บท 25
“ผมขอร้องเรียนต่อซีซาร์”
เปาโลวางตัวอย่างในการปกป้องข่าวดี
1, 2. (ก) ตอนนี้เปาโลตกอยู่ในสถานการณ์แบบไหน? (ข) การที่เปาโลร้องเรียนต่อซีซาร์ทำให้เกิดคำถามอะไรขึ้น?
ตอนนี้เปาโลยังคงถูกควบคุมตัวอย่างเข้มงวดในเมืองซีซารียา สองปีก่อนหน้านี้ตอนที่เปาโลกลับไปที่แคว้นยูเดีย ภายในช่วงเวลาแค่ไม่กี่วัน พวกยิวได้พยายามจะฆ่าเขาอย่างน้อย 3 ครั้ง (กจ. 21:27-36; 23:10, 12-15, 27) ถึงแม้พวกศัตรูจะทำไม่สำเร็จ แต่พวกเขาก็ยังไม่ยอมแพ้ เมื่อเปาโลเห็นว่าตัวเองอาจถูกส่งตัวกลับไปให้พวกศัตรู เขาจึงบอกเฟสทัสผู้ว่าราชการชาติโรมันว่า “ผมขอร้องเรียนต่อซีซาร์”—กจ. 25:11
2 พระยะโฮวาสนับสนุนการตัดสินใจของเปาโลที่จะร้องเรียนต่อซีซาร์ไหม? เป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราจะรู้คำตอบ พวกเราในทุกวันนี้ที่กำลังประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าอย่างถี่ถ้วนจำเป็นต้องรู้ว่า เราควรเลียนแบบเปาโลไหมในการ “ปกป้องข่าวดีและพยายามทำให้การประกาศข่าวดีเป็นที่ยอมรับตามกฎหมาย”—ฟป. 1:7
“ยืนอยู่ต่อหน้าบัลลังก์พิพากษา” (กิจการ 25:1-12)
3, 4. (ก) ทำไมพวกยิวถึงขอให้พาตัวเปาโลมาที่กรุงเยรูซาเล็ม และเปาโลรอดชีวิตได้ยังไง? (ข) พระยะโฮวาช่วยเหลือผู้รับใช้ของพระองค์ในทุกวันนี้เหมือนกับที่พระองค์ช่วยเปาโลยังไง?
3 สามวันหลังจากมารับตำแหน่ง เฟสทัสผู้ว่าราชการชาติโรมันคนใหม่ของแคว้นยูเดียได้ไปที่กรุงเยรูซาเล็มa ที่นั่นเขาได้ฟังพวกปุโรหิตใหญ่กับชาวยิวคนสำคัญ ๆ กล่าวหาว่าเปาโลทำผิดร้ายแรง คนพวกนี้รู้ว่าชาวโรมันอยากให้เฟสทัสรักษาสันติสุขกับพวกเขาและชาวยิวทุกคน ดังนั้น พวกเขาจึงขอเฟสทัสให้ส่งตัวเปาโลมาที่กรุงเยรูซาเล็ม และพิจารณาคดีเขาที่นั่น จริง ๆ แล้วพวกศัตรูวางแผนอย่างลับ ๆ ที่จะฆ่าเปาโลระหว่างทางจากเมืองซีซารียามาที่กรุงเยรูซาเล็ม เฟสทัสปฏิเสธคำขอของพวกเขาโดยบอกว่า “ถ้าเขาทำอะไรผิดจริง ก็ให้คนที่มีอำนาจในพวกคุณไปกับผมและไปฟ้องเขาที่นั่น” (กจ. 25:5) และนี่เป็นอีกครั้งที่เปาโลรอดชีวิต
4 ตลอดช่วงที่เปาโลถูกพิจารณาคดี พระยะโฮวาได้ใช้พระเยซูคริสต์ให้ช่วยเหลือและให้กำลังกับเปาโล ตัวอย่างเช่น พระเยซูได้บอกกับเปาโลในนิมิตว่า “กล้าหาญไว้” (กจ. 23:11) ในทุกวันนี้ ผู้รับใช้ของพระเจ้าก็เจอกับปัญหาหลายอย่าง และเจอการข่มเหงด้วย จริงที่พระยะโฮวาไม่ได้ปกป้องเราไว้จากความลำบากทุกอย่าง แต่พระองค์จะให้สติปัญญาและกำลังกับเราเพื่อจะอดทนได้ เราสามารถมั่นใจได้ว่าพระเจ้าผู้เป็นความรักจะให้ “กำลังที่มากกว่าปกติ” กับเราเสมอ—2 คร. 4:7
5. ตอนแรกเฟสทัสตั้งใจจะจัดการยังไงกับคดีของเปาโล?
5 หลายวันต่อมา เปาโลพร้อมกับพวกผู้กล่าวหายืนอยู่ต่อหน้าเฟสทัสซึ่งนั่งบน “บัลลังก์พิพากษา” ในเมืองซีซารียาb พวกเขากล่าวหาว่าเปาโลทำผิดทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้ทำอะไร เปาโลจึงบอกว่า “ผมไม่ได้ทำผิดกฎหมายของพวกยิว และไม่ได้ทำอะไรที่ลบหลู่วิหารหรือทำผิดต่อซีซาร์” เปาโลไม่มีความผิดและสมควรถูกปล่อยตัว เฟสทัสจะตัดสินเรื่องนี้ยังไง? เพราะเขาอยากเอาใจชาวยิว เขาเลยถามเปาโลว่า “คุณอยากไปที่กรุงเยรูซาเล็มและให้ผมตัดสินเรื่องนี้ที่นั่นไหม?” (กจ. 25:6-9) นี่เป็นข้อเสนอที่แย่จริง ๆ ถ้าเปาโลถูกส่งตัวกลับไปพิจารณาคดีที่กรุงเยรูซาเล็ม เขาจะถูกพวกยิวพิพากษาและจะถูกฆ่าแน่ ๆ จากเหตุการณ์นี้เราเห็นว่า เฟสทัสเลือกที่จะเอาใจผู้คนแทนที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง หลายปีก่อนหน้านี้ ปอนทิอัสปีลาต ผู้ว่าราชการคนก่อนก็ได้ทำกับพระเยซูคล้าย ๆ กัน (ยน. 19:12-16) ในทุกวันนี้ ผู้พิพากษาก็อาจตัดสินแบบไม่ยุติธรรมเพราะพวกเขาอยากเอาใจบางคน ดังนั้น เราไม่แปลกใจที่ศาลตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับประชาชนของพระเจ้าอย่างไม่ยุติธรรม
6, 7. ทำไมเปาโลถึงร้องเรียนต่อซีซาร์ และเราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของเขา?
6 การที่เฟสทัสอยากเอาใจชาวยิวอาจทำให้เปาโลต้องตาย ดังนั้น เปาโลจึงใช้สิทธิ์ของเขาฐานะพลเมืองโรมัน เขาบอกเฟสทัสว่า “ผมก็ยืนอยู่ต่อหน้าบัลลังก์พิพากษาของซีซาร์อยู่แล้วนี่ครับ ผมก็ควรจะถูกตัดสินที่นี่ไม่ใช่หรือ ที่จริง ท่านก็รู้ดีว่าผมไม่ได้ทำอะไรผิดต่อพวกยิว . . . ผมขอร้องเรียนต่อซีซาร์” ตามปกติแล้วถ้ามีใครร้องขอแบบนี้ คำร้องขอนั้นจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งเฟสทัสก็ทำให้เห็นเรื่องนี้ชัดเจนโดยบอกว่า “ในเมื่อคุณร้องเรียนต่อซีซาร์ คุณก็ต้องไปหาซีซาร์” (กจ. 25:10-12) ตอนที่เปาโลร้องเรียนต่อซีซาร์ เขาได้แสดงให้เห็นว่าคริสเตียนแท้ในทุกวันนี้ควรทำยังไงเมื่อต้องเจอเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน เมื่อผู้ต่อต้านพยายามจะ “ออกกฎหมายเพื่อสร้างความเดือดร้อน” พยานพระยะโฮวาใช้วิธีการทางกฎหมายให้เป็นประโยชน์เพื่อปกป้องข่าวดีc—สด. 94:20
7 เปาโลถูกขังเป็นเวลา 2 ปีกว่าทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด และตอนนี้เขามีโอกาสที่จะไปแก้คดีในกรุงโรม แต่ก่อนที่เปาโลจะออกเดินทาง เจ้าหน้าที่รัฐอีกคนหนึ่งอยากพบเขา
“ผมจึงทำตาม” (กิจการ 25:13–26:23)
8, 9. ทำไมกษัตริย์อากริปปาถึงไปเยี่ยมเมืองซีซารียา?
8 หลายวันหลังจากที่เฟสทัสได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของเปาโลต่อซีซาร์ กษัตริย์อากริปปากับเบอร์นิสน้องสาวได้ “มาเยี่ยมแสดงความยินดี” กับผู้ว่าราชการคนใหม่d ในสมัยโรมัน เป็นธรรมเนียมที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะไปเยี่ยมผู้ว่าราชการที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง การที่อากริปปาแสดงความยินดีกับเฟสทัสที่ได้ถูกแต่งตั้งแสดงว่าเขาพยายามจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเฟสทัส ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมืองในอนาคต—กจ. 25:13
9 เฟสทัสได้เล่าเรื่องเปาโลให้กษัตริย์อากริปปาฟัง อากริปปาเลยอยากจะฟังเปาโล วันต่อมา กษัตริย์อากริปปาและน้องสาวเดินทางมาอย่างยิ่งใหญ่อลังการ อากริปปานั่งบนบัลลังก์พิพากษาเพื่อฟังเปาโลพูด แต่สิ่งที่เปาโลกำลังจะพูดทำให้ผู้คนประทับใจมากกว่าการแสดงอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขา—กจ. 25:22-27
10, 11. เปาโลแสดงความนับถือต่ออากริปปายังไง และเปาโลได้บอกให้กษัตริย์รู้รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเคยทำในอดีต?
10 เปาโลขอบคุณกษัตริย์อากริปปาด้วยความนับถือที่เขามีโอกาสได้แก้คดี เพราะอากริปปาเชี่ยวชาญเรื่องธรรมเนียมทั้งหมดของพวกยิว และรู้เรื่องข้อขัดแย้งต่าง ๆ ของพวกยิวเป็นอย่างดี ต่อจากนั้น เปาโลได้พูดถึงชีวิตในอดีตของตัวเองว่า “ผมเคยเป็นฟาริสี ซึ่งเป็นนิกายที่เคร่งที่สุดในศาสนาของชาตินี้” (กจ. 26:5) ตอนที่เปาโลเป็นฟาริสี เขาเชื่อในคำสัญญาของพระเจ้าว่าเมสสิยาห์จะมา และหลังจากที่เปาโลเป็นคริสเตียน เขาก็ประกาศอย่างกล้าหาญว่าพระเยซูคือเมสสิยาห์ที่พระเจ้าสัญญาไว้ ดังนั้น เปาโลจึงอธิบายกับอากริปปาว่า เหตุผลที่เขาถูกพิจารณาคดีในวันนี้ก็เพราะเขาประกาศว่าคำสัญญาของพระเจ้าได้เกิดขึ้นจริงแล้ว ซึ่งเป็นคำสัญญาที่พวกผู้ต่อต้านก็เชื่อเหมือนกัน หลังจากฟังสิ่งที่เปาโลพูด อากริปปาก็ยิ่งสนใจมากขึ้นว่าเปาโลจะพูดอะไรอีกe
11 จากนั้นเปาโลก็อธิบายว่าเขาเคยข่มเหงคริสเตียนในอดีตยังไง เขาบอกว่า “ที่จริง ผมเคยมุ่งมั่นที่จะทำทุกอย่างเพื่อต่อต้านพระเยซูชาวนาซาเร็ธ . . . ผมโกรธแค้นมาก ถึงขนาดที่ตามไปข่มเหงพวกเขา [พวกสาวกของพระคริสต์] ในเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกล” (กจ. 26:9-11) เปาโลไม่ได้พูดเกินจริง หลายคนรู้ดีว่าเขาเคยข่มเหงพวกคริสเตียนอย่างรุนแรง (กท. 1:13, 23) อากริปปาอาจสงสัยว่า ‘อะไรทำให้คนแบบนี้เปลี่ยนมาเป็นคริสเตียน?’
12, 13. (ก) เปาโลพูดถึงการเปลี่ยนความเชื่อของเขายังไง? (ข) เปาโลได้ทำเหมือนกับว่าเขา “เตะประตัก” ยังไง?
12 คำตอบอยู่ในคำพูดถัดไปของเปาโล เขาบอกว่า “ตอนที่ผมเดินทางไปกรุงดามัสกัส . . . ตามที่ได้รับอำนาจและคำสั่งจากพวกปุโรหิตใหญ่ ตอนนั้นเป็นตอนเที่ยง ผมเห็นแสงจากฟ้าที่สว่างจ้ากว่าแสงอาทิตย์ส่องมาที่ตัวผมกับคนที่ไปด้วยกัน พอพวกผมล้มลงกับพื้น ผมก็ได้ยินเสียงพูดเป็นภาษาฮีบรูว่า ‘เซาโล เซาโล คุณข่มเหงผมทำไม? คุณเตะประตัก คุณก็เจ็บเอง’ ผมจึงถามว่า ‘นายท่าน ท่านเป็นใคร?’ ท่านตอบว่า ‘ผมคือเยซูผู้ที่คุณข่มเหง’”f—กจ. 26:12-15
13 ก่อนที่เหตุการณ์อัศจรรย์นี้จะเกิดขึ้น สิ่งที่เปาโลทำเปรียบเหมือนเขากำลัง “เตะประตัก” เพราะอะไร? เหมือนกับสัตว์ใช้งาน ถ้าสัตว์นั้นขัดขืน ประตักที่แหลมคมก็จะทำให้มันเจ็บตัว เปาโลก็ได้ทำให้ความสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้าเสียหายโดยทำสิ่งที่ขัดกับความต้องการของพระองค์ ดังนั้น การที่พระเยซูที่ถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายแล้วมาพูดกับเปาโลระหว่างทางไปเมืองดามัสกัส ท่านก็ได้ช่วยให้ผู้ชายที่จริงใจแต่ถูกชักนำไปผิดทางคนนี้เปลี่ยนความคิดของเขา—ยน. 16:1, 2
14, 15. เปาโลได้พูดอะไรเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเขา?
14 เปาโลได้ทำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต เขาบอกอากริปปาว่า “ผมจึงทำตามนิมิตที่ผมได้รับจากสวรรค์ ผมไปประกาศกับคนในกรุงดามัสกัสก่อน แล้วก็ประกาศกับคนในกรุงเยรูซาเล็มและคนทั่วแคว้นยูเดีย แล้วก็คนต่างชาติด้วย ผมบอกให้พวกเขากลับใจและหันมาหาพระเจ้า โดยทำสิ่งที่แสดงว่าพวกเขากลับใจจริง ๆ” (กจ. 26:19, 20) ตลอดหลายปี เปาโลได้ทำงานที่พระเยซูมอบหมายให้เขาทำตอนที่ท่านมาพูดกับเขาระหว่างทางไปเมืองดามัสกัส ผลเป็นยังไง? หลังจากที่ได้ฟังเปาโลประกาศ หลายคนเปลี่ยนมาเป็นสาวกของพระเยซู พวกเขากลับใจ เลิกทำสิ่งที่ไม่ดี เลิกทำผิดศีลธรรม และหันมาทำสิ่งที่พระเจ้าต้องการ คนเหล่านั้นกลายเป็นพลเมืองดี เชื่อฟังกฎหมายและอยู่อย่างสงบเรียบร้อย
15 ถึงแม้ผู้คนจะได้ประโยชน์มากมายจากสิ่งที่เปาโลประกาศ แต่ผู้ที่ต่อต้านเปาโลก็ไม่ได้สนใจ เปาโลบอกว่า “เพราะอย่างนี้แหละ พวกยิวเลยจับผมในวิหารและพยายามฆ่าผม แต่พระเจ้าช่วยผมไว้ ผมจึงได้ประกาศให้ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยฟังจนถึงวันนี้”—กจ. 26:21, 22
16. เราอาจเลียนแบบเปาโลได้ยังไงเมื่อต้องพูดกับผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเกี่ยวกับความเชื่อของเรา?
16 พวกเราที่เป็นคริสเตียนแท้ต้อง “พร้อมเสมอที่จะอธิบาย” ความเชื่อของเรา (1 ปต. 3:15) ถ้าเราต้องพูดเรื่องความเชื่อของเรากับผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เราสามารถเลียนแบบวิธีที่เปาโลพูดกับอากริปปาและเฟสทัสได้ เราพูดกับพวกเขาด้วยความนับถือ โดยบอกพวกเขาว่าคัมภีร์ไบเบิลได้ช่วยให้ชีวิตของเราและคนอื่น ๆ ดีขึ้นยังไง การพูดแบบนี้อาจทำให้เจ้าหน้าที่ประทับใจ
“ผมคงต้องเป็นคริสเตียนไปอีกคน” (กิจการ 26:24-32)
17. เฟสทัสทำอะไรตอนที่เปาโลกำลังพูด และผู้คนในทุกวันนี้มีความคิดคล้ายกันกับเขายังไง?
17 ตอนที่ฟังเปาโลอธิบายความเชื่อแบบที่โน้มน้าวใจ เฟสทัสกับอากริปปาก็ไม่สามารถอยู่เฉยต่อไปได้ ให้เรามาดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นต่อจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ตอนที่เปาโลกำลังพูดแก้คดีอยู่ เฟสทัสก็พูดเสียงดังว่า ‘เปาโล คุณบ้าไปแล้วหรือ คุณเรียนมากจนเพี้ยนไปแล้ว’” (กจ. 26:24) การที่เฟสทัสพูดโพล่งออกมาอย่างนี้ช่วยเราให้เห็นว่าหลายคนในทุกวันนี้ก็เป็นเหมือนกับเขา หลายคนมองว่าคนที่สอนความจริงในคัมภีร์ไบเบิลเป็นคนคลั่งศาสนา และหลายครั้ง คนที่มีการศึกษาสูงในโลกก็รู้สึกว่ายากที่จะยอมรับคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย
18. เปาโลตอบเฟสทัสยังไง และนี่ทำให้อากริปปาพูดอะไร?
18 แต่เปาโลได้ตอบผู้ว่าราชการว่า “ท่านเฟสทัสที่เคารพ ผมไม่ได้บ้า ผมพูดความจริงและยังมีสติดีอยู่ ที่จริง กษัตริย์อากริปปารู้เรื่องที่ผมพูดเป็นอย่างดี และผมก็พูดกับกษัตริย์ได้อย่างตรงไปตรงมา ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรรอดพ้นสายตาของท่านไปได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นความลับอะไร กษัตริย์อากริปปาครับ ท่านเชื่อพวกผู้พยากรณ์ไหม? ผมรู้ว่าท่านเชื่อ” กษัตริย์อากริปปาตอบเปาโลว่า “ถ้าผมฟังคุณพูดต่ออีกหน่อย ผมคงต้องเป็นคริสเตียนไปอีกคน” (กจ. 26:25-28) เราไม่รู้ว่าอากริปปาคิดอย่างที่เขาพูดจริง ๆ ไหม แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าเขาคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับสิ่งที่เปาโลพูด
19. เฟสทัสกับอากริปปาได้ตัดสินคดีของเปาโลยังไง?
19 จากนั้น อากริปปากับเฟสทัสก็ลุกขึ้น นี่เป็นสัญญาณที่ให้ผู้ฟังรู้ว่าการพิจารณาคดีสิ้นสุดลงแล้ว “ตอนที่ออกไป พวกเขาพูดกันว่า ‘คนนี้ไม่ได้ทำอะไรที่สมควรตายหรือถูกขังคุกเลยนะ’ แล้วกษัตริย์อากริปปาก็พูดกับเฟสทัสว่า ‘ถ้าคนนี้ไม่ได้ร้องเรียนต่อซีซาร์ก็น่าจะปล่อยตัวเขาไปได้’” (กจ. 26:31, 32) คนเหล่านี้รู้ว่าเปาโลไม่มีความผิด บางทีตอนนี้พวกเขาอาจจะมองคริสเตียนในแง่บวกมากขึ้น
20. การที่เปาโลได้ประกาศกับพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงส่งผลดียังไงบ้าง?
20 ดูเหมือนว่าเฟสทัสกับอากริปปาไม่ได้เข้ามาเป็นคริสเตียนหลังจากที่เปาโลประกาศให้เขาฟัง ดังนั้น มีประโยชน์อะไรไหมที่เปาโลพูดกับพวกเขา? คำตอบคือ มี การที่เปาโล “ถูกนำตัวไปอยู่ต่อหน้ากษัตริย์และผู้ว่าราชการ” ในแคว้นยูเดีย เป็นโอกาสให้เขาประกาศความจริงกับพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโรมันซึ่งอาจไม่มีใครเข้าถึงได้ (ลก. 21:12, 13) นอกจากนั้น ประสบการณ์และความซื่อสัตย์ของเปาโลตอนที่ถูกทดสอบ ได้ให้กำลังใจพี่น้องคริสเตียนจริง ๆ—ฟป. 1:12-14
21. อาจมีผลดีอะไรถ้าเราอดทนประกาศต่อไป?
21 ในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราอดทนประกาศต่อไปทั้ง ๆ ที่มีการทดสอบและการต่อต้าน ก็อาจมีผลดีมากมายเกิดขึ้น เราอาจมีโอกาสประกาศกับเจ้าหน้าที่ซึ่งโดยปกติแล้วอาจเข้าถึงได้ยาก การที่เราอดทนอย่างซื่อสัตย์อาจให้กำลังใจพี่น้องชายหญิงคริสเตียน และช่วยพวกเขาให้กล้าหาญเพื่อจะประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าอย่างละเอียดถี่ถ้วน
a ดูกรอบ “ปอร์สิอัสเฟสทัสผู้ว่าราชการชาติโรมัน”
b “บัลลังก์พิพากษา” คือเวทีที่ยกสูงและมีเก้าอี้ที่ให้ผู้พิพากษานั่ง การตั้งอยู่ในที่สูงแบบนี้ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าคำตัดสินของผู้พิพากษาถือว่าเด็ดขาดและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ปีลาตก็นั่งบนบัลลังก์พิพากษาตอนที่เขาพิจารณาข้อกล่าวหาที่มีต่อพระเยซู
d ดูกรอบ “กษัตริย์เฮโรดอากริปปาที่ 2”
e เปาโลเป็นคริสเตียนและเขายอมรับว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ ส่วนพวกยิวที่ไม่ยอมรับพระเยซูมองว่าเปาโลเป็นคนออกหาก—กจ. 21:21, 27, 28
f จากคำพูดของเปาโลที่ว่าเขาเดินทางใน “ตอนเที่ยง” ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “ปกติแล้ว นักเดินทางจะหยุดพักในตอนเที่ยงวันที่อากาศร้อน ยกเว้นแต่เขาจะรีบจริง ๆ ดังนั้น เราเลยเห็นว่าเปาโลมีความมุ่งมั่นมากที่จะไปข่มเหงคริสเตียน”