การให้คำพยานแก่ “ทุกชาติ”
“ข่าวดีแห่งราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ; และครั้นแล้วอวสานจะมาถึง.”—มัดธาย 24:14, ล.ม.
1. เหตุใดคำตรัสของพระเยซูที่บันทึกไว้ในมัดธาย 24:14 คงได้ยังความประหลาดใจแก่สาวกของพระองค์?
ถ้อยคำของพระเยซูข้างต้นคงต้องยังความประหลาดใจไม่น้อยให้กับสาวกชาวยิวของพระองค์! ความคิดที่ว่า ชาวยิวซึ่งถูกชำระแล้วจะไปพูดกับ “คนต่างชาติ” ซึ่ง “เป็นมลทิน” นั้น เป็นเรื่องแปลกสำหรับชาวยิว เป็นสิ่งน่ารังเกียจด้วยซ้ำ.a ชาวยิวที่ถือเคร่งจะไม่เข้าไปในบ้านของคนต่างชาติ! สาวกเหล่านั้นที่เป็นยิวยังคงต้องเรียนรู้อีกมากเกี่ยวกับพระเยซู, ความรักของพระองค์, และงานมอบหมายของพระองค์. และพวกเขายังจะต้องเรียนรู้อีกมากเกี่ยวกับพระยะโฮวาที่ไม่ทรงเลือกที่รักมักที่ชัง—กิจการ 10:28, 34, 35, 45.
2. (ก) งานรับใช้ของพยานพระยะโฮวาแผ่ขยายกว้างไกลแค่ไหน? (ข) ปัจจัยพื้นฐานสามประการอะไรบ้างมีส่วนทำให้งานของเหล่าพยานฯก้าวหน้า?
2 พยานพระยะโฮวาได้ประกาศข่าวดีอยู่แล้วในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งอิสราเอลปัจจุบันด้วย และขณะนี้พวกเขาประกาศข่าวดีในชาติต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นยิ่งกว่าแต่ก่อน. ปี 1994 พยานพระยะโฮวามากกว่าสี่ล้านห้าแสนคนทำงานประกาศอยู่ใน 230 ดินแดน. พวกเขานำการศึกษาพระคัมภีร์ที่บ้านกับคนสนใจประมาณสี่ล้านห้าแสนราย. งานนี้ดำเนินไปทั้ง ๆ ที่ทั่วโลกมีอคติต่องานนี้ บ่อยครั้งสืบเนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้านคำสอนและเจตนาของเหล่าพยานฯ. ดังเคยมีการพูดถึงคริสเตียนสมัยแรก จึงอาจพูดได้เช่นกันกับพยานฯที่ว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายทราบว่า พวกที่ถือลัทธินี้ก็ถูกติเตียนทุกแห่ง.” (กิจการ 28:22) ทีนี้ พวกเราจะถือเอาอะไรเป็นมูลเหตุทำให้งานประกาศของเขาประสบความสำเร็จ? อย่างน้อยก็มีปัจจัยสามประการที่ส่งเสริมความก้าวหน้าของพวกเขา อันได้แก่ การปฏิบัติตามการชี้นำแห่งพระวิญญาณของพระยะโฮวา, เลียนแบบอย่างวิธีการต่าง ๆ ที่ใช้ได้ผลของพระคริสต์, และใช้เครื่องมือที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ.
พระวิญญาณของพระยะโฮวาและข่าวดี
3. เพราะเหตุใดพวกเราไม่อวดอ้างการงานที่ได้ทำสำเร็จไปแล้ว?
3 พยานพระยะโฮวาอวดอ้างความสำเร็จของตน ประหนึ่งว่าเป็นเพราะตนมีความสามารถพิเศษในทางใดทางหนึ่งไหม? เปล่าเลย เพราะคำตรัสของพระเยซูว่าดังนี้: “เมื่อท่านทั้งหลายได้กระทำสิ่งสารพัตรซึ่งทรงบัญชาไว้แก่ท่านนั้น, ก็คงพูดด้วยว่า, ‘ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นบ่าวที่ไม่มีบุญคุณต่อนาย, ข้าพเจ้าได้กระทำตามหน้าที่ซึ่งข้าพเจ้าควรกระทำเท่านั้น.’” พยานพระยะโฮวาฐานะที่เป็นคริสเตียนซึ่งได้อุทิศตัว รับบัพติสมาแล้ว จึงต่างก็สมัครใจตอบรับเอาหน้าที่รับผิดชอบที่จะปฏิบัติพระเจ้า ไม่ว่าสภาพการณ์แวดล้อมส่วนตัวเป็นอย่างไรก็ตาม. สำหรับบางคน นั่นจึงหมายถึงการรับใช้เต็มเวลาฐานะมิชชันนารี หรือเป็นอาสาสมัครทำงานในสำนักงานสาขาและโรงพิมพ์หนังสือฝ่ายคริสเตียน. สำหรับคนอื่น ๆ ความเต็มใจแบบคริสเตียนเช่นนั้นนำเขาเข้าสู่งานก่อสร้างอาคารที่ใช้เป็นศาสนสถาน เข้าสู่กิจกรรมประกาศเต็มเวลาฐานะไพโอเนียร์ หรือเป็นผู้ประกาศข่าวดีบางเวลาร่วมกับประชาคมท้องถิ่น. ไม่มีสักคนจะกล้าอวดอ้างได้ในการทำหน้าที่ของเรา “ซึ่งข้าพเจ้าควรกระทำเท่านั้น.”—ลูกา 17:10; 1 โกรินโธ 9:16.
4. พวกพยานฯได้ชนะการต่อต้านขัดขวางงานรับใช้ของคริสเตียนทั่วโลกโดยวิธีใด?
4 ความสำเร็จใด ๆ ที่เราได้ประสบย่อมถือได้ว่าเป็นไปโดยพระวิญญาณหรือพลังปฏิบัติการของพระยะโฮวา. ทุกวันนี้มีเหตุผลที่ฟังขึ้นที่จะกล่าวเช่นเดียวกับคำกล่าวในสมัยผู้พยากรณ์ซะคาระยาที่ว่า “นี่เป็นคำยะโฮวามายังซะรูบาเบลว่า, ยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายตรัสว่า, ไม่ใช่ด้วยกำลังและฤทธิ์, แต่โดยพระวิญญาณของเรา.” ด้วยเหตุนี้ การต่อต้านขัดขวางงานประกาศของเหล่าพยานฯที่มีอยู่ทั่วโลกนั้นได้ถูกทำให้ล้มเหลว ไม่ใช่ด้วยความบากบั่นของมนุษย์ แต่โดยการดำเนินงานและการคุ้มครองของพระยะโฮวา.—ซะคาระยา 4:6.
5. พระยะโฮวาทรงมีบทบาทเกี่ยวข้องอย่างไรกับการแพร่กระจายข่าวราชอาณาจักร?
5 ส่วนผู้ที่ตอบรับข่าวราชอาณาจักร พระเยซูตรัสว่า “มีคำเขียนไว้ในคัมภีร์ศาสดาพยากรณ์ว่า ‘และเขาทั้งหลายทุกคนจะได้รับการสั่งสอนจากพระยะโฮวา.’ ทุกคนที่ได้ยินจากพระบิดา และได้เรียนรู้ก็มาหาเรา. . . . ไม่มีผู้ใดจะมาถึงเราได้เว้นแต่พระบิดาจะทรงอนุญาตให้ผู้นั้น.” (โยฮัน 6:45, 65, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงสามารถอ่านหัวใจและความคิด และพระองค์ทรงรู้จักคนเหล่านั้นซึ่งอาจจะตอบรับความรักของพระองค์ ถึงแม้เขาอาจจะยังไม่รู้จักพระองค์. นอกจากนั้น พระองค์ทรงใช้ทูตสวรรค์ชี้นำงานประกาศอันโดดเด่นโดยเฉพาะนี้. นี้แหละเป็นเหตุที่โยฮันเห็นการร่วมมือของทูตสวรรค์ในนิมิตและเขียนดังนี้: “ข้าพเจ้าได้เห็นทูตสวรรค์อีกองค์หนึ่งบินอยู่กลางฟ้าสวรรค์ และท่านมีข่าวดีนิรันดร์จะประกาศเป็นข่าวน่ายินดีแก่คนเหล่านั้นที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินโลก และแก่ทุกชาติและทุกตระกูลและทุกภาษาและทุกชนชาติ”—วิวรณ์ 14:6, ล.ม.
สำนึกถึงความต้องการฝ่ายวิญญาณ
6. เจตคติพื้นฐานเช่นไรซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่จะตอบรับข่าวดี?
6 ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ว่าพระยะโฮวาทรงให้ผู้คนมีโอกาสรับรองข่าวดีก็เป็นดังที่พระเยซูตรัสว่า “ความสุขมีแก่ผู้ที่รู้สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของตน เพราะอาณาจักรฝ่ายสวรรค์เป็นของเขา.” (มัดธาย 5:3, ล.ม.) บุคคลที่อิ่มใจพอใจแต่ตัวเอง หรือผู้ที่มิได้แสวงความจริงจะไม่สำนึกถึงความต้องการฝ่ายวิญญาณเลย. เขาคิดเฉพาะแต่ทางวัตถุ ในทางโลกีย์วิสัยเท่านั้น. ความลำพองใจกลายเป็นสิ่งกีดขวาง. ด้วยเหตุนี้ เมื่อหลายคนที่เราพบขณะเราประกาศตามบ้านไม่ตอบรับข่าวนี้ เราต้องใคร่ครวญเหตุผลทุกอย่างซึ่งทำให้ผู้คนอาจมีปฏิกิริยาแตกต่างกันไป.
7. เหตุใดหลายคนไม่ตอบรับเอาความจริง?
7 หลายคนไม่ยอมฟังเพราะเขาดึงดันยึดอยู่กับศาสนาที่เขาเชื่อมาแต่เดิม และไม่เปิดใจพิจารณาหาเหตุผล. บางคนก็ติดใจศาสนาซึ่งเข้ากันได้กับบุคลิกภาพของตนเอง เช่น บางคนต้องการศาสนาที่เกี่ยวกับศาสตร์ลี้ลับ, บางคนตอบรับต่อลัทธิที่ปลุกเร้าอารมณ์, ยังมีบางคนสนใจแต่กิจกรรมการสังสรรค์ ณ คริสตจักรของเขา. ทุกวันนี้ หลายคนได้เลือกรูปแบบการดำเนินชีวิตซึ่งขัดต่อมาตรฐานที่พระเจ้าวางไว้. บางทีเขาดำเนินชีวิตอย่างผิดศีลธรรม ซึ่งเป็นเหตุผลที่เขาจะบอกว่า “ผมไม่สนใจ.” กระนั้น คนอื่น ๆ ที่อ้างตัวมีความรู้ และเชื่อด้านวิทยาศาสตร์ได้ปฏิเสธคัมภีร์ไบเบิลว่าเป็นเรื่องง่ายเกินไป.—1 โกรินโธ 6:9-11; 2 โกรินโธ 4:3, 4.
8. เหตุใดการบอกปัดไม่น่าจะทำให้ความกระตือรือร้นของเราถดถอยไป? (โยฮัน15:18-20)
8 การที่คนส่วนใหญ่ปฏิเสธน่าจะทำให้ความเชื่อและความกระตือรือร้นของเราในงานรับใช้ช่วยชีวิตถดถอยไปไหม? เราสามารถรับการปลอบประโลมได้จากถ้อยคำของเปาโลที่มีไปถึงคริสเตียนที่โรมว่า “ถึงแม้ว่ามีบางคนที่ไม่เชื่อ, ซึ่งเขาไม่เชื่อนั้นจะทำให้ความสัตย์ซื่อของพระเจ้าไร้ประโยชน์หรือ จะเป็นอย่างนั้นก็หามิได้ แม้ทุกคนจะเป็นคนพูดมุสา, ก็ขอให้ความสัตย์ซื่อของพระเจ้าปรากฏเด่นขึ้นเถิด เหมือนมีคำเขียนไว้แล้วว่า, ‘ท่านจะได้ปรากฏว่าเป็นผู้สัตย์ซื่อในถ้อยคำทั้งหลายของท่าน, และท่านจะได้มีชัยชนะขณะเมื่อเขาจะพิพากษาท่าน.’”—โรม 3:3, 4.
9, 10. มีพยานหลักฐานอะไรแสดงว่า ได้มีการเอาชนะการต่อต้านขัดขวางในหลายประเทศ?
9 พวกเราสามารถได้รับการชูใจจากตัวอย่างมากมายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งเคยดูเหมือนว่าไม่มีการตอบรับเลยจริง ๆ และกระนั้น การณ์กลับตาลปัตรในเวลาต่อมา. พระยะโฮวาและเหล่าทูตสวรรค์ทราบอยู่ว่าจะหาพบผู้มีหัวใจตอบรับ—แต่พยานพระยะโฮวาต้องไม่ย่อท้อและต้องอดทนในงานรับใช้. ยกตัวอย่าง บางประเทศซึ่งดูเหมือนว่า นิกายคาทอลิกเป็นอุปสรรคขัดขวางจนไม่อาจฝ่าฟันไปได้เมื่อ 50 ปีมาแล้ว เช่น โคลัมเบีย, บราซิล, โปรตุเกส, เม็กซิโก, สเปน, อาร์เจนตินา, อิตาลี, และไอร์แลนด์. ย้อนไปในปี 1943 จำนวนพยานฯมีน้อยมาก ทั่วโลกมีเพียง 126,000 คนเท่านั้น 72,000 คนจากจำนวนดังกล่าวอยู่ที่สหรัฐ. ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และอคติขวางกั้นเหล่าพยานฯเหมือนกำแพงอิฐที่ไม่อาจทะลวงเข้าไปได้. กระนั้น เวลานี้งานประกาศที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดได้เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้. เป็นจริงเช่นเดียวกันในหลายประเทศซึ่งเมื่อก่อนมีการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์. การประชุมใหญ่ที่เมืองเคียฟ สาธารณรัฐยูเครนเมื่อปี 1993 มีผู้รับบัพติสมา 7,402 คน ซึ่งก็ให้หลักฐานเกี่ยวด้วยเรื่องนี้.
10 พยานฯใช้วิธีอะไรถ่ายทอดข่าวดีไปสู่เพื่อนบ้านของเขา? พวกเขาใช้การจูงใจด้วยวัตถุสิ่งของให้เปลี่ยนความเชื่อไหม อย่างที่บางกลุ่มกล่าวกัน? พวกเขาไปเยี่ยมเฉพาะคนยากจนและคนไร้การศึกษาเท่านั้นหรือ ดังที่กลุ่มอื่น ๆ ได้อ้าง?
วิธีถ่ายทอดข่าวดีที่บรรลุผลสำเร็จ
11. พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่ดีอะไรเมื่อพระองค์ทรงปฏิบัติงานรับใช้? (ดูโยฮัน 4:6-26.)
11 พระเยซูและสาวกของพระองค์ได้วางแบบอย่างไว้ ซึ่งเหล่าพยานฯปฏิบัติตามกระทั่งทุกวันนี้ในการสอนคนให้เป็นสาวก. พระเยซูได้เสด็จไปที่ใดก็ตามที่มีผู้คนอยู่, รวยหรือจน, ไปถึงบ้านของเขา, ไปในที่สาธารณะ, ข้างทะเลสาบ, ตามเชิงเขา, กระทั่งในธรรมศาลาด้วยซ้ำ.—มัดธาย 5:1, 2; 8:14; มาระโก 1:16; ลูกา 4:15.
12, 13. (ก) โดยวิธีใดเปาโลได้วางแบบอย่างไว้สำหรับคริสเตียน? (ข) พยานพระยะโฮวาได้ปฏิบัติตามตัวอย่างของเปาโลอย่างไร?
12 สำหรับการทำงานรับใช้ในส่วนตัวของท่านนั้น อัครสาวกเปาโลสามารถพูดได้อย่างถูกต้องว่า “ท่านทั้งหลายทราบดีว่า นับแต่วันแรกที่ข้าพเจ้าได้เข้ามาในมณฑลเอเชียก็ได้อยู่กับพวกท่านตลอดเวลา ทำงานเยี่ยงทาสเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า . . . ขณะที่ข้าพเจ้ามิได้ยับยั้งการบอกสิ่งใด ๆ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทั้งการสอนท่านทั้งหลายในที่สาธารณะและตามบ้านเรือน.”—กิจการ 20:18-20, ล.ม.
13 พยานพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกเพราะการปฏิบัติตามแบบอย่างของอัครสาวก อันได้แก่การประกาศข่าวดีตามบ้านเรือน. แทนที่จะมุ่งมั่นเผยแพร่ทางโทรทัศน์ที่ใช้ทุนรอนสูง, ความรู้ที่ให้ก็ไม่ลึกซึ้ง และไม่ประกาศแก่บุคคลใดโดยเฉพาะ, พยานพระยะโฮวาออกไปพบประชาชน คนรวยคนจน และพบกับคนเหล่านั้นโดยตรง. พวกเขาพยายามสนทนาเรื่องพระเจ้าและพระวจนะของพระองค์.b เขาไม่พยายามทำให้คนเป็นคริสเตียนชนิดที่หวังจะได้ประโยชน์ ด้วยการแจกสิ่งของ. สำหรับคนที่สมัครใจหาเหตุผล พยานฯก็จะชี้ให้ทราบว่า หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ของมนุษยชาติได้อย่างแท้จริงคือการปกครองโดยราชอาณาจักรของพระเจ้า ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์บนแผ่นดินโลกนี้ให้ดีขึ้น.—ยะซายา 65:17, 21-25; 2 เปโตร 3:13; วิวรณ์ 21:1-4.
14. (ก) โดยวิธีใดมิชชันนารีและไพโอเนียร์ทั้งหลายได้วางรากฐานอันมั่นคงไว้? (ข) เราเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ของพยานพระยะโฮวาในญี่ปุ่น?
14 เพื่องานจะสำเร็จทั่วถึงในหลายประเทศเท่าที่เป็นได้นั้น จึงได้ส่งมิชชันนารีและไพโอเนียร์ไปยึดหัวหาดในหลายประเทศ. คนเหล่านี้ได้ปูพื้นฐานไว้ แล้วผู้ประกาศท้องถิ่นนำหน้าต่อไป. ฉะนั้น งานนี้ไม่จำเป็นต้องมีพยานฯชาวต่างประเทศจำนวนมากเพื่อช่วยให้การประกาศรุดไปและจัดให้เป็นระเบียบอย่างดีอยู่เรื่อยไป. ตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่นได้แก่ประเทศญี่ปุ่น. ย้อนไปในตอนท้ายของทศวรรษปี 1940 มิชชันนารีส่วนใหญ่ที่ส่งไปที่นั่นเป็นชาวออสเตรเลียและชาวอังกฤษ เขาได้เรียนภาษา, ปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์ต่าง ๆ ซึ่งค่อนข้างจะล้าหลังในช่วงหลังสงคราม, แล้วได้เริ่มการให้คำพยานตามบ้าน. ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พยานฯในญี่ปุ่นถูกสั่งห้าม และถูกข่มเหง. ดังนั้น เมื่อพวกมิชชันนารีไปถึงก็พบพยานฯชาวญี่ปุ่นเพียงไม่กี่คนที่ยังคงขันแข็งเอาการเอางาน. แต่เวลานี้พวกเขาทวีจำนวนถึง 187,000 กว่าคนกระจายอยู่ตามประชาคมต่าง ๆ 3,000 กว่าประชาคม! อะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในระยะแรกของเขา? มิชชันนารีคนหนึ่งซึ่งปฏิบัติงานที่นั่นนานกว่า 25 ปีบอกว่า “การเรียนรู้ที่จะพูดคุยกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง. โดยการรู้ภาษาของเขา เราสามารถคลุกคลีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเขา เข้าใจและรู้ซึ้งถึงวิถีชีวิตของเขา. เราต้องแสดงว่าเรารักคนญี่ปุ่น. เราพยายามด้วยใจถ่อมเพื่อจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนท้องถิ่น ทว่ายังคงยึดมั่นกับค่านิยมของคริสเตียน.
การประพฤติของคริสเตียนเป็นพยานด้วย
15. เหล่าพยานฯแสดงแบบอย่างการประพฤติเยี่ยงคริสเตียนอย่างไร?
15 อย่างไรก็ดี ประชาชนไม่ได้ตอบรับเฉพาะข่าวสารที่มีในคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น. พวกเขามองเห็นศาสนาคริสเตียนในภาคปฏิบัติด้วย. เขาสังเกตเห็นความรัก, ความสามัคคี, และความเป็นเอกภาพของเหล่าพยานฯแม้ในยามที่ตกอยู่ในสภาพการณ์อันยุ่งยาก เช่น สงครามกลางเมือง, การปะทะระหว่างเผ่า, การเป็นศัตรูกันระหว่างชนกลุ่มน้อย. พวกพยานฯได้แสดงท่าทีอย่างชัดแจ้งในด้านความเป็นกลางของคริสเตียนเมื่อมีการปะทะกันทุกครั้ง และกระทำให้สมจริงตามคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “เราให้บัญญัติใหม่ไว้แก่เจ้าทั้งหลาย คือว่าให้เจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน; เรารักเจ้าทั้งหลายมาแล้วอย่างไร เจ้าจงรักกันและกันอย่างนั้นด้วย. โดยเหตุนี้คนทั้งปวงจะรู้ว่าเจ้าทั้งหลายเป็นสาวกของเรา ถ้าเจ้ามีความรักระหว่างพวกเจ้าเอง.”—โยฮัน 13:34, 35, ล.ม.
16. ประสบการณ์อะไรแสดงถึงความรักในเชิงปฏิบัติของคริสเตียน?
16 มีตัวอย่างแสดงถึงการรักเพื่อนบ้านในกรณีของชายสูงอายุคนหนึ่งที่เขียนไปถึงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเกี่ยวกับ “นาย ใจดีและนาง อัธยาศัยดี.” เขาบอกว่า เพื่อนบ้านคู่นี้มีน้ำใจดีต่อเขามากเมื่อภรรยาของเขาใกล้จะตาย. เขาเขียนว่า “ตั้งแต่ภรรยาสิ้นชีวิตไปแล้ว . . . สองคนนี้ดีเป็นพิเศษ ตั้งแต่นั้นเขา ‘รับเลี้ยงดู’ ผม . . . ช่วยงานจิปาถะและช่วยแก้ปัญหาของคนวัย 74 ซึ่งเกษียณอายุแล้ว. ที่ทำให้ทั้งหมดนี้ดูผิดปกติยิ่งก็คือทั้งสองเป็นคนผิวดำ ตัวผมเองผิวขาว. คนทั้งสองเป็นพยานพระยะโฮวา ส่วนผมเป็นคาทอลิกที่เลิกเข้าโบสถ์.”
17. พวกเราพึงหลีกเลี่ยงแนวทางอะไร?
17 ประสบการณ์เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า เราอาจให้คำพยานได้หลายทาง รวมเอาการประพฤติประจำวันของเราด้วย. ที่จริง หากการประพฤติของเราไม่เป็นเหมือนพระคริสต์ งานรับใช้ของเราก็ไร้ผล เป็นเหมือนคนหน้าซื่อใจคด. พวกเราไม่ต้องการจะเป็นเหมือนคนเหล่านั้นที่พระเยซูพรรณนาว่า “ทุกสิ่งซึ่งเขาสั่งสอนพวกท่าน, จงถือประพฤติตาม เว้นแต่การประพฤติของเขาอย่าได้ทำตามเลย, เพราะเขาเป็นแต่ผู้สั่งสอน, แต่เขาเองหาทำตามไม่.”—มัดธาย 22:37-39; 23:3.
ชนจำพวกทาสจัดหาเครื่องมือที่เหมาะสมให้
18. สรรพหนังสือทางด้านคัมภีร์ไบเบิลเตรียมพวกเราไว้อย่างไรเพื่อการช่วยเหลือประชาชนที่สุจริตใจ?
18 ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการประกาศข่าวดีแก่ชนทุกชาติคือสรรพหนังสือที่เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล ผลิตโดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ซึ่งมีอยู่พร้อม. เรามีหนังสือ, จุลสาร, แผ่นพับ, และวารสารที่มีคำตอบอย่างน่าพอใจจะให้แก่คนถามที่จริงใจ. ถ้าเราเจอชาวมุสลิม, ชาวฮินดู, ชาวพุทธ, สานุศิษย์สำนักเต๋า, หรือชาวยิว เราสามารถใช้หนังสือ มนุษย์แสวงหาพระเจ้า (ภาษาอังกฤษ) หรือแผ่นพับและหนังสือเล่มเล็กหลายหัวเรื่องต่าง ๆ กัน เพื่อเริ่มการสนทนาและถ้าเป็นไปได้จะเริ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. หากพวกที่เชื่อวิวัฒนาการถามเรื่องเกี่ยวกับการสร้างโลก เราสามารถใช้หนังสือชีวิตเกิดขึ้นมาอย่างไร? โดยวิวัฒนาการหรือมีผู้สร้าง? ถ้าหนุ่มสาวถามว่า ‘อะไรคือจุดมุ่งหมายของชีวิต?’ เราแนะนำหนังสือการได้ประโยชน์มากที่สุดจากวัยหนุ่มสาว ถ้าบางคนได้รับผลกระทบที่ฝังลึกเนื่องจากปัญหาส่วนตัว อาทิ ซึมเศร้า, เบื่อหน่าย, ถูกข่มขืน, การหย่าร้าง เรามีวารสารที่แนะวิธีรับมือกับเรื่องดังกล่าวอย่างที่นำไปปฏิบัติได้จริง. แท้จริง ชนจำพวกทาสสัตย์ซื่อซึ่งพระเยซูทรงพยากรณ์ไว้ว่าจะแจก “อาหารตามเวลาที่สมควร” ทำหน้าที่นี้อยู่ทีเดียว.—มัดธาย 24:45-47, ล.ม.
19, 20. โดยวิธีใดงานราชอาณาจักรจึงได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในแอเบเนีย?
19 แต่ที่จะเข้าถึงชนนานาชาติ จึงจำเป็นจะต้องผลิตหนังสือออกหลายภาษา. และเป็นไปได้โดยวิธีใดที่จะแปลคัมภีร์ไบเบิลและหนังสือคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ได้มากถึง 200 กว่าภาษา? การพิจารณาตัวอย่างหนึ่งสั้น ๆ เกี่ยวกับประเทศแอลเบเนียจะแสดงให้เห็นว่า ทาสสัตย์ซื่อและสุขุมสามารถส่งเสริมงานประกาศข่าวดีได้อย่างไร ทั้งที่มีความยุ่งยากมากมายและสมัยนี้ไม่มีอุบัติการณ์เหมือนวันเพ็นเตคอสเตที่จะเข้าใจภาษาต่าง ๆ ได้ในทันทีทันใด.—กิจการ 2:1-11.
20 เพียงไม่กี่ปีที่แล้วมา แอลเบเนียยังคงได้ชื่อว่าเป็นประเทศเดียวแท้ ๆ ในโลกภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า. นิตยสารแนชันแนล เจโอกราฟิค ได้กล่าวเมื่อปี 1980 ว่า “แอลเบเนียสั่งห้าม [ศาสนา] ได้ประกาศตัวเองในปี 1967 ว่า ‘เป็นสาธารณรัฐแรกในโลกที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า.’ . . . คนยุคใหม่ของแอลเบเนียรู้จักแค่ลัทธิอเทวนิยม.” เดี๋ยวนี้ลัทธิคอมมิวนิสต์เสื่อมลง ชาวแอลเบเนียที่สำนึกถึงความต้องการของตนทางฝ่ายวิญญาณต่างก็สนองตอบงานประกาศเผยแพร่ซึ่งพยานพระยะโฮวาได้กระทำ. ปี 1992 มีการจัดตั้งทีมงานแปลกลุ่มเล็ก ๆ ขึ้นในกรุงติรานาซึ่งประกอบด้วยพยานฯหนุ่มสาวที่รู้ภาษาอิตาลีและภาษาอังกฤษ. พี่น้องชายผู้มีคุณวุฒิจากประเทศอื่นได้ฝึกสอนพวกเขาใช้คอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วเพื่อพิมพ์ข้อความภาษาแอลเบเนีย. พวกเขาเริ่มงานด้วยการแปลแผ่นพับและวารสารหอสังเกตการณ์. เมื่อเขามีประสบการณ์มากขึ้น พวกเขาก็ได้แปลหนังสือหลายเล่มที่มีคุณค่าชี้แจงเรื่องต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล. ปัจจุบันนี้ มีพยานฯที่เอาการเอางาน 200 กว่าคนในประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ (มีประชากร 3,262,000 คน) มี 1,984 คนได้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ปี 1994.
พวกเราทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบ
21. พวกเรากำลังมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาแบบไหน?
21 เหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกกำลังมาถึงจุดสุดยอด. ด้วยการเพิ่มทวีของอาชญากรรมและความรุนแรง, การเข่นฆ่าและการข่มขืนเมื่อมีสงครามภายในประเทศ, การหละหลวมทางศีลธรรมพร้อมด้วยผลพวงคือโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์, การไม่เคารพผู้มีอำนาจอันถูกต้องตามกฎหมาย, โลกจึงปรากฏว่ากำลังวุ่นวายสับสน ปกครองไม่ได้. เรากำลังอยู่ในยุคซึ่งเทียบได้กับสมัยก่อนน้ำท่วมโลกดังการพรรณนาในพระธรรมเยเนซิศว่า “พระยะโฮวาทรงเห็นว่า ความชั่วของมนุษย์มีมากมายในแผ่นดินโลก และความเอนเอียงนึกคิดในหัวใจของเขาล้วนเป็นความชั่วเสมอไป. และพระยะโฮวาทรงรู้สึกเสียพระทัยที่ได้สร้างมนุษย์ไว้บนแผ่นดิน และพระองค์ทรงรู้สึกปวดร้าวพระทัย.”—เยเนซิศ 6:5, 6, ล.ม; มัดธาย 24:37-39.
22. ทุกคนที่เป็นพยานพระยะโฮวามีหน้าที่รับผิดชอบอะไรฝ่ายคริสเตียน?
22 เช่นเดียวกันกับในสมัยโนฮา พระยะโฮวาจะทรงปฏิบัติการ. แต่เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีความยุติธรรมและความรัก พระองค์ทรงประสงค์จะให้มีการประกาศข่าวดีและข่าวสารเตือนล่วงหน้าไปถึงชนทุกชาติเสียก่อน. (มาระโก 13:10) เกี่ยวกับเรื่องนี้ พยานพระยะโฮวามีความรับผิดชอบคือเสาะหาบรรดาผู้ที่คู่ควรกับสันติสุขของพระเจ้า และสอนพวกเขาให้รู้จักวิถีทางทั้งหลายของพระองค์ที่นำมาซึ่งสันติสุข. ในไม่ช้า ภายในเวลากำหนดของพระเจ้า งานประกาศที่ทรงมอบหมายให้ทำนี้ก็จะบรรลุผลสำเร็จ. “ครั้นแล้วอวสานจะมาถึง.”— มัดธาย10:12, 13; 24:14, ล.ม.; 28:19, 20.
[เชิงอรรถ]
a เพื่อจะทราบข้อมูลมากขึ้นเรื่องคนต่างชาติ ดูหัวข้อ “Nations” ในอินไซต์ ออน เดอะ สคริปเจอร์ส เล่มสอง หน้า 472-474, จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ ออฟ นิวยอร์ก.
b เพื่อจะได้คำแนะนำที่นำไปปฏิบัติได้จริงสำหรับงานรับใช้ของคริสเตียน โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 มิถุนายน 1985 หน้า 26, “แนวทางที่จะเป็นผู้รับใช้ที่บังเกิดผล” และฉบับ 1 กรกฎาคม 1985 หน้า 28, “การรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพจะทวีสาวกมากขึ้น.”
คุณจำได้ไหม?
▫ พยานพระยะโฮวาสมัยปัจจุบันประสบความสำเร็จเช่นไรในงานรับใช้ของเขา?
▫ เหตุใดหลายคนบอกปัดข่าวสารคริสเตียน?
▫ เหล่าพยานฯใช้วิธีการอะไรของอัครสาวกในการประกาศข่าวดี?
▫ พวกเรามีเครื่องมืออะไรบ้างสำหรับงานรับใช้ที่มีประสิทธิภาพ?
▫ พวกเราทุกคนพึงทำอะไรให้สอดคล้องกับมาระโก 13:10?
[กรอบหน้า 19]
ประเทศ จำนวนพยานฯที่ดำเนินงานในปี 1943 ในปี 1993
โคลัมเบีย ?? 60,854
ชิลี 72 44,668
บราซิล 430 366,297
เปรู ไม่มีรายงานกิจกรรม 45,363
โปแลนด์ สงครามโลกครั้งที่ 2—ไม่มีรายงาน 113,551
โปรตุเกส ไม่มีรายงานกิจกรรม 41,842
ฝรั่งเศส สงครามโลกครั้งที่ 2—ไม่มีรายงาน 122,254
ฟิลิปปินส์ สงครามโลกครั้งที่ 2—ไม่มีรายงาน 116,576
เม็กซิโก 1,565 380,201
เวเนซุเอลา ไม่มีรายงานกิจกรรม 64,081
สเปน ไม่มีรายงานกิจกรรม 97,595
อาร์เจนตินา 374 102,043
อิตาลี สงครามโลกครั้งที่ 2—ไม่มีรายงาน 201,440
อุรุกวัย 22 9,144
ไอร์แลนด์ 150? 4,224
[รูปภาพหน้า 17]
พยานพระยะโฮวาเพิ่มทวีขึ้นในประเทศคาทอลิกหลายประเทศ เช่น สเปน
[รูปภาพหน้า 18]
พยานพระยะโฮวาทำงานในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก