เกร็ดความรู้จากกิตติคุณของโยฮัน
พระวิญญาณของพระยะโฮวาดลใจอัครสาวกโยฮันผู้ชราให้เขียนบันทึกที่กระตุ้นใจเกี่ยวด้วยชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซูคริสต์. กิตติคุณนี้ถูกเขียนขึ้นในหรือใกล้ ๆ เมืองเอเฟโซประมาณปีสากลศักราช 98. แต่ลักษณะของบันทึกนี้เป็นอย่างไร? และอะไรบ้างที่เป็นเกร็ดความรู้ที่มีบรรจุไว้ในกิตติคุณนี้?
ส่วนใหญ่เป็นส่วนเสริม
โยฮันได้คัดเลือก ท่านบันทึกซ้ำเรื่องราวที่มัดธาย มาระโก และลูกาได้เขียนแล้วเพียงเล็กน้อย. อันที่จริง บันทึกของท่านในฐานะประจักษ์พยานนั้นส่วนใหญ่เป็นส่วนเสริมเนื่องจากมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของบันทึกที่ท่านเขียนนั้นครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่มีกล่าวถึงในกิตติคุณเล่มอื่น. อาทิ มีแต่ท่านที่บอกให้เราทราบเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพระเยซูก่อนมาเป็นมนุษย์ และบอกว่า “พระวาทะจึงได้กลายเป็นเนื้อหนัง.” (1:1-14, ล.ม.) ขณะที่ผู้เขียนกิตติคุณคนอื่นกล่าวว่าพระเยซูทรงชำระพระวิหารในช่วงท้ายแห่งงานรับใช้ของพระองค์นั้น โยฮันกล่าวว่าพระคริสต์ได้ทรงกระทำเช่นนั้นในตอนเริ่มต้นงานรับใช้ด้วย. (2:13-17) อัครสาวกโยฮันผู้ชราแต่ผู้เดียวที่บอกแก่เราเกี่ยวกับการอัศจรรย์บางรายที่พระเยซูทรงกระทำ เช่น การเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่น การปลุกลาซะโรขึ้นจากตาย และการจับปลาอย่างมหัศจรรย์ภายหลังคืนพระชนม์ของพระองค์.—2:1-11; 11:38-44; 21:4-14.
ผู้เขียนกิตติคุณทุกคนบอกถึงวิธีที่พระเยซูทรงตั้งพิธีอนุสรณ์ถึงการวายพระชนม์ของพระองค์ แต่เฉพาะโยฮันบอกว่าพระเยซูได้ทรงให้บทเรียนแก่เหล่าอัครสาวกในเรื่องความถ่อมใจโดยทรงล้างเท้าให้พวกเขาในคืนนั้น. ยิ่งกว่านั้น โยฮันผู้เดียวบันทึกถ้อยคำที่พระองค์ตรัสด้วยน้ำใสใจจริงต่อพวกเขา และคำอธิษฐานที่พระองค์ทูลเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา.—13:1–17:26.
ในกิตติคุณเล่มนี้ ชื่อโยฮันหมายถึงโยฮันผู้ให้บัพติสมา ส่วนผู้เขียนเรียกตนเองว่า ‘สาวกซึ่งพระเยซูทรงรัก.’ (13:23, ล.ม.) อัครสาวกรักพระเยซูอย่างแน่นอน และความรักของเราที่มีต่อพระคริสต์ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อโยฮันพรรณนาถึงพระองค์ว่าทรงเป็นพระวาทะ, เป็นขนมปังที่ให้ชีวิต, ความสว่างของโลก, ผู้เลี้ยงแกะที่ดี, เป็นทางนั้น, เป็นความจริง, และเป็นชีวิต. (1:1-3, 14; 6:35; 8:12; 10:11; 14:6, ล.ม.) สิ่งนี้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของโยฮันที่มีกล่าวไว้ว่า “[สิ่ง] เหล่านี้ได้มีบันทึกลงไว้เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่าพระเยซูคือพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า และเนื่องจากมีความเชื่อแล้ว ท่านก็จะได้ชีวิตโดยพระนามของพระองค์.—20:31.
ความถ่อมใจ และความปีติยินดี
กิตติคุณของโยฮันแนะนำตัวพระเยซูว่าเป็นพระวาทะ และพระเมษโปดกผู้รับเอาความผิดบาปไป และอ้างถึงการอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่พิสูจน์ว่าพระองค์ทรงเป็น “องค์บริสุทธิ์ของพระเจ้า. (1:1–9:41) ในสิ่งต่าง ๆ ที่มีกล่าวถึง บันทึกนี้ยกเอาเรื่องความถ่อมใจ และความปีติยินดีของโยฮันผู้ให้บัพติสมาขึ้นเป็นเรื่องเด่น. โยฮันเป็นผู้จัดแจงทางไว้ล่วงหน้าของพระคริสต์ แต่ท่านกล่าวว่า “แม้แต่สายรัดฉลองพระบาท [ผู้นั้น] ข้าพเจ้าไม่คู่ควรจะแก้.” (1:27) รองเท้าจะถูกรัดด้วยสายหนัง. ทาสจะเป็นผู้แก้สายรัดรองเท้าให้บุคคลอื่นและหิ้วรองเท้าให้เขา เนื่องจากนี้เป็นหน้าที่ต่ำต้อย. เมื่อเป็นเช่นนั้น โยฮันผู้ให้บัพติสมาจึงได้แสดงถึงความถ่อมใจ และความสำนึกถึงความต่ำต้อยของตัวท่านเมื่อเทียบกับผู้เป็นนายของท่าน. เป็นบทเรียนอันยอดเยี่ยมทีเดียว เนื่องจากผู้ที่ถ่อมใจเท่านั้นที่เหมาะสมกับการปรนนิบัติรับใช้พระยะโฮวา และมหากษัตริย์มาซีฮาของพระองค์!—บทเพลงสรรเสริญ 138:6; สุภาษิต 21:4.
แทนที่จะไม่พอใจพระเยซูด้วยความถือดี โยฮันผู้ให้บัพติสมาได้กล่าวว่า “ครั้นสหายของเจ้าบ่าวยืนและได้ยินเสียงเจ้าบ่าว จึงมีความชื่นชมยินดีเป็นอันมากเพราะเสียงของเจ้าบ่าวนั้น เช่นนั้นแหละความชื่นชมยินดีของข้าพเจ้าก็เต็มเปี่ยม. (3:29) ในฐานะตัวแทนเจ้าบ่าว สหายของเจ้าบ่าวทำหน้าที่เจรจาตกลงกันเรื่องการสมรส บางครั้งก็จัดเตรียมพิธีสมรส และนำของขวัญไปให้เจ้าสาว และนำสินสอดไปให้บิดาเจ้าสาว. ผู้เป็นตัวแทนนี้มีเหตุผลจะยินดีเมื่อทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วง. ทำนองเดียวกัน โยฮันยินดีในการนำพระเยซูเข้าร่วมกับสมาชิกคนแรกแห่งเจ้าสาวของพระองค์. (วิวรณ์ 21:2, 9) เช่นเดียวกับที่หน้าที่ของสหายของเจ้าบ่าวมีอยู่เพียงช่วงสั้น ๆ ฉะนั้นในไม่ช้างานของโยฮันก็เสร็จสิ้น. บทบาทของท่านลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่พระเยซูทรงมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ.—โยฮัน 3:30.
ความสนใจของพระเยซูที่มีต่อผู้คน
ณ บ่อน้ำใกล้เมืองซูคาร พระเยซูทรงบอกเรื่องน้ำซึ่งมีความหมายเป็นนัยที่ให้ชีวิตนิรันดร์แก่หญิงชาวซะมาเรีย. เมื่อพวกสาวกของพระองค์มาถึง “เขาเริ่มประหลาดใจเพราะพระองค์ทรงพูดกับผู้หญิง.” (4:27) ทำไมจึงมีปฏิกิริยาเช่นนั้น? นั่นเพราะชาวยิวดูหมิ่นและไม่ยอมคบหากับชาวซะมาเรีย. (4:9; 8:48) เป็นเรื่องผิดปกติด้วยที่อาจารย์ชาวยิวจะพูดคุยกับผู้หญิงในที่สาธารณะ. แต่ความใส่ใจสงสารที่พระเยซูทรงมีต่อผู้คนกระตุ้นให้พระองค์ให้คำพยานเช่นนี้ และด้วยเหตุนี้ ผู้คนในเมือง “ได้เริ่มมาหาพระองค์.”—4:28-30.
ความสนใจที่มีต่อผู้คนทำให้พระเยซูตรัสว่า “ถ้าผู้ใดกระหายให้ผู้นั้นมาหาเราและดื่ม.” (7:37, ล.ม.) เห็นชัดว่า พระองค์ได้ตรัสพาดพิงถึงธรรมเนียมที่มีเพิ่มเข้ากับการฉลองเทศกาลตั้งทับอาศัยแปดวัน. ทุก ๆ เช้าของเจ็ดวัน ปุโรหิตจะตักน้ำจากสระซีโลอามและเทลงที่แท่นบูชาพระวิหาร. กล่าวกันว่านี้เป็นภาพเล็งถึงการเทพระวิญญาณ. เริ่มตั้งแต่วันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33 พระวิญญาณของพระเจ้ากระตุ้นสาวกของพระเยซูให้นำเอาน้ำที่ให้ชีวิตไปสู่ประชาชนทั่วโลก. เฉพาะแต่จากพระยะโฮวา ผู้เป็น “น้ำพุอันประกอบด้วยน้ำมีชีวิต” โดยทางพระคริสต์เท่านั้นที่คนเราจะรับเอาชีวิตนิรันดร์ได้.—ยิระมะยา 2:13; ยะซายา 12:3; โยฮัน 17:3.
ผู้เลี้ยงแกะที่ดีทรงใฝ่พระทัย!
ความห่วงใยของพระเยซูต่อผู้คนเห็นได้ชัดในการแสดงออกของพระองค์ในฐานะผู้เลี้ยงแกะที่ดีซึ่งทรงใฝ่พระทัยต่อเหล่าสาวกที่เป็นเหมือนแกะของพระองค์. แม้ในขณะที่ใกล้จะวายพระชนม์ พระเยซูทรงให้คำแนะนำแก่พวกสาวกด้วยความรักและอธิษฐานเพื่อประโยชน์ของพวกเขา. (10:1–17:26) ไม่เหมือนขโมยหรือโจร พระองค์ทรงเสด็จเข้าไปในคอกแกะโดยทางประตู. (10:1-5) คอกแกะเป็นที่ล้อมรอบซึ่งแกะถูกขังไว้ข้างในตลอดคืนเพื่อป้องกันไว้จากพวกขโมยและสัตว์กินเนื้อ. ผนังคอกเป็นหิน บางทีก็มีกิ่งหนามวางข้างบนด้วย และมีคนเฝ้าประตูคอยดูแลที่ทางเข้า.
ฝูงแกะหลายฝูงที่มีผู้เลี้ยงหลายคนอาจถูกขังไว้ในคอกเดียวกัน แต่แกะจะตอบรับแต่เสียงผู้เลี้ยงของมันเท่านั้น. เฟร็ด เอช. ไวต์ กล่าวไว้ในหนังสือของเขา วิถีชีวิตและประเพณีในดินแดนแห่งคัมภีร์ไบเบิล ว่า “เมื่อจำเป็นต้องแยกฝูงแกะหลายฝูงที่อยู่รวมกัน ผู้เลี้ยงแกะจะยืนขึ้นทีละคนและร้องเรียก ‘ทาห์ฮู ทาห์ฮู’ หรือเสียงเรียกคล้าย ๆ กันนี้ที่เขาเลือกเอง. แกะจะผงกหัวขึ้น และหลังจากวิ่งสับสนไปมาสักพักในคอก ก็จะเริ่มตามผู้เลี้ยงของมันเอง. แกะจะคุ้นเคยกับน้ำเสียง ผู้เลี้ยงของมันเป็นอย่างดี. คนแปลกหน้าส่งเสียงเรียกแบบเดียวกันนี้อยู่บ่อย ๆ แต่เขาล้มเหลวอยู่เสมอในการหลอกให้แกะตามเขาไป.” พระเยซูตรัสไว้อย่างน่าสนใจว่า “แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา และเรารู้จักแกะเหล่านั้น และแกะเหล่านั้นตามเรา และเราให้ชีวิตนิรันดร์แก่แกะนั้น.” (10:27, 28, ล.ม.) ทั้ง “ฝูงแกะเล็กน้อย” และ “แกะอื่น” ต่างก็ตอบรับต่อเสียงของพระเยซู ติดตามการนำของพระองค์และสุขใจในการเอาใจใส่ด้วยความอ่อนโยนของพระองค์.—ลูกา 12:32; โยฮัน 10:16.
พระบุตรที่ซื่อสัตย์เสมอของพระเจ้า
พระคริสต์ทรงซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าตลอดเวลาและทรงเป็นแบบอย่างของการเป็นผู้เลี้ยงแกะที่มีความรักใคร่ตลอดชีวิตพระองค์บนแผ่นดินโลก. ความสงสารของพระองค์ยังได้มีการแสดงออกในการปรากฏตัวภายหลังการคืนพระชนม์ด้วย. ด้วยความสงสารเป็นห่วงผู้อื่นนั่นเองที่ได้กระตุ้นพระเยซูให้กำชับเปโตรให้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระองค์.—18:1–21:25.
ในคราวถูกตรึง พระเยซูได้วางแบบอย่างอันยอดเยี่ยมของความซื่อสัตย์ตราบสิ้นชีวิต. ความอัปยศประการหนึ่งที่พระองค์ทรงรับเอาซึ่งเป็นความสำเร็จสมจริงตามคำพยากรณ์ก็คือพวกทหาร ‘เอาฉลองพระองค์ไปแบ่งกัน.’ (บทเพลงสรรเสริญ 22:18) เขาจับฉลากกันเพื่อจะชี้ว่าใครจะได้ฉลองพระองค์ชั้นในอย่างดีของพระองค์. (กรีกคีทอนʹ) ซึ่งทอแบบไม่มีตะเข็บ. (19:23, 24) เสื้อแบบนั้นอาจทอขึ้นด้วยขนสัตว์หรือใยลินินเป็นชิ้นเดียวและอาจเป็นสีขาวหรือสีอื่น ๆ ก็ได้. มักเป็นแบบไม่มีแขน จะใช้สวมอยู่ชั้นในสุดและยาวถึงหัวเข่า หรืออาจถึงข้อเท้า. แน่นอน พระเยซูไม่ใช่นักวัตถุนิยม แต่พระองค์ทรงฉลองพระองค์ชนิดที่มีคุณภาพดี เป็นเสื้อคลุมแบบไม่มีตะเข็บ.
ในคราวการปรากฏตัวครั้งหนึ่งภายหลังที่ทรงคืนพระชนม์ พระเยซูทรงกล่าวต้อนรับเหล่าสาวกด้วยคำว่า “ขอให้ท่านทั้งหลายมีสันติสุขเถิด.” (20:19, ล.ม.) คำกล่าวนี้เป็นคำทักทายที่ใช้กันทั่วไปในหมู่ชาวยิว. (มัดธาย 10:12, 13) สำหรับคนส่วนมาก การใช้คำกล่าวเช่นนั้นอาจไม่ค่อยมีความหมายเท่าใดนัก. แต่ไม่เป็นเช่นนั้นกับพระเยซู เพราะก่อนหน้านั้นพระองค์ได้ทรงบอกแก่เหล่าสาวกว่า “เราฝากสันติสุขไว้กับท่านทั้งหลาย เรามอบสันติสุขของเราไว้แก่ท่านทั้งหลาย.” (โยฮัน 14:27, ล.ม.) สันติสุขที่พระเยซูทรงมอบแก่เหล่าสาวกนั้นขึ้นอยู่กับความเชื่อในพระองค์ในฐานะพระบุตรของพระเจ้า และช่วยให้หัวใจและจิตใจของพวกเขาสงบสุข.
ในทำนองเดียวกัน เราอาจชื่นชมกับ “สันติสุขแห่งพระเจ้า” ได้. ขอให้เราทนุถนอมไว้ซึ่งความสงบสุขอันหาที่เปรียบไม่ได้ที่เกิดจากสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระยะโฮวาโดยทางพระบุตรที่รักของพระองค์.—ฟิลิปปอย 4:6, 7.
[ที่มาของภาพหน้า 25]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.