จงพยายามมองผู้อื่นอย่างที่พระยะโฮวาทรงมองพวกเขา
“พระเจ้าทรงเห็นไม่ใช่อย่างที่มนุษย์เห็น.”—1 ซามูเอล 16:7, ล.ม.
1, 2. พระยะโฮวามองเอลีอาบต่างไปจากที่ซามูเอลมองอย่างไร และเราได้บทเรียนอะไรในเรื่องนี้?
ในศตวรรษที่ 11 ก่อน ส.ศ. พระยะโฮวาทรงส่งผู้พยากรณ์ซามูเอลไปปฏิบัติภารกิจลับ. พระองค์บัญชาท่านผู้พยากรณ์ไปยังบ้านของชายชื่อยิซัย และเจิมบุตรชายคนหนึ่งของเขาให้เป็นกษัตริย์ของอิสราเอลในอนาคต. เมื่อซามูเอลเห็นเอลีอาบ บุตรหัวปีของยิซัย ท่านก็มั่นใจว่าพบผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกไว้แล้ว. แต่พระยะโฮวาตรัสว่า “อย่ามองที่รูปร่างหน้าตาและที่ความสูงของเขา เนื่องด้วยเราได้ปฏิเสธเขา. ด้วยว่าพระเจ้าทรงเห็นไม่ใช่อย่างที่มนุษย์เห็น เพราะมนุษย์เห็นสิ่งที่ปรากฏแก่ตา แต่พระยะโฮวาทรงเห็นว่าหัวใจเป็นเช่นไร.” (1 ซามูเอล 16:6, 7, ล.ม.) ซามูเอลมองเอลีอาบต่างไปจากที่พระยะโฮวาทรงมองเขา.a
2 ช่างง่ายเพียงไรที่มนุษย์จะวินิจฉัยคนอื่นผิดพลาด! ในด้านหนึ่ง เราอาจถูกลวงจากคนซึ่งภายนอกดูน่าดึงดูดใจแต่ภายในเป็นคนไร้ศีลธรรม. ในอีกด้านหนึ่ง เราอาจเข้มงวดและไม่ยืดหยุ่นเมื่อประเมินคนที่สุจริตใจซึ่งมีบุคลิกภาพที่รบกวนใจเรา.
3, 4. (ก) ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างคริสเตียนสองคน แต่ละฝ่ายควรตั้งใจที่จะทำอะไร? (ข) คำถามอะไรบ้างที่เราควรถามตัวเองเมื่อเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับเพื่อนร่วมความเชื่อ?
3 ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อเราด่วนตัดสินคนอื่น แม้แต่คนเหล่านั้นที่รู้จักกันมาหลายปีแล้ว. บางทีคุณอาจทะเลาะกันอย่างรุนแรงกับคริสเตียนบางคนซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเพื่อนสนิทกัน. คุณอยากให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเขากลับมาดีเหมือนเดิมไหม? อะไรจะช่วยคุณให้ทำเช่นนั้นได้สำเร็จ?
4 ทำไมไม่มองดูพี่น้องคริสเตียนคนที่เคยเป็นเพื่อนของคุณนั้นอย่างถี่ถ้วน, ใช้เวลาให้มากขึ้น, และในเชิงก่อร่างสร้างขึ้นล่ะ? และจงทำอย่างนั้นโดยคำนึงถึงคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “ไม่มีผู้ใดจะมาถึงเราได้, เว้นไว้พระบิดาผู้ทรงใช้เรามาจะชักนำเขา.” (โยฮัน 6:44) จากนั้นถามตัวเองว่า ‘ทำไมพระยะโฮวาจึงทรงชักนำเขาไปหาพระบุตรของพระองค์? เขามีคุณลักษณะอะไรที่น่าปรารถนา? ฉันได้มองข้ามหรือประเมินค่าคุณลักษณะเหล่านั้นของเขาต่ำไปไหม? ทำไมเราทั้งสองจึงมาเป็นเพื่อนกันได้ในตอนแรก? อะไรได้ดึงดูดให้ฉันอยากเป็นเพื่อนกับเขา?’ ทีแรก คุณอาจพบว่ายากที่จะคิดถึงจุดดีต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเก็บความรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจมานานพอควรแล้ว. อย่างไรก็ตาม นี่เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะนำไปสู่การประสานรอยร้าวระหว่างคุณทั้งสอง. เพื่อแสดงให้เห็นว่าอาจจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร ขอให้เรามาค้นหาคุณลักษณะที่ดีในตัวชายสองคนซึ่งบางครั้งถูกเสนอภาพในด้านลบ. สองคนที่ว่านี้คือผู้พยากรณ์โยนาห์และอัครสาวกเปโตร.
การมองโยนาห์อย่างปราศจากอคติ
5. โยนาห์ได้รับงานมอบหมายอะไร และท่านมีปฏิกิริยาเช่นไร?
5 โยนาห์รับใช้เป็นผู้พยากรณ์อยู่ในอาณาจักรอิสราเอลฝ่ายเหนือในรัชกาลของกษัตริย์ยาราบะอามที่ 2 โอรสยะโฮอาศ. (2 กษัตริย์ 14:23-25) วันหนึ่ง พระยะโฮวาทรงบัญชาโยนาห์ให้ออกจากอิสราเอลไปยังนีเนเวห์ เมืองหลวงของจักรวรรดิอัสซีเรียที่เข้มแข็ง. งานมอบหมายของท่านคืออะไร? คือการเตือนชาวเมืองนั้นว่าเมืองใหญ่ของพวกเขาจะถูกทำลาย. (โยนา 1:1, 2) แทนที่จะทำตามการชี้นำของพระเจ้า โยนาห์หนีไป! ท่านลงเรือที่จะไปยังเมืองธาระซิศซึ่งอยู่ไกลจากนีเนเวห์.—โยนา 1:3.
6. ทำไมพระยะโฮวาเลือกโยนาห์ไปนีเนเวห์?
6 เมื่อคิดถึงโยนาห์ อะไรผุดขึ้นมาในความคิดของคุณทันที? คุณคิดถึงเขาในฐานะเป็นผู้พยากรณ์ที่ไม่เชื่อฟังไหม? การมองเขาอย่างผิวเผินอาจทำให้ลงความเห็นอย่างนั้น. แต่พระเจ้าทรงแต่งตั้งโยนาห์เป็นผู้พยากรณ์เพราะเขาเป็นคนไม่เชื่อฟังไหม? ไม่ใช่อย่างนั้นแน่! โยนาห์คงต้องมีคุณลักษณะอะไรบางอย่างที่น่าปรารถนา. ขอพิจารณาประวัติของท่านในฐานะที่เป็นผู้พยากรณ์.
7. โยนาห์รับใช้พระยะโฮวาในแผ่นดินอิสราเอลในสภาพการณ์เช่นไร และการรู้ข้อเท็จจริงนี้ส่งผลกระทบเช่นไรต่อทัศนะของคุณที่มีต่อท่าน?
7 ที่จริงแล้ว โยนาห์ทำงานหนักอย่างซื่อสัตย์มาก่อนในแผ่นดินอิสราเอล ซึ่งเป็นเขตงานที่ไม่มีการตอบรับเลย. ผู้พยากรณ์อาโมศ ซึ่งมีชีวิตในช่วงใกล้เคียงกับโยนาห์ ได้พรรณนาชาวอิสราเอลในสมัยนั้นว่าเป็นคนที่มีใจรักสมบัติวัตถุและความสนุกสนาน.b มีความชั่วช้าหลายอย่างอุบัติขึ้นในแผ่นดิน แต่ชาวอิสราเอลไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนเอาเสียเลย. (อาโมศ 3:13-15; 4:4; 6:4-6) ถึงกระนั้น โยนาห์ทำงานมอบหมายในการประกาศแก่พวกเขาอย่างซื่อสัตย์วันแล้ววันเล่า. ถ้าคุณเป็นผู้ประกาศข่าวดี คุณรู้ดีว่ายากสักเพียงไรที่จะประกาศแก่คนที่พอใจกับสภาพที่ตนเป็นอยู่และไม่ยินดียินร้าย. ดังนั้นแล้ว ในขณะที่เรายอมรับข้ออ่อนแอของโยนาห์ ขอให้เราอย่ามองข้ามคุณลักษณะของท่านในเรื่องความซื่อสัตย์และความเพียรอดทนขณะที่ท่านประกาศแก่ชาวอิสราเอลที่ขาดความเชื่อ.
8. มีงานยากยิ่งอะไรคอยท่าผู้พยากรณ์ชาวอิสราเอลอยู่ในนีเนเวห์?
8 งานมอบหมายไปนีเนเวห์เป็นงานที่ยากยิ่งกว่า. เพื่อจะไปถึงเมืองนั้น โยนาห์ต้องเดินเป็นระยะทางราว ๆ 800 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการเดินทางที่ยากลำบากและใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน. เมื่อไปถึงแล้ว ท่านผู้พยากรณ์จะต้องประกาศแก่ชาวอัสซีเรีย ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องความทารุณโหดร้าย. การทำทารุณเป็นลักษณะหนึ่งที่พวกเขามักรวมเอาไว้ด้วยในการทำสงครามของพวกเขา. พวกเขาถึงกับโอ้อวดความโหดเหี้ยมของตนด้วยซ้ำ. ไม่น่าประหลาดใจที่นีเนเวห์ถูกเรียกว่า “นครอันแปดเปื้อนไปด้วยโลหิต”!—นาฮูม 3:1, 7.
9. เมื่อพายุที่รุนแรงคุกคามชีวิตของลูกเรือ โยนาห์ได้สำแดงคุณลักษณะอะไร?
9 เนื่องจากไม่เต็มใจทำตามพระบัญชาของพระยะโฮวา โยนาห์จึงลงเรือที่จะพาท่านไปให้ไกลที่สุดจากงานมอบหมาย. ถึงกระนั้น พระยะโฮวาไม่ได้หมดหวังในตัวผู้พยากรณ์ของพระองค์หรือจัดหาคนอื่นให้ทำหน้าที่แทน. แทนที่จะทำอย่างนั้น พระยะโฮวาดำเนินการเพื่อช่วยโยนาห์ให้สำนึกถึงความสำคัญของงานมอบหมาย. พระเจ้าทรงบันดาลให้เกิดพายุรุนแรงในทะเล. เรือที่โยนาห์โดยสารถูกคลื่นโหมซัดกระหน่ำไปมา. คนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่กำลังจะตาย ทั้งหมดนี้เป็นเพราะโยนาห์! (โยนา 1:4) โยนาห์มีท่าทีเช่นไร? เนื่องจากไม่ต้องการให้ลูกเรือในลำดังกล่าวต้องมาจบชีวิตลงเพราะท่านเป็นเหตุ โยนาห์จึงบอกพวกเขาว่า “จงจับตัวเราโยนลงไปในทะเลก็แล้วกัน, ทะเลก็จะสงบลง.” (โยนา 1:12) ไม่มีอะไรเป็นเหตุให้โยนาห์คิดเลยว่าเมื่อลูกเรือโยนท่านลงทะเลไปในที่สุดแล้ว พระยะโฮวาจะช่วยท่านให้รอดชีวิตจากทะเล. (โยนา 1:15) อย่างไรก็ตาม โยนาห์เต็มใจตายเพื่อที่ลูกเรือจะรอด. เราเห็นจากการกระทำของโยนาห์ในโอกาสนี้มิใช่หรือว่าท่านได้สำแดงคุณลักษณะของความกล้าหาญ, ความถ่อมใจ, และความรัก?
10. เกิดอะไรขึ้นหลังจากที่พระยะโฮวาได้มอบหมายงานให้โยนาห์ทำต่อไป?
10 ในที่สุด พระยะโฮวาทรงช่วยชีวิตของโยนาห์. การกระทำของโยนาห์ก่อนหน้านี้ไม่นานทำให้ท่านขาดคุณสมบัติที่จะรับใช้พระเจ้าอีกครั้งในฐานะตัวแทนของพระองค์ไหม? ไม่เลย ด้วยความเมตตาและความรัก พระยะโฮวามอบหมายงานให้ท่านเป็นผู้พยากรณ์ต่อไปเพื่อประกาศแก่ชาวเมืองนีเนเวห์. เมื่อโยนาห์มาถึงนีเนเวห์ ท่านประกาศอย่างกล้าหาญแก่ชาวเมืองนั้นว่าความชั่วช้าอย่างใหญ่หลวงของพวกเขาได้ปรากฏต่อพระพักตร์พระเจ้าแล้วและเมืองของพวกเขาจะถูกทำลายในอีก 40 วัน. (โยนา 1:2; 3:4) หลังจากได้ยินข่าวสารที่ตรงไปตรงมาของโยนาห์ ชาวเมืองนีเนเวห์กลับใจ และเมืองนั้นไม่ถูกทำลาย.
11. อะไรแสดงว่าโยนาห์ได้เรียนรู้บทเรียนอันมีค่า?
11 โยนาห์ยังคงมีทัศนะที่ไม่ถูกต้อง. โดยการใช้ตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเพื่อสอนบทเรียน พระยะโฮวาทรงช่วยโยนาห์อย่างอดทนให้เรียนรู้ว่าพระองค์ทรงเห็นไม่เพียงแต่สิ่งที่ปรากฏภายนอก. พระองค์ทรงตรวจสอบหัวใจ. (โยนา 4:5-11) ข้อเท็จจริงที่ว่าโยนาห์ได้เรียนรู้บทเรียนอันมีค่านี้เห็นได้จากบันทึกเรื่องราวที่กล่าวอย่างไม่ปิดบังซึ่งท่านเองเป็นผู้บันทึก. ความเต็มใจที่จะเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับข้อบกพร่องที่น่าละอายของตนเองให้หลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงถึงความถ่อมใจของท่าน. ต้องเป็นคนกล้าหาญเช่นกันเพื่อจะยอมรับข้อผิดพลาด!
12. (ก) เราทราบได้อย่างไรว่าพระเยซูมีทัศนะต่อผู้คนแบบเดียวกันกับพระยะโฮวา? (ข) เราได้รับการสนับสนุนให้คงไว้ซึ่งทัศนะเช่นไรต่อผู้คนที่เราประกาศข่าวดีแก่เขา? (ดูกรอบหน้า 18.)
12 หลายศตวรรษต่อมา พระเยซูคริสต์กล่าวถึงเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตของโยนาห์ในทางที่ดี. พระองค์ตรัสว่า “โยนาห์อยู่ในท้องปลาใหญ่สามวันสามคืนฉันใด บุตรมนุษย์ก็จะอยู่ในใจกลางแผ่นดินโลกสามวันสามคืนฉันนั้น.” (มัดธาย 12:40, ล.ม.) หลังจากโยนาห์ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย ท่านจะทราบว่าพระเยซูทรงเปรียบเทียบช่วงเวลาที่พระองค์เองอยู่ในอุโมงค์ฝังศพกับช่วงเวลาที่มืดมนในชีวิตของท่านผู้พยากรณ์. เรายินดีมิใช่หรือที่ได้รับใช้พระเจ้าผู้ซึ่งจะไม่ปฏิเสธผู้รับใช้ของพระองค์เมื่อพวกเขากระทำผิดพลาด? ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนดังนี้: “บิดาเมตตาบุตรของตนมากฉันใด, พระยะโฮวาทรงพระเมตตาคนที่ยำเกรงพระองค์มากฉันนั้น. เพราะพระองค์ทรงทราบร่างกายของพวกข้าพเจ้าแล้ว; พระองค์ทรงระลึกอยู่ว่าพวกข้าพเจ้าเป็นแต่ผงคลีดิน.” (บทเพลงสรรเสริญ 103:13, 14) อันที่จริง “ผงคลีดิน” นี้ ซึ่งรวมถึงมนุษย์ไม่สมบูรณ์ในทุกวันนี้ สามารถบรรลุผลสำเร็จอย่างมากมายด้วยการหนุนหลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า!
การมองเปโตรอย่างสมดุล
13. ลักษณะนิสัยอะไรของเปโตรที่เราอาจนึกถึงในทันที แต่เหตุใดพระเยซูจึงเลือกท่านเป็นอัครสาวก?
13 ทีนี้ ขอให้เราพิจารณากันอย่างสั้น ๆ ถึงตัวอย่างที่สอง คืออัครสาวกเปโตร. ถ้าคุณถูกขอให้พรรณนาลักษณะนิสัยของเปโตร ในทันทีคุณจะนึกถึงท่านว่าเป็นคนหุนหันพลันแล่น, เลือดร้อน, หรือกระทั่งถือดีไหม? เปโตรแสดงออกอย่างนั้นเป็นครั้งคราว. อย่างไรก็ตาม พระเยซูจะเลือกเปโตรเป็นหนึ่งในอัครสาวก 12 คนไหม หากเปโตรเป็นคนหุนหันพลันแล่น, เลือดร้อน, หรือถือดีจริง ๆ? (ลูกา 6:12-14) ไม่ใช่อย่างนั้นแน่ ๆ! พระเยซูทรงมองข้ามข้อบกพร่องเหล่านี้ไปและมองเห็นคุณลักษณะที่ดีของเปโตร.
14. (ก) อาจอธิบายได้อย่างไรถึงการที่เปโตรดูเหมือนเป็นคนพูดตรง ๆ? (ข) ทำไมเราควรรู้สึกขอบคุณเปโตรที่ท่านเป็นคนช่างถาม?
14 เปโตรทำหน้าที่เป็นผู้พูดแทนอัครสาวกคนอื่นเป็นครั้งคราว. บางคนอาจมองว่านี่แสดงถึงการขาดความเจียมตัว. แต่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นไหม? บางคนสันนิษฐานว่าเปโตรอาจมีอายุมากกว่าอัครสาวกคนอื่น ๆ และอาจมากกว่าพระเยซูด้วย. ถ้านั่นเป็นความจริง ก็อาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมเปโตรจึงมักเป็นคนแรกที่พูด. (มัดธาย 16:22) อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยอื่นอีกที่พึงพิจารณา. เปโตรเป็นคนที่สนใจสิ่งฝ่ายวิญญาณ. ความกระหายความรู้กระตุ้นให้ท่านถามคำถาม. เราได้ประโยชน์จากการที่ท่านเป็นคนช่างถาม. คำตอบหลายข้อที่พระเยซูทรงให้แก่เปโตรเป็นถ้อยคำอันล้ำค่า และได้รับการเก็บรักษาไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. ตัวอย่างเช่น เป็นถ้อยคำที่พระเยซูตอบคำถามของเปโตรนั่นเองที่พระองค์ตรัสถึง “คนต้นเรือนสัตย์ซื่อ.” (ลูกา 12:41-44) และขอพิจารณาคำถามของเปโตรที่ว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายได้สละสิ่งสารพัตรติดตามพระองค์มา, พวกข้าพเจ้าจะได้อะไรบ้าง?” คำถามนี้นำไปสู่คำสัญญาของพระเยซูที่ให้กำลังใจที่ว่า “ผู้ใดได้สละเรือนหรือพี่น้องชายหญิงหรือบิดามารดาหรือภรรยาบุตรและไร่นาเพราะนามของเรา, ผู้นั้นจะได้ผลร้อยเท่า, และจะได้ชีวิตนิรันดร์เป็นมฤดกด้วย.”—มัดธาย 15:15; 18:21, 22; 19:27-29.
15. เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าเปโตรเป็นผู้ภักดีอย่างแท้จริง?
15 คุณลักษณะที่ดีอีกประการหนึ่งของเปโตรคือความภักดี. เมื่อสาวกหลายคนเลิกติดตามพระเยซูเพราะพวกเขาไม่เข้าใจคำสอนอย่างหนึ่งของพระองค์ เปโตรนี่เองที่พูดแทนอัครสาวก 12 คนทันทีว่า “พระองค์เจ้าข้า, พวกข้าพเจ้าจะกลับไปหาผู้ใดเล่า? คำซึ่งให้มีชีวิตนิรันดร์นั้นมีอยู่ที่พระองค์.” (โยฮัน 6:66-68) คำพูดเช่นนั้นคงต้องทำให้พระเยซูอบอุ่นพระทัยสักเพียงไร! ต่อมา เมื่อฝูงชนมารุมจับนายของพวกเขา อัครสาวกส่วนใหญ่หนีไป. แต่เปโตรตามฝูงชนไปห่าง ๆ และเข้าไปจนถึงลานบ้านของมหาปุโรหิต. หาใช่ความขลาด แต่เป็นความกล้านั่นเอง ที่พาเปโตรไปที่นั่น. ขณะที่มีการไต่สวนพระเยซู เปโตรเข้าไปรวมกลุ่มกับชาวยิวคนอื่น ๆ ซึ่งยืนผิงไฟที่ลุกโพลงอยู่. ทาสคนหนึ่งของมหาปุโรหิตจำเปโตรได้และกล่าวฟ้องว่าท่านได้อยู่กับพระเยซู. เปโตรปฏิเสธนายของตนก็จริง แต่ขอเราอย่าลืมว่าความภักดีและความเป็นห่วงที่เปโตรมีต่อพระเยซูนั่นเองที่ทำให้ท่านเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตรายนั้น สถานการณ์ที่อัครสาวกส่วนใหญ่ไม่กล้าเผชิญ.—โยฮัน 18:15-27.
16. เราพิจารณาคุณลักษณะที่ดีของโยนาห์และเปโตรไปเพื่อประโยชน์อะไร?
16 คุณลักษณะที่ดีของเปโตรมีมากกว่าข้อบกพร่องของท่านมากนัก. ข้อนี้เป็นจริงกับโยนาห์ด้วย. เช่นเดียวกับที่เรามองโยนาห์และเปโตรในแง่บวกมากขึ้นกว่าที่อาจเคยเป็นมา เราก็ต้องฝึกตัวเองให้มองในแง่บวกมากขึ้นในทำนองเดียวกันเมื่อประเมินพี่น้องชายหญิงฝ่ายวิญญาณของเราในปัจจุบัน. การทำเช่นนั้นจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับพวกเขา. เหตุใดจึงมีความจำเป็นอย่างแท้จริงที่จะมีทัศนะในแง่บวกมากขึ้นต่อพี่น้องชายหญิงของเรา?
การนำบทเรียนนั้นมาใช้ในปัจจุบัน
17, 18. (ก) เพราะเหตุใดความขัดแย้งระหว่างคริสเตียนจึงอาจเกิดขึ้นได้? (ข) คำแนะนำอะไรจากคัมภีร์ไบเบิลที่สามารถช่วยเราแก้ปัญหาที่มีกับเพื่อนร่วมความเชื่อ?
17 ชายหญิงและเด็กจากทุกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ รวมทั้งทุกภูมิหลังทางการศึกษาและเชื้อชาติ ต่างรับใช้พระยะโฮวาร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพในทุกวันนี้. (วิวรณ์ 7:9, 10) มีความหลากหลายทางบุคลิกภาพอะไรเช่นนี้ในประชาคมคริสเตียน! เนื่องจากเรากำลังรับใช้พระเจ้าร่วมกันอย่างใกล้ชิด จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความขัดแย้งกันเป็นครั้งคราว.—โรม 12:10; ฟิลิปปอย 2:3.
18 ขณะที่เราไม่ปิดตาต่อข้อบกพร่องของพี่น้องของเรา แต่เราก็ไม่เพ่งเล็งที่ข้อบกพร่องเหล่านั้น. พวกเราพยายามจะเลียนแบบพระยะโฮวา ซึ่งผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้ร้องเพลงถึงพระองค์ว่า “โอ้ยาห์ โอ้ พระยะโฮวา ถ้าพระองค์คอยจับผิด ใครจะทนไหว?” (บทเพลงสรรเสริญ 130:3, ล.ม.) แทนที่จะมัวใส่ใจกับลักษณะนิสัยที่อาจเป็นเหตุให้เราบาดหมางกัน เรา “มุ่งประพฤติในสิ่งซึ่งทำให้เกิดความสงบสุขแก่กันและกัน และทำให้เกิดความเจริญแก่กันและกัน.” (โรม 14:19, ฉบับแปลใหม่) เราพยายามจะมองคนอื่นอย่างที่พระยะโฮวาทรงมองพวกเขา นั่นคือมองข้ามข้อบกพร่องและเพ่งเล็งคุณลักษณะที่ดี. การทำเช่นนั้นจะช่วยให้เรา “ทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไป.”—โกโลซาย 3:13, ล.ม.
19. จงบอกถึงขั้นตอนในทางปฏิบัติอย่างคร่าว ๆ ที่คริสเตียนคนหนึ่งอาจทำได้เพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่รุนแรง.
19 จะว่าอย่างไรถ้าหากความไม่เข้าใจกันที่เกิดขึ้นนั้นเกินกว่าที่เราจะขจัดให้หมดไปจากใจของเราได้? (บทเพลงสรรเสริญ 4:4) มีความไม่เข้าใจอะไรบางอย่างที่ยังคงติดค้างอยู่ระหว่างคุณกับเพื่อนร่วมความเชื่อไหม? ทำไมไม่พยายามจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อยเสียล่ะ? (เยเนซิศ 32:13-15) ก่อนอื่น ให้เข้าเฝ้าพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐาน ขอการทรงนำจากพระองค์. จากนั้น ขณะที่คิดถึงคุณลักษณะที่ดีของบุคคลนั้น ให้เข้าหาเขา “ด้วยใจอ่อนโยนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสติปัญญา.” (ยาโกโบ 3:13, ล.ม.) บอกเขาว่าคุณอยากฟื้นฟูสันติสุขที่เคยมีต่อกันขึ้นมาใหม่. ระลึกถึงคำแนะนำที่มีขึ้นโดยการดลใจที่ว่า “จง . . . ว่องไวในการฟัง, ช้าในการพูด, ช้าในการโกรธ.” (ยาโกโบ 1:19) คำแนะนำที่ให้ “ช้าในการโกรธ” บอกเป็นนัยว่าอีกฝ่ายหนึ่งอาจพูดหรือทำบางอย่างที่ทำให้คุณโกรธได้. ถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้น จงอธิษฐานขอพระยะโฮวาให้ช่วยคุณคงไว้ซึ่งการรู้จักบังคับตน. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) ให้พี่น้องของคุณระบายความคับข้องใจ แล้วตั้งใจฟัง. อย่าขัดจังหวะเขา ถึงแม้ว่าคุณไม่ได้เห็นด้วยกับทุกสิ่งที่เขาพูด. ทัศนะของเขาอาจไม่ถูกต้อง แต่ถึงอย่างไร นั่นก็เป็นทัศนะของเขา. พยายามที่จะมองปัญหาจากมุมมองของเขา. นั่นอาจมีส่วนช่วยคุณให้ประเมินตัวเองจากมุมมองของพี่น้อง.—สุภาษิต 18:17.
20. เมื่อจัดการกับความขัดแย้ง การทำตามขั้นตอนอะไรอีกที่อาจยังผลให้มีการคืนดีกัน?
20 เมื่อถึงคราวของคุณที่จะพูด จงพูดด้วยความสุภาพอ่อนโยน. (โกโลซาย 4:6, ล.ม.) บอกพี่น้องของคุณถึงสิ่งที่คุณชอบในตัวเขา. ขอโทษสำหรับสิ่งใด ๆ ที่คุณได้ทำที่เป็นเหตุให้เข้าใจผิด. หากความพยายามด้วยความถ่อมใจของคุณยังผลให้มีการคืนดีกัน จงขอบคุณพระยะโฮวา. แต่ถ้าความพยายามดังกล่าวไม่ได้ผล จงอธิษฐานขอการชี้นำจากพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป ขณะที่คุณเสาะหาโอกาสอื่น ๆ ที่จะสร้างสันติสุขอีก.—โรม 12:18.
21. การพิจารณาบทความนี้ช่วยคุณอย่างไรให้มองผู้อื่นอย่างที่พระยะโฮวาทรงมองพวกเขา?
21 พระยะโฮวาทรงรักผู้รับใช้ของพระองค์ทุกคน. พระองค์ยินดีที่จะใช้เราทุกคนทำงานให้พระองค์แม้ว่าเราไม่สมบูรณ์. เมื่อเราเรียนรู้มากขึ้นถึงทัศนะของพระองค์ที่มีต่อผู้อื่น ความรักของเราต่อพี่น้องชายหญิงจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น. หากความรักที่เรามีต่อเพื่อนคริสเตียนมอดไป ความรักนั้นก็ลุกโพลงขึ้นมาใหม่ได้. ช่างจะเป็นพระพรเสียจริง ๆ สำหรับเราหากเรามุ่งมั่นพยายามที่จะมองผู้อื่นในแง่ดี—ใช่แล้ว มองผู้อื่นอย่างที่พระยะโฮวาทรงมองพวกเขา!
[เชิงอรรถ]
a ภายหลังก็ปรากฏชัดว่าเอลีอาบชายรูปงามไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะจะเป็นกษัตริย์อิสราเอล. เมื่อฆาละยัธร่างยักษ์ของชาวฟิลิสตินมาท้ารบกับชาวอิสราเอล เอลีอาบพลอยหัวหดไปด้วยกันกับชายอิสราเอลคนอื่น ๆ.—1 ซามูเอล 17:11, 28-30.
b ดูเหมือนว่ายาราบะอามที่ 2 มีส่วนอย่างมากในการเพิ่มความมั่งคั่งให้กับอาณาจักรฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากชัยชนะครั้งสำคัญ ๆ และการยึดเอาดินแดนที่เสียไปกลับคืนมาได้และส่วยบรรณาการที่อาจเก็บได้.—2 ซามูเอล 8:6; 2 กษัตริย์ 14:23-28; 2 โครนิกา 8:3, 4; อาโมศ 6:2.
คุณจะตอบอย่างไร?
• พระยะโฮวามีทัศนะอย่างไรต่อข้อบกพร่องของผู้รับใช้ที่สัตย์ซื่อของพระองค์?
• คุณลักษณะที่ดีของโยนาห์และเปโตรมีอะไรบ้าง?
• คุณตั้งใจจะคงไว้ซึ่งทัศนะเช่นไรต่อพี่น้องคริสเตียนของคุณ?
[กรอบหน้า 18]
จงไตร่ตรองทัศนะของพระเจ้าที่มีต่อผู้คน
ขณะที่คุณใคร่ครวญเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับโยนาห์ คุณมองเห็นความจำเป็นที่จะปรับมุมมองใหม่ต่อผู้คนที่คุณประกาศข่าวดีแก่พวกเขาเป็นประจำไหม? พวกเขาอาจดูเหมือนพอใจกับสภาพที่ตนเป็นอยู่และไม่ยินดียินร้าย เหมือนกับชาวอิสราเอลโบราณ หรืออาจต่อต้านข่าวสารของพระเจ้า. ถึงกระนั้น พระยะโฮวาพระเจ้าทรงมีทัศนะอย่างไรต่อพวกเขา? สักวันหนึ่ง แม้แต่บางคนที่เป็นบุคคลสำคัญในระบบนี้ ก็อาจเริ่มแสวงหาพระยะโฮวา เหมือนอย่างที่กษัตริย์นีเนเวห์กลับใจเนื่องมาจากการประกาศของโยนาห์.—โยนา 3:6, 7.
[ภาพหน้า 15]
คุณมองผู้อื่นอย่างที่พระยะโฮวาทรงมองพวกเขาไหม?
[ภาพหน้า 16, 17]
พระเยซูพบเห็นบางสิ่งในแง่ดีที่จะกล่าวเกี่ยวกับประสบการณ์ของโยนาห์