 17:5, 15, 16) สำหรับมนุษย์ ที่จะเปลี่ยนชื่อของคนอื่นก็เป็นหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจและการครอบงำ. เมื่อโยเซฟได้เป็นผู้อำนวยการด้านอาหารของอียิปต์ ฟาโรห์ได้ตั้งชื่อท่านว่า ซาฟนัธปาเนอา.—เยเนซิศ 41:44, 45; เทียบกับ 2 กษัตริย์ 23:34; 24:17.
12, 13. ทำไมจึงกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนชื่อของเด็กหนุ่มชาวฮีบรูเหล่านี้เป็นความพยายามที่จะบ่อนทำลายความเชื่อของพวกเขา?
12 ในกรณีของดานิเอลและเพื่อนชาวฮีบรูสามคนของท่าน การเปลี่ยนชื่อเป็นเรื่องสำคัญ. ชื่อที่บิดามารดาของพวกเขาตั้งให้เป็นชื่อที่สอดคล้องกับการนมัสการพระยะโฮวา. “ดานิเอล” หมายถึง “ผู้พิพากษาของข้าพเจ้าเป็นพระเจ้า.” ความหมายของ “ฮะนันยา” คือ “พระยะโฮวาทรงสำแดงความโปรดปราน.” “มิซาเอล” อาจหมายถึง “ใครจะเหมือนพระเจ้า?” “อะซาระยา” หมายถึง “พระยะโฮวาทรงช่วย.” ไม่ต้องสงสัย เป็นความหวังอันแรงกล้าของบิดามารดาที่อยากให้บุตรชายของตนเติบโตขึ้นภายใต้การทรงนำของพระยะโฮวาพระเจ้าเพื่อเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์และภักดีของพระองค์.
13 อย่างไรก็ดี ชื่อใหม่ซึ่งชาวฮีบรูทั้งสี่คนได้รับนั้น เกี่ยวข้องอย่างมากกับพระเท็จ เหมือนกับว่าพระเจ้าเที่ยงแท้ตกอยู่ใต้อำนาจพระเช่นนั้น. เป็นความพยายามอันร้ายกาจอะไรเช่นนี้ที่จะบ่อนทำลายความเชื่อของคนหนุ่มเหล่านี้!
14. ชื่อใหม่ของดานิเอลและเพื่อนสามคนของท่านมีความหมายอะไร?
14 ชื่อของดานิเอลถูกเปลี่ยนเป็นเบละตะซาซัร หมายถึง “พิทักษ์ชีวิตของกษัตริย์.” ดูเหมือนว่านี่เป็นคำย่อของคำวิงวอนถึงเบล หรือมาร์ดุก เทพเจ้าองค์เอกแห่งบาบูโลน. ไม่ว่านะบูคัดเนซัรมีส่วนในการเลือกชื่อนี้ให้ดานิเอลหรือไม่ ท่านก็ภูมิใจที่รู้ว่าชื่อนี้เป็น ‘ตามนามพระของท่าน.’ (ดานิเอล 4:8) ฮะนันยาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นซัดรัค ซึ่งแหล่งอ้างอิงบางแห่งเชื่อว่าชื่อนี้เป็นคำสมาสหมายถึง “บัญชาของอะกู.” น่าสนใจ อะกูเป็นชื่อพระของชาวซูเมอร์. มิซาเอลถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเมเซ็ค (อาจเป็น มิ-ชาอะกู) เห็นได้ชัดว่าเป็นการเปลี่ยนความหมายอย่างฉลาดจาก “ใครจะเหมือนพระเจ้า?” เป็น “ใครจะเป็นอย่างอะกู?” ชื่อบาบูโลนของอะซาระยาคืออะเบ็ดนะโค อาจหมายถึง “ผู้รับใช้ของนะโค.” และ “นะโค” เป็นรูปหนึ่งของ “เนโบ” ชื่อของพระองค์หนึ่งซึ่งชื่อของผู้ปกครองชาวบาบูโลนจำนวนหนึ่งตั้งตามชื่อนี้ด้วย.
ตั้งใจแน่วแน่จะรักษาตัวซื่อสัตย์ภักดีต่อพระยะโฮวา
15, 16. ตอนนี้ดานิเอลและเพื่อน ๆ ของท่านเผชิญอันตรายอะไรและพวกเขามีปฏิกิริยาอย่างไร?
15 ชื่อแบบบาบูโลน, หลักสูตรการศึกษาใหม่, และอาหารพิเศษ—สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเป็นความพยายามไม่เพียงเพื่อจะดูดกลืนดานิเอลและเพื่อนชาวฮีบรูสามคนเข้ากับวิถีชีวิตแบบบาบูโลนเท่านั้น แต่ยังเพื่อดึงพวกเขาให้ห่างเหินจากพระยะโฮวาพระเจ้าของเขา และห่างจากการฝึกอบรมและภูมิหลังทางศาสนาของเขาอีกด้วย. เมื่อคนหนุ่มเหล่านี้เผชิญกับความกดดันและการล่อใจทั้งหมดนี้ พวกเขาจะทำอย่างไร?
16 บันทึกจากการดลใจกล่าวว่า “ดานิเอลได้กำหนดแน่ในหัวใจท่านว่าท่านจะไม่ทำตัวเองให้เป็นมลทินด้วยอาหารอันโอชะของกษัตริย์และด้วยเหล้าองุ่นที่พระองค์ดื่ม.” (ดานิเอล 1:8ก, ล.ม.) ถึงแม้มีการกล่าวถึงดานิเอลเพียงคนเดียว แต่ก็เป็นที่ชัดแจ้งจากข้อถัดจากนั้นว่าเพื่อนสามคนของท่านสนับสนุนการตัดสินใจของท่าน. วลี “กำหนดแน่ในหัวใจท่าน” แสดงว่าการสั่งสอนจากบิดามารดาของดานิเอลและคนอื่น ๆ ที่บ้านได้เข้าไปในหัวใจของท่าน. ไม่ต้องสงสัย การฝึกอบรมแบบเดียวกันก็ชี้นำชาวฮีบรูอีกสามคนในการตัดสินใจของพวกเขา. นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงคุณค่าของการสอนลูกของเรา แม้ว่าพวกเขาดูเหมือนว่าเด็กเกินไปที่จะเข้าใจได้.—สุภาษิต 22:6; 2 ติโมเธียว 3:14, 15.
17. ทำไมดานิเอลและเพื่อน ๆ ของท่านจึงปฏิเสธแค่อาหารที่กษัตริย์จัดให้ในแต่ละวันเท่านั้นแต่ไม่ได้ปฏิเสธการจัดเตรียมอย่างอื่น?
17 ทำไมเด็กหนุ่มชาวฮีบรูเหล่านี้ปฏิเสธแค่อาหารและเหล้าองุ่นเท่านั้นแต่ไม่ปฏิเสธการจัดเตรียมอื่น ๆ? การหาเหตุผลของดานิเอลบ่งชัดถึงเหตุผลที่ว่า “ท่านจะไม่ทำตัวเองให้เป็นมลทิน.” การที่ต้องเรียน ‘ความรู้และภาษาชาวเคเซ็ด’ และการได้รับชื่อแบบบาบูโลน แม้ว่าอาจไม่เป็นที่ต้องการ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้คนเราเป็นมลทิน. โปรดพิจารณาตัวอย่างของโมเซ เกือบ 1,000 ปีก่อนหน้านั้น. แม้ว่าท่าน “ได้เรียนรู้ชำนาญในวิชาการทุกอย่างของชาวอายฆุปโต” ท่านยังคงซื่อสัตย์ภักดีต่อพระยะโฮวา. การถูกเลี้ยงดูโดยบิดามารดาของท่านเองทำให้ท่านมีรากฐานที่มั่นคง. ผลคือ “โดยความเชื่อ ครั้นโมเซวัฒนาโตขึ้นแล้ว ไม่ยอมให้เรียกว่าเป็นบุตรของธิดากษัตริย์ฟาโร คือเห็นว่าที่จะทนการเคี่ยวเข็ญด้วยกันกับพลไพร่ของพระเจ้าดีกว่ามีใจยินดีในการชั่วสักเวลาหนึ่ง.”—กิจการ 7:22; เฮ็บราย 11:24, 25.
18. อาหารที่กษัตริย์ประทานให้จะทำให้คนหนุ่มชาวฮีบรูเหล่านี้เป็นมลทินได้อย่างไร?
18 ของที่กษัตริย์บาบูโลนจัดไว้จะทำให้ชายหนุ่มเหล่านี้เป็นมลทินในทางใด? ประการแรก อาหารอันโอชะนั้นอาจมีอาหารต้องห้ามตามพระบัญญัติของโมเซรวมอยู่ด้วย. ตัวอย่างเช่น ชาวบาบูโลนรับประทานสัตว์ที่ไม่สะอาด ซึ่งเป็นอาหารต้องห้ามสำหรับชาวยิศราเอลที่อยู่ใต้พระบัญญัติ. (เลวีติโก 11:1-31; 20:24-26; พระบัญญัติ 14:3-20) ประการที่สอง ชาวบาบูโลนไม่เอาเลือดสัตว์ออกก่อนที่จะรับประทานเนื้อนั้น. การรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้เอาเลือดออกเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายของพระยะโฮวาโดยตรงในเรื่องเลือด. (เยเนซิศ 9:1, 3, 4; เลวีติโก 17:10-12; พระบัญญัติ 12:23-25) ประการที่สาม เป็นธรรมเนียมที่ผู้นมัสการพระเท็จจะถวายอาหารของตนแก่รูปเคารพก่อนรับประทานอาหารนั้นในการรับประทานอาหารร่วมกัน. ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะไม่เข้าร่วมในกิจปฏิบัติแบบนี้แน่! (เทียบกับ 1 โกรินโธ 10:20-22.) ประการสุดท้าย การมัวเมากับอาหารที่มีไขมันสูงและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุก ๆ วันคงไม่ดีต่อสุขภาพของคนทุกวัย อย่าว่าแต่เยาวชนเลย.
19. คนหนุ่มชาวฮีบรูเหล่านี้อาจหาเหตุผลผิด ๆ อย่างไร แต่อะไรช่วยพวกเขาให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้อง?
19 การรู้ว่าควรทำอะไรเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่จะกล้าทำสิ่งเหล่านั้นภายใต้ความกดดันและการล่อใจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง. ดานิเอลและเพื่อนสามคนของท่านอาจหาเหตุผลว่า เนื่องจากพวกเขาอยู่ไกลจากบิดามารดาและเพื่อน ๆ มาก คนเหล่านั้นคงไม่รู้ว่าพวกเขาทำอะไร. พวกเขาอาจหาข้อแก้ตัวอย่างผิด ๆ อีกด้วยว่าเป็นบัญชาของกษัตริย์และดูเหมือนไม่มีทางเลือก. นอกจากนั้น ไม่ต้องสงสัย เยาวชนคนอื่น ๆ พร้อมจะรับเอาการจัดเตรียมนี้และถือเป็นสิทธิพิเศษแทนที่จะถือว่าเป็นความยากลำบากที่จะเข้าส่วนร่วม. แต่การคิดแบบผิด ๆ นี้อาจนำไปสู่หลุมพรางของการทำผิดอย่างลับ ๆ ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเป็นบ่วงแร้วดักหนุ่มสาวหลายคน. เด็กหนุ่มชาวฮีบรูรู้ว่า “พระเนตรของพระยะโฮวาอยู่ทั่วทุกแห่ง” และ “พระเจ้าจะเอาการงานทุกประการ, อันเกี่ยวด้วยสิ่งเร้นลับทุกอย่าง, ไม่ว่าเป็นการดีหรือเป็นการชั่วมาพิพากษา.” (สุภาษิต 15:3; ท่านผู้ประกาศ 12:14) ขอให้เราเรียนจากแนวทางของเด็กหนุ่มชาวฮีบรูที่ซื่อสัตย์เหล่านี้.
ความกล้าและการยืนหยัดได้รับบำเหน็จ
20, 21. ดานิเอลทำอะไร และผลเป็นอย่างไร?
20 หลังจากได้กำหนดแน่ในหัวใจท่านแล้วว่าจะต้านทานอิทธิพลที่เสื่อมเสีย ดานิเอลปฏิบัติการประสานกับการตัดสินใจของท่าน. “ท่านขอร้องสมุหพระราชวังครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อว่าท่านจะไม่ทำตัวเองให้เป็นมลทิน.” (ดานิเอล 1:8ข, ล.ม.) “ขอร้อง . . . ครั้งแล้วครั้งเล่า”—นี่เป็นคำที่น่าสนใจ. บ่อยมากที่จำเป็นต้องมีความพยายามอย่างต่อเนื่องหากเราหวังจะประสบความสำเร็จในการต้านทานการล่อใจหรือเอาชนะความอ่อนแอบางอย่าง.—ฆะลาเตีย 6:9.
21 ในกรณีของดานิเอล ความพากเพียรได้รับผลตอบแทน. “พระเจ้าได้ทรงโปรดให้ดานิเอลเป็นที่ชอบพอรักใคร่ของเจ้ากรมวังนั้น.” (ดานิเอล 1:9) หาใช่เพราะดานิเอลและเพื่อน ๆ ของท่านมีรูปงามและเฉลียวฉลาดไม่ที่ทำให้ทุกอย่างลงเอยได้อย่างราบรื่นสำหรับพวกเขา. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เป็นเพราะพระพรจากพระยะโฮวาต่างหาก. ดานิเอลคงจำสุภาษิตฮีบรูได้แน่ที่ว่า “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า, อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง: จงรับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า, และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง.” (สุภาษิต 3:5, 6) การติดตามคำแนะนำนี้มีบำเหน็จอย่างแท้จริง.
22. สมุหพระราชวังยกข้อขัดข้องอย่างถูกต้องสมควรว่าอย่างไร?
22 ในตอนแรก สมุหพระราชวังปฏิเสธว่า “เรากลัวเจ้านายของเราผู้เป็นกษัตริย์, พระองค์ได้ทรงบัญชาสั่งเรื่องอาหารและของเครื่องดื่มสำหรับเจ้าไว้แล้ว; ก็ทำไมจะไปให้พระราชาทรงเห็นหน้าเจ้าซูบกว่าเด็กอื่น ๆ ในวัยเดียวกันกับเจ้าเล่า? ข้ากลัวว่าพระราชาจะตัดหัวข้าขาด.” (ดานิเอล 1:10) นี่เป็นข้อขัดข้องและความกลัวอย่างที่ถูกต้องสมควร. กษัตริย์นะบูคัดเนซัรไม่ใช่ผู้ที่ใครจะขัดขืนได้ และสมุหพระราชวังตระหนักว่า “หัว” ของตนจะอยู่ในอันตรายหากเขาขัดขืนบัญชาของกษัตริย์. ดานิเอลจะทำอย่างไร?
23. จากแนวทางที่ท่านปฏิบัติ ดานิเอลแสดงความหยั่งเห็นเข้าใจและสติปัญญาอย่างไร?
23 นี่เป็นตอนที่ความหยั่งเห็นเข้าใจและสติปัญญาเข้ามามีบทบาท. หนุ่มดานิเอลอาจจำสุภาษิตบทหนึ่งได้ที่ว่า “คำตอบอ่อนหวานกระทำให้ความโกรธผ่านพ้นไป; แต่คำขมเผ็ดร้อนกระทำให้โทโสพลุ่งขึ้น.” (สุภาษิต 15:1) แทนที่จะยืนกรานอย่างดื้อรั้นเพื่อได้รับตามคำขอของท่านและอาจยั่วโทสะคนอื่นให้ทำให้ท่านกลายเป็นผู้สละชีพเพื่อความเชื่อ ดานิเอลพักเรื่องไว้. ในเวลาที่เหมาะสมท่านเข้าหา “ผู้ดูแล” ซึ่งบางทีอาจยอมผ่อนปรนได้มากกว่า เพราะเขาไม่ต้องให้การต่อกษัตริย์โดยตรง.—ดานิเอล 1:11, ล.ม.
เสนอการทดสอบสิบวัน
24. ดานิเอลเสนอการทดสอบอะไร?
24 ดานิเอลเสนอผู้ดูแลให้มีการทดสอบ โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอท่านได้ทดลองดูทาสของท่านสักสิบวันก่อน, ขอให้เขาเอาแต่ผักและน้ำมาให้พวกข้าพเจ้ากิน. แล้วจงเอาหน้าพวกข้าพเจ้าไปเปรียบกับหน้าคนหนุ่มอื่น ๆ ซึ่งกินอาหารเครื่องเสวย; ต่อแต่นั้นก็ขอท่านได้กระทำผู้ทาสของท่านตามที่ตาของท่านเห็นเถอะ.”—ดานิเอล 1:12, 13.
25. “ผัก” ที่ให้ดานิเอลและเพื่อนสามคนของท่านรับประทานอาจประกอบด้วยอะไรบ้าง?
25 “ผักและน้ำ” เป็นเวลาสิบวัน—หน้าของพวกเขาจะไม่ “ซูบ” กว่าเด็กอื่น ๆ หรือ? “ผัก” ได้รับการแปลจากคำภาษาฮีบรูซึ่งโดยพื้นฐานหมายถึง “เมล็ดพืช.” ฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลบางฉบับแปลคำนี้ว่า “ถั่ว” ซึ่งมีคำจำกัดความว่าเป็น “เมล็ดของพืชจำพวกถั่วซึ่งรับประทานได้ (เช่น ถั่วลันเตา, ถั่วเหลือง, เลนทิล).” ผู้คงแก่เรียนบางคนรู้สึกว่าบริบทบ่งชี้ว่าอาหารไม่ได้มีแค่เมล็ดพืชที่รับประทานได้เท่านั้น. งานอ้างอิงชิ้นหนึ่งกล่าวว่า “สิ่งที่ดานิเอลและเพื่อน ๆ ของท่านขอคืออาหารธรรมดาที่มีผักซึ่งประชาชนทั่วไปกินกัน แทนที่จะเป็นอาหารที่มีเนื้อสัตว์และไขมันมากจากโต๊ะของกษัตริย์.” ดังนั้น ผักอาจหมายรวมถึงอาหารที่มีประโยชน์ที่ประกอบด้วยถั่ว, แตงกวา, กระเทียม, ลีก, เลนทิล, แตง, และหัวหอมตลอดจนขนมปังที่ทำจากเมล็ดพืชชนิดต่าง ๆ. แน่ล่ะ คงไม่มีใครหรอกที่คิดว่าการกินอาหารแบบนั้นเป็นการกินอย่างอด ๆ อยาก ๆ. ดูเหมือนว่าผู้ดูแลเข้าใจ. “คนนั้นได้ยอมทำตามที่ขอ, และได้ทดลองดูเขาครบสิบวัน.” (ดานิเอล 1:14) ผลเป็นอย่างไร?
26. การทดสอบสิบวันมีผลอะไร และทำไมผลจึงออกมาอย่างนั้น?
26 “พอครบสิบวันแล้ว, ใบหน้าของเขาเหล่านั้นดูงามขึ้นและอ้วนกว่าคนหนุ่มอื่น ๆ ที่กินอาหารเครื่องเสวย.” (ดานิเอล 1:15) นี่ไม่ใช่จะเอามาเป็นข้อพิสูจน์ว่าอาหารมังสวิรัติดีกว่าอาหารที่มีเนื้อสัตว์และมีไขมันมากกว่า. ช่วงเวลาสิบวันนั้นสั้นเกินกว่าที่อาหารไม่ว่าประเภทไหนจะให้ผลที่เห็นชัดได้ แต่ไม่สั้นเกินไปสำหรับพระยะโฮวาที่จะทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. พระคำของพระองค์กล่าวว่า “พระพรของพระยะโฮวากระทำให้เกิดความมั่งคั่ง; และพระองค์จะไม่เพิ่มความทุกข์ยากให้เลย.” (สุภาษิต 10:22) หนุ่มชาวฮีบรูสี่คนเชื่อและไว้ไจพระยะโฮวา และพระองค์ไม่ได้ทอดทิ้งพวกเขา. หลายศตวรรษต่อมา พระเยซูคริสต์ทรงรอดชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีอาหารเป็นเวลา 40 วัน. ในเรื่องนี้ พระองค์ยกข้อความในพระธรรมพระบัญญัติ 8:3 ขึ้นมา ซึ่งเราอ่านว่า “มนุษย์จะจำเริญชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้, แต่จะมีชีวิตอยู่เพราะบรรดาพระวจนะซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์พระยะโฮวา.” ประสบการณ์ของดานิเอลและเพื่อน ๆ ของท่านเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมในเรื่องนี้.
การหยั่งเห็นเข้าใจและสติปัญญาแทนที่อาหารอันโอชะและเหล้าองุ่น
27, 28. รูปแบบการกินอาหารของดานิเอลและเพื่อนสามคนของท่านเป็นการเตรียมพวกเขาสำหรับสิ่งที่ใหญ่กว่าอย่างไร?
27 สิบวันเป็นเพียงการทดสอบ แต่ผลออกมากระจ่างชัดที่สุด. “ทนาย [“ผู้ดูแล,” ล.ม.] จึงเอาอาหารเครื่องเสวยและน้ำองุ่นเสวยไปเสียจากเขา, และเอาผักให้เขากิน.” (ดานิเอล 1:16) ไม่ยากที่จะนึกภาพว่าคนหนุ่มอื่น ๆ ในโครงการฝึกอบรมจะมีทัศนะอย่างไรต่อดานิเอลและเพื่อน ๆ ของท่าน. การไม่รับอาหารของกษัตริย์แต่กลับกินผักทุกวันแทนต้องดูเหมือนเป็นเรื่องที่โง่เขลามากสำหรับพวกเขา. แต่การทดสอบและการทดลองครั้งใหญ่คืบใกล้เข้ามา และนี่เรียกร้องความตื่นตัวและความระมัดระวังเท่าที่หนุ่มชาวฮีบรูจะมีได้. เหนือสิ่งอื่นใด ความเชื่อและความไว้วางใจของพวกเขาในพระยะโฮวาจะช่วยพวกเขาผ่านการทดสอบความเชื่อได้.—เทียบกับยะโฮซูอะ 1:7.
28 หลักฐานที่ว่าพระยะโฮวาทรงสถิตกับคนหนุ่มเหล่านี้สามารถเห็นได้ในข้อความถัดไปดังนี้: “คนหนุ่มทั้งสี่นี้พระเจ้าได้ประทานให้มีความรู้และฉลาดในการเรียนวิชาต่าง ๆ, และให้มีสติปัญญา; ส่วนดานิเอลนั้นมีความรู้ในทางนิมิตและทำนายฝันต่าง ๆ ได้.” (ดานิเอล 1:17) เพื่อจะรับมือกับช่วงเวลาอันยากลำบากที่กำลังมาถึง พวกเขาต้องมีมากกว่าร่างกายที่แข็งแรงและสุขภาพดี. “เพราะว่าพระปัญญาจะเข้ามาสู่ดวงหฤทัยของเจ้า, และความรู้ก็จะเป็นความบันเทิงแก่ดวงวิญญาณของเจ้า, ความสุขุมรอบคอบจะพิทักษ์เจ้าไว้; ความเข้าใจจะรักษาเจ้า; เพื่อจะช่วยเจ้าให้พ้นจากทางของคนชั่ว.” (สุภาษิต 2:10-12) นั่นเป็นสิ่งที่พระยะโฮวาทรงประทานให้ชายหนุ่มผู้ซื่อสัตย์สี่คนนี้อย่างแท้จริงเพื่อเตรียมพวกเขาไว้สำหรับสิ่งที่จะมาถึง.
29. ทำไมดานิเอลสามารถ ‘มีความรู้ในทางนิมิตและฝันต่าง ๆ’ ได้?
29 มีการกล่าวว่าดานิเอล “มีความรู้ในทางนิมิตและทำนายฝันต่าง ๆ ได้.” นี่ไม่ใช่ในความหมายที่ว่าท่านเป็นผู้ติดต่อกับแดนวิญญาณ. น่าสนใจ แม้ดานิเอลได้รับความนับถือว่าเป็นผู้พยากรณ์คนสำคัญคนหนึ่งของชาวฮีบรู แต่ท่านไม่เคยได้รับการดลใจให้กล่าวคำประกาศ เช่น “นี่คือคำตรัสของพระยะโฮวาพระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศร” หรือ “พระยะโฮวาของพลโยธาทั้งหลายได้ตรัสดังนี้ว่า.” (ยะซายา 28:16, ล.ม.; ยิระมะยา 6:9) กระนั้น ภายใต้การทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเท่านั้นที่ดานิเอลสามารถเข้าใจและแปลความหมายของนิมิตและความฝันซึ่งเปิดเผยถึงพระประสงค์ของพระยะโฮวา.
ในที่สุด การทดสอบครั้งสำคัญ
30, 31. แนวทางที่ดานิเอลและเพื่อน ๆ ของท่านเลือกปรากฏว่าเป็นประโยชน์อย่างไรต่อพวกเขา?
30 สามปีแห่งการให้การศึกษาใหม่และการฝึกอบรมจบลง. ต่อไปเป็นการทดสอบครั้งสำคัญ ซึ่งก็คือการถูกกษัตริย์ซักถามเป็นรายบุคคล. “พอถึงกำหนดเวลาที่กษัตริย์ได้บัญชาสั่งไว้ให้นำคนเหล่านั้นเข้าไปเฝ้า, เจ้ากรมวังก็นำเขาเข้าไปเฝ้าราชานะบูคัศเนซัร.” (ดานิเอล 1:18) เป็นเวลาที่คนหนุ่มสี่คนจะให้การเกี่ยวกับตนเอง. การติดสนิทกับกฎหมายของพระยะโฮวาแทนที่จะยอมตามแนวทางของชาวบาบูโลนเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาไหม?
31 “เมื่อกษัตริย์ได้สนทนาปราศรัยกับยุวชนเหล่านั้นเสร็จแล้วก็ไม่เห็นผู้ใดจะเสมอเหมือนดานิเอล, ฮะนันยา, มิซาเอลและอะซาระยา: เหตุฉะนี้เขาจึงได้เป็นราชบริพารของพระองค์.” (ดานิเอล 1:19) ช่างเป็นการพิสูจน์ที่สมบูรณ์จริง ๆ ว่าแนวทางที่พวกเขาได้ปฏิบัติสามปีก่อนหน้านี้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง! ที่พวกเขายึดมั่นกับรูปแบบการกินอาหารซึ่งถูกควบคุมโดยความเชื่อและสติรู้สึกผิดชอบของเขาก็ไม่ได้เป็นเรื่องโง่เขลาแต่อย่างใด. โดยซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ดูเหมือนเล็กน้อย ดานิเอลและเพื่อน ๆ ของท่านได้พระพรในสิ่งที่ใหญ่กว่า. สิทธิพิเศษที่จะ ‘เป็นราชบริพารของกษัตริย์’ เป็นเป้าหมายที่คนหนุ่มทุกคนในโครงการฝึกอบรมแสวงหา. หนุ่มชาวฮีบรูสี่คนนี้เป็นพวกเดียวที่ถูกเลือกหรือไม่ คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอก. ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร แนวทางอันซื่อสัตย์ของพวกเขาได้นำ “บำเหน็จเป็นอันมาก” มาสู่พวกเขา.—บทเพลงสรรเสริญ 19:11.
32. ทำไมอาจกล่าวได้ว่าดานิเอล, ฮะนันยา, มิซาเอล, และอะซาระยามีสิทธิพิเศษมากยิ่งกว่าการได้อยู่ในราชสำนัก?
32 พระคัมภีร์บอกว่า “เจ้าเห็นคนที่มีฝีมือในการงานของเขาหรือ? เขาจะได้เข้าเฝ้าพระราชา.” (สุภาษิต 22:29, ฉบับแปลใหม่) ด้วยเหตุนี้ ดานิเอล, ฮะนันยา, มิซาเอล, และอะซาระยาจึงถูกนะบูคัดเนซัรเลือกให้อยู่ต่อหน้ากษัตริย์ นั่นคือเป็นส่วนของราชสำนัก. จากทั้งหมดนี้ เราสามารถเห็นพระหัตถ์ของพระยะโฮวาที่ทรงจัดการเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อโดยทางคนหนุ่มเหล่านี้—โดยเฉพาะอย่างยิ่งดานิเอล—แง่มุมสำคัญของพระประสงค์ของพระเจ้าจะเป็นที่รู้กันทั่ว. ถึงแม้ว่าการถูกเลือกให้เป็นส่วนแห่งราชสำนักของนะบูคัดเนซัรเป็นเกียรติ แต่การถูกใช้ในวิธีที่ยอดเยี่ยมโดยพระยะโฮวา กษัตริย์แห่งสกลโลกเป็นเกียรติยิ่งกว่านั้นมากนัก.
33, 34. (ก) กษัตริย์ประทับใจชายหนุ่มชาวฮีบรูเหล่านี้เพราะเหตุใด? (ข) เราได้บทเรียนอะไรจากประสบการณ์ของชาวฮีบรูเหล่านี้?
33 ไม่ช้านะบูคัดเนซัรก็พบว่าสติปัญญาและการหยั่งเห็นเข้าใจที่พระยะโฮวาทรงประทานแก่คนหนุ่มชาวฮีบรูสี่คนนั้น เหนือกว่าที่ปรึกษาและนักปราชญ์ในราชสำนักของท่านมากนัก. “ในเรื่องวิชาและความรู้ต่าง ๆ เท่าที่กษัตริย์ได้ทรงไต่ถามเขา, พระองค์ทรงเห็นว่าเขารู้ดียิ่งกว่าพวกโหรและพวกหมอดูทั้งหลายในแผ่นดินของพระองค์ตั้งสิบเท่า.” (ดานิเอล 1:20) จะเป็นอย่างอื่นไปได้อย่างไร? “พวกโหรและพวกหมอดู” ไว้วางใจความรู้ทางโลกและการเชื่อโชคลางแบบบาบูโลน ส่วนดานิเอลและเพื่อน ๆ ของท่านวางใจในสติปัญญาจากเบื้องบน. เทียบกันไม่ได้เลย—สู้ไม่ได้!
34 แท้จริงแล้ว สิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักตลอดยุคสมัยที่ผ่านไป. ในศตวรรษแรก ส.ศ. เมื่อปรัชญากรีกและกฎหมายโรมันกำลังเป็นที่นิยม อัครสาวกเปาโลได้รับการดลใจให้เขียนว่า “ปัญญาของโลกนี้เป็นอปัญญาเฉพาะพระเจ้า. ด้วยมีคำเขียนไว้แล้วว่า, ‘พระองค์ได้ทรงจับคนมีปัญญาด้วยอุบายของเขาเอง’ และมีคำเขียนไว้แล้วอีกว่า, ‘พระเจ้าได้ทรงทราบความคิดของคนมีปัญญาว่าเป็นการไร้ประโยชน์.’ เหตุฉะนั้นอย่าให้ผู้ใดยกมนุษย์ขึ้นอวด.” (1 โกรินโธ 3:19-21) ในสมัยนี้ เราต้องยึดมั่นกับสิ่งที่พระยะโฮวาทรงสอนเราและไม่เอนเอียงไปง่าย ๆ กับความตื่นเต้นและสิ่งชวนตาชวนใจของโลก.—1 โยฮัน 2:15-17.
ซื่อสัตย์จนถึงที่สุด
35. เราทราบเรื่องราวของเพื่อนสามคนของดานิเอลมากน้อยแค่ไหน?
35 ความเชื่อที่เข้มแข็งของฮะนันยา, มิซาเอล, และอะซาระยามีแสดงไว้อย่างเด่นชัดในพระธรรมดานิเอลบท 3 เกี่ยวกับรูปทองคำของนะบูคัดเนซัรบนที่ราบดูราและการทดสอบเรื่องเตาไฟ. ชาวฮีบรูเหล่านี้ผู้เกรงกลัวพระเจ้ารักษาตัวซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาจนกระทั่งสิ้นชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย. เราทราบเรื่องนี้เพราะอัครสาวกเปาโลกล่าวพาดพิงถึงพวกเขาอย่างแน่นอนเมื่อท่านเขียนเกี่ยวกับคนซึ่ง “อาศัยความเชื่อจึง . . . ได้ดับไฟอันไหม้รุนแรงมาก.” (เฮ็บราย 11:33, 34) พวกเขาเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นสำหรับผู้รับใช้ของพระยะโฮวา ทั้งคนหนุ่มและคนสูงอายุ.
36. ดานิเอลมีชีวิตอันโดดเด่นเช่นไร?
36 ส่วนดานิเอล ข้อสุดท้ายของบท 1 กล่าวว่า “ดานิเอลได้อยู่ในหน้าที่ราชการเรื่อยไปจนถึงปีต้นในรัชกาลของราชาโคเร็ธ [ไซรัส].” ประวัติศาสตร์เผยว่าไซรัสโค่นล้มบาบูโลนในคืนเดียว ในปี 539 ก.ส.ศ. จากหลักฐานเห็นได้ว่า เพราะชื่อเสียงและคุณลักษณะของท่าน ดานิเอลได้รับใช้ในราชสำนักของไซรัสต่อไป. ที่จริง ดานิเอล 10:1 บอกเราว่า “ครั้นอยู่มาในปีที่สามแห่งรัชกาลของราชาโคเร็ศ [ไซรัส], กษัตริย์ของฟารัศ [เปอร์เซีย]” พระยะโฮวาได้ทรงเปิดเผยเรื่องที่น่าสนใจแก่ดานิเอล. ถ้าท่านเป็นวัยรุ่นตอนที่ถูกพาไปบาบูโลนในปี 617 ก.ส.ศ. ท่านคงจะมีอายุเกือบ 100 ปี เมื่อท่านได้รับนิมิตสุดท้ายนั้น. ช่างเป็นชีวิตแห่งการรับใช้อย่างซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาที่ยาวนานและได้รับพระพรอะไรเช่นนี้!
37. เราได้บทเรียนอะไรบ้างจากการพิจารณาดานิเอลบท 1?
37 บทแรกของพระธรรมดานิเอลบอกเราไม่ใช่แค่เรื่องราวของเด็กหนุ่มผู้ซื่อสัตย์สี่คนที่เผชิญการทดลองความเชื่ออย่างประสบความสำเร็จเท่านั้น. บทนี้ยังแสดงว่าพระยะโฮวาทรงสามารถใช้ใครก็ได้ที่พระองค์ทรงต้องการเพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. บันทึกนี้พิสูจน์ว่าหากพระยะโฮวาทรงยอมให้เป็นไป สิ่งที่ดูเหมือนเป็นความหายนะอาจถูกใช้เพื่อบรรลุจุดประสงค์ที่เป็นประโยชน์ได้. และบันทึกนี้บอกเราว่าการซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อยมีบำเหน็จเป็นอันมาก.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• อาจกล่าวอะไรได้เกี่ยวกับภูมิหลังของดานิเอลและเพื่อนวัยหนุ่มสามคนของท่าน?
• การได้รับการเลี้ยงดูที่ดีของเด็กหนุ่มชาวฮีบรูสี่คนถูกทดสอบอย่างไรในบาบูโลน?
• พระยะโฮวาทรงประทานบำเหน็จอย่างไรแก่ชาวฮีบรูสี่คนสำหรับการยืนหยัดที่กล้าหาญของพวกเขา?
• ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาสมัยปัจจุบันสามารถเรียนอะไรได้บ้างจากดานิเอลและเพื่อนสามคนของท่าน?
[ภาพเต็มหน้า 30]