บท 11
“เต็มไปด้วยพลังบริสุทธิ์และมีความสุขมาก”
สิ่งที่เราได้เรียนจากเปาโลตอนที่ต้องเจอกับคนที่ไม่ฟังและต่อต้านข่าวดี
จากกิจการ 13:1-52
1, 2. งานมอบหมายของบาร์นาบัสกับเซาโลต่างจากของมิชชันนารีคนอื่น ๆ ยังไง และงานของพวกเขาช่วยทำให้กิจการ 1:8 เกิดขึ้นจริงยังไง?
วันนั้นเป็นวันที่น่าตื่นเต้นสำหรับพี่น้องในประชาคมอันทิโอก จากผู้พยากรณ์และผู้สอนทุกคนที่อยู่ที่นั่น พระเจ้าได้ใช้พลังบริสุทธิ์ให้เลือกบาร์นาบัสกับเซาโล และให้พวกเขาไปประกาศข่าวดีอีกที่หนึ่งที่อยู่ห่างไกลa (กจ. 13:1, 2) จริงอยู่ ก่อนหน้านี้ เคยมีการส่งพวกผู้ชายที่มีคุณสมบัติไปแล้ว แต่ในตอนนั้น พวกมิชชันนารีได้เดินทางไปประกาศในเขตที่มีการยอมรับศาสนาคริสเตียนอยู่แล้ว (กจ. 8:14; 11:22) แต่ในครั้งนี้ บาร์นาบัสกับเซาโล พร้อมกับยอห์นมาระโกผู้ช่วยของพวกเขาจะถูกส่งไปในที่ที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้ยินข่าวดี
2 ประมาณ 14 ปีก่อนหน้านั้น พระเยซูได้บอกสาวกของท่านว่า “พวกคุณจะเป็นพยานของผมในกรุงเยรูซาเล็ม และทั่วแคว้นยูเดียกับแคว้นสะมาเรีย และจนถึงสุดขอบโลก” (กจ. 1:8) การแต่งตั้งบาร์นาบัสกับเซาโลให้รับใช้เป็นมิชชันนารีจะช่วยให้คำพูดนี้ของพระเยซูเกิดขึ้นจริงb
“แต่งตั้ง . . . เพื่อทำงาน” (กิจการ 13:1-12)
3. อะไรทำให้การเดินทางไกลเป็นเรื่องยากลำบากในศตวรรษแรก?
3 ทุกวันนี้ ผู้คนสามารถเดินทางไกลโดยใช้เวลาไม่นานเพราะมีรถยนต์และเครื่องบิน แต่ในศตวรรษแรกไม่ได้เป็นอย่างนั้น ในสมัยนั้น วิธีหลักในการเดินทางก็คือ การเดิน บ่อยครั้งต้องผ่านเส้นทางที่ขรุขระ การเดินทางโดยใช้เวลาทั้งวันก็อาจไปได้แค่ 30 กิโลเมตร การเดินแบบนั้นก็ทำให้หมดแรงได้!c ดังนั้น บาร์นาบัสกับเซาโลรู้ดีว่างานมอบหมายของเขาไม่ง่าย เขาทั้งสองคงต้องออกความพยายามและเสียสละอย่างมาก แต่พวกเขาก็พร้อมแล้วที่จะเริ่มต้นงานนี้—มธ. 16:24
4. (ก) อะไรชี้นำการเลือกบาร์นาบัสกับเซาโล และพี่น้องรู้สึกยังไงกับการแต่งตั้งนั้น? (ข) เราจะสนับสนุนพี่น้องที่ได้รับการแต่งตั้งในประชาคมได้ยังไง?
4 แต่ทำไมพลังบริสุทธิ์ถึงชี้นำให้แต่งตั้งเฉพาะบาร์นาบัสกับเซาโล “เพื่อทำงาน” นี้? (กจ. 13:2) คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอก เรารู้ว่าพลังบริสุทธิ์ชี้นำการเลือกผู้ชายสองคนนี้ จากเนื้อหาในกิจการ ไม่มีอะไรที่แสดงว่าผู้พยากรณ์และผู้สอนในอันทิโอกคัดค้านเรื่องนี้ แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาสนับสนุนการแต่งตั้งอย่างเต็มที่ คิดดูสิว่า บาร์นาบัสกับเซาโลคงต้องรู้สึกยังไงเมื่อได้เห็นพี่น้องคริสเตียน “อดอาหารและอธิษฐานกันแล้วก็วางมือบนบาร์นาบัสกับเซาโล แล้วส่งเขาสองคนไป” พวกพี่น้องไม่ได้แสดงความอิจฉาเลย (กจ. 13:3) พวกเราก็เหมือนกัน เราควรสนับสนุนพี่น้องที่ได้รับการแต่งตั้งในประชาคม แทนที่จะอิจฉาพวกเขาที่ได้รับสิทธิพิเศษ เราควร “รักและนับถือพวกเขาเป็นพิเศษเพราะงานที่พวกเขาทำ”—1 ธส. 5:13
5. ขออธิบายว่าการประกาศบนเกาะไซปรัสน่าจะเป็นยังไง
5 หลังจากเดินไปถึงเมืองเซลูเคีย ท่าเรือที่อยู่ใกล้อันทิโอก บาร์นาบัสกับเซาโลแล่นเรือไปถึงเกาะไซปรัส ซึ่งเป็นการเดินทางประมาณ 200 กิโลเมตรd เนื่องจากบาร์นาบัสเป็นชาวไซปรัส เขาคงกระตือรือร้นที่จะประกาศข่าวดีกับผู้คนที่บ้านเกิดของเขา พอมาถึงซาลามิส ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะนั้น พวกเขาก็ไม่ได้ปล่อยเวลาให้เสียไปเปล่า ๆ “ทั้งสอง . . . ก็ประกาศคำสอนของพระเจ้าตามที่ประชุมของชาวยิว”e ทันที (กจ. 13:5) บาร์นาบัสกับเซาโลเดินทางจากปลายเกาะด้านหนึ่งถึงปลายเกาะอีกด้านหนึ่ง พวกเขาคงจะประกาศตามเมืองใหญ่ ๆ ระหว่างทางที่พวกเขาเดิน มิชชันนารี 2 คนนี้อาจเดินเป็นระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร!
6, 7. (ก) เสอร์จีอัสเปาลุสคือใคร และทำไมบาร์เยซูกีดกันไม่ให้เขาฟังข่าวดี? (ข) เซาโลทำอะไรเพื่อหยุดแผนการของบาร์เยซู?
6 ในศตวรรษแรก ผู้คนบนเกาะไซปรัสนมัสการเท็จ เราเห็นเรื่องนี้ได้ชัดเจนเมื่อบาร์นาบัสกับเซาโลมาถึงเมืองปาโฟส เมืองนี้อยู่ทางฝั่งตะวันตกของเกาะ ที่เมืองปาโฟส พวกเขาได้เจอกับ “คนยิวคนหนึ่งเป็นพ่อมดและเป็นผู้พยากรณ์เท็จชื่อบาร์เยซู เขาอยู่กับผู้สำเร็จราชการที่ชื่อเสอร์จีอัสเปาลุสซึ่งเป็นคนฉลาด”f ในศตวรรษแรก ชาวโรมันที่มีชื่อเสียงหลายคน รวมทั้ง “คนฉลาด” อย่างเสอร์จีอัสเปาลุสชอบหันไปพึ่งพ่อมดหรือโหรตอนที่พวกเขาต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ แต่ถึงอย่างนั้น เสอร์จีอัสเปาลุสก็สนใจข่าวดีเรื่องรัฐบาลพระเจ้า และ “อยากจะฟังคำสอนของพระเจ้ามาก” เรื่องนี้รบกวนใจบาร์เยซูเป็นอย่างมาก ผู้คนเรียกบาร์เยซูว่าเอลีมาส ที่แปลว่า “พ่อมด” นี่ช่วยเราให้รู้ว่าบาร์เยซูคนนี้ทำอาชีพอะไร—กจ. 13:6-8
7 บาร์เยซูต่อต้านข่าวสารเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า ที่จริง ที่เขาทำอย่างนั้นเป็นเพราะเขาอยากมีอำนาจและมีอิทธิพลควบคุมเสอร์จีอัสเปาลุส และวิธีเดียวที่เขาทำได้ก็คือพยายาม “ไม่ให้ผู้สำเร็จราชการเชื่อ” (กจ. 13:8) แต่เซาโลไม่ยอมให้บาร์เยซูทำอย่างนั้น เซาโลทำอะไร? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เซาโลซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่าเปาโลก็เต็มไปด้วยพลังบริสุทธิ์ เขาจ้องเอลีมาส และพูดว่า ‘คุณเป็นคนเจ้าเล่ห์และชั่วช้าจริง ๆ คุณมันลูกมาร และเป็นศัตรูของทุกสิ่งที่ถูกต้อง คุณยังไม่เลิกขัดขวางแนวทางที่ถูกต้องของพระยะโฮวาอีกหรือ? พระยะโฮวาจะลงโทษคุณให้ตาบอด คุณจะไม่เห็นแสงอาทิตย์ไปพักหนึ่ง’ ทันใดนั้น เอลีมาสก็รู้สึกเหมือนอยู่ในหมอกหนาทึบ และตาเขาก็มืดไป เขาจึงคลำหาคนมาช่วยจูงเขา”g การอัศจรรย์ส่งผลยังไง? คัมภีร์ไบเบิลบอกต่อไปว่า “เมื่อผู้สำเร็จราชการเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นก็เข้ามาเป็นสาวก เพราะเขารู้สึกประทับใจคำสอนของพระยะโฮวา”—กจ. 13:9-12
8. เราจะเลียนแบบความกล้าหาญของเปาโลได้ยังไงในทุกวันนี้?
8 เปาโลไม่กลัวบาร์เยซู เราก็เหมือนกัน เราไม่ต้องกลัวพวกผู้ต่อต้านที่พยายามจะทำลายความเชื่อของคนที่สนใจข่าวดี แน่นอน เราควรให้คำพูดของเรา “กรุณาเสมอเหมือนอาหารที่ปรุงด้วยเกลือ” (คส. 4:6) แต่ในเวลาเดียวกัน เราจะไม่กลัวเกินไปจนไม่กล้าพูดอะไรบางอย่างที่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลต้องปรับเปลี่ยน นอกจากนั้น เราไม่ควรลังเลที่จะเปิดโปงศาสนาเท็จที่คอย “ขัดขวางแนวทางที่ถูกต้องของพระยะโฮวา” เหมือนที่บาร์เยซูได้ทำ (กจ. 13:10) เหมือนกับเปาโล ขอให้เราประกาศความจริงอย่างกล้าหาญ และช่วยผู้คนที่อยากเรียนรู้มากขึ้น ถึงแม้พระเจ้าไม่ได้ให้อำนาจเราทำการอัศจรรย์เหมือนที่พระองค์ให้เปาโล แต่เราก็ยังมั่นใจได้ว่า พระยะโฮวาจะใช้พลังบริสุทธิ์ของพระองค์ชักนำคนที่เหมาะสมให้มาพบความจริง—ยน. 6:44
“พูดให้กำลังใจ” (กิจการ 13:13-43)
9. เปาโลกับบาร์นาบัสวางตัวอย่างที่ดีอะไรไว้สำหรับพี่น้องที่นำหน้าในประชาคมทุกวันนี้?
9 พวกเขาออกจากเมืองปาโฟส และเดินทางโดยเรือประมาณ 250 กิโลเมตรเพื่อไปเมืองเปอร์กา ซึ่งอยู่บนชายฝั่งของเอเชียไมเนอร์ หลังจากนั้น ผู้เขียนเปลี่ยนวิธีพูดถึงผู้ชายกลุ่มนี้ ที่กิจการ 13:13 บอกว่า “เปาโลกับคนที่มากับเขา” นี่อาจหมายความว่าเปาโลเป็นคนนำหน้าพี่น้องชายกลุ่มนี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่มีที่ไหนในคัมภีร์ไบเบิลที่บอกว่าบาร์นาบัสอิจฉาเปาโล ตรงกันข้าม พวกเขายังคงทำงานด้วยกันต่อไปเพื่อสนับสนุนความประสงค์ของพระเจ้า เปาโลกับบาร์นาบัสวางตัวอย่างที่ดีไว้สำหรับพี่น้องที่นำหน้าในประชาคมทุกวันนี้ พวกเราไม่ควรพยายามเป็นคนสำคัญหรือเด่นดังกว่าคนอื่น แต่เราควรจำคำพูดของพระเยซูไว้ ท่านบอกว่า “พวกคุณทุกคนเป็นพี่น้องกัน” พระเยซูยังบอกอีกว่า “คนที่ยกตัวเองขึ้นจะถูกกดให้ต่ำลง และคนที่ถ่อมตัวลงจะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น”—มธ. 23:8, 12
10. ขออธิบายว่าการเดินทางจากเมืองเปอร์กาถึงเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดียเป็นยังไง
10 เมื่อมาถึงเมืองเปอร์กา ยอห์นมาระโกได้ทิ้งเปาโลกับบาร์นาบัสและกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม ไม่ได้มีการอธิบายว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น เปาโลกับบาร์นาบัสยังคงเดินทางต่อไปจากเมืองเปอร์กาไปถึงอันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย เมืองนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นกาลาเทียด้วย นี่ไม่ใช่การเดินทางที่สะดวก เนื่องจากเมืองนี้อยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,100 เมตร เพื่อจะไปที่นั่น พวกเขาต้องเดินทางผ่านภูเขา นอกจากนั้น การเดินทางนี้ยังอันตรายเพราะมีโจรที่ชอบมาทำร้ายนักเดินทาง และดูเหมือนว่าเปาโลมีปัญหาสุขภาพด้วยh
11, 12. เมื่อพูดในที่ประชุมของชาวยิวในเมืองอันทิโอกแคว้นปิสิเดีย เปาโลกระตุ้นความสนใจของผู้ฟังยังไง?
11 ในเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย เปาโลกับบาร์นาบัสได้เข้าไปในที่ประชุมของชาวยิวในวันสะบาโต คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เมื่อมีการอ่านกฎหมายของโมเสสและหนังสือของพวกผู้พยากรณ์ให้ประชาชนฟังแล้ว พวกหัวหน้าที่ประชุมของชาวยิวก็บอกเปาโลกับบาร์นาบัสว่า ‘พี่น้อง พวกคุณมีอะไรจะพูดให้กำลังใจประชาชนหน่อยไหม?’” (กจ. 13:15) เปาโลลุกขึ้นพูด
12 เปาโลเริ่มต้นโดยพูดกับผู้ฟังว่า “พวกคุณที่เป็นคนอิสราเอลและคนต่างชาติที่เกรงกลัวพระเจ้า” (กจ. 13:16) คนที่ฟังเปาโลมีทั้งชาวยิวและคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว เนื่องจากพวกเขาไม่ยอมรับบทบาทของพระเยซูในความประสงค์ของพระเจ้า เปาโลกระตุ้นความสนใจของพวกเขายังไง? ตอนแรก เปาโลสรุปประวัติศาสตร์ของชาติยิว เขาบอกว่าพระยะโฮวาเป็นผู้เลือกพวกเขา “ตอนที่พวกเขายังเป็นคนต่างชาติอยู่ในอียิปต์” และพระองค์ “ทนกับพวกเขาในที่กันดาร” เป็นเวลา 40 ปีหลังจากพวกเขาออกจากอียิปต์แล้ว เปาโลยังได้เล่าถึงวิธีที่ชาวอิสราเอลสามารถยึดครองแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาและวิธีที่พระยะโฮวา “ให้คนอิสราเอลครอบครองแผ่นดินของพวกนั้น” (กจ. 13:17-19) เคยมีบางคนบอกว่าเปาโลอาจอ้างถึงบางตอนในพระคัมภีร์ที่ผู้ฟังเพิ่งได้ยินในช่วงที่มีการอ่านในวันสะบาโตวันนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเปาโลรู้วิธี “ปรับตัวเป็นคนทุกชนิด”—1 คร. 9:22
13. เราจะเข้าถึงใจผู้ฟังได้ยังไง?
13 พวกเราก็เหมือนกัน เราควรพยายามทำให้ข่าวสารที่เราประกาศเป็นเรื่องน่าสนใจ ตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้ว่าคนที่เราคุยด้วยเชื่ออะไร เราก็จะเลือกเรื่องที่เขาน่าจะสนใจเป็นพิเศษ นอกจากนี้ เราอาจยกข้อความจากคัมภีร์ไบเบิลที่คนนั้นคุ้นเคยดี และคงจะดีกว่าถ้าให้คนนั้นอ่านจากคัมภีร์ไบเบิลของเขาเอง ขอให้เราหาวิธีต่าง ๆ ที่จะเข้าถึงใจผู้ฟัง
14. (ก) เปาโลเริ่มต้นพูดเกี่ยวกับพระเยซูยังไง? และเขาให้คำเตือนอะไร? (ข) คนที่ฟังเปาโลรู้สึกยังไง?
14 ต่อจากนั้น เปาโลพูดถึงเชื้อสายของกษัตริย์อิสราเอลที่นำไปถึง “ผู้ช่วยให้รอด . . . คือพระเยซู” โดยมียอห์นผู้ให้บัพติศมาเป็นผู้เตรียมทางไว้สำหรับท่าน จากนั้น เปาโลได้เล่าว่าพระเยซูถูกประหารและได้ถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายยังไง (กจ. 13:20-37) เปาโลบอกว่า “ผมขอประกาศให้พวกคุณรู้ว่า โดยทางพระเยซูผู้นี้แหละที่พระเจ้าจะอภัยบาปให้พวกคุณได้ . . . เพราะท่านผู้นี้ พระเจ้าจึงถือว่าทุกคนที่มีความเชื่อนั้นไม่มีความผิด” แล้วอัครสาวกได้เตือนผู้ฟังว่า “ระวังให้ดี ขออย่าให้สิ่งที่บอกไว้ในหนังสือของพวกผู้พยากรณ์เกิดขึ้นกับพวกคุณที่ว่า ‘พวกคนหมิ่นประมาท ดูซะ แล้วตกตะลึงและตายไป เพราะเรากำลังทำอะไรบางอย่างในสมัยของเจ้าที่เจ้าจะไม่เชื่อ ถึงแม้มีคนมาบอกอย่างละเอียดแล้วก็ตาม’” หลังจากได้ฟังเปาโล คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ผู้คนก็อ้อนวอนเขาสองคนให้มาพูดเรื่องนี้ให้พวกเขาฟังอีกในวันสะบาโตถัดไป” เปาโลอาจคาดไม่ถึงว่าคนที่ฟังเขาจะรู้สึกแบบนี้ นอกจากนั้น หลังจากการประชุมจบลง “ชาวยิวกับคนที่เปลี่ยนมาถือศาสนายิวหลายคนก็ตามเปาโลกับบาร์นาบัสไป”—กจ. 13:38-43
“พวกเราก็จะไปประกาศกับคนต่างชาติ” (กิจการ 13:44-52)
15. เกิดอะไรขึ้นในวันสะบาโตถัดมา?
15 ในวันสะบาโตถัดมา “คนเกือบทั้งเมือง” มาชุมนุมกันเพื่อฟังเปาโล เรื่องนี้ทำให้ชาวยิวบางคนหัวเสีย พวกเขา “โต้แย้งกับเปาโลโดยใช้คำพูดที่ดูหมิ่น” เปาโลกับบาร์นาบัสได้บอกพวกเขาอย่างกล้าหาญว่า “พวกเราต้องประกาศคำสอนของพระเจ้าให้พวกคุณฟังก่อน แต่ในเมื่อพวกคุณไม่ยอมฟังและไม่ทำตัวให้คู่ควรกับชีวิตตลอดไป พวกเราก็จะไปประกาศกับคนต่างชาติ เพราะพระยะโฮวาสั่งพวกเราไว้ว่า ‘เราแต่งตั้งเจ้าให้เป็นแสงสว่างของชาติต่าง ๆ เพื่อเจ้าจะประกาศเรื่องความรอดไปถึงสุดขอบโลก’”—กจ. 13:44-47; อสย. 49:6
16. ชาวยิวมีท่าทียังไงต่อคำพูดที่หนักแน่นของมิชชันนารีทั้งสอง และเปาโลกับบาร์นาบัสทำยังไงเมื่อเจอการต่อต้าน?
16 ผู้ฟังที่เป็นคนต่างชาติมีความสุข และ “ทุกคนที่เต็มใจตอบรับความจริงซึ่งทำให้ได้ชีวิตตลอดไปก็เข้ามาเป็นสาวก” (กจ. 13:48) ไม่นาน คำสอนของพระยะโฮวาก็กระจายไปทั่วเขตนั้น แต่เราเห็นได้ว่าท่าทีของชาวยิวแตกต่างออกไป ที่จริง มิชชันนารีทั้งสองบอกพวกเขาว่า ถึงแม้มีการประกาศให้พวกเขาฟังก่อนคนกลุ่มอื่น ๆ แต่พวกเขากลับจงใจปฏิเสธเมสสิยาห์ นี่ทำให้พวกเขาสมควรที่จะถูกพระเจ้าลงโทษ ชาวยิวได้ยุยงพวกผู้หญิงที่มีชื่อเสียง และพวกผู้ชายที่เป็นใหญ่เป็นโตในเมืองนั้นให้ “ปลุกปั่นให้มีการข่มเหงและไล่เปาโลกับบาร์นาบัสออกจากเขตนั้น” เปาโลกับบาร์นาบัสทำยังไง? ทั้ง 2 คน “สะบัดฝุ่นออกจากเท้าเพื่อให้รู้ว่าได้เตือนพวกเขาแล้ว จากนั้นสองคนก็เดินทางไปเมืองอิโคนียูม” นั่นหมายความว่า ศาสนาคริสเตียนในเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดียถึงจุดจบแล้วไหม? ไม่เลย! พวกสาวกที่เหลืออยู่ในเมืองนั้น “เต็มไปด้วยพลังบริสุทธิ์และมีความสุขมาก”—กจ. 13:50-52
17-19. เราสามารถเลียนแบบตัวอย่างที่ดีของเปาโลกับบาร์นาบัสในทางไหนบ้าง และถ้าเราทำแบบนั้น เราจะมีความสุขได้ยังไง?
17 เราได้เรียนจากตัวอย่างของพวกสาวกที่มีความสุขทั้ง ๆ ที่ถูกข่มเหง เราจะไม่เลิกประกาศ ถึงแม้คนที่มีอำนาจพยายามห้ามพวกเรา นอกจากนั้น เราสังเกตว่าตอนที่ผู้คนในเมืองอันทิโอกปฏิเสธข่าวสาร เปาโลกับบาร์นาบัส “สะบัดฝุ่นออกจากเท้า” ท่าทางแบบนี้ไม่ได้แสดงว่าพวกเขาโกรธชาวเมืองนั้น แต่เป็นการแสดงว่าพวกเขาไม่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนในเมืองนั้น มิชชันนารี 2 คนนี้รู้ดีว่าพวกเขาไม่สามารถบังคับใครให้ตอบรับข่าวดีได้ แต่สิ่งที่เขาทำได้ก็คือ พวกเขาจะประกาศต่อไป และพวกเขาทั้งสองก็ได้ประกาศต่อไปจริง ๆ ตอนที่ย้ายไปเมืองอิโคนียูม!
18 จะว่ายังไงกับพวกสาวกที่ยังอยู่ในอันทิโอก? จริงอยู่ พวกเขาอยู่ในเขตที่ผู้คนไม่ชอบความจริง แต่ความสุขของพวกเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีคนตอบรับความจริงหรือไม่ พระเยซูบอกว่า “ผู้คนที่ได้ยินคำสอนของพระเจ้าและทำตามนั่นแหละถึงจะมีความสุข” (ลก. 11:28) พวกสาวกในเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดียก็ตั้งใจที่จะเชื่อฟังคำสั่งของพระเยซู
19 เหมือนกับเปาโลและบาร์นาบัส เราควรจำไว้เสมอว่า หน้าที่รับผิดชอบของเราคือ การประกาศข่าวดี และผู้ฟังของเราต้องตัดสินใจว่าเขาจะยอมรับหรือปฏิเสธข่าวสารที่เราประกาศ ถ้าคนที่เราประกาศดูเหมือนไม่ตอบรับ เราก็สามารถเรียนจากตัวอย่างของพวกสาวกในศตวรรษแรก ถึงแม้มีการต่อต้าน แต่เราก็ยังมีความสุขได้ ถ้าเราคิดว่าข่าวดีที่เราประกาศมีค่ามากขนาดไหน และถ้าเราให้พระเจ้าชี้นำเราโดยทางพลังบริสุทธิ์—กท. 5:18, 22
a ดูกรอบ “บาร์นาบัส—‘ผู้ให้กำลังใจ’”
b ในตอนนั้น มีการประกาศกว้างไกลไปถึงเมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรียอยู่แล้ว และมีการตั้งประชาคมที่นั่นด้วย เมืองอันทิโอกอยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มไปทางเหนือประมาณ 550 กิโลเมตร
c ดูกรอบ “การเดินทาง”
d ในศตวรรษแรก เรืออาจเดินทางได้ประมาณ 160 กิโลเมตรในหนึ่งวันถ้าคลื่นลมเอื้ออำนวย แต่ถ้าสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย การเดินทางอาจใช้เวลานานกว่านั้นมาก
e ดูกรอบ “ตามที่ประชุมของชาวยิว”
f ไซปรัสอยู่ภายใต้การปกครองของสภาสูงแห่งโรม โรมเป็นคนแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการเพื่อเป็นตัวแทนในการดูแลเรื่องต่าง ๆ บนเกาะนี้
g ต่อจากนี้ เซาโลจะถูกเรียกว่าเปาโล บางคนบอกว่าเขารับเอาชื่อโรมันเพื่อเป็นการให้เกียรติเสอร์จีอัสเปาลุส แต่เราเห็นได้ว่าเปาโลยังคงใช้ชื่อนี้หลังออกจากเกาะไซปรัสไปแล้ว นี่แสดงว่าเปาโลซึ่งเป็น “อัครสาวกที่ถูกส่งไปหาคนต่างชาติ” ตัดสินใจใช้ชื่อโรมันตั้งแต่นี้เป็นต้นไป นอกจากนั้น อาจเป็นได้ที่เขาใช้ชื่อเปาโล เพราะการออกเสียงในภาษากรีกสำหรับชื่อฮีบรูเซาโล คล้ายกันมากกับการออกเสียงคำกรีกซึ่งมีความหมายในแง่ไม่ดี—โรม 11:13