ไพร่พลของพระยะโฮวารับการเสริมให้มั่นคงในความเชื่อ
“ประชาคมทั้งหลายจึงรับการเสริมต่อ ๆ ไปให้มั่นคงอยู่ในความเชื่อ และทวีจำนวนมากขึ้นทุกวัน.”—กิจการ 16:5, ล.ม.
1. พระเจ้าทรงใช้อัครสาวกเปาโลอย่างไร?
พระเจ้ายะโฮวาทรงใช้เซาโลแห่งเมืองตาระโซเสมือน “ภาชนะที่สรรไว้.” ครั้นได้เป็นอัครสาวกเปาโล ท่าน ‘ทนทุกข์ลำบากมาก.’ แต่โดยการงานของท่านและของคนอื่น ๆ องค์การของพระยะโฮวามีเอกภาพและเติบโตขยายตัวอย่างน่าประหลาด.—กิจการ 9:15, 16.
2. เหตุใดจึงเป็นคุณประโยชน์ที่จะพิจารณากิจการ 13:1–16:5?
2 คนต่างชาติได้เข้ามาป็นคริสเตียนเป็นจำนวนมากขึ้น และการประชุมของคณะกรรมการปกครองครั้งสำคัญคราวหนึ่งอำนวยคุณประโยชน์อย่างมากมายในการส่งเสริมเอกภาพท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้าทั้งเสริมพวกเขาให้ตั้งมั่นคงอยู่ในความเชื่อด้วย. คงจะได้ประโยชน์มากทีเดียวที่จะพิจารณาเรื่องเหล่านี้และพัฒนาการด้านอื่น ๆ ดังบันทึกในพระธรรมกิจการ 13:1–16:5 เพราะเวลานี้พยานพระยะโฮวาเพิ่มจำนวนขึ้นมาก และได้รับพระพรฝ่ายวิญญาณทำนองเดียวกัน. (ยะซายา 60:22) (เมื่อคุณศึกษาเรื่องราวในพระธรรมกิจการในฉบับนี้เป็นส่วนตัว เราขอแนะนำให้อ่านส่วนต่าง ๆ จากพระธรรมกิจการตามที่ระบุไว้ด้วยตัวพิมพ์หนา.)
ผู้เผยแพร่เริ่มปฏิบัติงาน
3. “ผู้พยากรณ์และผู้สั่งสอน” ได้กระทำการงานอะไรที่อันติโอเกีย?
3 ประชาคมที่เมืองอันติโอเกียในซีเรียได้ส่งผู้ชายออกไปช่วยเหลือผู้เชื่อถือ เพื่อจะเสริมเขาให้ตั้งมั่นคงอยู่ในความเชื่อ. (13:1-5) ประชาคมเมืองอันติโอเกียมี “ผู้พยากรณ์และผู้สั่งสอน” เช่น บาระนาบา, ซิมโอน (นิเกร์), ลูกีชาวเมืองกุเรเน, มานะเอน, และเซาโลชาวเมืองตาระโซ. ผู้พยากรณ์ได้ชี้แจงพระวจนะของพระเจ้าและทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ส่วนผู้สั่งสอนได้สอนเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลและสอนให้ดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า. (1 โกรินโธ 13:8; 14:4) บาระนาบากับเซาโลได้รับมอบหน้าที่พิเศษ. ทั้งสองคนนี้ได้เดินทางไปไซปรัส (กุบโร) และได้พามาระโกลูกพี่ลูกน้องกับบาระนาบาไปด้วย. (โกโลซาย 4:10) พวกเขาได้สั่งสอนในธรรมศาลาแห่งเมืองซะลามิ ท่าเรือทางฝั่งตะวันออก แต่ไม่มีการบันทึกว่าคนยิวที่นั่นตอบรับแต่อย่างใด. เนื่องจากคนที่นั่นมั่งมี เขาจะต้องการมาซีฮาอีกหรือ?
4. เกิดอะไรขึ้นขณะผู้เผยแพร่ยังดำเนินงานประกาศอยู่ที่เกาะไซปรัส (กุบโร)?
4 พระเจ้าได้ทรงอวยพรการให้คำพยานในส่วนอื่น ๆ ของไซปรัส. (13:6-12) ที่เมืองปาโฟ พวกผู้เผยแพร่ได้พบชาวยิวชื่อบาระเยซู (เอลุมา) เป็นคนทำเล่ห์กลแถมทำนายเท็จอีก. เมื่อผู้นี้พยายามกีดกันผู้ว่าราชการเซระเฆียวเปาโลไม่ให้ฟังคำของพระเจ้า เซาโลผู้ซึ่งประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงพูดขึ้นว่า ‘เจ้าเป็นคนมีอุบายและชั่วร้าย ลูกซาตาน เจ้าเป็นอริกับทุกสิ่งที่ชอบธรรม เจ้าจะไม่ยับยั้งการบิดเบือนแนวทางของพระยะโฮวาหรือ?’ พอจบคำพูด พระเจ้าได้ลงโทษเขาโดยกระทำให้เอลุมาตามืดมองไม่เห็นชั่วระยะหนึ่ง และเซระเฆียวเปาโลก็ “กลายเป็นคนมีความเชื่อ เนื่องด้วยเขารู้สึกอัศจรรย์ใจกับการสั่งสอนของพระยะโฮวา.”
5, 6. (ก) ตอนที่เปาโลบรรยายในธรรมศาลาเมืองอันติโอเกียแห่งปิซิเดีย ท่านได้พูดอะไรเรื่องพระเยซู? (ข) คำบรรยายของเปาโลบังเกิดผลเช่นไร?
5 จากเกาะไซปรัส ผู้เผยแพร่กลุ่มนี้ได้แล่นเรือไปยังเมืองเประเฆในเอเชียไมเนอร์. จากนั้นเปาโลกับบาระนาบา มุ่งขึ้นเหนือไปยังอันติโอเกียมณฑลปิซิเดียตามเส้นทางผ่านเทือกเขา คงเป็นเส้นทาง ‘อันตรายจากภัยในแม่น้ำ ภัยจากโจรปล้นคนเดินทาง. (2 โกรินโธ 11:25, 26) ที่นั่นเปาโลได้สั่งสอนในธรรมศาลา. (13:13-41) ท่านกล่าวทบทวนวิธีที่พระเจ้าปฏิบัติกับชาติยิศราเอล และได้ชี้ตัวพระเยซูในฐานะผู้ช่วยให้รอดว่าเป็นเชื้อวงศ์ของดาวิด. ถึงแม้ชาวยิวผู้มีอำนาจปกครองได้ออกคำสั่งสังหารพระเยซู กระนั้น คำสัญญาต่อบรรพบุรุษของเขาก็เป็นจริง เมื่อพระเจ้าทรงบันดาลให้พระองค์คืนพระชนม์. (บทเพลงสรรเสริญ 2:7; 16:10; ยะซายา 55:3) เปาโลได้เตือนคนที่ฟังท่านไม่ให้ประมาทของประทานจากพระเจ้าคือความรอดโดยทางพระคริสต์.—ฮะบาฆูค 1:5.
6 คำบรรยายของเปาโลปลุกเร้าความสนใจ การบรรยายของพยานพระยะโฮวาต่อสาธารณชนในสมัยนี้ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน. (13:42-52) วันซะบาโตถัดมา ผู้คนเกือบสิ้นทั้งเมืองได้ประชุมกันฟังพระคำของพระยะโฮวา และเรื่องนี้แหละเป็นสาเหตุให้พวกยิวอิจฉา. แค่หนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ปรากฏว่ามิชชันนารีเหล่านั้นทำให้คนต่างชาติเปลี่ยนศาสนาได้มากกว่าที่ชาวยิวเคยทำมาตลอดชีวิต! เพราะชาวยิวได้โต้แย้งเปาโลอย่างดูหมิ่น ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่ความสว่างฝ่ายวิญญาณจะได้ส่องไปยังที่อื่น แล้วเปาโลจึงกล่าวดังนี้ ‘เพราะท่านได้ปัดพระคำของพระเจ้า และไม่พิจารณาตัวเองให้คู่ควรกับชีวิตนิรันดร์ เราจะบ่ายหน้าไปหาคนต่างชาติ.’—ยะซายา 49:6.
7. เปาโลกับบาระนาบาแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อการข่มเหง?
7 ครั้นคนต่างชาติได้ยินอย่างนั้นก็มีความยินดี และคนทั้งปวงที่มีแนวโน้มอย่างถูกต้องเพื่อชีวิตนิรันดร์ก็ได้เชื่อถือ. อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่คำของพระยะโฮวาได้แผ่แพร่ไปทั่วเขตแคว้นนั้น ชาวยิวได้ยุยงผู้หญิงที่มีชื่อเสียง (คงจะให้รบเร้าสามีหรือบีบคั้นคนอื่น) และบุคคลสำคัญให้ข่มเหงเปาโลและบาระนาบา แล้วขับไล่ให้ออกไปพ้นเขตแดนของเขา. แต่วิธีนี้ไม่ได้ทำให้มิชชันนารีเลิกการประกาศ. พวกเขาเพียงแต่ “สะบัดผงคลีดินจากเท้าแสดงความไม่เห็นด้วย” แล้วเดินทางต่อไปยังเมืองอิโกนิอัน (ปัจจุบันคือคอนยา) เมืองสำคัญแห่งหนึ่งในฆะลาเตียภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมัน. (ลูกา 9:5; 10:11) แต่สาวกเหล่านั้นซึ่งยังอยู่ที่อันติโอเกียแขวงปิซิเดียเป็นอย่างไรบ้าง? เพราะเขาได้ตั้งมั่นคงอยู่ในความเชื่อ เขา “ก็เต็มไปด้วยความปีติยินดีและด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์.” ทั้งนี้ช่วยเราเข้าใจว่า การต่อต้านไม่จำเป็นต้องขัดขวางความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ.
มั่นคงในความเชื่อทั้งที่มีการข่มเหง
8. เกิดอะไรขึ้นสืบเนื่องจากการให้คำพยานอย่างตลอดทั่วถึงในเมืองอิโกนิอัน?
8 เปาโลกับบาระนาบาได้พิสูจน์ตัวมั่นคงในความเชื่อทั้ง ๆ ที่ถูกข่มเหง. (14:1-7) การให้คำพยานของท่านในธรรมศาลาในเมืองอิโกนิอันยังผลให้ชาวยิวและชาวกรีกหลายคนเข้ามาเชื่อถือ. เมื่อชาวยิวที่ไม่มีความเชื่อได้ยุยงคนต่างชาติให้คิดร้ายต่อคนใหม่ที่เข้ามาเชื่อถือ ท่านทั้งสองได้กล่าวด้วยใจกล้าในนามของพระเจ้า และพระองค์ได้แสดงความพอพระทัยโดยโปรดให้ท่านประกอบด้วยอิทธิฤทธิ์ทำการอัศจรรย์. การทั้งนี้เป็นเหตุให้พลเมืองแตกแยก. พวกหนึ่งอยู่ฝ่ายยิว พวกหนึ่งอยู่ฝ่ายอัครสาวก. พวกอัครสาวกไม่ใช่คนขลาด แต่เมื่อรู้ว่ามีการคบคิดกันจะเอาหินขว้างท่าน ทั้งสองจึงออกไปจากเมืองนั้นอย่างฉลาดเพื่อจะไปประกาศในมณฑลลุกาโอเนีย ในเอเชียไมเนอร์ซึ่งอยู่ตอนใต้ของแขวงฆะลาเตีย. โดยการเป็นคนฉลาดรู้ทัน พวกเขาก็เช่นกันสามารถจะหาวิธีประกาศสั่งสอนได้เสมอทั้งที่มีการต่อต้าน.—มัดธาย 10:23.
9, 10. (ก) ชาวเมืองลุศตราแสดงท่าทีอย่างไรเมื่อเห็นคนง่อยหายเป็นปกติ? (ข) เปาโลกับบาระนาบาแสดงปฏิกิริยาอย่างไรที่เมืองลุศตรา?
9 ต่อจากนั้น เมืองที่ได้รับคำพยานได้แก่เมืองลุศตราแขวงลุกาโอเนีย (14:8-18) ที่นี่เองเปาโลได้รักษาคนง่อยตั้งแต่กำเนิด. โดยไม่ตระหนักว่าพระยะโฮวาอยู่เบื้องหลังการอัศจรรย์ครั้งนี้ ประชาชนได้ร้องด้วยเสียงดังว่า “พวกพระแปลงเป็นมนุษย์ลงมาหาเราแล้ว!” เพราะเหตุที่เขาพูดภาษาลุกาโอเนีย บาระนาบากับเปาโลจึงไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น. เนื่องจากเปาโลเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการบรรยาย ฝูงชนจึงถือว่าท่านเป็นเฮระเม (เฮอร์มีส เทพยเจ้าเดินข่าวในนิยายกรีกโบราณ) และเข้าใจว่าบาระนาบาเป็นพระซูศ ประมุขแห่งเทพยดาของชาวกรีก.
10 ปุโรหิตผู้ปฏิบัติพระซูศถึงกับได้จูงโคและพวงมาลัยมาถวายเป็นเครื่องสักการะแก่เปาโลและบาระนาบา. คงเป็นการพูดภาษากรีกซึ่งคนทั่วไปเข้าใจ หรืออาจพูดผ่านล่าม ท่านทั้งสองจึงได้รีบชี้แจงว่า ตัวท่านเองเป็นมนุษย์ธรรมดา และประกาศข่าวดีก็เพื่อว่าผู้คนจะกลับจาก “การซึ่งหาประโยชน์ไม่ได้” (ได้แก่พวกพระเจ้าที่ไม่มีชีวิตหรือรูปเคารพ) แล้วมาหาพระเจ้าผู้ทรงมีชีวิตอยู่. (1 กษัตริย์ 16:13; บทเพลงสรรเสริญ 115:3-9; 146:6) จริงอยู่ เมื่อก่อนพระเจ้าปล่อยให้ชนชาติต่าง ๆ (ยกเว้นชาติยิว) ประพฤติตามอำเภอใจ กระนั้น พระเจ้าก็ไม่เคยขาดพยานให้หลักฐานถึงสภาพดำรงคงอยู่และคุณความดีของพระองค์ ‘เมื่อพระองค์บันดาลให้มีฝน และมีฤดูเกิดผล พวกเขาจึงอิ่มใจยินดีด้วยอาหารนั้น.’ (บทเพลงสรรเสริญ 147:8) ถึงแม้ได้ชักเหตุผลอย่างนั้นก็ตาม บาระนาบากับเปาโลแทบจะห้ามปรามฝูงชนที่หมายจะนมัสการท่านไม่ได้. กระนั้น ผู้เผยแพร่ทั้งสองก็ไม่ยอมรับการบูชาให้เป็นพระเจ้า และท่านก็ไม่ใช้อำนาจดังกล่าวจัดตั้งศาสนาคริสเตียนขึ้นที่นั่น. นับว่าเป็นตัวอย่างอันดีงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเรามีใจโน้มเอียงอยากได้รับการยกย่องสำหรับงานรับใช้ที่พระองค์อนุญาตให้เราทำ.
11. เราอาจจะเรียนอะไรได้จากคำกล่าวที่ว่า “เราต้องเข้าในราชอาณาจักรของพระเจ้าด้วยความทุกข์ลำบากหลายประการ”?
11 โดยกะทันหัน การข่มเหงอย่างน่ารังเกียจได้ปะทุขึ้น. (14:19-28) อย่างไร? ด้วยแรงยุจากชาวยิวในเมืองอันติโอเกีย และเมืองอิโกนิอันในแขวงปิซิเดียฝูงชนจึงพากันเอาหินขว้างเปาโลและลากท่านออกไปจากเมืองโดยคิดว่าท่านตายแล้ว. (2 โกรินโธ 11:24, 25) แต่เมื่อเหล่าสาวกยืนล้อมรอบท่านอยู่ ท่านได้ลุกขึ้นแล้วเข้าไปในเมืองลุศตราโดยไม่มีใครสังเกต อาจเป็นได้ที่ท่านอาศัยความมืดบังกาย. วันรุ่งขึ้น ท่านกับบาระนาบาได้ไปยังเมืองเดระเบ มีหลายคนได้เข้ามาเป็นสาวกที่นั่น. ในการกลับไปเยี่ยมเมืองลุศตรา อิโกนิอันและอันติโอเกีย มิชชันนารีเหล่านี้ได้หนุนใจบรรดาสาวกในเมืองเหล่านั้น สนับสนุนพวกเขาให้ยืนหยัดอยู่ในความเชื่อ และกล่าวดังนี้ “เราต้องเข้าในราชอาณาจักรของพระเจ้าด้วยความทุกข์ลำบากหลายประการ.” ในฐานะเป็นคริสเตียน พวกเราก็เช่นกันย่อมคาดหมายจะผ่านความทุกข์ลำบากนานาประการ และไม่ควรคิดหลบเลี่ยงความทุกข์โดยยอมรอมชอมความเชื่อของเรา. (2 ติโมเธียว 3:12) ในคราวนั้น มีการแต่งตั้งพวกผู้ปกครองไว้ในประชาคมต่าง ๆ ซึ่งจดหมายของเปาโลถึงประชาคมต่าง ๆ ในฆะลาเตียส่งถึง.
12. เมื่อเสร็จสิ้นการเดินทางเผยแพร่ครั้งแรกสุดของเปาโลแล้ว มิชชันนารีทั้งสองคนได้ทำอะไร?
12 เปาโลกับบาระนาบาได้เดินทางผ่านเมืองปิซิเดียไปยังเมืองเประเฆหัวเมืองเอกของปัมฟูเลีย. ต่อมา ท่านทั้งสองได้กลับไปยังอันติโอเกียแห่งซีเรีย. การเดินทางเที่ยวแรกของเปาโลจบลงแล้ว มิชชันนารีสองคนนี้จึงเล่าให้ประชาคมฟัง “ถึงเหตุการณ์ทั้งปวงซึ่งพระเจ้าได้ทรงโปรดให้ท่านกระทำนั้นกับซึ่งพระองค์ได้ทรงเปิดประตูให้คนต่างประเทศเชื่อ.” เปาโลกับบาระนาบาค้างอยู่กับพวกสาวกที่อันติโอเกียระยะหนึ่ง และไม่ต้องสงสัยว่านั้นคงเสริมพี่น้องเหล่านั้นให้มั่นคงในความเชื่อ. ทุกวันนี้ การเยี่ยมของผู้ดูแลเดินทางก่อผลดีทางฝ่ายวิญญาณเช่นเดียวกัน.
การยุติปัญหาสำคัญ
13. ถ้าจะป้องกันศาสนาคริสเตียนไม่ให้แตกแยกเป็นฝ่ายฮีบรูและฝ่ายต่างชาติซึ่งไม่ใช่ชาวยิว อะไรเป็นสิ่งจำเป็น?
13 ที่จะมั่งคงในความเชื่อจำต้องอาศัยความคิดอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน. (1 โกรินโธ 1:10) ถ้าจะไม่ให้ศาสนาคริสเตียนแตกแยกเป็นฝ่ายฮีบรูและฝ่ายต่างชาติ คณะกรรมการปกครองจึงต้องพิจารณาตัดสินว่า สมควรหรือไม่สำหรับคนต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาในองค์การของพระเจ้าจะปฏิบัติตามกฎหมายของโมเซและรับสุหนัต. (15:1-5) บางคนมาจากแคว้นยูดายได้ไปถึงเมืองอันติโอเกียแห่งซีเรียแล้ว และเริ่มต้นสั่งสอนคนต่างชาติที่มีความเชื่อในเมืองนั้นว่า เขาจะไม่ได้รับการช่วยให้รอดเว้นเสียแต่เขาได้รับสุหนัตก่อน. (เอ็กโซโด 12:48) ฉะนั้น เปาโล บาระนาบาพร้อมด้วยคนอื่น ๆ จึงถูกส่งไปพบอัครสาวกและผู้ปกครองในกรุงยะรูซาเลม. แม้แต่ที่นั่น ผู้เชื่อถือซึ่งเคยมีความคิดอย่างพวกฟาริซายก็ยังยืนกรานให้คนต่างประเทศรับสุหนัตและปฏิบัติตามพระบัญญัติ.
14. (ก) แม้นว่าได้เกิดการโต้แย้งกัน ณ การประชุมในกรุงยะรูซาเลมก็ตาม แต่มีการวางตัวอย่างที่ดีประการใด? (ข) อะไรเป็นใจความของการหาเหตุผลที่เปโตรกล่าวในโอกาสนั้น?
14 การประชุมอภิปรายถูกจัดขึ้นเพื่อสืบให้แน่ใจในเรื่องพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. (15:6-11) มีการคัดค้านกันก็จริง แต่ไม่มีการโต้เถียงรุนแรงแบบคนที่แสดงความเชื่อมั่นของตัวเองอย่างเอาเป็นเอาตาย—ตัวอย่างที่ดีสำหรับพวกผู้ปกครองสมัยนี้! ครั้นแล้วเปโตรกล่าวขึ้นว่า ‘พระเจ้าได้ทรงเลือกข้าพเจ้าให้ประกาศกิตติคุณให้คนต่างชาติ [เช่นโกระเนเลียว] ฟังและเชื่อ. พระเจ้าทรงรับรองคนต่างชาติโดยได้ประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่คนเหล่านั้น ทั้งไม่ทรงถือว่าเรากับเขาผิดกันอย่างไร. [กิจการ 10:44-47] ถ้าอย่างนั้นทำไมท่านทั้งหลายจึงทดลองพระเจ้าโดยวางของหนัก [ภาระให้รักษาพระบัญญัติ] บนบ่าพวกเขาซึ่งเราเองหรือบรรพบุรุษของเราก็แบกไม่ไหว? พวกเรา [ยิวโดยกำเนิด] ไว้ใจว่าจะรอดได้โดยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าเหมือนอย่างคนเหล่านั้น.’ การที่พระเจ้าทรงรับรองคนต่างชาติซึ่งไม่ได้รับสุหนัตจึงแสดงว่าการสุหนัตก็ดี การรักษาพระบัญญัติก็ดี หาใช่ข้อเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งความรอดไม่.—ฆะลาเตีย 5:1.
15. ยาโกโบได้ชี้จุดต่าง ๆ อะไรบ้างอันเป็นพื้นฐาน และท่านได้แนะนำให้เขียนอย่างไรในจดหมายถึงคริสเตียนชาวต่างชาติ?
15 เมื่อประชาคมได้ฟังเปโตรกล่าวสรุปจึงเงียบเสียง แต่มีการเล่าเรื่องอื่น ๆ อีก. (15:12-21) บาระนาบากับเปาโลได้เล่าถึงการอิทธิฤทธิ์ซึ่งพระเจ้าทรงสำแดงผ่านท่านทั้งสองให้ปรากฏแก่คนต่างชาติ. ต่อจากนั้น ยาโกโบน้องชายของพระเยซูซึ่งร่วมมารดาเดียวกันได้พูดว่า ‘ซีโมน [ชื่อของเปโตรในภาษาฮีบรู] ได้บอกแต่แรกว่าพระเจ้าทรงใฝ่พระทัยในคนต่างชาติเพื่อจะเลือกชนจำนวนหนึ่งออกมาให้ถือพระนามของพระองค์.’ ยาโกโบได้ชี้แจงว่าตามที่บอกไว้ล่วงหน้าถึงเรื่องการสร้าง “พลับพลาของดาวิด ขึ้นใหม่ (การสถาปนากษัตริย์ในราชวงศ์ดาวิด) ก็จวนสำเร็จเป็นจริงด้วยการรวบรวมสาวกของพระเยซู (ทายาทราชอาณาจักร) จากท่ามกลางชาวยิวและคนต่างชาติ. (อาโมศ 9:11, 12; โรม 8:17) เนื่องจากพระเจ้าทรงมีพระประสงค์เช่นนี้ สาวกทั้งหลายก็น่าจะยอมรับ. ยาโกโบแนะนำให้เขียนหนังสือไปถึงคริสเตียนชาวต่างชาติให้เขาละเว้นจาก (1) สิ่งมลทินเนื่องด้วยรูปเคารพ (2) การผิดประเวณี และ (3) เลือดและสัตว์ที่ตายเพราะถูกรัดคอ. ข้อห้ามเหล่านี้มีอยู่ในบัญญัติของโมเซ ซึ่งนำขึ้นมาอ่านกันในธรรมศาลาทุก ๆ วันซะบาโต.—เยเนซิศ 9:3, 4; 12:15-17; 35:2, 4.
16. จุดสำคัญสามประการอะไรบ้างที่ระบุในจดหมายของคณะกรรมการปกครองแห่งศตวรรษแรกซึ่งเป็นข้อชี้แนะมาจนถึงทุกวันนี้?
16 มาบัดนี้ คณะกรรมการปกครองได้ส่งจดหมายไปถึงคริสเตียนชาวต่างชาติที่เมืองอันติโอเกีย มณฑลซีเรียและมณฑลกิลิเกีย. (15:22-35) พระวิญญาณบริสุทธิ์และผู้เขียนจดหมายเรียกร้องให้เขาละเว้นจากสิ่งของที่บูชารูปเคารพ การใช้เลือด (ผู้คนบางแห่งนิยมบริโภคเป็นประจำ) สัตว์ที่ตายเพราะถูกรัดคอ ไม่ได้ทำให้เลือดหลั่งออก (คนนอกรีตบางพวกกลับเห็นว่าเนื้อสัตว์อย่างนี้มีรสโอชะ) และการผิดประเวณี (ภาษากรีก-พอร์นิʹอา หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่ถูกต้องกับคนที่ไม่ใช่คู่สมรสของตนตามหลักพระคัมภีร์). โดยการละเว้นจากสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าว พวกเขาจะเจริญฝ่ายวิญญาณ ดังเช่นพยานพระยะโฮวาเจริญเวลานี้เพราะเขาปฏิบัติ “สิ่งที่จำเป็นเหล่านี้.” คำว่า “ขอให้ท่านมีสุขภาพดี!” ก็เท่ากับคำ “จงเป็นสุขสบาย” และไม่ควรจะสรุปว่า ข้อเรียกร้องเหล่านี้ในประการแรกหมายถึงการมีสุขภาพร่างกายที่ดี. เมื่อได้อ่านจดหมายให้พี่น้องที่อันติโอเกียฟัง ประชาคมก็มีความชื่นชมยินดีเพราะข้อความในจดหมายให้กำลังใจเขา. คราวนั้นไพร่พลของพระเจ้าที่เมืองอันติโอเกียได้รับการเสริมให้มั่นคงในความเชื่อโดยคำพูดหนุนใจจากเปาโล ซีลา และบาระนาบาและคนอื่น ๆ. ขอให้เราเช่นกันพยายามหาทางที่จะหนุนใจและเสริมสร้างเพื่อนร่วมความเชื่อ.
การเดินทางเผยแพร่รอบที่สองเริ่มต้น
17. (ก) มีปัญหาอะไรขึ้นมาเมื่อได้กำหนดการเดินทางเผยแพร่รอบที่สองไว้แล้ว? (ข) เปาโลและบาระนาบาได้จัดการอย่างไรกับการโต้เถียงครั้งนั้น?
17 เมื่อได้กำหนดการเดินทางเผยแพร่รอบที่สองแล้วก็เกิดมีปัญหาขึ้น. (15:36-41) เปาโลตั้งข้อเสนอว่าท่านกับบาระนาบาจะกลับไปเยี่ยมประชาคมในไซปรัส (กุบโร) และที่เอเชียไมเนอร์. บาระนาบาเห็นดีด้วยแต่ต้องการจะพามาระโกลูกพี่ลูกน้องของท่านไปด้วย. เปาโลไม่เห็นด้วยเพราะมาระโกได้ละทิ้งท่านทั้งสองที่เมืองปัมฟูเลีย. ฉะนั้น จึง “เกิดการเถียงกันมาก.” แต่เปาโลกับบาระนาบาต่างก็มิได้แก้ตัวว่าตนเป็นฝ่ายถูกโดยพยายามดึงเอาผู้ปกครองคนอื่น ๆ หรือคณะกรรมการปกครอง เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัว. นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีอะไรเช่นนี้!
18. การแยกทางกันของเปาโลและบาระนาบามีผลประการใด และเราได้ประโยชน์อย่างไรจากเหตุการณ์ครั้งนี้?
18 อย่างไรก็ดี การเถียงกันครั้งนี้ทำให้เขาแยกทางกัน. บาระนาบาได้พามาระโกไปยังเกาะไซปรัส (กุบโร). เปาโลพร้อมกับซีลาเป็นเพื่อนร่วมทางไป “ตลอดมณฑลซุเรียกับมณฑลกิลิเกียเพื่อหนุนใจประชาคมต่าง ๆ ให้แข็งแรงขึ้น.” บาระนาบาอาจได้รับอิทธิพลจากความผูกพันด้านสายเลือด แต่ว่าท่านน่าจะสำนึกถึงการที่เปาโลเป็นอัครสาวก และการที่เปาโลเป็น “ภาชนะที่เราได้เลือกสรรไว้.” (กิจการ 9:15) และพวกเราล่ะเป็นอย่างไร? เหตุการณ์นี้ควรจะกระตุ้นใจเราให้เห็นความจำเป็นที่จะยอมรับอำนาจตามระบอบการของพระเจ้า และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับ “บ่าวสัตย์ซื่อและสุขุมรอบคอบ”!—มัดธาย 24:45-47.
เจริญก้าวหน้าในทางสันติสุข
19. เยาวชนคริสเตียนสมัยนี้จะยึดเอาติโมเธียวเป็นตัวอย่างในด้านไหน?
19 การเถียงกันครั้งนั้นหาใช่สิ่งทำลายสันติสุขของประชาคมไม่. ไพร่พลของพระเจ้ายังคงได้รับการเสริมสร้างให้มั่นคงในความเชื่ออยู่ต่อไป. (16:1-5) เปาโลกับซีลาได้ไปยังเมืองเดระเบกับเมืองลุสตรา. ที่นั่นมีติโมเธียวบุตรชายนางยูนิเกคนยิวที่มีความเชื่อ สามีของนางเป็นชาวกรีกไม่เชื่อพระเจ้า. ตอนนั้นติโมเธียวเป็นหนุ่ม เพราะแม้ในเวลา 18 หรือ 20 ปีต่อมายังมีการกล่าวถึงท่านว่า “อย่าให้ผู้ใดหมิ่นประมาทความหนุ่มแน่นของท่าน.” (1 ติโมเธียว 4:12) เนื่องจากติโมเธียว “มีชื่อเสียงดีท่ามกลางพวกพี่น้องที่อยู่ในเมืองลุศตราและ [ไกลประมาณ 29 กม.ใน] เมืองอิโกนิอัน” ท่านจึงเป็นที่รู้จักดีในด้านการทำงานรับใช้อย่างครบถ้วนและความเลื่อมใสในพระเจ้า. เยาวชนคริสเตียนสมัยนี้ควรแสวงความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาเพื่อสร้างชื่อเสียงอันดีเช่นกัน. เปาโลให้ติโมเธียวรับสุหนัตก็เพราะเขาทั้งสองจะเดินทางไปยังบ้านเรือนและธรรมศาลาของชาวยิว ซึ่งรู้ว่าบิดาของติโมเธียวเป็นคนต่างชาติ และอัครสาวกไม่ประสงค์จะให้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกีดขวางเขาให้เข้าถึงชายหญิงชาวยิวผู้ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องพระมาซีฮา. โดยไม่ฝืนหลักการของคัมภีร์ไบเบิล พยานพระยะโฮวาสมัยนี้จึงทำสิ่งที่ตนสามารถทำได้ เพื่อว่าข่าวดีจะเป็นที่ยอมรับสำหรับคนทุกชนิด.—1 โกรินโธ 9:19-23.
20. การปฏิบัติลงรอยกับจดหมายของคณะกรรมการปกครองในศตวรรษแรกมีผลเช่นไร? และคุณคิดว่าเรื่องนี้น่าจะมีผลกระทบพวกเราอย่างไร?
20 โดยมีติโมเธียวเป็นเพื่อนติดตามไปนั้น เปาโลกับซีลาได้นำส่งคำตัดสินของคณะกรรมการปกครองแก่บรรดาสาวกทั้งหลายเพื่อจะให้เขาปฏิบัติตาม. ผลเป็นอย่างไร? เท่าที่ปรากฏให้เห็น ลูกาได้อ้างถึงมณฑลซุเรีย กิลิเกีย ฆะลาเตีย ดังนี้: “ประชาคมทั้งปวงจึงรับการเสริมต่อ ๆ ไปให้มั่นคงอยู่ในความเชื่อและทวีจำนวนมากขึ้นทุกวัน.” ถูกแล้ว การปฏิบัติอย่างที่ระบุในจดหมายของคณะกรรมการปกครองก่อความสามัคคีและความเจริญรุ่งเรืองฝ่ายวิญญาณ. ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีเสียนี่กระไรสำหรับพวกเราในสมัยที่ยุ่งยากเช่นนี้ เมื่อไพร่พลของพระยะโฮวาต้องการความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและตั้งมั่นคงอยู่ในความเชื่อ!
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เปาโลกับบาระนาบามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการข่มเหง?
▫ อาจจะเรียนอะไรได้จากคำกล่าวที่ว่า “เราต้องเข้าในราชอาณาจักรของพระเจ้าด้วยความทุกข์ลำบากหลายประการ”?
▫ เราได้รับคำแนะนำอะไรบ้างจากจุดสำคัญสามประการในจดหมายที่ส่งออกไปโดยคณะกรรมการปกครองแห่งศตวรรษแรก?
▫ ปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งทำให้พยานพระยะโฮวาแห่งศตวรรษแรกมั่นคงอยู่ในความเชื่อนั้นจะนำมาใช้กับพวกเราสมัยนี้อย่างไร?