การปกป้องความเชื่อของเรา
“จงจัดให้พระคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้บริสุทธิ์ในหัวใจของท่านทั้งหลาย เตรียมพร้อมเสมอที่จะโต้ตอบต่อหน้าทุกคนซึ่งเรียกเหตุผลจากท่านสำหรับความหวังของท่าน.”—1 เปโตร 3:15, ล.ม.
1, 2. เหตุใดพยานพระยะโฮวาไม่แปลกใจที่ถูกต่อต้าน แต่พวกเขาปรารถนาอะไร?
ในประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ พยานพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่าเป็นคนซื่อสัตย์ มีศีลธรรม. หลายคนเห็นว่าพวกเขาเป็นเพื่อนบ้านที่ดีซึ่งไม่เคยสร้างความเดือดร้อน. กระนั้น ที่น่าแปลกก็คือคริสเตียนที่รักสันติเหล่านี้ถูกกดขี่ข่มเหงอย่างไม่ยุติธรรม ทั้งในยามสงครามและยามสงบ. พวกเขาไม่แปลกใจที่ถูกต่อต้านเช่นนั้น. ที่จริง พวกเขาคาดหมาย ว่าต้องได้ประสบ. ในเมื่อพวกเขาทราบว่า คริสเตียนที่ซื่อสัตย์ในศตวรรษแรกสากลศักราชเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง” แล้วไฉนคนที่เพียรพยายามจะเป็นสาวกแท้ของพระคริสต์ในทุกวันนี้จึงควรคาดหมายว่าจะได้รับการปฏิบัติแตกต่างออกไปล่ะ? (มัดธาย 10:22) นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลกล่าวด้วยว่า “ทุกคนที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าร่วมกับพระคริสต์เยซูก็จะถูกข่มเหงด้วย.”—2 ติโมเธียว 3:12, ล.ม.
2 พยานพระยะโฮวาไม่แสวงหา การกดขี่ และพวกเขาไม่ชอบความยากลำบากซึ่งอาจเป็นผลมาจากการกดขี่ เช่น การเสียค่าปรับ, การจำคุก, หรือการปฏิบัติอย่างเกรี้ยวกราด. พวกเขาปรารถนาจะ “ดำเนินชีวิตที่สงบเงียบ” เพื่อจะสามารถประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าโดยไม่มีอะไรขัดขวาง. (1 ติโมเธียว 2:1, 2, ล.ม.) พวกเขาหยั่งรู้ค่าเสรีภาพทางศาสนาที่พวกเขามีในการนมัสการของตนในดินแดนต่าง ๆ ส่วนใหญ่ และพวกเขาทำในสิ่งที่ตนทำได้ด้วยความสำนึกในหน้าที่ในอันที่จะ “รักษาสันติสุขกับคนทั้งปวง” ซึ่งก็รวมถึงผู้มีอำนาจในรัฐบาลต่าง ๆ ด้วย. (โรม 12:18, ล.ม.; 13:1-7) ถ้าอย่างนั้น เหตุใดพวกเขาจึงตกเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง”?
3. เหตุผลอย่างหนึ่งที่พยานพระยะโฮวาถูกเกลียดชังอย่างไม่ยุติธรรมคืออะไร?
3 โดยพื้นฐานแล้ว พยานพระยะโฮวาถูกเกลียดชังอย่างไม่ยุติธรรมด้วยเหตุผลอย่างเดียวกับที่คริสเตียนในยุคแรกถูกกดขี่. ประการแรก พยานพระยะโฮวาประพฤติตามความเชื่อทางศาสนาของตนในแบบที่ทำให้บางคนไม่ชอบ. ตัวอย่างเช่น พวกเขาประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าด้วยใจแรงกล้า แต่ประชาชนมักเข้าใจผิดในเรื่องความมีใจแรงกล้าของพวกเขา โดยมองว่าการประกาศของพวกเขาเป็น “การชักชวนเชิงรุกให้เปลี่ยนศาสนา.” (เทียบกับกิจการ 4:19, 20.) นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นกลางทางการเมืองและในสงครามของนานาชาติ และบางครั้งก็ถูกตีความหมายของจุดยืนเช่นนี้อย่างผิด ๆ ว่าพยานฯ เป็นพลเมืองที่ไม่จงรักภักดี.—มีคา 4:3, 4.
4, 5. (ก) พยานพระยะโฮวาได้ตกเป็นเป้าของข้อกล่าวหาเท็จอย่างไร? (ข) บ่อยครั้ง ใครที่เป็นตัวการสำคัญที่ยุยงให้มีการกดขี่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวา?
4 ประการที่สอง พยานพระยะโฮวาได้ตกเป็นเป้าของการกล่าวหาเท็จ—คำโกหกที่ไม่มีมูลความจริงแม้แต่น้อยและการให้ข่าวบิดเบือนเกี่ยวกับความเชื่อของพวกเขา. ผลก็คือ พวกเขาจึงเป็นเป้าแห่งการโจมตีอย่างไม่มีเหตุผลในบางดินแดน. นอกจากนั้น เนื่องจากพวกเขาแสวงหาการรักษาทางการแพทย์ที่ไม่ใช้เลือดซึ่งสอดคล้องกับความปรารถนาของพวกเขาที่จะเชื่อฟังพระบัญชาในคัมภีร์ไบเบิลที่ให้ ‘ละเว้นจากเลือด’ พวกเขาจึงถูกตราหน้าอย่างผิด ๆ ว่าเป็น “ฆาตกรฆ่าเด็ก” และ “ลัทธิฆ่าตัวตาย.” (กิจการ 15:29) แต่ข้อเท็จจริงก็คือ พยานพระยะโฮวาถือว่าชีวิตมีค่ายิ่ง และพวกเขาพยายามแสวงหาการรักษาทางการแพทย์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้สำหรับตัวเองและบุตร. ข้อกล่าวหาที่ว่าเด็กจำนวนมากของพยานพระยะโฮวาเสียชีวิตในแต่ละปีเนื่องจากปฏิเสธการถ่ายเลือดนั้นไม่มีหลักฐานยืนยันแม้แต่น้อย. นอกจากนี้ เนื่องจากความจริงของคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้มีผลอย่างเดียวกันต่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว พยานฯ จึงยังถูกกล่าวหาด้วยว่าทำให้ครอบครัวแตกแยก. กระนั้น ผู้ที่คุ้นเคยกับพยานพระยะโฮวาทราบว่าพวกเขาให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องชีวิตครอบครัว และพยายามปฏิบัติตามพระบัญชาในคัมภีร์ไบเบิลที่ให้สามีและภรรยารักและนับถือกันและกัน และให้บุตรเชื่อฟังบิดามารดาไม่ว่าท่านทั้งสองจะมีความเชื่อเช่นเดียวกับเขาหรือไม่ก็ตาม.—เอเฟโซ 5:21–6:3.
5 หลายครั้ง ตัวการสำคัญที่ยุยงให้มีการกดขี่ไพร่พลของพระยะโฮวาปรากฏว่าได้แก่ผู้ต่อต้านที่คลั่งศาสนาซึ่งได้ใช้อิทธิพลของตนต่อเจ้าหน้าที่ทางการเมืองและสื่อมวลชนโดยมุ่งหมายจะยุติงานของพยานฯ. พวกเราที่เป็นพยานพระยะโฮวาควรตอบโต้การต่อต้านเช่นนั้นอย่างไร ไม่ว่าจะเนื่องมาจากความเชื่อและการปฏิบัติของเราหรือเนื่องจากการกล่าวหาเท็จ?
“จงให้ความมีเหตุผลของท่านปรากฏแก่คนทั้งปวง”
6. เหตุใดจึงสำคัญที่จะมีทัศนะที่สมดุลต่อคนที่อยู่นอกประชาคมคริสเตียน?
6 แรกทีเดียว เราจำเป็นต้องมีทัศนะที่ถูกต้องแบบเดียวกับทัศนะของพระยะโฮวาต่อคนที่ไม่ได้มีความเชื่อมั่นทางศาสนาเหมือนกับเรา. มิฉะนั้น เราอาจประสบความเป็นปฏิปักษ์หรือคำติเตียนจากผู้อื่นโดยใช่เหตุ. อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “จงให้ความมีเหตุผลของท่านปรากฏแก่คนทั้งปวง.” (ฟิลิปปอย 4:5, ล.ม.) ฉะนั้น คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราให้มีทัศนะที่สมดุลต่อคนที่อยู่นอกประชาคมคริสเตียน.
7. มีอะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการรักษาตัวเราเอง “ให้พ้นจากด่างพร้อยของโลก”?
7 ในอีกด้านหนึ่ง พระคัมภีร์แนะเตือนเราอย่างชัดเจนให้ “รักษาตัว [เราเอง] ให้พ้นจากด่างพร้อยของโลก.” (ยาโกโบ 1:27; 4:4, ล.ม.) คำว่า “โลก” ในที่นี้ก็เช่นเดียวกับหลาย ๆ แห่งในคัมภีร์ไบเบิล หมายถึงมวลหมู่มนุษย์นอกเหนือจากคริสเตียนแท้. เราอาศัยในท่ามกลางสังคมแห่งผู้คนดังกล่าว; เราติดต่อกับพวกเขาในงาน, ที่โรงเรียน, ในละแวกบ้าน. (โยฮัน 17:11, 15; 1 โกรินโธ 5:9, 10) กระนั้น เรารักษาตัวเราเองให้ปราศจากด่างพร้อยของโลกโดยหลีกเลี่ยงเจตคติ, คำพูด, และการกระทำที่ขัดกับแนวทางอันชอบธรรมของพระเจ้า. นับว่าสำคัญด้วยที่เราจะตระหนักถึงอันตรายของการสมาคมคบหาอย่างสนิทกับโลกนี้ โดยเฉพาะกับคนที่แสดงตัวชัดเจนว่าไม่สนใจมาตรฐานของพระยะโฮวา.—สุภาษิต 13:20.
8. เหตุใดคำแนะนำที่ให้รักษาตัวพ้นจากด่างพร้อยของโลกมิได้ทำให้เรามีเหตุผลที่จะดูถูกผู้อื่น?
8 อย่างไรก็ตาม คำแนะนำที่ให้รักษาตัวปราศจากด่างพร้อยของโลกหาได้ให้พื้นฐานใด ๆ แก่เราที่จะแบ่งชั้นดูถูกคนที่ไม่ได้เป็นพยานพระยะโฮวาไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม. (สุภาษิต 8:13) ขอให้นึกถึงตัวอย่างของพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวซึ่งได้พิจารณากันไปในบทความก่อน. แต่รูปแบบของศาสนาที่พวกเขาพัฒนาขึ้นหาได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวาไม่; อีกทั้งมิได้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ที่ไม่ใช่ชาวยิว. (มัดธาย 21:43, 45) จากมุมมองที่ถือว่าตัวเองชอบธรรม คนคลั่งศาสนาพวกนี้ดูถูกคนต่างชาติ. เราไม่มีทัศนะคับแคบเช่นนั้น โดยปฏิบัติต่อผู้ที่ไม่เป็นพยานฯ ด้วยความดูถูก. เช่นเดียวกับอัครสาวกเปาโล เราปรารถนาให้ทุกคนที่ได้ยินข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า.—กิจการ 26:29; 1 ติโมเธียว 2:3, 4.
9. ทัศนะที่สมดุลตามหลักพระคัมภีร์ควรมีผลเช่นไรต่อวิธีที่เราพูดถึงคนที่ไม่ได้มีความเชื่อเช่นเดียวกับเรา?
9 ทัศนะที่สมดุลตามหลักพระคัมภีร์ควรมีผลกระทบวิธีที่เราพูดถึงผู้ที่ไม่ใช่พยานฯ. เปาโลสั่งติโตให้เตือนคริสเตียนที่เกาะครีตว่า อย่า “พูดให้ร้ายคนหนึ่งคนใด, ไม่เป็นคนชอบวิวาท, มีเหตุผล, สำแดงแต่ความอ่อนโยนต่อคนทั้งปวง.” (ติโต 3:2, ล.ม.) โปรดสังเกตว่าคริสเตียนต้องไม่พูดให้ร้าย “คนหนึ่งคนใด” แม้แต่ต่อผู้ที่ไม่ใช่คริสเตียนที่เกาะครีตซึ่งบางคนได้ชื่อว่าเป็นคนชอบพูดปด, กินเติบ, และเกียจคร้าน. (ติโต 1:12) ดังนั้น คงไม่เป็นตามหลักพระคัมภีร์ที่เราจะใช้ถ้อยคำเชิงสบประมาทเมื่อกล่าวถึงผู้ที่ไม่ได้มีความเชื่อแบบเดียวกับเรา. เจตคติที่ถือว่าตัวเองเหนือกว่าจะไม่ดึงดูดผู้อื่นให้เข้ามาสู่การนมัสการพระยะโฮวา. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น การที่เรามีทัศนะและปฏิบัติต่อผู้อื่นตามหลักการที่มีเหตุผลของพระคำของพระยะโฮวานั้นต่างหากที่จะทำให้เรา “ประดับโอวาท” ของพระเจ้า.—ติโต 2:10, ล.ม.
เมื่อควรนิ่งเงียบและเมื่อควรพูด
10, 11. พระเยซูทรงแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระองค์ทรงทราบว่าเมื่อใดเป็น (ก) “เวลานิ่งเงียบ”? (ข) “เวลาพูด”?
10 ท่านผู้ประกาศ 3:7, ล.ม. กล่าวไว้ว่ามี “เวลานิ่งเงียบและเวลาพูด.” ดังนั้น ปัญหาก็คือการตัดสินใจว่าเมื่อใดควรจะวางเฉยต่อผู้ต่อต้านและเมื่อไรควรจะกล่าวปกป้องความเชื่อของเรา. เราสามารถเรียนได้มากจากตัวอย่างของผู้หนึ่งซึ่งสุขุมอย่างสมบูรณ์แบบเสมอ คือพระเยซู. (1 เปโตร 2:21) พระองค์ทรงทราบว่าเมื่อใดที่เป็น “เวลานิ่งเงียบ.” ตัวอย่างเช่น เมื่อปุโรหิตใหญ่และพวกผู้เฒ่าผู้แก่กล่าวหาพระองค์อย่างผิด ๆ ต่อปีลาต พระเยซู “มิได้ทรงตอบประการใด.” (มัดธาย 27:11-14) พระองค์ไม่ทรงประสงค์จะกล่าวสิ่งใดที่อาจขัดขวางการทำให้พระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำหรับพระองค์สำเร็จ. พระองค์จึงทรงเลือกที่จะให้การกระทำพูดด้วยตัวของมันเอง. พระองค์ทรงทราบว่าแม้แต่ความจริงก็ไม่อาจเปลี่ยนจิตใจและหัวใจที่เย่อหยิ่งของพวกเขา. ดังนั้น พระองค์ทรงวางเฉยต่อข้อกล่าวหาของพวกเขา ไม่ยอมทำลายความเงียบที่พระองค์ทรงจงใจทำให้เกิดขึ้น.—ยะซายา 53:7.
11 อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงทราบด้วยว่าเมื่อไรจึงเป็น “เวลาพูด.” บางครั้งบางคราว พระองค์ทรงโต้แย้งตรง ๆ และอย่างเปิดเผยต่อผู้ที่วิจารณ์พระองค์ หักล้างข้อกล่าวหาเท็จของพวกเขา. ตัวอย่างเช่น เมื่อพวกอาลักษณ์และฟาริซายพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของพระองค์ต่อหน้าฝูงชนโดยกล่าวหาว่าพระองค์ขับผีโดยอาศัยอำนาจเบละซะบูล พระเยซูทรงเลือกที่จะไม่ปล่อยให้ข้อกล่าวหาเท็จนั้นคงอยู่. พระองค์ทรงล้มคำโกหกนั้นโดยใช้หลักเหตุผลที่เด็ดขาดและอุปมาอุปไมยที่มีพลัง. (มาระโก 3:20-30; ดูมัดธาย 15:1-11; 22:17-21; โยฮัน 18:37 ด้วย) ในทำนองเดียวกัน เมื่อพระเยซูทรงถูกทรยศและถูกจับกุมแล้วก็ถูกบังคับให้ไปปรากฏต่อหน้าศาลซันเฮดริน มหาปุโรหิตกายะฟาถามอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมว่า “เราให้เจ้าสาบานต่อพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่, ให้บอกเราว่า, เจ้าเป็นพระคริสต์บุตรของพระเจ้าหรือไม่?” นี่ก็เป็น “เวลาพูด” ด้วยเช่นกัน เพราะการนิ่งเงียบอาจถูกตีความว่าเป็นการปฏิเสธว่าพระองค์เป็นพระคริสต์. ดังนั้น พระเยซูตรัสตอบว่า “เราเป็น.”—มัดธาย 26:63, 64; มาระโก 14:61, 62.
12. สภาพการณ์เป็นเช่นไรซึ่งได้กระตุ้นให้เปาโลกับบาระนาบากล่าวอย่างกล้าหาญที่เมืองอิโกนิอัน?
12 ขอให้พิจารณาตัวอย่างของเปาโลกับบาระนาบาด้วย. กิจการ 14:1, 2 บอกดังนี้: “ที่เมืองอิโกนิอันก็เช่นเดียวกัน, คือเปาโลกับบาระนาบาได้เข้าไปในธรรมศาลาของพวกยูดายกล่าวสั่งสอนเป็นที่จับใจจนชาติยูดายและชาติเฮเลนเป็นอันมากได้เชื่อถือ. แต่ชนชาติยูดายที่ดื้อดึงก็ยุยงคนชาติอื่นให้มีใจคิดร้ายต่อพวกพี่น้อง.” ฉบับแปลเดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล อ่านดังนี้: “แต่ชาวยิวที่ไม่เปลี่ยนความเชื่อก็ปลุกปั่นชาวต่างชาติและเป่าหูพวกเขาให้ต่อต้านคริสเตียน.” พวกผู้ต่อต้านชาวยิวไม่พอใจเพียงแค่การปฏิเสธข่าวสารด้วยตัวเองเท่านั้น จึงดำเนินแผนการใส่ร้ายป้ายสี โดยพยายามทำให้ประชากรชาวต่างชาติมีอคติต่อคริสเตียน.a พวกเขาคงต้องเกลียดชังศาสนาคริสเตียนอย่างเข้ากระดูกดำเลยทีเดียว! (เทียบกับกิจการ 10:28.) เปาโลและบาระนาบารู้สึกว่านี่เป็น “เวลาพูด” ด้วยเกรงว่าเหล่าสาวกใหม่จะท้อแท้ใจเนื่องด้วยคำติเตียนจากสาธารณชน. “เพราะฉะนั้นพวกเขา [เปาโลกับบาระนาบา] จึงได้ใช้เวลาไม่น้อยในการพูดด้วยความกล้าหาญโดยอำนาจจากพระยะโฮวา” ผู้ทรงแสดงความเห็นชอบโดยประทานอำนาจแก่ท่านทั้งสองให้กระทำหมายสำคัญอันเป็นการอัศจรรย์. ผลก็คือพวกหนึ่ง “อยู่ฝ่ายพวกยูดายและพวกหนึ่งอยู่ฝ่ายอัครสาวก.”—กิจการ 14:3, 4, ล.ม.
13. ในการจัดการข้อติเตียน ตามปกติแล้วเมื่อใดที่ควรเป็น “เวลานิ่งเงียบ”?
13 ถ้าอย่างนั้น เราควรตอบโต้อย่างไรเมื่อถูกติเตียน? ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์. เหตุการณ์ในบางครั้งทำให้เราต้องใช้หลักการที่ว่ามี “เวลานิ่งเงียบ.” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นอย่างนั้นเมื่อผู้ต่อต้านที่มุ่งมั่นพยายามดึงเราเข้าสู่การโต้เถียงที่ไร้แก่นสาร. เราต้องไม่ลืมว่าบางคนไม่สนใจที่จะรู้จักความจริงเลย. (2 เธซะโลนิเก 2:9-12) การพยายามหาเหตุผลกับคนที่มีหัวใจเย่อหยิ่งไม่ยอมเชื่อเช่นนั้นเป็นเรื่องไร้ประโยชน์. ยิ่งกว่านั้น หากเราพาตัวเองไปหมกมุ่นในการโต้เถียงกับผู้กล่าวหาเท็จทุกคนที่โจมตีเรา เราก็อาจหันเหไปจากงานที่สำคัญกว่าและให้ผลตอบแทนมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ กล่าวคือการช่วยคนที่มีหัวใจสุจริตที่ต้องการอย่างแท้จริงที่จะเรียนความจริงของคัมภีร์ไบเบิล. ดังนั้น เมื่อเผชิญกับผู้ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ซึ่งมุ่งจะแพร่เรื่องโกหกเกี่ยวกับพวกเรา คำแนะนำที่มีขึ้นโดยการดลใจคือ: “จงเมินหน้าจากคนเหล่านั้น.”—โรม 16:17, 18; มัดธาย 7:6.
14. เราอาจปกป้องความเชื่อของเราต่อหน้าผู้อื่นได้อย่างไรบ้าง?
14 แน่ละ นี่มิได้หมายความว่าเราไม่กล่าวปกป้องความเชื่อของเราเลย. ที่จริง มี “เวลาพูด” ด้วย. เป็นเรื่องถูกต้องที่เราเป็นห่วงประชาชนที่มีน้ำใสใจจริงซึ่งได้รับทราบเกี่ยวกับคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ทำลายชื่อเสียงของเรา. เราเต็มใจที่จะให้คำอธิบายที่กระจ่างแก่ผู้อื่นเกี่ยวกับความเชื่อมั่นอย่างลึกซึ้งของเรา; ที่จริง เราพร้อมอยู่เสมอที่จะทำอย่างนั้น. เปโตรเขียนดังนี้: “จงจัดให้พระคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้บริสุทธิ์ในหัวใจของท่านทั้งหลาย เตรียมพร้อมเสมอที่จะโต้ตอบต่อหน้าทุกคนซึ่งเรียกเหตุผลจากท่านสำหรับความหวังของท่าน แต่จงทำเช่นนี้พร้อมด้วยอารมณ์อ่อนโยนและความนับถือสุดซึ้ง.” (1 เปโตร 3:15, ล.ม.) เมื่อบุคคลที่สนใจอย่างแท้จริงถามถึงข้อพิสูจน์เกี่ยวกับความเชื่อที่เรายึดมั่น เมื่อเขาถามเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเท็จที่ผู้ต่อต้านยกขึ้นมาโจมตี ก็นับว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบของเราที่จะปกป้องความเชื่อของเราโดยให้คำตอบที่มีเหตุผลตามหลักคัมภีร์ไบเบิล. นอกจากนี้ ความประพฤติที่ดีของเราก็สามารถให้คำพยานได้เป็นอย่างดี. เมื่อผู้สังเกตการณ์ที่มีใจเปิดเห็นว่าเราพยายามอย่างแท้จริงที่จะดำเนินชีวิตตามมาตรฐานอันชอบธรรมของพระเจ้า เขาก็จะเห็นได้ไม่ยากว่าคำกล่าวหาต่อพวกเรานั้นเป็นความเท็จ.—1 เปโตร 2:12-15.
จะว่าอย่างไรสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลที่หมิ่นประมาท?
15. ตัวอย่างหนึ่งของวิธีที่พยานพระยะโฮวาได้ตกเป็นเป้าของข้อมูลบิดเบือนในสื่อคืออะไร?
15 บางครั้ง พยานพระยะโฮวาได้ตกเป็นเป้าของการเสนอข้อมูลที่บิดเบือนในสื่อต่าง ๆ. ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 1 สิงหาคม 1997 หนังสือพิมพ์รัสเซียฉบับหนึ่งตีพิมพ์บทความที่หมิ่นประมาทซึ่งอ้างว่า พยานพระยะโฮวาเรียกร้องอย่างเด็ดขาดให้สมาชิก ‘ปฏิเสธภรรยา, สามี, และบิดามารดา ถ้าคนเหล่านี้ไม่รับรู้เข้าใจและไม่ร่วมด้วยกับความเชื่อของพวกเขา.’ ใครก็ตามที่รู้จักมักคุ้นจริง ๆ กับพยานพระยะโฮวาย่อมทราบว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง. คัมภีร์ไบเบิลชี้ว่าคริสเตียนจะต้องปฏิบัติต่อสมาชิกในครอบครัวที่ไม่มีความเชื่อด้วยความรักและนับถือ และพยานฯ พยายามอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติตามแนวชี้นำนี้. (1 โกรินโธ 7:12-16; 1 เปโตร 3:1-4) แม้กระนั้น บทความดังกล่าวถูกตีพิมพ์ออกมา และด้วยเหตุนั้นผู้อ่านหลายคนจึงได้รับทราบข้อมูลผิด ๆ. เราจะปกป้องความเชื่อของเราได้โดยวิธีใดเมื่อเราถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ?
16, 17. และกรอบในหน้า 16. (ก) ครั้งหนึ่งวารสารหอสังเกตการณ์ เคยกล่าวไว้เช่นไรเกี่ยวกับการตอบโต้ข้อมูลผิด ๆ ในสื่อต่าง ๆ? (ข) ภายใต้สภาพการณ์เช่นไรที่พยานพระยะโฮวาอาจตอบโต้รายงานข่าวในแง่ลบของสื่อมวลชน?
16 อีกครั้งหนึ่ง มี “เวลานิ่งเงียบและเวลาพูด.” ครั้งหนึ่ง วารหอสังเกตการณ์ เคยกล่าวไว้อย่างนี้: “เราจะเพิกเฉยต่อข้อมูลเท็จจากสื่อมวลชนหรือจะปกป้องความจริงโดยวิธีที่เหมาะสมหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาพการณ์, ผู้ปลุกปั่นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์, และเป้าหมายของเขา.” ในบางกรณี ดีที่สุดที่จะวางเฉยต่อรายงานในแง่ลบ และโดยวิธีนี้ไม่ทำให้มีการกระจายเรื่องโกหกมากไปกว่านั้น.
17 ในโอกาสอื่น อาจเป็น “เวลาพูด.” นักหนังสือพิมพ์หรือผู้สื่อข่าวที่มีเหตุผลอาจได้รับข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับพยานพระยะโฮวาและอาจยินดีรับข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับพวกเรา. (โปรดดูกรอบ “การแก้การให้ข่าวอย่างผิด ๆ.”) ถ้ารายงานข่าวเชิงลบในสื่อกระตุ้นให้เกิดอคติซึ่งขัดขวางงานประกาศของเรา ตัวแทนสำนักงานสาขาของสมาคมว็อชเทาเวอร์อาจริเริ่มดำเนินการเพื่อปกป้องความจริงด้วยวิธีการบางอย่างที่เหมาะสม.b ตัวอย่างเช่น อาจมีการมอบหมายผู้ปกครองที่มีคุณวุฒิให้ไปแสดงข้อเท็จจริง ในรายการโทรทัศน์ ซึ่งการไม่ไปปรากฏตัวอาจถูกตีความว่าพยานพระยะโฮวาให้คำตอบในเรื่องนั้นไม่ได้. ด้วยความสุขุม พยานฯ แต่ละคนจะร่วมมือกับการชี้นำของสมาคมว็อชเทาเวอร์และผู้แทนของสมาคมในเรื่องเช่นนี้.—เฮ็บราย 13:17.
การปกป้องข่าวดีโดยใช้กฎหมาย
18. (ก) เหตุใดเราไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลมนุษย์ที่จะประกาศ? (ข) เราปฏิบัติในแนวทางใดเมื่อไม่ได้รับอนุญาตให้ประกาศ?
18 สิทธิอำนาจของเราในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้ามาจากสวรรค์. พระเยซูผู้ทรงมอบหมายงานนี้ให้เราทำทรงได้รับมอบ ‘อำนาจทั้งสิ้นทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก.’ (มัดธาย 28:18-20, ล.ม.; ฟิลิปปอย 2:9-11) ฉะนั้น เราไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลมนุษย์ที่จะประกาศ. แม้กระนั้น เราตระหนักว่าการมีเสรีภาพทางศาสนาช่วยส่งเสริมการกระจายข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร. ในประเทศที่เรามีเสรีภาพที่จะนมัสการ เราจะใช้ประโยชน์จากระบบกฎหมายเพื่อปกป้องการนมัสการของเรา. ในที่ซึ่งเราไม่ได้รับเสรีภาพเช่นนั้น เราก็จะพยายามเพื่อให้ได้มาภายในขอบเขตของกฎหมาย. เป้าประสงค์ของเราไม่ใช่เพื่อปฏิรูปสังคม แต่เพื่อ “ปกป้องและทำให้ข่าวดีมีกฎหมายรองรับ.”c—ฟิลิปปอย 1:7, ล.ม.
19. (ก) อะไรอาจเป็นผลของการที่เรา ‘ใช้คืนของของพระเจ้าแด่พระเจ้า’? (ข) เรามุ่งมั่นจะทำอะไร?
19 ในฐานะพยานพระยะโฮวา เรายอมรับว่าพระยะโฮวาทรงเป็นองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ. กฎหมายของพระองค์สูงสุด. เราเชื่อฟังรัฐบาลมนุษย์อย่างสอดคล้องกับสติรู้สึกผิดชอบ และด้วยเหตุนั้นจึง ‘ใช้คืนของของซีซาร์แก่ซีซาร์.’ แต่เราจะไม่ปล่อยให้สิ่งใดมาขัดขวางการทำหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญกว่ามาก—‘การใช้คืนของของพระเจ้าแด่พระเจ้า.’ (มัดธาย 22:21, ล.ม.) เราเข้าใจอย่างเต็มที่ว่าการทำอย่างนั้นจะทำให้เราตกเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง” ของชาติต่าง ๆ แต่เรายอมรับว่านี่เป็นส่วนหนึ่งแห่งการเป็นสาวก. ประวัติบันทึกด้านกฎหมายของพยานพระยะโฮวาในศตวรรษที่ 20 นี้เป็นพยานหลักฐานถึงความมุ่งมั่นของเราที่จะปกป้องความเชื่อของเรา. ด้วยความช่วยเหลือและการหนุนหลังจากพระยะโฮวา เราจะ “ทำการสั่งสอนและประกาศข่าวดี” เรื่อยไปมิได้ขาด.—กิจการ 5:42, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a อรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลฉบับครบบริบูรณ์ของแมตทิว เฮนรี อธิบายว่าพวกผู้ต่อต้านชาวยิว “ตั้งใจไปหา [ชาวต่างชาติ] ที่พวกเขารู้จักคุ้นเคยอย่างเป็นการเป็นงาน และกล่าวทุกอย่างที่จิตใจหรือความคิดมุ่งร้ายของตนอาจจะเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาได้ เพื่อใส่ความคิดเข้าไว้ในคนต่างชาติไม่เพียงแต่ความคิดที่เหยียดหยามเท่านั้น แต่ความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาคริสเตียนด้วย.”
b หลังจากที่มีการตีพิมพ์บทความให้ร้ายในหนังสือพิมพ์รัสเซีย (ซึ่งได้กล่าวถึงในข้อ 15) พยานพระยะโฮวาได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการประธานตุลาการแห่งสหพันธรัฐรัสเซียพิจารณาข้อพิพาทด้านสื่อมวลชนเพื่อขอให้มีการพิจารณาทบทวนข้อกล่าวหาเท็จในบทความดังกล่าว. เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลประกาศคำตัดสินให้ลงโทษหนังสือพิมพ์ดังกล่าวด้วยข้อหาตีพิมพ์บทความหมิ่นประมาท.—ดูตื่นเถิด! ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 1998 หน้า 26, 27.
c โปรดดูบทความ “การปกป้องข่าวดีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” ที่หน้า 19-22.
คุณจำได้ไหม?
▫ เหตุใดพยานพระยะโฮวาจึงตกเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง”?
▫ เราควรมีทัศนะอย่างไรต่อคนที่ไม่ได้มีความเชื่อทางศาสนาแบบเดียวกับเรา?
▫ ในการปฏิบัติต่อผู้ต่อต้าน พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่สมดุลเช่นไร?
▫ เมื่อเราถูกติเตียน เราจะใช้หลักการที่ว่ามี “เวลานิ่งเงียบและเวลาพูด” ได้โดยวิธีใด?
[กรอบหน้า 16]
การแก้การให้ข่าวอย่างผิด ๆ
“ที่เมืองยาควีบา ประเทศโบลิเวีย กลุ่มอิแวนเจลิคัลในท้องถิ่นจัดให้สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งฉายภาพยนตร์ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสร้างโดยผู้ออกหาก. เมื่อคำนึงถึงผลกระทบที่เสียหายของรายการนี้ พวกผู้ปกครองตัดสินใจไปเยี่ยมสถานีโทรทัศน์สองแห่งและขอเช่าเวลาออกอากาศของสถานีเพื่อให้มีการจัดฉายวีดิทัศน์ให้สาธารณชนได้ชมสองเรื่อง คือพยานพระยะโฮวา—องค์การเบื้องหลังชื่อนี้ และคัมภีร์ไบเบิล—หนังสือแห่งความจริงและคำพยากรณ์. หลังจากที่ได้ชมวีดิทัศน์ของสมาคมฯ เจ้าของสถานีวิทยุแห่งหนึ่งรู้สึกขุ่นเคืองต่อการแพร่ข่าวผิด ๆ ในรายการของพวกออกหาก และเสนอตัวจะประกาศโฆษณาการประชุมภาคที่กำลังจะมาถึงให้แก่พยานพระยะโฮวาโดยไม่คิดค่าออกอากาศ. ยอดผู้เข้าร่วมการประชุมสูงกว่าปกติ และผู้มีหัวใจสุจริตหลายคน เริ่มตั้งคำถามที่จริงใจเมื่อพยานฯ เยี่ยมพวกเขาในการประกาศ.”—หนังสือประจำปีแห่งพยานพระยะโฮวา 1997 หน้า 61, 62.
[รูปภาพหน้า 17]
บางครั้ง พระเยซูทรงหักล้างข้อกล่าวหาเท็จของผู้วิพากษ์วิจารณ์พระองค์ต่อหน้าผู้คน