การดำเนินกับพระเจ้า—โดยคำนึงถึงนิรันดร์กาล
“เราจะดำเนินในพระนามของพระยะโฮวาพระเจ้าของเราจนเวลาที่ไม่มีกำหนด ตลอดไปเป็นนิตย์.”—มีคา 4:5, ล.ม.
1. เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็น “พระมหากษัตริย์แห่งนิรันดร์กาล”?
พระยะโฮวาพระเจ้าไม่ทรงมีจุดเริ่มต้น. นับว่าเหมาะที่มีการกล่าวถึงพระองค์ว่าเป็น “ผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์” เนื่องจากสภาวะเป็นอยู่ของพระองค์นั้นย้อนไปในอดีตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด. (ดานิเอล 7:9, 13) พระยะโฮวาทรงมีอนาคตชั่วนิรันดร์ด้วย. พระองค์ผู้เดียวเท่านั้นเป็น “พระมหากษัตริย์แห่งนิรันดร์กาล.” (วิวรณ์ 10:6; 15:3, ล.ม.) และในคลองพระเนตรพระองค์ พันปีก็ “เหมือนเวลาวานนี้ที่ล่วงไปแล้วและเหมือนยามเดียวในเวลากลางคืน.”—บทเพลงสรรเสริญ 90:4.
2. (ก) พระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับมนุษย์ที่เชื่อฟังคืออะไร? (ข) เราควรมุ่งหวังและตั้งแผนการของเราเช่นไร?
2 เนื่องจากพระผู้ประทานชีวิตทรงเป็นนิรันดร์ พระองค์จึงทรงสามารถเสนอความคาดหวังเกี่ยวกับชีวิตที่ไม่รู้สิ้นสุดในอุทยานให้แก่มนุษย์คู่แรก คืออาดามกับฮาวา. แต่เนื่องจากการไม่เชื่อฟัง อาดามจึงสูญเสียสิทธิที่จะมีชีวิตนิรันดร์ ถ่ายทอดบาปและความตายไปสู่ลูกหลานของเขา. (โรม 5:12) ถึงกระนั้น การขืนอำนาจของอาดามหาได้ยับยั้งพระประสงค์ดั้งเดิมของพระเจ้าไม่. เป็นพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาที่มนุษย์ผู้เชื่อฟังจะมีชีวิตตลอดไป และพระองค์จะทรงทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จอย่างแน่นอน. (ยะซายา 55:11) ดังนั้น นับว่าเหมาะที่เราจะตั้งความหวังและแผนการของเราในการรับใช้พระยะโฮวาโดยคำนึงถึงนิรันดร์กาล. ในขณะที่เราต้องการระลึกถึง “วันของพระยะโฮวา” อยู่เสมอ นับว่าสำคัญที่จะจำไว้ว่าเป้าหมายของเราคือดำเนินกับพระเจ้าตลอดไป.—2 เปโตร 3:12, ล.ม.
พระยะโฮวาทรงลงมือตามเวลากำหนดของพระองค์
3. เราทราบได้อย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงมี “เวลากำหนด” ที่จะทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ?
3 ในฐานะผู้ดำเนินกับพระเจ้า เราสนใจอย่างยิ่งในการทำให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. เราทราบว่าพระยะโฮวาทรงเป็นผู้รักษาเวลาองค์ยิ่งใหญ่ และเรามีความมั่นใจว่าพระองค์ไม่มีทางล้มเหลวในการทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จเป็นจริงตามเวลากำหนดของพระองค์. ตัวอย่างเช่น “เมื่อครบกำหนดแล้ว, พระเจ้าจึงทรงใช้พระบุตรของพระองค์มา.” (ฆะลาเตีย 4:4) อัครสาวกโยฮันได้รับแจ้งว่ามี “เวลากำหนด” สำหรับความสำเร็จของภาพพยากรณ์ทั้งหลายที่ท่านเห็นในหมายสำคัญต่าง ๆ. (วิวรณ์ 1:1-3, ล.ม.) มี “เวลากำหนดที่คนตายจะถูกพิพากษา.” (วิวรณ์ 11:18, ล.ม.) เมื่อ 1,900 กว่าปีมาแล้ว เปาโลได้รับการดลใจให้กล่าวว่าพระเจ้า “ได้ทรงกำหนดวันหนึ่งไว้ ประสงค์จะพิพากษาแผ่นดินโลกที่มีผู้คนอาศัยอยู่ด้วยความชอบธรรม.”—กิจการ 17:31, ล.ม.
4. เราทราบได้อย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงปรารถนาจะนำอวสานมาสู่ระบบชั่วนี้?
4 พระยะโฮวาจะทรงนำอวสานมาสู่ระบบชั่วนี้ เพราะพระนามพระองค์ถูกตำหนิติเตียนในโลกทุกวันนี้. คนชั่วรุ่งเรืองเฟื่องฟู. (บทเพลงสรรเสริญ 92:7) โดยทางคำพูดและการกระทำ พวกเขาดูหมิ่นพระเจ้า และเป็นเรื่องเจ็บปวดพระทัยสำหรับพระองค์ที่ทรงเห็นผู้รับใช้พระองค์ถูกว่าร้ายและถูกกดขี่ข่มเหง. (ซะคาระยา 2:8) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่พระยะโฮวาทรงมีประกาศิตว่าในไม่ช้าองค์การทั้งสิ้นของซาตานจะถูกนำไปสู่จุดจบ! พระเจ้าได้ทรงกำหนดไว้อย่างแน่นอนว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร และความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลแสดงชัดว่าบัดนี้เรากำลังมีชีวิตอยู่ใน “เวลาอวสาน.” (ดานิเอล 12:4, ล.ม.) อีกไม่ช้า พระองค์จะทรงลงมืออย่างที่จะเป็นพระพรสำหรับทุกคนที่รักพระองค์.
5. โลตและฮะบาฆูคมองสภาพการณ์รอบตัวท่านอย่างไร?
5 ผู้รับใช้พระยะโฮวาในอดีตปรารถนาจะเห็นอวสานของความชั่ว. โลตผู้ชอบธรรม “เป็นทุกข์มากเนื่องจากการทำตามอำเภอใจของคนที่ฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการประพฤติหละหลวม.” (2 เปโตร 2:7, ล.ม.) ด้วยความทุกข์ใจเนื่องด้วยสภาพรอบตัวท่าน ผู้พยากรณ์ฮะบาฆูควิงวอนดังนี้: “โอ้พระยะโฮวา, ข้าพเจ้าจะร้องไห้นานเท่าใด, และพระองค์จะไม่ทรงสดับฟังหรือ. ข้าพเจ้าร้องถึงพระองค์เพราะเหตุร้าย, แลพระองค์จะไม่ทรงโปรดช่วยให้รอด. เหตุใดพระองค์ให้ข้าพเจ้าเห็นความชั่ว, แลให้ข้าพเจ้าแลดูความทุกข์ยาก, เพราะความฉิบหายและความอันตรายอยู่ตรงหน้าข้าพเจ้า, แลมีผู้วิวาทแลกล่าวแก่งแย่งยกย่องตนขึ้น.”—ฮะบาฆูค 1:2, 3.
6. พระยะโฮวาตรัสตอบคำอธิษฐานของฮะบาฆูคเช่นไร และเราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?
6 ส่วนหนึ่งนั้น พระยะโฮวาทรงตอบแก่ฮะบาฆูคด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้: “นิมิตนั้นก็มีไว้สำหรับเวลากำหนด และกำลังรุดเร่งไปสู่ที่สุดปลาย และนิมิตนั้นจะไม่กล่าวเท็จเลย. ถึงแม้นิมิตจะเนิ่นช้าก็จงคอยท่า; ด้วยว่าจะสำเร็จเป็นแน่. จะไม่ล่าช้าเลย.” (ฮะบาฆูค 2:3, ล.ม.) ฉะนั้น พระเจ้าทรงแจ้งให้ทราบว่าพระองค์จะทรงลงมือตาม “เวลากำหนด.” แม้ว่าอาจดูเหมือนล่าช้า แต่พระยะโฮวาจะทรงทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ—อย่างแน่นอน!—2 เปโตร 3:9.
การรับใช้ด้วยใจแรงกล้าที่ไม่อ่อนล้า
7. แม้ว่าพระเยซูไม่ทรงทราบอย่างแน่นอนว่าวันของพระยะโฮวาจะมาเมื่อไร พระองค์ทรงกระทำการงานของพระองค์ต่อ ๆ ไปอย่างไร?
7 การทราบเวลากำหนดที่แน่นอนของพระยะโฮวาสำหรับเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อเราจะดำเนินกับพระเจ้าด้วยใจแรงกล้าไหม? ไม่เลย. ขอให้พิจารณาบางตัวอย่าง. พระเยซูทรงสนใจอย่างยิ่งในเรื่องเวลาที่พระทัยประสงค์ของพระเจ้าจะสำเร็จบนแผ่นดินโลกเหมือนที่สำเร็จในสวรรค์. ที่จริง พระคริสต์ทรงสอนเหล่าสาวกให้อธิษฐานว่า “พระบิดาแห่งข้าพเจ้าทั้งหลายในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด. พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จแล้วในสวรรค์อย่างไร ก็ขอให้สำเร็จบนแผ่นดินโลกอย่างนั้น.” (มัดธาย 6:9, 10, ล.ม.) แม้ว่าพระเยซูทรงทราบว่าคำขอนี้จะได้รับคำตอบ แต่พระองค์ไม่ทรงทราบกำหนดเวลาที่แน่นอนในเรื่องต่าง ๆ. ในคำพยากรณ์อันยิ่งใหญ่เกี่ยวด้วยอวสานของระบบนี้ พระองค์ตรัสว่า “แต่วันนั้นโมงนั้นไม่มีผู้ใดรู้. ถึงทูตสวรรค์หรือพระบุตรก็ไม่รู้. รู้แต่พระบิดาองค์เดียว.” (มัดธาย 24:36) เนื่องจากพระเยซูคริสต์ทรงเป็นแกนกลางในการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ พระองค์จะทรงมีส่วนร่วมโดยตรงในการพิพากษาลงโทษเหล่าศัตรูของพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์. อย่างไรก็ตาม เมื่อพระเยซูทรงอยู่บนแผ่นดินโลก แม้แต่พระองค์เองก็ไม่ทรงทราบเวลาที่พระเจ้าจะทรงลงมือจัดการ. นั่นทำให้พระองค์ทรงมีใจแรงกล้าน้อยลงในการรับใช้พระยะโฮวาไหม? ไม่เลย! เมื่อเห็นความกระตือรือร้นของพระเยซูในการชำระพระวิหารให้บริสุทธิ์สะอาด “เหล่าสาวกของพระองค์จึงระลึกขึ้นได้ถึงคำที่มีเขียนไว้ว่า ‘ความกระตือรือร้นเพื่อราชนิเวศของพระองค์จะเผาผลาญข้าพเจ้า.’” (โยฮัน 2:17, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 69:9) พระเยซูทรงเอาพระทัยใส่เต็มที่ในงานซึ่งพระองค์ถูกส่งมาให้ทำ และพระองค์ทรงทำงานนั้นด้วยใจแรงกล้าที่ไม่อ่อนล้า. พระองค์ทรงรับใช้พระเจ้าโดยคำนึงถึงนิรันดร์กาลด้วย.
8, 9. เมื่อเหล่าสาวกถามเกี่ยวกับการกอบกู้ราชอาณาจักร พวกเขาได้รับคำตอบเช่นไร และพวกเขาตอบสนองอย่างไร?
8 เรื่องนี้เป็นจริงกับเหล่าสาวกของพระคริสต์เช่นกัน. พระเยซูทรงพบกับพวกเขาก่อนพระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์. บันทึกกล่าวดังนี้: “เมื่อเขาทั้งหลายได้ประชุมพร้อมกันอีก เขาจึงทูลถามพระองค์ว่า, ‘พระองค์เจ้าข้า, พระองค์จะทรงตั้งพลยิศราเอลให้เป็นเอกราชอีกในครั้งนี้หรือ.’” เช่นเดียวกับพระองค์ผู้เป็นนาย พวกเขาปรารถนาอย่างยิ่งให้ราชอาณาจักรมา. กระนั้น พระเยซูตรัสตอบว่า “มิใช่ธุระของท่านทั้งหลายที่จะรู้เวลาและกาลกำหนดซึ่งพระบิดาได้ทรงดำริไว้โดยอำนาจของพระองค์. แต่ท่านทั้งหลายจะได้รับพระราชทานฤทธิ์เดชเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จมาเหนือท่าน และท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเราในกรุงยะรูซาเลม, สิ้นทั้งมณฑลยูดาย, มณฑลซะมาเรีย, และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.”—กิจการ 1:6-8.
9 ไม่มีข้อบ่งชี้ใด ๆ ว่าเหล่าสาวกรู้สึกหมดกำลังใจเนื่องด้วยคำตอบนี้. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาเอาใจใส่งานประกาศด้วยใจแรงกล้า. ภายในไม่กี่สัปดาห์ พวกเขาได้ทำให้กรุงยะรูซาเลมแพร่หลายไปด้วยคำสอนของเขา. (กิจการ 5:28) และภายใน 30 ปี พวกเขาก็ได้ขยายการประกาศไปถึงขนาดที่เปาโลกล่าวได้ว่า ข่าวดีได้ประกาศแล้ว “แก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า.” (โกโลซาย 1:23) แม้ว่าพระเจ้ามิได้ “ทรงตั้งพลยิศราเอลให้เป็นเอกราช” ดังที่เหล่าสาวกคาดหมายอย่างผิด ๆ และราชอาณาจักรก็ไม่ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในสวรรค์ระหว่างที่พวกเขามีชีวิตอยู่ แต่พวกเขารับใช้พระยะโฮวาด้วยใจแรงกล้าต่อ ๆ ไปโดยคำนึงถึงนิรันดร์กาล.
การตรวจสอบแรงกระตุ้นของเรา
10. การไม่ทราบเวลาที่พระเจ้าจะทรงทำลายระบบของซาตานทำให้เราสามารถพิสูจน์อะไร?
10 ผู้รับใช้พระยะโฮวาในสมัยปัจจุบันก็ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้เห็นอวสานของระบบชั่วนี้เช่นกัน. อย่างไรก็ตาม เรื่องหลักที่เราเป็นห่วงนั้นไม่ใช่การที่เราจะได้รับความรอดเข้าไปสู่โลกใหม่ตามคำสัญญาของพระเจ้า. เราต้องการเห็นพระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์และพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องเที่ยงธรรม. เนื่องด้วยเหตุนี้ เราสามารถยินดีที่พระเจ้าไม่ได้ทรงบอกเราถึง “วันนั้นโมงนั้น” ที่ทรงกำหนดไว้สำหรับการทำลายระบบของซาตาน. เรื่องนี้เปิดโอกาสแก่เราที่จะให้หลักฐานว่าเราตั้งใจแน่วแน่จะดำเนินกับพระเจ้าตลอดไปเพราะเรารักพระองค์ และไม่ใช่เพราะเรามีเป้าหมายในระยะสั้นอันเห็นแก่ตัว.
11, 12. ความซื่อสัตย์มั่นคงของโยบถูกท้าทายอย่างไร และการท้าทายนั้นเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร?
11 การที่เรารักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้ายังช่วยพิสูจน์ด้วยว่าพญามารเป็นฝ่ายผิดในข้อที่มันกล่าวหาโยบผู้ซื่อตรง—และด้วยเหตุนั้นจึงกล่าวหามนุษย์โดยทั่วไปที่เป็นเช่นท่านด้วย—ว่ารับใช้พระเจ้าเนื่องด้วยความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว. หลังจากพระยะโฮวาทรงพรรณนาว่าโยบผู้รับใช้ของพระองค์เป็นคนที่ปราศจากตำหนิ, ซื่อตรง, และเกรงกลัวพระเจ้า ซาตานกล่าวหาอย่างชั่วร้ายว่า “โยบนั้นยำเกรงพระเจ้าด้วยเปล่าประโยชน์หรือ? พระองค์มิได้สร้างรั้วล้อมรอบเขาไว้หรือ? และล้อมรอบเรือนและอะไรอะไรที่เขามีอยู่ทุกด้านหรือ? ก็พระองค์ได้อวยพรให้การงานโดยน้ำมือของเขาเจริญขึ้นนี่, และทรัพย์สมบัติของเขาก็ทวีมากขึ้นบนพื้นแผ่นดิน. แต่ถ้าหากบัดนี้พระองค์จะยื่นพระหัตถ์ออกแตะต้องให้เป็นอันตรายแก่ทรัพย์สินทั้งหมดที่เขามีอยู่นั้นเขาจะเลิกนับถือพระองค์ทีเดียว.” (โยบ 1:8-11) ด้วยการรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงภายใต้การทดลอง โยบพิสูจน์ว่าคำกล่าวหาที่ประสงค์ร้ายนี้เป็นความเท็จ.
12 โดยยึดอยู่กับแนวทางแห่งความซื่อสัตย์มั่นคงเช่นเดียวกัน เราสามารถหักล้างข้อกล่าวหาใด ๆ ของซาตานที่ว่าเรารับใช้พระเจ้าเพียงเพราะเราทราบว่ามีบำเหน็จรางวัลรออยู่แค่เอื้อม. การไม่ทราบเวลาแน่นอนว่าเมื่อไรการแก้แค้นของพระเจ้าจะมีเหนือคนชั่วให้โอกาสแก่เราที่จะพิสูจน์ว่า เรารักพระยะโฮวาอย่างแท้จริงและต้องการดำเนินในแนวทางของพระองค์ตลอดไป. เรื่องนี้แสดงว่าเราภักดีต่อพระเจ้าและไว้วางใจแนวทางของพระองค์ในการจัดการเรื่องราวต่าง ๆ. นอกจากนั้น การไม่ทราบวันเวลายังช่วยเราให้เฝ้าระวังอยู่เสมอและตื่นตัวทางฝ่ายวิญญาณ เนื่องจากเราตระหนักว่าอวสานอาจมาถึงเมื่อใดก็ได้ ดุจดังขโมยในตอนกลางคืน. (มัดธาย 24:42-44) โดยดำเนินกับพระยะโฮวาในแต่ละวัน เราทำให้พระทัยของพระองค์ยินดีและทำให้พระองค์มีคำตอบให้แก่พญามารที่เย้ยหยันพระองค์.—สุภาษิต 27:11.
จงวางแผนการสำหรับนิรันดร์กาล!
13. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้เช่นไรเกี่ยวกับการวางแผนการสำหรับอนาคต?
13 ผู้ที่ดำเนินกับพระเจ้าทราบว่าเป็นการสุขุมที่จะวางแผนอย่างสมเหตุผลสำหรับอนาคต. โดยตระหนักถึงปัญหาและข้อจำกัดของวัยชรา หลายคนพยายามแสวงหาประโยชน์ให้มากที่สุดขณะที่ยังหนุ่มแน่นและแข็งแรง เพื่อชีวิตในบั้นปลายจะได้มีหลักประกันทางการเงินที่มั่นคง. ถ้าอย่างนั้น จะว่าอย่างไรสำหรับอนาคตฝ่ายวิญญาณของเราที่สำคัญกว่ามาก? สุภาษิต 21:5 กล่าวว่า “ความดำริการณ์ของคนขยันขันแข็งนำไปถึงความบริบูรณ์: แต่ทุกคนที่เกียจคร้านก็รีบไปถึงการขัดสน.” การวางแผนล่วงหน้าโดยคำนึงถึงนิรันดร์กาลนับเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง. เนื่องจากเราไม่ทราบแน่ชัดว่าเมื่อไรอวสานของระบบนี้จะมาถึง เราจึงจำเป็นต้องคิดคำนึงถึงสิ่งจำเป็นต่าง ๆ สำหรับอนาคตของเราไว้บ้าง. แต่ให้เรามีความสมดุลและจัดให้ผลประโยชน์ของพระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิต. คนที่ขาดความเชื่ออาจลงความเห็นว่าการมุ่งความสนใจไปที่การทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าเป็นการคิดสั้น ๆ. แต่เป็นอย่างนั้นจริงไหม?
14, 15. (ก) พระเยซูทรงยกอุทาหรณ์อะไรเกี่ยวด้วยแผนการสำหรับอนาคต? (ข) เหตุใดจึงบอกได้ว่าชายเศรษฐีในอุทาหรณ์ของพระเยซูคิดสั้น ๆ?
14 พระเยซูทรงยกอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งซึ่งให้ความเข้าใจในเรื่องนี้. พระองค์ตรัสว่า “ไร่นาของเศรษฐีคนหนึ่งเกิดผลบริบูรณ์เป็นอันมาก. เศรษฐีคนนั้นจึงคิดในใจว่า. ‘เราจะทำอย่างไรดี. เพราะว่าเราไม่มีที่ที่จะเก็บผลของเรา?’ เขาจึงคิดว่า, ‘เราจะทำอย่างนี้, คือจะรื้อยุ้งฉางของเราเสีย, และจะสร้างใหม่ให้โตขึ้น, แล้วเราจะรวบรวมข้าวและสมบัติทั้งหมดของเราไว้ที่นั่น แล้วเราจะว่าแก่จิตต์ใจของเราว่า. “จิตต์ใจเอ๋ย. เจ้ามีทรัพย์สมบัติมากเก็บไว้พอหลายปี จงหายเหนื่อย. กิน, ดื่ม, และยินดีเถิด.”’ แต่พระเจ้าตรัสแก่เขาว่า. ‘โอคนโง่. ในคืนวันนี้ชีวิตของเจ้าจะต้องเรียกเอาไปจากเจ้า. แล้วของซึ่งเจ้าได้รวบรวมไว้นั้น จะเป็นของใครเล่า?’ คนที่สะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตัว. และมิได้มั่งมีจำเพาะพระเจ้าก็เป็นเช่นนั้นแหละ.”—ลูกา 12:16-21.
15 พระเยซูกำลังชี้ไหมว่าคนรวยไม่ควรทำงานเพื่อความมั่นคงทางวัตถุสำหรับอนาคต? ไม่ เพราะพระคัมภีร์สนับสนุนให้ทำงานหนัก. (2 เธซะโลนิเก 3:10) ข้อผิดพลาดของชายผู้ร่ำรวยคนนี้คือ เขาไม่ได้ทำสิ่งที่จำเป็นเพื่อจะ “มั่งมีจำเพาะพระเจ้า.” แม้ว่าเขาสามารถชื่นชมทรัพย์สมบัติฝ่ายวัตถุของตนเป็นเวลาหลายปี แต่ในที่สุดเขาก็ตาย. เขาคิดสั้น ๆ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงนิรันดร์กาล.
16. เหตุใดเราสามารถไว้วางใจในพระยะโฮวาได้อย่างมั่นใจสำหรับอนาคตที่มั่นคง?
16 การดำเนินกับพระยะโฮวาโดยคำนึงถึงนิรันดร์กาลนับว่าใช้ได้ผลจริงและเป็นการมองการณ์ไกล. นับว่าเป็นแนวทางดีที่สุดในการวางแผนสำหรับอนาคต. ในขณะที่เป็นการฉลาดที่จะวางแผนที่ใช้ได้ผลจริงเกี่ยวกับการเรียน, งานอาชีพ, และหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ ที่มีต่อครอบครัว เราควรระลึกอยู่เสมอว่าพระยะโฮวาจะไม่มีทางละทิ้งผู้รับใช้ที่ภักดีของพระองค์. กษัตริย์ดาวิดร้องเป็นเพลงดังนี้: “ตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นคนหนุ่ม, จนบัดนี้เป็นคนชราแล้ว; ข้าพเจ้าก็ยังไม่เคยเห็นคนสัตย์ธรรมต้องถูกละทิ้งเสีย, ไม่เคยเห็นพงศ์พันธุ์ของเขาขอทาน.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:25) พระเยซูก็เช่นกัน ทรงให้คำรับรองว่าพระเจ้าจะทรงจัดเตรียมให้แก่ทุกคนที่แสวงหาราชอาณาจักรเป็นอันดับแรกและดำเนินในแนวทางอันชอบธรรมของพระยะโฮวา.—มัดธาย 6:33.
17. เราทราบได้อย่างไรว่าอวสานใกล้จะถึงแล้ว?
17 แม้ว่าเรารับใช้พระเจ้าโดยคำนึงถึงนิรันดร์กาล แต่เรายังคงระลึกถึงวันของพระยะโฮวาอยู่เสมอ. ความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลเป็นข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนถึงความกระชั้นของวันนั้น. ลักษณะเด่นประจำศตวรรษนี้ได้แก่สงคราม, โรคระบาด, แผ่นดินไหว, และการขาดแคลนอาหาร, พร้อมด้วยการกดขี่คริสเตียนแท้และการประกาศไปทั่วโลกในเรื่องข่าวดีเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า. ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะเด่นของเวลาอวสานแห่งระบบชั่วนี้. (มัดธาย 24:7-14; ลูกา 21:11) โลกเต็มไปด้วยผู้คนที่ “รักตัวเอง, รักเงินทอง, อวดตัว, จองหอง, เป็นคนหมิ่นประมาท, ไม่เชื่อฟังบิดามารดา, อกตัญญู, ไม่ภักดี, ไม่มีความรักใคร่ตามธรรมชาติ, ไม่ยอมตกลงกัน, เป็นคนใส่ร้าย, ไม่มีการรู้จักบังคับตน, ดุร้าย, ไม่รักความดี, เป็นคนทรยศ, หัวดื้อ, พองตัวด้วยความหยิ่ง, เป็นคนรักการสนุกสนานแทนที่จะรักพระเจ้า.” (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) ในสมัยสุดท้ายอันวิกฤตินี้ การดำรงชีพเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเราที่เป็นผู้รับใช้พระยะโฮวา. เราปรารถนาเหลือเกินให้ถึงวันที่ราชอาณาจักรของพระยะโฮวาจะกวาดล้างความชั่วให้หมดสิ้น! ในระหว่างนี้ ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะดำเนินกับพระเจ้าโดยคำนึงถึงนิรันดร์กาล.
การรับใช้โดยคำนึงถึงชีวิตไม่รู้สิ้นสุด
18, 19. อะไรแสดงว่าผู้ซื่อสัตย์ในคราวโบราณรับใช้พระเจ้าโดยคำนึงถึงนิรันดร์กาล?
18 ขณะที่เราดำเนินกับพระยะโฮวา ขอให้เราระลึกถึงความเชื่อของเฮเบล, ฮะโนค, โนฮา, อับราฮาม, และซารา. หลังจากเอ่ยถึงบุคคลเหล่านี้แล้ว เปาโลเขียนดังนี้: “คนเหล่านี้ทุกคนตายไปขณะที่ยังมีความเชื่อ แม้ว่าเขามิได้รับผลตามคำสัญญาก็ตาม แต่ก็แลเห็นแต่ไกลและยินดีต้อนรับไว้ และได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่าตนเป็นคนแปลกถิ่นและเป็นคนอาศัยชั่วคราวในแผ่นดินนั้น.” (เฮ็บราย 11:13, ล.ม.) ผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ “มุ่งหน้าจะไปให้ถึงที่ที่ดีกว่า กล่าวคือที่ที่อยู่ฝ่ายสวรรค์.” (เฮ็บราย 11:16, ล.ม.) ด้วยความเชื่อ พวกเขามองไปถึงที่ที่ดีกว่าภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักรมาซีฮาของพระเจ้า. เราแน่ใจได้ว่า พระเจ้าจะประทานบำเหน็จแก่พวกเขาให้มีชีวิตนิรันดร์ในที่ที่ดีกว่า ซึ่งก็คืออุทยานบนแผ่นดินโลกภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักร.—เฮ็บราย 11:39, 40.
19 ผู้พยากรณ์มีคาแสดงความตั้งใจแน่วแน่ของไพร่พลพระยะโฮวาที่จะนมัสการพระเจ้าตลอดไป. ท่านเขียนว่า “ส่วนประชาชนทั้งสิ้น ต่างก็จะดำเนินในนามแห่งพระเจ้าของเขา; แต่ส่วนเราจะดำเนินในพระนามของพระยะโฮวาพระเจ้าของเราจนเวลาที่ไม่มีกำหนด ตลอดไปเป็นนิตย์.” (มีคา 4:5, ล.ม.) มีคารับใช้พระยะโฮวาอย่างภักดีตราบวันตาย. เมื่อได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายในโลกใหม่ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้พยากรณ์ท่านนี้ก็จะดำเนินกับพระเจ้าต่อไปจนชั่วนิรันดร์. ช่างเป็นแบบอย่างที่ดีจริง ๆ สำหรับพวกเราที่กำลังมีชีวิตอยู่ในเวลาจวนอวสานเช่นนี้!
20. เราควรตกลงใจแน่วแน่เช่นไร?
20 พระยะโฮวาทรงหยั่งรู้ค่าความรักที่เราแสดงเพื่อพระนามของพระองค์. (เฮ็บราย 6:10) พระองค์ทรงทราบว่าเป็นเรื่องยากที่เราจะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระองค์ในโลกที่ตกอยู่ใต้การครอบงำของพญามาร. ในขณะที่ “โลก . . . กำลังผ่านพ้นไป แต่ผู้ที่ทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าจะดำรงอยู่ตลอดไปเป็นนิตย์.” (1 โยฮัน 2:17; 5:19, ล.ม.) ด้วยความช่วยเหลือของพระยะโฮวา ให้เราตกลงใจแน่วแน่ว่าจะอดทนการทดลองที่เราเผชิญในแต่ละวันไป. ขอให้การคิดและแนวทางชีวิตของเรามุ่งไปที่พระพรอันยอดเยี่ยมที่พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราผู้เปี่ยมด้วยความรักทรงสัญญาไว้. พระพรเหล่านี้จะเป็นของเราได้ถ้าเราดำเนินกับพระเจ้าอยู่เสมอโดยคำนึงถึงนิรันดร์กาล.—ยูดา 20, 21.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ พระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับมนุษย์ที่เชื่อฟังคืออะไร?
▫ เหตุใดพระยะโฮวายังไม่ได้ทรงนำอวสานมาสู่โลกที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า?
▫ เหตุใดการไม่ทราบแน่นอนว่าพระเจ้าจะทรงลงมือจัดการเมื่อไรจึงมิได้ลดทอนความมีใจแรงกล้าของเรา?
▫ ผลประโยชน์ของการดำเนินกับพระเจ้าโดยคำนึงถึงนิรันดร์กาลมีอะไรบ้าง?
[รูปภาพหน้า 17]
เพื่อจะดำเนินกับพระเจ้า เราต้องรับใช้พระองค์ด้วยใจแรงกล้าเช่นเดียวกับเหล่าสาวกรุ่นแรก ๆ ของพระคริสต์