บท 24
ข่าวที่หวานและขม
นิมิต 6—วิวรณ์ 10:1–11:19
เรื่อง: นิมิตเกี่ยวกับหนังสือเล็ก ๆ ม้วนหนึ่ง; ประสบการณ์เกี่ยวกับพระวิหาร; การเป่าแตรตัวที่เจ็ด
เวลาที่สำเร็จเป็นจริง: ตั้งแต่การขึ้นครองราชย์ของพระเยซูในปี 1914 จนถึงความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่
1, 2. (ก) ภัยพิบัติที่สองยังผลประการใด และเมื่อไรจะมีการประกาศว่าภัยพิบัตินี้หมดสิ้น? (ข) บัดนี้โยฮันเห็นผู้ใดลงมาจากสวรรค์?
วิบัติที่สองก่อความเสียหายย่อยยับ. วิบัตินี้ได้ทรมานคริสต์ศาสนจักรและพวกผู้นำของคริสต์ศาสนจักร “คนทั้งหลายหนึ่งในสามส่วน” ซึ่งถูกเปิดโปงด้วยวิธีนั้นว่าตายฝ่ายวิญญาณแล้ว. (วิวรณ์ 9:15, ล.ม.) โยฮันคงต้องสงสัยว่า หลังจากนั้นวิบัติที่สามอาจก่ออะไรขึ้น. แต่เดี๋ยวก่อน! วิบัติที่สองยังไม่หมดสิ้น—จนกว่าเราเข้าถึงจุดซึ่งมีบันทึกไว้ในวิวรณ์ 11:14. ก่อนหน้านั้น โยฮันจะต้องเป็นพยานถึงการเปลี่ยนเหตุการณ์ซึ่งท่านเองก็มีส่วนด้วยอย่างขันแข็ง. เหตุการณ์เริ่มด้วยภาพอันน่าระทึกใจ.
2 “ข้าพเจ้าเห็นทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์มากอีกองค์หนึ่งลงมาจากสวรรค์ ท่านคลุมตัวด้วยเมฆ มีรุ้งบนศีรษะ หน้าท่านดุจดวงอาทิตย์ เท้าท่านดุจเสาไฟ.”—วิวรณ์ 10:1, ล.ม.
3. (ก) ใครคือ “ทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์มาก” องค์นั้น? (ข) รุ้งบนศีรษะของท่านมีความหมายอย่างไร?
3 ใครคือ “ทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์มาก” องค์นี้? เห็นได้ชัดว่าคือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงสง่าราศีในอีกบทบาทหนึ่ง. พระองค์ทรงประดับตัวด้วยเมฆแห่งการไม่ปรากฏแก่ตาซึ่งทำให้เรานึกถึงถ้อยคำที่โยฮันกล่าวถึงพระเยซูก่อนหน้านี้: “ดูเถิด! พระองค์จะเสด็จมาในเมฆ ตาทุกดวงจะเห็นพระองค์ รวมทั้งคนที่ได้แทงพระองค์.” (วิวรณ์ 1:7, ล.ม.; เทียบกับมัดธาย 17:2-5.) รุ้งบนศีรษะของพระองค์ทำให้เรานึกถึงนิมิตที่โยฮันได้เห็นก่อนหน้านี้อันเกี่ยวกับราชบัลลังก์ของพระยะโฮวา ที่มี “รุ้งที่เป็นดุจมรกต.” (วิวรณ์ 4:3, ล.ม.; เทียบกับยะเอศเคล 1:28.) รุ้งเป็นสิ่งบ่งถึงความสงบสุขและสันติที่อยู่รอบ ๆ ราชบัลลังก์ของพระเจ้า. ในทำนองเดียวกัน รุ้งบนศีรษะของทูตสวรรค์นั้นก็เป็นสิ่งระบุตัวท่านว่าเป็นทูตพิเศษแห่งข่าวสันติสุข เป็น “องค์สันติราช” ที่พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้า.—ยะซายา 9:6, 7.
4. อะไรที่มีการแสดงถึง (ก) โดยหน้าของทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์มากซึ่งเป็น “ดุจดวงอาทิตย์”? (ข) โดยเท้าของทูตสวรรค์ซึ่งเป็น “ดุจเสาไฟ”?
4 หน้าของทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์นั้น “ดุจดวงอาทิตย์.” ก่อนหน้านั้น ในนิมิตที่โยฮันเห็นพระเยซูในพระวิหารของพระเจ้า ท่านสังเกตว่า พระพักตร์พระเยซู “ดุจดวงอาทิตย์เมื่อส่องแสงกล้า.” (วิวรณ์ 1:16, ล.ม.) พระเยซูในฐานะ “ดวงอาทิตย์แห่งความชอบธรรม” ส่องแสงพร้อมกับปีกที่รักษาโรคเพื่อประโยชน์แก่คนเหล่านั้นที่เกรงกลัวพระนามของพระยะโฮวา. (มาลาคี 4:2) ไม่เฉพาะใบหน้าเท่านั้นแต่เท้าของทูตองค์นี้ด้วยที่โชติช่วง “ดุจเสาไฟ.” ท่าทางอันเด็ดเดี่ยวของทูตองค์นี้ก็เป็นท่าทางของผู้นั้นแหละซึ่งพระยะโฮวาประทาน “อำนาจทั้งสิ้น . . . ทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก.”—มัดธาย 28:18, ล.ม.; วิวรณ์ 1:14, 15, ล.ม.
5. โยฮันเห็นอะไรอยู่ในมือของทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์มาก?
5 โยฮันสังเกตดูต่อไปดังนี้: “ท่านถือม้วนหนังสือเล็ก ๆ ม้วนหนึ่งที่คลี่อยู่ เท้าขวาของท่านเหยียบบนทะเล เท้าซ้ายของท่านเหยียบบนแผ่นดิน.” (วิวรณ์ 10:2, ล.ม.) อีกม้วนหนึ่งหรือ? ใช่แล้ว แต่คราวนี้ม้วนหนังสือไม่ถูกประทับตรา. พร้อมกับโยฮัน เราสามารถคาดหมายจะเห็นการเปิดเผยอย่างน่าตื่นเต้นอีกในไม่ช้า. แต่ก่อนอื่น เราได้รับแจ้งถึงสภาพแวดล้อมสำหรับสิ่งที่จะตามมา.
6. (ก) ทำไมจึงเป็นการเหมาะสมที่พระบาทของพระเยซูเหยียบทั้งบนแผ่นดินและบนทะเล? (ข) บทเพลงสรรเสริญ 8:5-8 สำเร็จเป็นจริงโดยครบถ้วนเมื่อไร?
6 ให้เรากลับไปพิจารณาคำพรรณนาลักษณะพระเยซู. พระบาทที่ลุกเป็นไฟของพระองค์เหยียบอยู่บนแผ่นดินและบนทะเล ซึ่งเวลานี้พระองค์ทรงแผ่อำนาจเต็มที่. เหมือนที่มีกล่าวไว้ในบทเพลงสรรเสริญเชิงพยากรณ์นั้นว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] ทรงสร้างมนุษย์ [เยซู] ให้ต่ำกว่าพระเจ้าแต่หน่อยเดียว, แล้วทรงสวมมงกุฎแห่งสง่าราศีและเกียรติยศ. พระองค์ทรงมอบอำนาจให้ครอบครองบรรดาพระหัตถกิจของพระองค์; พระองค์ทรงให้สรรพสิ่งอยู่ใต้เท้าของมนุษย์นั้น: คือบรรดาฝูงแกะฝูงโค, และฝูงสัตว์ตามทุ่งนา, ทั้งนกในอากาศ, และปลาในทะเล, และสรรพสิ่งที่ไปมาทางทะเล.” (บทเพลงสรรเสริญ 8:5-8; ดูเฮ็บราย 2:5-9 ด้วย.) เพลงสรรเสริญบทนี้สำเร็จเป็นจริงครบถ้วนเมื่อปี 1914 คราวที่พระเยซูได้รับการตั้งเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า และสมัยสุดท้ายได้เริ่มต้น. ดังนั้น สิ่งที่โยฮันมองเห็นในนิมิตนี้จึงหมายถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ปีนั้น.—บทเพลงสรรเสริญ 110:1-6; กิจการ 2:34-36; ดานิเอล 12:4.
ฟ้าร้องทั้งเจ็ด
7. ทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์มากร้องออกมาด้วยท่าทีเช่นไร และเสียงร้องของท่านมีความหมายเช่นไร?
7 การใคร่ครวญของโยฮันเกี่ยวกับทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์ถูกขัดจังหวะโดยทูตองค์นี้: “และท่าน [ทูตสวรรค์] เปล่งเสียงดังเหมือนสิงโตคำราม. เมื่อท่านเปล่งเสียง ฟ้าร้องทั้งเจ็ดก็เปล่งเสียง.” (วิวรณ์ 10:3, ล.ม.) เสียงร้องดังสนั่นเช่นนั้นคงก่อความสนใจโดยฉับพลันแก่โยฮัน เป็นการยืนยันว่าพระเยซูเป็น “สิงโตแห่งตระกูลยูดาห์” อย่างแท้จริง. (วิวรณ์ 5:5, ล.ม.) อนึ่ง โยฮันก็คงตระหนักดีเช่นกันว่า บางครั้งมีการกล่าวถึงพระยะโฮวา “แผดพระสุรเสียง” เหมือนกัน. กล่าวในเชิงพยากรณ์แล้ว ที่พระยะโฮวาแผดพระสุรเสียงเป็นการประกาศการรวบรวมอิสราเอลขึ้นมาใหม่ และการมาถึงแห่ง “วันของพระยะโฮวา” ซึ่งเป็นวันแห่งการทำลายล้าง. (โฮเซอา 11:10; โยเอล 3:14, 16; อาโมศ 1:2; 3:7, 8) เช่นนั้นแล้ว เห็นได้ชัดว่าการร้องเสียงดังดุจสิงโตคำรามของทูตที่มีฤทธิ์องค์นี้เป็นการบอกเหตุล่วงหน้าให้ทั้งทะเลและแผ่นดินทราบถึงเหตุการณ์สำคัญทำนองเดียวกัน. การร้องนี้ทำให้ฟ้าร้องทั้งเจ็ดเปล่งเสียง.
8. ‘เสียงฟ้าร้องทั้งเจ็ด’ คืออะไร?
8 ก่อนหน้านี้โยฮันได้ยินเสียงฟ้าร้องดังจากราชบัลลังก์ของพระยะโฮวาโดยตรง. (วิวรณ์ 4:5) ย้อนไปถึงสมัยดาวิด บางครั้งก็พูดกันว่าเสียงฟ้าร้องจริง ๆ นั้นเป็น “สุรเสียงของพระยะโฮวา.” (บทเพลงสรรเสริญ 29:3) คราวที่พระยะโฮวาประกาศให้ได้ยินกันว่า พระองค์ทรงประสงค์ให้พระนามของพระองค์ได้รับเกียรติยศในช่วงเวลาที่พระเยซูทรงรับใช้ทางแผ่นดินโลก หลายคนได้ยินเหมือนเสียงฟ้าร้อง. (โยฮัน 12:28, 29) ดังนั้น จึงมีเหตุผลพึงสรุปว่า ‘เสียงฟ้าร้องทั้งเจ็ด’ คือคำตรัสของพระยะโฮวาเอง แสดงพระประสงค์ของพระองค์. ข้อเท็จจริงที่ว่ามีฟ้าร้อง “ทั้งเจ็ด” นั้น แสดงถึงความครบถ้วนของสิ่งที่โยฮันได้ยิน.
9. เสียงจากสวรรค์สั่งให้ทำอะไร?
9 แต่ฟังซิ! อีกเสียงหนึ่งดังขึ้นมา. เสียงนั้นบอกคำบัญชาซึ่งคงต้องฟังดูแปลกสำหรับโยฮัน: “เมื่อฟ้าร้องทั้งเจ็ดพูด ข้าพเจ้ากำลังจะลงมือเขียน แต่ข้าพเจ้าได้ยินเสียงตรัสจากสวรรค์บอกว่า ‘จงผนึกดวงตราปิดสิ่งที่ฟ้าร้องทั้งเจ็ดพูดและอย่าเขียนสิ่งเหล่านั้นไว้.’” (วิวรณ์ 10:4, ล.ม.) โยฮันคงอยากจะได้ยินและจดข่าวสารที่เหมือนเสียงฟ้าร้องสนั่นนั้น เช่นเดียวกับชนจำพวกโยฮันในทุกวันนี้ได้คอยด้วยความกระหายให้พระยะโฮวาทรงเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์เพื่อจะป่าวประกาศออกไป. การเปิดเผยดังกล่าวจะมีขึ้นตามเวลากำหนดของพระยะโฮวาเท่านั้น.—ลูกา 12:42; ดูในดานิเอล 12:8, 9 ด้วย.
ความลับอันศักดิ์สิทธิ์ถึงที่สิ้นสุด
10. ทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์มากได้สาบานโดยอ้างถึงผู้ใด และแถลงว่าอย่างไร?
10 ระหว่างนั้น พระยะโฮวาทรงมอบหมายงานอีกชิ้นหนึ่งแก่โยฮัน. ภายหลังฟ้าร้องทั้งเจ็ดดังขึ้นแล้ว ทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์ตรัสอีกครั้ง: “ทูตสวรรค์ที่ข้าพเจ้าเห็นท่านยืนอยู่บนทะเลและแผ่นดินนั้นได้ชูมือขวาขึ้นสู่ท้องฟ้า และปฏิญาณโดยอ้างพระองค์ผู้ทรงพระชนม์ตลอดไปเป็นนิตย์ ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์กับสิ่งที่อยู่ในสวรรค์ แผ่นดินโลกกับสิ่งที่อยู่บนแผ่นดินโลก และทะเลกับสิ่งที่อยู่ในทะเล โดยกล่าวว่า ‘จะไม่มีการชักช้าอีกต่อไป.’” (วิวรณ์ 10:5, 6, ล.ม.) ทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์มากได้สาบานโดยอ้างผู้ใด? พระเยซูทรงสง่าราศีไม่สาบานโดยการอ้างถึงพระองค์เอง แต่ทรงอ้างถึงผู้ทรงอำนาจใหญ่ยิ่ง พระยะโฮวา พระผู้สร้างซึ่งทรงอมฤตยูแห่งฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก. (ยะซายา 45:12, 18) ด้วยการสาบานอย่างนี้ ทูตสวรรค์องค์นั้นได้รับรองกับโยฮันว่า ในส่วนของพระเจ้าจะไม่มีการล่าช้าอีกต่อไป.
11, 12. (ก) ที่ว่า “จะไม่มีการชักช้าอีกต่อไป” นั้นหมายความอย่างไร? (ข) อะไรจะถูกทำให้ถึงที่สิ้นสุด?
11 คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ชักช้า” ณ ที่นี้คือโครโนส ซึ่งหมายความตามตัวอักษรว่า “เวลา.” บางคนจึงมีความเห็นว่า คำประกาศของทูตองค์นี้น่าจะแปลเป็น “จะไม่มีเวลาอีกแล้ว” ราวกับเวลาซึ่งเรารู้จักนี้จะสิ้นสุด. แต่คำโครโนส ที่ใช้ในที่นี้ไม่มีคำนำหน้าที่ระบุแน่นอน. ดังนั้น คำนี้จึงไม่หมายถึงเวลาโดยทั่วไป แต่เป็น “สมัย” หรือ “ช่วงเวลาหนึ่ง.” พูดอีกนัยหนึ่ง พระยะโฮวาจะไม่ให้มีเวลา (หรือการชักช้า) อีกต่อไป. คำกรีกที่ได้มาจากโครโนส ถูกนำไปใช้ที่เฮ็บราย 10:37 ด้วย ซึ่งเปาโล ยกมาจากฮะบาฆูค 2:3, 4 (ล.ม.) เขียนว่า “พระองค์ผู้จะเสด็จมา . . . จะไม่ทรงเนิ่นช้า.”
12 “จะไม่มีการชักช้าอีกต่อไป” ถ้อยคำเหล่านั้นเป็นที่ดึงดูดใจชนจำพวกโยฮันซึ่งขณะนี้มีอายุมากแล้วเสียนี่กระไร! จะไม่มีการล่าช้าในแง่ใด? โยฮันแจ้งให้เราทราบดังนี้: “แต่ในเวลาที่จะมีเสียงแตรซึ่งทูตสวรรค์องค์ที่เจ็ดจะเป่านั้น ความลับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าที่มีอยู่ในข่าวดีที่พระองค์ทรงประกาศแก่ทาสของพระองค์ซึ่งก็คือพวกผู้พยากรณ์นั้นก็จะสำเร็จครบถ้วนอย่างแท้จริง.” (วิวรณ์ 10:7, ล.ม.) บัดนี้เวลาของพระยะโฮวามาถึงแล้วเพื่อจะทรงให้ความลับอันศักดิ์สิทธิ์บรรลุขั้นสุดยอดอันน่ายินดี พร้อมด้วยความสำเร็จอันรุ่งโรจน์!
13. ความลับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าคืออะไร?
13 ความลับอันศักดิ์สิทธิ์นี้ได้แก่อะไร? ความลับนี้เกี่ยวข้องกับพงศ์พันธุ์ที่ทรงสัญญาไว้ครั้งแรกในสวนเอเดน ซึ่งอันดับแรกก็คือพระเยซูคริสต์. (เยเนซิศ 3:15; 1 ติโมเธียว 3:16) อนึ่ง ความลับนี้ยังเกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์ของผู้หญิงที่ให้กำเนิดพงศ์พันธุ์นี้. (ยะซายา 54:1; ฆะลาเตีย 4:26-28) นอกจากนั้น ความลับนี้ยังครอบคลุมถึงสมาชิกอันดับรองแห่งพงศ์พันธุ์รวมทั้งราชอาณาจักรที่พงศ์พันธุ์จะปกครองด้วย. (ลูกา 8:10; เอเฟโซ 3:3-9; โกโลซาย 1:26, 27; 2:2; วิวรณ์ 1:5, 6) ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์อันหาที่เปรียบไม่ได้ก็จะต้องได้ประกาศไปทั่วโลกในช่วงสมัยสุดท้ายนี้.—มัดธาย 24:14.
14. ทำไมพิบัติที่สามจึงเกี่ยวโยงกับราชอาณาจักรของพระเจ้า?
14 แน่นอน นี่เป็นข่าวดีที่สุด. กระนั้น ในวิวรณ์ 11:14, 15 มีการเชื่อมโยงวิบัติที่สามเข้ากับราชอาณาจักร. เพราะเหตุใด? ก็เพราะสำหรับคนเหล่านั้นในท่ามกลางมนุษยชาติซึ่งพอใจกับระบบของซาตานนั้น การเป่าแตรประกาศข่าวดีว่า ความลับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าถึงที่สิ้นสุด กล่าวคือราชอาณาจักรมาซีฮาของพระเจ้ามาแล้ว นั้นเป็นข่าวแห่งภัยพิบัติ. (เทียบกับ 2 โกรินโธ 2:16.) นั่นหมายความว่า การเตรียมการของโลกซึ่งพวกเขาชอบมากนั้นใกล้จะถูกทำลายอยู่แล้ว. เสียงฟ้าร้องทั้งเจ็ดซึ่งบอกสัญญาณแจ้งภัยรุนแรงนั้นยิ่งชัดขึ้นและดังขึ้นเมื่อวันใหญ่แห่งการแก้แค้นของพระยะโฮวาใกล้เข้ามา.—ซะฟันยา 1:14-18.
ม้วนหนังสือที่คลี่อยู่
15. เสียงจากสวรรค์กับทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์มากบอกอะไรแก่โยฮัน และมีผลอย่างไรกับโยฮัน?
15 ขณะที่โยฮันรอการเป่าแตรที่เจ็ดและการทำให้ความลับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าถึงที่สิ้นสุด ท่านได้รับมอบหมายหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง: “แล้วข้าพเจ้าได้ยินเสียงตรัสจากสวรรค์บอกข้าพเจ้าอีกว่า ‘จงไปรับม้วนหนังสือที่คลี่อยู่ในมือทูตสวรรค์องค์นั้นซึ่งยืนอยู่บนทะเลและแผ่นดิน.’ ข้าพเจ้าจึงไปหาทูตสวรรค์องค์นั้นและขอม้วนหนังสือเล็ก ๆ ม้วนนั้น. ท่านบอกข้าพเจ้าว่า ‘จงรับไปกินให้หมด มันจะทำให้ท้องเจ้าขม แต่ในปากเจ้ามันจะหวานดุจน้ำผึ้ง.’ ข้าพเจ้าจึงรับม้วนหนังสือเล็ก ๆ ม้วนนั้นจากมือทูตสวรรค์มากินเข้าไป และในปากข้าพเจ้าก็หวานดุจน้ำผึ้ง แต่เมื่อข้าพเจ้ากินหมดแล้ว ท้องของข้าพเจ้าก็ขม. แล้วข้าพเจ้าได้ยินเสียงบอกว่า ‘เจ้าต้องพยากรณ์อีกเกี่ยวกับชนชาติ ประเทศ และภาษาต่าง ๆ รวมทั้งกษัตริย์หลายองค์.’”—วิวรณ์ 10:8-11, ล.ม.
16. (ก) ผู้พยากรณ์ยะเอศเคลมีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกับโยฮันอย่างไร? (ข) ทำไมม้วนหนังสือเล็ก ๆ จึงมีรสหวานแก่โยฮัน แต่ทำไมหนังสือนั้นจึงขมแก่ท้อง?
16 ประสบการณ์ของโยฮันค่อนข้างจะคล้ายกันกับของยะเอศเคลในระหว่างที่ถูกเนรเทศในประเทศบาบิโลเนีย. ท่านก็เช่นกันได้รับคำสั่งให้กินม้วนหนังสือซึ่งมีรสหวานในปาก. แต่เมื่อลงไปในกระเพาะแล้ว มันทำให้ท่านมีหน้าที่รับผิดชอบต้องทำนายถึงสิ่งที่ขมขื่นสำหรับเรือนอิสราเอลที่กบฏ. (ยะเอศเคล 2:8–3:15) ม้วนหนังสือที่คลี่ออกแล้วที่พระเยซูคริสต์ผู้ทรงสง่าราศีทรงมอบแก่โยฮันก็เป็นข่าวสารจากพระเจ้าเช่นเดียวกัน. โยฮันจะต้องประกาศเกี่ยวกับ “ชนชาติ ประเทศ และภาษาต่าง ๆ รวมทั้งกษัตริย์หลายองค์.” ม้วนหนังสือที่ท่านกินเข้าไปนั้นหวานสำหรับท่านเพราะว่ามีแหล่งมาจากพระเจ้า. (เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 119:103; ยิระมะยา 15:15, 16.) แต่ท่านพบว่ามันมีรสขมย่อยยากเพราะ ดังที่เคยเป็นมาแล้วกับยะเอศเคล ม้วนหนังสือนั้นบอกล่วงหน้าถึงสิ่งที่ไม่น่าชื่นชมสำหรับมนุษย์ที่ชอบกบฏ.—บทเพลงสรรเสริญ 145:20.
17. (ก) ใครคือผู้ซึ่งบอกโยฮันให้พยากรณ์ “อีก” และนั่นหมายความอย่างไร? (ข) เมื่อไรที่ภาพนิมิตอันน่าทึ่งซึ่งโยฮันได้เห็นนั้นจะสำเร็จเป็นจริง?
17 ท่านเหล่านั้นที่สั่งโยฮันให้พยากรณ์อีกนั้นได้แก่พระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูอย่างไม่ต้องสงสัย. แม้โยฮันถูกเนรเทศไปอยู่ที่เกาะปัตโมส แต่ท่านก็ได้พยากรณ์เกี่ยวกับชนชาติ ประเทศ และภาษาต่าง ๆ รวมทั้งกษัตริย์หลายองค์อยู่แล้วโดยความรู้เท่าที่ได้บันทึกลงไว้ในพระธรรมวิวรณ์. คำ “อีก” หมายความว่า ท่านจะต้องเขียนและเผยแพร่ความรู้ส่วนที่เหลือที่มีบันทึกไว้ในพระธรรมวิวรณ์. แต่จำไว้ว่า ตามจริงแล้วในขณะนั้นโยฮันกำลังร่วมอยู่ในนิมิตเชิงพยากรณ์. แท้จริง สิ่งที่ท่านบันทึกนั้นเป็นคำพยากรณ์ซึ่งจะสำเร็จเป็นจริงภายหลังปี 1914 เมื่อทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์มากยืนกางขาเหยียบบนแผ่นดินและบนทะเล. เช่นนั้นแล้ว ภาพอันน่าตื่นเต้นเช่นนี้มีความหมายเช่นไรต่อชนจำพวกโยฮันสมัยปัจจุบัน?
ม้วนหนังสือเล็ก ๆ ในสมัยปัจจุบัน
18. ณ ตอนเริ่มต้นแห่งวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า ชนจำพวกโยฮันได้แสดงความสนใจอย่างไรในพระธรรมวิวรณ์?
18 สิ่งที่โยฮันมองเห็นนั้นเป็นภาพอันน่าทึ่งเล็งถึงประสบการณ์ของชนจำพวกโยฮันในตอนเริ่มแรกแห่งวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า. ในครั้งนั้น พวกเขายังไม่มีความเข้าใจครบถ้วนในเรื่องพระประสงค์ของพระยะโฮวา รวมทั้งสิ่งที่ฟ้าร้องทั้งเจ็ดบ่งนัยถึง. กระนั้นก็ตาม เขาให้ความสนใจต่อพระธรรมวิวรณ์อย่างลึกซึ้ง และระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่ ชาลส์ เทซ รัสเซลล์ ก็ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้เกี่ยวกับหลายส่วนในพระธรรมวิวรณ์. หลังจากท่านสิ้นชีวิตในปี 1916 ได้มีการรวบรวมงานเขียนของท่านหลายเรื่องและจัดพิมพ์เป็นหนังสือความลึกลับที่สำเร็จแล้ว (ภาษาอังกฤษ). แต่ต่อมา ปรากฏว่าหนังสือเล่มนี้ไม่เป็นที่น่าพอใจเกี่ยวกับคำอธิบายพระธรรมวิวรณ์. ชนที่เหลือแห่งพวกพี่น้องของพระคริสต์จึงต้องรอต่อไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่านิมิตนั้นเริ่มสำเร็จเป็นจริง เพื่อจะได้ความเข้าใจถ่องแท้ในบันทึกที่มีขึ้นโดยการดลใจนั้น.
19. (ก) พระยะโฮวาทรงใช้ชนจำพวกโยฮันอย่างไรแม้กระทั่งก่อนที่เสียงฟ้าร้องทั้งเจ็ดจะมีการแถลงออกมาอย่างครบถ้วน? (ข) ชนจำพวกโยฮันได้รับม้วนหนังสือเล็ก ๆ ที่คลี่อยู่นั้นเมื่อไร และนั่นหมายถึงอะไรสำหรับพวกเขา?
19 อย่างไรก็ดี เหมือนกับโยฮัน พระยะโฮวาทรงใช้พวกเขาก่อนฟ้าร้องทั้งเจ็ดได้เปล่งเสียงดังเต็มที่. พวกเขาได้ประกาศอย่างขยันขันแข็งถึง 40 ปีก่อนปี 1914 และพวกเขาพยายามจะคงความกระตือรือร้นเอาไว้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง. พวกเขาได้พิสูจน์ตัวเป็นคนที่เมื่อนายมาถึงก็ได้พบว่ากำลังแจกจ่ายอาหารตามเวลาอันสมควรแก่เหล่าคนรับใช้. (มัดธาย 24:45-47) ฉะนั้น ในปี 1919 พวกเขาจึงเป็นชนจำพวกที่ได้รับม้วนหนังสือเล็ก ๆ ที่คลี่อยู่ นั่นคือ ข่าวสารเปิดผนึกเพื่อประกาศแก่มนุษยชาติ. เช่นเดียวกับยะเอศเคล พวกเขามีข่าวสารแจ้งแก่องค์การที่ไม่ซื่อสัตย์ คือคริสต์ศาสนจักร ซึ่งอ้างว่ารับใช้พระเจ้า แต่ที่จริงแล้วไม่ได้ทำเช่นนั้น. เช่นเดียวกับโยฮัน พวกเขาต้องประกาศให้มากขึ้นเกี่ยวกับ “ชนชาติ ประเทศ และภาษาต่าง ๆ รวมทั้งกษัตริย์หลายองค์.”
20. การที่โยฮันกินม้วนหนังสือนั้นจนหมดเป็นภาพเล็งถึงอะไร?
20 การที่โยฮันกินม้วนหนังสือนั้นเป็นภาพที่แสดงว่า เหล่าอนุชาของพระคริสต์ได้รับเอาหน้าที่มอบหมายนี้. งานนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเขาถึงขีดที่ว่า บัดนี้ พวกเขาได้รับการระบุตัวด้วยส่วนนี้แห่งพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า เขาได้รับการบำรุงเลี้ยงจากพระคำส่วนนั้น. แต่ข่าวที่พวกเขาต้องประกาศมีคำพิพากษาของพระยะโฮวาอยู่ด้วยซึ่งมนุษย์เป็นอันมากกินไม่ลง. อันที่จริง ข่าวนั้นรวมไปถึงภัยพิบัติที่แจ้งไว้ล่วงหน้าในวิวรณ์บท 8. แต่นั่นเป็นสิ่งที่หวานสำหรับคริสเตียนที่สุจริตใจที่จะรู้จักคำพิพากษาเหล่านั้นและตระหนักว่า พระยะโฮวาทรงใช้พวกเขาอีกให้ประกาศคำพิพากษานั้น.—บทเพลงสรรเสริญ 19:9, 10.
21. (ก) เป็นไปอย่างไรที่ข่าวสารของม้วนหนังสือเล็ก ๆ นั้นกลายเป็นสิ่งที่หวานสำหรับชนฝูงใหญ่ด้วย? (ข) ทำไมข่าวดีนั้นจึงเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ต่อต้าน?
21 ต่อมา ข่าวสารในม้วนหนังสือนี้กลายเป็นสิ่งที่หวานแก่ “ชนฝูงใหญ่ . . . จากทุกประเทศ ทุกตระกูล ทุกชนชาติ และทุกภาษา” เช่นกัน ซึ่งกำลังทอดถอนใจเนื่องจากได้พบเห็นสิ่งน่ารังเกียจที่กระทำกันในคริสต์ศาสนจักร. (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; ยะเอศเคล 9:4) คนเหล่านี้เช่นกัน ประกาศข่าวดีอย่างแข็งขันด้วยการใช้ถ้อยคำอ่อนหวานและสุภาพเพื่อพรรณนาการจัดเตรียมอันน่าพิศวงของพระยะโฮวาแก่คริสเตียนที่เป็นเหมือนแกะ. (บทเพลงสรรเสริญ 37:11, 29; โกโลซาย 4:6) แต่สำหรับผู้ต่อต้าน นี่เป็นข่าวร้าย. ทำไม? นั่นหมายความว่า ระบบซึ่งเขาไว้วางใจ และซึ่งอาจถึงกับเคยนำความพึงพอใจชั่วคราวมาสู่พวกเขา จะต้องสูญสิ้น. สำหรับคนจำพวกนี้ ข่าวดีนั้นหมายถึงความพินาศ.— ฟิลิปปอย 1:27, 28; เทียบกับพระบัญญัติ 28:15; 2 โกรินโธ 2:15, 16.
[ภาพหน้า 160]
ชนจำพวกโยฮันและเหล่าผู้ร่วมงานของเขาประกาศข่าวสารที่หวานและขมแก่มนุษยชาติทั้งมวล