พระยะโฮวา พระเจ้าผู้ทรง “พร้อมจะให้อภัย”
“ข้าแต่พระยะโฮวา, พระองค์ทรงคุณความดีและพร้อมจะให้อภัย.”—บทเพลงสรรเสริญ 86:5, ล.ม.
1. ภาระหนักอะไรที่กษัตริย์ดาวิดแบกอยู่ และท่านพบการปลอบประโลมอย่างไรสำหรับความหนักใจของท่าน?
กษัตริย์ดาวิดแห่งยิศราเอลโบราณทรงทราบว่าภาระแห่งสติที่รู้สึกผิดนั้นหนักสักเพียงใด. ท่านเขียนดังนี้: “การผิดของข้าพเจ้าท่วมศีรษะข้าพเจ้า; ดุจภาระอันหนักเกินที่ข้าพเจ้าจะทนได้แล้ว. ตัวข้าพเจ้าอ่อนกำลังฟกช้ำมาก: ข้าพเจ้าได้ร้องครวญครางเพราะความทุกข์ลำบากใจ.” (บทเพลงสรรเสริญ 38:4, 8) อย่างไรก็ตาม ดาวิดพบการปลอบโยนสำหรับความหนักใจของท่าน. ท่านทราบว่า แม้พระยะโฮวาทรงชังบาป แต่พระองค์หาได้เกลียดคนบาปไม่—หากคนนั้นกลับใจอย่างแท้จริงและทิ้งแนวทางผิดบาปของตน. (บทเพลงสรรเสริญ 32:5; 103:3) ด้วยความเชื่อเต็มเปี่ยมในความเต็มพระทัยของพระยะโฮวาที่จะแสดงความเมตตาต่อคนที่กลับใจ ดาวิดกล่าวดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, พระองค์ทรงคุณความดีและพร้อมจะให้อภัย.”—บทเพลงสรรเสริญ 86:5, ล.ม.
2, 3. (ก) เมื่อเราทำบาป อาจยังผลทำให้เราแบกภาระอะไร และเหตุใดภาระนี้เป็นประโยชน์? (ข) มีอันตรายอะไรในการ “จมลงใน” ห้วงทุกข์ด้วยความรู้สึกผิด? (ค) คัมภีร์ไบเบิลให้คำรับรองอะไรแก่เราเกี่ยวกับความเต็มพระทัยของพระยะโฮวาที่จะให้อภัย?
2 เมื่อเราทำบาป เราก็อาจรับผลโดยแบกภาระหนักแห่งสติรู้สึกผิดชอบที่เจ็บปวดด้วยเช่นกัน. ความสำนึกเสียใจในความผิดเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดา และเป็นประโยชน์เสียด้วยซ้ำ. ความสำนึกเสียใจสามารถกระตุ้นเราให้ทำตามขั้นตอนในเชิงเสริมสร้างเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดของเรา. อย่างไรก็ตาม คริสเตียนบางคนจมอยู่ในห้วงทุกข์ด้วยความรู้สึกผิด. หัวใจที่ตำหนิตัวเองของเขาอาจคิดอยู่แต่ว่า พระเจ้าจะไม่ทรงให้อภัยเขาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าเขาจะกลับใจอย่างไรก็ตาม. เมื่อคิดทบทวนในเรื่องความผิดที่เธอได้ทำ พี่น้องหญิงคนหนึ่งกล่าวดังนี้: “มันเป็นความรู้สึกที่ยากจะทนทานทีเดียวเมื่อคุณคิดว่า พระยะโฮวาอาจจะไม่รักคุณอีกต่อไปแล้ว.” แม้แต่หลังจากที่เธอกลับใจและยอมรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากผู้ปกครองในประชาคม เธอก็ยังคงรู้สึกไม่คู่ควรจะได้รับการให้อภัยจากพระเจ้า. เธอเล่าว่า “ไม่มีสักวันเดียวผ่านไปโดยที่ดิฉันไม่ได้ขอการให้อภัยจากพระยะโฮวา.” ถ้าเรา “จมลงใน” ความรู้สึกผิด ซาตานอาจพยายามทำให้เรายอมแพ้ รู้สึกว่าเราไม่คู่ควรจะรับใช้พระยะโฮวา.—2 โกรินโธ 2:5-7, 11.
3 แต่พระยะโฮวาหาได้มีทัศนะแบบนั้นเลยแม้แต่น้อย! พระคำของพระองค์รับรองกับเราว่า เมื่อเราแสดงการกลับใจที่เป็นความรู้สึกจากหัวใจอย่างแท้จริงแล้ว พระยะโฮวาทรงเต็มพระทัยและพร้อมจะให้อภัย. (สุภาษิต 28:13) ดังนั้น หากดูเหมือนว่าคุณไม่มีวันจะได้รับการให้อภัยจากพระเจ้า สิ่งที่จำเป็นอาจได้แก่การมีความเข้าใจดีขึ้นถึงเหตุผลและวิธีที่พระองค์ทรงให้อภัย.
เหตุใดพระยะโฮวาทรง “พร้อมจะให้อภัย”?
4. พระยะโฮวาทรงระลึกถึงอะไรเกี่ยวกับธรรมชาติของตัวเรา และเรื่องนี้มีผลกระทบต่อวิธีที่พระองค์ปฏิบัติต่อเราอย่างไร?
4 เราอ่านดังนี้: “ตะวันออกไกลจากตะวันตกเท่าใด, พระองค์ทรงปลดการละเมิดของเราจากเราไปไกลเท่านั้น บิดาสงสารบุตรของตนฉันใด พระเจ้าทรงสงสารบรรดาคนที่ยำเกรงพระองค์ฉันนั้น.” เหตุใดพระยะโฮวาทรงประสงค์จะแสดงความเมตตา? ข้อต่อมาให้คำตอบ “เพราะพระองค์ทรงทราบโครงร่างของเรา พระองค์ทรงระลึกว่าเราเป็นแต่ผงคลี.” (บทเพลงสรรเสริญ 103:12-14, ฉบับแปลใหม่ สดุดี) จริงทีเดียว พระยะโฮวาไม่ทรงลืมว่าเราเป็นสิ่งทรงสร้างที่เกิดจากผงคลี มีจุดเปราะบางหรือข้ออ่อนแอซึ่งเป็นผลของความไม่สมบูรณ์. วลีที่ว่าพระองค์ทรงทราบ “โครงร่างของเรา” ทำให้เราคิดถึงการที่คัมภีร์ไบเบิลเปรียบพระยะโฮวาดุจช่างปั้นหม้อและเราเป็นเหมือนภาชนะที่พระองค์ทำขึ้น.a (ยิระมะยา 18:2-6) ช่างปั้นหม้อจับถือภาชนะดินเหนียวของตนอย่างมั่นคงแต่ก็ด้วยความละมุนละไม โดยคำนึงถึงลักษณะพื้นฐานของหม้อนั้นเสมอ. เช่นเดียวกัน พระยะโฮวาช่างปั้นหม้อองค์ยิ่งใหญ่ก็ทรงปรับการปฏิบัติของพระองค์ต่อเราโดยเห็นแก่ความเปราะบางแห่งธรรมชาติที่ผิดบาปของตัวเรา.—เทียบกับ 2 โกรินโธ 4:7.
5. พระธรรมโรมพรรณนาอย่างไรเกี่ยวกับอำนาจเกาะกุมอันทรงพลังของบาปที่มีต่อเนื้อหนังที่ไม่สมบูรณ์ของเรา?
5 พระยะโฮวาทรงเข้าใจว่าบาปมีพลังมากเพียงไร. พระคัมภีร์พรรณนาบาปว่า เป็นพลังที่มีกำลังแรงซึ่งเกาะกุมคนเราไว้แน่นให้อยู่ในอำนาจที่ทำให้ถึงตาย. อำนาจเกาะกุมแห่งบาปนี้แรงขนาดไหน? ในพระธรรมโรม อัครสาวกเปาโลผู้ได้รับการดลใจอธิบายเรื่องนี้โดยใช้ถ้อยคำที่ให้ภาพพจน์ดังนี้: เราอยู่ “ใต้อำนาจของบาป” เหมือนทหารอยู่ใต้ผู้บังคับบัญชา (โรม 3:9, ฉบับแปลใหม่); บาป “ครอบงำ” มนุษย์เราดุจกษัตริย์องค์หนึ่ง (โรม 5:21 ล.ม.); บาป “มีอยู่” หรือ “อยู่” ในตัวเรา (โรม 7:17, 20); “กฎ” ของบาปทำงานอยู่ในตัวเราโดยตลอด อันที่จริง พยายามควบคุมวิถีชีวิตเราด้วยซ้ำ. (โรม 7:23, 25) ช่างเป็นการต่อสู้ที่ยากลำบากอะไรเช่นนี้ที่เราต้องต้านทานการเกาะกุมอันทรงพลังของบาปต่อเนื้อหนังที่ไม่สมบูรณ์ของเรา!—โรม 7:21, 24.
6. พระยะโฮวาทรงมีทัศนะอย่างไรต่อคนที่แสวงหาความเมตตาจากพระองค์ด้วยหัวใจที่สำนึกเสียใจในความผิด?
6 ฉะนั้น พระเจ้าของเราผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาทรงทราบว่าการเชื่อฟังอย่างสมบูรณ์พร้อมเป็นไปไม่ได้สำหรับเรา ไม่ว่าหัวใจเราอาจต้องการเชื่อฟังพระองค์มากขนาดไหน. (1 กษัตริย์ 8:46) พระองค์ทรงรับรองกับเราด้วยความรักว่า เมื่อเราแสวงหาความเมตตาอย่างบิดาจากพระองค์ด้วยหัวใจที่สำนึกเสียใจในความผิด พระองค์จะทรงโปรดให้อภัย. ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวดังนี้: “เครื่องบูชาที่สมควรแก่พระเจ้าคือจิตต์วิญญาณที่ชอกช้ำแล้ว: ข้าแต่พระเจ้า, ใจแตกและฟกช้ำแล้วนั้นพระองค์ไม่ดูถูกดูหมิ่นเลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 51:17) พระยะโฮวาจะไม่ปฏิเสธหรือหันพระพักตร์ไปจากหัวใจที่แตกและชอกช้ำเนื่องด้วยภาระแห่งความผิด. ถ้อยคำดังกล่าวช่างพรรณนาความพร้อมจะให้อภัยของพระยะโฮวาเอาไว้อย่างงดงามยิ่งนัก!
7. เหตุใดเราไม่อาจทึกทักเอาว่าพระเจ้าจะทรงเมตตา?
7 อย่างไรก็ตาม นี่หมายความไหมว่าเราสามารถทึกทักว่าพระเจ้าจะทรงเมตตา โดยใช้ธรรมชาติที่ผิดบาปของเราเป็นข้อแก้ตัวที่จะทำบาป? ไม่ใช่อย่างนั้นแน่! พระยะโฮวาไม่ทรงถูกชักนำแต่เพียงโดยอารมณ์ความรู้สึก. ความเมตตาของพระองค์มีขีดจำกัด. พระองค์จะไม่มีทางอภัยโทษให้คนที่ทำบาปโดยเจตนาอย่างมุ่งร้ายด้วยใจแข็งกระด้าง อีกทั้งไม่ยอมกลับใจ. (เฮ็บราย 10:26-31) ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อทรงเห็นหัวใจที่ “แตกและฟกช้ำ” พระองค์ทรง “พร้อมจะให้อภัย.” (สุภาษิต 17:3, ล.ม.) ให้เรามาพิจารณาภาษาอันเปี่ยมด้วยความหมายที่คัมภีร์ไบเบิลใช้พรรณนาความครบถ้วนแห่งการให้อภัยของพระเจ้า.
พระยะโฮวาทรงให้อภัยอย่างเต็มที่ขนาดไหน?
8. จริง ๆ แล้วพระยะโฮวาทรงทำอะไรเมื่อพระองค์ยกบาปของเรา และเรื่องนี้ควรมีผลเช่นไรต่อเรา?
8 กษัตริย์ดาวิดผู้กลับใจกล่าวดังนี้: “บาปของข้าพเจ้า ๆ ทูลรับสารภาพต่อพระองค์, และไม่ได้ปิดบังซ่อนการอสัตย์อธรรมของข้าพเจ้าไว้: ข้าพเจ้าได้กล่าวว่า, การล่วงละเมิดนั้นข้าพเจ้าจะรับสารภาพต่อพระยะโฮวา; และพระองค์ได้ทรงโปรดยก ความอสัตย์อธรรมของข้าพเจ้าเสีย.” (บทเพลงสรรเสริญ 32:5) คำ “ทรงโปรดยก” แปลจากคำฮีบรูซึ่งโดยพื้นฐานแล้วหมายถึง “ยกขึ้น” “แบก, ถือ.” การใช้คำนี้ ณ ที่นี้จึงแสดงนัยถึง ‘การนำเอาความผิด, บาป, หรือการล่วงละเมิดไปเสีย.’ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าพระยะโฮวาทรงยกบาปของดาวิดขึ้นมาและพาเอาบาปนั้นไปเสีย. (เทียบกับเลวีติโก 16:20-22.) ไม่ต้องสงสัยว่า เรื่องนี้ช่วยผ่อนคลายความรู้สึกผิดที่ดาวิดแบกรับอยู่. (เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 32:3.) เราก็เช่นกัน สามารถมีความมั่นใจเต็มเปี่ยมในพระเจ้าผู้ทรงยกบาปของคนที่แสวงหาการให้อภัยจากพระองค์โดยอาศัยความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์. (มัดธาย 20:28; เทียบกับยะซายา 53:12.) คนที่พระยะโฮวาทรงยกบาปของเขาขึ้นมาและพาเอาไปเสียนั้นไม่จำเป็นต้องแบกภาระแห่งความรู้สึกผิดเนื่องด้วยบาปในอดีตนั้นอีกต่อไป.
9. คำตรัสของพระเยซูที่ว่า “ขอทรงโปรดยกหนี้ของข้าพเจ้า” มีความหมายเช่นไร?
9 พระเยซูทรงใช้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้เพื่อแสดงให้เห็นวิธีที่พระยะโฮวาทรงให้อภัย. ตัวอย่างเช่น พระเยซูทรงกระตุ้นเตือนเราให้อธิษฐานดังนี้: “ขอทรงโปรดยกหนี้ของข้าพเจ้า.” (มัดธาย 6:12) โดยกล่าวอย่างนี้ พระเยซูทรงเปรียบ “บาป” เป็นเช่น “หนี้.” (ลูกา 11:4) เมื่อเราทำบาป เราก็กลายเป็น “ผู้ที่เป็นหนี้” พระยะโฮวา. คำกริยากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ยก” อาจหมายถึง “ปล่อยไปหรือยกเลิก หนี้อันใดอันหนึ่ง โดยไม่ทวงถาม.” ในแง่หนึ่ง เมื่อพระยะโฮวาทรงให้อภัย พระองค์ทรงยกเลิกหนี้นั้น ซึ่งมิฉะนั้นแล้วก็ต้องคิดรวมเข้ากับบัญชีของเรา. โดยวิธีนี้ คนบาปที่กลับใจสามารถได้การปลอบประโลม. พระยะโฮวาจะไม่ทวงให้จ่ายหนี้ที่พระองค์ได้ทรงยกเลิกไปแล้ว!—บทเพลงสรรเสริญ 32:1, 2; เทียบกับมัดธาย 18:23-35.
10, 11. (ก) วลีที่ว่า “ได้ลบล้างเสีย” ซึ่งพบที่กิจการ 3:19 สื่อแนวคิดอะไร? (ข) มีการพรรณนาอย่างไรในเรื่องความครบถ้วนแห่งการให้อภัยของพระยะโฮวา?
10 ที่กิจการ 3:19 คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาอีกวิธีหนึ่งเกี่ยวกับการให้อภัยของพระเจ้าซึ่งให้ภาพพจน์อย่างชัดเจนดังนี้: “เหตุฉะนั้นท่านทั้งหลายจงหันกลับและตั้งใจเสียใหม่, เพื่อความผิดบาปของท่านจะได้ลบล้างเสีย.” วลีที่ว่า “ได้ลบล้างเสีย” แปลจากคำกริยากรีกซึ่งโดยอุปมาแล้วอาจหมายถึง “เช็ดออก, ขจัดออก, ยกเลิกหรือทำลาย.” ตามความเห็นของผู้คงแก่เรียนบางคน แนวคิดที่แสดงในที่นี้คือการลบสิ่งที่เขียนด้วยมือ. จะทำเช่นนี้ได้อย่างไร? หมึกที่ใช้กันทั่วไปในสมัยโบราณทำจากส่วนผสมที่มีผงถ่าน, กาวยางไม้, และน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย. หลังจากที่ใครเขียนด้วยหมึกอย่างนี้ทิ้งไว้ไม่นานเกินไปนัก เขาก็สามารถใช้ฟองน้ำเปียกเช็ดข้อความที่เขียนไว้นั้นออกได้.
11 นั่นแหละคือภาพพรรณนาที่งดงามแห่งความครบถ้วนของการให้อภัยจากพระยะโฮวา. เมื่อพระองค์ทรงให้อภัยบาปของเรา ก็เป็นราวกับว่าพระองค์ทรงหยิบฟองน้ำขึ้นมาเช็ดบาปนั้นออกไป. เราไม่จำเป็นต้องกลัวว่าพระองค์จะเก็บบาปนั้นไว้ลงโทษเราในอนาคต เพราะคัมภีร์ไบเบิลเผยให้เห็นแง่มุมอื่นอีกเกี่ยวด้วยความเมตตาของพระยะโฮวาที่น่าทึ่งอย่างแท้จริง นั่นคือ เมื่อพระองค์ทรงให้อภัยแล้ว พระองค์ทรงลืมเสีย!
‘เราจะไม่ระลึกถึงความผิดของเขาอีกเลย’
12. เมื่อคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระยะโฮวาทรงลืมบาปของเราเสีย นั่นหมายความไหมว่าพระองค์ไม่สามารถหวนระลึกถึงบาปเหล่านั้น และทำไมคุณจึงตอบอย่างนั้น?
12 โดยทางผู้พยากรณ์ยิระมะยา พระยะโฮวาทรงสัญญาเกี่ยวด้วยคนที่อยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่ดังนี้: “เราจะยกความบาปของเขา, แลไม่ระลึกถึงความผิดของเขาอีกเลย.” (ยิระมะยา 31:34) นี่หมายความไหมว่าเมื่อพระยะโฮวาทรงให้อภัย พระองค์ไม่สามารถหวนระลึกถึงบาปนั้นได้อีกต่อไป? ไม่ใช่อย่างนั้นแน่. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราถึงบาปของหลายคนที่พระยะโฮวาทรงให้อภัย รวมทั้งดาวิดด้วย. (2 ซามูเอล 11:1-17; 12:1-13) เห็นได้ชัดว่าพระยะโฮวายังคงตระหนักถึงความผิดที่พวกเขากระทำ และเราเองก็ควรตระหนักแบบเดียวกัน. ประวัติแห่งบาปของพวกเขารวมทั้งการกลับใจและการที่พระเจ้าทรงให้อภัย ได้เก็บรักษาไว้ก็เพื่อประโยชน์ของเรา. (โรม 15:4) ถ้าอย่างนั้น คัมภีร์ไบเบิลหมายความเช่นไรเมื่อกล่าวว่าพระยะโฮวาไม่ทรง “ระลึกถึง” บาปของคนที่พระองค์ทรงให้อภัย?
13. (ก) มีอะไรรวมอยู่ด้วยในความหมายของคำกริยาฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “ระลึกถึง”? (ข) เมื่อพระยะโฮวาตรัสว่า ‘เราจะไม่ระลึกถึงความผิดของเขาอีกเลย’ พระองค์กำลังรับรองอะไรกับเรา?
13 คำกริยาฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “ระลึกถึง” มีความหมายไม่ใช่แค่ระลึกถึงอดีต. ตามที่บอกในพจนานุกรมเทววิทยาของคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเก่า คำนี้ครอบคลุมถึง “ความหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการที่เหมาะสม” ด้วย. ดังนั้น ในแง่นี้ การ “ระลึกถึง” บาปเกี่ยวข้องกับการดำเนินการต่อคนที่ทำบาป. เมื่อผู้พยากรณ์โฮเซอากล่าวเกี่ยวกับชนยิศราเอลผู้ดื้อดึงว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] จะทรงระลึกถึงความผิดบาปของเขา” ท่านผู้พยากรณ์หมายความว่าพระยะโฮวาจะดำเนินการกับพวกเขาเนื่องด้วยการที่พวกเขาไม่กลับใจ. ด้วยเหตุนี้ ส่วนที่เหลือของข้อบอกว่า “และจะทรงลงโทษเขา.” (โฮเซอา 9:9) ในทางตรงกันข้าม เมื่อพระยะโฮวาตรัสว่า ‘เราจะไม่ระลึกถึงความผิดของเขาอีกเลย’ พระองค์กำลังรับรองกับเราว่าเมื่อพระองค์ให้อภัยคนทำบาปที่กลับใจแล้ว พระองค์จะไม่ทรงเอาผิดกับเขาอีกในวันหน้าเนื่องด้วยบาปนั้น. (ยะเอศเคล 18:21, 22) โดยวิธีนี้ พระองค์ทรงลืมในแง่ที่ว่าพระองค์ไม่ทรงฟื้นบาปของเราขึ้นมาอีกครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อกล่าวหาหรือลงโทษเราซ้ำแล้วซ้ำอีก. โดยวิธีนั้น พระยะโฮวาทรงวางตัวอย่างอันยอดเยี่ยมไว้ให้เราเลียนแบบในการปฏิบัติต่อผู้อื่น. เมื่อเกิดความขัดแย้ง ดีที่สุดที่จะไม่ขุดคุ้ยความผิดในอดีตที่คุณเคยได้ให้อภัยไปแล้วขึ้นมาอีก.
จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับผลของบาป?
14. เหตุใดการให้อภัยไม่ได้หมายความว่าผู้ทำบาปที่กลับใจได้รับการยกเว้นจากผลทั้งสิ้นแห่งแนวทางผิดของตน?
14 การที่พระยะโฮวาทรงพร้อมจะให้อภัยหมายความไหมว่า ผู้ทำบาปที่กลับใจได้รับการยกเว้นจากผลทุกอย่างแห่งแนวทางผิดของเขา? หามิได้. เราไม่สามารถทำบาปโดยไม่ได้รับความเสียหาย. เปาโลเขียนดังนี้: “คนใดหว่านอะไรลงก็จะเกี่ยวเก็บสิ่งนั้น.” (ฆะลาเตีย 6:7, ล.ม.) เราอาจพบกับผลบางอย่างสืบเนื่องจากการกระทำของเราหรือปัญหาที่เรามี แต่หลังจากได้ให้อภัยแล้ว พระยะโฮวาไม่ทรงก่อความทุกข์ยากให้ตกอยู่กับเรา. เมื่อเกิดเรื่องยุ่งยาก คริสเตียนไม่ควรคิดว่า ‘อาจเป็นได้ที่พระยะโฮวากำลังลงโทษฉันสำหรับบาปที่เคยทำในอดีต.’ (เทียบกับยาโกโบ 1:13.) ในอีกด้านหนึ่ง พระยะโฮวาก็ไม่ได้ทรงช่วยเราให้พ้นจากผลทุกอย่างที่เกิดจากการทำผิดของเรา. การหย่าร้าง, การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงปรารถนา, โรคติดต่อทางเพศ, การสูญเสียความไว้วางใจและความนับถือ—ทั้งหมดนี้อาจเป็นผลอันน่าเศร้าของบาป และพระยะโฮวาจะไม่ทรงปกป้องเราไว้จากผลเสียหายเหล่านี้. ขอให้จำไว้ว่า แม้พระองค์ทรงให้อภัยบาปของดาวิดเกี่ยวกับบัธเซบะและอูรียา พระยะโฮวาไม่ได้ทรงปกป้องดาวิดเอาไว้จากผลเสียหายร้ายแรงที่ตามมา.—2 ซามูเอล 12:9-14.
15, 16. กฎหมายซึ่งมีบันทึกไว้ที่เลวีติโก 6:1-7 ให้ประโยชน์อย่างไรแก่ทั้งผู้เสียหายและผู้ทำผิด?
15 บาปของเราอาจทำให้เกิดผลอย่างอื่นด้วย. ขอให้พิจารณาเรื่องราวในเลวีติโกบท 6 เป็นตัวอย่าง. พระบัญญัติของโมเซในบทนี้กล่าวถึงสภาพการณ์ที่คน ๆ หนึ่งทำความผิดร้ายแรงด้วยการยึดทรัพย์สินของเพื่อนชาวยิศราเอลด้วยกันเอามาเป็นของตนโดยการปล้น, การกรรโชก, หรือการฉ้อโกง. แต่แล้วผู้ทำบาปยืนยันว่าตนไม่ผิด ถึงกับกล้าสาบานเท็จ. กรณีดังกล่าวนี้มีคำพูดของคนเพียงคนเดียวที่กล่าวหาอีกคนหนึ่ง. อย่างไรก็ตาม ต่อมาผู้ทำผิดเริ่มเป็นทุกข์เพราะถูกสติรู้สึกผิดชอบตีและสารภาพบาปของเขา. เพื่อจะได้รับการอภัยโทษจากพระเจ้า เขาต้องทำอีกสามประการ: คืนสิ่งที่เขาได้เอามา, จ่ายค่าปรับให้ผู้เสียหาย 20 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งนั้น, และถวายแกะตัวผู้ตัวหนึ่งเป็นเครื่องบูชาไถ่ความผิด. จากนั้น กฎหมายกล่าวไว้ดังนี้: “ปุโรหิตจะทำถวายพระยะโฮวาไถ่โทษแทนผู้นั้น, และพระเจ้าจะทรงโปรด [“ให้อภัย,” ล.ม.] เขา.”—เลวีติโก 6:1-7; เทียบกับมัดธาย 5:23, 24.
16 กฎหมายข้อนี้เป็นการจัดเตรียมอันเปี่ยมด้วยความเมตตาที่มาจากพระเจ้า. กฎหมายข้อนี้รักษาประโยชน์ของผู้เสียหายให้ได้รับทรัพย์สินคืนมา และไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาคงรู้สึกโล่งใจอย่างยิ่งที่ผู้ทำผิดยอมรับความผิดของตัวเองในที่สุด. ขณะเดียวกัน กฎหมายข้อนี้ก็ให้ประโยชน์แก่คนที่สติรู้สึกผิดชอบกระตุ้นให้เขายอมรับความผิดและแก้ไขแนวทางผิดของตนในที่สุด. ที่จริง ถ้าเขาปฏิเสธจะทำดังกล่าว เขาจะไม่ได้รับการให้อภัยจากพระเจ้าเลย.
17. เมื่อคนอื่นได้รับความเสียหายจากบาปของเรา พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้เราทำอะไร?
17 แม้เราไม่อยู่ภายใต้พระบัญญัติของโมเซ แต่พระบัญญัตินี้ทำให้เรามีความหยั่งเห็นเข้าใจที่ล้ำค่าเกี่ยวกับพระทัยของพระยะโฮวา รวมทั้งทัศนะของพระองค์ในเรื่องการให้อภัย. (โกโลซาย 2:13, 14) เมื่อคนอื่นรู้สึกเจ็บปวดหรือได้รับความเสียหายจากบาปที่เราทำ พระยะโฮวาทรงพอพระทัยเมื่อเราทำสิ่งที่เราทำได้เพื่อ ‘แก้ไขสิ่งที่ผิด.’ (2 โกรินโธ 7:11, ล.ม.) นี่รวมถึงการยอมรับบาปของเรา, การสารภาพผิด, และแม้กระทั่งการขอขมาผู้เสียหาย. จากนั้น เราสามารถวิงวอนขอพระยะโฮวาโดยอาศัยค่าไถ่ของพระเยซู และได้รับการปลดเปลื้องให้มีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดและมีความมั่นใจว่าพระเจ้าทรงให้อภัยเราแล้ว.—เฮ็บราย 10:21, 22.
18. การตีสอนอะไรที่อาจมีควบคู่ไปกับการให้อภัยของพระยะโฮวา?
18 เช่นเดียวกับบิดาที่เปี่ยมด้วยความรัก พระยะโฮวาอาจทรงให้อภัยควบคู่ไปกับการตีสอนตามที่จำเป็น. (สุภาษิต 3:11, 12) คริสเตียนที่กลับใจคงต้องถอนตัวจากสิทธิพิเศษแห่งการรับใช้ที่ตนมีในฐานะผู้ปกครอง, ผู้ช่วยงานรับใช้, หรือไพโอเนียร์. เขาอาจเสียใจที่ต้องสูญเสียสิทธิพิเศษซึ่งเขาถือว่ามีค่ามากสักชั่วระยะหนึ่ง. อย่างไรก็ตาม การตีสอนเช่นนั้นไม่ได้หมายความว่าเขาได้สูญเสียความพอพระทัยจากพระยะโฮวาหรือพระยะโฮวาได้ระงับการอภัยโทษ. นอกจากนี้ เราต้องจำไว้ว่าการตีสอนจากพระยะโฮวาเป็นข้อพิสูจน์ถึงความรักของพระองค์ที่มีต่อเรา. การยอมรับและการใช้ประโยชน์จากการตีสอนย่อมก่อประโยชน์อย่างดีที่สุดสำหรับเราและอาจนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ได้.—เฮ็บราย 12:5-11.
19, 20. (ก) ถ้าคุณได้ทำผิด เหตุใดคุณไม่ควรรู้สึกว่าคุณเลวเกินกว่าที่พระยะโฮวาจะทรงเมตตา? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
19 ช่างสดชื่นสักเพียงไรที่ทราบว่าเรารับใช้พระเจ้าผู้ทรง “พร้อมจะให้อภัย”! พระยะโฮวาทรงเห็นลึกไปกว่าบาปและข้อผิดพลาดต่าง ๆ ของเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 130:3, 4) พระองค์ทรงทราบสิ่งที่อยู่ในหัวใจเรา. หากคุณรู้สึกว่าหัวใจคุณแตกสลายและชอกช้ำเนื่องจากการผิดในอดีต อย่าลงความเห็นว่าคุณเลวเกินกว่าที่พระยะโฮวาจะทรงเมตตา. ไม่ว่าคุณอาจได้ทำผิดพลาดมาอย่างไร ถ้าคุณกลับใจอย่างแท้จริง, ทำตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิด, และอธิษฐานอย่างจริงใจขอการให้อภัยจากพระยะโฮวาโดยอาศัยพระโลหิตที่หลั่งออกของพระเยซู คุณสามารถมั่นใจว่าถ้อยคำที่ 1 โยฮัน 1:9 ใช้ได้กับคุณที่ว่า “ถ้าเราสารภาพความผิดของเรา, พระองค์ทรงสัตย์ซื่อและเที่ยงธรรม, ก็จะทรงโปรดยกบาปโทษของเรา, และจะทรงชำระเราให้พ้นจากอธรรมทั้งสิ้น.”
20 คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราที่จะเลียนแบบการให้อภัยของพระยะโฮวาในการปฏิบัติต่อกันและกัน. อย่างไรก็ตาม เราอาจถูกคาดหมายว่าจะให้อภัยและลืมถึงขีดไหนเมื่อคนอื่นทำผิดต่อเรา? จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a น่าสนใจ คำภาษาฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “โครงร่างของเรา” เป็นศัพท์ที่ใช้กันในเรื่องที่เกี่ยวกับภาชนะดินเหนียวซึ่งช่างปั้นหม้อทำขึ้น.—ยะซายา 29:16.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เหตุใดพระยะโฮวาทรง “พร้อมจะให้อภัย”?
▫ คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาอย่างไรเกี่ยวกับความครบถ้วนแห่งการให้อภัยของพระยะโฮวา?
▫ เมื่อพระยะโฮวาทรงให้อภัย พระองค์ทรงลืมในแง่ใด?
▫ พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้เราทำอะไรเมื่อคนอื่นได้รับผลเสียหายจากบาปที่เราทำ?
[รูปภาพหน้า 12]
เมื่อคนอื่นได้รับผลเสียหายจากบาปที่เราทำ พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้เราชดใช้